Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๑. ผู้ทำนุบำรุง

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๙ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People : Progressive Parenting for the 21stCentury เขียนโดย Annie Fox, M.Ed. 

ตอนที่ ๑ นี้ ตีความจากบท Introduction : Obviously not all teachers are parents, but all parents are teachers.   อ่านแล้วผมนึกถึง บ้านผู้หว่าน” ที่สามพราน นครปฐม   ที่หมายถึงการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความดี   แต่คิดดูอีกที หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยการสอน (ฝึกเด็กให้เป็นคนดี   โดยที่เด็กแต่ละคนมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในตัวอยู่แล้ว    ผมจึงตั้งชื่อตอนนี้ว่า ผู้ทำนุบำรุง” (เมล็ดพันธุ์แห่งความดี ที่มีอยู่ในตัวเด็ก)

ผู้เขียนบอกว่า นิสัยหรือบุคลิกที่ดี เช่นความเห็นอกเห็นใจ และเคารพผู้อื่น เป็นสิ่งที่สอน (ฝึกได้ ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน   ครูและพ่อแม่ที่ฝึกเด็กให้เป็นคนดี เป็นผู้ช่วยให้ สังคมและโลก เป็นที่ปลอดภัย ร่มเย็น และเป็นธรรม สำหรับทุกคน   ผมอยากให้คนเราทุกคนมีสำนึกเช่นนี้ … สำนึกพลเมือง

แต่พ่อแม่และครูที่มีความมุ่งมั่นทำนุบำรุง พันธุ์เทพ” ในตัวเด็กในยุคปัจจุบัน   ต้องเผชิญความท้าทายอย่างหนัก   จากสภาพแวดล้อมรอบด้าน   โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่านิยมที่เผยแพร่โดยสื่อมวลชน   มักให้ความบันเทิงเจือกิเลส ในขณะที่ครูและพ่อแม่พยายามสร้างนิสัยดี ที่เขาใช้คำว่า character building แต่สื่อมวลชนทำ character assassination   คือทำฆาตกรรมนิสัยดี   เท่ากับสภาพแวดล้อมรอบตัว เป็นมลพิษต่อสุขภาวะของพวกเรา

ไม่ว่าในวัฒนธรรม online หรือ offline ทารุณกรรมมักถูกละเลยหรือยกย่อง    พ่อแม่และครูจึงต้อง ทำนุบำรุงความดีงามในท่ามกลางกระแสสังคมที่ไหลบ่าไปในทางตรงกันข้าม

ผู้เขียนบอกว่า วัยรุ่นในสมัยนี้ถูกบีบคั้นจากเพื่อนๆ    และตกอยู่ในสภาพที่วิตกกังวล กับสภาพของตนเองยิ่งกว่าสมัยใดๆ    เขาใช้คำว่า status anxiety ผมไตร่ตรองว่า นั่นเป็นสภาพสังคมอเมริกัน   ที่ไม่เหมือนสังคมไทยหรือเปล่า    ไตร่ตรองแล้ว ก็คิดว่าวัยรุ่นไทยก็ตกอยู่ในสภาพคล้ายคลึงกัน   และทำให้วัยรุ่น  ต้องประพฤติตนตามเพื่อน   และบ่อยครั้งนำไปสู่ความเสื่อม   เป็นการเพาะพันธุ์มาร” ในตน (มีผู้เขียนเล่าการสัมภาษณ์แม่วัยรุ่น ในประเทศไทยว่าที่ตนต้องมีเพศสัมพันธ์ ก็เพื่อให้เข้ากลุ่มกับเพื่อนๆ ได้)

แต่ผู้เขียนก็บอกว่า เราสามารถทำนุบำรุงเยาวชนของเรา ให้เป็นคนดี   ที่มีใจช่วยเหลือผู้อื่น และมีความกล้าหาญทางสังคม ที่จะลงมือทำตามเจตนาดี

พวกเราเป็นเสมือนชาวสวน   ที่ทำหน้าที่ ผู้หว่าน” เมล็ดพันธุ์แห่งความดี   และหมั่นรดน้ำพรวนดิน ทำนุบำรุง ให้ส่วน พันธุ์เทพ” งอกงาม   แม้จะมีกระแสสังคมที่กระตุ้น พันธุ์มาร” ก็ตามที

ผู้เขียนฉลาดมาก หาวิธีนิยามคำว่าความดี จากการ ถามปวงชน” (crowdsourcing)   และได้คำตอบที่นำมาจัดหมวดหมู่ได้ ๘ คุณสมบัติ คือ ความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence), จริยธรรม (ethics), ช่วยเหลือผู้อื่น (help), ให้อภัย (forgiveness),ความเห็นใจ (compassion), เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (empathy), การยอมรับ (acceptance), และ ความกล้าหาญทางสังคม (social courage)

ผู้เขียนบอกว่า คุณสมบัติทั้ง ๘ ประการนี้ ฝึกได้

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๐ มี.ค. ๕๖

บนเครื่องบินไปโตเกียว

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 04 กันยายน 2013 เวลา 16:50 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๘๓. เพื่อนนักเรียนชั้นมัธยมสอนใจ

