Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

Asia University Ranking 2013

พิมพ์ PDF

มหาวิทยาลัยไทย ๓ แห่งที่ติดอันดับ top 10 คะแนนยังห่าง top 3 มาก

 

Asia University Ranking 2013

ผม (อาจารย์วิจารณ์ พานิช ) ได้รับ อีเมล์ จาก รศ. ดร. มงคล รายะนาคร ดังนี้

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2556 Times Higher Education (THE) ซึ่งเป็นสำนักจัดอันดับคู่แข่งของ QS Quacquarelli Symonds ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในเอเชียที่เรียกว่า Asia University Rankings 2013 Top 100 ปรากฏว่า Top 10 ของเอเชีย ได้แก่ University of Tokyo, National University of Singapore (NUS), The University of Hong Kong, Peking University, Pohang University of Science and Technology (POSTECH), Tsinghua University, Kyoto University, Seoul National University, Hong Kong University of Science and Technology (HKUST) และ Korea Advanced Instute of Science and Technology (KAIST) ตามลำดับ

ประเทศไทย มีมหาวิทยาลัย 3 แห่งที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่ม Top 100 ของเอเชียในครั้งนี้ คือ อันดับ 55 King Mongkut's University of Technology, Thonburi (มจธ,) อันดับ 61 Mahidol University (มหิดล) และอันดับ 82 Chulalongkorn University (จุฬาฯ) สำหรับประเทศที่มีมหาวิทยาลัยติดอันดับมากที่สุดคือญี่ปุ่น ติดอันดับใน Top 100 ถึง 22 มหาวิทยาลัย ในขณะที่เกาหลีใต้ติดอันดับในกลุ่ม Top 10 มากที่สุด (อันดับ 5, 8 และ 10)

เกณฑ์ที่ THE ใช้ในการจัดอันดับ Asia University Rankings Top 100 ครั้งแรกนี้ เป็นเกณฑ์เดียวกับที่ THE ใช้ในการจัดอันดับ THE World University Rankings ประกอบด้วยตัวชี้วัด 13 ประการ ซึ่งจัดเข้ากลุ่มได้ 5 กลุ่ม ดังนี้

1. Teaching: the learning environment (30%)

2. Research: volume (based on ISI databases), income and reputation (30%)

3. Citations: research influence (based on ISI databases) 30%

4. Industry income: innovation (2.5%)

5. International outlook: staff, students and research (7.5%)

จากเกณฑ์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยของไทยที่ติดอันดับมีคะแนนรวมเป็นดังนี้

มจธ. 30.3%, มหิดล 28.7% และ จุฬาฯ 24.8%

ในขณะที่ Top 3 ของเอเชีย มีคะแนนรวมเป็นดังนี้

University of Tokyo 78.3%, NUS 77.5% และ The University of Hong Kong 75.6%

ทั้งนี้รายละเอียดทั้งหมด สามารถดูได้ที่ลิงค์ต่อไปนี้

http://www.timeshighereducation.co.uk/world-university-rankings/2012-13/regional-ranking/region/asia

ผมจึงขอส่งข่าวสารนี้มายังอาจารย์ เพื่อการ ลปรร. ในแวดวงอุดมศึกษาของไทยต่อไป

ด้วยความเคารพและนับถือ

มงคล รายะนาคร

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/532823

 

ครบเครื่องเรื่องในBlog GoToKnow

พิมพ์ PDF

วันนี้ขอนำบทความของ อาจารย์ สมศรี นวรัตน์ ศิษย์ ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

อ่านแล้ว มีความสนุกสนาน ทำให้เพลิดเพลิน เข้ามาอ่านแล้วสบายใจ มีความสุขใจ พึงพอใจ อ่านแล้วได้ประโยชน์ทั้ง 2-3 ฝ่าย ทั้ง ด้านวิชาการ, ด้านEntertain ประมาณว่า “ครบเครื่องเรื่องในBlog GoToKnow”

 

 


1. ท่านรู้จัก Gotoknow.org ได้อย่างไร

ตอนเรียนPh.D ท่าน ศ.ดร. จีระ หงส์ลดารมภ์ ท่านให้ผู้เขียนงาน และทำการบ้าน หรือ เขียนวิจารณ์หนังสือดีดี เช่น Necessary Revolution ของ BRYAN SMITH & NINA KRUSCHRITZ & JOE LAUR Purpose Linked Organization ของ ALAINA LOVE & MARC CUGNON,The Return of Depression Economics ของ PAUL KRUMAN แล้วท่านให้เขียนผ่านระบบของ GoToKnow ในวิชาที่เรียนของท่านอาจารย์ ในวิชาHRD. และระหว่างเรียนท่านได้พานักศึกษาไปร้านหนังสือ Kinokuniya (คิโนะคูนิยะ) สาขาสุขุมวิท เอ็มโพเรียมและหลังจากนั้นก็เข้ามาอ่านงานในBlog GoToKnow และ เขียนงานมาจนถึงปัจจุบันนี้นะคะ



2. ท่านสมัครเป็นสมาชิกGotoknow .org ได้อย่างไร

ท่าน ศ. ดร. จีระ หงส์ลดารมภ์ ท่านสอนวิธีสมัครให้และแนะนำให้สมัครและเขียนบทความใน Gotoknow หรือ G2K ท่านบอกว่า "ต้องอ่านหนังสือมากๆ" และศึกษาถึงเทคนิกการเขียน ของนักแต่งแต่ละท่านด้วย ร่วมทั้งสำนวน โวหารด้วย ภาษา การวางประโยค การขึ้นต้นของเรื่องราว ลงท้ายและบทสรุป ที่ดีเขาทำอย่างไร?


3. ท่านมีวิธีการเขียนเรื่องเล่า (Best Practice) โดยมีแรงจูงใจในการเขียนมาจากอะไร

1) ก่อนที่จะเขียนบทความ ผู้เขียนจะมีการ Plot & Plan เรื่องราวที่จะเขียน หรือ มีการออกแบบ (Design) ไว้ในใจก่อน ที่จะลงมือเขียน บางครั้งต้องหาข้อมูลมาประกอบเพื่อให้การเขียนดีอย่างที่ใจตนเองต้องการ มีการวางแผน (Plan=P) ก่อนที่จะบันทึกงานเขียน (Do=D) เมื่อเขียนแล้ว ตรวจทาน (Check=C) ซ้ำอีกรอบนะคะ แล้วถ้ามีปัญหาจะเข้าไปแก้ไขอีกรอบ (Act=A)  ทำสิ่งเหล่านี้หลายๆรอบ หลายๆ ปี ทำให้เกิดการเรียนรู้เพิ่มขึ้นมากเลยนะคะ (Learning=L)

