Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

เด็กปัญญาเลิศ

พิมพ์ PDF
ผลการวิจัยบอกว่า เด็กที่มีความสามารถพิเศษสูงมากเหล่านี้ ร้อยละ 20-25 มีปัญหาทางอารมณ์และสังคม ตัวเลขนี้สูงกว่าในเด็กทั่วๆ ไปเท่าตัว แต่เด็กที่มีความสามารถพิเศษปานกลาง ไม่มีปัญหานี้

เด็กปัญญาเลิศ

บทความเรื่อง Uncommon Talents : Gifted Children, Prodigies and Savants เขียนโดย Ellen Winner     ตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ในปี ค.ศ. 1998    และพิมพ์ซ้ำในหนังสือ The Science of Education ในปี 2012  บอกว่า เด็กปัญญาเลิศนั้นไม่ใช่ว่าจะเลิศไปเสียทุกด้าน   เพราะจริงๆ แล้วปัญญามีธรรมชาติเป็นพหุปัญญา    เด็กที่มีปัญญาเลิศมักมีเฉพาะบางด้าน  และอ่อนแอมากในบางด้าน

และบอกว่าวงการศึกษาเข้าใจผิดเรื่องเด็กปัญญาเลิศมานานเกือบ ๑ ศตวรรษ   จากผลงานวิจัยระยะยาว (กว่า ๗๐ ปี) ของยักษ์ใหญ่ในด้านนี้ คือ Lewis M. Terman แห่งมหาวิทยาลัย สแตนฟอร์ด  ศึกษาเด็ก ไอคิวสูง ๑๓๕ ขึ้นไป กว่า ๑,๕๐๐ คน โดยการวิจัยนี้มีข้อผิดพลาดใหญ่หลวงตั้งแต่เริ่มต้น    คือมอบให้ครูเสนอเด็ก ที่ตนคิดว่าสมองดีที่สุดไปรับการทดสอบเพื่อคัดเลือก   โดยวิธีคัดตัวอย่างแบบนี้ จะได้เฉพาะเด็กที่ครู เห็นว่าเก่งเท่านั้น    เด็กปัญญาเลิศที่เกเร หรือเก็บตัว หรือปรับตัวเข้าสังคมกับเพื่อนไม่ได้ จะไม่อยู่ในข่าย    ทำให้ผลการศึกษาเรื่องเด็กปัญญาเลิศของ เทอร์แมน ผิดพลาด

เทอร์แมน บรรยายเด็กปัญญาเลิศอย่างเลิศเลอเกินจริง   คือไม่ใช่เด่นพิเศษด้านการเรียนวิชาเท่านั้น   ยังเด่นพิเศษด้านสุขภาพ การปรับตัวเข้าสังคม และทัศนคติด้านคุณธรรม    นำไปสู่ความเข้าใจผิดว่า เด็กปัญญาเลิศจะมีชีวิตที่มีความสุข มีความสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งต่างๆ ได้เก่ง   จึงเป็นเด็กที่ครูไม่ต้องเอาใจใส่มากนัก    เป็นความเข้าใจผิดที่วงการศึกษายังยึดถือมาจนปัจจุบัน

ความเป็นเด็กปัญญาเลิศ (gifted) มีลักษณะเด่น ๓ อย่าง

  1. เรียนรู้เร็ว (precocious)
  2. มีความสนใจและเรียนรู้ในรูปแบบของตนเอง   ไม่ได้เรียนตามแนวทางปกติทั่วๆ ไป
  3. มีความสนใจดื่มด่ำในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ  อาจมุ่งมั่นดื่มด่ำมากจนไม่สนใจเรื่องอื่น   หรือไม่สนใจโลกภายนอก

จุดอ่อนของเด็กปัญญาเลิศคือ อาจอ่อนไหวต่อปัจจัยด้านสังคมและอารมณ์มากกว่าเด็กทั่วไป

