Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

บทเรียนการดำเนินชีวิตของผู้สูงวัย ตอน ๑

พิมพ์ PDF

ขณะนี้ผู้เขียนมีอายุ ๖๓ ย่าง ๖๔ ปี มีประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วกว่า ๖๓ ปี  ได้พบทั้งความสุข ความเสียใจ และความผิดหวัง เป็นชีวิตที่มีคุณค่าคุ้มกับการเกิดมาเป็นมนุษย์ เคยวางเป้าหมายไว้ว่าเมื่ออายุ ๖๐ ปี จะสามารถทำตัวให้เป็นอิสระจากภาระต่างๆ เพื่อใช้เวลาที่เหลืออยู่ของชีวิต พักผ่อนหาความสุขจากธรรมชาติ ท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆที่เป็นธรรมชาติ

แผนการไม่เป็นอย่างที่คิด โดยเฉพาะการตัดสินใจที่ผิดพลาดเมื่ออายุ ๕๙ ย่าง ๖๐ ปี ทำให้ไม่สามารถทำให้ตัวเองเป็นอิสระจากภาระด้านเศรษฐกิจได้ จากการเป็นผู้บริหารในบริษัทที่มั่นคง มีรายได้ประจำ กลายมาเป็นผุ้ไม่มีรายได้ประจำ ทำงานให้สังคม  ต้องศึกษาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆและเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต เป้าหมายช้ามา ๔ ปี แทนที่จะได้เป็นอิสระจากการทำงานประจำเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ  ใช้ชีวิตปั้นปลายกับการพักผ่อนและท่องเที่ยวไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ อย่างไรก็ตามจากจุดหักเหนี้ ทำให้ได้เรียนรู้ชีวิตไปอีกอย่างหนึ่ง และได้เริ่มตั้งเป้าหมายใหม่ เป้าหมายนี้เป็นเป้าหมายในการทำเพื่อคนในอนาคต เป้าหมายนี้จะไม่เห็นความสำเร็จในชีวิตของผู้เขียน .........เป็นเพียงการจุดประกาย ........สร้างเวที ........ปูพื้นฐาน ......... ให้กับสังคมไทย

ผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะเขียนบทความนี้เพื่อประโยชน์ให้กับท่านผู้สนใจได้ทำการศึกษา และใช้เป็นบทเรียนเพื่อนำไปดัดแปลงใช้ในการดำเนินชีวิตของท่านให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายของแต่ละท่าน เรื่องที่เขียนนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด มิได้มีการปรุงแต่งเช่นเดียวกับการแต่งนิยาย หรือการทำละครหรือภาพยนต์

ย้อนอดีต

ผู้เขียนเกิดในราชสกุลชมพูนุท  สืบเชื้อสายมาจาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สาม  ครอบครัวมีฐานะยากจนมาตั้งแต่สมัยท่านปู่ หม่อมเจ้าชนม์เจริญ  ชมพูนุท  ท่านปู่สูญเสียพระราชบิดา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชมพูนุท  กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่มีพระชนม์มายุได้ ๑ ปี  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงรับ ท่านปู่ เข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากท่านปู่เป็นเจ้านายในรัชกาลเดียว (รัชกาลที่ ๓) กับพระวิมาดาเธอ กรมพระสุธาสินีนาถ (พระอรรคชายาในขณะนั้น)  เป็นผู้ปกครองท่านปู่  พระวิมาดาได้โปรดให้ท่านปู่เสด็จออกมาประทับอยู่นอกพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงศึกษาในโรงเรียนมกุฎราชกุมารจนจบหลักสูตร ต่อมาได้ทรงผนวชเป็นสามเณร จนกระทั่งมีพระชนม์ครบจึงทรงผนวช หลังจากทรงลาสิกขาบทแล้ว พระวิมาดาโปรดให้ไปประทับอยู่ที่วังลดาวัลย์ โดยประทานให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร พระโอรสเป็นผู้ทรงอุปการะ และโปรดให้รับราชการในกระทรวงมหาดไทย คุณปู่ได้สมรสกับคุณย่าเขียน บุณยมานพ ธิดาคนโตของพระยาสัตยพรตสุนันท์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ มีโอรส ธิดา รวม ๑๒ คน

ท่านปู่ มีเงินเดือนน้อยไม่พอเพียงกับการส่งเสีย โอรส ธิดา คุณย่าเป็นลูกของคนรวย แต่ท่านเสียเมื่อผู้เขียนยังไม่เกิด คุณพ่อเล่าให้ฟังว่าเมื่อคุณพ่อเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณพ่อไม่มีเงินซื้อข้าวกลางวัน ต้องแอบเข้าห้องน้ำเพื่อไม่ให้เพื่อนรู้ ดื่มน้ำประปาแทนข้าวกลางวัน คุณพ่อรับราชการอยู่กระทรวงสหกรณ์ ต่อมายุบกระทรวงสหกรณ์และเปลี่ยนมาเป็นกระทรวงพัฒนาการ หลังจากนั้นกระทรวงพัฒนาการก็ถูกยุบ และหน่วยงานของคุณพ่อก็ย้ายไปรวมอยู่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ผู้เขียนเกิดในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดที่โรงพยาบาลศิริราช และอาศัยอยู่ที่โรงแรมเวียงใต้ในปัจจุบัน (สมัยก่อนเป็นสมบัติของคุณตา คุณตายกให้หลานรวมทั้งคุณพ่อของผู้เขียน แต่ผู้รับมรดกส่วนมากต้องการแยกออกไปมีบ้านช่องของตัวเอง จึงตกลงขายและแบ่งเงินที่ได้จากการขาย คุณพ่อเล่าว่าได้ส่วนแบ่งเพียงนิดเดียวไม่สามารถนำไปทำอะไรได้ ผู้เขียนไม่ได้ดื่มน้ำนมจากคุณแม่ และก็ไม่ได้ดื่มน้ำนมที่ทำจากวัว เนื่องจากช่วงเด็กคุณพ่อรับราชการอยู่ต่างจังหวัด นมกระป๋องราคาแพงและหาซื้อยาก ผู้เขียนจึงต้องดื่มน้ำข้าวแทนนม