2) แรงจูงใจที่ทำให้อยากเขียนตอนแรก

(1)ได้รับการเสริมแรงจากท่าน ศ. ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ท่านชมว่าเขียนบทความได้ดี ทำนให้ผู้เขียนรู้สึกภูมิใจใจตนเอง  ส่งผลให้มั่นใจในการเขียนของตนเองมากขึ้น  ขณะเดียวกัน ท่าน ศ.ดร. จีระ ท่านให้ผู้เขียนทำการบ้าน โดยอ่านหนังสือดีดี เช่น  GOOD  TO  GREATของ JIM COLLINS, Getting Things Done ของ David Allen, Highly Effctive Networking ของ Meet the Right People and Get a Great Job, Thinking in Systems ของ Donell H. Meadow แล้วท่านอาจารย์ให้นำเรื่องที่อ่านมาวิจารณ์ และเล่าเรื่องนั้นๆ ในBlog G2K แล้วท่านอาจารย์จะเข้ามาอ่าน และให้ข้อ Comment ทุกๆ ครั้งนะคะ


(2) ภายหลังเรียนจบวิชาHRD. แล้วจากท่าน ศ. ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ผู้เขียนจะนำเอา เรื่องเล่าที่ได้รับรางวัลจาก สรพ.(สถาบันรับคุณภาพโรงพยาบาล) ที่เขียนจากผลงาน ซึ่งได้จากการทำงานในองค์กร/โรงพยาบาล แล้วได้นำเสนอในเวทีในงาน HA. Forums ในแต่ละปี มาเขียนลงใน Blog G2K  เพราะจะทำให้ผู้เขียนมีความแน่ใจ มั่นใจ ว่าน่าจะนำมาลงในBlogได้และดีในระดับหนึ่ง เพราะผ่านเวทีการคัดเลือกระดับชาติมาแล้ว หรือผ่านการรับรองมาแล้ว เช่น องค์กรที่มีชีวิต (Living Organization) หรือ เรื่องที่เป็นนวัตกรรมสำหรับดูแลผู้ป่วย เช่นเรื่อง “ขวดน้ำมหัศจรรย์พลิกผันสุขภาพของผู้ป่วยCOPD” หรือ นวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพมารดาและทารก หรือ เป็นกิจกรรมดีดีสู่ชุมชน “Good Value สู่ชนชน” หรือได้ Modelในการดูแลวัยรุ่น หรือ Modelในการดูแลแม่วัยรุ่น "Teen Moms"

(3) นำเรื่องที่ได้ทำในโครงการ จากการทำงานในโรงพยาบาลแล้วได้รับผลลัพธ์ดี นำมาเล่า นำมาสื่อสารใน Blog G2K เพื่อจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่าน ที่เป็นโครงการที่น่าจะเป็นประโยชน์กับกลุ่มคนที่ทำงานสายงานเดียวกันซึ่งมีบริบทเดียวกัน

(4) การเล่าเรื่องที่จะ ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วย เช่น เทคนิคการเลิกบุหรี่ ด้วยวิธี 5A+5R+5D หรือ ปฏิทินยาสำหรับผู้สูงอายุ แล้วถ้ามีผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยเขียนมาถามหรือโทรศัพท์มาถามผู้เขียนโดยตรง จะส่งผลให้ผู้เขียนเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองมากยิ่งขึ้น

(5) แรงจูงใจจากเพื่อนๆ ในG2Kที่ให้กำลังใจ เป็นแรงเสริมทางบวกที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง โดยมีการเข้ามาทักทาย พูดเล่น คำชื่นชม ซึ่ง เป็นเสมือนยาบำรุงใจ, ยาวิตามินบำรุง ทำให้มีกำลังใจ ในการเขียนงานอย่างมาก เป็นความสุขใจที่ผู้เขียนได้รับและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมG2Kและสังคม Social Media นี้นะคะ

4.  ท่านมีเทคนิคในการเขียนเพื่อ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแบ่งปันความรู้หรือประสบการณ์อย่างไร

1) ชื่อเรื่องควร โดนใจผู้อ่าน สั้นกระซับ กระทัดรัดและ ท้าทายต่อการอยากเข้ามาอ่าน บทความหรืองานเขียน

2) เรื่องต้อง ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ ถ้ามีข้อมูลเสริม ยิ่งจะช่วยให้น่าอ่านและอ่านแล้วได้ประโยชน์มากขึ้น

3) การวิเคราะห์ กลุ่มบุคคล ที่เข้ามาอ่าน Blog G2K ว่าอยู่ในช่วงวัยใด ภาพรวมเป็นใคร ผู้คนอยากอ่านอะไร อยากรู้อะไรและอะไรที่เราควรนำมาเสนอ ถึงจะเกิดประโยชน์มากสุด(เท่าที่เราจะทำได้) ตามบริบทของเรา (แบบบ้านลาดนะคะ)

4) ควรมี รูปภาพ เสริมบ้าง เพราะเป็นการยืนยันการเขียนบทความหรือเรื่องเล่าของผู้เขียน รูปภาพจะเสริมให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ดีมากกว่าการบรรยายด้วยตัวอักษร เป็นสีสัน เป็นเสน่ห์ของการเขียนอย่างหนึ่ง (คิดเองนะคะ)

5) เป็นเรื่องราวของ การทำกิจกรรมที่ดีและการปฏิบัติได้จริง เมื่อผู้เขียนทำกิจกรรมแล้ว เป็นสิ่งที่สามารถสร้างเสริมสุขภาพ ทำกิจกรรมแล้วเกิดผลดี มีประโยชน์ต่อผู้อ่าน และน่าจะเสริมแรงและจูงใจของการอ่าน เช่น เมนูชูสุขภาพ, อาหารลดโรคลดอ้วน, เมนูบุญ-เมนูบาป, เมนูชูน้ำนม, ลดเอวลดอ้วน ฯลฯ จะช่วยให้ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพิ่มขึ้น(Learning) ประมาณเรื่อง 4'P, Purpose,Process, Performance, Person)

 

5.  ท่านคิดว่าท่านมีวิธีการเขียนหรือแสดงความคิดเห็นเพื่อกระตุ้นให้สมาชิกต่อยอดความรู้ได้อย่างไร

1) มีข้อคำถามทิ้งท้าย เพื่อให้ผู้อ่านบทความมีส่วนร่วมตอบ (Participation)และยังเกิดการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีมีความสนิทสนมระหว่างผู้เขียนบทความกับผู้อ่านนะคะ

2) ควรเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาทางสังคม เรื่องที่สังคมให้ความสนใจหรือ เรื่องที่ส่งผลกระทบวงกว้างต่อสังคมไทยหรือสังคมโลก กำลังสนใจเป็นเรื่องสำคัญต่อทุกๆคนบนโลกใบนี้ซึ่งปัจจุบันเล็กและแคบไปแล้วเพราะ G2Kของเราไปสู่ WWW แล้วนะคะ เป็นเรื่องที่เป็นแบบแผนทางสังคม ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม หรือเป็นเทศกาลทางสังคมซึ่งไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น เป็นเรื่องของคนบนโลกใบนี้ นะคะ

