Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ดัชนีทุนทรัพยากรมนุษย์

พิมพ์ PDF

ดัชนีทุนทรัพยากรมนุษย์

ผมได้รับ อีเมล์ ดังต่อไปนี้ ซึ่งอ่านแล้วก็ใจชื้น ว่าของไทยเราพอใช้ได้ แต่จะให้ดีต้องเข้าไปศึกษารายละเอียดวิธีคิด และวิธีวัดของWEF ว่าน่าเชื่อถือได้เพียงไร เราจะใช้หลักการอะไรที่ดีกว่า สำหรับใช้พัฒนาคนของเรา

ที่ผมแปลกใจ คือ pillar health wellness ของไทยด้อยกว่า ของเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ได้อย่างไร ผมจะขอให้ผู้รู้ช่วยศึกษาและอธิบาย

หมายเหตุวันที่ ๕ ต.ค. ๕๖

ข้อมูลนี้ผิดครับ ที่ถูกต้องอยู่ที่ส่วนแก้ไขใหม่ ในส่วน ความเห็นข้างล่าง ขอบคุณ ดร. มงคลที่ช่วยสอบทานและแก้ไข

 

เรียน อาจารย์หมอวิจารณ์ ที่นับถือ

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 World Economic Forum (WEF) ได้เผยแพร่รายงานดัชนีทุนทรัพยากรมนุษย์ฉบับปี ค.ศ. 2013 ซึ่งเป็นฉบับแรกสุดของดัชนีเกี่ยวกับศักยภาพทุนทรัพยากรมนุษย์ ที่ประกอบด้วยเสาหลัก (Pillars) 4 ด้าน คือ 1) Health and Wellness 2) Education 3) Workforce and Employment และ 4) Enabling Environment โดยมีประเทศที่ได้รับการพิจารณาตามเกณฑ์ดังกล่าวนี้ 122 ประเทศ ปรากฏผลโดยรวม Score (เต็ม 1.5) ดังนี้

Top 10 of the World ได้แก่ 1) Switzerland (1.455) 2) Finland (1.406) 3) Singapore (1.232) 4) Netherlands (1.161) 5) Sweden (1.111) 6) Germany (1.109) 7) Norway (1.104) 8) United Kingdom (1.042) 9) Denmark (1.014) 10) Canada (0.987)

Top 10 of Asia Pacific ได้แก่ 3) Singapore (1.232) 12) New Zealand (0.978) 15) Japan (0.948) 19) Australia (0.831) 22) Malaysia (0.644) 23) Korea, Rep. (0.640) 43) China (0.186) 44) Thailand (0.518) 50) Sri Lanka (0.020) 53) Indonesia (0.001)

Top 8 of ASEAN ได้แก่3) Singapore (1.232)22) Malaysia (0.644)44) Thailand (0.518)53) Indonesia (0.001) 66) Philippines (-0.161) 70) Vietnam (-0.202) 80) Lao PDR (-0.297) 96) Cambodia (-0.505)

เป็นที่น่าสังเกตว่าในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน อันดับที่ดีที่สุดของไทยอยู่ใน Pillar 3 (Workforce and Employment)เป็นอันดับ 27 ของโลก แต่ก็ยังตามสิงคโปร์และมาเลเซีย (อันดับ 2 และ 28 ตามลำดับ) ส่วน Pillar ที่ไทยได้อันดับแย่ที่สุด อยู่ใน Pillar 1 (Health and Wellness)ได้อันดับ 79 รองมาจาก สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ทั้งนี้สามารถดูรายละเอียดทั้งหมดได้ในไฟล์รายงานเต็มฉบับ 549 หน้าในไฟล์ WEF_HumanCapitalReport_2013 ที่แนบมาพร้อมนี้ หรือดูได้ที่เว็บลิงค์

http://www.weforum.org/nr_hci13

 

หรือติดตามเว็บลิงค์ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ต่อท้ายอีเมล์ฉบับนี้

 