พิมพ์ PDF

เพื่อนนักเรียนชั้นมัธยม ที่โรงเรียน ชุมพร ศรียาภัยรุ่นเรียนชั้น ม. ๖ ปีการศึกษา ๒๕๐๐ นัดกินอาหารเที่ยง เพื่อสังสรรค์กันวันที่ ๒๑ ก.. ๕๖    ที่ภัตตาคาร เจด การ์เด้นท์ใกล้สะพานพระราม ๘ หลังจากไม่ได้พบกันหลายปี

คนนัดคือ บรรจง วิมลทรัพย์ เจ้าเก่า    และเจ้ามือคือเสี่ยประจำรุ่น รอ. อาลักษณ์ อนุมาศ เจ้าเก่าอีกเช่นกัน   ผมบอกบรรจงว่า คราวนี้ขอให้ผมเป็นคนออกเงิน เขาก็ไม่ยอม

อาหารของภัตตาคาร เจด การ์เด้นท์ นี้ เป็นอาหารจีนที่อร่อยมาก    ตัวภัตตาคารกว้างขวาง มีห้องแยกมากมาย   เราได้ห้องสีเขียว    คุยเสียงดังกันได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องเกรงว่าจะรบกวนแขกกลุ่มอื่น

ผมเอาชาเจียวกู้หลาน กับปู่เฒ่าทิ้งไม้เท้า ซื้อจากร้านโครงการหลวงไปฝากเพื่อนๆ    บอกว่า เป็นชาที่ ดื่มแล้วแข็ง  แรงดี มีกำลังวังชาเพื่อนๆ ถามว่าหมดแล้วจะซื้อได้ที่ไหน    เพื่อน ๑๔ คน (รวมทั้งผม) นี้ มี ๒ คนที่ต้องถือไม้เท้าคือ ทวีป ศรีภินันท์ กับ สมบูรณ์ ทองสกุล (ชื่อเดิม สมบุญ แซ่แผ่) ผมบอกเขาว่าให้ถือไม้เท้าอย่าอาย ทวีปตอบว่าไม่ถือไม่ได้   เพราะอยู่ๆ เข่าเกิดอ่อนยืนไม่ได้ หากไม่มีไม้เท้าช่วยยัน จะล้ม    เกิดบ้างเป็นครั้งคราว

ผมไปถึงภัตตาคารเวลา ๑๑.๔๐ น. พบเพื่อนมานั่งรออยู่แล้ว ๑ คน คือ ธำรงศักดิ์ ทินบาล ศศ.บ. (นิเทศศาสตร์) ข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี ๒๕๓๖   ข้าราชการบำนาญ กรุงเทพมหานคร ปี ๒๕๔๒   ซึ่งหมายความว่าธำรงศักดิ์ อายุมากกว่าผม ๓ ปี    ผมถามถึงยอดชัย ทินบาล น้องชาย    จึงทราบว่าเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว    ยอดชัยเรียนชั้นเดียวกับพวกเราตั้งแต่ ม. ๑   ต่อมาธำรงศักดิ์ซ้ำชั้น จึงเรียนชั้นเดียวกันทั้งพี่และน้อง

พอเพื่อนๆ มากันเกือบพร้อมหน้า ธำรงศักดิ์ก็เอารูปถ่ายหมู่ตอนเรียนจบ ม. ๖ ของชั้น ม. ๖ ข. ใส่กรอบอย่างดี    เอามาอวด    รวมทั้งรูปหมู่ของชั้น ม. ๖ ก.   และรูปหมู่ลูกเสือ   ผมไม่ได้อยู่ในรูปเหล่านี้ เพราะผมลาออกมาเรียนต่อที่กรุงเทพ ในชั้น ม. ๖   ผมดูรูปเหล่านั้นแล้ว รู้สึกว่าตอนนั้นเรายังเด็กมาก    เพื่อนคนหนึ่งคือ ประชุม ใจสมคม ก็ไม่ได้อยู่ในรูปเหล่านั้น    เพราะเรียนซ้ำชั้นหลายครั้ง    คือจบ ม. ๖ หลังผมประมาณ ๓ ปี

ประชุม เป็นหลานของปลัดสร้าง ใจสมคม (เป็นปลัดอำเภอ) ซึ่งชอบพอกับพ่อของผม   และเมื่อทำงาน ประชุมทำงานที่องค์การโทรศัพท์    ได้ช่วยติดโทรศัพท์ให้ที่บ้านบางขุนนนท์ราวๆ ปี ๒๕๑๒ ซึ่งตอนนั้นคิวติดตั้งโทรศัพท์ยาวมาก   คนทั่วไปต้องรอหลายปี   นั่นคือความประทับใจของผมเกี่ยวกับประชุม   แต่ที่ประชุมประทับใจคือ เขาได้มาพึ่งพาด้านความเจ็บป่วยสมัยผมทำงานเป็นอาจารย์แพทย์ที่ศิริราช อยู่บ่อยๆ    เพื่อนอีกคนหนึ่ง คือ ทวีป ศรีภินันท์ ก็บอกว่า เขาได้ไปใช้บริการของผมเช่นเดียวกัน   แต่ผมจำไม่ได้

