Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ทำไมเรียก..หลับใน?? โดย สมศรี นวรัตน์

พิมพ์ PDF

หลับใน (Sleep without closing eyes) ....คือ... หลับใน(ใจ) หรือ อาการที่คล้ายๆ กับหลับแต่ตายังลืมอยู่ ... หรือ ... การนอนหลับในระยะเวลาอันสั้นประมาณ 1 - 2 นาที นั่นเอง

 

เราคงได้ยินคำว่า สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ พบว่าเกิดจาก

- การขับรถเร็วเกินกำหนด

- รถตัดหน้ากระชั้นชิด

- เมาสุรา

- ขาดความชำนาญในการขับรถ

- ฝ่าฝืนเครื่องหมาย, ป้าย, สัญญาณไฟจราจร

- ไม่ให้สัญญาณจราจร

- การ “หลับใน” ....



(ภาพจากInternet)


หลับใน (Sleep without closing eyes) .... หลับใน(ใจ) หรือ อาการที่คล้ายๆ กับหลับแต่ตายังลืมอยู่ ... หรือ ... การนอนหลับในระยะเวลาอันสั้นประมาณ 1 - 2 นาที


(ภาพจากInternet)


การนอนหลับ .... เป็นสภาวะหนึ่งของร่างกาย ... ที่การเคลื่อนไหวต่างๆ จะลดลง .... พร้อมทั้งการรับรู้ต่อโลกภายนอกก็จะลดลง...จนเกือบจะหมด แต่ก็สามารถที่จะตื่นกลับมารู้ตัวได้อย่างง่ายภายใน1-2 นาทีเท่านั้น ..... นักวิทยาศาสตร์ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า....ทำไมเราจึงต้องนอนด้วย ..... แต่เชื่อแน่ว่า....การนอนหลับเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญสำหรับชีวิต.... เราทุกคนจะรู้สึกสดชื่น ... มีเรี่ยวมีแรงหลังจากได้นอนเต็มอิ่ม นั่นคือ การนอนหลับได้ทำหน้าที่ของมันโดยสมบูรณ์แล้ว วงจรการนอนหลับจะแบ่งออกได้เป็น 2วงจร เกิดขึ้นสลับกันไปในแต่ละคืน

วงจรแรก เรียกว่า NREM Sleep : Non-rapid eye movement sleep… วงจร NREM เป็น....วงจรที่เกี่ยวกับการหลับที่จะลึกลงไปเรื่อยๆ แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ตั้งแต่หลับตื้นไปจนถึงหลับลึก

วงจรที่สอง เรียกว่า REM Sleep : Rapid eye movement sleep…. วงจร REM เป็น.... วงจรที่กล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกายแทบจะหยุดการทำงานกันหมด ยกเว้น หัวใจ, กระบังลมเพื่อการหายใจ, กล้ามเนื้อตา และกล้ามเนื้อเรียบ เช่น หลอดเลือดและสำไส้

การนอนหลับ ของเราจะเริ่มด้วยวงจร NREM ก่อนแล้วจึงเกิดวงจร REM สลับกันไปเรื่อยๆ โดยในครึ่งคืนแรกมักจะเป็นวงจร NREM เป็นส่วนใหญ่ ส่วนครึ่งคืนหลังมักจะเป็น REM

ความฝัน ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องเป็นราวจะเกิดในวงจร REM ดังนั้นเราจึงมักจะพบว่าเราฝันบ่อยตอนเช้ามืด



.... และคนเรามีโอกาสหลับในระหว่างการขับรถได้ทุกคนและอีกหลายท่านต้องเคยรู้สึกง่วงนอนในขณะขับรถ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่รถติดหรือวิ่งทางไกลมากๆ

การขับรถหลับใน .... กลไกที่่เกิดขึ้น คือ เวลาเราอดนอนสมองจะทํางานช้าลง มีอาการวูบหลับช่วงสั้นๆ และตามมาด้วย การหลับใน... การที่สมองจะมีประสิทธิภาพที่ดีอย่างเต็มที่ได้ สมองต้องการชั่วโมงการนอนชดใช้ชั่วโมงการนอนที่สูญเสียไปเป็นระยะเวลาหลายวัน..... เพราะฉะนั้นทางที่ดีคือ...ถ้าไม่ได้นอนเต็มที่ติดกันอย่างน้อย 2 วัน จึงไม่ควรขั บรถ หรือถ้ ขับรถก็อย่าขับรถทางไกล....ไม่เช่นนั้นท่านมีโอกาส... "หลับใน" ..... นะคะ  ...

อาการหลับใน .... เป็นอาการหนึ่งของ ความเหนื่อยล้า ...ที่เราสามารถรู้สึกได้และมีสัญญาณก่อนหน้า ....ที่บ่งบอกว่าร่างกายอ่อนเพลียจากการทำงานหนัก และ ... ต้องการพักผ่อนเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ .... การทำงาน หรือ กิจกรรมใดที่ใช้เรี่ยวแรง หรือ ก่อให้เกิดความเครียดเป็นพิเศษนั้น .... จะทำให้ร่างกายต้องการพักผ่อนเร้วยิ่งขึ้นตามไปด้วย ... ซึ่งเมื่อคุณต้องการพักผ่อน ... แน่นอนวิธีที่ดีสุด คือ การนอน .... และร่างกายเราก็ไม่รู้จักวิธีอื่นที่ทำให้มันสดชื่น  .... จึงเป็นที่มาของอาการ.... หลับใน .... ที่เป็นอันตรายอาจจะถึงชีวิตเลยทีเดียว



อาการหลับใน นั้นโดยมากจะเกิดขึ้น .... เมื่อคุณขาดการพักผ่อนอย่างต่อเนื่อง ... และ... มีอาการเหนื่อยล้าระหว่างวันรวมอยู่ด้วย .... ทำให้รู้สึกไม่สดชื่นระหว่างวัน ... และเมื่อใดก็ตามที่มีสถานที่หรืออยู่ในที่เงียบๆ เป็นระยะเวลานาน .... ร่างกายก็จะปิดตัวเองลงชั่วคราว และ..... เป็นอาการหลับใน


