​ธรรมชาติของมนุษย์คือความเสียสละ แต่สังคมยุคทุนนิยมฝึกให้เขาเห็นแก่ตัว

วันพุธที่ 11 มิถุนายน 2014 เวลา 00:00 น. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บทความ - การศึกษา
พิมพ์
มนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับจิตใจที่ยิ่งใหญ่งดงาม หรือจิตประภัสสร แต่ธรรมชาตินั้นถูกลัทธิวัตถุนิยม ทำลาย เหลือแต่มนุษย์ที่แล้งน้ำใจ

ระหว่างนั่งเครื่องบินจากโตเกียวไปซานฟรานซิสโก วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ผมอ่านหนังสือพิมพ์ The Japan Times ฉบับวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ หน้า ๙ เรื่อง How consumerism turns babies into monster เขียนโดย Tracy McVeigh อ้างถึงหนังสือชื่อ The Good Life : Wellbeing and the New Science of Altruism, Selfishness and Immorality เขียนโดย Graham Music นักจิตบำบัดแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน

เขามีผลการวิจัยซึ่งทำที่ Max Planck Institute ในเยอรมนี ในเด็กอายุ ๑๕ เดือน เอาเด็กไปไว้ในห้อง ที่มีผู้ใหญ่ต้องการความช่วยเหลือ เด็กจะแสดงอาการต้องการช่วยเหลือ เป็นการช่วยเหลือที่ขับดันจากภายใน (intrinsic) โดยเด็กจะรู้สึกพึงพอใจที่ได้ช่วยเหลือ เป็นรางวัลทางใจ แต่หากเมื่อเด็กช่วยเหลือ ก็ให้รางวัล เช่นให้ของเล่น เป็น extrinsic reward จะหมดความสนใจที่จะช่วย แต่กลุ่มเด็กที่ช่วย และได้รับความพึงพอใจ จากการช่วย (intrinsic reward) ไม่มีรางวัลมาล่อ จะยังสนใจที่จะช่วยต่อไป

นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานว่าเด็กเล็กขนาดนี้ มีความสุขมากกว่า หากได้เป็นผู้ให้ มากกว่าการเป็นผู้รับ และมีผลการศึกษาในผู้ใหญ่ ที่ได้มีโอกาสทำประโยชน์แก่ผู้อื่นวันละครั้ง จะมีอาการซึมเศร้าน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ ทำประโยชน์แก่ผู้อื่นเลย

เรื่องแบบนี้ ผมเคยได้ยินชาวบ้านที่อยุธยาเล่าว่า เดิมตนเป็นคนเจ็บป่วยออดแอด นอนไม่หลับ ต่อมาได้ ไปเข้าร่วมขบวนการชุมชน ได้ร่วมกิจกรรมพัฒนาชุมชนเป็นกิจวัตรประจำวัน ปรากฎว่า ความเจ็บป่วยหายไป หมด กลายเป็นคนสุขภาพดี และอารมณ์ดี

แต่สังคมปัจจุบัน สังคมตัวใครตัวมัน แข่งขันกันเพื่อผลประโยชน์เชิงวัตถุ เป็นการฝึกคนให้เป็นคน ใจแคบ เห็นแก่ตัว ธรรมชาติของความเข้าใจเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ที่มากับความเป็นมนุษย์ถูกทำลายไป เหลือแต่ความใจแคบ เห็นแก่ตัว

มนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับจิตใจที่ยิ่งใหญ่งดงาม หรือจิตประภัสสร แต่ธรรมชาตินั้นถูกลัทธิวัตถุนิยม ทำลาย เหลือแต่มนุษย์ที่แล้งน้ำใจ

อ่านแล้วผมนึกถึงหนังสือ A World Waiting to be Born : Civility Rediscovered เขียนโดย M. Scott Peck ผู้ล่วงลับ

วิจารณ์ พานิช

๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗

บนเครื่องบิน ANA บินไป ซาน ฟรานซิสโก

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 11 มิถุนายน 2014 เวลา 12:44 น.