Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

คุยกับ ศ. ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

พิมพ์ PDF

คุยกับ ศ. ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

วันที่ ๑๘ พ.ย. ๕๖  หลังจบการประชุมคณะกรรมการตัดสินผลงานวิจัยเด่น สกว.   ศ. ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กับผมถือโอกาสอยู่คุยกันต่อ    เรื่องแนวทางส่งเสริมการวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

เรามีความเห็นพ้องกันว่า ความเข้มแข็งทางวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นสิ่งจำเป็นต่อความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง    หรือมองมุมกลับ หากยังปล่อยให้การวิจัยด้านนี้ยังอ่อนแอ อย่างในปัจจุบัน    จะมีผลร้ายต่อสังคม

ผมให้ความเห็นกับท่านว่า    สกว. ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบบริหารงานวิจัย อย่างน่าชื่นชมมาก    แต่ความสำเร็จนั้น เอียงไปข้างสาขาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี    สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ไม่ได้รับอานิสงส์เท่าที่ควร    สะท้อนว่า แนวทางการจัดการงานวิจัยของ สกว. นั้น  น่าจะยังไม่เหมาะสมสอดคล้องกับธรรมชาติของงานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

จึงน่าจะมีการพัฒนาองค์กร และระบบบริหารงานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ขึ้นมาในสังคมไทย   แบบเดียวกับที่ผมและคณะพัฒนา สกว. และระบบการจัดการงานวิจัยของ สกว. ขึ้นเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว

เราคุยกันถึงองค์กรแบบ The Social Science Research Council ในสหรัฐอเมริกา     The Social Science and Humanities Research Council ของแคนาดา    Arts and Humanities Research Council ของอังกฤษ

ดร. ธเนศ เอ่ยถึงตัวอย่าง ARI NUS   ที่เริ่มต้นด้วยการไปดึงตัว Prof. Anthony Reid มาจาก ANU   โดยที่ทางรัฐบาลสิงคโปร์ให้งบประมาณหนุนการจัดตั้ง ARI (Asia Research Institute) เต็มที่    ผมให้ความเห็นว่า กรณีเช่นนั้นเกิดยากในประเทศไทย   เพราะรัฐบาลไม่มองมหาวิทยาลัยและวิชาการเป็นเครืองมือ ในการสร้าง ความเข้มแข็งของประเทศ    บางรัฐบาลระแวงมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ

ผมชี้ให้เห็นว่า การมี สกว. ในสังคมไทยเป็นอุบัติเหตุ หรือเหตุบังเอิญ    เกิดจากการมีรัฐบาลอานันท์ และมี ศ. ดร. ไพจิตร เอื้อทวีกุล ที่มีสายตากว้างไกล   ผมยังมองไม่เห็น ว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง ในสภาพปัจจุบัน จะเห็นความสำคัญของการก่อตั้ง สำนักงานสนับสนุนการวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

แต่เราก็ไม่สิ้นหวัง    เราต้องช่วยกันคิดหาช่องทางสร้างความเจริญด้านวิชาการ สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์    เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็น Knowledge-Based Society   หลุดพ้น  middle-incoem trap ให้ได้

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๙ พ.ย. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2013 เวลา 14:41 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๕๖. เดินทางไปบราซิล ด้วยสายการบิน เอมิเรตส์

พิมพ์ PDF

บอกใครว่าจะเดินทางไปบราซิล ทุกคนหน้าเบ้ ว่าต้องใช้เวลาเดินทางกว่า ๓๐ ชั่วโมง แต่ผมก็ต้องไป เพราะเป็นหน้าที่    คือเพื่อทำงานให้แก่ PMAC   โดยการไปร่วมประชุม Third Global Forum on Human Resurces for Health ที่เมือง Recife   ระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๓ พ.ย. ๕๖

ก่อนถึงวันเดินทางประมาณ ๒ เดือน ท่านรองฯ วณิชา โต้โผสำคัญของงานปฏิรูปการศึกษาของบุคลากรสุขภาพ ของประเทศไทย และของภูมิภาคเอเซีย   อีเมล์มาชวนไปชมน้ำตกอิกวาสุ (Iguasu) ที่เป็น ๑ ใน ๗ สุดยอดมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของโลก    มีหรือที่ผมจะไม่ไป    ชวนสาวน้อย เขาไม่ไป    ลงท้ายผมมีเพื่อนร่วมเดินทางไปชมน้ำตก แล้วไปประชุมวิชาการถึง ๘ คน