ผู้เขียนเป็นลูกชายคนโตของคุณพ่อ หม่อมราชวงศ์ มนัสปรีดี ชมพูนุท และคุณแม่ นางสุจิตรา ชมพูนุท ณ.อยุธยา เดิมคุณแม่ทำงานมีรายได้ แต่เมือผู้เขียนเกิดคุณแม่ได้ลาออกจากงานและหันมาเลี้ยงดูผู้เขียนและน้องๆอีก ๓ คนรวมเป็น ๔ คน คุณพ่อคุณแม่ของผู้เขียนเป็นบุพการีที่ประเสริฐสุดท่านให้ความรักและเลี้ยงดูลูกๆมาอย่างดี ท่านเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์ และมีจิตใจโอบอ้อมอารีย์ เป็นที่รักของลูกน้อง ผู้คนรอบข้าง ท่านสอนให้ลูกทุกคนเป็นคนดี ท่านต้องอดทนและทำงานหนักเพื่อให้ลูกทุกคนอยู่อย่างสบาย ท่านทั้งสองได้จากผู้เขียนไปนานแล้ว เสียดายที่ผู้เขียนไม่ได้ดูแลเอาใจใส่ท่านในชั่วที่ท่านมีชีวิตอยู่ดีเท่าที่ควร มานึกได้ก็เมื่อท่านจากไปแล้วไม่มีโอกาสที่จะแก้ตัว เวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่สามารถย้อนเวลากลับมาได้

(โปรดติดตามตอนต่อไปในเร็วๆนี้)

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๖

 

คนแก่เที่ยวสวิส ๗

พิมพ์ PDF

โรงแรม Alpha - Palmiersอยู่สบายมากเช้าวันที่ ๑๔ พ.ค. ๕๖เราตื่นตีห้าตามนาฬิกาปลุกอาบน้ำแต่งตัวไปเช็คเอ้าท์และขอให้เรียกแท็กซี่ไปสถานีรถไฟ โชเฟอร์หัวเราะเพราะคนเขาเดินไปใกล้นิดเดียวแต่คนแก่ขาเจ็บเดินไม่ไหว เมื่อคืนสาวน้อยซ้อมเดินด้วยไม้เท้าจนชักจะใช้เป็น

ไปเอากระเป๋าที่ฝากไว้กับล็อกเก้อร์แล้วหาขบวนรถที่จะไปมองเทรอซ์ได้ขบวน IC ออก ๖.๑๗ น.  เนื่องจากหน้าตาเราเป็นนักท่องเที่ยวเจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วจะถามเสมอว่าไปไหนเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ผิดขบวน เมื่อเราบอกว่าไปมองเทรอซ์เขาก็บอกว่า next stop

ที่สถานีมองเทรอซ์นั่งแท็กซี่ไปฝากกระเป๋าที่โรงแรม Royal Plaza โดยบอกว่าเราเป็น Thai Team (ซึ่งมาประชุม Coordinators ของ PMAC 2014)  ได้รับบริการดีมาก เดี๋ยวเดียวก็นั่งรถกลับโดยเขาคิดค่าโดยสารคูณสองรวม ๒๐ ฟรังก์ระยะทางไม่ถึงก.ม.

เรานั่งรถ IR เที่ยว 7.06 น.ไปเปลี่ยนรถที่Vispเพื่อเดินทางไปเมือง Zermatt ระหว่างทางมีการเกษตรที่สูงทำให้ผมนึกว่าชาวสวิสเป็น "ชาวเขา" ที่แม้มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงด้านอุตสาหกรรมแต่เขาก็ไม่ทิ้งเกษตรกรรม เดาว่าไม่มีปัญหาคนทิ่งถิ้นทิ้งลูกไว้กับปู่ยาตายายในชนบทแบบบ้านเรา

บ้านเรือนทางใต้นี้แตกต่างจากเมื่อวานที่มักเป็นอาคารไม้แต่ที่นี่เป็นตึกคอนกรีตสูงหลายชั้นเมื่อวานมีทุ่งหญ้าเลี้ยงวัวตามไหล่เขา ที่นี่ปลูกองุ่นและผลไม้อื่นๆ

ถึงVisp ๘.๒๕ น.จนท. รถไฟถามว่าจะไปไหนสาวน้อยบอก Zermatt เขาบอกให้ไปที่ชานชาลา ๓  ต่อรถ R (Regio) ที่ชานชาลา ๓ ออก ๘.๔๓ น.ไป Zermatt  ซึ่งเป็นเส้นทางที่ทับกับGlacialExpress