นักวิจัยที่ให้ภาพของเด็กปัญญาเลิศแตกต่างไปจาก Lewis Terman คือ Mihaly Csikszentmihalyi แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก (ผู้เขียนหนังสือขายดีเรื่อง Flow)    ที่ได้แสดงให้เห็นว่า เด็กที่เก่งเป็นพิเศษในด้านใดด้านหนึ่ง (เรียน ศิลปะ ดนตรี กีฬา) มักเข้าสังคมกับเพื่อนๆ ยาก   เด็กเหล่านี้มีลักษณะ มีแรงบันดาลใจ (drive) สูง  มีความคิดเป็นของตนเอง  และไม่ชอบสุงสิงกับใครๆ (introvert)    ยิ่งมีความสามารถพิเศษสูงเพียงใด เด็กจะยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยว

ผลการวิจัยบอกว่า เด็กที่มีความสามารถพิเศษสูงมากเหล่านี้ ร้อยละ 20-25 มีปัญหาทางอารมณ์และสังคม   ตัวเลขนี้สูงกว่าในเด็กทั่วๆ ไปเท่าตัว    แต่เด็กที่มีความสามารถพิเศษปานกลาง   ไม่มีปัญหานี้

ผลการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งบอกว่า เด็กที่มีความสามารถพิเศษจำนวนหนึ่ง จะพยายามซ่อนความสามารถ ของตน   เพื่อจะได้เข้ากับเพื่อนๆ ได้

เด็กปัญญาเลิศ จึงเป็นความท้าทายของครู   ที่จะช่วยส่งเสริม ให้เด็กได้ประโยชน์จากปัญญาเลิศของตน    และในขณะเดียวกัน ก็มีชีวิตทางสังคมที่ดีในกลุ่มเพื่อน   และให้ได้พัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข และได้ใช้ความสามารถพิเศษของตนให้เป็นประโยชน์ตน และประโยชน์ส่วนรวม

 

เด็กปัญญาเลิศบางด้าน(unevenly gifted)

เด็กเก่งพิเศษมี ๒ แบบ  คือเก่งทุกด้าน กับเก่งบางด้าน   ส่วนใหญ่เป็นแบบหลัง   ยิ่งเก่งพิเศษยอดเยี่ยมเพียงไร โอกาสตกอยู่ในแบบหลังยิ่งสูง    ดังตัวอย่างมีผู้วิจัยพบว่า เด็กที่เก่งคณิตศาสตร์เป็นพิเศษ หรือเก่งพื้นที่ (spatial ability) มักอ่อนด้านถ้อยคำ (verbal ability)    ดังตัวอย่างเด็กอายุ ๘ ขวบคนหนึ่ง สอบ SAT ด้านคณิตศาสตร์ได้ ๗๖๐ จากคะแนนเต็ม ๘๐๐   แต่ผลสอบด้านถ้อยคำ ได้เพียง ๒๙๐ จากคะแนนเต็ม ๘๐๐

Benjamin S. Bloom ศึกษาประวัตินักคณิตศาสตร์ระดับโลก ๒๐ คน    พบว่าไม่มีใครเลยที่อ่านหนังสือออกก่อนไปโรงเรียน   และในจำนวนนี้ ๖ คนมีปัญหาด้านการอ่าน   แต่เด็กปัญญาเลิศโดยทั่วไปแทบทุกคนอ่านหนังสือออกก่อนไปโรงเรียน   ในหนังสือยกตัวอย่างมากมายของคนที่ปัญญาเลิศพิเศษด้านหนึ่ง   แต่มีปัญหาในอีกด้านหนึ่งหรือหลายด้าน

 