ที่จริงความประทับใจของผมเกี่ยวกับประชุมคือ ตอนเรียน เขาสอบตกบ่อยมาก    แต่ตอนทำงาน เป็นคนทำงานเก่งมาก    ใครๆ รัก   ผมเคยปรารภเรื่องนี้กับพ่อของผม ท่านก็บอกว่าเหมือนปลัดสร้าง    ตอนนี้ผมมีคำอธิบายแล้วว่า ประชุมเป็นคนที่มี EQ และ EFสูงมาก    จึงประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน    ผมเข้าใจว่าประชุมมีฐานะทางเศรษฐกิจดีมาก น่าจะดีกว่าผม

ที่จริงเพื่อนกลุ่มนี้ที่เคยสอบตก และชีวิตประสบความสำเร็จทางธุรกิจสูงคือ ผู้กอง อารักษ์ อนุมาศ ที่เป็นเจ้ามือเลี้ยงพวกเรานั่นเอง

คิดเรื่องสอบตกแล้ว จะเห็นว่าในกลุ่มเพื่อนของผม การสอบตก ไม่ใช่ความล้มเหลวใดๆ ของชีวิต   การที่กระทรวงศึกษาธิการห้ามโรงเรียนให้เด็กสอบตก จึงเป็นหายนะต่อคุณภาพการศึกษาอย่างที่เราเห็นกันอยู่

แต่เมื่อพิจารณาเพื่อนๆ ที่สอบตก จึงเกิดความสงสัยในความแม่นยำของการสอบที่จัดโดยโรงเรียนเองในสมัยนั้น   ว่ามันได้จับเด็กที่ไม่ได้เรียนอ่อน ให้สอบตก หรือไม่    หรือว่าจริงๆ แล้วตอนนั้นเขาเรียนอ่อนจริงๆ เพราะไม่เอาใจใส่การเรียน    ทั้งๆ ที่เป็นเด็กสมองดี

เพื่อนอีกคนหนึ่งคือ ดร. สุมิตร ตยาคีพิสุทธิ์ ไม่เคยเรียนกับผมเลย   และไม่ได้อยู่ในรูป   เพื่อนคนนี้เป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด แคร์แอนด์คลีน

เพื่อนที่เด่นที่สุดในรุ่นคนหนึ่งคือ พลอากาศโท จำลอง เกษสยม เพราะเก่งทั้งเรียนและกีฬา    เพื่อนๆ ล้อกันว่า ลูกศิษย์ (การบิน) ของจำลองเรียกเขาว่า จำลอง เกษสยอง เพราะเข้มงวดและดุ    จำลองมีลูกเล็กอายุ ๑๑ ขวบ    ตอนนี้เพื่อนๆ กล้าถามแล้ว ว่าเมียคนเล็กอายุเท่าไร   ได้คำตอบว่า ๕๐

เพื่อนที่คนรู้จักมากที่สุดน่าจะได้แก่ ชุมพร เทพพิทักษ์ ดาราภาพยนต์ (ไม่ได้มา)    ที่จริง ไอ้เดียร์” (เราเรียกเขาอย่างนั้น) เรียนรุ่นก่อนพวกเรา    แต่มาจบ ม. ๖ พร้อมพวกเรา    เมื่อพวกเรายังเป็นเด็กกะโปโลอยู่นั้น เดียร์เป็นหนุ่มหล่อ   แต่งตัวโก้ เป็นสารวัตรลูกเสือ ตอนผมเรียน ม. ๑ เขาอยู่ ม. ๓ และเริ่มเป็นหนุ่มแล้ว    เขาเป็นนายหมู่ลูกเสือ และเคยเขกหัวผมเล่น

เพื่อนอีกคนหนึ่งพิเศษมาก คือ ไพฑูรย์ กิจเภาสงค์ มีลูกสาว ๕ คน จาก ๒ แม่   และเวลานี้ลูกสาวทั้ง ๕ คนแต่งงานแล้ว และอยู่ต่างประเทศทั้งหมด   เขาอวดผมว่า เขามีลูกเขย ๕ ชาติ   ไพฑูรย์เคยไปทำงานเป็นอาจารย์ที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ด้วยความช่วยเหลือของผม   แล้วภายหลังย้ายไปอยู่มหาวิทยาลัยขอนแก่น   และเวลานี้ปักหลักอยู่ที่ขอนแก่น

เพื่อนที่ร่างกายอ่อนแอที่สุดในกลุ่มที่มาในวันนี้คือ สมบูรณ์ ทองสกุล ที่กระดูกสันหลังไม่แข็งแรง   รวมทั้งเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบ   และสมองขาดเลือดเป็นจุดๆ    โดยที่สมัยเรียนหนังสือด้วยกัน สมบูรณ์ เป็นนักกีฬา เล่นฟุตบอลล์ เป็นประตู ที่เรายกย่องกันว่ามือเหนียวที่สุด

มงคล พรรณโชคดี ประกาศตัวเป็นสมาชิกกลุ่มเสื้อเหลืองเต็มตัว   เล่าว่าเคยเผชิญหน้ากับ โสภณ พัฒนอิ่ม (ไม่ได้มาในคราวนี้) ที่เป็นสมาชิกเสื้อแดง    เนื่องจากมงคลตัวโตแข็งแรง    แต่โสภณตัวเล็กนิดเดียว   พอเผชิญหน้า โสภณก็หลบ    มงคลเล่าว่า ตนรีบบอกโสภณว่าเพื่อนกันโว้ย กูไม่ทำมึงหรอกบรรจงรีบแก้ตัวให้โสภณว่า ถึงตัวจะเล็ก แต่ก็มีเสน่ห์ผูกใจสาว    โสภณเปลี่ยนเมียเกือบทุกปี แม้จนปัจจุบัน