สังเกตว่าช่วงนี้บ้านเริ่มเป็นบ้านไม้มากขึ้นแบบเมื่อวาน และหลังคาก็นิยมมุงหินชนวนตามทางมีร่องรอยการทำป่าไม้และการก่อสร้าง

วันนี้แดดออกจ้าวิวสวยมากสาวน้อยรีบเอายา sun block ทาหน้าผมได้โอกาสใช้ด้วย โบกี้ชั้น ๒ ที่เรานั่งมี ๒๖ ที่มีผู้โดยสาร ๔ คนเท่านั้น

ที่สถานี St. Niklausสังเกตว่าบ้านเกือบทุกหลังมุงด้วยหินชนวนซึ่งมีทั้งชนิดหยาบและชนิดสวย

ที่ความสูง ๑,๒๙๐เมตรเริ่มเห็นหิมะที่พื้นที่สถานีTaesch 1,430 เมตรมีลำธารและ trekking path ขนานไปกับรางรถไฟสวยมาก

เมื่อถึง Zermatt (ความสูง ๑,๖๒๐เมตร) ไปซื่อตั๋วรถไฟไปGronergrat(ความสูง ๓,๐๘๙ เมตร) เพื่อไปชมวิวยอดเขา Matterhorn ซึ่งถือเป็นยอดเขาที่งดงามที่สุดในสวิตเซอร์แลนด์ เรามีตั๋วสวิสพาสส์ได้ลดครึ่งเหลือคนละ ๔๒ ฟรังก์ไปเที่ยว 10.24 น. พอรถไฟออกเลี้ยวโค้งยอดเขา Matterhorn ก็ปรากฎแก่สายตา  ตากล้องขยับตัวถ่ายรูปกันพรึ่บพรั่บ  ผมนั่งฝั่งที่ไม่ใช่ฝั่งยอด มัทเทอร์ฮอร์น  แต่ในที่สุดผมก็พบว่าตรงที่ยืน ติดกับที่คนแก่และคนพิการ ได้วิวสวยกว่า  ถึงGonergrat 10.57น.กลับเที่ยว 11.31 น.ถึงZermatt  12.15น.

ที่Gornergratแดดจ้าวิวสวยมากถ่ายรูป Matterhorn ได้ชัดเจนแต่พอเวลาผ่านไปก็เริ่มมีเมฆมาบังที่มุมหนึ่งของยอดเขา Matterhorn

ที่สถานี Zermatt ผมไปถามทางไปโรงแรม Simi ที่คนขายตั๋วรถไฟซึ่งทำหน้าที่ information center ไปในตัวเขาให้แผนที่เอาสีป้ายทางไปโรงแรมและแนะนำให้โทรศัพท์ไปตามเขามารับโดยเมืองนี้มีระบบแผงป้ายข้อมูลสถานที่สำคัญให้หมายเลขและใช้โทรศัพท์ติดต่อตามหมายเลขได้ใช้เวลา3-4 นาทีทางผู้จัดการโรงแรมขับรถไฟฟ้ามารับจริงๆแล้วเดินไปเอง ๕ นาทีก็ถึงแต่นี่สาวน้อยขาเดี้ยงยิ่งขึ้นจึงต้องอาศัยเขามารับ

ตอนนั้นมีคนมาถามเรื่องนั่งรถไฟกับนั่งรถกระเช้าขึ้นเขาเจ้าหน้าที่แนะนำให้ขึ้นรถไฟว่าความสูง๓ พันเมตรร่างกายจะพอทนได้แต่ขึ้นกระเช้าความสูง ๔ พันเมตรบางคนถึงกับไม่สบายเราจึงตัดสินใจไม่ขึ้นรถกระเช้าคิดว่าไปสัมผัสบรรยากาศที่Gornergratก็เพียงพอแล้ว

โรงแรม Simi ดีกว่าที่คิดดีกว่าโรงแรมเบิร์นและโรงแรมอัลฟ่าห้องกว้างกว่าและเฟอร์นิเจอร์เป็นไม้ให้ความรู้สึกสบายกว่านั่งพักในห้องและกินแซนวิชที่ซื้อจากร้าน COOP ข้างสถานีรถไฟจนชักมีเรี่ยวแรงสาวน้อยชวนออกไปเดินชมเมือง

เราไปชมซอยหมู่บ้านสมัยโบราณชื่อHinterdorfมียุ้งเก็บธัญพืชที่สร้างช่วงศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๙  บางยุ้งอายุ ๒๐๐ ปีที่เสามีสถาปัตยกรรมกันหนูขึ้นยุ้งโดยใช้ก้อนหินแบนๆรองเสา

หลังจากนั้นไปชมMatterhorn Museumแสดงชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านห่างไกลอย่าง Zermatt ในสมัยก่อนเป็นชนบทสุดๆและศาสนจักรเป็นกลไกหนึ่งให้ผู้คนอดทนกับสภาพชีวิตที่ยากลำบากได้จนในที่สุดกลายเป็นหมู่บ้านที่ใครๆอยากมาเที่ยวในยุคท่องเที่ยวอย่างปัจจุบันสาวน้อยไล่ให้ผมไปชมเพราะต้องเดินลงไปใต้ดินเขานั่งรออยู่ข้างนอกเพราะเดินไม่ไหวขาเจ็บเขารู้ว่าผมชอบดูพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์นี้ส่วนที่อยู่เหนือพื้นดินเฉพาะทางเข้าเท่านั้นนอกนั้นอยู่ใต้ดินผมมีตั๋วสวิสพาสส์เข้าชมฟรี

