Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๑๕. ผู้กำกับการเรียนรู้ของตนเอง : ภาคปฏิบัติ

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

ตอนที่ ๑๔ และ ๑๕ มาจากบทที่ 7 How Do Students Become Self-Directed Learners?ซึ่ง

ตอนที่ ๑๔ว่าด้วยทฤษฎี  ตอนที่ ๑๕ว่าด้วยภาคปฏิบัติ หรือยุทธศาสตร์


ยุทธศาสตร์ส่งเสริมให้ นศ. บรรลุทักษะกำกับดูแลการเรียนรู้ของตนเอง

ประเมินงานที่จะทำ

สร้างความชัดเจนให้มากกว่าที่คิด

ในการมอบหมายงานให้ นศ. ครูต้องสื่อสารให้ชัดเจน ว่าต้องการให้ นศ. ฝึกฝนอะไร  เพื่อประโยชน์อะไรต่อ นศ.  ผลงานในระดับไหนที่สะท้อนว่า นศ. ได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพสูง  ต้องตระหนักอยู่เสมอว่า นศ. อาจมีมุมมองต่อชิ้นงานต่างจากที่ครูคิด  ครูต้องหาทางป้องกันความเข้าใจผิดๆ ต่อชิ้นงาน ของ นศ.

ความเข้าใจผิดที่ดาษดื่น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทย) คือคิดว่าเป้าหมายของชิ้นงานนั้นคือ นศ. ต้องนำเสนอผลงานที่เป็น “ผลงานสุดท้าย” ที่ดี เป็นใช้ได้  นศ. จึงหลงไปคัดลอกตัดปะ  หยิบยืมหรือขโมยผลงานของผู้อื่น  หรือที่ร้ายกว่านั้น คือไปจ้างเขาทำให้  นี่คือความหลงผิดที่ทำร้ายตนเอง  ที่ทำให้ตนเองไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้จากการฝึกหัด คิดเองทำเอง  เผชิญความยากลำบาก/ความล้มเหลว เพื่อการเรียนรู้ฝึกฝนตนเอง

การเรียนรู้อยู่ที่ตัว นศ.  ไม่ได้อยู่ที่ชิ้นผลงาน  ตัวชิ้นผลงานเป็นเพียงกระจกสะท้อนการเรียนรู้ของ นศ.  หาก นศ. ไม่ทำผลงานเอง ไปหยิบยืมหรือซื้อผลงานมาส่งครู  เท่ากับ นศ. เอา “กระจก” ชิ้นอื่นมาตบตาครู  ครูที่โดนหลอก ก็ช่วยฝึก นศ. ผิดทาง  ผลเสียก็ตกอยู่แก่ตัว นศ. เอง

จริงๆ แล้ว คนที่โดนหลอกมากที่สุด คือตัว นศ. เอง

ผมจึงสรุปกับตัวเองว่า การเรียนรู้ที่ดีต้อง เรียน ๓ ชั้น” ไปในเวลาเดียวกัน  คือ (๑) เรียนเนื้อหาหรือสาระวิชา  หรือเรียนทฤษฎี  (๒) เรียนทักษะ โดยการลงมือทำ  และ (๓) เรียนวิธีเรียน  เข้าใจและมีทักษะในแต่ละขั้นตอนของการเรียนรู้

การ “เรียน ๓ ชั้น” นี้ อาจมองเป็นอีกแบบหนึ่งก็ได้ คือ (๑) เรียนฝึก (๒) เรียนกระบวนการการฝึก  (๓) เรียนทำความเข้าใจขั้นตอนการฝึก

จะเป็นคนที่กำกับการเรียนรู้ของตนเองได้ (Self-directed Learner)  หรือเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างอิสระ (Independent Learner) ได้  ต้องมีทักษะในการเรียน ๓ ชั้น  ให้การเรียนแต่ละชั้น มีพลังเสริมส่ง(synergy) ซึ่งกันและกัน  นศ. ต้องมีสติระลึกถึงการเรียนทั้ง ๓ ชั้นนี้ จนเป็นนิสัย  และฝึกฝนตนเองให้พัฒนาปรับปรุงตนเองในทักษะทั้ง ๕ ขั้นตอนในรูปของบันทึกที่แล้ว ตลอดชีวิต   จึงจะเป็น “คนที่กำกับการเรียนรู้ของตนเองได้”