3) ควรเป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่ผู้คนในสังคมสนใจ เช่น โรคที่เกิดใหม่ เช่น โรคไข้หวัดนก H7N9 หรือ เหตุการณ์ใหม่ๆ ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อทุกๆ คน

4) ควรเป็นเรื่อง ที่ผู้อ่านบทความจะได้รับรู้ถึงผลประโยชน์ การเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารที่จำเป็นและจะเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษต่อตัวของเขา ครอบครัว ญาติ เพื่อนๆ และองค์กรหรือที่ทำงานของเขานะคะ รวมๆ แล้วคือ 4M+2T(Man, Money, Management, Material,Technology, Time,)

 

5) ควรเป็นเรื่องที่อ่านแล้ว มีความสนุกสนาน ทำให้เพลิดเพลิน เข้ามาอ่านแล้วสบายใจ, มีความสุขใจ พึงพอใจ อ่านแล้วได้ประโยชน์ทั้ง 2-3 ฝ่าย ทั้ง ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านวิชาการ, ด้านEntertain ประมาณว่า  “ครบเครื่องเรื่องในBlog GoToKnow”

 

 

 

6.  ท่านคิดว่ารางวัลสุดคะนึงมีผลต่อการเขียนของตนเองหรือสมาชิกหรือไม่ อย่างไร

1) มีผลมากต่อตัวเอง(ผู้เขียน)มาก เพราะทุกครั้งที่จะเขียนต้องระวังในการเขียนมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน ต้องคิดก่อนเขียนใน BlogG2K ก่อนอย่างน้อย 2-3 ชม. บางครั้งต้องคิดอยู่หลายวัน เพราะG2Tเป็นสื่อที่ออกไปแล้วออกไปเป็นวงกว้างมากนะคะ คนอ่านไปทั่ว(โลก) ก็น่าจะถูก นะคะ

2) การเขียนทุกๆครั้งต้อง คิด  คิดและคิดอย่างรอบครอบ และรอบด้าน มากพอสมควร เพื่อให้การเขียนนั้น เกิดผลกระทบ(Impact)ในทางบวกมากขึ้นและมีประโยชน์จริงๆ จะมากบ้าง น้อยบ้างแล้วแต่สถานการณ์นะคะ

3) การเขียนทุกๆ ครั้ง ควรเกิดประโยชน์ต่อผู้อ่าน มิใช่เขียนเพราะอยากระบายความรู้สึกของตนเอง หรือ เขียนเพื่อให้ได้เขียน หรือเขียนเอาในลักษณะเชิงปริมาณแต่ละเลยเชิงคุณภาพ (คิดเองนะคะ)

4)  การเขียนทุกครั้งควรให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เกิดการรับรู้" เพื่อให้เกิดรับรู้ รับทราบสิ่งใหม่ๆ หรือ เรื่องเก่าแต่มีการพัฒนาขึ้น มีการต่อยอดขึ้น  หรือทำให้ผู้เข้ามาอ่าน Blog G2K ได้รับรู้สิ่งที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ สิ่งที่มีจริงเกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ในชุมชน ในสังคม หรือ ตามบริบทของเรา (แบบบ้านๆ คืองานของเรา)

5) มีผลต่อผู้เขียน ที่ทำให้ผู้เขียน ต้องอ่านหนังสือ  ต้องค้นคว้ามากขึ้น เพื่อที่จะหาความรู้ หาข้อมูลที่จะนำมาเสริมเพิ่มเติม ที่จะส่งผลให้ผู้เขียนขยันอ่านมากขึ้น ได้ไปอ่านงานเขียนของผู้อื่นมากขึ้น  ทำให้ตนเองได้เรียนรู้มากขึ้น เป็นการพัฒนาการอ่านของตนเองมากขึ้น (ในลักษณะ PDCA ==> PDSA ของตัวผู้เขียนค่ะ)

6) ผู้เขียน ต้องตื่นตัว ปรุกตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อใช้ความคิด ใช้ความพยายาม และอ่านบทความ อ่านงานวิชาการใหม่ๆ อยู่เสมอ อ่านผลงานของนักเขียนที่เราชอบและเป็นหนังสือที่ดีได้รับรางวัลในการแต่ง ใช้ภาษาที่งดงาม หวานและคม เช่นหนังสือความสุขของกะทิ

7. ทำให้ผู้เขียน ได้ฝึกการใช้ Technology หรือ IT ใหม่ๆ อยู่เสมอ นั้นคือได้ฝึกทักษะทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่มีมาใหม่ๆ ทุกๆ วัน เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ คู่กับการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันมากขึ้น

8. ทำให้ผู้เขียน ได้ฝึกฝนทักษะชีวิต มีทักษะชีวิตมากขึ้น ดีขึ้น เป็นทักษะชีวิตที่รอบด้าน ทั้งทางสังคม ทางการศึกษา ทักษะการสื่อสาร ทักษะการรู้จักการให้และการรับต่อกัน (ตามความคิดของผู้เขียน)

9. ทำให้ผู้เขียน ได้พบว่าเกิดมี ความสัมพันธ์และเป็นเครือข่ายกันและกัน ในวงเล็กๆ บ้าง วงใหญ่ๆ บ้าง (Connection & Network) เกิดเป็น เพื่อนๆ มีพี่ๆ มีน้องๆในสังคมของคนG2K ซึ่ง ประเมินค่ามิได้หรือตีค่าเป็นตัวเลขไม่ได้ นะคะ (ตามความคิดของผู้เขียน)

 


 

 

 

ขอบคุณมากค่ะ

 

ต่อด้วยการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ของ

วอญ่า-ผู้เฒ่า

โอ้ย..หิวขนมตาล

เรียนคุณหมอเปิ้ล

(6. ท่านคิดว่ารางวัลสุดคะนึงมีผลต่อการเขียนของตนเองหรือสมาชิกหรือไม่ อย่างไร

1) มีผลมากต่อตัวเอง(ผู้เขียน)มาก เพราะทุกครั้งที่จะเขียนต้องระวังในการเขียนมากขึ้นกว่าเดิม ต้องคิดก่อนเขียนในBlogG2K ก่อนอย่างน้อย 2-3 ชม.

