Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๘๑. สมบัติส่วนตนหรือสมบัติส่วนรวม

พิมพ์ PDF

เช้าวันที่ ๒๐ ก.ค. ๕๖ ผมไปร่วมกิจกรรมของ คศน. ที่ โรงแรม บั๊ดดี้ ใกล้บ้าน เข้าไปแล้วผมตรงเข้าไปที่ลานร้านอาหาร ที่สร้างยื่นเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ ๓๐ - ๔๐ เมตร พร้อมกับถามตนเองว่า การสร้างสิ่งก่อสร้างล้ำแม่น้ำอย่างนี้ผิดกฎหมายหรือไม่

เข้าไปเห็นการสร้างพื้นที่ปลูกผักตบชะวา ผมถามตนเองว่า นี่คือวิธีสร้างความตื้นเขินของแม่น้ำ เพื่อให้ที่ดินของตนงอก ใช่หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ และหากไม่ผิดกฎหมาย ผิดหลักการการอยู่ร่วมกันอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เน้นการมีพื้นที่สาธารณะไว้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือไม่

ผมบอก อ. หมอเฮ้าส์ ผู้จัดการโครงการ คศน. ว่าไม่ควรไปใช้บริการโรงแรมนี้ เพราะบุกรุกที่สาธารณะ ท่านบอกว่า หาที่ประชุม คศน. ยากขึ้นทุกวัน ครั้งก่อนก็ไปเจอการบุกรุกป่า พื้นที่ภูเขา คราวนี้บุกรุกแม่น้ำ ต่อไปสงสัยจะหาที่ประชุม คศน. ไม่ได้ 
จิตสาธารณะของผู้คนในสังคมไทย อยู่ในสภาพเข้มข้นหรืออ่อนแอ ระดับใด???!!!

ทำให้ผมได้โจทย์วิจัย เรื่อสถานภาพริมฝั่งแม่น้ำ กับการปฏิบัติตามกฎหมาย ที่น่าจะให้นักเรียนชั้นประถมปลายทำ เพื่อสร้างสำนึกสาธารณะ และเพื่อเรียนรู้ ๘ หน่วยสาระ

 

วิจารณ์ พานิช
๒๑ ก.ค. ๕๖

 

ร้านยื่นเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยา

 

ถ่ายจากบนร้าน ให้เห็นว่ามันยื่นเข้าไปในแม่น้ำเพียงใด

 

แปลงผักตบชะวา

 

ถ่ายให้เห็นวิธีกันพื้นที่ ที่ควรจะเป็นที่สาธารณะ

 

 

ร้านอาหารใหญ่โตมาก

 

 

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2013 เวลา 07:57 น.
 

การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม : หัวใจอุดมศึกษา : ๒๐. AAR

พิมพ์ PDF

บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ The Heart of Higher Education : A Call to Renewal เขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmer และ Arthur Zajonc ซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit) หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (Transformative Learning)


แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย


ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้ ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษา เข้าสู่การศึกษากระแสหลัก เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนา บูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ ๒ แบบ ว่า (๑) การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้ บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช (๒) เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรืองอกงาม ภายในตน ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดความรู้มาจากภายนอก

บันทึกตอนที่ ๒๐ นี้ เป็นตอนจบสำหรับการตีความหนังสือเล่มนี้ เป็นบันทึกสะท้อนความคิด (reflection) หรือ AAR ว่าผมเรียนรู้อะไรจากการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้

ผมบอกตัวเองว่า ความคิดที่ยึดถือกันตลอดมา ว่าการศึกษาทางโลกกับทางธรรมเป็นเรื่องแยกกัน เป็นคนละสิ่ง นั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด เรื่องราวและวิธีการตามในหนังสือเล่มนี้บอกเราว่า มีวิธีการเรียนรู้ เพื่อให้คนเราเรียนรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมไปพร้อมๆ กัน การเรียนรู้สองสายนี้ไม่แยกกัน แต่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน

