Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

การจัดการความรู้เพื่อประยุกต์ใช้ในการวิจัย

พิมพ์ PDF

การจัดการความรู้เพื่อประยุกต์ใช้ในการวิจัย

 

มช. จัดการสัมมนา เรื่อง การพัฒนางานวิจัย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายอุดมศึกษาภาคเหนือตอนบน   เมื่อวันที่ ๙ ธ.ค. ๕๖ ที่มหาวิทยาลัยเนชั่น จ. ลำปาง    และเชิญผมไปพูดเรื่อง การจัดการความรู้เพื่อประยุกต์ใช้ในการวิจัย

 

จึงนำ narrate ppt มา ลปรร. ที่นี่

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ธ.ค. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 14 มกราคม 2014 เวลา 09:35 น.
 

ห้องเรียนกลับทางที่โรงเรียนรุ่งอรุณ

พิมพ์ PDF

วันที่ ๔ ธ.ค. ๕๖ มีการประชุมวิสามัญมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนรุ่งอรุณ   เมื่อถึงวาระที่ ๓.๒.๔ ผมก็ตาลุก

วาระนี้ เรื่อง โครงการพัฒนาการเรียนการสอน โรงเรียนมัธยม วิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ ด้วย online program   ร่วมกับการจัดห้องเรียน แบบห้องเรียนกลับทาง (Flipped Classroom)

ใช้ online program ของ MCO E-Learning (Marshall Cavendish Online E-Learning Portal)   จากประเทศสิงคโปร์ มาใช้ในวิชาคณิตศาสตร์   และโปรแกรมของ Cambridge “English in Mind”   ภายใต้กรอบหลักสูตรของ Common European Framework of Reference (CEFR) มาใช้ในวิชาภาษาอังกฤษ    ร่วมกับการจัดการเรียนการสอนแบบห้องเรียนกลับทาง

ดำเนินมาตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ ๒/๒๕๕๖   โดยมีการวิจัยควบไปด้วย

ดำเนินมาไม่นาน พบว่าครูบางคนเปลี่ยนไป    เปลี่ยนจากครูสอน เป็นครูฟังและสังเกต    และบรรยากาศ ในห้องเรียนก็ยิ่งเปลี่ยนไป    เห็น active learning ชัดเจน    ทางโรงเรียนถ่ายวีดิทัศน์บรรยากาศในห้องเรียน มาให้คณะกรรมการดู    ทำให้ผมตาลุก ดังกล่าวแล้ว

และแนะนำให้ เอาวีดิทัศน์ นั้นขึ้น เว็บ หรือ YouTube เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ กลับทางห้องเรียน ในสังคมไทย    ซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่มาก

อ่านหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สร้างห้องเรียนกลับทาง ได้ ที่นี่

ข้อค้นพบที่น่าสนใจมาก คือครูรู้จักศิษย์แต่ละคนมากขึ้น    พบว่านักเรียนในชั้นมีสมรรถนะในการเรียน แตกต่างกันมาก อย่างไม่คิดมาก่อน    ได้ฟังข้อค้นพบนี้ ผมก็ยิ่งตาลุกซีครับ    เพราะผมอ่านจากหนังสือฝรั่ง มานานแล้ว ว่านักเรียนในยุคศตวรรษที่ ๒๑  มีลักษณะต่างจากนักเรียนสมัยก่อน    ตรงที่นักเรียนในชั้น มีพื้นความรู้เดิมแตกต่างกันมาก    ผมเอาข้อความนี้ไปบอกครูในที่ต่างๆ และถามว่าจริงไหม    มีแต่คนบอกว่าจริง    ไม่มีคนคัดค้านเลย   แต่ผมก็ไม่เคยได้รับคำบอกเล่าหลักฐานข้อมูลยืนยัน   มาได้รับในวันนี้

ที่ตื่นตาตื่นใจก็คือ ความแตกต่างนั้น อยู่ที่ทักษะในการเรียนรู้ และทักษะในการกำกับการเรียนรู้ ของตนเอง ซึ่งเป็นหัวใจของการเรียนรู้ตลอดชีวิต    นักเรียนจำนวนหนึ่งไม่มีความรับผิดขอบเรียนความรู้ เชิงทฤษฎีที่บ้าน    ในขณะที่นักเรียนอีกจำนวนหนึ่งต้นคว้าและเรียนล่วงหน้าไปไกล