2) การเขียนทุกๆครั้งต้อง คิด  คิด และคิดอย่างรอบครอบพอสมควร เพื่อให้การเขียนนั้น เกิดผลกระทบในทางบวกมากขึ้น และมีประโยชน์จริงๆ จะมากบ้าง น้อยบ้างแล้วแต่สถานการณ์

3) การเขียนทุกๆ ครั้งเกิดประโยชน์ต่อผู้อ่าน มิใช่เขียนเพราะอยากระบาย หรือเพื่อให้ได้เขียน หรือ เขียนเอาในเชิงปริมาณแต่ละเลยเชิงคุณภาพ

4)  การเขียนทุกครั้งควรให้เกิด “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เกิดการรับรู้"  เพื่อให้เกิดรับทราบสิ่งใหม่ๆ หรือ เรื่องเก่าแต่มีการพัฒนาขึ้น มีการต่อยอดขึ้น  หรือทำให้ผู้เข้ามาอ่านBlog G2Kได้รับรู้สิ่งที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ สิ่งที่มีจริงในพื้นที่ ในชุมชน ในสังคม หรือตามบริบทของเรา

5) มีผลต่อผู้เขียน ทำให้ผู้เขียนอ่านหนังสือ  ค้นคว้ามากขึ้น หาความรู้ หาข้อมูลที่จะนำมาเสริมเพิ่ม ส่งผลให้ได้อ่านงานของผู้อื่นมากขึ้น  ได้เรียนรู้มากขึ้น เป็นการพัฒนาตนเองมากขึ้น (ในลักษณะ PDCA ==> PDSA ของตัวผู้เขียนค่ะ)

6) ผู้เขียนต้องตื่นตัว ปรุกตัวเองอยู่ตลอดเวลา ใช้ความคิด ใช้ความพยายาม และอ่านบทความ อ่านงานวิชาการใหม่ๆ อยู่เสมอ อ่านผลงานของนักเขียนที่เราชอบและเป็นหนังสื่อที่ดีได้รับรางวัลในการแต่ง ใช้ภาษาที่งดงาม เช่น หนังสือความสุขของกะทิ)

นี้ก็เป็นหลักการ หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกรางวัลสุดคะนึง ที่กรรมการพิจารณา  ตามที่หมอดเปิ้น ถอดออกมา

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/532893

 

 

 

มีโรงเรียนไปทำไม : 3. ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา

พิมพ์ PDF

ปัจจัยสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ในปัจจุบันคือความกระตือรือร้นที่จะเรียน หรืออยากเรียน หากอยากเรียนจริงๆ ก็หาทางเรียนเองได้ไม่ยาก

 

มีโรงเรียนไปทำไม  : 3. ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา

บันทึกชุด มีโรงเรียนไปทำไม ๗ ตอนนี้ ตีความจากหนังสือ Why School? : How Education Must Change When Learning and Information Are Everywhere เขียนโดย Will Richardson บอกตรงๆ ว่า ระบบการศึกษาจะอยู่ในสภาพปัจจุบันไม่ได้  ต้องเปลี่ยนแปลงในทำนองเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เพราะอุดมศึกษาอเมริกันถูกตำหนิอย่างหนัก   ที่ค่าเล่าเรียนเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว อัตราเพิ่มสูงกว่าอัตราเพิ่ม จีดีพี ของประเทศ  และบัณฑิตที่จบเป็นหนี้สูงขึ้นๆ  และที่ร้ายมากคือเมื่อจบแล้วไม่มีงานทำ  ความเชื่อเดิมว่าการเรียนจบมหาวิทยาลัยเป็นเส้นทางสู่ชีวิตคนชั้นกลางถูกสั่นคลอน  คำนิยามว่า “ผู้มีการศึกษา” คือผู้เรียนจบมหาวิทยาลัย ถูกสั่นคลอน

อุดมศึกษาจึงมีการปรับตัว  จัดการเรียนรู้แบบใหม่ให้แก่คนอเมริกัน และแก่คนในโลก  เท่ากับสภาพการเรียนรู้แบบ “ทุกที่ ทุกเวลา ทุกคน” กำลังสร้างนิยามใหม่ของการเป็น “ผู้มีการศึกษา” ในโลก  โดยอาศัยโอกาสจากสภาพความอุดมความรู้ของโลก

เริ่มจาก (๑) การเปลี่ยนระบบรับรองระดับการศึกษา (accreditation)  ที่จะต้องรับรองที่ขีดความสามารถของบุคคล มากกว่า  ที่การผ่านการเข้าเรียนในโรงเรียน/มหาวิทยาลัย  คำถามคือ ระบบการศึกษามีความสามารถในการวัดทักษะที่กำหนดแค่ไหน  ผมเองมีความรู้สึกว่า วงการศึกษา (ไทย)  ขาดขีดความสามารถในการวัดดังกล่าว  จึงโมเมไปวัดที่ตัวความรู้ และที่การผ่านการสอนในโรงเรียน/มหาวิทยาลัย  ผมขอโทษหากความเข้าใจของผมคลาดเคลื่อน

เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบรับรองระดับการศึกษา ที่เน้นขีดความสามารถในการทำงาน (expertise)  MacArthur Foundation ได้ให้ทุนสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมในการวัด expertise  เมื่อไรก็ตาม ที่โลกมีวิธีการวัด expertise ที่เชื่อถือได้  เมื่อนั้นการเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ (informal) ก็จะได้รับการยอมรับมากขึ้น  ความหมายในทางปฏิบัติของ “คนมีการศึกษา” จะเปลี่ยนไป  คนจะสามารถมีปริญญาได้โดยไม่ต้องผ่านมหาวิทยาลัย   หรือไม่ต้องมีปริญญาก็สามารถได้รับการยอมรับได้ หากมีความสามารถจริง

การเปลี่ยนแปลงประการที่ (๒) การเข้าถึงรายวิชาเปิดกว้าง เรียนที่ไหนก็ได้ ผ่านระบบ อินเทอร์เน็ต  ดังตัวอย่าง มหาวิทยาลัยพริ้นซตั้น, สแตนฟอร์ด, ดุ๊ก, จอร์เจีย เทค, และ เพนซิลเวเนีย ร่วมกันจัด Coursera เป็นระบบเรียน ออนไลน์ ฟรี  ไม่เสียเงิน  เวลานี้มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วม ๖๒ แห่ง  เปิดสอน ๓๓๖ รายวิชา  มีผู้เข้าเรียนกว่า ๓ ล้านคน

MIT จัด MITx เปิดโอกาสให้ นศ. เรียน ออนไลน์ได้ฟรี  และถ้าต้องการใบประกาศนียบัตรก็ต้องสอบ โดยเสียเงินค่าสอบ