ที่สำคัญอย่างยิ่ง การเรียนรู้สองสายนี้ไม่ขัดกัน ไม่ทำให้การเรียนรู้อีกสายหนึ่งด้อยลง และการเรียนรู้ทางธรรมนี้ ไม่จำกัดศาสนาหรือความเชื่อ ไม่ต้องบวชเป็นพระ

ในศตวรรษที่ ๒๑ การเรียนรู้มาบรรจบกันที่การฝึก ฝึกฝนตนเองด้วยการปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุทักษะชุดหนึ่ง ที่เรียกว่าทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ทักษะนี้มีความซับซ้อน แต่ฝึกไม่ยากเกินศักยภาพของมนุษย์ กล่าวใหม่ว่า คนที่มีสติปัญญาปานกลางทั่วๆ ไปฝึกได้ ฝึกแล้วจะมีสติปัญญาดีกว่าคนในสมัยปัจจุบันเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สติปัญญาที่จะดำรงชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันและอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง เอาแน่เอานอนไม่ได้ และเป็นโลกแห่งมายาความเย้ายวนล่อหลอก

การศึกษาในทุกระดับ ต้องเรียนรู้ให้เกิดพัฒนาการพร้อมกัน ๔ ด้าน คือด้านปัญญา (wisdom/cognitive), ด้านสังคม (social), ด้านอารมณ์ (emotional), และด้าน จิตวิญญาณ (spiritual) หรือจะเติมด้านที่ ๕ คือ พัฒนาการทางกาย (physical) ด้วยก็ได้ รวมเป็นการเรียนรู้บูรณาการ (Integrative Learning) หรือการเรียนรู้แบบงอกงาม/พัฒนา จากภายในตน (Transformative Learning)

การเรียนรู้แบบนี้ ทำโดยผู้เรียนลงมือทำ และคิดไตร่ตรอง (Learning by Doing) ครูทำหน้าที่สำคัญยิ่งกว่าการถ่ายทอดความรู้ คือทำหน้าที่ “ครูฝึก” /โค้ช ตรวจสอบระดับความรู้เดิมและจริตของศิษย์ และออกแบบกิจกรรมให้ศิษย์ลงมือทำ ให้ทั้งท้าทายและสนุก เมื่อทำได้สำเร็จเกิดความภาคภูมิใจ กระตุ้นให้อยากเรียนรู้ต่อเนื่อง

กิจกรรมที่ นศ. ลงมือทำ มีทั้งที่เน้นเป้าหมายพัฒนาปัญญา (cognition) เป็นหลัก และที่เน้นพัฒนาจิตตปัญญา (ethics, emotion, spiritual) เป็นหลัก แต่ไม่ว่าเน้นพัฒนาการด้านใด จะมีการเรียนรู้บูรณาการอยู่ด้วยเสมอ การเรียนรู้ส่วนที่เน้นปัญญา เมื่อตามด้วยกิจกรรมทบทวนไตร่ตรองใคร่ครวญ (reflection) หรือ AAR ครูจะสามารถนำหรือเอื้ออำนวย (facilitate) กระบวนการ ให้ นศ. เกิดการเรียนรู้ด้านใน (จิตตปัญญา) บูรณาการไปในเวลาเดียวกันได้เสมอ 
ทักษะของครูในศตวรรษที่ ๒๑ จึงเปลี่ยนจากทักษะในการถ่ายทอดความรู้ ไปสู่ทักษะในการเอื้ออำนวย หรือเป็นครูฝึก ให้ นศ. เกิดการเรียนรู้ที่ลึก เชื่อมโยง และครบด้าน

เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เช่นนี้ได้จริง สถาบันอุดมศึกษาต้องเปลี่ยนไปเป็น “ชุมชนเรียนรู้” (Learning Community) ที่ทั้งครูและ นศ. เรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ ชุมชนของครู ร่วมกันเรียนรู้ทักษะในการทำหน้าที่ครูในศตวรรษที่ ๒๑ ชุมชนเรียนรู้ของครู เรียกว่า PLC (Professional Learning Community) บรรยากาศของสถาบันอุดมศึกษาเป็นบรรยากาศที่เปิดกว้าง เปิดรับ และเคารพความแตกต่างหลากหลาย และเรียนรู้จากความแตกต่างหลากหลายนั้น เพราะความแตกต่างหลากหลายเป็นธรรมชาติของโลกและสังคมยุคปัจจุบัน ยิ่งโลกถึงกันจากกระบวนการโลกาภิวัตน์ สังคมยิ่งแตกต่างหลากหลายยิ่งขึ้น มนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องมีทักษะที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในท่ามกลางความแตกต่างนั้น

โลก และความก้าวหน้าของวิทยาการในศตวรรษที่ ๒๑ ได้เผยให้เราเห็นความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันของสรรพสิ่ง รวมไปถึงจักรวาล การเรียนรู้ที่แท้จริงของมนุษย์จึงต้องเลยไปจากการเรียนรู้ที่ครอบงำด้วยกระบวนทัศน์ “มนุษย์เป็นศูนย์กลาง” (Anthropocentric) ไปสู่กระบวนทัศน์ความสัมพันธ์กันเป็นเครือข่าย ไม่มีศูนย์กลาง หรือมองศูนย์กลางเป็นสมมติ

ตามแนวทางของ “ศาสตร์ด้านการเรียนรู้” (Cognitive Psychology) สมัยใหม่ ความรู้เป็นสมมติ การรู้ของคนๆ หนึ่ง จะไม่เหมือนการรู้ของคนอื่น แม้จะผ่านประสบการณ์หรือกิจกรรมเดียวกัน คือการรู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตน งอกงามพัฒนาขึ้นจากภายในตน ไม่ใช่รับถ่ายทอดจากภายนอก

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๒ ก.พ. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2013 เวลา 08:02 น.
 

ปฏิรูปเริ่มที่นักการเมือง

พิมพ์ PDF

ปฏิรูปเริ่มที่นักการเมือง

นสพ.ไทยรัฐฉบับวันที่ ๒๘ ส.ค. ๕๖ ลงบทรรณาธิการหน้า ๓ เรื่อง ปฏิรูปเริ่มที่นักการเมือง

อ่านได้ ที่นี่

และลงบทความ ในคอลัมน์หมายเหตุประเทศไทย โดย ลม เปลี่ยนทิศ เรื่อง จากปฏิรูปการเมือง สู่งานใหญ่ปฏิรูปประเทศ อ่านได้ ที่นี่

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ส.ค. ๕๖

บนเครื่องบินกลับจากเชียงใหม่

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

KM วันละคำ : 604. ถามเพื่อให้ได้สารสนเทศที่ลึก "หนึ่งคำถาม หวังได้หลายคำตอบ"

พิมพ์ PDF

ผมได้ความรู้เชิงทฤษฎีว่าด้วยการตั้งคำถาม ว่ามีทั้งวิธีตั้งคำถามเพื่อให้ได้สารสนเทศ (information) ทั่วๆ ไป ที่เป็นสารสนเทศเชิงเส้นตรง (linear information) หรือคำถามที่มีคำตอบที่ถูกต้องคำตอบเดียว กับวิธีตั้งคำถาม เพื่อให้ได้สารสนเทศที่ซับซ้อน หนึ่งคำถามมีได้หลายคำตอบ ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป ไม่มีคำตอบที่มีอยู่แล้วล่วงหน้า ต่อเมื่อมีคำถาม คำตอบจึงโผล่ออกมา

KM วันละคำ : 604. ถามเพื่อให้ได้สารสนเทศที่ลึก "หนึ่งคำถาม หวังได้หลายคำตอบ"

นี่คือเทคนิค KM แนวลึก ที่เป็น KM แบบเน้นความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ที่เป็นความรู้หลายชั้น หลายมิติ มีบริบทที่แตกต่างหลากหลาย