คำแนะนำต่อ นศ. ให้ “เรียนรู้ ๓ ชั้น” ได้โดยง่ายคือ  ให้ทำ “บันทึกขั้นตอนการเรียน/ทำงาน”  คู่ไปกับการทำชิ้นงานที่ครูมอบหมาย  เป็นบันทึกคล้ายๆ เขียนไดอารี่  ว่าชิ้นงานนั้นมีเป้าหมายสุดท้ายเป็นผลงานอะไร  บอกได้อย่างไรว่าผลงานมีคุณภาพดีเด่น ดีมาก ดี พอใช้ ใช้ไม่ได้  ตนกะจะเสนอผลงานที่มีคุณภาพระดับไหน  เพราะอะไร การฝึกทำชิ้นงานนี้ ตนทำเพื่อเรียนรู้/ฝึกอะไรบ้าง  ตนแจกแจงขั้นตอนของงานเป็นกี่ขั้นตอน  ส่วนไหนที่ง่ายสำหรับตน  ส่วนไหนยาก  ตนมีแผนเอาชนะความยากอย่างไร  ลงมือทำอย่างไร  ระหว่างทำพบอะไรบ้าง  ได้เรียนรู้อะไร  ต้องแก้ไขอุปสรรคอะไรบ้าง อย่างไร  สุดท้ายแล้วผลงานของตนมีคุณภาพระดับไหน  ตนได้ความรู้/ทักษะ อะไรบ้าง  ส่วนไหนที่อยากได้ แต่ยังได้น้อย เพราะอะไร  หากได้รับมอบหมายงานอีก จะปรับปรุงการทำงาน/ฝึกฝน/เรียนรู้ อย่างไร  ฯลฯ


บอก นศ. ว่าครูไม่ต้องการอะไร

สิ่งที่ครูจะต้องเอาใจใส่ และขจัดออกไป คือความเข้าใจผิดของ นศ.  ในการมอบหมายงาน หรือในการสื่อสารใดๆ ครูควรสื่อสารว่า “ครูไม่ได้หมายความว่าอย่างนี้ ....” ด้วย  โดยยกเอาความเข้าใจผิดของ นศ. รุ่นก่อนๆ มาเป็นตัวอย่าง

นอกจากทำความชัดเจนด้วยวาจาหรือข้อเขียนแล้ว  ครูควรทำความเข้าใจด้วยตัวอย่างเชิงประจักษ์ พร้อมคำอธิบาย ด้วย  เช่น เอาตัวอย่างผลงานของ นศ. รุ่นก่อนๆ มาให้ดู  และชี้ให้เห็นว่าผลงานนั้นมีจุดดีตรงไหน  ทำไมครูจึงว่าดี  มีข้อบกพร่องตรงไหน ทำไมครูจึงว่ายังไม่ดี  ที่ดีกว่านั้นเป็นอย่างไร

เขียนมาถึงตรงนี้ ทำให้ผมนึกถึงหลักการปฏิรูปการสอบประเมินผลแห่งศตวรรษที่ ๒๑ สามประการ  โดยประการหนึ่งคือ ข้อสอบไม่เป็นความลับ  ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น คือตัวอย่างของ “ข้อสอบไม่เป็นความลับ”  เพราะเป็นการสอบที่เน้นประเมินทักษะ ไม่ใช่เน้นความจำ


ตรวจสอบความเข้าใจของ นศ. ต่องานที่มอบหมาย

ทำได้โดยให้ นศ. บอกว่าตนคิดว่าตนต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้งานสำเร็จ  แล้วครูให้คำแนะนำป้อนกลับ  รวมทั้งแนะนำยุทธศาสตร์อื่น หากครูเห็นว่าวิธีการของ นศ. ไม่น่าจะถูกต้อง

ในกรณีที่ชิ้นงานมีความซับซ้อน ควรให้ นศ. เขียนใบงานใหม่ตามความเข้าใจของตน (คือใช้เทคนิค paraphrasing)


มอบเกณฑ์ประเมินผลงานพร้อมกับการมอบหมายงาน

การบอกเกณฑ์ประเมินผลงาน เท่าเป็นการกำหนดโครงสร้างการคิดทำความเข้าใจชิ้นงานของ นศ.  ครูอาจบอกด้วยวาจา หรือมอบเป็นเอกสาร checklist  เช่น เนื้อหา  โครงสร้าง  และรายละเอียดของรูปแบบรายงาน  โดยครูควรแนะนำให้ นศ. กลับมาตรวจสอบ checklist เป็นระยะๆ ระหว่างทำงาน  และกำหนดให้ นศ. ส่ง checklist ที่ตนลงนามกำกับ พร้อมกับส่งผลงาน  เทคนิคมอบ checklist นี้ ควรจะค่อยๆ เลิกใช้ เมื่อครูสังเกตว่า นศ. ประเมินขั้นตอนการทำงานด้วยตนเองได้แล้ว

