Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

KM วันละคำ : 607. KM คณะแพทย์ภูมิภาคเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว

พิมพ์ PDF
ความรู้ปฏิบัติ มาก่อนความรู้ทฤษฎี หรือทฤษฎีมาจากการปฏิบัติ

KM วันละคำ : 607. KM คณะแพทย์ภูมิภาคเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว

ระหว่างนั่งประชุม เรื่อง ทิศทางและแผนดำเนินงานของสมาคม ควอท. วันที่ ๗ ก.ย. ๕๖ ที่โรงแรม เลอ คาซ่า บางแสน ชลบุรี อ. หมอจิตเจริญ ไชยาคำ เอ่ยเรื่องการประชุม ลปรร. ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ส่วนภูมิภาค ๓ แห่ง เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว ว่าก่อให้เกิดการเคลื่อนไหว พัฒนาความก้าวหน้าของทั้ง ๓ หน่วยงานเป็นอันมาก เราเรียกการประชุมนี้ว่า การประชุมระหว่างคณะแพทยศาสตร์ส่วนภูมิภาค

ทำให้ผมคิดได้ว่า นี่คือ KM ที่ผมสัมผัส และเป็นตัวการคนหนึ่งที่ทำให้เกิด คือเป็นทั้ง คุณเอื้อ คุณอำนวย และบางครั้ง เป็น คุณกิจ ด้วย โดยคณะแพทยศาสตร์ ๓ แห่งที่อยู่นอกกรุงเทพในขณะนั้น ตกลงกันจัด พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างกัน หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ เหย้า-เยือน ทุกๆ ๓ เดือน เอาจินตนาการหรือความฝัน และผลงานที่ภูมิใจ มา ลปรร. กัน สร้างแรงบันดาลใจ สร้างกระแสการเปลี่ยนแปลง และเรียนรู้วิธีปฏิบัติ จากกันและกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคุณภาพ และสร้างนวัตกรรม ในการทำหน้าที่โรงเรียนแพทย์

นี่คือ KM ที่ผมมีส่วนร่วมทำ โดยไม่รู้จักหลักการ KM เลย ก่อนที่ผมจะรู้จัก KM เป็นเวลากว่า ๒๐ ปี คิดย้อนหลังกลับไป ผมรู้สึกว่า ตอนนั้นเรา ลปรร. ความรู้ปฏิบัติ (tacit knowledge) กันไฟแลบทีเดียว โดยตอนนั้นเราไม่รู้จัก tacit knowledge

เรื่องเล่านี้ บอกเราว่า ความรู้ปฏิบัติ มาก่อนความรู้ทฤษฎี หรือทฤษฎีมาจากการปฏิบัติ

วิจารณ์ พานิช

๗ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 30 กันยายน 2013 เวลา 07:46 น.
 

วิธีเลี้ยง(ฝึก)ลูก/ศิษย์ ให้เป็นคนเก่ง

พิมพ์ PDF
ปัจจัยชี้ขาดของความเป็นคนเก่ง คือความเชื่อ หรือกระบวนทัศน์ ว่าความสำเร็จขึ้นอยู่กับพรแสวง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับพรสวรรค์ หรือ "ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน"

วิธีเลี้ยง(ฝึก)ลูก/ศิษย์ ให้เป็นคนเก่ง

บทความเรื่อง The Secret to Raising Smart Kids เขียนโดย Carole S. Dweck ตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ในปี ค.ศ. 2007 และพิมพ์ซ้ำในหนังสือ The Science of Education ในปี 2012 เล่าเรื่องวิธีช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียนและในการดำรงชีวิตเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

บทความนี้เล่าผลงานวิจัยของผู้เขียน ร่วมกับผู้ร่วมวิจัย หลากหลายโครงการ ในช่วงเวลา ๔๐ ปี ที่บอกว่าปัจจัยชี้ขาดของความเป็นคนเก่ง คือความเชื่อ หรือกระบวนทัศน์ ว่าความสำเร็จขึ้นอยู่กับพรแสวง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับพรสวรรค์ หรือ "ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน"

วิธีเลี้ยง(ฝึก)ลูก/ศิษย์ ให้ประสบความสำเร็จในการเรียน และในชีวิต ทำโดยหาทางสร้างความเชื่อ ว่าปัจจัยสู่ความสำเร็จในการทำสิ่งใดก็ตาม คือความมานะพยายาม ไม่ได้อยู่ที่ความฉลาดที่มีมาแต่กำเนิด