เป็นการเดินทางที่สะดวกสบาย เพราะมีคนจัดการให้หมด คือทีม secretariat ของ PMAC

เราเดินทางด้วยสายการบิน เอมิเรตส์ ที่เป็นที่เลื่องลือว่าบริการดี และที่นั่งสบาย   และหลานสาวที่เคยทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบอกว่า ของแจกเยอะ

ที่ยิ่งกว่าของแจกคือบริการภาคพื้นดิน    ที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อนของสายการบินอื่นๆ    เขาแจ้งว่า ผู้โดยสารชั้นหนึ่ง และชั้นธุรกิจ มีบริการรับส่งจากบ้านและสนามบินฟรี    โดยที่เอกสารระบุว่า รถบริการสำหรับผู้โดยสารชั้น ๑ เป็นรถเมอร์ซีเดส   และชั้นธุรกิจเป็นรถวอลโว่    โดยเขาให้เราอีเมล์แจ้งความประสงค์ และให้หมายเลขโทรศัพท์สำหรับติดต่อกลับ     ก่อนเดินทาง ๒ วัน เขาก็อีเมล์และโทรศัพท์มานัดแนะอย่างรอบคอบ    วิธีการติดต่อของเขาให้ความประทับใจในคุณภาพของเจ้าหน้าที่ (คนไทย) ยิ่งนัก    เขาบอกว่า รถที่จะมารับผมจะเป็นรถเบ๊นซ์

ก่อนเดินทางไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ของ PMAC ติดต่อมาเรื่องฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลือง    บอกว่าการเดินทางเข้าบราซิล เขาไม่ระบุให้ฉีด   แต่เมื่อกลับมาเมืองไทย จะโดนจับฉีดหากไม่ได้ฉีดไปก่อน    แต่เจ้าหน้าที่เขาเป็นห่วงว่าหากผมไปฉีดในวันที่ ๖ พ.ย. (ซึ่งไม่ยุ่งยากอะไร   ไปฉีดที่ รพ. บำราศนราดูร หรือที่สภากาชาด)  ผมก็มีหวังเป็นไข้ครั่นเนื้อครั่นตัวไปตลอดเวลาที่อยู่ที่บราซิล    เขาเสนอว่าผมไม่ต้องฉีด   หากกลับมาเขาไม่ยอมให้เข้าเมือง ต้องฉีดวัคซีนจึงค่อยฉีด   เพื่อนร่วมเดินทางที่เลือกเสี่ยงแบบผมคือ ศ. นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์

รถที่มารับเป็นรถเบนซ์รุ่นเก่าหน่อย    โชเฟอร์ช่างคุย    เขาเล่าว่ารถนี้เป็นของบริษัทคนไทย (ชื่อ Limousine Express)  ที่มีฝรั่งสวิสเป็น ซีอีโอ   เขาจบปริญญาเอกและสอนการโรงแรมอยู่ที่ มศว.   เป็นคนที่มีไอเดียใหม่ๆ ทางธุรกิจตลอดเวลา    บริษัทนั้มีรถ ๕๐ คัน รับบริการรับส่งผู้โดยสารของสายการบิน เอมิเรตส์ และเอติฮัท ซึ่งเป็นของประเทศสหสาธารณรัฐเอมิเรตส์ ทั้งคู่    เขาบอกว่าในประเทศไทยมีบริการภาคพื้นดินนี้เฉพาะ ๒ สายการบินนี้เท่านั้น (แต่ อ. หมอภิเศก บอกผมภายหลังว่า เคยได้รับบริการของ ออสเตรียน แอร์ไลน์ เมื่อหลายปีมาแล้ว เวลานี้ไม่มีบริการ)    และบริษัทของเขารับบริการลูกค้าของบัตรเครดิตด้วย    คนเหล่านี้ได้รับรางวัลจากการรูดบัตรครบเดือนละ ๑ หรือ ๒ แสนบาท แล้วแต่ธนาคาร   คนที่ได้ใช้บริการนี้มักเป็นนักธุรกิจใหญ่