ผมจึงขอส่งเรื่องนี้มายังอาจารย์ เพื่อพิจารณานำลงบล็อกสภามหาวิทยาลัย เพื่อ ลปรร. ในวงวิชาการมหาวิทยาลัยไทยต่อไป ตามที่เห็นสมควรด้วย จักขอบคุณยิ่ง

 

มงคล รายะนาคร

 

ส่วนที่แปลกใจอีกเหมือนกันคือ เขาให้คะแนน pillar 3 Workforce Employment ของเราเข้มแข็งมากทั้งๆ ที่ภาคธุรกิจร้องเสียงดัง ว่าบัณฑิตหรือผู้จบการศึกษาของเราทำงานไม่เป็น นี่ก็เป็นเรื่องที่ควรมีคนทำความกระจ่าง

ขอขอบคุณ รศ. ดร. มงคล รายะนาคร (เจ้าประจำ) ที่กรุณาส่งข้อมูลมาให้ หาก อ. ดร. มงคล จะช่วยเจาะลึกใน ๒ ประเด็นแปลกใจ ก็จะมีประโยชน์มากครับ

วิจารณ์ พานิช

๔ ต.ค. ๕

 

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

ความคิดเห็นของคุณ บุษยมาศ

ส่วนที่แปลกใจอีกเหมือนกันคือ เขาให้คะแนน pillar 3 Workforce Employment ของเราเข้มแข็งมากทั้งๆ ที่ภาคธุรกิจร้องเสียงดัง ว่าบัณฑิตหรือผู้จบการศึกษาของเราทำงานไม่เป็น นี่ก็เป็นเรื่องที่ควรมีคนทำความกระจ่าง...

"น่าจะไม่ใช่แล้วมังค่ะ...จบแล้วทำงานไม่เป็น ถ้าจะไม่จริง...จากที่อยู่งานบุคคลมา สังเกตเห็นเด็กใหม่ ๆ ที่จบมา ถ้าเปรียบแล้วก็เหมือน ๐ สำหรับความรู้ในเรื่องงาน แต่สิ่งที่จะค่อย ๆ เติมเต็มให้พวกเขาขึ้นเรื่อย ๆ นั่น คงขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่จะต้องให้การอบรม ให้ความรู้กับพวกเขาให้มากยิ่งขึ้น มิใช่ปล่อยให้พวกเขาได้ศึกษาเอง แล้วก็มาโทษว่าบัณฑิตหรือผู้จบการศึกษาทำงานไม่เป็น...เพราะการจะเป็นงานนั้น ลักษณะของงานแต่ละที่ไม่เหมือนกัน เด็กจบใหม่มีความรู้ทางทฤษฎีได้ในระดับหนึ่งค่ะ...

ความเห็นของผู้ใช้นามว่า GD

ดิฉันไม่เชื่อข่าวที่ออกมาว่าคุณภาพการศึกษาไทยเป็นอันดับ 8 รองจากเขมรมาตั้งแต่แรกแล้ว จะเอาผลของคำถามทีถามนักธุรกิจระดับที่มี potential เพียงไม่กี่คนของแต่ละประเทศมาตัดสินคุณภาพการศึกษาของทั้งระบบได้อย่างไร  สรุปได่อย่างเดียวว่า ผู้ตอบชาวเขมรพอใจระบบของตน มากกว่านักธุรกิจไทยพอใจระบบของไทยเท่านั้น  เขาคงตั้งความหวังสูงเกินไป เป็นเพียงความรู้สึก ระดับการแข่งขันของประเทศที่ 37 ใน 150 กว่าประเทศ ดีขึ้นจากปีที่แล้ว ต้องมีผลมาจากการศึกษาในประเทศไม่น้อยเลย

ความเห็นของคุณมงคล รายะนาคร

ก่อนอื่น ผมขออนุญาตแก้ไขข้อความและคำที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนในอีเมล์จากผมถึงอาจารย์หมอวิจารณ์ เรื่องดัชนีทุนทรัพยากรมนุษย์ ข้างต้นนนี้ ดังนี้

ในท่อนแรก ขอแก้ลำดับเสาหลัก (Pillars) จาก "เสาหลัก (Pillars) 4 ด้าน คือ 1) Health and Wellness 2) Education 3) Workforce and Employment และ 4) Enabling Environment" เป็น "เสาหลัก (Pillars) 4 ด้าน คือ 1) Education 2) Health and Wellness 3) Workforce and Employment และ 4) Enabling Environment"