สรุปได้ว่า.... "หลับใน" (sleep without closing eyes) เป็นการหลับทั้งที่ยังลืมตา/หรือ  ===> Sleep without closing eyes ... คนไทยเรียกว่า... การหลับใน .... หลับใน...เป็นอาการนอนในระยะเวลาอันสั้น 2-3 วินาทีและ มีอาการที่คล้ายๆ กับหลับแต่ตายังลืมอยู่แต่ร่างกาย/สมองหลับไปแล้ว นะคะ ...            .......ดังนั้น... การหลับใน .... จึงอันตรายอย่างยิ่งต่อทุกชีวิตที่อยู่ด้วยในรถนะคะ ...... ถ้าเรา .... รักตนเอง ... รักครอบครัว ... รักลูก .... ก่อนขับรถต้องทบทวน....สุขภาพ "กาย & ใจ" ของตนเองก่อนนะคะ ....เพราะ "ชีวิตมีค่ามาก"  ... ฉะนั้นต้องท่านนอนให้พอ 2-3 วัน ก่อนเดินทางไกล และ ... ถือหลัก "ง่วงไม่ขับ" ไว้เสมอ นะคะ  และ... การนอนไม่พอจะเพิ่มเสี่ยงทันที (Risk) ซึ่งจะทำให้เกิด ..... การหลับใน .... ซึ่งเป็นเกิดอาการในระยะช่วงสั้นๆ หรือ Microsleeps ซึ่งนานเพียง 2-3 วินาที ที่เร็วมากและอันตรายมาก ค่ะ .... ถ้าง่วงนอนต้องหยุดขับรถทันที่นะคะ .... ด้วยความห่วงใยค่ะ

 


 

มีโรงเรียนไปทำไม : 5. ปฏิรูปการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ

พิมพ์ PDF

การปฏิรูปการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้จริงต้องการการลงมือทำ ๓ เรื่องหลัก คือ (๑) เปลี่ยนเป้าหมายของการเรียนรู้ (๒) เปลี่ยนการสอบหรือประเมินผล (๓) เปลี่ยนบทบาทของครู

 

มีโรงเรียนไปทำไม  : 5. ปฏิรูปการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ

บันทึกชุด มีโรงเรียนไปทำไม รวม ๗ ตอนนี้ ตีความจากหนังสือ Why School? : How Education Must Change When Learning and Information Are Everywhere เขียนโดย Will Richardson บอกตรงๆ ว่า ระบบการศึกษาจะอยู่ในสภาพปัจจุบันไม่ได้  ต้องเปลี่ยนแปลงในทำนองเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

การปฏิรูปการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้จริงต้องการการลงมือทำ ๓ เรื่องหลัก คือ (๑) เปลี่ยนเป้าหมายของการเรียนรู้  (๒) เปลี่ยนการสอบหรือประเมินผล  (๓) เปลี่ยนบทบาทของครู

เปลี่ยนเป้าหมายการเรียนรู้

เป้าหมายการเรียนรู้ไม่ใช่เพื่อเรียนสาระวิชาความรู้เท่านั้น  แต่ต้องเพื่อให้ได้ทักษะ คือทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  และให้ได้ 21st Century Literacies ตามที่ได้เสนอไว้โดย NCTE ของสหรัฐอเมริกา  ที่ได้ลงรายละเอียดไว้ในตอนที่ ๑ ของบันทึกชุดนี้แล้ว

เปลี่ยนการสอบหรือประเมินผล

หนังสือบอกว่า ให้ออกข้อสอบที่ค้นคำตอบจาก กูเกิ้ล ไม่ได้  ซึ่งหมายความว่า ต้องไม่สอบข้อเท็จจริงนั่นเอง  ตีความอีกชั้นว่าข้อสอบต้องทดสอบความคิด  และตีความอีกสองชั้นว่า ต้องทดสอบความคิดที่ซับซ้อน  ข้อสอบแบบนี้อนุญาตให้ค้นข้อมูลจากที่ไหนก็ได้ ตามสบาย

การสอบต้องเปลี่ยนยุค จากยุคความรู้หายาก  มาเป็นการสอบในยุคความรู้อุดมและหาง่าย  คือต้องไม่สอบความจำ และไม่ถามเรื่องที่ใช้ความคิดแบบชั้นเดียว หรือมีคำตอบเดียว  การสอบต้องสอบความสามารถสำคัญตามทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  และตาม 21st Century Competencies ของ NCTE (ตอนที่ ๑)

การสอบแบบที่ใช้กันในปัจจุบัน คือใช้ข้อสอบมาตรฐาน (standardized test)  เป็นตัวการบ่อนทำลายคุณภาพการศึกษาที่ร้ายที่สุดโดยเราไม่รู้ตัว หนังสืออ้างคำของศาสตราจารย์ Yong Zhao แห่งมหาวิทยาลัยโอเรกอน  และผมถอดความมาว่า โดยการเอาการสอบ/ข้อสอบที่ไร้ความหมาย ไปบังคับสอบแก่โรงเรียนและนักเรียน  วิญญาณการศึกษาของอเมริกันได้ถูกทำลาย  เป็นการวางยาพิษแก่บรรยากาศการศึกษา  และทำลายขวัญกำลังใจของนักการศึกษา  เป็นการบังคับให้ครูสอนเพื่อสอบ (teach to the test) ทำให้กระบวนการเรียนรู้คับแคบ และปิดกั้นเด็กเป็นล้านๆ คน  โดยเฉพาะเด็กจากครอบครัวยากจน ออกจากการศึกษาที่แท้จริง  การสอบนี้ ได้ผลาญงบประมาณการศึกษาไปมากมาย  แทนที่จะนำมาใช้เพื่อการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณค่าแท้จริง  และได้สร้างความหวาดกลัว ความกังวล และความไม่มั่นใจ ให้แก่เด็กของเรา  มันดึงความสนใจของเรา ออกไปจากเรื่องสำคัญที่ควรเอาใจใส่ ได้แก่ความยากจน โลกาภิวัตน์ และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี  มันปิดกั้นโอกาสและทรัพยากร สำหรับนำมาใช้สร้างนวัตกรรมเพื่อปรับปรุงการศึกษาอย่างแท้จริง  และที่ร้ายที่สุด มันได้กัดกร่อนความเข้มแข็งของการศึกษาอเมริกัน ที่เคยทำให้อเมริกาเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรม ความสร้างสรรค์ ความเป็นผู้ประกอบการ และประชาธิปไตย

ผมขอแนะนำให้อ่านข้อความในย่อหน้าข้างบน ๓ ครั้ง  เพื่อตีความทำความเข้าใจว่ามันเป็นจริงต่อสยามประเทศแค่ไหน

ข้อสอบที่ดี ต้องกระตุ้นให้เด็กเข้าไปค้นคว้าในแหล่งความรู้มหาศาล ทางออนไลน์ และในเครือข่ายของคนจำนวนมากมายที่เชื่อมต่อกันโดย อินเทอร์เน็ต   ซึ่งหมายความว่า การสอบในยุคปัจจุบัน ต้องเลยจาก open-book test และ open-phone test  และเลยจากคำถามที่อาจารย์กู๋ (Google) ตอบได้  ไปสู่ open-network test  คือไปถามใครก็ได้  แต่ต้องประมวลความรู้เอามาตอบเอง  โดยต้องรู้จักกลั่นกรองความรู้เอามาเฉพาะที่น่าเชื่อถือและตรงความต้องการ เอามาใช้งาน