วันนี้อากาศดีมากไม่หนาวมากแดดจ้าตอนบ่ายสามโมงเศษป้ายบอกอุณหภูมิ 19 องศาเซลเซียส

โรงแรม Simi มีแฟ้มเอกสารสั้นๆ ๒ ภาษาคือเยอรมันกับอังกฤษแนะนำสถานที่ควรไปชมในหมู่บ้านรวมทั้งแนะนำเส้นทางเดิน trekking หลายเส้นทางสำหรับนักเดินที่ไม่สำบุกสำบันมากเป็นคำแนะนำพร้อมรูปสวยๆทำให้เห็นว่าสำหรับคนสวิสแซร์มัทคือเมืองตากอากาศพักผ่อนและออกกำลังผมถามเจ้าหน้าที่โรงแรมว่าเดือนไหนที่คนมาเที่ยวมากที่สุดเขาบอกว่ากรกฎาคมและสิงหาคมดูจากคนที่มากินอาหารเช้าวันที่ ๑๕ น่าจะมีแขกพักในวันที่ผมมาพักไม่เกิน ๒๐ คน

เช้าวันที่ ๑๕ พ.ค.๕๖ เราเปลี่ยนแผนเป็นออกสาย ๑๑ น. แล้วจับรถไฟกลับMontreuxเลยเพราะสภาพขาของสาวน้อยและเพราะเมื่อวานเราได้เห็นวิวที่ดีที่สุดตอนนั่งรถไฟขึ้นGornergratแล้วพอใจแล้วสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว ๗ วันในสวิสครั้งนี้และคิดว่าGlacierPassคนโดยสารมักนั่ง ๗ ๑/๒ ช.ม.ไปนอนที่ St. Moritz เลยนั่งพักผ่อนสบายๆไปทั้งวันแต่เราต้องการกลับMontreuxให้ถึงในตอนเย็นเพื่อประชุม PMAC 2014 Coordinators  meeting วันพรุ่งนี้

 

วิจารณ์ พานิช

๑๕ พ.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/540672

 

การเรียนรู้ที่แท้

พิมพ์ PDF

อ่านหนังสือเล่มเล็ก ชุดธรรมะใกล้มือ ลำดับที่ ๒ ปี ๒๕๕๖ เรื่อง ความเป็นไปของจิต แล้วสะดุดใจเรื่องการเรียนรู้ที่แท้ในการตีความของท่านพุทธทาส

ท่านบอกว่า (หน้า ๕) “ทีนี้สำหรับผมเองผู้พูดนี่ ก็มีอยู่ไม่น้อยที่พูดไปตามบันทึก ยิ่งสมัยก่อนๆ โน้นแล้วก็มันรู้เรื่องจิตของตนเองน้อยมาก  ฉะนั้นมันจึงพูดไปตามที่ได้ยินได้ฟัง ได้เล่าได้เรียนมา เคยเป็นครูสอนนักธรรม มันก็สอนตามที่จำได้และตามที่เข้าใจ  ที่สรุปออกมาจากความรู้ตามที่จำได้   ต่อมาเมื่อได้เปลี่ยนไอ้ความรู้ตามที่จำได้ ให้มาเป็นการปฏิบัติตามที่จะทำได้  มันก็เกิดความรู้ธรรมะจากพฤติของจิต  ก่อนโน้นมีแต่ความรู้ที่มาจากการเล่าเรียน การจำ การคิดคำนวณแม้การคิดคำนวณนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ออกมาโดยตรงจากไอ้พฤติในจิต  ต่อเมื่อมาทำการปฏิบัติ มันจึงเกิดความรู้สึกโดยตรงออกมาจากความรู้สึกของจิต  เมื่อมันมีความรู้สึกที่ถูกต้อง เข้ารูปเข้ารอยกันดี มันก็มีความเห็นแจ้ง  แต่ก็มีน้อยเต็มที  ที่ผมพูดไปตั้งมากมายนั้น มันก็มีส่วนที่พูดไปโดยความรู้สึกภายในจิต

ท่านสรุปว่า “เรามีความรู้ แล้วเรามีความรู้สึก แล้วเรามีความเห็นแจ้ง”  ซึ่งผมตีความว่านี่คือการเรียนรู้ ๓ ระดับ

๑.  เรียนจากการได้รับถ่ายทอดต่อๆกันมาได้ความรู้

๒.  เรียนจากการประพฤติปฏิบัติด้วยตนเองได้ความรู้สึก

๓.  หลังจากได้ประพฤติปฏิบัติด้วยตนเองเกิดความรู้สึกจากสัมผัสตรงและมีการไตร่ตรองทบทวนด้วยตนเองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นจนถึงจุดหนึ่งได้ความรู้แจ้งแทงตลอด(enlightening)ข้อ ๓ นี้ผมขยายความเองและเชื่อมไปสู่สภาพของการเรียนรู้ที่สมัยใหม่เรียกว่า mastery learning - เรียนแล้วรู้จริง

 

โปรดสังเกตว่าความรู้ที่ได้รับจากการอ่านหรือรับถ่ายทอดต่อๆกันมาเป็นความรู้แบบผิวเผินยังไม่ถึงรู้จริงต้องเอาความรู้นั้นไปปฏิบัติก็จะรู้สึกได้ด้วยตนเองแต่ก็ยังไม่ถึงกับรู้จริงจะรู้จริงต้องปฏิบัติแล้วโยนิโสมนสิการคือไตร่ตรองทบทวน