ผมถามอาลักษณ์ว่าทำไมไม่ชวนฉลอง (อนุมาศ) มาด้วย เพื่อนคนอื่นบอกว่า ถ้าฉลองมา พวกเราก็ต้องวิ่งหนีผี   เพราะฉลองเป็นมะเร็งเม็ดเลืดขาวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว    ฉลองเป็นน้องของอาลักษณ์    ตอนมีชีวิตอยู่ทำงานผสมพันธุ์ปลาสวยงามส่งออกต่างประเทศ ร่ำรวย    แต่ต่อมาธุรกิจไม่ดี และเมื่อป่วยครอบครัวก็ลำบาก

คนที่มาแปลกคือ วิชาญ ดุษิยามี ซึ่งทำงานที่บริษัทน้ำมัน เชลล์    ทุกคนทักว่าผอมลง    โดยที่ร่างกายแข็งแรง    บ่นว่าไม่อยากกินอาหาร   วิชาญเป็นคนปากน้ำชุมพร และครอบครัวของเขาสนิทสนมกับครอบครัวของพ่อแม่ผม วิชาญมีพี่สาวเป็นครู ๒ คน    คนหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากชื่อครูยุพิน เคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีที่จังหวัดตรัง

พินิจ ศิลปศรทำงานสรรพากร เข้าใจว่าก่อนเกษียณ เป็นสรรพากรภาค   เป็นคนเงียบๆ แต่ทำงานเก่ง    เป็นคนเอาการเอางาน   เขาเล่าให้ฟังเรื่องการใช้อิทธิพลหลบเลี่ยงภาษีของนักการเมือง

ชวลิต พันธุมสุต ทำงานกรมทางหลวง ก่อนเกษียณเป็นผู้อำนวยการส่วนเครื่องจักรกล    มีลูกสาว ๒ คน อยู่ที่เยอรมันทั้งคู่   คนหนึ่งเรียนจบแล้วแต่งงานกับหนุ่มเยอรมัน อีกคนหนึ่งไปเรียนต่อ เขาเล่าให้ผมฟังเรื่องเพื่อนที่เรียนมาด้วยกัน   แล้วเพื่อนมีตำแหน่งพนักงานขับรถทำถนน และเกเรเลี่ยงงาน   แล้วขอให้ชวลิตช่วยให้หลบงานโดยไม่ลา ๓ วัน   ชวลิตไม่ช่วย เพื่อนจึงบ่นว่าไม่มีน้ำใจ   เขาบอกว่าภายหลังพบลูกน้องที่ทำหน้าที่ขับรถแบบเดียวกัน   และทำงานสไตล์เกเรแบบเดียวกัน   เมื่อซักถามจึงทราบว่าเป็นลูกของเพื่อนคนนั้นนั่นเอง    ผมตีความว่า ในครอบครัวมีการอบรมบ่มนิสัยไม่ดี พ่อตีตรา EF ไม่ดีให้ลูก   หรือว่า เซลล์สมองชนิด mirror neurons ทำให้ลูกลอกพฤติกรรมไม่ดีมาจากพ่อ   ชวลิตมีบ้านใหญ่กว่าบ้านผมเสียอีก

หมอห้ามชวลิตขับรถ เพราะต้องใส่ pace maker มา ๑๔ ปีแล้ว    โดยติดครั้งแรกค่า pace maker ถึง ๘ แสนบาท เบิกจากราชการได้เพียงแสนเศษ    ใช้ได้ ๖ ปีก็ต้องเปลี่ยน ตอนนี้เป็นเครื่องที่ ๓   และราคาลดลงเรื่อยๆ เครื่องสุดท้ายไม่ต้องออกเงินส่วนของตนเองเลย

ผมจึงได้โอกาสชวนชวลิตนั่งรถไปบ้านครูพ้องพรรณด้วยกัน   และขับไปส่งที่บ้านในซอยตรงข้ามห้างพันธ์ทิพย์ งามวงศ์วาน   ทำให้ได้รับรู้เรื่องราวของเพื่อนที่ไม่เคยรู้มาก่อน    เพราะเราไม่ได้พบกันเลยเป็นเวลากว่า ๕๐ ปี    แต่เมื่อพบกันก็สนิทสนมกันอย่างเดิม    ที่เขาซื้อที่ดินในราคาตารางวาละ ๑,๐๐๐ บาท เมื่อปี ๒๕๐๙   พื้นที่ ๑๓๐ ตารางวา    ตอนเป็นเด็ก ชวลิตเป็นนักกีฬาวิ่งเปี้ยวรุ่นเล็ก    เป็นแชมป์   เรียนหนังสือปานกลาง    แต่จะเห็นว่า เขาประสบตวามสำเร็จในชีวิตสูงมาก