นักปราชญ์ปัญญาอ่อน

ในหนังสือเขาใช้คำว่า savant    หมายถึงคนที่เก่งในบางด้าน แต่มี ไอคิวระหว่าง ๔๐ - ๗๐    คือในด้านทั่วไปเป็นคนปัญญาอ่อน    และมักเป็นเด็กออทิสติก

savant มี ๒ แบบ   คือแบบที่ด้านเก่ง เก่งในระดับคนเก่งทั่วๆ ไป   กับแบบที่ด้านเก่ง เก่งในระดับเลิศหาตัวจับยาก    แบบหลังนี้มีเพียงประมาณ ๑๐๐ คนในโลก ซึ่งมักเก่งด้าน ทัศนศิลป์ ดนตรี หรือคิดเลขเร็วสายฟ้าแลบ

savant คือเด็ก unevenly gifted แบบสุดขั้ว

วิธีจัดการสมองพิเศษ

ผมขอหมายเหตุว่าบทความนี้ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1998 คือ ๑๕ ปีมาแล้ว   ในช่วง ๑๕ ปี น่าจะมีความรู้เกี่ยวกับวิธีจัดการเด็กปัญญาเลิศเพิ่มขึ้นมากมาย

วิธีจัดการโดยทั่วไปคือ ยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยทั่วไป    และจัดการเรียนรู้ที่ท้าทาย    จะมีคุณต่อเด็กสมองดีจำนวนมาก

วิธีแยกแยะเด็กปัญญาเลิศเพื่อให้การศึกษาพิเศษไม่ควรใช้ การทดสอบไอคิว    ควรทดสอบความถนัด หรือความสามารถเฉพาะด้าน    เมื่อพบก็ให้เด็กได้เรียนวิชานั้นๆ ของนักเรียนชั้นสูงกว่า (advanced course) หรือ AP (Advance Placement) Program ในมหาวิทยาลัย   โดยที่ยังเรียนวิชาอื่นๆ กับเพื่อนร่วมชั้นตามปกติ

วิธีจัดการส่งเสริมเด็กเก่งพิเศษบางด้านอีกวิธีหนึ่งเรียกว่า Accellerated Summer Program    คือจัดชั้นเรียนวิชาที่ตามปกติใช้เวลาเรียน ๑ ปี   แต่จัดให้เรียนภาคฤดูร้อนในเวลา ๒ - ๓ สัปดาห์   เพื่อให้เด็กทั้งได้เรียนวิชา และได้เข้าสมาคมกับเด็กที่ชอบและมีความสามารถพิเศษแบบเดียวกัน

ผมขอหมายเหตุความเห็นส่วนตัวของผม   ว่าส่วนที่ต้องจัดการ และจัดการยากกว่า คือจัดการพ่อแม่เด็ก    ที่อยากให้ลูกของตนเป็นอัจฉริยะเกินจริง    โดยไม่ตระหนักว่า การที่ตนคาดหวังและผลักดันยกลูกเกินไป อาจก่อผลร้ายต่อชีวิตของลูกในระยะยาว    คือทำให้พัฒนาการของลูกไม่ครบด้าน    หรือทำให้ลูกเป็นคนมีปมเขื่อง    สภาพที่พึงระวังคือพ่อแม่ผลักดันลูกเพื่อสนองปมเขื่องของตนเอง

ความพอดี คือเป้าหมาย

วิจารณ์ พานิช

๑๗ พ.ย. ๕๖

 

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 08 ธันวาคม 2013 เวลา 09:58 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๕๐. คณะกรรมการรางวัลนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล รับพระราชทานเลี้ยง ที่วังสระปทุม

พิมพ์ PDF

หลังการประชุมคณะกรรมการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในเย็นวันที่ ๒๓ ต.ค. ๕๖   สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ โปรดให้คณะกรรมการเข้าเฝ้า รับพระราชทานเลี้ยงอาหารเย็น ที่วังสระปทุม

เราไปถึงเวลาประมาณ ๑๗.๓๐ น.   ไปนั่งรอที่ห้องรับแขกจนเกือบ ๑๘.๐๐ น. ก็เดินไปที่พระตำหนักใหญ่ ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๒๐ เมตร    จำได้ว่าปีที่แล้วก็พระราชทานเลี้ยง    และเมื่อหลายปีที่แล้วเราได้ขึ้นไปชมพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าด้วย