 

ผมตีความอย่างนี้ถูกหรือผิดก็ไม่ทราบ

 

 

วิจารณ์  พานิช

๒๖ พ.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/540666

 

คนแก่เที่ยวสวิส ๖

พิมพ์ PDF

เช้าวันที่ ๑๓ พ.ค. ๕๖ ซึ่งเป็นวันจันทร์วันสุดท้ายที่พักที่เบิร์นผมออกไปวิ่งตามถนนKramgasseไปถึงบ่อหมีแล้ววิ่งกลับจึงพบว่าส่วนหนึ่งของถนนนี้ทางเท้าและหน้าร้านยกระดับจากถนนเหมือนกับที่เห็นที่เมือง ทูน เมื่อวาน แต่ถนนกว้างจึงไม่ได้สังเกตตอนผ่านในวันแรก

กินอาหารเช้าเสร็จอาบน้ำแล้วเช็คเอ๊าท์สาวน้อยเอาเอกสารนำเที่ยวที่บอกว่าหากมีสวิสพาสได้ลดค่าโรงแรมเบสเวสเทิร์น 10%  จ้าหน้าที่โรงแรมบอกว่าต้องจองกับเบสเวสเทิร์นเท่านั้นแต่เราจองกับbooking.comทางบริษัทจองจึงกินส่วนต่างนั้นไปเป็นความรู้สำหรับประหยัดในการเที่ยวครั้งต่อไปและเผื่อแผ่ท่านผู้อ่านบันทึกนี้ด้วยเราให้ทางโรงแรมเรียกแท็กซี่ต้องรอรถแท็กซี่ ๒๐ นาทีคนขับใจดีพาไปส่งใกล้ๆลิฟท์และแนะนำให้ขนของลงลิฟท์สะดวกมาก

เรานั่งรถไฟ IC เที่ยว 8.34 น. จากเบิร์นไปโลซานน์ที่จริงถ้าขาดีเราไปเที่ยว 8.04 น. ทันแต่รอเพียงครึ่งชั่วโมงตอนนี้เราตรวจสอบข้อมูลรถไฟคล่องแล้วโดยไปถึงสถานีใดก็รี่ไปดูที่ป้ายสีเหลืองดูทางซ้ายที่เป็นส่วนรถออกจากสถานีนั้น (ส่วนทางขวา เป็นตารางรถเข้า) ตรวจสอบตามเวลาที่เราต้องการเดินทาง

พอรถไฟมาถึงเบิร์นคนลงเกือบหมดเราขึ้นไปนั่ง ๓ - ๔ นาทีรถจึงออกรถผ่านฟรีบวร์กระหว่างทางวิวสวยเป็นเนินเขาขึ้นลงคล้ายวันที่เรานั่งblsผ่านพื้นที่ UNESCO BioReserveไปลูเซิร์น,  จากฟรีบวร์กไปโลซานน์เห็นวิวยอดเขาหิมะคลุมอยู่ไกลๆเป็นระยะๆ

จากวิวสองข้างทางที่เราผ่านทุกวันพอจะสรุปได้ว่าสวิสเป็นประเทศที่เศรษฐกิจสมดุลระหว่างอุตสาหกรรมบริการ (ท่องเที่ยวอุตสาหกรรมฝีมือ - precision industry - เช่นนาฬิกา)  อุตสาหกรรมและเกษตรกรรมก้าวหน้า

ถึงโลซานน์สาวน้อยออกความคิดว่าเอากระเป๋าฝากไว้ที่สถานีค้างคืนพรุ่งนี้เช้ามาเอาไปฝากที่โรงแรมที่มองเทรอซ์เราเดินไปตามป้ายรูปกระเป๋า  ไปที่เคาน์เตอร์บริการขอฝากกระเป๋า และถามเวลาทำงานวันรุ่งขึ้นคุณลุงเจ้าหน้าที่รับฝากกระเป๋าพูดภาษาอังกฤษไม่ได้แต่ฟังรู้เรื่องเขียนบอกว่า8.30  ซึ่งช้าไปเมื่อเราทำท่า (เพราะเขาพูดได้แต่ภาษาเยอรมัน) ว่าเราต้องการมาเอาเช้ากว่านั้นเขาจึงแนะนำให้ใช้ล็อกเก้อร์พร้อมกับพาไปและช่วยแลกเหรียญสำหรับหยอดให้เสร็จเรียบร้อยค่าล็อกเก้อร์ ๙ ฟรังก์เราประทับใจความเอื้ออารีนี้มาก

จับรถไฟเที่ยว 10.20 น. ไปมงเทรอซ์เพื่อจับGoldenPassLine เที่ยว 11.44 ถึงZweisimmen 13.32 น.  แล้วจับเที่ยว 14.17 น.จากZweisimmenกลับMontreauxถึง 16.13 น.  นี่คือแผนเที่ยวเน้นนั่งรถชมวิวเพราะสาวน้อยปวดขามากขึ้นต้องกินยาแก้ปวดตลอดแต่ถ้าไม่เดินก็ไม่ปวด