การเปลี่ยนแปลงประการที่ (๓) ตลาดงาน ที่เปลี่ยนไปหลายด้าน  ด้านแรก การจ้างงานแบบประจำลดลง  หันมาจ้างงานเฉพาะด้าน/บางช่วงเวลา มากขึ้น  ซึ่งหมายความว่าการทำงานของคนจะเป็นนักวิชาชีพอิสระ (freelance) มากขึ้น  คาดว่าในปี ๒๕๖๓ ในสหรัฐอเมริกาจะมีคนทำงานแบบวิชาชีพอิสระมากกว่าทำงานประจำ  ในประเทศไทย บริษัทใหญ่ๆ ไม่พอใจขีดความสามารถในการทำงานของบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัย จึงพากันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาของตนเอง ที่เรียกว่า corporate university  นศ. เรียนโดยการทำงานควบคู่ไปกับการเรียนวิชา   จะเห็นว่า ในยุคใหม่ การเรียนจะเข้าสู่การเรียนโดยลงมือปฏิบัติจริงมากขึ้น  เมื่อเรียนจบก็เข้าทำงานได้เลย

จะเห็นว่าปัจจัยสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ในปัจจุบันคือความกระตือรือร้นที่จะเรียน หรืออยากเรียน  หากอยากเรียนจริงๆ ก็หาทางเรียนเองได้ไม่ยาก  จึงมาถึงประเด็นสำคัญคือ จะเรียนเองได้ต้องมีทักษะในการเรียนรู้  การศึกษาระดับพื้นฐานต้องฝึกทักษะในการเรียนรู้ให้แก่เด็ก  จนเด็กมีทักษะแก่กล้าตามที่ NCTE ระบุ (ตอนที่ ๑)  การเรียนด้วยตนเองจนจบปริญญาโดยไม่ต้องเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยก็จะเป็นจริง

วิจารณ์ พานิช

๑๒ เม.ย. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/532901

ป.ล.มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตร คณะวิศวกรรมคอมพิเตอร์ จัดสร้างระะบบการสอบมาตราฐานวิชาชีพ 4 อาชีพ ประกอบด้วย การท่องเที่ยว โรงแรม เกษตร สุขภาพ และ logistic (อยู่ระหว่างการเริ่มต้น)

 

 

 

 

มีโรงเรียนไปทำไม : 1. ยุคความรู้หาง่าย นำสู่ความตายของ “ผู้ชราอายุยืน ๑๕๐ ปี”

พิมพ์ PDF

ทำไมต้องมีโรงเรียน ทำไมต้องไปโรงเรียน ในเมื่อโรงเรียนจัดการศึกษาผิดๆ และไม่ทำให้เด็กเรียนรู้อย่างแท้จริง

 

มีโรงเรียนไปทำไม  : 1. ยุคความรู้หาง่าย  นำสู่ความตายของ “ผู้ชราอายุยืน ๑๕๐ ปี”

บันทึกชุด มีโรงเรียนไปทำไม ตีความจากหนังสือ Why School? : How Education Must Change When Learning and Information Are Everywhere เขียนโดย Will Richardson บอกตรงๆ ว่า ระบบการศึกษาจะอยู่ในสภาพปัจจุบันไม่ได้  ต้องเปลี่ยนแปลงในทำนองเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เหตุผลคือ ยุคนี้ความรู้หาง่าย   และคนเราขวนขวายเพื่อการเรียนรู้ได้ง่าย

การเรียนรู้ที่แท้จริงไม่ใช่การรับถ่ายทอดความรู้  แต่เป็นการสร้างความรู้ขึ้นจากการปฏิบัติ  แล้วเกิดการเรียนรู้ขึ้นภายในตน  ยิ่งสิ่งที่ลงมือทำยิ่งท้าทายและสนุก และต้องค้นคว้ามาก ปรึกษาหรือร่วมมือกับคนอื่นมาก การเรียนรู้จะยิ่งลึกและกว้างขวาง  และเราสามารถเรียนรู้ได้กับคนทุกซีกโลก ผ่านทางระบบ อินเทอร์เน็ต

กระบวนการเรียนการสอนที่ใช้กันในระบบการศึกษาปัจจุบัน เน้นการถ่ายทอดความรู้  เน้นเนื้อหาวิชา  ซึ่งเป็นวิธีที่ล้าหลัง และไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง   การเรียนเนื้อหาวิชานั้น สมัยนี้หาได้ทั่วไปทั้งจากหนังสือ และจาก อินเทอร์เน็ต  หากโรงเรียนมีประโยชน์เพียงเป็นที่ถ่ายทอดเนื้อความรู้  ยุคนี้เรามีเครื่องมืออื่นที่ทำได้ดีกว่า สะดวกกว่า และสิ้นเปลืองน้อยกว่า

การเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดขึ้นได้ในทุกที่ ทุกเวลา ร่วมกับใครก็ได้ที่เราชอบ  ไม่ใช่ร่วมกับครู และเพื่อนร่วมชั้นที่อายุเท่าๆ กัน ในห้องเรียน ในช่วงเวลาที่โรงเรียนเปิดเทอม เท่านั้น  และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น การเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดขึ้นเมื่อเราอยากเรียน ต่อสิ่งที่เราอยากรู้ ไม่ใช่เรียนตามที่มีคนอื่นมาบอกให้เราเรียน

หนังสือเล่มนี้จึงตั้งคำถามว่า ทำไมต้องมีโรงเรียน ทำไมต้องไปโรงเรียน  ในเมื่อโรงเรียนจัดการศึกษาผิดๆ  และไม่ทำให้เด็กเรียนรู้อย่างแท้จริง

โรงเรียนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีมาแล้ว ๑๕๐ ปี  คล้ายๆ กับว่า หลักการและรูปแบบการศึกษาคงที่ ๑๕๐ ปี  แต่โลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ  บัดนี้โลกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ในเรื่องเครื่องอำนวยความสะดวกในการเรียน  หากโรงเรียนจะดำรงอยู่ ก็ต้องไม่เป็นแบบเดิมๆ อีกต่อไป

โรงเรียนในปัจจุบัน เน้นการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กสอบผ่าน นี่คือความผิดพลาด  การสอบผ่านกับการได้เรียนรู้อย่างครบถ้วนรอบด้าน บูรณาการ และรู้จริง เป็นคนละเรื่องกัน

ดังนั้น การดำเนินการปรับปรุงโรงเรียนให้ดีขึ้น ไม่เพียงพอเสียแล้ว  ต้องดำเนินการยกเครื่องโรงเรียน  ซึ่งหมายความว่า โรงเรียนต้องทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง  ไม่ใช่ improvement  แต่เป็น doing differently คือกิจกรรมที่โรงเรียนต้องไม่ใช่กิจกรรมแบบเดิม  ที่เช้าชึ้นมา นักเรียนมาโรงเรียน  ระฆังเข้าแถว  ชักธงชาติ  ครูอบรมหน้าเสาธง (นักเรียนตากแดดร้อน และไม่ได้ฟัง)  เดินแถวเข้าห้อง  สวดมนตร์ไหว้พระ (ยังมีอยู่หรือเปล่าก็ไม่ทราบ)  ครูบอกว่าวันนี้จะเรียนอะไร  ฯลฯ  กิจกรรมแบบ “หลักสูตรกำหนด”  “ครูกำหนด”  เหล่านี้ต้องเลิก  เปลี่ยนไปเป็นกิจกรรมที่ “นักเรียนกำหนด”