ชวลิตเล่าว่า ตอนเป็นเด็กเขาช่วยแม่ทำงานมาก    กลางคืนเวลาสองทุ่มเขายังรุนรถรุนช่วยแม่ขนของ อยู่ในบริเวณตัวเมืองที่เราเรียกกันว่า ท่าตะเภา เขาเล่าว่า ครูอิ่ม ห้ามนักเรียนออกเที่ยวหลังสองทุ่ม    แต่เวลาสองทุ่มตนยังรุนรถช่วยแม่ขนของอยู่เป็นประจำ     และวันหนึ่งพบครูอิ่มเมาเดินโซเซอยู่    ถามครูว่า “ครูจะไปไหน”   ครูบอกว่า “จะกลับบ้านแต่กลับไม่ถูก”    ชวลิตรู้จักบ้านครู ซึ่งอยู่บนถนนปรมินทร์มรรคา ที่บางหมาก ห่างออกไปประมาณ ๒ ก.ม.   ชวลิตบอกครูว่า “ครูขึ้นรถครับ ผมจะไปส่งชวลิตไปส่งครูด้วยรถรุน    รถรุนนี้ในภาษากรุงเทพเรียกว่ารถเข็น   ที่มี ๒ ล้อ ใช้ล้อรถจักรยาน    ผมเขียนด้วยภาษาพื้นบ้าน

ผมคิดว่า คนที่สมองธรรมดาอย่างชวลิต    ประสบความสำเร็จสูงมากในการสร้างฐานะ เพราะเขาเป็นคนมีวินัยในตน    และมีบุคลิกแสดงความเป็นคนจริงใจ ซื่อสัตย์สุจริต    ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะได้มาจากการช่วยพ่อแม่ทำงาน    ผมนึกถึงเพื่อนอีกคนหนึ่งที่สมองดีมาก ดีกว่าผม   และดีกว่าชวลิตมาก สามารถสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้    แต่ชีวิตไม่ประสบความสำเร็จ    เพราะขาดวินัยในตน

ชวลิตเอ่ยถึงวิเชียร พิมพิยุทธ ซึ่งเป็นคนสมองดีมาก    แต่เมื่อจบ ม. ๖ แล้วไม่ได้เรียนต่อ เพราะทางบ้านยากจน   ได้เข้าทำงานเป็นจ่าศาล    อยู่ในตำแหน่งนั้นจนเกษียณ ร่างกายผอมน่าสงสาร”   สมัยเรียน ม. ๒ วิเชียรเป็นคู่แข่งด้านการเรียนกับผม    เขาเป็นคนความจำดีมาก และขยันเรียน   ผมสงสัยว่า คนขยันเช่นนั้น ทำไมจึงไม่ขวนขวายเรียนเองจากหนังสือ

ผมนึกถึงพ่อตาของผม พ.ต.ท. มนู เศวตวรรณ ที่สาวน้อยเล่าว่า เริ่มทำงานเป็นพลตำรวจ    แต่ขยันเรียนด้วยตนเอง ซื้อหนังสือวิชาการมาอ่านแล้วสมัครสอบ    ตำแหน่งราชการครั้งสุดท้ายก่อนเกษียณคือ รองผู้บัญชาการภาค    เป็นตำแหน่งที่สูงกว่าผู้กำกับการ    เทียบยศในขณะนี้น่าจะเป็น พลตำรวจตรี    จะเห็นว่า ความสำเร็จในชีวิตคน เกิดจากการขวนขวายเรียนรู้ หลังจบการศึกษาภาคทางการ เป็นส่วนใหญ่

กินอาหารเสร็จ เราชวนกันไปเยี่ยมครูพ้องพรรณ บุญสมบัติ   ซึ่งอยู่ที่ซอยสง่า ถนนกรุงเทพ - นนทบุรี   โดยบรรจงนำทางไป   และเพื่อนๆ ขับรถตามไปเป็นขบวน    ปรากฎว่าบรรจงพาเราหลงทาง    แต่พวกที่ตามหลังมาและพลัดหลงกันไปถึงบ้านครูก่อน   ผมปลอบใจบรรจงว่า คนแก่หลงๆ ลืมๆ เป็นเรื่องปกติ

ครูพ้องพรรณสอนวิชาวิทยาศาสตร์    สมัยที่ผมเรียนชั้น ม. ๕   ทั้งโรงเรียนมีครูที่แต่งเครื่องแบบติดขีดใหญ่ ๒ ขีด (เป็นข้าราชการชั้นโท) เพียง ๒ คน คือ ครูใหญ่ คล่อง บุญเอี่ยม  กับครูพ้อง (เราเรียกสั้นๆ)   เวลานี้ท่านอายุ ๘๖ ปี เกิด พ.ศ. ๒๔๗๐ ปีเดียวกันกับในหลวง   พูดรู้เรื่อง แต่ความจำไม่ดี รู้ว่าลูกศิษย์ไปเยี่ยม แต่จำพวกเราแต่ละคนไม่ได้   ท่านบอกว่าดีใจ ที่พวกเราไปเยี่ยม

รูปหมู่ที่ธำรงศักดิ์เอามามีรูปเพื่อนๆ และครู   ทำให้เราได้ระลึกความหลังกัน   คนแก่ได้มีเครื่องมือให้คุยกันเรื่องความหลัง    ช่วยให้ได้ความสุขเป็นอย่างมาก   เราได้ทบทวนกันว่า พิรุณตายแล้ว  สมพงษ์ตายแล้ว   จารึกตายแล้ว ฯลฯเป็นมรณานุสติที่ดี