พอเวลา ๑๘ น. ก็เสด็จพระราชดำเนินมา     และนำกรรมการฝรั่งเข้าไปในห้องรับแขก    คนไทยรอข้างนอก ตรงโต๊ะอาหาร    ทรงปฏิสันถารกับฝรั่งประมาณครึ่งชั่วโมงก็เสด็จประทับโต๊ะเสวย    ผู้ที่เขาจัดให้นั่งตรงข้ามเก้าอี้ประทับคือ Sir Gustav Nossal  มีสาวน้อย และผมนั่งขนาบข้าง

กระดาษเอกสารบอกว่ามีอาหาร ๑๑​ รายการ    เริ่มด้วยอาหารฝรั่ง ๓ รายการ    ตามด้วยอาหารไทย ๕ รายการ    แล้วจึงถึงไอศครีม ของหวาน ผลไม้ และชาหรือกาแฟ    ผมกินประมาณครึ่งหนึ่งของอาหารทั้งหมด    ตอนอาหารฝรั่งเขาเสิร์ฟไวน์ขาว    และตอนอาหารไทย เสิร์ฟไวน์แดง    อร่อยทั้งสองอย่าง

ระหว่างร่วมโต๊ะเสวย ทรงชวนคุยเรื่องต่างๆ มากมาย    โดยเฉพาะเรื่องงานต่างๆ ของพระองค์    ทรงรับสั่งว่า หลังอายุ ๖๐ จะเรียนวิชาสาธารณสุขศาสตร์

หลังอาหาร ฝรั่งไปลงนามสมุดเยี่ยม และรับพระราชทานของขวัญ    และเรากราบบังคมทูลลา เมื่อเวลา ๒๐.๓๐ น.

 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ต.ค. ๕๖

 

ทางที่จะเสด็จพระราชดำเนินมา

 

ทรงปฏิสันถารกับกรรมการชาวต่างชาติและคู่สมรส ในห้องรับแขก

 

โต๊ะอาหาร

 

รายการอาหาร

 

อาหารรายการแรก shrimp cocktail

 

รายการที่สอง ซุปฟักทอง

 

รายการที่สาม ปลาตาเดียว

 

ตามด้วยอาหารไทย กับข้าว ๕ อย่าง

 

ไอศครีมมะพร้าวอ่อนหอมมาก

 

ผลไม้

 

ขนมทองเอก ผมไม่ได้แตะ เพราะอิ่มจนจุกแล้ว

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 07 ธันวาคม 2013 เวลา 23:25 น.
 

คำนำ หนังสือ “อุดมศึกษาอังกฤษ : สะท้อนความคิดจากการดูงาน”

พิมพ์ PDF

คำนำ

 

หนังสือ อุดมศึกษาอังกฤษ : สะท้อนความคิดจากการดูงาน

 

วิจารณ์ พานิช

...............

 

 

หนังสือ อุดมศึกษาอังกฤษ : สะท้อนความคิดจากการดูงานเล่มนี้รวบรวมจากบันทึก ที่เผยแพร่ใน บล็อกwww.gotoknow.org/posts?tag=Academic%20Development โดยเขียนเป็นตอนๆ รวม ๑๐ ตอน    สะท้อนการเรียนรู้และความคิดคำนึงของผม ที่ได้จากการร่วมคณะดูงานด้านการพัฒนาอุดมศึกษา ในประเทศสหราชอาณาจักร   ระหว่างวันที่ ๘ - ๑๓ กันยายน ๒๕๕๖ จัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ   โดยที่การดูงานครั้งนี้เน้น ๒ เรื่อง   คือ (๑)​ การพัฒนาวิชาการและพัฒนาอาจารย์ ด้านการจัดการเรียนการสอน (Scholarship of Teaching and Learning)   และ (๒)​ การพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ในระบบอุดมศึกษา