นั่นคือ การสอบต้องเปลี่ยนจาก knowledge-based assessment  ไปสู่ performance-based assessment  คือทดสอบการนำความรู้มาใช้งาน หรือนำความรู้สู่ปฏิบัติการ  การทดสอบแบบนี้ มีความเป็นนามธรรม (subjectivity) สูง  ใช้เวลามาก  และต้องการความซื่อสัตย์ของผู้จัดการสอบและผู้สอบ  เป็นความท้าทายของการสอบแบบใหม่นี้

เปลี่ยนบทบาทครู

นี่คือการเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการสอน  ผู้เขียนอ้างถึงคำของนักจิตวิทยาชื่อ Herbert Gerjuoy  ที่ทำนายว่า “คนไร้การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑  จะไม่ใช่คนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้  แต่จะเป็นคนที่ไม่สามารถ learn, unlearn และ relearn”

คนที่มีการศึกษายุคใหม่ คือคนที่มีทักษะในการเรียนรู้  มีทักษะในการเลิกเชื่อชุดความรู้ที่เก่าและผิด  และมีทักษะในการเรียนความรู้ชุดใหม่ที่ถูกต้อง

ครูมีหน้าที่เอื้อให้ศิษย์มีทักษะนี้

เพราะยุคนี้ความรู้งอกเร็วมาก และยิ่งเร็วขึ้นๆ  ความรู้เดิมหลายส่วนกลายเป็นสิ่งที่ผิด  คนเราจึงต้องมีทักษะในการเอาความรู้ผิดๆ ออกไปจากสมอง  หรือมีความสามารถตรวจสอบว่าในเรื่องนั้นๆ เวลานี้ความรู้ที่ถูกต้องอยู่ตรงไหน  คือเราต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาในเรื่องความเป็นพลวัตของความรู้

ผลการวิจัยบอกว่า ครึ่งหนึ่งของความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบัน จะกลายเป็นความรู้ที่ผิดภายใน ๕ ปี  ผมเข้าใจว่า ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้ก็เป็นไปในแนวเดียวกัน  ครูจึงต้องมีหน้าที่ learn, unlearn และ relearn หลักการและวิธีการทำหน้าที่ครู  ไปพร้อมๆ กับจัดการเรียนให้ศิษย์มีทักษะของการ learn, unlearn และ relearn  ซึ่งเป็นสิ่งที่สอนไม่ได้ แต่จัดให้เรียนรู้ได้ โดยการจัดให้ศิษย์ลงมือปฏิบัติ ตามที่ระบุไว้ในตอนที่ ๔

การฝึกทักษะ learn, delearn และ relearn ของครูเป็นเรื่องง่ายมาก หากรู้จักดึงเส้นผมที่บังภูเขาออก  นั่นคือ ครูต้องไม่สอน แต่ต้องเรียน  และครูเป็นคนโชคดีที่สุดในโลกในเรื่องการเรียน  เพราะมีคนจ้างให้เรียน  คือเรียนไปพร้อมกับศิษย์  การเรียนไปพร้อมกับศิษย์ (ตามแนวทางในตอนที่ ๔) คือการฝึกทักษะ learn, delearn และ relearn ของครู

ครูต้องเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้สอน” เป็น “ผู้เรียน”  เรียนรู้ไปพร้อมกับศิษย์  ก็จะตระหนักเอง ว่าความรู้ที่เคยเรียนมานั้น ส่วนไหนที่เป็นความรู้ที่เก่าและผิดเสียแล้ว  ก็จะได้ฝึกทักษะ unlearn & relearn ของตนเอง

๖ สิ่ง ที่ครูต้องเปลี่ยนใจ (unlearn) และเรียนรู้ใหม่ (relearn)

1.  แลกเปลี่ยน (share) ทุกสิ่ง หรืออย่างน้อยบางสิ่ง

2.  ค้นพบ (discover) ไม่ใช่ถ่ายทอด (deliver)

3.  คุยกับคนแปลกหน้า

4.  เป็นผู้กำกับการเรียนรู้ของตนเอง (master learner)

5.  ทำงานจริง

6.  ถ่ายอำนาจ

แลกเปลี่ยน

ครูเป็นคนโชคดีในชีวิตการงาน ที่หากรู้จักสังเกตสิ่งดีๆ (best practice) ที่เกิดขึ้นในกระบวนการเรียนรู้ของศิษย์  ก็สามารถนำสิ่งดีๆ เหล่านั้นออกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงกว้าง ผ่านระบบ ออนไลน์  และในกลุ่มเพื่อนครูด้วยกัน  สิ่งดีๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นทุกวัน  อยู่ที่ครูสังเกตเห็นหรือไม่  เห็นแล้วมองเห็นคุณค่าหรือไม่

หลักการสำคัญคือ ครูในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องไม่ใช่เป็นเพียงครูของศิษย์ ๓๐ - ๔๐ คนในห้องเรียนอีกต่อไป  ต้องทำตัวเป็นครูของเด็กทั่วโลก  แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเด็ก เพื่อนครู และ กับคนทั้งโลกกว่า ๖ พันล้านคน  โดยการแลกเปลี่ยนความรู้ที่เกิดขึ้นในชีวิตการทำงาน และชีวิตของตน  ออกไปทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  การทำเช่นนั้น จะทำให้ครูเป็น “ผู้เรียนรู้” ไม่ล้าสมัย  หลักการนี้ท้าทายครูยุคใหม่เป็นอย่างยิ่ง

จะเห็นว่า ครูในศตวรรษที่ ๒๑ มีคุณค่ามากกว่าที่คิด

ข้อจำกัดที่ทำให้ครูปฏิบัติตามข้อเสนอนี้ไม่ได้ คือ ความกลัว เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการยึดติดวัฒนธรรมแข่งขัน ไม่มีวัฒนธรรมแลกเปลี่ยน  ครูต้อง unlearn วัฒนธรรมแข่งขัน  และ relearn วัฒนธรรมแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในศตวรรษที่ ๒๑

วิธีการแลกเปลี่ยนทำได้ง่ายๆ และทำได้หลายวิธี เช่นเขียน บล็อก (อย่างที่ผมกำลังทำนี่แหละ)  บันทึกวิดีทัศน์กิจกรรมในชั้นเรียนที่น่าสนใจ นำขึ้น YouTube  หรืออาจเป็นเพียง pdf file ของเอกสารแจกนักเรียน  เป็นต้น

หนังสือยกตัวอย่างครูวิทยาศาสตร์ ชื่อ Torie Engelbrecht แห่ง Marengo Community High School ที่เมือง Marengo  รัฐ Illinois  เล่าเรื่องการสร้างสรรค์ในห้องเรียนของตน  ทำให้มีคนมาติดตามเธอมากมาย ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๕๕ (ใน Twitter) ๓ พันคน   และมีเพื่อนครูเข้าาแนะนำวิธีประเมิน proficiency ของนักเรียน  แทนที่จะใช้เกรดมาตรฐาน A, B, C, D, F แบบที่ใช้กันทั่วไป

