Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๔๖. หนังสือ อัตตชีวประวัติ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

พิมพ์ PDF

วันที่ ๒๘ พ.ค. ๕๖ คุณใหญ่(นงนาท สนธิสุวรรณ) มอบหนังสือ อัตตชีวประวัติ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรผมเอากลับมาอ่านที่บ้าน อ่านแล้ววางไม่ลง และอ่านจบในเย็นวันรุ่งขึ้น เพราะเป็นหนังสือแบบที่ผมชอบอ่านมาก  ให้ความรู้หลากหลายด้าน เป็นที่ตื่นตาตื่นใจมาก  ขอแสดงความขอบคุณคุณใหญ่ไว้ ณ ที่นี้

เนื่องจากเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวเก่าๆ เอ่ยชื่อคนที่เป็นบุคคลสำคัญสมัยก่อน ที่คนรุ่นเราไม่รู้จัก  คุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ บรรณาธิการ ได้จัดทำเชิงอรรถอธิบายความไว้อย่างดีมาก  ช่วยให้การอ่านออกรส และเข้าใจบริบทของเรื่องราวมากขึ้น

ผมติดใจเรื่องราวตอนที่ท่านเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ  ในสมัย ร. ๗ ซึ่งราษฎรบ้านนอกไม่นิยมส่งลูกไปโรงเรียน  ต้องการให้ลูกอยู่ช่วยงานบ้าน  ทางการต้องหาวิธีชักจูง  ทำให้ผมรำลึกถึงเหตุการณ์ในชีวิตของตัวเอง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ผมอายุ ๑๕ ปี  เรียนชั้น ม. ๕  เริ่มช่วยงานธุรกิจโรงสีที่บ้านได้อย่างเข้มแข็ง  และพ่อแม่ตั้งใจให้เรียนจบแค่ ม.​๖  แล้วอยู่ช่วยงานบ้าน  แต่ครูพิเชษฐ์ บัวลอย ครูประจำชั้น ม. ๔ และ ม. ๕ แนะนำให้ส่งผมมาเรียนต่อ ม. ๖ ที่กรุงเทพ เพื่อสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แล้วจะได้สอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้

พ่อให้ผมเลือกเอง บอกว่าถ้าอยู่ช่วยงานบ้านจะตั้งเงินเดือนให้ ๓,๐๐๐ บาท (เข้าใจว่าตอนนั้นจบปริญญาตรีเงินเดือน ๗๕๐ บาท)  โชคดีที่ผมฟังไม่รู้เรื่อง ในเรื่องเงิน (และยังฟังไม่รู้เรื่องแม้ในปัจจุบัน)  และตัดสินใจเรียนต่อ  จนเริ่มรับราชการในปี ๒๕๑๑ ได้เงินเดือน ๒,๑๕๐ บาท

ผมได้เข้าใจสภาพที่การศึกษาภาคบังคับ เป็นตัวดึงเด็กออกจากการทำงานบ้าน  และคิดย้อนกลับเข้าตัวเองอีก  ว่าผมโชคดีจริงๆ ที่สภาพความจน และการสร้างตัวสร้างฐานะของพ่อแม่ บังคับให้ผมโดนใช้งานสารพัดด้าน อย่างที่ผู้คนในหมู่บ้านสงสารผม  และเป็นที่โจษจรรกันทั่วหมู่บ้าน ว่าแม่ของผม เป็นคนที่เข้มงวดกับลูกๆ มาก มาบัดนี้ ผมเพิ่งเข้าใจว่า สภาพเช่นนั้นเองได้หล่อหลอม ให้ผมมีนิสัยอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้  และน้องๆ ของผม ต่างก็มีชีวิตที่ดีกันทุกคน

คือผมและน้องๆ ตกอยู่ในสภาพที่ ทั้งเรียนจากโรงเรียน และเรียนจากที่บ้าน  จากการทำงาน สารพัดอย่างที่บ้าน เพื่อช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน  แต่เด็กสมัยนี้โชคไม่ดีอย่างผมและน้องๆ  เขาถูกจารีตทางการศึกษา หรือถูกกระแสสังคม ที่แยกการเรียนออกจากชีวิตจริง ทำให้เขาไม่ได้เรียนจากการช่วยงานบ้าน  หรือที่บ้านของเขาไม่มีงานให้ช่วยทำ เขาจึงขาดโอกาส “เรียนจากการลงมือทำ”

หนังสือ Who Owns the Learning?บอกว่า เด็กต้องเรียนจากการลงมือทำ  ทำสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมายต่อชีวิตและต่อตัวเด็ก  โดยการทำสิ่งที่มีคุณประโยชน์ต่อผู้อื่น  เพื่อฝึกนิสัยให้เป็นคนที่มีใจเผื่อแผ่ และมุ่งทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อสังคม และ ต่อโลก

แต่สมัยผมเป็นเด็กผมก็ไม่เห็นคุณค่าของงานที่แม่มอบหมาย (และบังคับ) ให้ทำ  ผมทำด้วยความเบื่อ เพราะอยากไปเล่นอย่างเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน  เพิ่งมาเห็นคุณค่าเอาตอนแก่นี่แหละ  ว่าแม่ของผมเป็นคนล้ำสมัย โดยไม่รู้ตัว  จัดการฝึกลูกให้เรียนรู้โดยลงมือทำ โดยที่แม่ไม่มีความรู้ทางการศึกษาเลย เพราะแม่เรียนจบแค่ ป. ๔

ที่จริงแม่มีเจตนาฝึกลูกให้ทำมาหากินเป็น เอาตัวรอดในชีวิต  ไม่ได้เข้าใจเรื่องฝึก “ทักษะชีวิต” ใน 21st Century Skills อย่างที่พูดกันในปัจจุบัน  แต่ความมีเจตนาเรื่องการเรียนโดยฝึกทักษะเพื่อการทำมาหากินนั่นเอง  เป็นสิ่งที่ถูกต้องมาตั้งแต่ยุคนั้น และยิ่งถูกต้องในยุคปัจจุบัน  คือเป็นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง  และพ่อแม่มีส่วนสำคัญ  แต่คนรุ่นหลังจากผมเกือบทั้งหมดไม่มีโชคที่จะได้รับการเรียนรู้แบบนี้จากบ้าน  รุ่นลูกของผมก็ไม่ได้รับ

ผมติดใจมาก ที่เสด็จในกรมฯ ท่านสนใจเรียนรู้ความเป็นอยู่ของชาวบ้าน  ชอบเสด็จออกไปสัมผัสชีวิตของชาวบ้านโดยตรง  ไม่ใช่เอาแต่รอรับรายงานจากหน่วยงาน  ผมว่านี่คือตัวอย่างของการบริหารงานแบบเอาใจใส่ “ผู้รับบริการ”  พยายามทำความเข้าใจจากมุมมอง ของชาวบ้าน ที่เป็นผู้รับผลโดยตรง  ไม่ใช่คิดเอาเอง และสั่งการแบบ top down  จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วตีความมุมของการเรียนรู้ ผมคิดว่า เสด็จในกรมฯ ทรงมี empathy skills สูงมาก   ผมเดาว่า การเลี้ยงดูกล่อมเกลาโดยย่าของท่าน (ท้าววรจันทร์) น่าจะมีส่วนสร้างลักษณะนิสัยนี้

ในตอนท้ายของหนังสือ (หน้า ๒๗๙) ทรงเล่าเรื่องเสด็จไปประชุมที่เมือง แอนน์ อาร์เบอร์ รัฐมิชิแกน ของสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.​๒๕๑๐  ทำให้ผมระลึกได้ว่า ตอนนั้นผมเรียนปริญญาโทอยู่ที่นั่น  และได้มีโอกาสเข้าเฝ้าร่วมกับนักเรียนไทยที่นั่นจำนวนประมาณ ๕๐ คน  จำได้ว่า ท่านมีลักษณะเป็นผู้ใหญ่ใจดี  นักวิชาการที่เชิญท่านไปประชุมชื่อ ศาสตราจารย์ วิลเลียม เก็ดนีย์ จำได้ว่าท่านเสด็จไปที่บ้านศาสตราจารย์เก็ดนีย์ และพวกเราไปเฝ้าท่านที่นั่น   ท่านศาสตราจารย์เก็ดนีย์มีภรรยาเป็นคนไทย