ขอย้ำว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่รายงานการดูงาน    ไม่ใช่รายงานสาระที่ได้จากการดูงาน    แต่เป็นบันทึกความคิดคำนึง หรือการสะท้อนความคิด (reflection) ที่เกิดขึ้นจากการไปดูงาน    สาระในหนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่ “สาระความจริง” แต่เป็น “สาระการตีความ”    ซึ่งจะเจือปนความเชื่อหรืออคติของผู้เขียนอยู่ด้วย    ท่านผู้อ่านจึงพึงอ่านอย่างมีวิจารณญาณ

ความประทับใจ หรือความสะเทือนใจ ที่ผมได้รับ จากการร่วมคณะดูงานนี้ คือ ระบบอุดมศึกษาของสหราชอาณาจักรมีความเป็นพลวัตสูงมาก   อันเป็นผลจากกลไกการจัดการระบบ หรือกลไกสร้างสรรค์ หรือสร้างนวัตกรรมในระบบอย่างต่อเนื่อง ของรัฐบาล และของกลไกต่างๆ ของภาครัฐ ที่ซับซ้อน    แต่ทำงานอย่างมีการสนธิพลัง (synergy) กัน อย่างซับซ้อน แต่เกิดผลสัมฤทธิ์ดีมาก    โดยเขาเน้นจัดการโดยร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่    แล้วปล่อยให้กลไกต่างๆ รวมทั้งตัวสถาบันอุดมศึกษาเอง มีอิสระในการเลือกวิธีดำเนินการของตนเอง   ในบรรยากาศที่มีทั้งความร่วมมือและการแข่งขัน

ผมเชื่อว่าวิธีการจัดการการเปลี่ยนแปลงในระบบอุดมศึกษาของสหราชอาณาจักรเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และได้ผล    แตกต่างจากวิธีควบคุมสั่งการแบบอำนาจรวมศูนย์ที่ประเทศไทยใช้อยู่    และพิสูจน์มาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว ว่าไร้ผล    มีแต่จะทำให้ระบบอุดมศึกษาของเราล้าหลัง

ด้วยความสะเทือนใจดังกล่าวผมจึงเขียนบันทึกชุดนี้ เพื่อบอกแก่สังคมไทย    โดยผมไม่ยืนยันว่าสิ่งที่ผมบอก จะเป็นแนวคิดหรือวิธีการที่ถูกต้อง    ผู้อ่านต้องพินิจพิจารณาเอาเอง    และจะยิ่งดี หากท่านเลือกเอาประเด็นที่สอดคล้องหรือเป็นที่ต้องการของสถาบันของท่าน    นำเอาไปปรับใช้ดำเนินการให้เหมาะสมต่อบริบทของท่าน    แล้วนำผลมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน    ก็จะเกิดกระบวนการและขบวนการปรับเปลี่ยนอุดมศึกษาไทย    ที่จะทรงคุณประโยชน์ต่อบ้านเมืองของเราเป็นอย่างยิ่ง

ผมขอขอบคุณสถาบันคลังสมองของชาติ ที่เห็นคุณค่าของบันทึกชุดนี้   และรวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเล็กที่ท่านถืออยู่นี้    ผมตั้งความหวังว่า การเผยแพร่แนวความคิดนี้ จะกระตุ้นให้เกิดการลงมือทำ เพื่อสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงระบบอุดมศึกษาของเรา    อย่างน้อยก็ในด้านวิชาการว่าด้วยการเรียนรู้ และด้านผู้ประกอบการเพื่อสังคม

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๖

 

 

ขอเพิ่มเติมว่า  การดูงานเพียง ๕ วัน   น่าจะได้ความรู้เพียงกระผีกเดียว ของอุดมศึกษาอังกฤษ    และเสี่ยงต่อการมองแบบไม่รู้จริงเป็นอย่างยิ่ง

 

หนังสือเล่มนี้ download ได้ฟรีจาก เว็บไซต์ ของสถาบันคลังสมองฯ www.knit.or.th

 

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ต.ค. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 07 ธันวาคม 2013 เวลา 23:31 น.
 