ครูอาจสื่อสารเกณฑ์ประเมินผลงานด้วย rubric แสดงระดับคุณภาพของผลงานหลายมิติ พร้อมกับเกณฑ์ของระดับคุณภาพแต่ละระดับ ในแต่ละมิติ  เกณฑ์นี้จะช่วยให้ นศ. พัฒนาทักษะและนิสัยด้านตรวจสอบขั้นตอนของการทำงาน (metacognition)  ต่อไปเมื่อ นศ. มีทักษะและนิสัยนี้แล้ว  การมอบหมาย rubric ก็ไม่จำเป็น


ประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอง

ประเมินผลงานตามสมรรถนะหลังเริ่มงานไม่นาน

เป็นการใช้วงจร ปฏิบัติ คู่กับการให้คำแนะนำป้อนกลับ (feedback) เป็นระยะๆ ช่วยให้ นศ. พัฒนาขีดความสามารถ หรือจุดแข็งจุดอ่อนของตนเอง  ครูควรใช้การประเมินและการป้อนกลับตั้งแต่เริ่มงานไม่นานนัก  เพื่อให้ นศ. ได้มีเวลาเรียนรู้จากคำแนะนำป้อนกลับของครู

การประเมินนี้ เน้นให้เป็น “การประเมินเพื่อพัฒนา” (Formative Assessment)  ดังนั้น วิธีออกข้อสอบต้องจัดเพื่อช่วยให้ นศ. ประเมินระดับการเรียนรู้ของตน และใช้ความพยายามพุ่งไปที่การแก้ไขจุดที่ตนบกพร่อง  ตัวอย่างการออกข้อสอบเช่น “ข้อสอบ ๕ ข้อแรกเป็นคำถามเกี่ยวกับนิยามศัพท์ และความเข้าใจทฤษฎี  ส่วน ๕ ข้อหลังเป็นคำถามที่ต้องการการสังเคราะห์ทฤษฎีสู่การปฏิบัติ ซึ่งเป็นงานที่ซับซ้อน”


ให้ประเมินตนเอง

เป็นการให้ นศ. ทำแบบฝึกหัดจำนวนหนึ่ง ที่มีคำตอบแยกอยู่ในอีกที่หนึ่ง  ให้ นศ. ทำแบบฝึกหัดแล้วตรวจผลเอง  โดยมีวัตถุประสงค์ที่การเรียนรู้จากการทำแบบฝึกหัด  โดยครูต้องย้ำกับ นศ. ว่า อย่าอ่านคำเฉลยก่อน เพราะจะไม่ได้ประโยชน์จากการทำแบบฝึกหัด

และต้องเน้นว่า การอ่านโจทย์ แล้วอ่านคำเฉลย จะยิ่งไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย  เพราะประโยชน์ที่แท้จริงคือการใช้โจทย์เป็นเครื่องมือฝึกฝนความคิด (หรือสมอง) ของตน


วางแผนวิธีทำงานที่ดี

ให้ นศ. ฝึกปฏิบัติตามแผนที่ครูมอบให้

ครูมอบงานที่ซับซ้อนแก่ นศ.  พร้อมกับมอบ “เป้าหมายรายทาง” ที่ นศ. ต้องส่งผลงานเป็นระยะๆ  เท่ากับเป็นการสอน หรือให้ตัวอย่างการวางแผนการทำงาน แก่ นศ.