ในยุคปัจจุบัน คำว่า "จัดการความรู้" กลายเป็นแฟชั่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้ฟังเรื่องราวของกระทรวงหนึ่ง ที่มีแผนปฏิรูปการทำหน้าที่ของกระทรวง เปลี่ยนมาทำหน้าที่ "จัดการความรู้" เพื่อกำหนดนโยบายชาติ ตามประเด็นที่เป็นหน้าที่ ผมฟังแล้วถามตัวเองว่า เขามีเป้าหมายที่ "ความรู้" แบบไหน ความรู้แจ้งชัดเท่านั้น หรือรวมทั้งความรู้ฝังลึกด้วย และมีเป้าหมายให้ความรู้มันไหลเวียนแบบมีลำดับขั้น (heirarchy) หรือให้มันไหลเวียนได้หลากหลายทิศทางโดยอิสระ

การจัดการความรู้มีหลายแบบ บางแบบเป็นคล้ายพิธีกรรม และบางแบบเน้นที่ความรู้ที่เป็นเส้นตรง และเป็นความรู้ระนาบเดียวหรือชั้นเดียว การจัดการความรู้ที่ผมหมั่นฝึกฝน คือการจัดการความรู้หลายระนาบ หลายชั้น หลายมิติ หลายมุมมอง ไม่มีลำดับชั้น ไม่ชัดเจน ผลุบๆ โผล่ๆ ไม่เสถียร

จากหนังสือ The Inquiring Organization : Tacit Knowledge, Conversation, and Knowledge Organization : Skills for 21st Century Organizations ผมได้ความรู้เชิงทฤษฎีว่าด้วยการตั้งคำถาม ว่ามีทั้งวิธีตั้งคำถามเพื่อให้ได้สารสนเทศ (information) ทั่วๆ ไป ที่เป็นสารสนเทศเชิงเส้นตรง (linear information) หรือคำถามที่มีคำตอบที่ถูกต้องคำตอบเดียว กับวิธีตั้งคำถาม เพื่อให้ได้สารสนเทศที่ซับซ้อน หนึ่งคำถามมีได้หลายคำตอบ ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป ไม่มีคำตอบที่มีอยู่แล้วล่วงหน้า ต่อเมื่อมีคำถาม คำตอบจึงโผล่ออกมา

หนังสือเล่มนี้บอกว่าคำถามแนวดังกล่าวเรียกว่า systemic questions ซึ่งแยกออกเป็นแบบย่อยได้ ๓ แบบ คือ

1. คำถามเป็นวงกลม (Circular Questions)

2. คำถามเชิงอนาคต (Future Oriented Questions)

3. คำถามกลับ (Reflexive Questions)

เมื่อวันที่ ๙ ส.ค. ๕๖ ผมไปเห็นวิธีเรียน systems thinking ของนักเรียน ม. ๒ โรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีครูไสว อุ่นแก้ว ทำหน้าที่ "คุณอำนวย" โดยการร้องเพลง ฝนเอยทำไมจึงตก เป็นการส่งสัญญาณแก่ตนเองให้คิดแบบมีเหตุผล และอย่างเป็นระบบ หรืออย่างเข้าใจทัปปัจยตา ซึ่งก็คือการคิดอย่างเป็นวงกลม นั่นเอง

คำถามเพื่อให้ได้สารสนเทศที่ลึก เป็นคำถามกระตุ้นปฏิสัมพันธ์เชิงบวก เชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้ความรู้ที่อยู่ลึกๆ หรือลึกมากๆ ออกมา

จะเห็นว่า KM แนวลึก มีอยู่แล้วรอบๆ ตัวเรา หรือกล่าวใหม่ว่า ความรู้ที่มีพลัง ที่ซับซ้อน ที่ไม่มีในตำรา มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวันรอบๆ ตัวเรานั่นเอง อยู่ที่เรารู้จักใช้หรือไม่

การฝึก KM ที่มีพลัง คือการฝึกตั้งคำถาม ฝึกจนติดเป็นนิสัย ที่จะตั้งคำถามเพื่อให้ได้สารสนเทศที่ลึก ให้เปิดช่องสู่มุมมองใหม่ หลายๆ มุมมอง ไม่ใช่คำถามแบบเส้นตรง ที่ต้องการ "คำตอบที่ถูกต้อง" คำตอบเดียว

KM ที่มีพลัง คือ KM แบบเปิดช่อง เปิดโอกาส ให้ความรู้ที่หลากหลายปรากฏตัวเออกมา

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ส.ค. ๕๖

บนเครื่องบินไปนครศรีธรรมราช

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 28 สิงหาคม 2013 เวลา 17:42 น.
 