เขาเล่าว่าเดิมบริษัททำธุรกิจให้บริการตามโรงแรม    ในลักษณะที่ให้บริการแก่แขกของโรงแรมและคิดเงินตามอัตราที่กำหนด    แต่บริษัทต้องไป “เสนอราคา” ต่อทางโรงแรมว่า จะให้ส่วนแบ่งแก่โรงแรมเป็นเงินร้อยละเท่าไรของอัตราค่าบริการ    เขาเล่าว่าโรงแรมหนึ่ง บริษัทประมูลได้มาในอัตราร้อยละ ๑๒   พอหมดสัมปทาน ๕ ปี    ทางโรงแรมก็มีเงื่อนไขว่าต้องใช้รถ บีเอ็ม ซีรี่ส์ ๗ ทั้งหมด ๑๔ คัน    และขอส่วนแบ่งร้อยละ ๑๔   ทางบริษัทต่อรองไม่สำเร็จ จึงถอยออกมา

เขาเล่าว่า นายของเขาไปเสนอไอเดีย บริการรับส่งผู้โดยสารแบบนี้แก่สายการบินไทย    โดยไปคุยกับผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่ง    ผมเดาล่วงหน้าในใจว่าผู้บริหารการบินไทยจะพูดว่าอย่างไร    ถ้าเป็นการแทงหวย ผมก็จะได้รางวัลที่ ๑   เขาถามว่า “หากการบินไทยตกลงจ้างบริษัทคุณจัดบริการนี้ ผมจะได้อะไร”    เรื่องเล่าแบบนี้อย่าปักใจเชี่อเสียทีเดียว

เคาน์เตอร์ เช็คอิน ดูโอ่อ่าแปลกตา เพราะพนักงาน (คนไทย) สวมชุดแขกเอมิเรตส์ คือชุดสีเนื้อ สวมหมวกสีแดง    ต้อนรับบริการแบบเอาใจลูกค้า    เนื่องจากการเดินทางครั้งนี้ไปประเทศเขตร้อนเหมือนๆ ประเทศไทย (แต่อยู่ฝั่งใต้เส้นศูนย์สูตร)    จึงไม่ต้องเตรียมเครื่องกันหนาว    กระเป๋าที่เช็คอินหนักเพียง ๑๓ ก.ก. เท่านั้น

เราเข้าไปเดินหาห้องรับรองผู้โดยสารของสายการบิน เอมิเรตส์ ต้องเดินไปไกล น่าจะกว่า ๑ ก.ม.   เจ้าหน้าที่ของห้องรับรองของการบินไทยบอกว่า “เดินไปอีก ๑๐ นาที”   เป็นเล้าจ์ที่ที่นั่งและเครื่องอำนวยความสะดวก เครื่องดื่มและอาหารครบครัน    แต่ตอนนั้นมันสองยามเข้าไปแล้ว

เครื่องบินของเที่ยวบิน EK 371  เป็น B 777-200   ผมได้ที่นั่ง 8B   ในห้องโดยสารชั้นธุรกิจห้องหน้า ที่มีที่นั่ง ๒ แถว ๑๔ คน   มีผู้โดยสาร ๒ คนเท่านั้น     ในชั้นธุรกิจห้องหลัง มี ๔ แถว ๒๘ คน    รวมชั้นธุรกิจ ๔๒ ที่นั่ง มีผู้โดยสารเพียง ๙ คน    ดังนั้นผมจึงย้ายไปนั่งที่นั่ง 8A ริมหน้าต่าง    ทำให้ได้ชมวิวและถ่ายรูปยามเครื่องบินร่อนลงเวลาตีห้าครึ่ง

ผมบอกเจ้าหน้าที่ต้อนรับว่าผมขอนอน ไม่กินอาหาร  ขอน้ำส้มแก้วเดียว    เขาเอาเบาะรองนอนบางๆ มาปูที่นอนให้    ทำให้นอนนุ่มสบายขึ้น    ผมกินยานอนหลับ ลอราซีแพม 0.5 mg. แล้วนอน    ในระยะเวลาบิน ๖ ชม. ๔๐ นาที ไปดูไบ ผมนอนหลับได้ประมาณ ๔ ชั่วโมง    ตื่นขึ้นมาก็ได้เวลาอาหารเช้าพอดี    และรู้สึกสดชื่น