ให้ นศ. กำหนดแผนเอง

เมื่อครูเห็นว่า นศ. เริ่มมีทักษะในการวางแผนปฏิบัติงานบ้างแล้ว  ก็เริ่มให้ นศ. ฝึกกำหนดแผนเอง  โดยเมื่อมอบหมายชิ้นงาน กำหนดให้ผลงานชิ้นแรกที่ต้องส่งครู คือแผนการปฏิบัติงาน  คล้ายๆ เป็นการเสนอ project proposal  แล้วนำมาอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในชั้นเรียน


กำหนดให้การทำแผนเป็นเป้าหมายหลักของชิ้นงาน

ในกรณีที่ครูต้องการให้ นศ. ได้ฝึกทำแผนให้คล่องแคล่ว  อาจมอบโจทย์ชิ้นงาน และกำหนดให้ทำเฉพาะส่วนแผนการทำงาน  ให้ นศ. ได้ฝึกกับโจทย์หลากหลายแบบ  เรียนรู้จากคำแนะนำป้อนกลับจากเพื่อนและจากครู


ลงมือปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ และติดตามผล

สังเกตสัญญาณเตือนเพื่อช่วยให้ นศ. ปรับปรุงแก้ไขด้วยตนเอง

ครูควรช่วยให้ นศ. รู้จักสังเกตสัญญาณเตือนให้ตรวจสอบงานทบทวนของตน และแก้ไขข้อบกพร่องเสียแต่เนินๆ  ก่อนที่งานจะดำเนินไปมาก จนยากที่จะกลับมาแก้ไขข้อบกพร่อง

เช่น ครูแนะนำวิธีตั้งคำถามแก่ตัวเอง “คำตอบนี้สมเหตุสมผลไหม มองจากมุมของคำถาม”   คำถามอาจต้องตั้งให้สอดคล้องกับวิชาที่เรียน  โดยยกเอาหลักการหรือวิธีการของวิชามาเป็นตัวตั้งคำถาม  เช่น “ในการทำงานนี้ฉันตั้งสมมติฐานอย่างไร  เป็นสมมติฐานที่สอดคล้องกับวิชา .... ไหม”

จะเห็นว่า ทักษะในการตั้งคำถาม หรือตั้งข้อสงสัย เป็นทักษะสำคัญยิ่ง ต่อการเรียนรู้  ไม่ว่าในเรื่องใด วิชาใด  และคำถามที่ตั้งต่อตนเอง มีค่ายิ่ง ต่อการเรียนรู้เพื่อปรับปรุงตนเอง


ให้ นศ. ประเมินตนเองภายใต้ข้อแนะนำ

ให้ นศ. ประเมินผลงานของตนเอง ตามเกณฑ์ที่ครูกำหนด  โดยอาจฝึกทักษะนี้ด้วยตัวอย่างคำตอบและอภิปรายร่วมกับครูและเพื่อนร่วมชั้นเสียก่อน

เมื่อ นศ. ประเมินผลงานของตนเองแล้ว  ก็นำมาอภิปรายแลกเปลี่ยนกับเพื่อนและครู  เพื่อฝึกทักษะการประเมินติดตามผลงานของตนเอง

ให้ นศ. ไตร่ตรองสะท้อนความคิดและจดบันทึก

ในการมอบชิ้นงาน นอกจากทำชิ้นงานแล้วกำหนดให้ นศ. จดบันทึกขั้นตอนการทำงานของตน  ระบุว่าทำอะไรบ้าง และให้คำอธิบายว่าทำไมจึงทำสิ่งนั้น  นศ. ได้เผชิญปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้าง  และแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปอย่างไร  เป็นต้น  บันทึกการทำงานอาจมีโครงสร้างแตกต่างไปตามลักษณะงาน หรือลักษณะของสาขาวิชา

แต่ลักษณะสำคัญคือ ต้องการให้ นศ. ได้ไตร่ตรองสะท้อนความคิดตามขั้นตอนการทำงาน  เพื่อเรียนรู้กระบวนการการทำงาน  และกระบวนการทางความคิดในขณะนั้น


ใช้การประเมินโดยเพื่อน นศ.

การให้ นศ. แลกเปลี่ยนกันทำหน้าที่ประเมินผลงาน และให้คำแนะนำป้อนกลับ เป็นวิธีฝึกหัดทักษะ (และนิสัย) การประเมินผลงานของตนเอง

โดยครูต้องช่วยกำหนดเกณฑ์การประเมินให้ชัดเจนและเหมาะสม  ไม่ปล่อยให้ นศ. ประเมินกันเองแบบเปะปะ  โดยอาจใช้ rubric หรือให้ใช้คำถามชุดหนึ่ง