นวัตกรรมการเรียนรู้ในโรงเรียน

พิมพ์ PDF
ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ นี้ วงการศึกษาต้อง “คิดใหญ่กว่าเดิม” หาทางใช้เทคโนโลยีเครื่องช่วยต่างๆ เพื่อให้การเรียนรู้สนุก ให้ความสุขความตื่นเต้น แก่ผู้เรียน และแก่ครู พัฒนาศักยภาพสร้างสรรค์ของมนุษย์ ยกระดับความสามารถของมนุษย์ และยกระดับความเป็นมนุษย์ ขึ้นไปในระดับที่ไม่เคยทำได้มาก่อน

นวัตกรรมการเรียนรู้ในโรงเรียน

หนังสือ Education Nation : Six Leading Edges of Innovation in Our Schools เขียนโดย Milton Chen   แค่อ่านคำนำโดย George Lucas ก็กินใจแล้ว

Lucas เสนอเป้าหมายของการเรียนรู้สำคัญ ๕ ประเด็น ได้แก่

  1. ใช้สารสนเทศ (ความรู้) เป็น: มีทักษะเกี่ยวกับสารสนเทศ (information) ๓ อย่าง คือ  (๑) ค้นหา  (๒) ประเมิน และ (๓) ใช้อย่างได้ผลและอย่างสร้างสรรค์

เมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว ความรู้ / สารสนเทศ อยู่ในตำรา   ที่มีความแม่นยำถูกต้อง   แต่เดี๋ยวนี้ ความรู้/สารสนเทศอยู่บน อินเทอร์เน็ต    มีอยู่หลายแหล่ง และอาจไม่ตรงกัน    นักเรียนจึงต้องฝึกให้ค้นเป็น และรู้จักตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ความรู้จากต่างแหล่งเหล่านั้น   เลือกเอาที่เหมาะสมที่สุดมาทดลองใช้

สมัยก่อน การเรียนรู้เน้นที่การ “รู้” และตอบแบบทวนความจำ (คาย/สำรอก) ความรู้เหล่านั้นเพื่อตอบข้อสอบได้    แต่สมัยนี้ ต้องเรียนได้มากกว่านั้น    คือต้องรู้จักนำความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ และได้ผล

ครู/อาจารย์ ต้องตั้งคำถามต่อนักเรียน    ว่าเมื่อค้นความรู้มาได้ และเลือกชุดความรู้ที่เหมาะสมแล้ว    ต้องแสดงให้เห็นว่า รู้วิธีใช้ความรู้เหล่านั้น ให้เกิดประโยชน์และสร้างสรรค์

แต่แค่จัดการสารสนเทศ หรือจัดการความรู้ เป็น ยังไม่พอ    ต้องจัดการอารมณ์-สังคม ได้ด้วย    นักเรียน/นักศึกษา ต้องฝึกฝนการจัดการอารมณ์ของตน เชื่อมโยงกับการจัดการ ความสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น   ต้องเรียนรู้พัฒนามิติของความเป็นมนุษย์ ในด้านสังคมและอารมณ์

  1. ครูในฐานะ โค้ช และผู้อาวุโสที่ผ่านโลกมาก่อน ในบทบาทนี้ ครูมีความสำคัญยิ่งในการช่วยให้ ศิษย์ฝึกเชื่อมโยง พัฒนาการด้านความรู้-วิชาการ (intellectual development)  เข้ากับพัฒนาการด้านอารมณ์-สังคม (social – emotional development)  ย้ำว่า ในโลกสมัยใหม่ ที่สังคมซับซ้อนซ่อนเงื่อนยิ่งนี้    ศิษย์ต้องการความช่วยเหลือแนะนำ จากครู/อาจารย์ ในการเรียนรู้วิชาเข้ากับชีวิตจริงนี้ อย่างยิ่งยวด   บทบาทของครู/อาจารย์ ในด้านนี้ น่าจะสำคัญยิ่งกว่า หน้าที่เอื้ออำนวยให้เรียนรู้วิชา หรือสารสนเทศตามข้อ ๑