การอำนวยความสะดวกในการเดินทางถือว่าเยี่ยม   ทั้งที่นั่งและเครื่องบันเทิงต่างๆ    และบริการของเจ้าหน้าที่    กระเป๋าแจกเครื่องใช้ในการเดินทางใบโตที่สุดเท่าที่ผมเคยได้รับ

เครื่องบินถึงดูไบตรงเวลา ๕.๔๕ น.   แต่เขาไปจอดกลางสนามบิน ต้องนั่งรถไปตัวอาคารไกล    และเครื่องบินที่เราเดินทางต่อไป ริโอ เดอ จาไนโร เที่ยวบิน EK 247 ออกเวลา 7.10 น.   ในบัตรขึ้นเครื่องระบุให้ไปขึ้นเครื่องเวลา 6.25 น.   ระหว่างที่เราเดินหาประตูขึ้นเครื่องเขาก็ประกาศครั้งสุดท้ายให้ไปขึ้นเครื่อง    แต่เรายังอยู่ไกล ต้องเดินบ้างวิ่งบ้าง ฝ่าคนแน่นไปที่ประตู D 27   การเดินทางช่วงวันที่ ๗ พ.ย. นี้ เราได้เดินออกกำลังทั้งที่สุวรรณภูมิ และที่สนามบินดูไบ

จากดูไบไปริโอ ใช้เวลาบิน ๑๔ ชม. ๒๐ นาที    เครื่องบิน Boeing 777-200 อย่างเดิม    คราวนี้ผมนั่งที่นั่ง 9B   มีผู้หญิงอินโดนีเซียอายุราวๆ ๔๐ ปี นั่งที่นั่ง 9A   เขากำลังเดินทางไปร่วมท่องเที่ยวขั้วโลกใต้กับ National Geographic   เขาชอบถ่ายรูป    ใช้กล้อง Leica compact ตัวเล็ก ตั้งอัตโนมัติถ่ายตัวเอง    ผมจึงเสนอช่วยถ่ายให้   และเมื่อได้จังหวะผมก็ช่วยถ่าย    ผลออกมาทำให้เขาตกใจ   เพราะ composition และแสงเงาสวยงามมาก โดยที่ผมถ่ายแบบไม่จดจ้องเลย

บริการบนชั้นธุรกิจ ของสายการบินเอมิเรตส์ หาที่ติยาก    ผมพบอย่างหนึ่ง คือกาแฟไม่อร่อย    ตามประสบการณ์ของผม สายการบินที่กาแฟอร่อยที่สุดคือ ออสเตรียน แอร์ไลน์   แต่ขากลับ ผมขอทั้ง Esspresso  และ Capuchino พบว่าอร่อยทั้งคู่

ผมประมาณว่า การจัดวางที่นั่ง ระหว่างแถว กว้างกว่าของการบินไทย    เวลานอน (เกือบ) ราบ ยังมีที่ว่างให้คนที่สูงกว่าผมเกือบฟตเหยียดเท้าได้สบาย    ในขณะที่ของการบินไทยคนสูงต้องนอนตะแคงงอตัว    เก้าอี้นั่ง/นอน ก็กว้างกว่า    เวลานอนขยับตัวขยับแขนได้สบาย    ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนคือมีฉากสูงกั้นระหว่างคู่นั่ง/นอน ฉากนี้มีสวิตช์กดให้เลื่อนขึ้นลงได้    และไฟอ่านหนังสือดวงเล็กๆ ที่หัวนอนก็พิเศษมาก    ตรงที่สวิตช์กดมีทั้งเปิดปิด และที่ทำให้ความสว่างต่างกัน ๓ ขั้น

ความพิเศษที่เห็นชัดคือ จอวิดีโอใหญ่มาก    ดูหนังชัดเจนดี   แต่ผมไม่ชอบดูหนัง ผมชอบอ่านหนังสือมากว่า    และมาคราวนี้ผมพก Kindle Paperwhite มาด้วย    เพื่ออ่านหนังสือเล่มใหม่ของ Malcolm Gladwell คือ David and Goliath   อ่านแล้วผมก็นึกออก ว่าจะเถียง Gladwell ว่าอย่างไร