ทำให้ผมระลึกชาติ กลับไปที่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่เด็กชายวิจารณ์ พานิช เรียนชั้น ม. ๖ (เทียบเท่า ม. ๔ สมัยนี้)    แอบเรียนรู้วิธีเรียนของอา และพี่ รวมสามคน ที่เรียนแพทย์ เรียนวิศวะ และเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เพื่อนำมาปรับปรุงวิธีเรียนของตนเอง    บัดนี้นายวิจารณ์ พานิช อายุกว่า ๗๑ ปี ยังคงเรียนรู้ meta-cognition skills อย่างต่อเนื่อง    ผมโชคดี ที่สนใจเรื่องวิธีการเรียนรู้    และปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของตนเอง ไปเรื่อยๆ ตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

กลับมาที่ห้องประชุม วิสามัญมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนรุ่งอรุณ คณะกรรมการแสดงความชื่นชม ในการริเริ่มสรางสรรค์ รูปแบบการเรียนรู้นี้    และผมแนะนำว่า เป้าหมายของห้องเรียนกลับทางคือ ยกระดับคุณค่าของครู    และยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียน    จากการเรียนเนื้อหาวิชาโดยครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้    ไปสู่การเรียนรู้แบบนักเรียนสร้างความรู้ของตนเอง จากการลงมือปฏิบัติ และไตร่ตรองผลของการปฏิบัตินั้น    โดยครูทำหน้าที่เอื้ออำนวยกระบวนการการเรียนรู้นั้น

ในการเรียนรู้สมัยใหม่ นักเรียนต้องไม่ใช่แค่มีความรู้ ท่องจำ และนำมาบอกได้    แต่จะต้องได้ฝึก ประยุกต์ใช้ความรู้นั้น ในสถานการณ์จริง หรือใกล้เคียงสถานการณ์จริง    เกิดทักษะในการประยุกต์ใช้ความรู้

ห้องเรียนกลับทาง จะเอื้อให้นักเรียนได้ฝึกทักษะนี้

ความท้าทายต่อไปคือ ครูจะช่วยเหลือศิษย์ที่ขาดวินัยในตนเอง ในการที่จะเรียนทฤษฎีล่วงหน้าที่บ้าน    ผมจึงแนะนำหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สนุกกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ที่แนะนำวิธีแก้ปัญหาศิษย์ไม่มีทักษะ ในการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๕ ธ.ค. ๕๖

วันพ่อ  วันมหามงคล

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2014 เวลา 20:42 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๗๓. ระลึกชาติด้านการพัฒนาคุณภาพ

พิมพ์ PDF

โชคดีจริงๆ ที่ผมได้รับเชิญไปรับใช้บ้านเก่า ในวันที่ ๒๙ พ.ย. ๕๖   บ้านเก่าในที่นี้คือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ท่านคณบดี คือ รศ. นพ. สุธรรม ปิ่นเจริญ แสดงเจตนารมณ์ต้องการให้ผมไปร่วมงานเต็มที่ จองวันไว้ล่วงหน้ากว่า ๖ เดือน      โดยให้เจ้าหน้าที่ขอวันที่ผมว่าง สามารถไปร่วมได้ตลอดวัน   ตั้งแต่ ๘.๓๐ น. ถึง ๑๖.๓๐ น. ซึ่งเอาเข้าจริง งานเลิก ๑๗ น.   เป็นการจัดงานในวันที่มหาวิทยาลัยประกาศปิดการเรียนการสอน เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง    ว่ารัฐบาลทักษิณที่มียิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิด หมดความชอบธรรม ที่จะบริหารประเทศแล้ว

เป็นธรรมชาติของคนที่เป็นแพทย์ และวัฒนธรรมองค์กรของคณะแพทยศาสตร์ ที่เราทำงานในวันหยุดกันจนเคยชิน    วันนี้จึงมีคนมาร่วมประชุมตามปกติ    และแขกสำคัญที่คณะแพทยศาสตร์เชิญมาร่วม คือคณบดีคณะวิทยาศาสตร์  คณบดีคณะเภสัชศาสตร์  หัวหน้าภาควิชาด้านปรีคลินิก (สังกัดคณะวิทยาศาสตร์)  ผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษา รพศ. หาดใหญ่   และ ผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษา รพศ. ยะลา    ต่างก็มาร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง    โดยท่านคณบดีสุธรรมเผยไต๋ภายหลังว่า    ใช้ชื่อผมเป็นโฆษณาดึงดูด