เมื่อได้นั่งGoldenLineจริงก็สมคำโฆษณาคือมันมีทั้งวิวภูเขาป่าไม้หุบเขาหมู่บ้านลำธารและยอดเขาที่มีหิมะปกคลุมสลับกันไปเรื่อยๆตลอดเวลาเกือบ ๒ ชั่วโมงไม่เบื่อเลยบนรถคนมากพอควรไม่โหรงเหรงแต่ไม่แน่นตัวโบกี้รถมีที่แขวนจักรยานที่สำหรับรถเข็นคนพิการและที่นั่งคนพิการตรงทางขึ้นลงสาวน้อยบอกว่าเขามีสิทธิ์นั่งตรงนั้นแต่ที่นั่งปกติสบายกว่ามาก

ระหว่างทางรถไฟสวนกับรถไฟGoldenPassLine จากZweisimmenเห็นผู้โดยสารเกือบทั้งหมดในรถแล้วผมคิดว่าสมกับชื่อGoldenPassLine จริงๆเพราะผู้โดยสารอยู่ในวัยผมกับสาวน้อยเกือบทั้งหมด

บนรถมีอาหารว่างและเครื่องดื่มขาย

รถไปถึงZweisimmenคนโดยสารอื่นๆเปลี่ยนรถเพื่อนั่งต่อไป Interlaken Ostแต่เราต้องการกลับ Lausanne  ลงไปหาข้อมูลว่ามีรถเที่ยวที่กลับได้เร็วกว่าไหมคำตอบคือไม่มีสาวน้อยนั่งรอที่ม้านั่งผมเดินไปสำรวจบริเวณสถานีมีป้ายบอกทางไปกระเช้าขึ้นเขาหน้าหนาวคงจะเป็นแหล่งเล่นสกีแต่ตอนนี้มันเหงาๆเป็นสถานีบ้านนอกโดยแท้

ผมมีโอกาสสังเกตหลังคาอาคารสถานีพบว่าโครงทำด้วยไม้สนเขามีป่าไม้มากและโครงสร้างไม้ดูสวยงามกว่าเหล็กหรือคอนกรีตและเมื่อสังเกตบ้านคนในชนบทและอาคารโรงแรมบ้านนอกทำด้วยไม้ทั้งสิ้นรวมทั้งโรงแรมที่ผมเคยไปพักที่Grindenwaldเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วด้วย

ระหว่างทางมีการก่อสร้างทางเพิ่มเติมเป็นระยะๆแสดงว่าทางการสวิสเขาคิดปรับปรุงเส้นทางความสะดวกและความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลาตัวโบกี้ของรถไฟGoldenPassก็ทันสมัยห้องน้ำกว้างและมีกลไกอำนวยความสะดวกครบครันประตูเปิดปิดล็อกด้วยการกดปุ่มอีเล็กทรอนิกส์และเปิดน้ำล้างมือเปิดลมเป่าด้วย sensor

เส้นทางรถไฟสายนี้ขึ้นเขาขึ้นๆลงๆความสูงอยู่เหนือระดับน้ำทะเลกว่า ๑,๒๐๐เมตร

ขากลับเราเลือกที่นั่งฝั่งตรงกันข้ามกับขามาคือเท่ากับนั่งด้านขวาของรถไฟรถออก 14.25 น.รถไฟแล่นผ่านสนามบินเล็กๆถึง ๒ ที่

วันนี้โชคดีมากอากาศดีแดดจ้าตลอดวันแต่อุณหภูมิยังหนาวสำหรับเรา

เมื่อรถไฟGoldenPass Line กลับไปถึงMontreuxเรารีบไปดูป้ายเหลืองหารถไฟกลับ Lausanne พบว่ามีรถที่จะออกอีก ๓ นาทีเราต้องรีบไปที่ชานชาลา 1 สาวน้อยขาเจ็บแต่เดินได้เร็วไปถึงประตูรถกำลังจะปิดเราต้องกระแทกมันให้ไม่ปิดยังไม่ทันหาที่นั่งได้รถก็ออกใช้เวลา ๓๐ นาทีก็ถึงโลซาน

ที่สถานีโลซานผมหาi อยู่นานเพราะมันแอบอยู่ถามวิธีไปโรงแรม Nash Carlton, 4 Avenue de Courเขาบอกให้ไป Metro ทางไป Ouchy ลงที่สถานีDelicesออกจากสถานีก็ถึงโรงแรมเลยสถานี Metro ที่สถานีรถไฟข้ามถนนไปก็ถึงสาวน้อยบอกว่าให้หาลิฟท์ลงไปเพราะขาเจ็บมากขึ้นนั่ง Metro ไป ๒ ป้ายก็ถึงและพบโรงแรม Nash Carlton แต่เขาบอกว่าโรงแรมเต็มเขาจะหาโรงแรมใหม่ให้เป็นโรงแรมสี่ดาวราคาเดียวกันชื่อ Alpha - Palmiersอยู่ใกล้สถานีรถไฟเดิน ๕ นาทีถึงผมบอกว่าสาวน้อยขาเจ็บเขาจึงจ้างแท็กซี่ไปส่ง

ไปถึงโรงแรม Alpha - Palmiersเจ้าหน้าที่บอกว่าทาง Nash Carlton ไม่ได้ติดต่อมาเขาขอเวลาโทรศัพท์กลับไปสักครู่ก็เรียบร้อยได้ห้อง 335 ซึ่งกว้างขวางกว่าห้อง 312 ที่ Bern Hotel มากและWifiก็สะดวกกว่าและไวกว่าด้วยผมเข้าใจว่าบัตรเครดิต VISA สีขาวของไทยพาณิชย์คงจะขลังพอสมควรเจ้าหน้าที่ของโรงแรมดูจะเอาอกเอาใจเป็นพิเศษ