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ครูจะสามารถส่งเสริมให้ศิษย์เข้าไป ลปรร. ออนไลน์ อย่างสร้างสรรค์ และมีจริยธรรม ได้ด้วย  วิธีตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ ด้านทักษะการ ลปรร. ในระดับโลก ทำได้โดยการ Google ชื่อและนามสกุลลูกศิษย์ ดูว่ามีบทบาทสร้างสรรค์อยู่ใน พื้นที่ ไซเบอร์ อย่างไรบ้าง  ในโลกยุคปัจจุบัน คนเราต้องสร้างตัวตนของตนเองให้เป็นที่รู้จักในพื้นที่ ไซเบอร์  ครูต้องช่วยศิษย์ให้สร้างตัว  และที่สำคัญ ตัวครูเองก็ต้องสร้างตัวเองด้วย

ค้นพบ (discovery)

ในโลกยุคศตวรรษที่ ๒๑ การเรียนคือการค้นพบ (discovery) ด้วยตนเอง  ไม่ใช่การรับถ่ายทอด (delivery) จากผู้อื่น  หนังสือยกตัวอย่างโรงเรียน High Tech High ที่เมืองซานดิเอโก แคลิฟอร์เนีย ที่จัดการเรียนรู้แบบค้นหาความรู้ (inquiry-based learning)  นักเรียนตั้งคำถามที่ยากและซับซ้อน แล้วทำโครงการทั้งปี เพื่อหาคำตอบเอง  เช่นโครงการ สุขภาวะของอ่าว ซานดิเอโก”  ของนักเรียนชั้น ม.๕ วิชา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ที่ร่วมกันดำเนินการ  โดยตั้งคำถามว่ามนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมอย่างไร  และมีคำถามย่อยมากมาย เช่น ตำแหน่งของมนุษย์ในธรรมชาติเป็นอย่างไร   อารยธรรมจำเป็นต้องเป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมเสมอไปหรือไม่  เราสามารถเยียวยาความสัมพันธ์ที่ขาดสะบั้นกับสภาพแวดล้อมได้ไหม  เราสามารถยอมรับบทบาทของเราในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติได้หรือไม่  คำตอบต่อคำถามเหล่านี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว

เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ นักเรียนทั้งค้นคว้าโดยการลงพื้นที่ และค้นจากแหล่งความรู้ที่มีอยู่แล้ว   ครูไม่สอน ไม่กำหนด lesson plan  แต่ทำหน้าที่กระตุ้นแรงบันดาลใจต่อการตั้งคำถาม และการค้นคว้าหาคำตอบ   คอยหาทางเชื่อมโยงกับวิชาที่ต้องการให้นักเรียนเรียนรู้  ครูต้องเก่งในการตั้งคำถาม และไวต่อสถานการณ์การเรียนรู้ที่แตกต่างกันของนักเรียนต่างกลุ่ม หรือต่างคน  ครูช่วยชี้ทางให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างทรงคุณค่า และเชื่อมโยงกับมาตรฐานที่กำหนด  ครูต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ และเป็นตัวอย่าง “ผู้เรียนรู้” ที่ดี  โปรดสังเกตว่า ครูต้องไม่ทำตัวเป็น “ผู้รู้”

นักเรียนแต่ละคนทำบันทึกการเรียนรู้ส่วนบุคคล  บันทึกกระบวนการเรียนรู้ และข้อค้นพบ/ข้อเรียนรู้  ทีมนักเรียนทำโครงงานบนฐานของชีวิตจริง และนำเสนอต่อทั้งเพื่อนในชั้น และต่อผู้ใหญ่ที่อยู่ในชุมชนรอบอ่าว ซานดิเอโก  รวมทั้งตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือชื่อ San Diego Bay : A Call for Conservation ที่รวบรวมข้อเขียนของนักเรียน  ภาพถ่าย  กวีนิพนธ์  ผลงานวิจัย  และบทสัมภาษณ์  โปรดสังเกตว่าหนังสือเล่มนี้พิมพ์ขายจริงๆ  มีขายโดย Amazon และได้รับเรทติ้งถึง ๕ ดาว คือสูงสุด  เป็นผลงานวิจัยที่มีข้อค้นพบมากมายทางด้านชีววิทยา  รวมทั้งข้อค้นพบสิ่งมีชีวิตที่นักเรียนไม่คาดคิดว่าจะพบ คือคนไร้บ้านในชุมชนรอบอ่าว  นักเรียนได้เขียนถึงคนเหล่านี้ในหนังสือด้วย

การเรียนแบบค้นพบ เปิดโอกาสให้ได้พบสิ่งที่ไม่คาดฝัน  ซึ่งการเรียนแบบรับถ่ายทอดจะพบแต่ สิ่งที่กำหนดให้เรียนเท่านั้น

นี่คือตัวอย่างของการเรียนแบบค้นพบ (discovery) ของทีเดียว ๓ วิชา คือวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และมนุษยศาสตร์

คุยกับคนแปลกหน้า

เมื่อห้องเรียนเชื่อมโยงกับ อินเทอร์เน็ต นักเรียนก็จะไม่ใช่เรียนจากครู หรือเรียนกับครู (และเพื่อนร่วมชั้น) เท่านั้น  แต่นักเรียนจะมีโอกาสเรียนจากคนที่รู้เรื่องนั้นดีที่สุด  เช่นเมื่อนักเรียนเรียนเรื่องผึ้ง ก็สามารถติดต่อผู้เขียนหนังสือเรื่องผึ้ง หรือทำวิจัยเรื่องผึ้ง เพื่อถามประเด็นที่นักเรียนสนใจ หรือที่นักเรียนยังไม่เข้าใจ

เท่ากับว่าในยุคสังคมเชื่อมต่อ เรามีครูอยู่ทั่วไป คนแปลกหน้ากลายเป็นครูหากเรารู้วิธีติดต่อเขา   คนเหล่านี้อาจเป็นนักการเมือง นักวิทยาศาสตร์  ผู้สื่อข่าว  นักกีฬา  นักดนตรี ฯลฯ

นักเรียนต้องเรียนรู้ที่จะแยกแยะคนแปลกหน้าที่เป็นคนดี ออกจากคนเลว  ครูจะต้อง โค้ช ให้นักเรียนได้เรียนทักษะนี้  เพราะจะเป็นทักษะสำคัญที่จะมีคุณค่ายิ่งต่อชีวิต

เป็นผู้กำกับการเรียนรู้ของตนเอง

ในยุคที่ความรู้เพิ่มพูนและโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว  คนที่เป็นนักเรียนรู้ (learner) จะก้าวไปข้างหน้า  คนที่ทำตัวเป็นผู้คงแก่เรียน (learned) จะจมอยู่กับโลกแห่งอดีต

ในโลกที่ความรู้อุดม  คนที่เป็นนักเรียนรู้จะครองโลก

คนที่จะมีชีวิตที่ดีอยู่ในโลกของการแข่งขัน ไม่ใช่คนที่มีความรู้มาก  แต่เป็นคนที่สามารถนำความรู้ไปทำประโยชน์ได้