ข้อน่าเสียดาย หรือข้อผิดพลาดรุนแรงของการศึกษาไทย    คือการที่ระบบการบริหาร การศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่เอาใจใส่เป้าหมายการเรียนรู้ข้อนี้เลย

สภาพการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ นักเรียน/นักศึกษา ค้นหาความรู้จาก ไอซีที ได้เอง    ครู/อาจารย์ ไม่ต้องเสียเวลาบรรยายถ่ายทอดความรู้อีกต่อไป    จึงควรใช้เวลาสร้างความ สัมพันธ์ใกล้ชิดกับศิษย์   พูดคุยตั้งคำถาม “ทำไมเธอจึงคิดเช่นนั้น”    และคำสนทนาอื่นๆ เพื่อช่วยให้ศิษย์เรียนรู้สู่วุฒิภาวะด้านสังคม-อารมณ์

ผมขอเพิ่มเติมข้อคิดของผมเอง ว่า ครู/อาจารย์ ของศิษย์วัยรุ่นและวัยนิสิตนักศึกษา มหาวิทยาลัย พึงทำหน้าที่นี้ ภายใต้ความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่ต่อผู้ใหญ่   เคารพและรับฟัง ข้อคิดเห็นของศิษย์   ใช้วิธีตั้งคำถามและรับฟัง    ส่วนไหนที่เห็นว่าศิษย์มีความคิด/อารมณ์ ที่ไม่ถูกต้อง ก็ใช้วิธีตั้งคำถามและรับฟังไปเรื่อยๆ จนศิษย์ฉุกคิดได้เอง   ให้เน้นถาม-รับฟัง   อย่าเน้นสั่งสอน   วัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ ไม่ชอบการสั่งสอน

  1. เยาวชนเป็นผู้สร้างเส้นทางเปลี่ยนแปลงการศึกษา โลก/สังคม ในอนาคตเป็นของเยาวชน  และการเปลี่ยนแปลงการศึกษาเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้เวลาเป็นรุ่น (generation) ของคน   เยาวชนจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงตัวจริง   เพราะเกิดมาในโลกที่มี ไอซีที อยู่แล้วตามปกติ    การใช้ ไอซีที เพื่อการศึกษาจึงเป็นปกติวิสัยของศิษย์   ในขณะที่ครู/อาจารย์เป็นคนรุ่นเก่า ต้องปรับตัวเรียนรู้ ไอซีที ในฐานะของใหม่

ครูอยู่ในยุคเรียนจากการอ่านกระดาษ   นักเรียน/นักศึกษาอยู่ในยุคอ่านจากหน้าจอ  ในที่สุดแล้ว โลกการศึกษาจะยิ่งก้าวหน้าต่อไปอีก    ไอซีที ที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น จะยิ่งเปลี่ยนโฉม ระบบการเรียนรู้   และคนรุ่นใหม่ (ไม่ใช่รุ่นพวกเรา) จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

  1. อนาคตของเทคโนโลยี เทคโนโลยี ดิจิตัล จะก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง    และมีผลปลี่ยนแปลงโฉม ของการศึกษา    เนื้อหาความรู้จะเปลี่ยนที่ จากหนังสือ ตำรา เอกสารในกระดาษ   ไปอยู่ในระบบฐานข้อมูล ดิจิตัล   ที่มีการจัดหมวดหมู่ให้ค้นง่าย และรวดเร็ว    เปิดโอกาสให้ผู้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย

เทคโนโลยีเลียนแบบ (simulation) จะก้าวหน้า   นำมาใช้เป็นตัวช่วยให้เรียนรู้ เรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่าย   เช่นการเรียนรู้กายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ พืช และสัตว์ ชนิดต่างๆ   แทนที่จะต้องเรียนโดยการผ่าศพ ก็เรียนรู้จากจอคอมพิวเตอร์   สามารถตัดร่างกาย อวัยวะ เซลล์ ในระนาบต่างๆ เพื่อเรียนรู้   รวมทั้งสามารถสร้างเป็นภาพเคลื่อนไหวแสดงการทำงาน ของส่วนต่างๆ ของร่างกาย  หรือของพายุหมุน ให้ดูทางจอคอมพิวเตอร์ได้   ความรู้หลายอย่างที่เคยคิดว่ายาก และซับซ้อน ต้องไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัย จะเลื่อนมาเรียนในระดับมัธยม