ชื่องานนี้อย่างเป็นทางการคือ การประชุมคณะกรรมการพัฒนาและประกันคุณภาพงานของภาควิชา ครั้งที่ ๘๖ (๔/๒๕๕๖) เรื่อง Competency based learning สำหรับการผลิตแพทย์ในศตวรรษที่ ๒๑ ชื่อนี้ขลังมาก ในความรู้สึกของผม    สะท้อนความมุ่งมั่นในการทำงานทุกด้านอย่างมีคุณภาพ    ยึดมั่นในการพัฒนาคุณภาพงาน อย่างต่อเนื่อง

โปรดสังเกตว่า กิจกรรมพัฒนาและประกันคุณภาพงานของภาควิชานี้ ดำเนินการมาอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องมากว่า ๒๑ ปีแล้ว    เป็นวัฒนธรรมองค์กร    คิดดำเนินการขึ้นเอง เพราะมีผลดีต่องานของคณะ    ไม่ใช่ทำงานพัฒนาคุณภาพเพราะได้รับคำสั่งจากภายนอก

ทำให้ผมกลับมาบ้าน และรู้สึกภูมิใจในชีวิตการทำงานช่วงหนึ่ง    ที่การตั้งความหวัง ว่าจะทุ่มเทชีวิต ต่อสู้ เพื่อวางรากฐานวัฒนธรรมองค์กร ในด้าน CQI (Continuous Quality Improvement) ได้เกิดผลอย่างแท้จริง    ทำให้ผมมีความสุขมาก

ขอหมายเหตุไว้เป็นอุทาหรณ์ สำหรับคนที่มุ่งมั่นทำงานสร้างสรรค์ให้แก่องค์กร หรือให้แก่สังคม    ว่าจะต้องต่อสู้ฟันฝ่า    และอาจต้องเจ็บปวด   อย่างที่ผมเคยเจ็บปวดมาแล้ว    คือ เพราะความมุ่งมั่นสร้างองค์กรพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องนี้    ทำให้ผมถูกคณาจารย์ในคณะแพทย์ปฏิเสธ ไม่ให้ดำรงตำแหน่งคณบดีวาระที่สอง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒    แต่โชคดี ที่ความล้มเหลวส่วนบุคคลในระยะสั้น    ไม่ได้บดบังความสำเร็จในระยะยาวขององค์กร    ทำให้คณะแพทยศาสตร์แห่งนี้ ได้พัฒนาวัฒนธรรมคุณภาพ มาอย่างต่อเนื่อง    เป็นที่ยกย่องไปทั่วประเทศ    และนาฬิกาข้อมือที่ผมแขวนอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็น Limited Edition ที่จัดทำขึ้นฉลองการได้รับ รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (TQC)  (Thailand Quality Class)  เป็นหน่วยราชการแห่งแรกและแห่งเดียว    เป็นนาฬิการาคาถูกๆ แต่มีคุณค่ายิ่งต่อผม

การประชุมวันนี้ กำหนดให้แต่ละภาควิชามานำเสนอ การดำเนินการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน   จะเห็นว่า คณะแพทยศาสตร์แห่งนี้ จับงานหลักทุกเรื่องเข้าสู่ระบบพัฒนาคุณภาพหมด    เราทำเรื่องนี้ก่อนจะมี TQF เกือบ ๒๐ ปี    และก่อนจะมี สมศ. นานหลายปี    กระบวนการพัฒนาคุณภาพ สำหรับบุคลากรของหน่วยงานนี้ ไม่ใช่ยาขม   แต่เป็นความท้าทายร่วมกันของทุกคนในองค์กร    อย่างที่ผมไปเห็นความกระตือรือร้น   ในการนำเอาหลักการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ มาเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพของการเรียนการสอน    เพื่อให้ได้แพทย์ที่มีคุณภาพ ในศตวรรษที่ ๒๑

ฟังแล้ว เห็นชัดเจนว่า มีผู้เอาใจใส่เรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนรู้ สู่ Teach less, Learn more   ลดจำนวนชั่วโมงบรรยาย   อย่างชัดเจน   มีคนอ่านหนังสือ How Learning Works เอามาอ้างอิงด้วย