สิ่งที่ผมไม่เคยเห็นในสายการบินอื่นอีกอย่างหนึ่งคือ “เพดานดาว”   เวลาเขาปิดไฟในเคบินให้ผู้โดยสารนอนหลับ    บนเพดานจะมีไฟดวงเล็กๆ หลายขนาด ทำให้ดูคล้ายท้องฟ้าประดับดาว สวยดี

ขากลับวันที่ ๑๒ - ๑๓ พ.ย. ๕๖ เที่ยวบิน EK 8262 จาก Sao Paulo ไป Dubai   เป็นเครื่อง A 777-300   ผมได้ที่นั่ง 7B  แล้วย้ายไป 7A เพราะที่นั่งว่าง    จึงได้สังเกตว่าม่านบังแสงที่หน้าต่างควบคุมด้วยสวิตช์ไฟฟ้า     และได้ทดลองใช้เครื่องให้ความเพลิดเพลิน พบว่าดีมาก    มีให้เลือกมากอย่างจุใจ

อาหารเย็น ซึ่งเสิร์พตอนสองยาม และเสร็จตีสอง อร่อยมากและปริมาณมาก   ผมติดใจ สเต๊ก ที่กินขาไป    แต่คราวนี้ไม่มี   มีแต่ lamb shank ซึ่งอร่อย แต่ไม่ติดใจเท่า สเต๊กตอนขาไป    กินกับไวน์แดงชั้นดี Chateau Phelan Segur 2004  St Estephe    เขารินให้เต็มแก้ว ๒ ครั้ง  ผมดื่มไม่หมด

ของหวานผมเลือกเนยแข็ง    เราเสิร์พมาบนกระดานเขียงน่ากินมาก   ปริมาณมากจนกินไม่หมดเช่นเคย

ห้องรับรองผู้โดยสารชั้นธุรกิจของสายการบินเอมิเรตส์ที่ดูไบ เป็นห้องรับรองของสายการบินที่ดีที่สุด และใหญ่ที่สุด ที่ผมเคยใช้บริการ    เครื่องดื่มและของกินเพียบ   มีไวน์อย่างดี รินให้แบบไม่ยั้ง    ห้องอาบน้ำใหญ่ มีหลายห้อง และเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน

ช่วง ดูไบ - กรุงเทพ เที่ยวบิน EK 374  เครื่องบิน A 777-200 เครื่องเก่าหน่อย   จอวิดีโอไม่ใช่จอสัมผัส    แต่ก็มีหนังและดนตรีให้ฟังอย่างดี   ผมเปิดเจอเสียงนกร้องด้วย

บริการภาคพื้นดิน เขาใช้รถตู้ไปส่งผมที่บ้าน    คนขับคุยเก่ง เขาบอกว่าค่าโดยสารที่บริษัท Limousine Express คิดจากสายการบิน เอมิเรตส์ ๑,๘๐๐ บาท    โชเฟอร์ได้ค่าขับ ๑๐%   ตอนนี้เกิดวิกฤติการเมือง นักท่องเที่ยวงดการเดินทางไปมาก   เขาขาดรายได้ลงไปกว่าครึ่ง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๔ พ.ย. ๕๖

 

 

 

ที่นั่งและจอสัมผัสให้ความบันเทิงยอดเยี่ยม

 

ตามด้วยสลัดและซุป

 

ตามด้วยสลัดและซุป

 

จากหลัก สเต๊ก สุดอร่อย แต่กินไม่หมด

 

อาหารเย็นขากลับจากเซาเปาโล ออเดิฟ ผมเลือกLobster and mango tian กับสลัด

 

 

จานหลัก Braised lamb shank with apricot and prunes, served with

cumin flavored baby carrots and fluffy raisin almond couscous

 

cheese board

 

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2013 เวลา 09:23 น.
 