อ่านจบก็เห็นสัจธรรมในชีวิตคน ว่ามีขึ้นมีลง  ทรงได้ทรงกรม และเป็นเสนาบดี ตั้งแต่อายุน้อย เพราะความสามารถ  แล้วก็ “ตกงาน” เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  แต่ความที่ท่านเป็นข้าราชการฝ่ายบุ๋น ไม่มีอำนาจเป็นพิษเป็นภัยต่อผู้ใด  จึงไม่ถึงกับต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ  และความเป็นนักวิชาการของท่าน ก็ได้ช่วยให้ท่านได้ใช้ช่วงเวลา “ตกงาน” อยู่สิบกว่าปี สร้างสรรค์ผลงานเป็นอันมาก  ผมได้เรียนรู้ตัวอย่างบุคคลที่มี resilience ในการดำรงชีวิต

ผมรู้สึกว่า ทรงนิพนธ์หนังสือนี้แบบ “ยั้งมือ” คือไม่เขียนเรื่องที่จะกระทบคนอื่น  ซึ่งเป็นคุณลักษณะของพระองค์ท่าน   แต่น่าเสียดายที่คนไทยเรามีวัฒนธรรมไม่เขียนเรื่องราวที่ซับซ้อนไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้  เนื่องจากเกรงกระทบคนอื่น

ผมเสียดาย ที่ทรงเล่าเรื่องการศึกษาน้อยเกินไป  มิฉนั้น ผมจะได้เอามาตีความทำความเข้าใจวิวัฒนาการ ของการศึกษาไทยได้มากกว่านี้  โดยที่เท่าที่ทรงเล่าว่า เริ่มเห็นข้อจำกัดของการศึกษาเพื่อสร้างคนไปรับราชการ ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนระบอบการปกครอง  ทรงมีนโยบายส่งเสริมอาชีวศึกษา  แต่ผมเดาว่านโยบายนี้ไม่ต่อเนื่อง

แต่ที่ผมติดใจมากที่สุดในเรื่องระบบการศึกษา และพระองค์ท่านก็ไม่ทรงเอ่ยถึง  คือการที่ระบบการศึกษาของเรา แยกตัวออกจากชีวิตจริงของเด็ก  มองการศึกษากับการช่วยงานพ่อแม่ เป็นเรื่องแยกกัน  หรือไม่มีบทเรียนที่ใช้ฐานการทำงานช่วยงานพ่อแม่ เป็นกิจกรรมเรียนรู้  แต่ตอนนี้ เราจะต้องเรียกเอาแนวคิดนี้กลับคืนมา  ครูจะต้องฝึกทักษะเป็นโค้ช ฝึกให้เด็กได้เรียนรู้จากการทำงาน หรือการลงมือทำในบริบทต่างๆ รวมทั้งการช่วยพ่อแม่ทำงาน เพื่อการทำมาหากิน  เรียนรู้ทฤษฎีให้รู้จริง จากการลงมือปฏิบัติหลากหลายบริบท  รวมทั้งบริบทช่วยงานพ่อแม่

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๙ พ.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/541756

 

 

 

โครงการ DFC3 : ๒. วันแรก : เดินทาง เที่ยว และกิน

พิมพ์ PDF

วันที่ ๒๒ พ.ค. ๕๖ ผมเข้าร่วมกิจกรรม DFC3 Orientation จัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ

DFC ย่อมาจาก Dean for Change รุ่นนี้เป็นรุ่น ๓  จัดเพื่อเตรียมคนเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย ระดับคณบดี  ที่มีหัวใจ จิตใจ และทักษะการบริหารการเปลี่ยนแปลง

จากการเข้าร่วมประชุมวันนี้ ผมเห็นชัดเจนว่าการดำเนินการหลักสูตรนี้เข้มข้น และมีคุณภาพสูงมาก  โดย keyword ของหลักสูตรคือ change, internationalization, และ collaboration  และในวันนี้มีการฝึกเทคนิค ๒ อย่าง เพื่อใช้ในกิจกรรมร่วมกันตลอดหลักสูตร  คือ storytelling และ gallery walk ผมได้คุยกับทีมของคลังสมองและทราบว่า ตอนไปดูงานที่เยอรมัน ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๔ มิ.ย. ๕๖จะใช้เครื่องมือ AAR ด้วย  โดยทำกันบนรถระหว่างเดินทาง   ทีมของสถาบันคลังสมองได้เตรียมข้อมูลไว้อย่างดี  ว่าการเดินทางช่วงต่างๆ ในเยอรมันมีเวลาเท่าไร  จะใช้ประโยชน์ของเวลาให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ร่วมกันโดยทำ AAR

ผู้เข้าร่วมหลักสูตรมี ๑๘ คน จาก ๑๑ มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยที่ส่งคนเข้าร่วมมากที่สุดคือ มข. ๓ คน  มาจากคณะวิทยาการจัดการคณะเดียว  มีวิทยากรเดินทางไปเยอรมันด้วย ๔ คน ผมเป็นคนหนึ่งในนั้น

ในวันปฐมนิเทศนี้ ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ผอ. สถาบันคลังสมองได้เกรินนำขั้นตอนของกระบวนการเปลี่ยนแปลง ๘ ขั้นตอนของ Kotler  เป็นการเรียนทฤษฎีแบบเกริ่นนำ  ให้ไปค้นคว้าเองต่อ   แล้วไปดูตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัย ๗  แห่งในเยอรมัน  แล้วจึงกลับมาทำ “แบบฝึกหัด” ของตนเอง เรียกว่า PAP (Program Action Plan)  ตามด้วยการนัดหมายมารวมตัวแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

ในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๖ จะมีรายการ Learn and Share ใช้เวลา ๕ วัน  เพื่อเรียนรู้ change module ที่สำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยไทย รวม ๖ หน่วย  โดยจะมีรายการไปดูงานที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์  และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วย  เป็นการเสริมความรู้เชิงทฤษฎี และตัวอย่าง  สำหรับให้ผู้เข้าหลักสูตรได้นำไปใช้ปฏิบัติจริงใน PAP  รายการ PAP นี้ จะมีการทำงานต่อเนื่อง จนมี  Final Conference วันที่ ๙ - ๑๐ ม.ค. ๕๗

ผมมีความรู้สึกหลังฟังรายละเอียดของการเดินทางไป study visit ที่เยอรมันว่า  เป็นการเดินทางที่มีการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เข้มข้นมาก  ในขณะเดียวกัน ก็จัดให้มีทัศนศึกษา และมีเวลาให้ช็อปปิ้งด้วย  และที่พักที่กินก็ดีมาก คือได้เรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมด้วย

ต่อไปนี้เป็นบันทึกระหว่างเดินทางจริงๆ ที่ผมใช้ iPad Mini บันทึกเป็นระยะๆ


วันที่ ๘ - ๙ มิ.. ๕๖

เราเดินทางโดย TG 920 เครื่องบิน A380-800 ซึ่งมี ๒ ชั้น ชั้นหนึ่งกับชั้นธุรกิจอยู่ชั้นบน  เวลาขึ้นเครื่องเดินเข้างวงก็แยกทางกัน  ทางไปชั้นบนก็ค่อยๆ ลาดขึ้น  ไม่ใช่เป็นสองชั้นแบบเครื่องบินจัมโบ้ โบอิ้ง 747  ผมเข้าใจว่า เครื่องบิน A380 ไม่มีบันไดติดต่อระหว่างชั้นบนกับชั้นล่าง  เดาว่าแยกขาดจากกัน