  1. บทบาทของ www.Edutopia.org Edutopia ทำหน้าที่พัฒนาและเผยแพร่ รูปแบบการเรียนรู้ที่มีนวัตกรรมก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง   การทำงานที่ Edutopia นี่แหละ ที่นำมาสู่การเขียนหนังสือเล่มนี้

 

สรุปว่า George Lucas แนะนำว่า    ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ นี้ วงการศึกษาต้อง “คิดใหญ่กว่าเดิม”   หาทางใช้เทคโนโลยีเครื่องช่วยต่างๆ    เพื่อให้การเรียนรู้สนุก ให้ความสุขความตื่นเต้น แก่ผู้เรียน และแก่ครู    พัฒนาศักยภาพสร้างสรรค์ของมนุษย์    ยกระดับความสามารถของมนุษย์ และยกระดับความเป็นมนุษย์   ขึ้นไปในระดับที่ไม่เคยทำได้มาก่อน

วิจารณ์ พานิช

๕ ธ.ค. ๕๖

วันพ่อ

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๔๙. แพทย์เยอรมันกับการก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

พิมพ์ PDF

ในการประชุมคณะกรรมการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อวันที่ ๒๓ ต.ค. ๕๖ Professor Bert Sakmann กรรมการท่านหนึ่ง ได้นำเอกสารต้นฉบับแปลบันทึกส่วนหนึ่ง    ของ Dr. Friedrich Schaefer ระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๕๒  ถึง๑๐ สิงหาคม ๒๔๕๖ มาให้อ่าน    โดยท่านถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๔๕๗    เพราะโรคโลหิตเป็นพิษ ที่ติดจากการผ่าตัดผู้ป่วย

อ่านแล้วได้ความรู้เรื่องสภาพบ้านเมืองในสมัยร้อยปีก่อน    ได้ตระหนักสภาพการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างชาติอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ในการมีอิทธิพลเหนือผู้บริหารประเทศไทย    และที่สำคัญอย่างยิ่ง ได้สัมผัสความล้าหลังของการแพทย์แผนตะวันตกในประเทศไทย

สภาพโรคภัยไข้เจ็บเมื่อร้อยปีก่อนคือ อหิวาตกโรค (ระบาดประจำปี) จากการขาดแคลนน้ำสะอาด   มาลาเรีย (พบน้อยในเมืองบางกอก  แต่เป็นปัญหามากในหัวเมือง)   ไข้ทรพิษ (คนไม่นิยมปลูกฝี)   โรคเหน็บชา   ขาดแคลนความสามารถในการรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างถูกสุขลักษณะ    และชาวบ้านไม่ศรัทธาการรักษาที่โรงพยาบาล

ศาสตราจารย์ แบร์ท ซัคมานน์ ถึงกับเอ่ยกับผมว่า    ไม่น่าเชื่อว่าระบบบริการสุขภาพของไทย จะก้าวหน้าเท่าเทียมกับตะวันตกในขณะนี้   โดยที่เมื่อร้อยปีก่อนเราอยู่ที่ศูนย์

บทแปลบันทึกชุดนี้ รวมทั้งบทส่งท้าย ที่เป็นความเห็นของ ศาสตราจารย์ แบร์ท ซัคมานน์ (ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยา หรือสาขาการแพทย์)    จะตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกฉลอง ๑๐๐ ปีโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในปีหน้า

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ต.ค. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 07 ธันวาคม 2013 เวลา 23:34 น.
 


หน้า 415 จาก 557
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5601
Content : 3043
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8585592

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า