ผมได้ชื่อว่า เป็นคนที่ยังทำงานทำประโยชน์ให้แก่สังคมอยู่ในปัจจุบัน   โดยเพื่อนๆ ดูจากโทรทัศน์    จึงถูกซักว่า นั่งทำงานที่ไหน   ซึ่งเป็นคำถามที่ผมถูกถามบ่อยมาก    ผมตอบเช่นเคยว่า นั่งทำงานบนรถเพราะต้องเดินทางจากที่หนึ่ง ไปอีกที่หนึ่งเพื่อประชุม

ผมพบว่า งานที่ผมทำอยู่นี้ อธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจยากมาก ว่าผมทำงานอะไร    ผมบอกว่า ผมทำหน้าที่ กองเชียร์ให้คนรุ่นน้องหรือรุ่นลูกทำงานเกิดผลสำเร็จ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม ก็เข้าใจยากอยู่ดี   งานในหน้าที่ กำกับดูแล” (governance) ไม่ใช่งานที่คนทั่วไปเข้าใจ

เพื่อนๆ เขายกย่อง ว่าผมเป็นคนเสียสละเพื่อส่วนรวม    คือเป็นหมอที่ไม่ทำคลินิกหาเงิน    และเขายกย่องความขยัน    จำลองบอกเพื่อนๆ ว่า วิจารณ์ก่อนนอนต้องอ่านหนังสือ ไม่ได้อ่านนอนไม่หลับเป็นการยกย่องความขยันเรียน    ผมเกือบจะบอก (แต่ไม่ได้บอก) ว่าตอนเข้าส้วมก็ต้องมีหนังสืออ่าน   ไม่เช่นนั้นอึไม่ออก

ที่จริงการอ่านหนังสือก่อนนอนของผม เป็นการเปลี่ยนคลื่นสมอง    คืออ่านต่วยตูน เพื่อให้สมองเปลี่ยนมาเป็นอารมณ์ขำขัน หรือเรื่องทั่วไป    หยุดคิดเรื่องงาน

ผมคิดว่า เพื่อนๆ ที่มาสังสรรค์กันนี้    มาเฉพาะคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต    คนที่ชีวิตยากลำบากจะไม่มีโอกาสมา เรื่องที่ผมเล่า(เพื่อบันทึกไว้สอนใจคนและสอนใจตน) นี้ จึงไม่ใช่ภาพเฉลี่ยของเพื่อนร่วมโรงเรียนศรียาภัย ของผม

(มีต่อ)

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๘๓. เพื่อนนักเรียนชั้นมัธยมสอนใจ (ต่อ)

สิ่งหนึ่ง ที่บ่นกันหนาหูเหลือเกิน คือคอรัปชั่นโดยนักการเมือง    เพื่อนคนหนึ่งเล่าว่า    งบประมาณแผ่นดินในโครงการหนึ่งๆ จะส่งให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องเพียง 30% อีก 70% นักการเมืองเอาไปดำเนินการเอง    ผมไม่ทราบว่าเป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่

 

วิจารณ์ พานิช

 

๒๒ ก.ค. ๕๖

 

รูปหมู่ชั้น ม. ๖ ข น่าจะถ่ายต้นปี ๒๕๐๑ ดารา ชุมพร เทพพิทักษ์ ยืนอยู่แถวหลัง ตัวสูงที่สุด

รูปหมู่ชั้น ม. ๖ ก

รูปลูกเสือ

 

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2013 เวลา 11:59 น.
 

ถอดบทเรียนชี้นำสังคม และผลักดันนโยบายสาธารณะ

พิมพ์ PDF

ในการประชุม คศ.นส. (เครือข่ายสร้างเสริมศักยภาพด้านนโยบายสาธารณสุขในคณะแพทยศาสตร์ไทย) ครั้งที่ ๖  ที่คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี   เมื่อวันที่ ๒๕ ก.. ๕๖  ศ.นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ นำหนังสือถอดบทเรียนชี้นำสังคม และผลักดันนโยบายสาธารณะ มาแจก

 

 

เป็นหนังสือที่น่าสนใจมาก  ต่อนักวิชาการที่สนใจทำงานวิชาการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

 

 

ผมค้นพบว่า หนังสือเล่มนี้ ดาวโหลดได้ฟรีที่นี่

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.ค. ๕๖

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2013 เวลา 12:01 น.
 