ความอุดมของความรู้ มีทั้งข้อดีและข้อจำกัด

“ความรู้หาง่ายอยู่ที่ปลายนิ้ว” เป็นคำที่พูดกันทั่วไป คือเรามีช่องทางต่อ อินเทอร์เน็ต ก็ค้นโดยใช้ กูเกิ้ล ได้  หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ปี ๒๕๕๕ บอกว่ามีคน ๒ พันล้านคนในโลก ที่เชื่อมต่อกันด้วย อินเทอร์เน็ต  (ตัวเลขนี้จะเพิ่มเป็น ๕ พันล้านในปี ๒๕๖๓)  เรามีเว็บเพจ ๑ ล้านล้านเว็บ  แต่ละวันมีคนเอาวิดีทัศน์ขึ้น YouTube ยาวเท่ากับเวลา ๘ ปี  วิกิพีเดียในภาคภาษาอังกฤษมี ๔ ล้านรายการ ฯลฯ

นอกจากความรู้หาง่ายแล้ว คนจำนวนมากก็เข้าถึงด้วย  ดังผลสำรวจในสหรัฐอเมริกา พบว่า ร้อยละ ๙๕ ของเด็กอายุ ๑๒ - ๑๗ ปี ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำ  ในจำนวนนี้ร้อยละ ๗๖ ใช้ โซเชี่ยล มีเดีย  ร้อยละ ๗๗ มีโทรศัพท์มือถือ  สองตัวเลขหลังในคนอายุ ๑๘ - ๒๙ เพิ่มขึ้นเป็น ๘๔ และ ๙๗ ตามลำดับ  ข้อมูลเหล่านี้ในประเทศไทยอาจไม่สูงเท่า และแตกต่างไปตามกลุ่มตามระดับเศรษฐสังคม  แต่ก็มีแนวโน้มเดียวกัน คือความรู้มีมากและหาง่าย  ไม่จำเป็นต้องไปรับที่โรงเรียนก็ได้

เปรียบเทียบกับโลกสมัยเรายังเด็ก แตกต่างราวฟ้ากับดิน  สมัยโน้นโรงเรียนคือแหล่งความรู้ ที่หาที่อื่นได้ยาก

เขาอ้าง Michael Welsch ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคนซัส สเตท ว่า “มีคอมพิวเตอร์อยู่ทั่วไป, มีสารสนเทศอยู่ทุกหนทุกแห่ง, มีเครือข่ายอยู่ทุกหนทุกแห่ง, มีความเร็วไม่จำกัด, เกี่ยวกับทุกสิ่ง, ทุกที่, ที่เครื่องมือทุกชนิด ที่ทำให้การติดต่อ จัดการ และเปลี่ยน ร่วมมือ และเผยแพร่”  นี่คือแหล่งเรียนรู้ ที่ไม่ใช่โรงเรียน

สำรวจนอกโรงเรียน จะเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบเปลี่ยนยุค (disruption) เต็มไปหมด  แต่โรงเรียนยังเหมือนเดิม  (ถึงตรงนี้ผมขอแถมว่า รวมทั้งมหาวิทยาลัยด้วย)

และเพิ่มเติมได้อีกว่า โทรทัศน์มีหลายร้อยช่อง ดูด้วยโทรศัพท์มือถือก็ได้  เช่นเดียวกันกับวิทยุ

ข้อจำกัดคือ เราใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อการเรียนรู้ไม่เป็น  คนไทยเอาไว้เล่นและบันเทิงมากกว่าเพื่อเรียนรู้ หลายเท่านัก   รวมทั้งใช้ไปในทางเสื่อมเสีย แทนที่จะใช้ในทางสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้พัฒนาตน   นั่นคือสิ่งที่เราต้องส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนของเรามีทักษะ (และฉันทะ)  เพื่อให้เขา “มีการศึกษา” ในนิยามใหม่ ที่จะกล่าวในหัวข้อข้างล่าง

ผู้เขียนบอกว่า โลกยุคนี้เป็นโลกของการเชื่อมต่อ (connection)  ซึ่งหมายถึงการเชื่อมต่อทาง อินเทอร์เน็ต  คนยุคนี้ต้องฝึกใช้ประโยชน์ของการเชื่อมต่อนี้  และฝึกให้เข้มแข็งรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของหการเชื่อมต่อ

ต้องรู้จักเข้าถึงการเชื่อมต่อ  ใช้เครื่องมือเพื่อเชื่อมต่อเป็น  เชื่อมต่อแล้วเข้าถึงความรู้หรือสารสนเทศที่ต้องการเป็น  ไม่มัวเสียเวลากับความรู้หรือสารสนเทศที่เขาเอามาล่อ  รู้จักแยกแยะระหว่างความรู้/สารสนเทศที่ดีกับที่ไม่ดี  รู้จักเลือกและใช้ประโยชน์ความรู้/สารสนเทศที่ดี/เหมาะสม ที่สุด  รู้จักเชื่อมโยงและสร้างความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์กับผู้อื่น ออนไลน์  ไม่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง  และรู้จักแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้/สารสนเทศ กับคนอื่น (อย่างสร้างสรรค์)

เด็กของเรา “ไม่รู้หนังสือ” ในนิยามใหม่

คำว่า “รู้หนังสือ” (literacy) ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ ต้องนิยามใหม่   ว่าไม่ใช่แค่อ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็น เท่านั้น อีกต่อไป  ต้องขยายไปสู่ความสามารถในการใช้ประโยชน์ของ ICT และการสื่อสาร เพื่อการเรียนรู้และการดำรงชีวิตของตน

NCTE ของสหรัฐอเมริกา ได้นิยาม 21st Century Literacies ไว้ ที่นี่ ซึ่งจะเห็นว่า คำว่าเรียนเพื่อ “รู้หนังสือ” ไม่เพียงพอเสียแล้ว  หรือหากกล่าวแรงๆ ก็ต้องบอกว่าเป็นวิธีคิดที่ผิด ใช้ไม่ได้อีกต่อไป  การศึกษาเพื่อรู้หนังสือเป็นวิธีคิดของเมื่อ ๑๕๐ ปีที่แล้ว  ใช้ไม่ได้ในยุคปัจจุบันที่โลกมันเปิดและเชื่อมต่อ ถึงกันหมด  คนในสมัยนี้ต้องรู้วิธีเชื่อมต่อกับคนอื่นได้ทั่วโลก  และมีทักษะในการสร้างความรู้  และทักษะ(และฉันทะ) ในการแลกเปลี่ยนความรู้ หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับคนที่แตกต่างจากเราในด้านต่างๆ ทั่วโลก   และเนื่องจากการเรียนรู้ในสมัยนี้กับการทำงานเป็นสิ่งเดียวกัน  คนสมัยนี้จึงต้องมีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ที่อาจจะมีความคิด ทัศนคติ ความเชื่อ ฯลฯ แตกต่างจากตัวเราโดยสิ้นเชิง