ผมไปเห็นวิธีทำงานเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ด้านการเรียนรู้ หรือด้านการเรียนการสอน อย่างเป็นระบบ    มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาควิชา ใน block ต่างๆ ของการเรียนรู้ของนักศึกษาแพทย์    ผมรู้สึกแปลกใจ ที่ภาควิชา “ยอม” กันได้    เพราะเป็นที่รู้กัน ว่า อาจารย์ในโรงเรียนแพทย์มีธรรมชาติ เป็นคนมีอัตตาสูง    และอัตตาอย่างหนึ่งคือ ถือว่าวิชาของตนสำคัญที่สุด    แต่ที่ผมไปเห็น (หลังจากห่างไปนานกว่า ๒๐ ปี) มีการดำเนินการเป็น block ของการเรียน   ที่จัดการเรียนการสอนร่วมกันหลายภาควิชาได้    สะท้อนให้เห็นว่า อัตตาในเรื่องความสำคัญของวิชา ได้ยอมให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา สำคัญกว่า    นี่คือภาพสะท้อน student-centered education   ที่น่าชื่นชมยิ่ง

การเรียนรู้ของศิษย์ สำคัญกว่าศักดิ์ศรีของวิชา หรือศักดิ์ศรีของภาควิชา

การเรียนรู้ของศิษย์    เพื่อจบออกไปเป็นแพทย์ที่มีคุณภาพ    มีสมรรถนะ (Competencies) การเป็นแพทย์ที่เหมาะสมต่อการทำงานในระบบสุขภาพไทย    เป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด ในเรื่องคุณภาพการศึกษา    ตรงตามหลักการ Competency-Based Medical Curriculum in the 21st Cetury

เป็นการระลึกชาติที่ให้ความสุขยิ่ง

บันทึกนี้ ควรอ่านร่วมกับบันทึกที่ลงในวันเดียวกันนี้ ใน บล็อก www.gotoknow.org/blog/council

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑ ธ.ค. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2014 เวลา 22:00 น.
 

เริ่มเรียนวิทยาศาสตร์เร็วขึ้น

พิมพ์ PDF
หัวใจอยู่ที่ความสามารถของครูในการจัดการเรียนการสอนแบบ inquiry-based. ซึ่งหมายความว่าต้องฝึกครูด้านวิธีจัดการเรียนรู้แบบนี้. การเพิ่มความรู้ด้านเนื้อหาจะไม่ช่วย

ริ่มเรียนวิทยาศาสตร์เร็วขึ้น

บทความเรื่อง Start Science Sooner เขียนโดย กองบรรณาธิการ  ตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ในปี ค.ศ. 2010    และพิมพ์ซ้ำในหนังสือ The Science of Education ในปี 2012  บอกว่า การเริ่มเรียนวิทยาศาสตร์เร็ว โดยที่เป็นวิธีเรียนที่ถูกต้อง สำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้

ผลงานวิจัยบอกว่า เด็กเริ่มมีทัศนคติเชิงลบต่อวิชาวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เรียนชั้นอนุบาล   ดังนั้นทางแก้คือให้เด็กได้เรียนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ช่วงนั้น   โดยที่ต้องได้เรียนอย่างถูกต้อง

ที่น่าตกใจคือ เด็กจำนวนมากบอกว่าตนเองไม่เก่งวิทยาศาสตร์    นี่เป็นผลการวิจัยในอเมริกา    ในประเทศไทยเป็นอย่างไรไม่ทราบ    เด็กคนไหนมีทัศนคติว่าตนไม่เก่งเรื่องอะไร แล้วหาทางหลีกเลี่ยง การเรียนสิ่งนั้น   เป็นเสมือนการฆ่าตัวตายด้านการเรียนรู้นะครับ   มันทำให้เป็นคนไม่สู้สิ่งยาก ไม่มีความมานะพยายาม เป็นนิสัยไม่ดีติดตัวไปตลอดชีวิต

เขายกตัวอย่าง การทดลองสอนวิทยาศาสตร์ควบกับการสอนภาษา ในเด็กอนุบาล   ทดลองที่ มหาวิทยาลัย Purdue (Purdue Scientific Literacy Project)    เขาบอกว่า จะช่วยทำให้ ถ้อยคำที่เรียนมีความหมาย ทำให้เรียนภาษาได้ดีขึ้น   วิธีการที่ทดลองสอน คือให้เด็กได้เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์คือการตั้งข้อสงสัย เพื่อเรียนรู้ ธรรมชาติในโลก   และทุกคนสามารถทดลองทางวิทยาศาสตร์ได้   ถึงตรงนี้ผมคิดว่า เป็นการปลูกฝัง วิธีคิดเชิงวิทยาศาสตร์ (scientific thinking)    ตั้งแต่ชั้นอนุบาลนั่นเอง    ไม่ใช่การสอนวิชาโดยตรง