บทบาทของครูในศตวรรษที่ ๒๑ จึงไม่ใช่แค่ช่วยให้นักเรียนเข้าถึงความรู้  แต่ต้องช่วยให้นักเรียนได้ฝึกกลั่นกรองเลือกเอาความรู้มาใช้ประโยชน์ให้เกิดผลตามที่ต้องการได้  รวมทั้งครูต้องเป็นตัวอย่างของนักพัฒนาคุณสมบัติของการเป็นผู้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  ได้แก่ ความต่อเนื่องคงเส้นคงวา  ความเข้าใจคนอื่น  การแบ่งปัน  ความร่วมมือ  แรงปราถนาที่จะเรียนรู้  ความสร้างสรรค์  ความสงสัยใคร่รู้  ครูจะต้องหาทางให้ศิษย์ฝึกฝนซึมซับคุณสมบัติเหล่านี้

ในเมื่อครูต้องเป็นผู้เรียนรู้  ครูจึงต้องมีบทบาทใน PLC ของโรงเรียน

ทำงานจริง

ผลงานที่นักเรียนนำมาบ้านมักเป็นงานหลอกๆ ไม่ใช่หลักฐานของการเรียนรู้ที่แท้จริง  เพราะไม่ได้อยู่บนฐานของการปฏิบัติในชีวิตจริง   ไม่ได้เป็นการเรียนรู้จากการสร้างความรู้ขึ้นใช้งานจริง  แต่เป็นการตอบคำถามที่เน้นความจำหรือความเชื่อตามที่ครูสอน  ไม่ได้มาจากการใช้ความคิด

ตีความให้เข้ากับ Active Learning  ครูต้องเปลี่ยนการเรียนรู้ของศิษย์จาก Passive Learning มาเป็น Active Learning  และการเรียนแบบ PBL เป็นรูปแบบหนึ่ง   โครงงานเรื่องสุขภาวะของอ่าวซานดิเอโก ที่กล่าวถึงในตอนต้น เป็นตัวอย่างที่ดีของ PBL

การทำงานจริง  โครงงานจริง มีผลรับใช้สังคม เป็นประโยชน์ต่อสังคมดังกรณีของอ่าวซานดิเอโก  และโครงงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอ่านได้ ที่นี่

ทำให้ผมนึกถึงโครงงานของนักเรียนชั้นมัธยมของโรงเรียนรุ่งอรุณ รับทำโครงการ HIA ให้กับ สช. รับชมได้ ที่นี่ เป็นการเรียนรู้แบบทำงานจริงที่ได้ผลงานคุณภาพสูง

ถ่ายอำนาจ

ครูต้องถ่ายอำนาจในการควบคุมกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน ให้แก่ตัวนักเรียน  โดยต้องมีวิธีการที่เป็นระบบระเบียบ  เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกกำกับการเรียนรู้ของตนเอง  ฝึกเสาะหาครู  ฝึกสร้างห้องเรียนของตน และฝึกหาเพื่อนมาร่วมกันเรียนรู้  ซึ่งต่อไปนักเรียนจะต้องนำไปใช้ในชีวิตจริง

วิธีถ่ายอำนาจอย่างเป็นรูปธรรมคือ การจัดการเรียนรู้แบบ Project-Based Learning  ให้นักเรียนได้เรียนจากการทำงานจริงตามหัวข้อข้างบนนั่นเอง

ครูเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอน มาทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (facilitator)  หรือเป็นโค้ช

โดยสรุป การเรียนรู้ของนักเรียน แทนที่จะเรียนวิชา...  ต้องเปลี่ยนไปเน้นเรียนวิธีเรียนรู้วิชา...  คือเปลี่ยนไปเน้น learning how to learn นั่นเอง  และการเรียนเพื่อให้ได้ทักษะการเรียนรู้ในท่ามกลางความรู้ที่มีมากมายล้นเหลือ  ต้องเรียนแบบลงมือทำ

ในยุคปัจจุบัน หากเรามีทักษะที่เหมาะสม เราสามารถมี “ครู” และ “ห้องเรียน” ติดตัวเราไปในทุกที่  แต่เราต้องตีความ “ครู”  “ห้องเรียน” และ “มีการศึกษา”  เสียใหม่ ให้สอดคล้องกับยุคสมัย

หากจะให้การปฏิรูปการเรียนรู้บรรลุผลสำเร็จได้จริง ๓ ปัจจัยหลัก ตามที่กล่าวข้างบนนั้น ยังไม่สำคัญเท่าปัจจัยที่ ๔ คือการยุบ หรือเปลี่ยนแปลงกระทรวงศึกษาธิการอย่างถอนรากถอนโคน  โดยกระทรวงศึกษาธิการควรเล็กลง ๑๐ เท่า  และโอนอำนาจในการปฏิรูปการเรียนรู้ไปให้โรงเรียนและจังหวัด หรือ อปท.

วิจารณ์ พานิช

๑๒ เม.ย. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/533066

 

นร./นศ. นักสื่อสารร่วมมือระดับโลก

พิมพ์ PDF

นักเรียนได้ฝึกทักษะพิเศษคือความเข้าใจคนในต่างประเทศ ต่างศาสนา/วัฒนธรรม เกิดทักษะความเข้าใจคนอื่น (empathy)

 

นร./นศ. นักสื่อสารร่วมมือระดับโลก

เป็นรูปแบบการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยใช้ ICT อีกรูปแบบหนึ่ง  นร. ต้องทำงานเป็นทีม ทำหน้าที่ต่างๆ กันถึง ๑๒ แบบ  เกิดการเรียนรู้ทักษะความเข้าใจ (empathy) เพื่อนมนุษย์ที่คิดต่างและอยู่ในต่างศาสนาต่างภูมิวัฒนธรรม  และการเรียนรู้อื่นๆ อีกรวม ๕ กลุ่ม

ใช้เครื่องมือสื่อสารทางไกลที่แทบไม่มีค่าใช้จ่ายเลยคือ Skype

ผมได้ทำ ScreenCapture ด้วยโปรแกรม Jing และนำออก Screencast ที่ http://screencast.com/t/aARXbkW9E4a เป็นการฝึกหัดการสื่อสารการปฏิรูปการเรียนรู้ในสังคมไทยด้วยสื่อผสม

วิจารณ์ พานิช

๑๖ เม.ย. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/533068

 

มีโรงเรียนไปทำไม : 4. โรงเรียนแบบใหม่

พิมพ์ PDF

ใน “โรงเรียนแบบใหม่” ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดเกือบทุกสิ่ง นี่คือการเรียนรู้ยุคใหม่ ที่อาจเรียกว่า Learners-Directed Education - การศึกษาแบบที่ผู้เรียนเป็นผู้อำนวยการการเรียนรู้ ซึ่งตรงกันข้ามกับการศึกษาแบบเก่า ที่ครูและผู้บริหารระบบการศึกษาเป็นผู้อำนวยการการเรียนรู้ นักเรียนเป็นเพียงผู้รอรับถ่ายทอดความรู้