ในท่อนเกือบสุดท้าย ขอแก้คำในวงเล็บต่อจากคำว่า Pillar จาก "Pillar 1 (Health and Wellness)ได้อันดับ 79 รองมาจาก สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม" เป็น "Pillar 1 (Education)ได้อันดับ 79 รองมาจาก สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม"

ผมต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่งในความผิดพลาดของผมมายังอาจารย์หมอวิจารณ์และทุกท่านที่เข้ามาอ่านในบล็อกนี้ และเพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องศักยภาพด้านทุนทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย ผมขอยกอันดับ (Rank) ในภาพรวมทุกด้าน (Overall index rank) และอันดับในด้านหลักทั้งสี่ด้าน จากรายงาน The Human Capital Report 2013 เฉพาะของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับในครั้งแรกนี้ 8 ประเทศ มาเพื่อพิจารณาร่วมกันต่อไป ณ ที่นี้ ดังนี้

Country Overall index Education Health & wellness Workforce & employment Enabling environment
Singapore 3 3 13 2 5
Malaysia 22 34 39 18 22
Thailand 44 79 40 27 48
Indonesia 53 61 84 32 58
Philippines 66 65 96 38 78
Vietnam 70 73 88 57 73
Lao PDR 80 83 91 59 80
Cambodia 96 99 102 42 93

ทั้งนี้ หากท่านที่สนใจในเรื่องนี้ กรุณาเข้าไปดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม (549หน้า) ได้ที่ลิงค์ข้างล่างนี้ แล้วมาแบ่งปันความรู้และความคิดเห็นกันต่อไปด้วย ก็จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากยิ่งขึ้นนะครับ

http://www3.weforum.org/docs/WEF_HumanCapitalReport_2013.pdf

ความเห็นของ ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

ผมเห็นด้วยกับความเห็นของคุณบุษยมาศ และ ของผู้ใช้นามว่า GD ครับ จากที่ผมสัมผัสกับคนทั้งผู้ประกอบการ พนักงาน ข้าราชการ และ คนในทุกกลุ่ม ทั่วโลก ผม มีความเชื่อว่าคนไทย เป็นคนที่มีความสามารถสูง และมีความเก่งเรียนรู้ได้เร็ว คนไทยเป็นคนที่มีคุณภาพสูง แต่คนไทยส่วนมากถูกกดโดยผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า ไม่ให้โอกาส และไม่ส่งเสริมคนของเราเอง ผมเคยมีลูกน้องทั้งชาติตะวันตก ชาติเอเซีย ติดต่อกับคู่ค้าทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ขอยืนยันว่าคนไทยไม่ด้อยกว่าคนชาติไหนๆครับ เรื่องการเปรียบเทียมผมเห็นด้วยกับคุณผู้ใช้นามว่า GD ผมโต้เถียงและถามผู้ที่เอาข้อมูลมาว่าคนไทยภาษาอังกฤษอ่อน และมีความรู้ภาษาอังกฤษน้อยกว่าคนเวียตนาม และอื่นๆ ผู้กล่าวก็ไม่สามารถตอบได้ชัดเจน และผมขอสรุปได้เลยว่าเป็นการเปรียบเทียบในฐานที่แตกต่างกัน คนไทยที่ภาษาอังกฤษดีๆมีมากแต่เข้าไปทำงานหรือทำธุรกิจที่ผู้ทำวิจัยเข้าไม่ถึง

สรุปคนไทยไม่สนับสนุนและส่งเสริมคนของตัวเอง กดเข้าไว้ไม่ให้โต ผู้ประกอบการบ้านเราใช้คนเหมือนกับ คนไปตลาดดอกไม้เลือกดอกไม่สวยๆที่อยู่ในกระถาง เมื่อซื้อกลับมาบ้านก็ไม่สวยเหมือนอยู่ในร้าน เพราะไม่ได้ดูแลและรักษาเลี้ยงดูเหมือนที่อยู่กับชาวสวน

คนไทยขาดโอกาสครับ ไม่ใช่ขาดความสามารถ ผู้ใหญ่ต้องหันมาช่วยกันสร้างโอกาสและหาวิธีการส่งเสริม และสร้างแรงจูงใจไม่ใช่มัวแต่กดไว้เพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์เพื่อตัวเอง

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

5 ตุลาคม 2556

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 05 ตุลาคม 2013 เวลา 10:20 น.
 