ไตร่ตรองสะท้อนความคิดและปรับยุทธศาสตร์

กำหนดกิจกรรมให้นศ. สะท้อนความคิดเรื่องระดับความสำเร็จของผลงาน

เมื่อมอบหมายโครงการให้ นศ. ทำ  ต้องมอบให้ นศ. สะท้อนความคิด และประเมินระดับความสำเร็จของผลงานของตนเองส่งครูด้วยโดยกำหนดให้ตอบคำถามชุดหนึ่งที่ครูกำหนด  เช่น “นศ. ได้เรียนรู้อะไร จากการทำโครงงานนี้”  “นศ. ต้องการทักษะอะไรบ้าง ในการทำงานชิ้นนี้”  “นศ. จะเตรียมงานต่างจากที่ได้ทำไปแล้วอย่างไรบ้าง  เมื่อพิจารณาจากคำแนะนำป้อนกลับที่ได้รับระหว่างภาคการศึกษา”“ทักษะของ นศ. มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างในช่วงที่ได้รับชิ้นงาน ๓ ชิ้นหลังมาฝึกหัด”  เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เพื่อฝึก metacognitive skills


ให้นศ. วิเคราะห์ประสิทธิผลของทักษะการเรียนรู้ของตน

วิธีหนึ่งทำโดยใช้ “ใบงานหลังสอบ” (exam wrapper)  ที่ครูแจกให้ นศ. พร้อมกับคำตอบข้อสอบที่ครูให้คะแนนแล้ว

ในใบงานหลังสอบ กำหนดให้ นศ. ประเมินสมรรถนะการเรียนของตน  และเชื่อมโยงกับวิธีเรียนและวิธีเตรียมสอบของตน

ตัวอย่างคำถามใน “ใบงานหลังสอบ”  (๑) ความผิดพลาดของ นศ. เป็นความผิดพลาดชนิดไหน  (เช่น คำนวณผิด  หรือเข้าใจหลักการผิด)  (๒) นศ. เรียนอย่างไร (เช่น ทบทวนบทเรียน คืนก่อนสอบ  หรือ ทำโจทย์จำนวนหนึ่งในช่วง๑ สัปดาห์ก่อนสอบ  (๓) ต่อไป นศ. จะเตรียมตัวสอบแตกต่างไปจากคราวนี้อย่างไร (เช่น ทำโจทย์เอง  ไม่ใช่อ่านโจทย์แล้วอ่านคำตอบ)

ครูอาจคืนใบคำตอบของ “ใบงานหลังสอบ” ของการสอบคราวที่แล้ว  ก่อนการสอบครั้งต่อไป สำหรับใช้เป็นเครื่องเตือนสติ พัฒนาวิธีเรียนของ นศ.


นำเสนอยุทธศาสตร์หลายแบบ

หาทางให้ นศ. ได้ประจักษ์ว่า งานหรือปัญหาหนึ่งๆ  สามารถใช้มุมมอง  หรือจับประเด็น  หรือแก้ปัญหา ได้หลายแบบ  เช่นในกรณีของศิลปะ อาจใช้เทคนิค “การวิพากษ์สาธารณะ” (public critique)  โดยกลุ่ม นศ. ในชั้นเรียนเอง  เพื่อให้ นศ. ได้เห็นความหลากหลายของการตีความโจทย์  และความหลากหลายของวิธีการหาคำตอบ

หรือกำหนดให้ นศ. แต่ละคนตอบโจทย์ด้วยวิธีการหลายวิธี

แนวทางนี้ จะช่วยให้ นศ. พัฒนาการตรวจสอบอย่างมีวิจารณญาณด้วย


มอบหมายชิ้นงาน ให้ทำงานกำหนดยุทธศาสตร์ มากกว่าให้ลงมือปฏิบัติ

แทนที่จะมอบหมายชิ้นงานให้ทำทั้งชิ้น  มอบให้ทำเฉพาะส่วนกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานหลากหลายแบบ  และทำนายว่ายุทธศาสตร์แต่ละแบบจะนำไปสู่ผลงานแบบไหน  แต่ละยุทธศาสตร์จะมีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร  เพื่อฝึกคิดยุทธศาสตร์หลายๆ แบบ


ความเชื่อเรื่องความฉลาดกับการเรียนรู้

ทำความเข้าใจความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้ของ นศ.