 

มีโรงเรียนไปทำไม  : 4. โรงเรียนแบบใหม่

บันทึกชุด มีโรงเรียนไปทำไม รวม ๗ ตอนนี้ ตีความจากหนังสือ Why School? : How Education Must Change When Learning and Information Are Everywhere เขียนโดย Will Richardson บอกตรงๆ ว่า ระบบการศึกษาจะอยู่ในสภาพปัจจุบันไม่ได้  ต้องเปลี่ยนแปลงในทำนองเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ผู้เขียนเล่าเรื่องลูกชายอายุ ๑๓ ปีของตน ชื่อ ทักเก้อร์  ที่เรียนโดยใช้ ซอฟท์แวร์ Minecraft ในการเรียนรู้แบบ plaern (play and learn)  โดยเรียนที่บ้านในช่วงฝนตกและอากาศหนาว  ออกไปเล่นนอกบ้านไม่ได้  Minecraft เป็นซอฟท์แวร์ ก่อสร้างด้วยชิ้นส่วน คล้าย Lego  เป็นเกมเพื่อการเรียนรู้แบบ constructivist, social และได้รับการรับรองจากเว็บไซต์ด้านการศึกษาหลายแห่งว่ามีประโยชน์มากกว่าโทษ

ทักเก้อร์วางเป้าหมายว่าจะสร้างบ้านของตนที่ไหน บ้านมีลักษณะอย่างไร  ในท่ามกลางภูมิประเทศแบบไหน  อยู่ใกล้บ้านเพื่อนคนไหน  แต่เมื่อสร้างบ้านแล้วตกกลางคืน (ของโปรแกรม)  ก็จะมีตัวประหลาดออกมากินบ้านและสิ่งก่อสร้างทั้งหลาย  ผู้เขียนเล่าว่าในวันนั้นเอง ทักเก้อร์บ่นว่า “กลางคืนแล้ว ตัวประหลาดออกมาแล้ว  ผมยังไม่รู้วิธีจัดการมัน และยังไม่มีถ่านหินมาจุดไฟให้แสงสว่าง  พรุ่งนี้ผมต้องเริ่มสร้างบ้านใหม่”  แล้วผู้เขียนก็เห็นทักเก้อร์นั่งดูวิดีทัศน์วิธีเล่นเกมนี้  และในที่สุดก็ไปพบวิดีทัศน์ที่แนะนำวิธีเล่นเป็นขั้นตอน  ผู้เขียนเห็นทักเก้อร์เอากระดาษมาจดขั้นตอนต่างๆ  แล้วต่อมาก็เห็นทักเก้อร์ใช้คอมพิวเตอร์ของพ่อทำ วิดีโอคอนเฟอเร้นศ์ กับเพื่อนผู้ชาย ๒ คนที่เคยเล่นเกมนี้มาก่อนแล้ว และเด็กผู้หญิงอีกคนหนึ่ง  ผู้เขียนเห็นทักเก้อร์ทำงานนี้อย่างมุ่งมั่น ใจจดใจจ่อ

ภายในวันนั้นเอง ทักเก้อร์ ก็มาชวนพ่อแม่ไปเยี่ยมบ้านของเขา  พาไปชมห้องต่างๆ ในบ้าน  ซึ่งมีห้องนอน เครื่องเรือน เตาผิง และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ  บ้านของเขาอยู่บนเนิน  นั่นบ้านของเพื่อนชื่อ เจ๊ค อยู่บนอีกเนินหนึ่งตรงกันข้ามอีกฟากหนึ่งของอ่าว  และยังมีปราสาทหลังหนึ่งอยู่บนเนิน  ทั้งพ่อและแม่ตกใจที่ลูกเรียนได้รวดเร็วถึงปานนั้น  และซักกันใหญ่ ว่าลูกเรียนอย่างไร

นี่คือการเรียนรู้ที่แท้จริง โดยไม่ต้องมีโรงเรียน  เรียนที่บ้าน ผ่านอินเทอร์เน็ต  ค้นหาความรู้เอาเองจาก อินเทอร์เน็ต  เอามาทดลองใช้  หากใช้ไม่ได้ผลก็หาใหม่ ลองใหม่  หาครูเอาเองจากอินเทอร์เน็ต  ร้องขอความช่วยเหลือไม่นานก็จะมีคนใจดีเข้ามาแนะนำ   หรืออาจจะกล่าวว่า นี่คือโรงเรียนแบบใหม่ ก็ได้

ทักเก้อร์ กำหนดเป้าหมายการเรียน หรือ “หลักสูตร” ของตนเอง  และปรับหลักสูตรของตนอยู่เสมอตามสิ่งที่ตนเรียนรู้แล้ว และสิ่งที่ตนอยากรู้ต่อไป  เขารวบรวม “ตำรา” ของเขาเอง เน้นจาก YouTube  เขาเสาะหาครูเอง จากเพื่อนๆ และจากคนที่ใช้ software นี้ทั่วโลก  เขาประเมินผลงานของตนเอง  ถ้ายังไม่ดีก็ยกเลิกแล้วทำใหม่  และอาจต่อเติมตกแต่งแก้ไข เมื่อเกิดแนวความคิดใหม่  และช่วยให้ความเห็นหรือ feedback แก่ “เพื่อนๆ” ในแวดวง อย่างสม่ำเสมอ

จะเห็นว่า ใน “โรงเรียนแบบใหม่” ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดเกือบทุกสิ่ง  นี่คือการเรียนรู้ยุคใหม่ ที่อาจเรียกว่า Learners-Directed Education - การศึกษาแบบที่ผู้เรียนเป็นผู้อำนวยการการเรียนรู้  ซึ่งตรงกันข้ามกับการศึกษาแบบเก่า ที่ครูและผู้บริหารระบบการศึกษาเป็นผู้อำนวยการการเรียนรู้  นักเรียนเป็นเพียงผู้รอรับถ่ายทอดความรู้

สิ่งที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง ระหว่างโรงเรียนแบบใหม่ กับโรงเรียนแบบเก่า  คือความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ของเด็กหรือผู้เรียน  เพราะในโรงเรียนแบบใหม่ สิ่งที่เรียน (หลักสูตร) กำหนดโดยผู้เรียนเอง  และผู้เรียนเป็นเจ้าของและผู้อำนวยการ “หลักสูตร” นั้น