เรียนเชื่อ กับเรียนแย้ง

พิมพ์ PDF

ผมสังเกตเห็นว่า วงการศึกษาไทยในปัจจุบัน มีลักษณะ ศรัทธานำ หรือเรียนแบบศิษย์เชื่อครู ตัวครูเองก็สอนให้ศิษย์เชื่อครู เชื่อตามที่ครูบอก ในขณะที่การศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑ เน้นการเรียนรู้แบบฝึก ให้เชื่อตัวเอง เชื่อผัสสะของตนเอง จากการที่ตนเองลงมือทำ ตามด้วยการไตร่ตรอง (reflection) แบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ โดยมีครูเป็นโค้ช การศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑ จึงเน้นผัสสะนำ ไม่ใช่ศรัทธานำ เป็นการศึกษาที่ตรงตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ กาลามสูตร

ในศตวรรษที่ ๒๑ โลกเต็มไปด้วยความซับซ้อน ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน การเรียนรู้ต้อง อยู่บนฐานความจริงนี้ การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ จึงต้อง เรียนแย้ง ไม่ใช่ เรียนเชื่อ เพราะในโลกที่ซับซ้อนและไม่แน่นอนเช่นนี้ คนเราต้องฝึกมองหลายมุม ฝึกให้กล้ามีมุมมองของตนเอง

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องฝึกรับฟังการตีความผัสสะของคนอื่นด้วย จากประสบการณ์เดียวกัน นั่นคือ ต้องเรียนรู้เพื่อทักษะในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติ แลกเปลี่ยนการตีความผัสสะของตัวเราต่อเพื่อน และรับฟังการตีความผัสสะของเพื่อน เพื่อนำมาเป็นข้อเรียนรู้ของเรา ให้ได้เห็นว่า คนเราตีความผัสสะ ไม่เหมือนกัน หรือแม้เหมือนกันก็ไม่เหมือนกันทั้งหมด

คือเรียนรู้ที่จะเคารพมุมมองของผู้อื่น นำมาเป็นข้อเรียนรู้เพิ่มเติมแก่ตนเอง

จริงๆ แล้ว ต้องทั้งเรียนแย้งและเรียนเชื่อในเวลาเดียวกัน

หากแย้งออกไปด้วยวาจา ก็แย้งอย่างเคารพความเห็นของผู้อื่น อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ว่าการตีความของตนอาจผิดก็ได้ แต่ตนรับรู้ผัสสะแล้วตีความอย่างนั้น

การกล้าแย้ง กล้าแตกต่าง เป็นคุณสมบัติของมนุษย์ที่ต้องการสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑ ภาษาอังกฤษว่า Dare to be different หรือเรียกว่าคุณสมบัติ differentiation

การศึกษาที่เน้นศรัทธานำ ไม่เหมาะต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑

กล่าวแล้วก็ต้องแย้งตนเองเสียหน่อย

การเรียนรู้ต้องมีส่วนศรัทธานำด้วย ในเรื่องเป้าหมายการเรียนรู้เพื่อพัฒนาไปสู่การทำหรือปฏิบัติ เพื่อคุณค่าที่ยิ่งใหญ่กว่าผลประโยชน์ของตนเอง ตีความได้ว่า เพื่อศรัทธาต่อพระเจ้า ก็ได้

 

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 05 ตุลาคม 2013 เวลา 10:34 น.
 