แม้ว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับสาระวิชา  แต่ความเชื่อของตัว นศ. ต่อความสามารถในการเรียนรู้ของตน มีผลต่อการเรียนรู้  คือมีผลต่อกำลังใจและต่อความมานะพยายามต่อการเรียน

ครูจึงควรหาทางพูดทางอ้อมในโอกาสที่เหมาะสม ว่าการที่ นศ. บางคนคิดว่าตนวาดรูปไม่ได้  ไม่เก่งคณิตศาสตร์ จึงหลีกเลี่ยงการเรียนวิชาดังกล่าว นั้น  ไม่เป็นคุณต่อตนเอง  เพราะสมองคนฝึกได้  เมื่อฝึกบ่อยๆ และฝึกอย่างถูกวิธี ก็จะทำได้  คือสมองก็คล้ายกล้ามเนื้อ เมื่อฝึกอย่างสม่ำเสมอ ก็จะแข็งแรงขึ้น

ธรรมชาติของการเรียนรู้ ได้จากการฝึก  เมื่อฝึกอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ สมองจะพัฒนาขึ้นเอง  ครูต้องหาวิธีให้ นศ. เข้าใจเรื่องสมอง


ขยายความเข้าใจของ นศ. เรื่องการเรียนรู้

นศ. มักเข้าใจผิดเรื่องความรู้ หรือการเรียนรู้ ว่ามี ๒ อย่าง คือ รู้ กับ ไม่รู้   ที่จริงแล้ว “ความรู้” มีหลายระดับ ตาม Bloom’s Cognitive Taxonomy  ได้แก่  (๑) รู้ในระดับจำข้อเท็จจริง หลักการ หรือทฤษฎี ได้ (recall หรือ Declarative Knowledge)  (๒) รู้วิธีปฏิบัติ หรือประยุกต์ใช้ความรู้ (Procedural Knowledge)  (๓) รู้กาละเทศะของการประยุกต์ใช้ความรู้ชุดนั้น (Contextual Knowledge)  (๔) รู้คำอธิบายว่าทำไมใช้ความรู้นั้นในสถานการณ์นั้นจึงได้ผล หรือไม่ได้ผล (Conceptual Knowledge)

ผมขอเพิ่มเติมความรู้ตัวที่ (๕) คือรู้คุณค่าของความรู้และการประยุกต์ใช้ความรู้ชุดนั้น  หรือคุณค่าของผลที่เกิดขึ้นจากการลงมือทำ (Spiritual Knowledge) หรือ value dimension ของความรู้   ที่หนังสือไม่ได้เอ่ยถึง

เพื่อให้ นศ. เข้าใจความรู้ความเข้าใจต่างระดับ  ครูอาจยกตัวอย่าง สภาพของการมีความรู้ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถใช้ความรู้นั้นทำงานได้ เพราะยังขาดความรู้ในระดับปฏิบัติ  หรืออาจรู้ทฤษฎี รู้วิธีใช้ แต่พอนำไปใช้ในสถานการณ์จริงอาจได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง เพราะยังขาด contextual knowledge เป็นต้น

ครูสามารถยกตัวอย่างเรื่องจริงที่สอดคล้องกับบริบทของ นศ. อีกมากมาย เพื่อให้ นศ. เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ และวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์  และความสำคัญของทักษะในการประเมิน และพัฒนา กระบวนการเรียนรู้ของตน


ช่วยให้ นศ. กำหนดเป้าหมายที่สมเหตุสมผล

เป้าหมายสำคัญคือเรื่องเวลา ที่ต้องการในการฝึกฝนจนบรรลุทักษะตามเป้าหมายที่กำหนด  นศ. มักไม่เข้าใจว่า คนฝึกใหม่อย่างตนเองต้องการเวลาสำหรับฝึกฝนเพื่อให้ “รู้จริง” (mastery)  นศ. จึงมักจะใช้เวลาเพียงเล็กน้อย เมื่อยังไม่บรรลุผล ก็คิดว่าตนไม่ถนัดเรื่องนั้น  และละความพยายาม

คำแนะนำของครู ให้ นศ. เข้าใจระดับของความพยายามและความอดทนที่ นศ. ต้องใช้ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ยากแต่ละเป้า  และคอยชี้ให้เห็นความคืบหน้าทีละเล็กทีละน้อย  และเป็นกำลังใจให้พยายามต่อไป  เพื่อบรรลุการ “รู้จริง”  จึงสำคัญยิ่ง


ยุทธศาสตร์ทั่วไปเพื่อส่งเสริมความเข้าใจขั้นตอนการเรียนรู้

ยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับพัฒนาทักษะการทำความเข้าใจรูปแบบการเรียนรู้ของตนเอง  คือการทำโมเดล (modeling)  และการทำโครงแล้วถอดโครงออก (scaffolding)