อาสาสมัครช่วยน้องเรียนสนุก

พิมพ์ PDF
ใช้เวลาปิดภาคฤดูร้อนของนักเรียน ที่เพิ่งเรียนจบชั้นใดชั้นหนึ่ง มาร่วมกันออกแบบ และทดลองวิธีจัดการเรียนรู้ที่ “ทั้งสนุกสุดขีดและได้สาระสุดๆ” แก่รุ่นน้องในชั้นเดียวกัน (คือชั้นที่ตนเพิ่งผ่านมาหมาดๆ) โดยมีครูเป็นหัวหน้าโครงการ

อาสาสมัครช่วยน้องเรียนสนุก

เด็กรุ่นใหม่ มองการเรียนเป็น ๒ ขั้ว คือ น่าเบื่อ หรือ เรียนสนุก   ที่เด็กต้องการคือ เรียนสนุก

เรียนสนุกมี ๒ ขั้วคือ สนุกแบบไร้สาระ กับ สนุกอย่างได้สาระ   ได้เรียนครบ ๘ หน่วยสาระ และได้งอกงามทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

ครูมีข้อจำกัด (มาก!!!) ในการจัดการเรียนรู้ให้สนุกด้วย ได้สาระด้วย     เพราะครูกับศิษย์เป็นมนุษย์คนละเผ่าพันธุ์ (ในทางสมอง)    เพราะเกิดมาคนละยุค   ครุเป็นมนุษย์ analog   แต่ศิษย์เป็นมนุษย์ digital

หนังสือทางการศึกษาสมัยใหม่จึงแนะนำให้ใช้พลังของศิษย์นั่นเอง เป็นแรงขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนรู้/การศึกษา

วิธีใช้พลังสร้างสรรค์ของศิษย์เพื่อเปลี่ยนโฉมการศึกษาไทย มีได้เป็นร้อยเป็นพันแบบ    ผมขอเสนอ ๑ แบบ    คือแบบ “จิตอาสาของพี่

หลักการคือ ใช้เวลาปิดภาคฤดูร้อนของนักเรียน ที่เพิ่งเรียนจบชั้นใดชั้นหนึ่ง มาร่วมกันออกแบบ และทดลองวิธีจัดการเรียนรู้ที่ “ทั้งสนุกสุดขีดและได้สาระสุดๆ” แก่รุ่นน้องในชั้นเดียวกัน (คือชั้นที่ตนเพิ่งผ่านมาหมาดๆ)   โดยมีครูเป็นหัวหน้าโครงการ

ครูเป็นหัวหน้าผู้เสนอโครงการ   รับสมัครนักเรียนจากชั้นเรียนของตน และจากชั้นเรียนอื่นในโรงเรียนเดียวกัน และจากโรงเรียนใกล้เคียงในรัศมีไม่เกิน ๓๐ กิโลเมตร    จำนวนนักเรียนระะหว่าง ๒๐ - ๓๐ คน    โดยต้องมาจากโรงเรียนอื่นไม่ต่ำกว่าครึ่ง    มีเงินสนับสนุนโครงการละ ๑๐,๐๐๐ บาท และมีค่าใช้จ่ายสนับสนุนโครงการที่ผลงานเข้าเกณฑ์คุณภาพ   ให้ไปนำเสนอใน ตลาดนัดความรู้พี่ช่วยน้องเรียนสนุก” ซึ่งจัดที่เขาใหญ่ร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  โดยมีกิจกรรมเดินป่าแถมให้ ๑ วัน    นอกเหนือจากตลาดนัดความรู้ ๓ วัน   รวมเป็น ๔ วัน    โดยจะชวนสถานีโทรทัศน์ ไทย พีบีเอส เข้าร่วม

โครงการต้องดำเนินการไม่ต่ำกว่า ๖๐ วัน และไม่เกิน ๗๕ วัน

รับสมัครไม่เกิน ๒๐ ทีม

เป้าหมายของโครงการมีหลายชั้น

  1. เพื่อใช้พลังสร้างสรรค์ของนักเรียนในการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้
  2. เพื่อให้ครูพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่สนุกและศิษย์ได้เรียนรู้ครบตามเป้าหมาย
  3. เพื่อสร้างจิตอาสา แก่นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ และทีมงานทั้งหมด
  4. เพื่อให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้แบบรู้จริง (mastery learning)
  5. เพื่อสร้างเครือข่ายปฏิรูปการเรียนรู้
  6. อื่นๆ