ชั้นธุรกิจจัดที่นั่งเป็นแถว 2-2-2 โดยมีที่นั่งริมหน้าต่างด้านละ ๒ ที่ เพราะจัดที่นั่งด้านริมหน้าต่างให้เหลื่อมกัน  แต่ละที่นั่งออกสู่ทางเดินได้เหมือนกัน  ดังนั้นวิธีเลือกที่นั่งจึงควรเลือกที่นั่งริมหน้าต่างจะดีกว่า  เพราะออกไปเข้าห้องน้ำง่ายเหมือนนั่งที่นั่งตรงกลาง อย่าง 15F ที่ผมได้รับ  แต่ได้ความเป็นส่วนตัวมากกว่า คือไม่มีคนนั่งข้าง  รวมทั้งมีที่เก็บของข้างๆ ที่นั่งด้านในด้วย

ที่นั่งมีการออกแบบตำแหน่งระหว่างที่นั่งตัวหน้ากับตัวหลังให้สลับหรือเหลื่อมกัน  เพื่อให้ได้พื้นที่เหยียดขา  เมื่อปรับนอนก็จะราบ ดีกว่า A340 ที่ผมนั่งไปซูริกเมื่อเดือนที่แล้ว ที่เอนได้เพียงเกือบราบ  แต่อย่างไรก็ตาม ที่นอนมันแคบหน่อย คนตัวโตๆ ยังรู้สึกคับแคบ  คนที่นั่งข้างผมตัวโต ผมก็ตัวโต ต้องระมัดระวังไม่ไห้พลิกตัวไปโดนกัน

อาหารที่เลี้ยง (ตอนตีหนึ่ง) ก็คล้ายๆ กันกับของการบินไทยเที่ยวอื่นๆ  วันนี้ผมกินปลาปรุงแบบฝรั่งซึ่งผมไม่ได้จดชื่อไว้ อร่อยอย่างที่ไม่เคยกินมาก่อน  ไวน์แดงก็อร่อยอย่างเดิม  แต่ของหวานซึ่งเป็นชีสเค้ก ไม่อร่อย หวานเกินไป

ผมนอนแล้วตื่นขึ้นมาดื่มน้ำ เพราะคอแห้ง และไปถ่ายปัสสาวะ 3-4 ครั้ง รวมนอนได้ ๖ ชั่วโมง  แปลกมากที่เดินทางคราวนี้ผมคอแห้งมาก  สิ่งที่ต้องระวังคือ เบาหวานกำเริบ

เครื่องบินใหม่ เทคโนโลยีหลายอย่างก็ใหม่  เราได้เห็นความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชัดเจน  ในส่วนที่สัมผัสกับผู้โดยสาร และในส่วนที่เราไม่ได้สัมผัส  จอสื่อสารตรงหน้าที่นั่งใหญ่ หูฟังคุณภาพสูง เพลงเพราะ  และมีที่ชาร์จไฟด้วย UBS  และเสียบ iPhone หรือ thumb drive ของเรา ดูหนัง  ฟังเพลงได้  แต่ผมทดลองเสียบ thumb drive เพื่อดูหนังแล้ว ไม่เก่งอย่างที่คิด หรืออาจเพราะผมใช้ไม่เป็นก็ได้

เมื่อลงเครื่องบินที่แฟรงค์เฟิร์ต ต้องไปผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง  แล้วผ่านการตรวจความปลอดภัย  เครื่องตรวจของเยอรมันเขาละเอียดมาก  ขนาดผมเอาของออกจากตัวหมดแล้ว มันก็ยังร้อง  ต้องไปตรวจตัวอย่างละเอียด  และถอดรองเท้าตรวจอย่างละเอียดมาก  ในที่สุดก็พบจำเลย 2 อย่าง คือซิปกางเกง กับแปรงซอกฟันอันเล็กๆ ที่มีแกนเป็นเหล็ก

ในกระเป๋าถือขึ้นเครื่องมีของที่เป็นโลหะหลายอย่าง  เขารอเปิดตรวจ  เจ้าหน้าที่บอกให้ผมเปิด ผมตอบว่ายูเปิดก็ได้  เขายืนยันว่าผมต้องเป็นผู้เปิด  ซึ่งตรวจแล้วก็ผ่านด้วยดี

แต่ผมไปนึกขึ้นได้ตอนอยู่บนเครื่องบิน บินจากแฟรงค์เฟิร์ต ไปเบอร์ลิน ว่าผมลืมหยิบ MacBook Air มาด้วย  ทิ้งไว้บนสายพานตรวจนั่นเอง

สนามบิน แฟรงค์เฟิร์ต ผมคุ้น เพราะ transit บ่อยในปีก่อนๆ เพื่อไปเจนีวา  ดังบันทึกนี้ ในที่สุดผมไปถึง Gate A21 เพื่อขึ้นเครื่องบินไปเบอร์ลิน ก่อนคนอื่นๆ

บินชั่วโมงเดียว สายการบินลุฟท์ฮันซ่า เครื่อง Airbus A321 ผู้โดยสารเต็มลำ  ถึงเบอร์ลิน  คุณทานาส มิเชล ไกด์ของบริษัททัวร์ มารับ พาไปขึ้นรถบัสคันใหญ่ ไปชม Charlottenburg Palace โดยมีไกด์เยอรมันอธิบาย  พาไปชมสวนก่อน  แล้วไปชมบางห้องของวัง  ซึ่งเริ่มต้นด้วยวังเล็กๆ เพื่ออยู่ส่วนตัว  แต่ในที่สุดก็ถูกใช้เป็นพระราชวังเพื่อแสดงอำนาจ  มีห้องที่สร้างให้โอ่อ่าอวดมั่งมีของ กษัตริย์ปรุสเซีย

ในสวนมีต้นไม้เมืองร้อนจำนวนหนึ่งปลูกในกระถางใหญ่ เช่นส้มจีน  ในฤดูหนาวต้องย้ายไปอยู่ในห้องกระจกปรับอุณหภูมิ  ไกด์บอกว่าต้นไม้เหล่านี้อายุ ๔๐​ปี เป็นคล้ายๆ บอนไซ ออกลูกด้วย

เรามีเวลาชั่วโมงเศษ สำหรับชมวังและสวน  ตอนเราไปถึงบริเวณลานหน้าวังก่อน ๑๐ น. ไม่มีคนเลย จนแปลกใจว่าเหมือนวังร้าง  แต่ตอนเข้าไปชมในวังก็พบว่ามีนักท่องเที่ยวเข้าชมเป็นกลุ่มๆ มากมายขวักไขว่  และเมื่อออกมาที่ลานหน้าวังตอนขากลับ เวลา ๑๒ น. ก็ตกใจที่มีคนเต็มไปหมด

ผมขอให้คุณทานาสไกด์ ช่วยติดต่อสนามบินแฟรงค์เฟิร์ต ติดตามของหาย คือ MacBook Air  จากคำพูดของเขาทำให้ผมนึกได้ว่า หากไม่มีไกด์ช่วยเหลือ ขากลับผมสามารถไปสอบถามที่ สนง. Loss & Found ของสนามบินได้

กลับมาที่โรงแรม Streigenberger Berlin แล้วเดินไปดูลาดเลาถนนใหญ่ ที่สามารถเดินไปตลาดเพื่อ ช็อปปิ้งได้ สินค้าราคาไม่แพง  แล้วเดินกลับมากินอาหารที่ภัตตาคารใกล้ๆ โรงแรมชื่อ La Sepia  เป็นอาหารเยอรมัน ที่ใช้ได้ แต่อร่อยไม่เท่า Bei Otto ที่ผมเพิ่งไปกินเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  เมื่อผมเอ่ยว่าผมชอบรสอาหารของภัตตาคารเยอรมันที่สุขุมวิทซอย ๒๐ มากกว่า ศ. ดร. ศันสนีย์ไชยโรจน์ ก็เอ่ยชื่อ bei Otto และบอกว่าไปกินบ่อย เพราะอยู่ใกล้บ้าน