สร้างโมเดลของกระบวนการเรียนรู้ของครู

เพื่อให้ นศ. เรียนรู้ขั้นตอนวิธีคิด ครูเอาโจทย์หรือใบงานตัวอย่าง  มาจัดทำโมเดลของกระบวนการเรียนรู้ของตัวครูเอง  แล้วนำมาทำความเข้าใจแต่ละขั้นตอนร่วมกับ นศ.  เท่ากับครูคิดออกมาดังๆ ให้ นศ. ฟังเป็นตัวอย่าง  เริ่มตั้งแต่ “รู้เขา” คือทำความเข้าใจโจทย์  และวิเคราะห์ตนเอง คือ “รู้เรา” ในมิติของการทำโจทย์ที่ได้รับ ว่าตนมีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร  แล้ววางแผนยุทธศาสตร์ของการทำงาน   และดำเนินการลงมือทำ  รวมทั้งวิธีการติดตามตรวจสอบผลของงาน  และนำผลมาแก้ไขปรับปรุงวิธีทำงาน

เครื่องมือชนิดหนึ่งของการตรวจสอบประเมินผลคือคำถาม  เช่น “ฉันจะมีวิธีทำงานที่ได้ผลดีกว่านี้ไหม”  และเมื่อทำงานเสร็จ ก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า  “ฉันจะเอาผลงานนี้ ไปให้ใครช่วยประเมินคุณภาพ”

ที่จริง เทคนิคการตั้งคำถามนี้ สามารถนำมาใช้ เพื่อให้ นศ. ได้เรียนขั้นตอนวิธีคิด/วิธีเรียนรู้ ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ


ฝึกให้ นศ. เรียนรู้ขั้นตอนการเรียนรู้ โดยครูสร้างนั่งร้าน/โครงความคิด (scaffolding)

scaffolding เป็นเสมือนนั่งร้านหรือโครง ของขั้นตอนการเรียนรู้  ที่ในตอนต้น ครูช่วยคิดให้ แล้วค่อยๆ ลดการช่วยเหลือลง  จน นศ. ทำด้วยตนเองได้

ทั้งโมเดล และนั่งร้าน เป็น “ตัวช่วย” ของครู ต่อ นศ. ที่เป็น “ผู้ฝึกใหม่”  ให้ฝึกคิดขั้นตอนการทำงาน/การเรียนรู้ ได้โดยไม่ยากเกินกำลัง

เทคนิคนั่งร้านอาจทำโดย ครูช่วยทำตัวอย่างการคิดและทำ  ในแต่ละขั้นตอนของวงจรการเรียนรู้แบบกำกับตนเอง  ในรูปของบันทึกที่แล้ว  เริ่มจากการประเมินชิ้นงาน (Task Analysis)  หาก นศ. แสดงให้รู้ว่าเข้าใจวิธีการและทำขั้นตอนต่อไปได้เองแล้ว ก็ปล่อยให้ทำขั้นตอนต่อไปด้วยตนเอง  หรือถ้า นศ. ยังไม่มั่นใจ ก็ช่วยแนะขั้นตอนประเมินตนเเอง ด้านจุดแข็งจุดอ่อนในการทำงานนั้น  และขั้นตอนต่อๆ ไป

ถ้า นศ. ต้องการการโค้ช ให้ครบทั้ง ๕ องค์ประกอบ ของวงจรการเรียนรู้แบบกำกับตนเอง  ครูก็ช่วย แล้วปล่อยให้ นศ. บูรณาการทั้ง ๕ ส่วนในการลงมือทำจริงเอาเอง  นี่คือรูปแบบหนึ่งของเทคนิคนั่งร้าน ... ให้บูรณาการเอง

“นั่งร้าน” หรือ “ตัวช่วย” แบบที่ ๒ ทำโดยครูทำโครงขั้นตอนการคิด ให้ นศ. กรอกเนื้อการคิดเอง  เพื่อฝึกฝนแบบมีตัวช่วยในเบื้องต้น

ครูสามารถคิด “ตัวช่วย” ในเบื้องต้นได้หลากหลาย ไม่จำกัดรูปแบบ  เพื่อให้ นศ. ได้ฝึกแบบไม่ยากเกินไป