คาดว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๑ - ๒ ล้านบาท ต่อปี

ควรมีคณะกรรมการชี้ทิศทาง ประชุม ๓ ครั้งต่อปี    และไปร่วมตลาดนัดด้วย    คณะกรรมการควรมีผู้ปกครองนักเรียน และ co-educator อื่นๆ ด้วย

ผลงานที่เข้าเกณฑ์ดีเด่น   จะได้รับการถ่ายทำวีดิทัศน์ ออกรายการทีวี ไทย พีบีเอส  และนำลง YouTube

ทั้งหมดข้างบนนั้น เป็นจินตนาการ หรือฝันเฟื่อง    ใครจะเอาไปปรับใช้ไม่หวงห้าม

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ธ.ค. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2013 เวลา 21:09 น.
 

แถลงการณ์เครือข่ายแพทย์จุฬาฯ

พิมพ์ PDF
การที่นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาและจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้ปทนราษฎรในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่อาจแก้ปัญหาการเมืองปัจจุบันได้ ทั้งนักการเมืองไร้คุณธรรมจริยธรรม กระทำทุจริตคอร์รัปชัน ไม่เคารพกฎหมาย ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ล้างผิดคนโกง ปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งความขัดแย้งของคนไทย การเลือกตั้งใหม่จะหยุดปัญหาลงชั่วคราว และจะกลับมาเกิดขึ้นใหม่

แถลงการณ์เครือข่ายแพทย์จุฬาฯ

วันนี้ที่ 13 ธันวาคม 2556 เครือข่ายแพทย์จุฬาฯปกป้องคุณธรรม ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ระบุว่า การที่นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาและจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้ปทนราษฎรในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่อาจแก้ปัญหาการเมืองปัจจุบันได้  ทั้งนักการเมืองไร้คุณธรรมจริยธรรม กระทำทุจริตคอร์รัปชัน ไม่เคารพกฎหมาย    ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ล้างผิดคนโกง   ปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งความขัดแย้งของคนไทย    การเลือกตั้งใหม่จะหยุดปัญหาลงชั่วคราว และจะกลับมาเกิดขึ้นใหม่ โดยเครือข่ายแพทย์จุฬาฯขอแสดงเจตนารมณ์ ดังนี้

  1. ขอสนับสนุนให้มีการปฏิรูปประเทศไทย เน้นการป้องกันและขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน กระจายอำนาจการปกครองสู่องค์กรท้องถิ่น และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมก่อนมีการเลือกตั้ง
  2. ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลาออกจากการรักษาการทันที เพื่อให้เกิดความเป็นกลางในการปฏิรูปประเทศ
  3. ขอให้จัดตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนทุกภาคส่วน โดยไม่มีพรรคการเมืองและแกนนำเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้เกิดการปฏิรูปประเทศและบริหารประเทศชั่วคราวจนกว่าจะมีการปฏิรูปประเทศ
  4. หลังปฏิรูปประเทศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามกติกาใหม่อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม
  5. ให้ทุกพรรคการเมืองทำปฏิญญาต่อประชาชนว่าจะปฏิบัติตามแนวทางการปฏิรูปประเทศ จะร่วมกันพัฒนาประเทศโดยปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน กระจายอำนาจการปกครองสู่องค์กรท้องถิ่น และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างจริงจัง โดยมีกระบวนการติดตามตรวจสอบจากสภาภาคประชาชนและองค์กรอิสระ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปฏิรูปประเทศไทย

คณาจารย์และบุคลากร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมลงชื่อในเครือข่ายฯประกอบ

  • ระดับศาสตราจารย์ 39 คน
  • รองศาสตราจารย์ 65 คน
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 27 คน
  • อาจารย์และแพทย์ประจำบ้าน 149 คน
  • พยาบาล บุคลากรสนับสนุน และครอบครัว จำนวน 60 คน

.....รวม 340 คน

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2013 เวลา 22:14 น.
 