ในโรงเรียนแบบใหม่ การเรียนรู้ไม่ใช่การบริโภคความรู้หรือสารสนเทศ  เหมือนอย่างสมัยก่อนที่ความรู้หายาก  แต่ป็นการตั้งคำถาม /กำหนดเป้าหมายของการสร้างสรรค์ แล้วดำเนินการ หรือลงมือทำ ร่วมกับผู้อื่น  เป็นการทำงานจริง ในสภาพจริง  และแสดงบทบาทสร้างความรู้เพิ่มให้แก่โลก  ไม่ใช่บริโภคความรู้ของโลก  เป็นการสร้างนิสัยและทักษะของผู้รียนรู้ตลอดชีวิต  ในท่ามกลางโลกที่เชื่อมต่อและสารสนเทศมากล้น  จุดเน้นเปลี่ยนจากการจำเนื้อหา (content mastery) มาสู่การมีทักษะหรือความสามารถในการเรียนรู้ (learning mastery)  นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเอง  นักเรียนใช้ความสามารถในการเข้าถึงสาระวิชาและครู ในการทำงานสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้ตามที่ตนปรารถนา

โรงเรียนและห้องเรียนแบบใหม่ กลายเป็น node ของ learning network ขนาดมหึมาในโลก  เลยจากห้องสี่เหลี่ยมหรือรั้วโรงเรียน  การเรียนรู้คือการทำงาน  เน้นการทำงานร่วมกับคนอื่น ไม่ใช่ทำคนเดียว

การสอบ ไม่เน้นสอบความรู้  แต่เน้นสอบสิ่งที่นักเรียนทำโดยการประยุกต์ใช้ความรู้  หรือสอบทักษะในการประยุกต์ใช้ความรู้

โรงเรียนแนวใหม่ เป็นการเรียนทำงาน หรือฝึกเพื่อชีวิตจริง  ไม่ใช่ที่เรียนวิชา เพื่อให้ได้เกรดสูง และได้หน่วยกิต เพื่อได้ประกาศนียบัตร และเพื่อการแข่งขันว่าข้าเก่ง เป็นที่ยอมรับของคนอื่น อย่างในโรงเรียนแบบเก่า

โรงเรียนแบบใหม่ มีข้อท้าทายตรงที่ประเมินแบบ quantitative ยากกว่าโรงเรียนแบบเก่า  เราจะวัดความริเริ่มสร้างสรรค์ ความอดทนทำงานต่อเนื่อง  ความสามารถในการแก้ปัญหา  ทักษะความร่วมมือ  โดยการทดสอบแบบเก่าไม่ได้  เราต้องมีวิธีทดสอบแบบใหม่  ที่ให้คะแนนผลงานจริงๆ  จากการประเมินที่ทำต่อเนื่อง และเป็นการประเมินแบบ qualitative   เราต้องไม่พยายามประเมินเฉพาะส่วนที่วัดได้ และละเลยส่วนที่วัดไม่ได้ แต่สำคัญกว่า

ในโรงเรียนแนวใหม่ ความรู้เชิงเนื้อหา และความสามารถพื้นฐานมีความสำคัญ  เพื่อการสื่อสาร ทำงาน และแสดงเหตุผล นักเรียนต้องอ่านออกเขียนได้พูดเป็น  รวมทั้งต้องมีพื้นฐานแน่นด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และอื่นๆ  แต่นักเรียนต้องไม่ใช่แค่รู้วิชาเหล่านี้  ต้องสามารถเอาความรู้เหล่านี้ไปต่อความรู้อื่น และประยุกต์ใช้ประโยชน์เป็น

วิจารณ์ พานิช

๑๒ เม.ย. ๕๖

 

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/532978

 

บริการที่ไม่ประทับใจ

พิมพ์ PDF
DTAC บริการที่ไม่ประทับใจ ขบวนการขั้นตอนไม่เอื้อต่อความสะดวกของลูกค้า การให้ข้อมูลที่ผิดพลาดและไม่ชัดเจน

ผมใช้บริการโทรศัพท์มือถือ อยู่ 2 ค่าย ได้แก่ TRUE และ DTAC  โดยโทรศัพท์มือถือที่ใช้ครั้งแรกเป็นของ DTAC เป็นบริการรายเดือน ใช้ไปได้สักพักมีปัญหา จึงเลิกใช้บริการ ต้องเสียเวลาในการยกเลิกการใช้บริการ มีขั้นตอนมาก และต้องจ่ายเงินปิดบัญชีล่วงหน้า หลังจากนั้นหันไปใช้บริการของ ORANGE เมื่อ TRUE ซื้อ ORANGE จึงหันมาใช้บริการของ TRUE เป็นหลัก หลังจากนั้น ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไรจึงหันมาเปิดใช้บริการของ DTAC โดยใช้ TRUE เป็นเบอร์หลักในการติดต่อโทรศัพท์ทั่วไป และใช้ DTAC เป็นเบอร์สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศ

จำไม่ได้ว่าตอนเปิดใช้บริการของ DTAC ทำไมถึงเลือกการทำบริการกลุ่ม โดยเปิดเบอร์โทร 2 เบอร์ โดยใช้เอง 1 เบอร์ และ อีก 1 เบอร์ ให้ลูกสาวใช้ แต่ลงทะเบียนเป็นชื่อผม ใช้บริการอยู่นานมากเป็นสิบๆปี

ลูกสาวเปลี่ยนที่ทำงานใหม่ และสามารถเบิกค่าโทรศัพท์ได้ แต่ต้องเป็นชื่อของลูกสาว แต่ปัจจุบัน เบอร์โทรที่ลูกสาวผมใช้เป็นเบอร์ที่จดทะเบียนกลุ่มในนามของผม จึงโทรแจ้งไปที่ call center ของ DTAC ได้รับการแจ้งว่าทั้งผมและลูกสาวต้องนำบัตรประชาชนไปทำการเปลียนที่ สำนักบริการของ DTAC ได้ถามว่าที่ The Mall งามวงศ์วานได้ไหม เจ้าหน้าที่ว่าได้ แต่ต้องไปทั้งสองคน ผมจึงได้นัดกับลูกสาว และในวันนี้ได้ไปที่ DTAC ที่ The Mall งามวงศ์วาน ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ถึงวัตถุประสงค์ที่จะมา เจ้าหน้าที่ให้กดบัตรคิว เมื่อถึงคิว เจ้าหน้าที่รับเรื่องไป และดำเนินการสักครู่ก้อออกมาบอกว่าต้องไปทำที่ สำนักบริการของ DTAC ที่นี่ทำไม่ได้ จึงให้เจ้าหน้าที่โทรไปที่ call center ก็ได้รับคำตอบว่าระบบไม่ได้ตั้งไว้ จึงต้องไปที่สำนักบริการที่ เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ เพราะต้องไปปลดเบอร์ของลูกสาวออกจากกลุ่มก่อน