เรื่องความบกพร่องของโรงแรม Nash Carlton เจ้าหน้าที่อ้างว่าเราจองทีหลังหลังจากห้องเขาเต็มแล้วและระบบ internet ของเขามีปัญหาความเป็นจริงคือผมจองผ่านbooking.comปัญหานี้ทั้งbooking.comและ Nash Carlton เสียชื่อผมคงจะไม่ใช้บริการของbooking.comอีก

วันนี้อาการปวดขาของสาวน้อยรุนแรงขึ้นแม้จะใช้ไม้เท้าช่วยแต่ยังใช้ไม่ค่อยเป็น

 

วิจารณ์ พานิช

๑๓ พ.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/540552

 

โครงการพัฒนาผู้นำหัวใจรับใช้สังคม

พิมพ์ PDF

บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ  The Heart of Higher Education : A Call to Renewalเขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmerและ Arthur Zajoncซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า  นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit) หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน(Transformative Learning)

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา  แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ  รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต  และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้  ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษาเข้าสู่การศึกษากระแสหลักเพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนาบูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน  และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning  ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ ๒ แบบ ว่า (๑) การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน  คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้   บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช  (๒) เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรืองอกงาม ภายในตน  ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดความรู้มาจากภายนอก

ผมได้ตีความเขียนบันทึกจากบทหลักในหนังสือจบแล้ว  แต่ยังมีส่วนเพิ่มเติม เพื่อบอกวิธีปฏิบัติอีกหลายตอน  ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์ต่ออาจารย์ที่ต้องการจัดการเรียนรู้แบบ Integrative/Transformative Learning อย่างจริงจัง

บันทึกตอนที่ ๑๑ นี้ ตีความจากส่วนหนึ่งของAppendix A : In the Classroom  เขียนโดย Alma G. Blount, Director, Hart Leadership Program, Terry Sanford Institute of Public Policy, Duke University เล่าเรื่อง SOL (Service Opportunities in Leadership) ของโครงการ Hart Leadership Programเป็นโครงการสำหรับ นศ. ระดับปริญญาตรี  ที่ นศ. ที่ได้รับคัดเลือกออกไปทำโครงการในภาคฤดูร้อน ในชุมชน  แล้วกลับมานำเสนอในมหาวิทยาลัยในภาคเรียนฤดูใบไม้ร่วง  แต่ก่อนหน้านั้น นศ. ต้องลงเรียนรายวิชา Border Crossing : Leadership Value Conflicts, and Public Lifeเสียก่อน  โปรดอ่านรายละเอียดของ course syllabus นะครับ จะเห็นวิธีปฏิบัติ  เขาเรียกว่าเป็นวิชาเตรียมความพร้อมสู่กิจกรรมเรียนรู้ด้วย research – service

Hart Leadership Program นี้ เขาทำมา ๒๕ ปีแล้ว

นี่คือตัวอย่างการออกแบบการเรียนรู้ที่วิเศษสุดสำหรับพัฒนาคนให้ครบด้าน หรือการเรียนรู้บูรณาการ  และสำหรับให้เกิด Transformative Learning คืองอกงามจากภายในตน จากการปฏิบัติด้วยตนเอง  โดยมหาวิทยาลัยจัดระบบสนับสนุน

จะเห็นว่า สถาบันนโยบายสาธารณะ  มหาวิทยาลัยดุ๊กจัดระบบสนับสนุนนศ. ของตนให้เกิด Transformative Learning โดยจัดให้มีโครงการ SOL ผนวกกับรายวิชา Border Crossing

วิธีการจัดการเรียนรู้นี้ เปรียบเสมือน 4 in 1 คือกิจกรรมเดียว ให้ผลงาน ๔ ด้าน คือ (๑) ด้านการผลิตบัณฑิต  (๒) ด้านการให้บริการสังคม  (๓) ด้านการวิจัย และ  (๔) ด้าน internationalization

ผมจะเล่าลงรายละเอียดมากหน่อย เพราะโครงการนี้น่าทำมาก


โครงการ SOL

โครงการ SOL รับสมัครคัดเลือก นศ. เข้าร่วมโครงการ มีการแข่งขันสูงมาก  นศ. ที่มีสิทธิ์สมัครเป็น นศ. ชั้นปี ๑ - ๓ โดยจะเรียนวิชาเอกใดก็ได้  ดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๐  เขาเรียก นศ. ที่ได้เข้าโครงการว่า SOLster(ผู้นำอาสา)

ในช่วง ๑๕ ปี ที่ผ่านมา ผู้นำอาสาเหล่านี้เดินทางไปประเทศในแถบอเมริกากลาง  ยุโรปตะวันออก  อัฟริกาใต้ รวมทั้งในเมืองต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา  เพื่อไปทำโครงการพัฒนาชุมชน  เช่น โครงการ microlending, บริการผู้ลี้ภัย, โครงการพัฒนาบริการสุขภาพ, โครงการพัฒนาเยาวชน เป็นต้น