การสอนเพื่อเป้าหมายนี้ ไม่ต้องการเทคโนโลยีหรูหราราคาแพง (ไม่จำเป็นต้องมี แท็บเล็ต)   ผมเคยไปเห็นที่โรงเรียนบ้านขาแหย่งพัฒนา ที่เชียงราย    ซึ่งสอนแบบมอนเตสซอรี่    เขาให้เด็กอนุบาล ทดลองเอาเกลือใส่ลงไปในน้ำ เพื่อเรียนรู้ว่าเกลือละลายน้ำ    ซึ่งตรงกับในบทความนี้พอดี   เขาแนะนำว่า การอ่านหนังสือที่ไม่ใช่นิยายให้เด็กฟัง ก็ช่วยสร้างความคิดเชิงวิทยาศาสตร์   ทำให้ผมนึกถึงสมัยลูกยังเล็ก ผมจะไปซื้อหนังสือภาพเรื่องสัตว์ มาอ่านกับลูก

เขาแนะนำว่า เด็กอนุบาลก็เรียนโดยทำโครงงาน (PBL) เป็นทีมได้   ทำให้เกิดทักษะหลายด้าน รวมทั้งฝึกตั้งคำถาม และหาคำตอบด้วยตนเอง   ผลการเรียนแบบ PBL ทำให้เกิดการเรียนรู้ดีกว่าการสอน โดยทั่วๆ ไป

หัวใจอยู่ที่ความสามารถของครูในการจัดการเรียนการสอนแบบ inquiry-based    ซึ่งหมายความว่าต้องฝึกครูด้านวิธีจัดการเรียนรู้แบบนี้   การเพิ่มความรู้ด้านเนื้อหาจะไม่ช่วย

เขาบอกว่า เด็กอนุบาลเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่แล้วโดยธรรมชาติ   และจะลองโน่นลองนี่อยู่แล้ว   เพียงแต่เปิดโอกาสให้เท่านั้น เขาก็จะเรียนรู้    บทบาทของการศึกษาวิทยาศาสตร์ในระดับอนุบาลคือ   ส่งเสริมสัญชาตญาณรักการทดลอง เพื่อทำความรู้จักโลกโดยรอบตัว    ให้พฤติกรรมกระตือรือร้น ต่อการเรียนรู้นั้น นำไปสู่การเรียนวิชาวิทยาศาสตร์จริงๆ เมื่อโตขึ้น

ผมขอเสริมว่า ครูต้องรู้วิธีชวนศิษย์ชั้นอนุบาลทำกระบวนการ reflection หรือ AAR หลังการทดลอง   กระบวนการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

และขอเสริมว่า การเรียนแบบ inquiry-based PBL ของเด็กชั้นอนุบาล ก็คือการเล่นนั่นเอง

วิจารณ์ พานิช

๕ ม.ค. ๕๗

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2014 เวลา 22:25 น.
 

สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๑๙. AAR

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๙ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People : Progressive Parenting for the 21stCentury เขียนโดย Annie Fox, M.Ed. 

ตอนที่ ๑๙นี้ เป็นการ AAR ของผม   หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้หลายเที่ยว   และตีความนำมาเขียนบันทึกรวม ๑๘ ตอนไปแล้ว    ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้พ่อแม่ทุกคนควรได้อ่าน   และการอ่านบันทึก ๑๙ ตอนของผม จะไม่ทดแทนการอ่านหนังสือตัวจริง    เพราะหนังสือตัวจริงเขียนแบบเน้น tacit knowledge   ในขณะที่ผมเขียนบันทึกแบบเน้น explicit knowledge   คือเขียนแบบสรุปหลักการ

Annie Fox เขียนหนังสือเล่มนี้อย่างคนมีประสบการณ์สูงมาก    เข้าใจจิตวิทยาเด็ก จิตวิทยาพัฒนาการในระดับประยุกต์กับของจริง    เข้าใจลึกไปถึงเบื้องหลังของพฤติกรรมของเด็ก