ที่จริงร้านอาหาร La Sepia เขาขึ้นป้ายว่าเขาเก่งด้านปลาย่าง  แต่ผมไม่ได้สังเกต  (มาสังเกตตอนเดินออกกำลังผ่านในเช้าวันรุ่งขึ้น)  ผมจึงไม่ได้สั่งปลา แต่สั่งเนื้อแกะ กินกับไวน์แดง  ซึ่งผมคิดว่าเป็นไวน์ธรรมดาๆ ไม่อร่อย  หลังจากนั้นผมจึงถือหลัก “มาเมืองเบียร์ต้องดื่มเบียร์”

ระหว่างกินอาหารผมถาม ผศ. ดร. ชลทิศ เอี่ยววรวุฒิกุล คณบดีคณะวิศว ม. ศรีปทุม เรื่องบัณฑิตของมหาวิทยาลัยกับการหางาน  ท่านบอกว่าไม่มีปัญหา  เพราะมหาวิทยาลัยร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจใกล้ชิดมาก  เชิญเขามาออกแบบหลักสูตร และส่ง นศ. ไปฝึกงาน  เมื่อจบก็ได้งาน  โดยหลักสูตรของ ม. เอกชนเน้นปฏิบัติ ไม่ใช่ทฤษฎี

ตอนเย็นก่อนออกไปนั่งเรือเที่ยว คุณทานาส ก็มาบอกข่าวดีว่าทางสนามบินเก็บ MacBook Air ไว้ให้แล้ว  เราตกลงกันว่า ไปรับวันกลับเลย

16.15 น. ล้อหมุน จากโรงแรมรถบัสคันเล็กนั่งได้ 22 คนพอดี พาเราไปที่ท่าเรือ  รอขึ้นเรือที่เหมาลำเฉพาะกลุ่มพวกเรา  พาล่องแม่น้ำ Spree ฟังเทปบรรยายอาคารสถานที่สองฝั่งแม่น้ำ  สิ่งที่ตื่นตาตื่นใจคือมีที่พักผ่อนหย่อนใจสองฝั่งคลองมากมาย  และการสร้างอาคารที่ทำการของนายกรัฐมนตรีอาคารใหม่ออกแบบได้งดงามทันสมัย เป็นศิลปะยุคใหม่  และได้เห็นว่า ในยุคแบ่งเบอร์ลินเป็นฝั่งตะวันออกกับตะวันตกนั้น แม่น้ำกั้นเพียงแคบนิดเดียว

เมืองเบอร์ลินจึงมีทั้งส่วนที่เป็นเมืองเก่า และส่วนที่เป็นเมืองใหม่  ยังมีการก่อสร้างอีกมากมาย  เห็นเครนก่อสร้างเต็มไปหมด

นั่งเรือกลับไปกลับมา ๑ ชั่วโมง กลับมาขึ้นท่าเดิม แล้วเดินไปที่อาคารรัฐสภาท่ามกลางสายฝนพรำ ผ่านบริเวณที่นั่งเรือผ่าน ได้เห็นวิวงามจากบนฝั่ง  ไปกินอาหารเย็นที่ภัตตาคาร Kaefer บนระเบียงของอาคารโดมของรัฐสภา  อาหารหลักเป็นปลา อร่อยทีเดียว แต่ก็ยังสู้ bei Otto ไม่ได้

กินอาหารเย็นเสร็จ เดินลงมาโดนฝนหนักกว่าขามา แต่ก็เดี๋ยวเดียว  กลับถึงโรงแรมนอนหลับเป็นตาย


วิจารณ์ พานิช

๑๕ มิ.ย. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/541768
มีรูปสวยๆหลายรูปถ้าต้องการชมรูปโปรดเข้าไปที่ link ข้างบน

 

บทเรียนการดำเนินชีวิตผู้สูงวัย (อายุ ๖๓ ย่าง ๖๔) ตอน ๗ : เพื่อน คู่ครอง ชีวิตครอบครัว

พิมพ์ PDF

ผู้เขียนมีเพื่อนมากเนื่องจากเข้ากับคนง่ายไม่เลือกและแบ่งชนชั้น แต่มีเพื่อนสนิทจริงๆไม่มากนัก เนื่องจากผู้เขียนเป็นคนจริงใจ และไม่ปกปิด คบกันไม่กี่ครั้งก็จะทราบว่าใครจริงใจกับผู้เขียนบ้าง ผู้เขียนไม่เคยเอาเปรียบใคร แต่ก็จะไม่ยอมให้ใครเอาเปรียบผู้เขียนเช่นกัน ผู้เขียนยินดีและเต็มใจทำทุกอย่างให้กับคนทุกคนที่เห็นคุณค่า ดูเหมือนคนโง่ ปล่อยให้คนอื่นเอาเปรียบ

ผู้เขียนมีครอบครัวที่อบอุ่น คุณพ่อรับราชการ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นข้าราชการพลเรือนชั้นพิเศษ ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้าน มีพี่น้องด้วยกัน ๔ คน ผู้เขียนเป็นลูกชายคนโต คุณพ่อและคุณแม่ไม่ได้รับมรดกตกทอดจากคุณปู่ คุณตา คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูก ๔ คนเป็นอย่างดี ไม่ได้น้อยหน้าใคร ถึงแม้นเงินเดือนคุณพ่อจะไม่พอกับการเลี้ยงภรรยาและลูกๆอีก ๔ คน ต้องกู้หนี้นอกระบบ เสียดอกเบี้ยง สูง บางครั้งผู้เขียนและน้องๆต้องหยุดเรียนเนื่องจากคุณพ่อไม่มีเงินให้ไปโรงเรียน โชคดีที่คุณพ่อมีน้องสาว ๒ คน และน้องชาย ๑ คน ที่ให้ความช่วยเหลือครอบครัวของผู้เขียน ถึงแม้นจะไม่สามารถช่วยด้านเงินทองได้มากนัก แต่ก็ช่วยเรื่องสถานที่ศึกษาเล่าเรียนให้กับผู้เขียนและน้องๆอีก ๓ คน โดยเฉพาะตัวผู้เขียนเองได้รับการช่วยเหลือจากอาเขย จนสามารถได้เข้าเรียนวิชาชีพที่วิทยานุกรณ์วิทยาลัย และโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ จนทำให้ผู้เขียนมีความรู้จนสามารถเข้าทำงานที่มั่นคงได้ คุณอาเป็นผู้ฝากให้ผู้เขียนเข้าทำงานครั้งแรกขณะที่ผู้เขียนยังศึกษาอยู่ในปีที่สอง

เมื่อผู้เขียนมีรายได้ ทำให้สถานะทางครอบครัวดีขึ้น รายได้ของคุณพ่อและผู้เขียนพอเพียงกับรายจ่ายของครอบครัว ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินกับใครอีก สามารถใช้หนี้สินที่คุณพ่อยืมมาได้หมดสิ้น ผู้เขียนซื้อรถยนต์ และซื้อบ้านเป็นของตัวเอง นำคุณพ่อ คุณแม่ และน้องๆอีกสามคนมาอยู่รวมกันในบ้านหลังแรกของครอบครัว น้องๆทุกคนเรียนจบ และมีงานทำ

ระหว่างที่ผู้เขียนทำงานอยู่ที่บริษัททัวร์รอแยล เพื่อนรุ่นน้องของผู้เขียนได้ให้แฟนเขามาพบผู้เขียนเพื่อช่วยจัดการเรื่องตั๋วเครื่องบินและทำวีซ่าเพื่อเดินทางไปเรียนต่อที่อเมริกากับเพื่อนผู้เขียน ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นทำให้ผู้เขียนรักกับแฟนเพื่อน ถือว่าเป็นคู่รักคนแรกของผู้เขียน (ไม่ใช่แฟนในช่วยเด็กๆ) เรารักกันมาก ผู้เขียนรู้สึกผิดที่ไปแย่งแฟนเพื่อน แต่ก็ห้ามใจไม่ได้  ผู้เขียนให้ผู้หญิงเป็นคนตัดสินใจว่าจะเลือกใครแน่ ผู้หญิงยืนยันว่าเลือกผู้เขียน แต่จะขอเดินทางไปเรียนต่อตามที่ได้วางแผนไว้ แต่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยเพราะถ้าให้ไปอยู่กับแฟนเก่า ผู้เขียนคงรอเก้อแน่ๆ จึงขอให้ผู้หญิงยกเลิกการเดินทางถ้าเลือกผู้เขียน แต่ถ้าจะเดินทางไปตามที่ตั้งใจไว้ก็ถือว่าเลือกแฟนเก่า ผู้หญิงตัดสินใจเดินทาง เราจึงขาดการติดต่อกัน ผู้เขียนเป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่ยุติธรรมกับผู้หญิงคนนั้น โดยเฉพาะได้ทราบภายหลังว่าผู้หญิงตัดสินใจยกเลิกการเดินทางที่สนามบิน และไม่ได้แจ้งให้ผู้เขียนทราบ (ไม่ใช่เนื้อคู่)