THE World University Ranking 2013-2014

พิมพ์ PDF
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งแรกของไทยที่ผันตัวเองมาจากมหาวิทยาลัยของรัฐ ได้รับการจัดอันดับโดย THE ติดต่อกันเป็นปีที่สอง ในขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นๆของไทย ไม่ได้รับการจัดอันดับโดย THE ตั้งแต่ปีกลายมาแล้ว

THE World University Ranking 2013-2014

ผมได้รับ อีเมล์ จาก รศ. ดร. มงคล รายะนาคร ดังนี้

Times Higher Education (THE) ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกปีนี้คือ THE World University Rankings 2013-2014 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2556 ปรากฏผลโดยย่อดังนี้

Top 10 of the World: 1) California Institute of Technology 2) HarvardUniversity 3) University of Oxford 4) Stanford University 5) Massachusetts Institute of Technology 6) Princeton University 7) University of Cambridge 8) University of California, Berkeley 9) University of Chicago 10) Imperial College London

อันดับโลกของมหาวิทยาลัย Top 10 of Asia: 23) The University of Tokyo 26) National University of Singapore (NUS) 43) The University of Hong Kong 44) Seoul National University 45) Peking University 50) Tsinghua University 52) Kyoto University 56) Korea Advanced Institute of Science and Technology 57) Hong Kong University of Science and Technology 60) Pohang University of Science and Technology

ประเทศในกลุ่มอาเซียน มีมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับครั้งนี้เพียง 3 แห่ง โดยมีอันดับโลกตามลำดับดังนี้ 26) NUS 76) Nanyang Technological University (NTU) 301-350) King Mongkut's University of Technology Thonburi (KMUTT)

สำหรับตัวชี้วัดสมรรถนะ (Performance Indicators) ที่ THE ใช้ในการจัดอันดับครั้งนี้มีทั้งหมด 9 ตัวชี้วัด จัดอยู่ใน 5 ด้าน (Areas)เหมือนปีกลาย คือ 1) Teaching (30%) 2) Research (30%) 3) Citations (30%) 4) Industry Income (2.5%) 5) International Outlook (7.5%)

เป็นที่น่าสังเกตว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT)ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งแรกของไทยที่ผันตัวเองมาจากมหาวิทยาลัยของรัฐ ได้รับการจัดอันดับโดย THE ติดต่อกันเป็นปีที่สอง ในขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นๆของไทย ไม่ได้รับการจัดอันดับโดย THE ตั้งแต่ปีกลายมาแล้ว

สำหรับรายละเอียดการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกโดย THE สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ไปนี้

www.timeshighereducation.co.uk หรือที่ http://www.timeshighereducation.co.uk/world-university-rankings/

 

ผมจึงขอส่งอีเมล์เรื่องนี้มายังอาจารย์ เพื่อพิจารณานำลงบล็อกสภามหาวิทยาลัย เพื่อ ลปรร. ในวงวิชาการมหาวิทยาลัยไทย ตามที่เห็นสมควรด่อไปด้วยจะขอบคุณมาก

มงคล รายะนาคร

วิจารณ์ พานิช

๔ ต.ค. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 05 ตุลาคม 2013 เวลา 10:22 น.
 

สภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่ strategic change partner

พิมพ์ PDF

ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยไทย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นบุคคลภายนอก พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า วิธีคิดของอาจารย์ส่วนใหญ่ inward-looking มาก มองจากมุมของสังคมภายนอกไม่เป็น คิดเป็นแต่จากมุมของวิชาการ ดังนั้นสิ่งที่จะทำ จึงทำแบบ supply-side oriented ไม่มีมุมมองหรือความต้องการ ของ demand-side มาประกอบ

บัดนี้ หมดยุคการพัฒนามหาวิทยาลัยแบบเน้นการขยายตัวแล้ว ต่อไปนี้ มหาวิทยาลัยจะต้องพิสูจน์ ความจำเป็นที่จะต้องดำรงอยู่ด้วยหลักฐานเชิงคุณภาพ และเชิงตอบสนองความต้องการของสังคม ไม่ใช่ตอบสนองที่เรียนอีกต่อไป