ประสานพลังเพื่อการพัฒนาพื้นที่

พิมพ์ PDF

บ่ายวันที่ ๔ พ.ย. ๕๖   ผมไปร่วมประชุมให้ความเห็นต่อร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ เรื่อง โครงการระบบประเมินผลแบบเสริมพลัง เพื่อการพัฒนาพื้นที่ ที่สกว.    ท่ามกลางบรรยากาศร้อนระอุทางการเมือง    ที่กระแสต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอย ขึ้นสูงมาก    แต่การประชุมนี้ให้ความสุข ชุ่มชื่นหัวใจแก่ผมเป็นอันมาก   เพราะได้เห็นวิธีการประสานพลังเพื่อการพัฒนาพื้นที่ที่ประสบผลสำเร็จน่าชื่นชม    โครงการนี้มีคุณจิริกา นุตาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ

ผมได้เรียนรู้ว่าการประเมินผลแบบเสริมพลัง ทีมผู้ทำงานต้องเป็นผู้ประเมินเอง    สำหรับใช้ผลการประเมินในการปรับการทำงานของตน   ให้ได้ผลตามเป้าหมาย    และสำหรับเป็นข้อเรียนรู้ของตนเอง    ทีมประเมินทำหน้าที่ตั้งคำถาม เพื่อให้ทีมทำงานฉุกคิด หาทางทำงานให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

ผมยิ่งชื่นใจ ที่ทีมประเมินและทีม สกว. บอกว่า มีหลายจังหวัดที่บอกว่า “โครงการ สกว. จบ    แต่พวกเราจะทำต่อ”   ผมคิดว่า สปิริต นี้ คือผลงานที่แท้จริง

สปิริตของแกนนำในพื้นที่ ที่จะรวมตัวกัน ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ของตน    อย่างมีระบบ มีการสร้างข้อมูลและใช้ข้อมูลเพื่อการดำเนินการพัฒนา

เราได้เห็นว่า มี “สินทรัพย์เพื่อการพัฒนาพื้นที่” (development assets) อยู่ในพื้นที่มากมาย    แต่โดยทั่วไปจะไม่ได้นำมาใช้ หรือใช้แบบแยกส่วน   ไม่ได้ใช้ให้เกิดการเสริมพลัง (synergy) กัน    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สินทรัพย์” ที่อยู่ในหน่วยราชการ    แต่เมื่อเชื่อมโยงเอามาใช้ร่วมกันได้    จะเกิดประโยชน์มหาศาล    เขายกตัวอย่างศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชนครราชสีมา     เป็นสินทรัพย์ที่มีค่ายิ่งต่อโครงการกลุ่มเกษตรและอาหารปลอดภัย เชื่อมโยงกับโครงการกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

ในระหว่างการเสวนาแลกเปลี่ยนกันนั้น    ผมปิ๊งแว้บคำว่า Empowerment Report   ที่เป็นรายงานถอดบทเรียนความสำเร็จของกลุ่มแกนนำและทีมงานของแต่ละพื้นที่    ที่ได้จากการทำ reflection หรือ AAR ของผู้เกี่ยวข้องเหล่านั้น    นำมาเรียบเรียงสังเคราะห์เป็นรายงาน    โดยผมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า รายงานสมัยใหม่น่าจะจัดทำเป็น multimedia   คืออาจมีวีดิทัศน์สั้นๆ เสริมด้วย

“สินทรัพย์” ที่มีค่าที่สุดในพื้นที่ ในความเห็นของผม คือ จินตนาการร่วมกันของกลุ่มแกนนำ    ในการพัฒนาพื้นที่   แล้วมีการศึกษาหาความรู้หาข้อมูล    เพื่อนำมาปรับความฝันให้เป็นเป้าหมายที่สมจริง    แล้วรวมพลังทุกภาคส่วนในพื้นที่ และนอกพื้นที่    เพื่อดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายนั้น

ผมได้เสนอต่อที่ประชุมว่า ผลลัพท์ที่มีค่าสูงสุดต่อพื้นที่ไม่ใช่ตัวผลสำเร็จของโครงการ    ผลลัพท์ที่มีค่ามากกว่า คือการเรียนรู้ที่เกิดจากการทำโครงการนั้น   ดังนั้น Empowerment Report จึงมีค่ายิ่ง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๔ พ.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2013 เวลา 22:18 น.
 


หน้า 412 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5606
Content : 3049
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8600419

facebook

Twitter


บทความเก่า