นศ. ผู้นำอาสาเหล่านี้ต้องมีสถาบันเจ้าภาพ ในประเทศหรือเมืองที่ไปทำโครงการ  และมีอาจารย์ที่ปรึกษา (mentor) ของมหาวิทยาลัย ดุ๊กโดยมีเป้าหมายว่า จะเกิดความสัมพันธ์กับสถาบันเจ้าภาพ  ชุมชนที่ไปทำโครการ และกับ mentor เป็นความสัมพันธ์ระยะยาว หรือตลอดชีวิต  (อ่านถึงตรงนี้ ผมนึกถึงโครงการเยาวชน ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล)

นศ. ยกร่างข้อเสนอโครงการวิจัย ที่จะทำระยะยาว  ระบุโจทย์วิจัย และวิธีดำเนินการวิจัย และนำเสนอผลข้อค้นพบ  แล้วไปดำเนินการในช่วงปิดภาคฤดูร้อน  มีการจดบันทึกเหตุการณ์ที่ไปพบเห็น  และสิ่งที่ได้เรียนรู้ ตามโครงการที่กำหนดไว้ ทั้งในด้านสาระ และเชิงกระบวนการวิจัย   เมื่อจบเวลาภาคฤดูร้อน นศ. ผู้นำอาสา ส่งมอบผลงานของโครงการ (ซึ่งมักต้องทำต่อเนื่อง) ให้แก่ภาคีหุ้นส่วนในพื้นที่

เมื่อ นศ. ผู้นำอาสา กลับมามหาวิทยาลัยในภาคเรียนฤดูใบไม้ผลิ  ก็จะเข้าร่วมนำเสนอผลงาน ในการสัมมนานโยบายสาธารณะ  เพื่อให้ นศ. ได้ฝึกบูรณาการสิ่งที่ตนได้เรียนมาในช่วงฤดูร้อน เข้ากับทฤษฎีหรือหลักการด้านการเมือง นโยบาย และภาวะผู้นำ

นศ. ผู้นำอาสา ต้องทำเอกสารรายงานผลการค้นคว้าประเด็นทางสังคม โดยมี ๖ ส่วน ดังนี้

๑.  เรียงความ ในหัวข้อเชิงนโยบาย ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ไปทำในภาคฤดูร้อน  เพื่อสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ จากประสบการณ์ตรงของตนเอง

๒.  ผลการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติงานระดับล่าง ในงานตามหัวข้อในเรียงความในข้อ ๑  เพื่อสะท้อนว่า ผู้ปฏิบัติงานจริงมีความเห็น ความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้นอย่างไร  สอดคล้องหรือแตกต่างจากที่ นศ. อ่านจากตำราหรือแหล่งความรู้แหล่งอื่นอย่างไร

๓.  เขียนบันทึกเชิงนโยบาย ว่าในหัวข้อเชิงนโยบายนั้น มีทางเลือกที่แตกต่างกันกี่ทางเลือก  แต่ละทางเลือกมีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร  และ นศ. เห็นว่าทางเลือกใดเหมาะสมที่สุด เพราะอะไร

๔.  เขียนข้อสรุปเชิงวิเคราะห์  นำเสนอข้อเสนอแนะ ว่าต้องการภาวะผู้นำทางการเมืองอย่างไร  เพื่อดำเนินการตามข้อเสนอแนะของตน ให้ประสบความสำเร็จ

๕.  นำเสนอรายงานตาม ๔ ข้อข้างบนต่อชั้นเรียน  เพื่อตอบข้อซักถามและรับฟังข้อคิดเห็น ข้อโต้แย้ง หรือข้อเสนอแนะ อย่างกว้างขวาง  สำหรับนำไปปรับปรุงเอกสารรายงาน

๖.  ส่งรายงาน เพื่อให้อาจารย์ให้คะแนน


รายวิชา Border Crossing : Leadership, Value Conflicts, and Public Life

นศ. ที่จะสมัครเข้าโครงการ SOL ต้องเรียนวิชานี้เสียก่อน  เพื่อเตรียมความพร้อมไปเผชิญชีวิตและการทำงานในสภาพสังคมและวัฒนธรรมที่ตนไม่คุ้นเคย  และเพื่อเตรียมพื้นความรู้ในการทำวิจัยในชุมชน ในโครงการ SOL หรือในโครงการservice learning โครงการอื่น  เพื่อให้เข้าใจความซับซ้อนของการทำงานรับใช้สาธารณะ

นศ. จะได้เรียนรู้ทั้งเนื้อหาเชิงทฤษฎี และทักษะในการใคร่ครวญไตร่ตรองอย่างเข้มข้น (critical reflection skills)  สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานวิจัย (และพัฒนา) ร่วมกับองค์กรชุมชน

ผมตีความว่า reflection skills ก็คือทักษะการทำ AARรวมทั้งทักษะในการทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” ของกระบวนการ AAR นั่นเอง

โปรดอ่าน course syllabusของวิชานี้เอาเองนะครับ  ผมขอเชิญชวนให้อาจารย์มหาวิทยาลัยอ่าน เพื่อเรียนรู้วิธีใช้ เอกสารรายละเอียดของรายวิชาสื่อสารกับ นศ. อย่างมีคุณภาพ

หลังจากเขียนบันทึกนี้ ๒ เดือน กลับมาอ่านทบทวนใหม่  ผมนึกถึง วิชาการสายรับใช้สังคม

 

 

วิจารณ์  พานิช

๘ ก.พ. ๕๖ ปรับปรุง ๕ เม.ย. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/540554

 


หน้า 471 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5606
Content : 3049
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8600930

facebook

Twitter


บทความเก่า