จึงต้องมีการจัดการ จัดกระบวนการเพื่อเปลี่ยนใจอาจารย์ ให้คิดโครงการต่างๆ (โดยเฉพาะการเปิดหลักสูตร) ให้คิดจากมุมของฝ่ายผู้คนในสังคม หรือความต้องการของประเทศ/พื้นที่ ให้มีจริตและทักษะในการทำงานร่วมกับฝ่าย demand-side เพื่อคิดและทำ งานในลักษณะใหม่ๆ ที่ก่อผลกระทบต่อสังคมอย่างแท้จริง โดยในตอนทำงานนั้น ก็มีหน่วยงาน/บุคคล ภายนอกเป็นหุ้นส่วนด้วย

หมดยุคที่มหาวิทยาลัยทำงานวิชาการแบบลอยตัวแล้ว ต่อไปนี้งานวิชาการต้องผูกติด หรือเชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ และการทำมาหากิน ของหน่วยงานและผู้คนในสังคม

ผมจึงเสนอในที่ประชุมว่า ฝ่ายบริหารน่าจะได้จัดการประชุมแบบ retreat เพื่อปรับกระบวนทัศน์ การทำหน้าที่มหาวิทยาลัยในยุคใหม่ ให้ฝ่ายบริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนเข้าร่วม เพื่อใช้การประชุมเป็นส่วนหนึ่งของ change management และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมทำหน้าที่เป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธในการสร้างการเปลี่ยนแปลง

มหาวิทยาลัยใด เปลี่ยนกระบวนทัศน์ได้ก่อน ก็จะได้เปรียบในการแข่งขัน

 

วิจารณ์ พานิช

๒๙ ส.ค. ๕๖

โรงแรมเซนทารา หาดใหญ่

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 05 ตุลาคม 2013 เวลา 10:39 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๐๗. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ

พิมพ์ PDF

คำนิยม

หนังสือ The Secret Book : Fear No Man

 

.

 

 

ผมได้รับต้นฉบับหนังสือที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เรื่อง The Secret Book : Fear No Man ซึ่งเมื่ออ่านชื่อหนังสือจบ ใจของผมก็ต่อชื่อให้ทันทีว่า But Very Considerate To One Woman

ชีวประวัติบุคคลที่ยิ่งใหญ่สอนใจเราได้เสมอ ยิ่งกว่านั้นคือ ให้แรงบันดาลใจแก่เรา ผมเข้าใจว่า หนังสือเล่มนี้เป็น ชีวประวัติฉบับหลอกถาม ของคุณหมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่จะช่วยสร้าง แรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ไปอีกนาน

หนังสือแบบนี้ ไม่ควรเผยแพร่เฉพาะเป็นเล่มหนังสือเท่านั้น แต่ควรจัดทำเป็น eBook เผยแพร่แก่คนทั่วไปผ่านระบบ อินเทอร์เน็ต เพื่อทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างพลังแห่งความดี ไปทั่วสังคมไทย

ในสายตาของผม คุณหมอสุวิทย์ไม่ใช่เพียงสร้างคุณูปการแก่วงการสาธารณสุข หรือวงการสุขภาพ ไทยเท่านั้น ท่านยังได้ทำประโยชน์แก่วงการสาธารณสุขโลกด้วย คนในวงการสุขภาพโลกรู้จักคุณหมอ สุวิทย์ทั่วไปหมด รู้จักและนับถือความรู้ความสามารถ และความมุ่งมั่นรักษาผลประโยชน์ของคนด้อยโอกาส หรือเสียเปรียบในสังคม ซึ่งเป็นจุดยืนที่คุณหมอสุวิทย์ยึดถือ อย่างกล้าหาญ มาตลอดชีวิต ทั้งในประเทศไทย และในวงการสุขภาพโลก ที่ท่านเข้าไปเกี่ยวข้อง

ในต้นฉบับที่ผมได้อ่าน มีเรื่องราวที่คุณหมอสุวิทย์และคณะไปต่อสู้ในเวทีนโยบายสุขภาพโลก เช่นที่ World Health Assembly น้อยไป หรือยังขาดอยู่ เรื่องราวประสบการณ์ส่วนนี้น่าจะได้บันทึกไว้เป็นข้อเรียนรู้ แก่ผู้คนในสังคมไทยด้วย