ผู้เขียนมีความพอใจผู้หญิงอีกสองคน คนแรกเป็นลูกสาวพ่อค้าระดับประเทศ ยังเป็นนักศึกษาและเข้ามาพบผู้เขียนเพื่อสอบถามเรื่องตั๋วเครื่องบิน และได้มีการนัดให้ไปพบคุณพ่อของนักศึกษาที่บ้านเพื่อจัดทำรายละเอียดการเดินทาง ในที่สุดกลายเป็นลูกค้าที่สำคัญของผู้เขียน ผู้เขียนสนิทสนมกับครอบครัวลูกค้ารายนี้มาก คุณพ่อคุณแม่ของนักศึกษา ได้มอบหมายให้ผู้เขียนพาลูกสาวและลูกชายคนเล็กไปเที่ยวในที่ต่างๆ วันลอยกระทง ผู้เขียนได้พานักศึกษาและน้องชายของนักศึกษาไปลงเรือเที่ยวลอยกระทง  จำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แทนที่ผู้เขียนจะลอยกระทงพร้อมกับนักศึกษาที่ไปกับผู้เขียน แต่ผู้เขียนกับไปลอยกระทงพร้อมกับผู้หญิงต่างชาติ (ผู้หญิงต่างชาติคนนี้จะมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตผู้เขียนในอนาคต) ผู้เขียนมีความพอใจกับนักศึกษาคนนี้ และเชื่อว่านักศึกษาคนนี้และครอบครัวมีความพอใจผู้เขียน และคิดไปถึงแผนแต่งงานในอนาคต

ระยะเวลาไล่เรี่ยกันผู้เขียนก็มีความสนิทสนมกับลูกสาวคนมีเงินอีกคนหนึ่ง รายนี้เป็นลูกทัวร์ไปต่างประเทศโดยผู้เขียนเป็นหัวหน้าทัวร์ หลังจากนั้นก็มีความสนิทสนมกันมาก รายนี้แทบไม่ปล่อยให้ผุ้เขียนไปสังสรรค์กับใครเลย แม่ลูกมา รับผู้เขียนไปทานข้าวกลางวันทุกวัน มื้อเย็นเลิกงานก็ไปทานข้าวที่บ้านของแม่ลูกคู่นี้ เป็นเหตุให้ผู้เขียนเริ่มห่างเหินกับนักศึกษา  เมื่อผู้เขียนเดินทางไปต่างประเทศแม่ลูกคู่นี้ก็ตามผู้เขียนไปเกือยทุกครั้ง ได้มีการพาไปพบกับนายธนาคาร และไปไหนๆด้วยกัน จนคนรู้จักต่างคิดกันว่าผู้เขียนเป็นว่าที่ลูกเขย อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น

ผู้เขียนได้พบกันผู้หญิงต่างชาติที่บังเอิญผู้เขียนได้เคยลอยกระทงพร้อมกับเธอเมื่อ ๑-๒ ปีก่อนหน้านี้ เธอตัดสินใจฆ่าตัวตาย เนื่องจากการผิดหวังเรื่องคู่รัก และมีปัญหากับครอบครัว  แต่มีคนช่วยไว้ได้  เมื่อพบผู้เขียน ผู้เขียนได้พยายามให้ความช่วยเหลือและปลอบใจ ให้คิดถึงอนาคต และรับปากว่ามีสิ่งไหนที่ผู้เขียนช่วยได้ขอให้บอกผู้เขียนยินดีให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน หางาน หรือเรื่องอื่นๆ ระหว่างนั้นผู้เขียนจะต้องไปพบคุณพ่อที่ไปทำงานอยู่ที่จังหวัดอุดร เธอขอไปด้วย เมื่อไปถึงอุดร ผู้เขียนให้เธอพักที่โรงแรม ส่วนผู้เขียนไปพักที่บ้านคุณพ่อ ระหว่างที่จะไปบ้านคุณพ่อเธอร้องไห้ และถามว่าที่สัญญาจะช่วยเหลือเธอนั้นเป็นความจริงแค่ไหน ผู้เขียนได้ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงขอให้บอกมา เธอจึงบอกว่าให้แต่งงานกับเธอ

ผู้เขียนเป็นคนที่รักษาคำมั่นสัญญามาก  เมื่อสัญญาอะไรกับใครจะต้องทำตามสัญญา เคยโกรธคุณแม่ที่ไม่ทำตามสัญญาจึงได้กระโดดรถจนเกือบเสียชีวิต เมื่อเจอเช่นนี้ได้คิดทบทวน และเปรียบเทียบระหว่างผู้หญิงสองคน คนหนึ่งเป็นคนมีเงิน มีการศึกษา มีความพร้อมทุกอย่างสามารถหาผู้ชายดีๆที่มีความพร้อมมากกว่าผู้เขียน ส่วนอีกคนหนึ่งหมดหวังทุกอย่าง ต้องการความช่วยเหลือ ถ้าผู้เขียนปฎิเสธ ก็เท่ากับผู้เขียนได้แต่พูดเมื่อเธอต้องการความช่วยเหลือจริงๆก็ไม่ได้ เธอก็จะผิดหวังเหมือนเดิม และอาจคิดฆ่าตัวตายอีก ผู้เขียนจึงตอบตกลง และเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนต้องโกหกคุณพ่อคุณแม่สร้างเรื่องว่ารู้จักกันมานานและจะแต่งงานกัน แต่ผู้ใหญ่ไม่เต็มใจเท่าไหร่แต่ไม่ทราบจะทำอย่างไร ในที่สุดจึงได้จดทะเบียน แต่ไม่ได้ทำพิธีแต่งงานเพราะฝ่ายหญิงตัวคนเดียวไม่มีญาติ พี่น้องในประเทศไทย ส่วนพ่อแม่ก็อยู่ต่างประเทศ และรู้สึกว่าจะตัดขาดความเป็นพ่อลูกกัน