คนดีวันละคน : 257. รศ. ดร. โกศัลย์ คูสำราญ

พิมพ์ PDF

ดร. โกศัลย์เป็นคนเก่ง แบบที่ก้มหน้าก้มตาทำงาน ใช้ความสามารถที่โดดเด่นทำแต่งาน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการสร้างชื่อเสียงให้แก่ตนเอง คนอย่างนี้หายากยิ่ง

คนดีวันละคน : 257. รศ. ดร. โกศัลย์ คูสำราญ

 

 

๗๐ ปี รศ. ดร. โกศัลย์ คูสำราญ คนเก่งที่ถ่อมตัว

วิจารณ์ พานิช

……………

รศ. ดร. โกศัลย์ คูสำราญ เรียนหนังสือรุ่นน้องผม ๑ ปี เป็นนักเรียนโรงเรียนวชิราวุธรุ่นเดียวกันกับ ศ. ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช เรียนจบระดับเตรียมอุดมศึกษาได้คะแนนเยี่ยมในกลุ่ม ๕๐ คนแรกของประเทศ ที่เรียกกันทั่วไปในสมัยนั้นว่า “ติดบอร์ด” และได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศ ไปจบปริญญาเอก สาขาเคมีจากมหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด

จึงถือได้ว่าเป็นคนที่มีประวัติการเรียนเด่นมาก อย่างหาตัวจับยาก ท่านเป็นคนเงียบๆ ไม่แสดงตัว ไม่อวดตัว ผมมารู้จักกับท่านเมื่อผมมารับงานผู้อำนวยการ สกว. ในปี ๒๕๓๖ ในช่วงแรกทำงานอยู่ที่ชั้น ๑๘ ของอาคารมหานคร-ยิปซั่ม ซึ่งเป็นสำนักงานของ สวทช. จึงได้มีโอกาสรู้จักท่านซึ่งทำงานเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ผมรู้สึกว่าท่านเป็นคนโอภาปราศัย ต้อนรับผมซึ่งเป็นอาจารย์บ้านนอกเข้ากรุงอย่างมีอัธยาศัยดีมาก

ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการ สวทช.ในขณะนั้น กล่าวชมให้ผมฟังบ่อยๆ ว่า ดร. โกศัลย์ ทำงานเก่งมาก เป็นคนละเอียดรอบคอบ และความรู้ดีมากในทุกด้าน มีความซื่อสัตย์รับผิดชอบต่องาน และที่สำคัญ เป็นคนมีอัธยาศัยดีมาก

ต่อมามีการเปลี่ยนผู้บริหาร สวทช. และมีคนมาบอกผมหลายคน ว่า ดร. โกศัลย์ ไม่ได้รับต่อสัญญาการทำงานที่ สวทช. ทาง สกว. น่าจะชวนมาทำงาน จะมีคุณค่าต่อ สกว. มาก ตอนนั้น สกว. มีโครงการ คปก. (โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเศก) แล้ว โดยมี รศ. ดร. กำจัด มงคลกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการ อาจารย์กำจัดกับผมตกลงกันว่า ผมจะไปเชื้อเชิญ ดร. โกศัลย์มาทำงานที่ สกว. ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการ คปก. ทำงานบริการ คปก. คู่กับอาจารย์กำจัด ผมเข้าใจว่าทั้งสองท่าน รู้จักคุ้นเคยกันอยู่แล้ว จึงทำงานเข้าขากันอย่างดีเยี่ยม ทำงานโดยมีข้อมูล และมีความแม่นยำ ทำให้งาน คปก. ได้รับความเชื่อถือในความยุติธรรม ตรงไปตรงมา ในเรื่องการตัดสินทุน

เมื่อผมมีโอกาสได้สนทนาเรื่องต่างๆ กับ ดร. โกศัลย์มากเข้า ผมก็รู้ว่าท่านเป็นคนอ่านหนังสือมาก เป็นคนรู้ลึก และกว้างขวาง จดจำเรื่องต่างๆ ได้แม่นยำ ต่างกับผมที่จำอะไรไม่ค่อยได้ เรื่องที่ ดร. โกศัลย์ชอบมีหลากหลายด้าน รวมทั้งด้านธรรมะ

เมื่ออาจารย์กำจัดขอเกษียณตัวเองจาก สกว. เมื่ออายุครบ ๗๐ ปี ศ. ดร. นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ได้รับเชิญมาเป็นผู้อำนวยการ คปก. แทน โดย ดร. โกศัลย์ ยังคงทำหน้าที่รองผู้อำนวยการอย่างเดิม และเมื่อผู้อำนวยการ คปก. เปลี่ยนเป็น ศ. ดร. อมเรศ ภูมิรัตน ดร. โกศัลย์ก็ยังคงทำหน้าที่รองผู้อำนวยการอย่างดี โดยที่ ศ. ดร. อมเรศ มีอายุน้อยกว่า ผู้อำนวยการ คปก. ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่า ได้ ดร. โกศัลย์ เป็นแม่บ้านดูแลงานส่วนที่ เป็นรายละเอียดได้อย่างเรียบร้อยหมดจด ทุกคนสบายใจในความเป็นคนตรง ความซื่อสัตย์ หากไม่มี ดร. โกศัลย์ งาน คปก. จะไม่สามารถดำเนินการได้ผลสำเร็จเรียบร้อยได้ถึงขนาดนี้

เจ้าหน้าที่ของ คปก. ทุกคนบอกผมว่า เขาโชคดีที่ได้ทำงานกับ ดร. โกศัลย์ ได้มีท่านเป็นครูสอนงาน ทำให้เขาทำงานเป็นระบบ ละเอียด และเป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นแบบอย่างที่ดีในการครองตน ให้แก่ทุกคนในหน่วยงาน