เนื่องจากคุณหมอสุวิทย์เป็นคนสมองดีเป็นพิเศษ จับทำเรื่องใดกลายเป็นการเรียนรู้หมด สะกัดความรู้ ออกมาเป็นข้อๆ เข้าใจง่าย และชัดเจน วิธีสัมภาษณ์ นำมาเรียงร้อยเช่นนี้ จึงทำให้ได้ความรู้ที่มีค่ายิ่งออกเผยแพร่ ซึ่งในภาษาของการจัดการความรู้(Knowledge Management) เรียกว่า เป็นการเปลี่ยน (Externalize) ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ออกมาเป็นความรู้แจ้งชัด(Explicit Knowledge) คุณหมอสุวิทย์ มีความสามารถสะกัด ความรู้ จากประสบการณ์ของตน อธิบายเป็นหลักการที่เข้าใจง่าย ได้ดีอย่างไม่มีใครเทียม

ในฐานะที่ผมได้ทำงานร่วมกับคุณหมอสุวิทย์อยู่บ้าง ผมถือว่า ท่านเป็นครูของผมคนหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นรุ่นน้องหลายปี และผมรู้สึกตลอดมาว่า ผมโชคดีที่ได้ทำงานและเรียนรู้จากคุณหมอสุวิทย์

ในสังคมของเรา คนเก่งระดับอัจฉริยะ ที่อุทิศตน ครองตนด้วยความสนุกสนานและมีความสุข ความพอใจในชีวิต ที่ได้ดำรงชีวิตต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ของคนชนบท คนจน และผู้ที่เสียเปรียบในสังคม มีไม่มาก การที่คณะผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ซุ่มทำโดยถือเป็นความลับ ไม่ให้เจ้าของ ชีวประวัติรู้ จึงมีคุณค่าต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง โดยคุณค่าที่สูงส่งไม่ใช่การยกย่อง หรือตอบแทนคุณตัวบุคคล แต่เป็นการใช้ตัวอย่างบุคคล สร้างแรงบันดาลใจ ให้แก่เยาวชนรุ่นหลัง เพื่อทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคม

ผมเป็นคนที่เชื่อว่า คนเราทำดีได้ดี จึงเห็นได้ว่า การครองตนยึดมั่นอยู่ในความดี ได้ส่งผลให้คุณหมอ สุวิทย์มีครอบครัวที่ดี ลูกๆ ได้ดีทุกคน รวมทั้งมีความสุขในชีวิตด้านอื่นๆ ดังที่ประจักษ์ชัดในหนังสือเล่มนี้

สมัยนี้ คนอายุ ๖๐ ปี ไม่ถือว่าสูงอายุ ผมจึงตั้งความหวังว่า ในวัยหลังเกษียณอายุราชการ คุณหมอ สุวิทย์จะยิ่งมีเวลาทำประโยชน์ให้แก่สังคมมากยิ่งขึ้น เป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นหลัง ให้รวมตัวกันมุ่งมั่น ทำงานเพื่อความดี เพื่อสังคมไทย ได้ผลกระทบที่หนักแน่นจริงจังยิ่งขึ้น

เนื่องจากคุณหมอสุวิทย์ทำประโยชน์แก่สังคมไทยในวัยราชการ ๓๗ ปี ผมจึงขอตั้งความหวังว่า คุณหมอสุวิทย์จะทำหน้าที่ในฐานะผู้อาวุโส ได้ต่อไปอีก ๓๗ ปี สร้างคุณค่าในชีวิตที่มีโอกาสเกิดมาเป็นคน สมองดี เกิดมาในครอบครัวที่ดี และได้สร้างครอบครัว และแวดวงมิตรสหายที่ดี เพื่อประโยชน์ของสังคม โดยเฉพาะของคนเล็กคนน้อยจำนวนมาก ดังที่ท่านถือปฏิบัติมาตลอดชีวิต ๖๐ ปี

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑ กันยายน ๒๕๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 04 ตุลาคม 2013 เวลา 07:54 น.
 


หน้า 438 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5605
Content : 3049
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8599187

facebook

Twitter


บทความเก่า