ผู้ให้บริการ ไม่ได้คำนึงถึงความสะดวกของลูกค้า  ผมไม่เข้าใจจริงๆว่าทำไม่ต้องทำให้วุ่นวายอย่างนี้ ทั้งๆที่ไม่ได้ยกเลิก เพียงเปลี่ยนชื่อของผมเป็นชื่อลูกสาวสำหรับเบอร์ที่สอง  ผมเป็นเจ้าของเบอร์ทั้งสอง ใบเรียกเก็บเงินก็แยกเป็นสองใบอยู่แล้ว และก็ใช้บริการมานานมากแล้ว ความจริงเมื่อผมโทรไปแจ้งความจำนงก็ควรดำเนินการให้และถ้าต้องการหลักฐานของลูกสาวหรือต้องการทำสัญญาใหม่ก็ว่ากันให้ชัดเจน ไม่ใช่ทำให้เสียเวลา และทำเรื่องง่ายๆให้วุ่นวายโดยใช่เหตุ ผมไม่ได้ใช้เบอร์โทรศัพท์ ของค่าย นี้อยู่แล้วจึงพร้อมที่จะยกเลิก ผมเสียเงินฟรีๆเดือนละ 99 บาท โดยแทบไม่ได้ใช้โทรหรือรับสายเลยเป็นเวลามากกว่า 6 ปี แต่มาเจอเรื่องแบบนี้รู้สึกผิดหวังกับการบริหารจัดการและนโยบายของผู้บริหาร DTAC  ยุให้ลูกสาวยกเลิกเบอร์ไปเลยเพราะยุ่งยากมากนัก เมื่อไม่แคร์ลูกค้าก็ไม่ควรไปใช้บริการ แต่ลูกสาวไม่ยอมอ้างว่าเกี่ยวโยงกันหลายๆอย่าง

ผมไม่พอใจบริการเป็นอย่างมาก

1.โทรไป Call Center ก็ได้รับข้อมูลให้ไปติดต่อสำนักงาน DTAC ได้ถามว่าที่ The Mall งามวงศ์วานได้ไหม ได้รับคำตอบว่าได้ และยังกำชับให้นำบัตรประชาชนทั้งของผม และของลูกสาวไปด้วยและเจ้าตัวต้องไปทั้งคู่ พร้อม SIM cards ของทั้งสองเบอร์

2.เมื่อไปถึง DTAC ที่ The Mall วามวงศ์วาน ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ถึงวัตถุประสงค์ที่จะมาติดต่อ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ว่าอะไร ให้กดบัตรคิวรอ

3.เมื่อถึงคิวรับบริการ เจ้าหน้าที่ทราบวัตถุประสงค์ ก็ขอเวลาเช็ค สักครู่ก็ขอบัตรประชาชน ของผมและลูกสาว สักครู่ก็บอกทำที่นี่ไม่ได้ จึงได้แจ้งว่าได้โทรถามมาล่วงหน้า เจ้าหน้าที่จึงโทรหา Call Center ซึ่งเจ้าหน้าที่ call center ก็ได้แต่ปฎิเสธว่าต้องให้ไปที่สำนักงานบริการของ DTAC ถามว่าอยู่ที่ไหนบ้างก็ไม่ตอบ จนถามว่าที่เซ็นทรัล ถนนแจ้งวัฒนะได้ไหม เจ้าหน้าที่ว่าได้ (ก็ไม่รู้ว่าไปจริงๆจะเหมือนกับที่ The Mall งามวงศ์วานหรือไม่)

ผมและลูกสาวหาเวลาว่างตรงกันได้ยากมาก ลูกสาวทำงานที่เพลินจิต เข้างานตั้งแต่ 08.00 น-18.00 น ส่วนผม ก็ยุ่งมากเอาเวลาแน่นอนอะไรไม่ค่อยได้ เรื่องแค่นี้ก็ต้องให้ไปดำเนินการพร้อมกันทั้งสองคน เป็นผมๆจะยกเลิกไปเลย และเปิดเบอร์ใหม่ ง่ายกว่ามาก แต่ลูกสาวไม่ยอม ยอมรับว่าผมหงุดหงิดกับการบริการที่ไม่เอาไหน มีพนักงานคนหนึ่งพยายามอธิบายและพูด ไม่ตรงประเด็น และเสียเวลา  ผมได้ถามว่าทำไมถึงดำเนินการแบบง่ายๆไม่ได้หรือ ทำไม่ต้องวุ่นวาย มีเหตุผลอะไร ก็ไม่ตอบคำถาม พูดแล้วทำให้เกิดอารมณ์มากขึ้น ผมจึงว่าไปว่าคุณภาพคนสมัยนี้ต่ำมาก สิ่งที่ผมต้องการได้รับการบริการจากเงินที่ผมเสีย ไม่ถือว่าเป็นบริการที่ให้กับลูกค้า สร้างปัญหาและความยุ่งยากให้ลูกค้า ปัญหาอยู่ที่ระบบการบริหารจัดการที่ไม่อำนวยความสะดวกให้ลูกค้า

หวังว่าการเผยแพร่ครั้งนี้จะเข้าถึงผู้บริหารของ DTAC เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุ่งแก้ไขระบบการบริหารจัดการที่ทำให้ลูกค้าพอใจ และไม่ต้องทำให้พนักงานต้องถูกลูกค้าโกรธเพราะไม่ได้รับการบริการที่ทำให้เกิดความพอใจอันเนื่องมาจากความไม่สนใจและการเอาใจใส่ในการบริการลูกค้าของระดับผู้บริหาร

ผมต้องขอโทษเจ้าหน้า DTC ที่ The Mall งามวงศ์วานที่ผมใช้อารมณ์กับเจ้าหน้าที่ผู้นั้น ผมเป็นผู้บริหารธุรกิจบริการท่องเที่ยวและโรงแรมมากว่า 40 ปี พอได้รับบริการแบบนี้ ทำให้เกิดอารมณ์ขึ้นมาทันทีเพราะผมมีแต่แก้ไขปัญหาให้ลูกค้า พยายามหาวิธีลดความยุ่งยากและวุ่นวายกับลูกค้า วางระบบการบริหารจัดการที่ให้ความสำคัญลูกค้า คอยดูแลเอาใจใส่ไม่ให้มีปัญหา ถ้ามีปัญหาจะต้องมีเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสมาแก้ไข ทันทีไม่ปล่อยให้ลูกค้าเกิดอารมณ์ เราทำงาน 24 ชั่วโมง 365 วัน ไม่เคยมีวันหยุด

เมื่อมาได้รับการบริการจากบริษัทใหญ่ๆที่เป็นระบบสัมปทานแล้ว รู้สึกหงุดหงิดมาก เพราะเขาเอาเปรียบลูกค้า และสร้างเงื่อนไข และหมกเม็ดกฎข้อบังคับต่างๆ ใช้เทคโนโลยีและระบบมาเป็นหลักเพื่อสร้างความได้เปรียบของเขาเอง โดยไม่คำนึงถึงลูกค้า ประเทศเราผู้ใช้บริการถูกเอาเปรียบจากผุ้ให้บริการมาก จึงจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรคุ้มครองผู้ใช้บริการที่มีประสิทธิภาพมาช่วยป้องกันมิให้ผู้ใช้บริการถูกเอาเปรียบอย่างที่เป็นอยู่

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

15 เมษายน 2556

 

 


หน้า 489 จาก 556
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5585
Content : 3038
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8556357

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า