ผู้เขียนเล่าเรื่องผลการวิจัยมากมาย ที่ยืนยันข้อสรุปว่าคนเก่งคือคนที่มีความมานะพยายาม ส่วนคนสมองดีแต่ขาดความานะพยายามจะเป็น ม้าตีนต้น เก่งตอนเด็กๆ ต่อมาเมื่อต้องเผชิญการเรียนหรือ การงานที่ยาก ก็จะถอดใจโดยง่าย และไม่ประสบความสำเร็จ

ส่วนเด็กที่สมองไม่ถึงกับเลิศ แต่ได้รับการเลี้ยงดู (และโค้ช) อย่างถูกต้อง คือไม่ชมความฉลาด แต่ชมความพยายาม ไม่ชมความสำเร็จที่ได้โดยง่าย แต่ชมความสำเร็จที่ได้จากการต่อสู้ไม่ย่อท้อ ต่อความ ยากลำบากหรือความล้มเหลวในเบื้องต้น จะเกิดกระบวนทัศน์ที่เชื่อในพรแสวง กลายเป็นคนที่ไม่ถอดใจง่าย เมื่อเผชิญความล้มเหลว มองความยากลำบากเป็นเส้นทางของการเรียนรู้พัฒนาตนเอง ซึ่งในที่สุดก็จะประสบ ความสำเร็จ และได้นิสัย หรือ กระบวนทัศน์ พรแสวง (Growth Mindset) ไปตลอดชีวิต ทำให้มีชีวิตที่ดี

ตรงกันข้าม เด็กที่สมองดีมาแต่กำเนิด แต่ได้รับการเลี้ยงดูผิดๆ ผู้ใหญ่ชมความฉลาด ที่สามารถเรียนรู้ได้เร็ว จนเด็กเชื่อ หรือฝังใจ ว่าความสำเร็จเกิดจากสมองดีที่ติดตัวมาแต่กำเนิด (กระบวนทัศน์ พรสวรรค์ Fixed Mindset) เมื่อโตขึ้น ต้องเผชิญบทเรียนที่หลากหลายขึ้น มีส่วนที่ยาก ก็จะเป็นคนที่ถอดใจง่าย ไม่ต่อสู้มานะพยายาม เกิดซ้ำๆ เข้า ก็กลายเป็นนิสัยไม่สู้สิ่งยาก และเป็นคนไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต เท่าที่ควร ทั้งๆ ที่เป็นคนกำเนิดมามีสมองดี

เขาบอกว่า คนมีกระบวนทัศน์พรสวรรค์ ให้คุณค่าต่อความสำเร็จ ในขณะที่คนที่มีกระบวนทัศน์พรแสวง ให้คุณค่าต่อการเรียนรู้

มี คอมพิวเตอร์โปรแกรมที่ใช้ฝึกและช่วยสร้างกระบวนทัศน์พรแสวง ชื่อ Brainology ที่บทความนี้บอกว่าใช้ได้ผลจริง เพราะช่วยให้เห็นรูปธรรมของความก้าวหน้าเติบโตของเครือข่ายใยสมอง เมื่อตนบากบั่นฝึกฝน

คนเก่งที่แท้จริง คือคนที่เรียนรู้ ทั้งจากความล้มเหลวและจากความสำเร็จ

ต้องอ่านบทความตัวจริงนะครับ จะสนุกกว่าที่ผมเล่าหลายเท่า

อ่านเรื่องนี้แล้ว ผมนึกถึงหนังสือ Outliers ของ Malcolm Gladwell ที่คุณสมบัติพิเศษ ๕ ประการตามในบันทึกเกี่ยวกับคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตเป็นพิเศษ ตัวที่ ๓ คือเรื่องความเชื่อในพรแสวง ตามในบันทึกนี้ แต่ในบันทึกนี้เราสนใจคนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนมีความสามารถพิเศษ

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.ย. ๕๖

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

โกงเมืองในภาคธุรกิจสหรัฐอเมริกา

พิมพ์ PDF

โกงเมืองในภาคธุรกิจสหรัฐอเมริกา

นสพ. The Wall Street Journal วันที่ ๒๗ - ๒๙ ก.ย. ๕๖ ลงข่าว J.P. Morgan CEO Takes His Case to Washington

ข่าวบอกว่าธนาคาร J.P. Morgan Chase & Co. น่าจะเจรจาขอรอมชอมกับอธิบดีกรมอัยการของสหรัฐ    ยอมจ่ายเงิน$11,000 ล้าน   หรือประมาณ 350,000 ล้านบาท    แลกกับการไม่โดนดำเนินคดีอาญาฐานทุจริตฉ้อโกง รวม ๗ คดี