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของไทยในยุคปัจจุบัน ควรมีรูปแบบและวิธีการอย่างไร

พิมพ์ PDF

คุณขวัญชนก ลีลาวณิชไชย แห่ง สกว. ผู้รับผิดชอบทำจดหมายข่าว ประชาคมวิจัย ตั้งโจทย์ “การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของไทยในยุคปัจจุบัน ควรมีรูปแบบและวิธีการอย่างไร” ให้ตอบครึ่งหน้ากระดาษ

ท่านที่สนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ค้นจาก อินเทอร์เน็ตได้ โดยใช้คำค้นว่า “Teaching history in the 21st century” แต่ในที่นี้ผมจะให้ความเห็นจากมุมมองของผม ซึ่งไม่รับรองว่าถูกต้อง

การศึกษาประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน ไม่ควรเน้นจำเรื่องราวเหตุการณ์ ปี พ.ศ., รัชกาล, ฯลฯ เพราะข้อความรู้เหล่านั้นหาได้ง่ายจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะจาก อินเทอร์เน็ต แต่ควรเน้นเรียนให้รู้เท่าทันว่า เรื่องราวจากบันทึกประวัติศาสตร์มีอคติ แล้วแต่ใครเป็นผู้บันทึก และผู้บันทึกชั้นต้นย่อมตีความเรื่องราว เหล่านั้นไปชั้นหนึ่งแล้ว และหากมีการคัดลอกต่อๆ กันมา เรื่องราวก็อาจจะผิดเพี้ยนไปตามการตีความ และอคติของผู้คัดลอก เรื่องราวในประวัติศาสตร์จึงไม่ได้มีไว้ ให้เรียนแบบปลงใจเชื่อไปเสียทั้งหมด 
การเรียนประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันจึงควรเรียนแบบนำเอาสาระเรื่องราวในประวัติศาสตร์จากแหล่งต่างๆ มาตีความ เพื่อทำความเข้าใจเหตุผลที่มาที่ไปของเรื่องราวในประวัติศาสตร์ โดยไม่เน้นความถูกต้อง ไม่สรุปไว้ล่วงหน้าว่าต้องตีความแบบใดจึงจะถูกต้อง เน้นการเชื่อมโยงเหตุการณ์ สาระ เพื่อให้คำอธิบายแสดงเหตุผล เพื่อฝึกฝนความคิด และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือโต้แย้งข้อสันนิษฐานต่างๆ ในประวัติศาสตร์

ทั้งนี้ ความลุ่มลึกละเอียดอ่อนของการตีความ ย่อมต้องปรับไปตามระดับวุฒิภาวะของผู้เรียน

ผมมีความคิดว่า เรื่องราวในประวัติศาสตร์ สะท้อนธรรมชาติของมนุษย์ ที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ และยังสะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างชีวิตมนุษย์กับธรรมชาติหลากหลายด้าน หากการเรียนประวัติศาสตร์ มีการตั้งคำถามความเชื่อมโยงเหล่านั้น การเรียนรู้ย่อมประเทืองปัญญาอย่างยิ่ง

การเรียนประวัติศาสตร์ควรเน้นที่การตั้งคำถาม และเน้นการมีคำตอบหลายคำตอบ

 

 

วิจารณ์ พานิช
๓๐ ก.ค. ๕๖ 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 28 สิงหาคม 2013 เวลา 17:52 น.
 


หน้า 452 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5605
Content : 3049
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8599550

facebook

Twitter


บทความเก่า