ครอบครัวเริ่มมีปัญหาเงินที่ผู้เขียนให้กับคุณแม่เริ่มให้น้อยลง เพราะต้องไปให้ภรรยา และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก ภรรยาเป็นผู้ที่ถูกเลี้ยงดูมาแบบนักการฑูต ทราบภายหลังว่า พ่อเคยเป็นเจ้าหน้าที่สถานฑูตไต้หวันในประเทศไทย  ใช้จ่ายเงินฟุ้มเฟือย เที่ยวกลางคืน มีปัญหากับคุณแม่และน้องๆ ผู้เขียนกลายเป็นลูกที่ทำร้ายจิตใจคุณแม่ เนื่องจากความเป็นคนตรง ระหว่างภรรยา และแม่ ใครผิดผู้เขียนก็ว่ากล่าวคนนั้น โดยไม่ทันคิดว่าผู้เขียนไม่มีสิทธิ์ว่ากล่าวคุณแม่ เป็นบาปอย่างมาก ครอบครัวที่มีความสุขเริ่มมีแต่ปัญหา ทะเลาะและโต้เถียงกันตลอดเวลา ความเป็นคนตรงและพูดโดยไม่คิดยิ่งทำให้ความบาดหมางระหว่าคุณแม่และภรรยาเลวร้ายเพิ่มขึ้นทุกวัน ในที่สุดก็มีลูกสาว หลังจากมีลูกภรรยาได้ทำงานโรงแรม โดยคุณแม่และน้องสาวช่วยเลี้ยงลูกให้ เมื่อลูกสาวอายุได้สอง-สามปี ผู้เขียนเริ่มคิดถึงอนาคต ผู้เขียนคิดว่าจะช่วยฉุดและดึงภรรยาขึ้นมาได้ แต่ความจริงภรรยาเป็นผู้ฉุดผู้เขียนให้ตกต่ำลง จึงยอมรับความจริงและตัดสินใจเลิกกับภรรยาอย่างเด็ดขาด หลังจากที่เคยเลิกกันและกลับมาคืนดีกันมาแล้ว ๓-๔ ครั้ง เมื่อเลิกกันจริงๆลูกสาวอยู่ในความดูแลของผู้เขียน โดยมีคุณแม่และน้องสาวเป็นผู้เลี้ยงดู ส่วนอดีตภรรยาไปมีสามีใหม่ มีลูกอีก ๒-๓ คน และก็ได้เลิกลากับสามีใหม่อีกเช่นกัน หลังจากเลิกกับผู้เขียน อดีตภรรยามีชีวิตที่ตกต่ำกว่าเดิมมาก และไม่น่าเชื่อว่าคุณแม่ที่เคยเกลียดกลับ เป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลืออและเป็นห่วงเป็นใย เนื่องจากเธอไม่มีที่พึ่ง และผู้เขียนเองไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเพราะกลัวจะพัวพันกันอีก สุดท้ายเธอได้คืนดีกับพ่อที่ไต้หวันและกลับไปอยู่ไต้หวัน สุดท้ายทราบข่าวจากลูกสาวว่าได้เสียชีวิตไปแล้ว

หลังจากหย่าล้างกับภรรยา แม่ของลูกสาวที่ผู้เขียนคิดว่าจะได้แต่งงานด้วย ได้พูดกับผู้เขียนว่าเขาพร้อมที่จะให้ผู้เขียนอยู่กับลูกสาวเขา แต่ขอให้ผู้เขียนอย่านำลูกสาวมาด้วย ไม่ใช่ว่ารังเกียจลูกสาว แต่เขาทำใจไม่ได้ และลูกสาวก็มีคุณแม่และน้องสาวผู้เขียนช่วยดูแลอยู่ ผู้เขียนปฎิเสธทันที เพราะลูกสาวขาดแม่ไปคนหนึ่งแล้วจะให้ขาดพ่ออีกคน คงเป็นไปไม่ได้ ผู้เขียนไม่สามารถเลือกหาความสุขของตัวเองโดยไม่คิดถึงความสุขของลูกสาวได้ หลังจากนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้ติดต่อสนิทสนมกับผู้หญิงคนไหนอีกเลย

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

๙ กรกฎาคม ๒๕๕๖

 

บทเรียนการดำเนินชีวิตผู้สูงวัย (อายุ ๖๓ ย่าง ๖๔) ตอน ๖ : งานโรงแรม

พิมพ์ PDF

หลังจากผ่านประสบการณ์ด้านการขายตั๋วเครื่องบิน และงานด้านการท่องเที่ยว มาหลายบริษัท สุดท้ายจบลงที่บริษัททรูทัวร์ (ตามที่ได้เขียนไว้ในบทความก่อนหน้านี้) เป็นเหตุให้ผู้เขียนเปลี่ยนอาชีพจากการบริหารบริษัทท่องเที่ยว ไปเป็นบริหารโรงแรม คุณณรงค์ เสาวลักษณ์ ลูกค้าซื้อตั๋วเครื่องบินของผู้เขียน ได้เสนองานผู้จัดการฝ่ายขายที่โรงแรมสยามเบย์วิว โรงแรมใหม่ที่กำลังจะเปิด ที่พัทยา ผู้เขียนยังไม่เคยทำงานโรงแรมมาก่อน การที่คุณณรงค์เสนองานนี้ให้กับผู้เขียนถือว่าเป็นโชคและโอกาสของผู้เขียน เนื่องจากผู้เขียนเข้ารับงานในตำแหน่งนี้ก่อนที่โรงแรมจะเปิด ทำให้ผู้เขียนมีโอกาสเรียนรู้งานโรงแรม โดยมีคุณณรงค์เป็นทั้งโค้ช และผู้สอนงานโรงแรมให้กับผู้เขียน ผู้เขียนทำงานด้วยใจ และมีความขยัน คิดถึงผลประโยชน์ของโรงแรมเป็นหลัก  ทำให้ผู้เขียนสามารถทำงานในหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ได้รับความไว้วางใจและการสนับสนุนจากเจ้านาย และเพื่อนร่วมงาน จากการเป็นผู้จัดการฝ่ายขายโรงแรมสยามเบย์วิวเพียงโรงแรมเดียว ก็ได้เพิ่มความรับผิดชอบให้เป็นผู้จัดการฝ่ายขายโรงแรมสยามเบย์ชอร์อีกโรงแรมหนึ่ง ผู้เขียนทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด จันทร์-ศุกร์ ทำงานที่สำนักงานกรุงเทพ เสาร์-อาทิตย์ ประชุม และไปรับรองลูกค้า ที่โรงแรม หลังจากคุณณรงค์ เจ้านายโดยตรงของผู้เขียนหมดสัญญาการบริหารโรงแรมกับเจ้าของโรงแรม และไม่มีการต่อสัญญา ผู้เขียนก็ยังอยู่ในตำแหน่งเดิมแต่มีความรับผิดชอบสูงขึ้น และขึ้นตรงต่อเจ้าของโรงแรมโดยตรง (หลังจากหมดสัญญากับคุณณรงค์ เจ้าของลงมาบริหารเองโดยไม่จ้างคนใหม่มาแทนคุณณรงค์)   ผู้เขียนได้ลาออกจากโรงแรมสยามเบย์วิว และโรงแรมสยามเบย์ชอร์ ในตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายขาย ไปรับตำแหน่ง ผู้อำนวยการบริหารที่โรงแรมปอยหลวง ถือว่าเป็นการกระโดด ข้ามตำแหน่งอย่างมาก  ผู้เขียนสามารถทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ผู้เขียนถูกเพื่อนหักหลัง และจากการหูเบาของเจ้านายใหม่ ทำให้ผู้เขียนตัดสินใจลาออกจากโรงแรมปอยหลวง โดยที่ยังไม่ได้ติดต่อหางานใหม่ เมื่อออกมาโดยไม่มีแผน จึงทำให้รีบหางานและได้ไปทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายขายโรงแรมแม่น้ำ ที่นี่ไม่มีผลงานใดๆ เนื่องจากผู้เขียนไม่มีโอกาสได้แสดงผลงาน ผู้เขียนถูกรับเข้าไปทำงานด้วยเหตุผลทางการเมืองระหว่างเจ้าของและผู้บริหาร หลังจากทำงานได้ประมาณ หนึ่งปี จึงได้ลาออกไป ทำงานเป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Golden Tour South ที่จังหวัดภูเก็ต ก่อนที่จะกลับไปเป็นผู้อำนวยการฝ่านขายและการตลาดโรงแรมใบหยกสวีท หลังจากบริหารงานที่โรงแรมใบหยกสวีท ผู้เขียนได้รับการติดต่อจากอดีตผู้บริหารธนาคารแห่งหนึ่งที่ออกมาเปิดบริษัทของตัวเอง ให้ไปเริ่มเป็นผู้ช่วย CEO เพื่อเป็น CEO  บริษัทที่ซื้อลิขสิทธิ์ แฟนชายส์ จากประเทศอเมริกา ระหว่างการศึกษางาน ได้รับความกดดันสูงมาก เมื่อเริ่มเข้าใจธุรกิจและจับทางได้ เจ้าของมีปัญหาเรื่องเงิน จึงจะขอเปลี่ยนสัญญากับผู้เขียน จะขอให้ลดเงินเดือน และให้ไปบริหารสำนักงานสาขา โดยมีเงินแบ่งปันจากผลกำไรให้ แต่ผู้เขียนไม่ยินยอมเพราะถือว่าเป็นการเปลี่ยนเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก ผู้เขียนจึงหันกลับไปทำงานเป็นผู้จัดการทั่วไปบริษัทโกลเด้นทัวร์ แผนกทัวร์ต่างประเทศ แต่อยู่ได้ไม่นานเจ้าของมีปัญหาด้านการเงิน จึงได้ออกไปเป็นผู้บริหารบริษัทเฟอรีไลน์มหาชน ซึ่งภายหลังมีปัญหาเรื่องเรื่อล่ม และฟองสบู่แตก เจ้าของปล่อยให้บริษัทล้มละลาย แต่ยังสามารถทำธุรกิจต่อได้โดยใช้วิธีการเปิดบริษัทใหม่ขึ้นมา เป็นบริษัทย่อยๆ และสามารถดำเนินกิจการต่อมาได้ด้วยดี ระหว่างที่รื้อโครงสร้างบริษัท ผู้เขียนก็เจอปัญหามากมาย เกือบเอาตัวไม่รอดเหมือนกัน แต่โชคก็ยังช่วยทำให้เอาตัวรอดมาได้ และในที่สุดได้รับมอบหมายให้ไปบริหารโรงแรม พี พี เนเจอรัลรีสอร์ท จากขาดทุน ผู้เขียนสามารถทำให้บริษัทมีกำไรได้ในปีเดียว ปรับแผนนิดหน่อย และก็สามารถบริหารงานทำกำไรเพิ่มทุกปี ยกเว้นปีหลังจากที่เกิด    สึนามิเพียงปีเดียว ผู้เขียนบริหารงานที่โรงแรม พี พี เนเจอรัลรีสอร์ท ควบคู่กับ โรงแรม พี พี เอราวัณ ที่เกาะ พี พี จังหวัดกระบี่  เป็นเวลานานกว่า ๑๕ ปี มีความสุขกับการทำงานมาก ทำงานเหมือนเป็นเจ้าของเอง ฝ่ายเจ้าของก็พยายามพูดว่าผู้เขียนเหมือนเป็นคนในครอบครัวของเขา และผู้เขียนได้รับการแบ่งหุ้นของบริษัทด้วย แต่ไม่เคยทราบว่าจำนวนกี่หุ้นและมีมูลค่าเท่าใด ช่วงที่ผู้เขียนอายุ ๕๘- ๕๙ ปี เริ่มมีปัญหาเรื่องการบริหารงานภายใน เป็นปัญหาภายในของเจ้าของ ทำให้ผู้เขียนเริ่มไม่สนุกกับการทำงาน ขณะเดียวกันได้เริ่มทำงานให้สังคม ช่วงที่กำลังเบื่อ มีคนรู้จักแนะนำให้ไปทำงานกับสามีของเขา มีการคุยและตกลงกันตามเงื่อนไขที่ต่อรองจนลงตัว แต่เมื่อผู้เขียนเข้าไปทำงานด้วย ไม่เป็นไปตามที่ตกลง ผู้เขียนจึงตัดสินใจลาออก และไม่คิดจะทำงานประจำให้กับใครอีกแล้ว โดยคิดแบบเข้าข้างตัวเอง และเชื่อมั่นตัวเองมากว่า ถ้าผู้เขียนรับงานเป็นที่ปรึกษา ให้กับโรงแรมหรือบริษัททัวร์ สัก ๓ ราย คิดค่าที่ปรึกษา รายละ ๒ หมื่นบาท ผู้เขียนก็สามารถอยู่ได้ และสามารถทำงานให้กับสังคมได้ด้วย แต่เรื่องไม่ง่ายและเป็นอย่างที่คิด (โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