 

 

 

ข้อกำหนดของ NCTE : A New Set of 21st Century Competencies

 

การมีการศึกษา (Literacy)  เป็นชุดข้อปฏิบัติทางวัฒนธรรมและการสื่อสารของสมาชิก ของคนในสังคมกลุ่มหนึ่ง

เมื่อสังคมและเทคโนโลยีเปลี่ยน นิยามของคำว่า “มีการศึกษา” (literacy) ก็ต้องเปลี่ยนด้วย  เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ได้ทำให้สภาพแวดล้อมของการศึกษา ทวีความเข้มข้น และซับซ้อน  โลกในศตวรรษที่ ๒๑ จึงเรียกร้องให้ผู้มีการศึกษาต้องมีความสามารถ และสมรรถนะที่กว้างขวางมาก  คือมีชุดการศึกษาหลายชุด (many literacies)  ชุดการศึกษาเหล่านี้มีลักษณะ ซับซ้อน เป็นพลวัต ปรับตัวได้ และเชื่อมโยงผูกพันอยู่กับประวัติศาสตร์ โอกาสในชีวิต และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของบุคคลและกลุ่มคน  บุคคลที่จะมีชีวิตที่ดีในสังคมโลกยุคศตวรรษที่ ๒๑ จะต้องมีความสามารถ

·  พัฒนาความสามารถ และความคล่องแคล่ว ในการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี

·  สร้างความเชื่อมโยง และความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมกับผู้อื่น  ลงมือเสนอ

และร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อพัฒนาความคิดอิสระของตน

·  ออกแบบและแลกเปลี่ยนสารสนเทศ ต่อชุมชนโลก เพื่อเป้าหมายที่หลากหลาย

·  นำสารสนเทศจากหลากหลายทางในเวลาเดียวกัน มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และ

จัดการ

·  สร้าง วิพากษ์ วิเคราะห์ และประเมิน สื่อผสม (multimedia)

·  เอาใจใส่ความรับผิดชอบด้านจริยธรรม ในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนนี้

 

 


 

 

ดังนั้น เราต้องสร้างคำใหม่ในภาษาไทย เพื่อสื่อคำว่า literacy ในภาษาอังกฤษ  เดิมเราใช้คำว่า “รู้หนังสือ”  ผมขอเสนอคำว่า “มีทักษะ”  โดยคำเต็มคือ “มีทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑”  การศึกษาสมัยใหม่มีเป้าหมายเพื่อให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  และการจะพัฒนาทักษะชุดนี้ขึ้นในตัวได้  ผู้เรียนต้องมีความรู้แกน และความรู้หลักสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ เป็นฐานสำหรับงอกงามทักษะ  ซึ่งความรู้ชุดนี้ต้องเรียนไปพร้อมๆ กันกับการพัฒนาทักษะ

ภาษาไทยที่เราใช้กันอยู่เดิมอาจสื่อคุณค่าที่ไม่ตรงกับคุณค่าแห่งยุคสมัย  เช่นคำว่า “รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา  รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”  เราต้องตีความคำว่า “รู้วิชา” เสียใหม่ ว่าหมายถึง “มีทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑”

ในนิยามใหม่นี้ เด็กที่จบการศึกษาภาคบังคับของไทยส่วนใหญ่ ยัง “ไร้การศึกษา” (illiterate)

วิจารณ์ พานิช

๑๑ เม.ย. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/532753

 

มีโรงเรียนไปทำไม : 2. โรงเรียนแบบเก่า โรงทรมานเด็กด้วยหลักสูตรที่พองขึ้นๆ

พิมพ์ PDF

ที่ร้ายที่สุดคือความคิดแบบบังคับบัญชา (command and control) ที่ครอบงำวงการศึกษา

 

มีโรงเรียนไปทำไม  : 2. โรงเรียนแบบเก่า โรงทรมานเด็กด้วยหลักสูตรที่พองขึ้นๆ

บันทึกชุด มีโรงเรียนไปทำไม รวม ๗ ตอนนี้ ตีความจากหนังสือ Why School? : How Education Must Change When Learning and Information Are Everywhere เขียนโดย Will Richardson บอกตรงๆ ว่า ระบบการศึกษาจะอยู่ในสภาพปัจจุบันไม่ได้  ต้องเปลี่ยนแปลงในทำนองเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

สิ่งที่ผิดทางการศึกษา คือมุ่งจัดการศึกษาแบบ “มีข้อกำหนด” (prescriptive) ซึ่งก็คือหลักสูตร ที่นับวันจะพองตัวขึ้นเรื่อยๆ ตามปริมาณความรู้ที่เพิ่มขึ้น  กำหนดให้ต้องถ่ายทอดความรู้ตามที่กำหนด  และต้องจัดการสอบแบบการทดสอบมาตรฐาน ที่ล้าสมัย เพื่อดูว่าได้ผลตามที่กำหนดในหลักสูตรหรือไม่  และที่ร้ายที่สุดคือความคิดแบบบังคับบัญชา (command and control) ที่ครอบงำวงการศึกษา

ผมขออภัยท่านที่อยู่ในวงการศึกษา ที่ถอดความในหนังสือนี้มาลงบันทึกด้วยถ้อยคำรุนแรง  ผมไม่มีเจตนาลบหลู่  แต่ต้องการปลุกสำนึกว่าการศึกษาที่เราจัดให้แก่ลูกหลานของเราในเวลานี้นั้น มันผิด มันตกยุค  และเป็นเสมือนทำร้ายเด็ก  เพราะจะไม่ทำให้เด็กที่เป็นอนาคตของประเทศ มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑

หลักสูตรและโรงเรียนแบบเก่าที่ใช้มา ๑๕๐ ปี กำลังถูกท้าทายด้วยโอกาสเรียนรู้แบบใหม่ ที่เรียนได้จากทุกที่ ทุกเวลา โดยทุกคน  ขอให้ตั้งใจมีใจอยากเรียนรู้และเข้า อินเทอร์เน็ตได้

โรงเรียนแบบเก่า เรียนปีละ ๑๘๐ วัน  เด็กต้องแบกเป้หนักอึ้งมาโรงเรียน  เลือกครูไม่ได้ ครูแย่แค่ไหนก็ต้องไปเรียนตามที่โรงเรียนกำหนด  วิชาไม่น่าสนใจก็ต้องเรียน  โรงเรียนมีสนามเด็กเล่นไม่พอก็ต้องแย่งชิงเอา  อาหารที่โรงอาหารกินไม่ลงก็ต้องกิน ฯลฯ