การกระทำผิดเกิดช่วงปี ค.ศ. 2005-2007 และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกา    ที่เรียกว่า Subprime Mortgage Crisis ในปี 2008  ก่อผลสะเทือนไปทั่วโลก    และยังส่งผลจนถึงปัจจุบัน จากมาตรการแก้ไขอัดฉีดเงินออกสู่ตลาด

ข่าวบอกว่า ในปีที่แล้ว มีการตกลงจ่ายเงินชดเชยการทำผิดเรื่องวิกฤติฟองสบู่การกู้เงินซื้อบ้านนี้ เป็นคดีใหญ่ๆ รวม ๕ คดี   รวมเงิน $25,000 ล้าน    แต่หาก J.P. Morgan ยอมจ่าย $11,000 ล้าน    ก็จะเป็นก้อนเงินที่ใหญ่ที่สุดที่บริษัทหนึ่งยอมจ่าย แลกกับการไม่โดนฟ้อง ในคดี Subprime Crisis

เป็นการเรียนรู้ด้านลบของระบบทุนนิยม ที่เน้นกำไรสูงสุด   ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2013 เวลา 07:18 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : 2003a. ไม่รับบรรยาย 21st Century Learning แก่สถาบันเดียว

พิมพ์ PDF
หากเป็นเรื่องของสถาบันเดียว ผมจะไปเป็นวิทยากรกระบวนการของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ของการประยุกต์ใช้ วิธีจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning นั่นคือ สถาบันต้องจัด case study อย่างน้อย ๓ กรณีมานำเสนอ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อยกระดับความรู้ภาคปฏิบัติ สู่การดำเนินการอย่างเป็นระบบมากขึ้น ให้นักเรียน/นักศึกษา ได้รับประโยชน์มากขึ้น

ชีวิตที่พอเพียง : 2003a. ไม่รับบรรยาย 21st Century Learning แก่สถาบันเดียว

ในช่วงเวลาประมาณ ๒ ปีที่ผ่านมา    ได้มีความตื่นตัวเรื่องการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑   ที่รูปแบบการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไปจากวิถีปฏิบัติที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อย่างสิ้นเชิง    ผมได้เขียน บล็อก ออกเผยแพร่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้มากมาย    รวมทั้งได้รวบรวมพิมพ์เป็นหนังสืออกเผยแพร่ทั้งเป็น eBook ให้ download ได้ฟรี    และพิมพ์เป็นเล่มออกจำหน่าย    บางเล่มเป็นหนังสือขายดี

บัดนี้ น่าจะถึงยุคลงมือทำเสียที    ไม่ใช่ยุคฟังคำบรรยายแนวคิดใหม่วิธีการใหม่อีกแล้ว

จึงขอประกาศว่า ต่อไปนี้ผมไม่รับไปพูดแบบบรรยายเรื่องการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ให้แก่สถาบันใดสถาบันหนึ่ง    ที่จัดเป็นการภายในของสถาบันอีกต่อไป

หากเป็นเรื่องของสถาบันเดียว    ผมจะไปเป็นวิทยากรกระบวนการของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ของการประยุกต์ใช้ วิธีจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning นั่นคือ สถาบันต้องจัด case study อย่างน้อย ๓ กรณีมานำเสนอ   และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อยกระดับความรู้ภาคปฏิบัติ   สู่การดำเนินการอย่างเป็นระบบมากขึ้น    ให้นักเรียน/นักศึกษา ได้รับประโยชน์มากขึ้น

ต่อไปนี้ 21st Century Learning Movement ของสังคมไทยต้องเข้าสู่ยุคปฏิบัติ   เพื่อให้ศิษย์ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง    ไม่ใช่วนเวียนอยู่ที่ผลประโยชน์ของครู    ที่ฟังบรรยายแล้วคิดว่ารู้ หรือมีความสุขจากการฟัง แต่ไม่เอาไปปฏิบัติ

ครู/อาจารย์ ไทย ต้องทำตัวเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง    โดยลงมือทำ    แล้วนำผลของการกระทำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน   เพื่อให้เกิดผลดีต่อศิษย์ยิ่งขึ้น   และเมื่อ Learning Outcome ของศิษย์สูงขึ้น   ครูและโรงเรียน/สถาบันการศึกษา ก็มีชื่อเสียง    มีความภาคภูมิใจ    ในสภาพเช่นนี้ผมยินดีเข้าร่วมขบวนการเต็มที่

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2013 เวลา 07:34 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : 2003. เดินออกกำลังที่ตลาดหาดใหญ่