8 กรกฎาคม 2556

เพื่อให้สามารถติดตามและทราบรายละเอียดในการทำงานของผู้เขียนในแต่ละสถานประกอบการ ขอให้อ่านบทความที่ผู้เขียนเคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้  ได้แก่

บทความกรณีศึกษาโรงแรมสยามเบย์วิว โรงแรมสยามเบย์ชอร์

บทความกรณีศึกษา โรงแรมปอยหลวง

บทความกรณีศึกษา โรงแรมแม่น้ำ

ทรัพยากรมนุษย์ในธุรกิจโรงแรม

เรียนรู้เรื่องการเงิน ในธุรกิจโรงแรม

เรียนรู้เรื่องการเงิน กรณีศึกษา Golden Tour

 

กรณีศึกษาโรงแรมสยามเบย์วิว โรงแรมสยามเบย์ชอร์

พิมพ์ PDF

กรณีศึกษา สำหรับเจ้าของธุรกิจ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ

กรณีศึกษา โรงแรมสยามเบย์วิว และ โรงแรมสยสมเบย์ชอร์

คุณณรงค์ เสาวลักษณ์ (อดีตลูกค้าซื้อตั๋วเครื่องบิน) ชวนผมทำงานตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายโรงแรมสยามเบย์วิว พัทยา  คุณณรงค์ เป็นผู้อำนวยการบริหาร และคุณกมลา สุโกศล เป็นเจ้าของโรงแรม เป็นโอกาสและโชคของผมที่ได้รับการเสนองานในตำแหน่งนี้  ทั้งๆที่ผมยังไม่เคยทำงานโรงแรมมาก่อน  ผมมีความชำนาญด้านการขายตั๋วเครื่องบิน ลูกค้าส่วนมากที่ซื้อตั๋วเครื่องบินกับผมเป็นนักธุรกิจ เดินทางหลายประเทศ และมีกำหนดช่วงเวลาการเดินทางที่จำกัด จึงต้องมีผู้เชียวชาญจัดตารางการเดินทางให้ ผมเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญในข่วงนั้น ลูกค้าของผมจะเรียกใช้บริการกับผมทุกครั้งที่มีการเดินทาง  และผมไม่เคยทำให้ลูกค้าคนใดผิดหวัง  ทำให้คุณณรงค์ ไว้ใจและเสนอตำแหน่งนี้ให้ผม

ผมเข้าทำงานที่โรงแรมสยามเบย์วิวตั้งแต่โรงแรมยังสร้างไม่เสร็จ  ทำให้ผมมีเวลาเรียนรู้งานด้านโรงแรมอย่างเต็มที่ มีโอกาสร่วมเปิดโรงแรม ถือว่าเป็นงานที่ยากที่สุดของการบริหารโรงแรม คุณณรงค์ ให้โอกาสผมได้เรียนรู้  ให้คำปรึกษาและแนะนำสั่งสอนผมอย่างใกล้ชิด ประกอบกับผมเป็นคนขยันและเรียนรู้ตลอดเวลา ทำให้ผมไปได้เร็ว สามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงเกินเป้าหมาย  ผมทำงานโดยไม่มีวันหยุด วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ ผมทำงานที่กรุงเทพ สำนักงานอยู่ที่สยามสแควร์ วันเสาร์เช้า จะเดินทางไปพัทยา เพื่อประชุมร่วมกับหัวหน้าแผนกต่างๆโดยมีคุณณรงค์ เป็นประธานการประชุม (การเข้าร่วมประชุมทำให้ผมได้เรียนรู้เร็วขึ้น) นอกจากการประชุม ผมยังเข้าไปศึกษางานของแต่ละแผนก  ทำให้ทราบปัญหา และความพร้อมของแต่ละส่วน ทำให้รู้จุดอ่อนจุดแข็ง เพื่อนำไปใช้ในการพิจารณาเลือกลูกค้าที่เหมาะสมกับการบริการของเรา ผมใช้เวลาในคืนวันเสาร์ เลี้ยงรับรองลูกค้า และจะเดินทางกลับกรุงเทพบ่ายวันอาทิตย์