เมื่อผมกลับไปทำงานให้แก่ สกว. ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบาย คปก. ผมพบว่ารายงานการประชุม และเอกสารในแฟ้มประชุม ของโครงการ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย น่าประทับใจมาก เป็นผลงานการวางรากฐานด้านงานธุรการของ คปก. โดย ดร. โกศัลย์อย่างไม่มีข้อสงสัย

ผมทราบข่าวเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ ว่า ดร. โกศัลย์ จะออกจาก สกว. จึงถามท่านว่าทำไมไม่อยู่ต่อ ท่านบอกว่าเป็นนโยบายของ สกว. ที่จะไม่ต่อสัญญาแก่พนักงานที่อายุเกิน ๗๐ ปี ไม่ใช่ท่านไม่ประสงค์จะทำงานต่อ

ผมจึงได้เรียนต่อท่านผู้อำนวยการ สกว. ศ. นพ. สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ว่า ดร. โกศัลย์ แม้จะอายุถึง ๗๐ ปีแล้ว แต่ท่านยังแข็งแรง ยังทำงานได้ดี คนที่ทำงานเก่ง ซื่อสัตย์ และทำแต่งาน ไม่เล่นการเมือง และไม่ถืออาวุโส อย่างนี้หายาก น่าจะหาทางดึงท่านไว้ทำงานต่อ โดยไม่ขัดกับนโยบายของคณะกรรมการ นโยบายกองทุน สนับสนุนการวิจัย โดยที่กติกาของ สกว. ไม่ควรถือตามแนวราชการ คือมีระเบียบเดียว ใช้บังคับทั่วกันหมด โดยไม่คำนึงถึงบริบทของงาน และเงื่อนไขอื่นๆ ที่แตกต่างกัน ท่านผู้อำนวยการ สกว. ก็เห็นด้วย

ผมจึงถือโอกาสที่ รศ. ดร. โกศัลย์ คูสำราญมีอายุครบ ๗๐ ปี และออกจากตำแหน่งรองผู้อำนวยการ คปก. เขียนบทความนี้สดุดีท่านไว้เป็นตัวอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง โดยหวังว่า ไม่ใช่เป็นการเขียนบทความ เนื่องในโอกาสที่ท่านออกจาก สกว.

ดร. โกศัลย์เป็นคนเก่ง แบบที่ก้มหน้าก้มตาทำงาน ใช้ความสามารถที่โดดเด่นทำแต่งาน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการสร้างชื่อเสียงให้แก่ตนเอง คนอย่างนี้หายากยิ่ง

วิจารณ์ พานิช

๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๖

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2013 เวลา 07:52 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๘๑. สมบัติส่วนตนหรือสมบัติส่วนรวม

พิมพ์ PDF

เช้าวันที่ ๒๐ ก.ค. ๕๖ ผมไปร่วมกิจกรรมของ คศน. ที่ โรงแรม บั๊ดดี้ ใกล้บ้าน เข้าไปแล้วผมตรงเข้าไปที่ลานร้านอาหาร ที่สร้างยื่นเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ ๓๐ - ๔๐ เมตร พร้อมกับถามตนเองว่า การสร้างสิ่งก่อสร้างล้ำแม่น้ำอย่างนี้ผิดกฎหมายหรือไม่

เข้าไปเห็นการสร้างพื้นที่ปลูกผักตบชะวา ผมถามตนเองว่า นี่คือวิธีสร้างความตื้นเขินของแม่น้ำ เพื่อให้ที่ดินของตนงอก ใช่หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ และหากไม่ผิดกฎหมาย ผิดหลักการการอยู่ร่วมกันอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เน้นการมีพื้นที่สาธารณะไว้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือไม่

ผมบอก อ. หมอเฮ้าส์ ผู้จัดการโครงการ คศน. ว่าไม่ควรไปใช้บริการโรงแรมนี้ เพราะบุกรุกที่สาธารณะ ท่านบอกว่า หาที่ประชุม คศน. ยากขึ้นทุกวัน ครั้งก่อนก็ไปเจอการบุกรุกป่า พื้นที่ภูเขา คราวนี้บุกรุกแม่น้ำ ต่อไปสงสัยจะหาที่ประชุม คศน. ไม่ได้ 
จิตสาธารณะของผู้คนในสังคมไทย อยู่ในสภาพเข้มข้นหรืออ่อนแอ ระดับใด???!!!

ทำให้ผมได้โจทย์วิจัย เรื่อสถานภาพริมฝั่งแม่น้ำ กับการปฏิบัติตามกฎหมาย ที่น่าจะให้นักเรียนชั้นประถมปลายทำ เพื่อสร้างสำนึกสาธารณะ และเพื่อเรียนรู้ ๘ หน่วยสาระ

 

วิจารณ์ พานิช
๒๑ ก.ค. ๕๖

 

ร้านยื่นเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยา

 

ถ่ายจากบนร้าน ให้เห็นว่ามันยื่นเข้าไปในแม่น้ำเพียงใด

 

แปลงผักตบชะวา

 

ถ่ายให้เห็นวิธีกันพื้นที่ ที่ควรจะเป็นที่สาธารณะ

 

 

ร้านอาหารใหญ่โตมาก

 

 

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2013 เวลา 07:57 น.
 


หน้า 451 จาก 557
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5603
Content : 3043
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8591174

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า