ผมตีความว่า ความมั่นคงทางอารมณ์เป็นเรื่องสำคัญยิ่งในชีวิตมนุษย์   การช่วยให้เด็กค่อยๆ พัฒนาความมั่นคงทางอารมณ์ทีละขั้นตอน เป็นการวางรากฐานชีวิตที่สำคัญยิ่ง   ความเป็นคนดีมีรากฐานมาจากคุณสมบัติข้อนี้เป็นสำคัญ   หนังสือเล่มนี้ทั้งเล่มว่าด้วยเรื่องนี้

ระหว่างอ่านหนังสือเล่มนี้ และจับความเอามาเขียนบันทึก   ผมถามตัวเองว่า หากผมมีความรู้เรื่องนี้เมื่อ ๔๐ กว่าปีมาแล้ว    ผมจะเลี้ยงลูกต่างจากเดิมอย่างไร    และลูกๆ ของผมจะมีพื้นฐานทางอารมณ์และสังคมแตกต่างไปอย่างไร    ผมเชื่อว่าลูก ๔ คนของผมจะได้ประโยชน์จากพ่อแม่มากกว่าอย่างมากมาย

แต่ชีวิตมันเป็นถนนที่เราถอยหลังกลับไปที่เดิมเวลาเดิมไม่ได้    ผมจึงเขียนบันทึกชุดสอนเด็กให้เป็นคนดี นี้    เพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้ และพิจารณานำไปใช้กับการเลี้ยงลูกของตน   โดยขอย้ำว่า ต้องเอาไปปรับบ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมไทย

ตลอดเวลาที่ผมช่วยภรรยาเลี้ยงลูก ทั้งตอนลูกยังเล็ก  ตอนโต  และรวมทั้งปฏิสัมพันธ์ปัจจุบันกับลูกๆ ที่เป็นผู้ใหญ่หมดแล้ว    ผมรู้สึกตลอดเวลาว่า “ลูกคือครู”    คือลูกช่วยให้ผมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากมาย   โดยหลายอย่างมากับปัญหาหรือความท้าทายที่เกิดขึ้น

ผมบอกตัวเองว่า หากเมื่อ ๔๕ ปีก่อนผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้    ผมจะได้สังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการของลูกได้ละเอียดขึ้น   และได้เรียนรู้จากลูกมากกว่าเดิมอย่างมากมาย

ทั้งหมดนี้เป็น if …. were … สำหรับผม    แต่เป็น if …. is สำหรับท่านผู้อ่านที่ลูกยังเล็ก    ท่านผู้อ่านที่มีลูกเล็กและลูกวัย t(w)een จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย

หนังสือเล่มนี้บอกว่า การเลี้ยงเด็กให้เป็นคนดีเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนยิ่ง    แต่สามารถสรุปคุณสมบัติของคนดี ออกได้เป็น ๘ หมวด คือ

๑ ความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence)

๒. จริยธรรม (ethics)

๓. ช่วยเหลือผู้อื่น (help)

๔. ให้อภัย (forgiveness)

๕.  ความเห็นใจ (compassion)

๖. เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (empathy)

๗. การยอมรับ (acceptance), และ

๘. ความกล้าหาญทางสังคม (social courage)

 

โดยที่ในชีวิตจริง การพัฒนาคุณสมบัติ ๘ หมวดนี้มันไม่แยกกัน    แต่เป็นกระบวนการที่บูรณาการเชื่อมโยงกันเป็น holistic

ผมขอย้ำว่า คุณสมบัติพื้นฐาน ๘ หมวดสำหรับการเป็นคนดี มีอิทธิพล หรือส่งผลต่อชีวิตที่ดีของลูกหลานของเรา มากกว่าความรู้เชิงวิชา เสียอีก    และยังส่งผลดีต่อสังคมมากกว่าความรู้เชิงวิชาด้วย

ต้นฉบับของหนังสือ ค่อนข้างเขียนบอกพ่อแม่    แต่ผมคิดว่าครูก็ต้องใช้ความรู้และทักษะชุดที่เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้    ผมคิดว่าการศึกษาของไทยเราเดินมาผิดพลาด    ที่หันไปให้ความสำคัญต่อผลการเรียนวิชาเท่านั้น    เอาใจใส่การฝึกเด็กให้เป็นคนดีน้อยมาก หรือแทบไม่ได้เอาใจใส่เลย

 

วิจารณ์ พานิช

๙ เม.ย. ๕๖

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2014 เวลา 21:04 น.
 


หน้า 398 จาก 556
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5585
Content : 3038
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8559714

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า