พิมพ์ PDF

เช้ามืดวันที่ ๓๐ ส.ค. ๕๖ ผมออกจากโรงแรมเซนทารา กลางเมืองหาดใหญ่   เดินออกไปทางถนน สาย ๓หรือนิพัทธ์อุทิศ ๓ เดินไปทางทิศใต้   ความรู้สึกแรกคือความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยกว่าตอนที่ผมออกมาวิ่งเมื่อหลายปีที่แล้ว อย่างมากมาย   ทางเท้าปูด้วยกระเบื้องเคลือบสวยงาม และเป็นสีและลายชุดเดียวกันทั้งหมด   และไม่มีเสาไฟและสายไฟริมถนน รกรุงรังอีกแล้ว    ทราบภายหลังว่า ทางเทศบาลจัดการเอาลงใต้ดินหมด

ยามเช้าวันนี้อากาศเย็นสบาย   รถยังมีน้อยมาก จึงไม่มีเสียงหนวกหู   และไม่รู้สึกว่ามีมลพิษทางอากาศอย่างในเมือง โดยทั่วไป    ผมเดาว่าอีกสักชั่วโมงเดียว อากาศและบรรยากาศก็จะไม่ดีอย่างนี้

เดินผ่านมูลนิธิสงเคราะห์คนชราอนาถา อยู่ติดกับสมาคมกว๋องสิว ทำให้ผมนึกชมสปิริตคนจีน   ที่มีจิตสาธารณะ และจิตกุศล รวมตัวกันบริจาคเงินตั้งสมาคมและมูลนิธิช่วยเหลือกัน   โดยเฉพาะช่วยเหลือคนชราอนาถา    ที่หาดใหญ่มีหลายมูลนิธิ   ทำอย่างไรสังคมไทยจะปลูกฝังจิตสาธารณะให้เข้มแข็งเช่นนี้บ้าง

ผมเดินไปจนสุดถนนสาย ๓ แล้วเลี้ยวขวา ไปสู่ถนนสาย ๑  ผ่านร้านที่ผมคิดถึงบ่อยๆ และไม่ได้ไปกินนานมากแล้ว  ชื่อร้านเจ็งง้วน อยู่ปลายสุดถนนสาย ๑ ทางทิศใต้   ลักษณะของร้านยังเหมือนเดิมไม่ผิดเพี้ยน คือไม่หรูหรา    สมัยผมไปกิน อาหารอร่อยและมีลักษณะจำเพาะ   ได้แก่ปลากระบอกนึ่งเกลือ   เต้าหู้ทอด (กินกับน้ำจิ้มคือน้ำเกลือใส่ต้นกระเทียมหั่น  หากใช้น้ำจิ้มผิด จะโดนดุ)  แฮ่กึ๊น  ฯลฯ

ผมเดินขึ้นเหนือไปตามถนนสาย ๑   ถ่ายรูปถนนและอาคารบ้านเรือน   จนไปพบคนกำลังเอากรงนกกรงหัวจุกมาแขวนที่หน้าร้านหลายกรง    ความชอบนกชนิดนี้ ทำให้ผมอดถ่ายรูปไม่ได้    สมัยผมอยู่หาดใหญ่ ผมเลี้ยงนกชนิดนี้ และชนิดอื่นๆ ที่บ้านพัก    ช่วงที่บ้าเลี้ยงนก ผมเลี้ยงราวๆ ๒๐ ตัว

เดินผ่านอาคารเก่าที่เดาว่าเขาคงอนุรักษ์ไว้    มีการปรับปรุงและทาสีใหม่หลากสีสวยงามเป็นลูกกวาดทีเดียว

ตอนเช้าเช่นนี้ ร้านที่เปิดมักเป็นร้านอาหาร ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารจีน จำพวกแต้เตี๊ยม   และมีร้านอิสลามด้วย

การได้ไปเดินออกกำลังกายและชมบรรยากาศ และชีวิตผู้คนยามเช้าที่หาดใญ่วันนี้ ทำให้ผมรำลึกถึงวันเก่าๆ   ที่ผมไปอยู่ที่หาดใหญ่เกือบ ๒๐ ปี   ผมแทบไม่เคยได้มาชมบรรยากาศยามเช้าตรู่ในเมืองเช่นนี้ เป็นการทำความรู้จักซึมซับบ้านเมือง และชีวิตผู้คนที่ดีมาก

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ส.ค. ๕๖

 

มูลนิธิสงเคราะห์คนชราอนาถา

สมาคมกว๋องสิวหาดใหญ่

ร้านเจ็งง้วน

นกกรงหัวจุก

 

ทางเท้าและถนนที่เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม

 

อาคารเก่า

 

อาคารเก่าทาสีลูกกวาด

 

บรรยากาศสวยงาม

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2013 เวลา 07:46 น.
 


หน้า 442 จาก 557
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5602
Content : 3043
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8590806

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า