ที่น่ากังวลสำหรับผม แต่ไม่เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้คือ ครูมุ่งสอนวิชาเพื่อให้เด็กสอบผ่าน  ไม่ได้สนใจสอนความเป็นมนุษย์ที่พัฒนาครบด้านให้แก่เด็ก  เพราะเรื่องนี้ไม่มีการสอบ  เด็กถูกสอนมาก (ตามหลักสูตร) แต่ได้เรียนน้อย  ในขณะที่ประเทศที่การศึกษาคุณภาพดี เขาใช้หลัก สอนน้อย เรียนมาก  และเรียนอย่างบูรณาการเพื่อให้เกิดพัฒนาการครบด้าน

ที่เป็นตัวการแห่งความเสื่อมคือการประเมิน หรือการสอบ ที่เน้นสอบความรู้หรือการท่องจำ  เน้นสอบโดยส่วนกลาง  ที่ทำให้ครูไม่มั่นใจตนเอง ไม่ได้ฝึกฝนการประเมินการเรียนรู้ของเด็กด้วยตนเอง  มัวแต่ลนลานสอนให้ทัน ให้ครบตามหลักสูตร  โดยไม่ได้เอาใจใส่มากนักว่าเด็กได้เรียนหรือไม่  หรือสนใจแต่เด็กที่เรียนเก่งว่าได้เรียนรู้แล้ว  เด็กที่เรียนไม่เก่งครูสอนแล้วก็ถือว่าได้ทำหน้าที่แล้ว ที่ไม่รู้เพราะเด็กโง่เอง  นี่คือส่วนหนึ่งของข้อด้อยของโรงเรียนแบบเก่า

ผู้เขียนบอกว่า กฎหมาย No Child Left Behind ของสหรัฐอเมริกา ได้ส่งผลให้ระบบการศึกษาอเมริกัน เป็นการเรียนเพื่อสอบ  ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่า ก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กันกับการมี สมศ.  และการสอบของส่วนกลางของไทย  ซึ่งก็มีส่วนทำให้การศึกษาไทยเป็นการสอนและเรียนเพื่อสอบเช่นเดียวกัน

การสอบอย่างที่ทำกันในปัจจุบัน ไม่ทำนายความสำเร็จในชีวิตอนาคตของเด็ก ซึ่งโลกและสังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปแบบคาดเดาไม่ได้  เพราะเป็นการทดสอบความรู้ในปัจจุบัน  ไม่ได้ทดสอบทักษะในการเรียนรู้ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ของเด็ก

บริษัท ไอบีเอ็ม ได้สอบถามความเห็นของผู้บริหาร ว่าปัจจัยสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จของคนในอนาคตคืออะไร  ไม่มีคนตอบว่าคือผลสอบต่างๆ เลย  ปัจจัยที่มีคนตอบมากที่สุดคือ “ความริเริ่มสร้างสรรค์ และความสามารถในการจัดการความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของโลก”  จึงเกิดคำถามว่า ระบบการศึกษาที่ช่วยให้เด็กพัฒนาคุณสมบัติที่ต้องการสองข้อนี้เป็นอย่างไร  คำตอบคือ ไม่ใช่โรงเรียนแบบเก่า อย่างแน่นอน

ผู้เขียนไม่โทษครู แต่โทษระบบ  ว่าระบบการศึกษาของอเมริกันไม่ดี  มีผลให้ครูออกจากอาชีพถึงครึ่งหนึ่ง ในเวลา ๕ ปีแรกของการเข้าสู่อาชีพครู

ทำให้ผมหันกลับมาตั้งคำถามต่อระบบของไทย

หนังสือยังบอกอีกว่า หากคิดเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่มาจากครอบครัวรายได้สูง  ผลการทดสอบสูงลิ่ว  สะท้อนให้เห็นความแตกต่าง หรือช่องว่างทางสังคมอย่างชัดเจน  ช่างเหมือนกับสยามประเทศอะไรอย่างนั้น  ต่างจากประเทศที่ผลการเรียนของเขาดี เช่นฟินแลนด์ ที่โรงเรียนทั่วประเทศมีคุณภาพทัดเทียมกัน  และไม่มีการทดสอบจากส่วนกลาง

ในวาทกรรมปฏิรูปการเรียนรู้โดยใช้ ไอซีที เป็นเครื่องช่วยนั้น  มันซ่อนความเชื่อสองแนวไว้อย่างแนบเนียน  คือแนวอนุรักษ์ของเดิม เพิ่มประสิทธิภาพ (และประสิทธิผล) ด้วย ไอซีที  ใช้ไอซีทีช่วยถ่ายทอดเนื้อวิชาแทนครูเป็นส่วนใหญ่  โดยที่ครูผู้ช่วยคอยคุมเครื่อง และบอกเวลาหมดคาบหรือหมดชั่วโมง  และมีครูติวเต้อร์ หรือครูที่ปรึกษาให้นักเรียนบางคน ที่เรียนช้า หรือไม่เข้าใจ  การสอบก็เน้นสอบแบบเขียนเรียงความ  โดยมีการวิจัยพัฒนาเครื่องตรวจข้อสอบแบบเรียงความ ที่สามารถตรวจข้อสอบได้ ๑ หมื่นข้อ (คน) ใน ๑ นาที

ส่วนแนวยกเครื่องการเรียนรู้ใหม่นั้น จะเล่าโดยละเอียดในตอนที่ ๔  จุดสำคัญที่หนังสือเล่มนี้บอกคือ แนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการสอนเนื้อหาด้วยเครื่อง ไอซีที นั้น  ยังไม่ใช่วิธีการของศตวรรษที่ ๒๑  ที่ผู้เรียนต้องมีอิสระ และมีอำนาจเหนือการเรียนรู้ของตนเอง  เราต้องไม่หลงพัฒนารูปแบบการเรียนรู้โดยยังยึดติดที่เนื้อหาอย่างเดิม เพียงแต่เปลี่ยนผู้สอนจากเน้นครู มาเป็นเน้นให้เครื่องสอน  และเวลาสอบก็ยังเน้นสอบเนื้อหาอย่างเดิม เพียงแต่เปลี่ยนข้อสอบจากเน้นปรนัยมาเป็นอัตนัย แล้วใช้เครื่องตรวจ

ในการปฏิรูปการเรียนรู้ มีมายา  หรือการหลอกตัวเอง ทั้งแบบจงใจ และแบบไม่รู้ตัว   ผู้ที่กำลังปฏิรูปการเรียนรู้ไทยพึงตระหนักข้อนี้

วิจารณ์ พานิช

๑๒ เม.ย. ๕๖

 

 


หน้า 491 จาก 557
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5602
Content : 3043
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8589709

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า