หลังจากทำงานได้ไม่นานก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลโรงแรมสยามเบย์ชอร์ อีกโรงแรมหนึ่ง ต้องทำงานหนักขึ้นแต่ก็สนุกกับงาน และโชคดีที่ ผู้จัดการสำนักงานที่กรุงเทพของทั้งสองโรงแรม เก่งมาก จบจากประเทศอังกฤษทั้งคู่ ช่วยเหลืองานเอกสาร และดูแลควบคุมการรับจองห้องพักได้ดีเยี่ยม  ทำให้แบ่งเบาภาระผมได้อย่างมาก คุณณรงค์ เจ้านายของผมเก่งมาก เป็น 1ใน 5 ของผู้บริหารโรงแรมที่เป็นคนไทยที่เก่งและมีค่าตัวมากที่สุดในเวลานั้น ผมขึ้นตรงกับคุณณรงค์ ทั้งๆที่ตามตำแหน่งแล้วผมต้องขึ้นกับ Room Division หรือ General Manager ผมทำงานได้ 2 ปี คุณณรงค์ไม่ต่อสัญญาบริหารโรงแรมสยามเบย์วิวและสยามเบย์ชอร์ คุณกมลา ไม่หาคนมาแทน และเข้ามาบริหารเองเต็มตัว ว่าจ้างผู้จัดการฝรั่งเข้ามาเป็นผู้จัดการทั่วไป แทนผู้จัดการชุดเก่าของคุณณรงค์

ผมยังอยู่ในตำแหน่งเดิมแต่เพิ่มงานส่วนตลาดต่างประเทศที่เดิมคุณณรงค์ทำอยู่มาทำแทน มีอำนาจในการอนุมุติหลายๆอย่างที่เดิมต้องขออนุมัติจากคุณณรงค์ คุณกมลาได้เฝ้ามองการทำงานของผมมาตลอด และพอใจผมค่อนข้างมาก ให้ผมขึ้นตรงกับคุณกมลา แทนที่จะขึ้นกับผู้จัดการทั่วไป  ไม่มีใครกล้าโต้แย้งคุณกมลา มีผมเพียงผู้เดียวที่กล้าขัดและให้เหตุผล  คุณกมลาเคยต่อว่าผมในสิ่งที่ผมอนุมัติ และเรียกคืนอำนาจที่ผมสามารถอนุมัติได้เป็นต้องขออนุมัติจากคุณกมลาแทน แต่ไม่เกิน 2 อาทิตย์ก็ต้องคืนอำนาจให้ผมเป็นผู้ดำเนินการอนุมัติได้เอง คุณณรงค์ที่ว่าเก่งเรื่องการตลาด แต่คุณกมลาเก่งกว่า ผมเรียนรู้เรื่องการตลาดและการเป็นนักธุรกิจจากคุณกมลา ทำให้เข้าใจมุมมองของนักธุรกิจ ผมรักและเคารพคุณกมลามาก (เหมือนญาติผู้ใหญ่)

ท่านเป็นทั้งเจ้าของและนักบริหารโรงแรมที่ผมยกย่องที่สุด ผมเสียดายที่ไม่ฟังท่าน ผมพลาดโอกาส ไปถึง 2 ครั้ง จนทำให้ท่านโกรธในความโง่ของผม ผมเชื่อว่าช่วงที่ผมทำงานให้คุณกมลา ท่านให้ความเมตตาผมมาก ท่านเป็นเจ้านายคนเดียวที่ออกหนังสือตักเตือนผม แต่ผมก็ไม่เคยโกรธท่าน เพราะผมเป็นผู้หาเรื่องใส่ตัวเอง ท่านเข้าใจผิดคิดว่าผมโกรธท่านทำให้ผมลาออก

คุณกมลาต้องการที่จะให้ผมเดินทางไปประเทศสิงคโปร์ เพื่อไปติดต่อลูกค้า แต่ผมเห็นว่าลูกค้าจากสิงคโปร์ใช้เราอยู่แล้วและขึ้นอยู่กับเอเยนที่ประเทศไทย ผมจึงไม่ไปเพราะเห็นว่าไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย บังเอิญ คุณเถกิง สวัสดิพันธ์ เจ้าของเถกิงทัวร์ (เจ้านายเก่า)  ขอให้ผมช่วยเป็นหัวหน้าทัวร์นำนักท่องเที่ยวของเถกิงทัวร์ไปเที่ยวสิงคโปร์ ผมดูโปรแกรม และเห็นว่ามีวันว่างปล่อยให้ลูกทัวร์เที่ยวกันเอง ถึง 2 วัน ผมสามารถใช้วันดังกล่าวไปพบเอเยนในสิงคโปร์ได้ตามที่คุณกมลาต้องการ เท่ากับผมได้ทำงานสองงานในเวลาเดียวกัน ได้ตอบแทนเจ้านายเก่า และได้ทำงานให้เจ้านายปัจจุบันโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ผมตอบตกลงกับคุณเถกิง บังเอิญช่วงนั้นคุณกมลาไปอเมริกา ผมจึงไปแจ้งให้ผู้จัดการโรงแรมสยามเบย์วิวรับทราบตามมารยาท เพราะปกติผมไม่ได้ขออนุญาตอะไรจากผู้จัดการ เมื่อผู้จัดการฝรั่งทราบเรื่องจากผม เขาได้สั่งไม่ให้ผมไป ผมจึงได้อธิบายว่า ผมทำงาน 7 วัน มากว่า 4 ปี โดยไม่มีวันหยุด สามารถใช้วันหยุดลาได้ และผมไม่ได้ขึ้นกับเขาที่มาบอกนี่ทำตามมารยาทแต่ไม่ได้มาขออนุมัติ ผู้จัดการฝรั่งทำท่ายียวนมากและพูดแต่คำว่า No  ผมจึงวิ่งเข้าไปชก แต่ไม่ทันถูกและมีคนมาแยก เมื่อคุณแม่และคุณน้าของคุณกมลาทราบเรื่องจึงเรียกผมไปสอบถามเรื่องราวและได้อนุมัติให้ผมไปได้ เรื่องน่าจะจบด้วยดี แต่ผมหาเรื่องเอง เมื่อคุณกมลากลับมาผมได้เขียนจดหมายถึงคุณกมลา และด่าผู้จัดการฝรั่งคนนั้น คุณกมลาโกรธมาก พูดกับคนใกล้ชิดว่า ผมด่าผู้จัดการก็เหมือนกับด่าคุณกมลา เพราะคุณกมลาเป็นผู้เลือกผู้จัดการ คุณกมลาไม่พูดกับผมร่วม 3 เดือน และออกหนังสือตักเตือนผม ผมไม่เคยโกรธท่านเลยและเห็นว่าท่านทำถูก เพราะการกระทำของผมทำให้เสียระบบการปกครอง

ผมได้รับการเชิญให้ไปเป็นผู้อำนวยการบริหารที่โรงแรมปอยหลวง เชียงใหม่ เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีจะได้เข้าบริหารโรงแรมเต็มตัว จึงไปขอลาออกจากคุณกมลา แต่คุณกมลาไม่ยอมให้ลาออก และไม่พิจารณาหนังสือลาออก โดยให้เหตุผลว่า ผมไม่มีความสามารถกับตำแหน่งที่เขาเสนอให้ ตำแหน่งนี้สูงเกินไป  ทำให้ผมคิดว่าดูถูกผม ควรจะปล่อยให้ผมไปทดลองดู และถ้าไม่ได้จริงๆให้กลับมา ในที่สุดคุณกมลาก็ไม่ยอมอนุมัติใบลาของผม และผมก็ไปเพราะเห็นว่าเป็นโอกาสของผม ไม่มีการเลี้ยงลา (ทราบจากคนใกล้ชิดว่าคุณกมลาเข้าใจว่าผมไม่รักท่านจริงทิ้งท่านไป ประกอบกับยังโกรธเรื่องที่ผมไปด่าผู้จัดการ และเข้าใจว่าผมโกรธท่านที่ให้ใบเตือนผม ความจริงถ้าท่านพูดว่าอย่าทิ้งท่านเหมือนกับที่พูดกับคนอื่น ผมไม่มีวันไปจากท่าน ) เป็นการเสียโอกาสครั้งที่หนึ่งของผมที่ไม่เชื่อฟังท่าน

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

15 พฤศจิกายน 2553

 


หน้า 467 จาก 557
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5602
Content : 3043
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8590727

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า