สรุป

ครูเป็นผู้ที่มีทักษะกำหนดขั้นตอนการเรียนรู้เป็นอย่างดี  ในลักษณะของ “ผู้ชำนาญ”  จึงอาจไม่ตระหนักหรือรู้ตัวในขั้นตอนเหล่านั้น  ครูต้องฝึกทำ “slow motion” ความคิดของตน  หรือหมั่นฝึกทบทวนไตร่ตรองสะท้อนความคิด (reflection / AAR) ขั้นตอนความคิด และการลงมือทำกิจกรรม / การเรียนรู้ ของตน  จะช่วยให้ครูสมารถเป็น “คุณอำนวย” การฝึกฝนทักษะเรียนรู้ขั้นตอนของวงจรการเรียนรู้แบบกำกับตนเอง  ซึ่งจะช่วยให้ศิษย์พัฒนาเป็นผู้เรียนรู้แบบกำกับการเรียนรู้ของตนเอง ได้

 

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ม.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/532119

 

ชีวิตที่พอเพียง : ๑๗๘๖. ชื่นชมบรรยากาศยามเช้าที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รังสิต

พิมพ์ PDF

เช้าวันที่ ๑๕ ก.พ. ๕๖  ผมมีกำหนดบรรยายเรื่อง “การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑” เวลา ๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รังสิต  และ ศ. ดร. สตีเฟน ยัง จากมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด และเป็น Global Executive Director ของ Caux Round Table ด้วย  ขอพบเพื่อปรึกษางาน  เรามีเวลาไม่ตรงกันจนต้องนัดกันที่ ม. กรุงเทพ รังสิต เวลา ๘.๐๐ น.

ผมไปถึงวิทยาเขตที่รังสิตเวลา ๗ น. ประทับใจในความกว้างขวาง และร่มรื่นสวยงามของสถานที่เป็นอย่างยิ่ง  โดยเฉพาะอาคารสมัยใหม่ที่อยู่ด้านหน้าติดถนน  ศ. สตีฟ ถึงกับเอ่ยว่า ไม่นึกว่าจะมีมหาวิทยาลัยเอกชนไทยที่ใหญ่โตกว้างขวางขนาดนี้

พื้นที่ดินของวิทยาเขตหน้าแคบแต่ลึกมาก  ผมถามยาม เขาบอกว่าลึกเข้าไปจดทางรถไฟ  และข้ามทางรถไฟลึกเข้าไปอีก  ท่านอธิการบดี ดร. มัทนา สานติวัตร บอกว่าที่ดินทั้งหมด ๕ ร้อยไร่  แต่ผมรู้สึกคล้ายใหญ่กว่าที่ดินของมหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตศาลายา  แสดงว่า spatial sense ของผมแย่มาก  วิทยาเขตศาลายากว้างถึง ๑,๒๕๐ ไร่

ผมได้เรียนรู้ว่า ที่นี่เขาเริ่มงานสาย  ดังนั้นผมไปถึง ๗ น. บรรยากาศจึงเงียบสงัด  และตึกต่างๆ ปิดหมด  ผมชอบความเงียบอยู่แล้ว ยิ่งธรรมชาติและอาคารก่อสร้างสวยงาม ผมยิ่งชอบ  จึงได้เดินเที่ยวและถ่ายรูปอยู่ที่บริเวณนิเทศศาสตร์ คอมเพล็กซ์ ปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ ซึ่งเป็นคณะที่ใหญ่ที่สุดของมหาวิทยาลัย

จากการพูดคุยกับท่านอธิการบดีเป็นเวลาสั้นๆ ผมได้เรียนรู้ประวัติของ ม. กรุงเทพ ซึ่งอ่านได้ ที่นี่ แต่ที่ ดร. มัทนาเล่ามีความลึกมากกว่ามาก  โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเป้าหมายการก่อตั้งสถานศึกษา ที่มีเป้าหมาย Internationalization มาตั้งแต่ต้น  คือสร้างคนไปทำงานในบริษัทฝรั่ง  คนที่จบไปจึงภาษาดี  พวกพ่อแม่คนจีนที่นิยมส่งลูกสาวไปเรียนวิชาเลขานุการ วิชายอดนิยมในสมัยนั้น ที่ปีนังหรือหรือประเทศตะวันตก  ก็หันมาส่งเข้าเรียนที่วิทยาลัยกรุงเทพ  วิชาเลขานุการ เป็นส่วนหนึ่งของสาขาบริหารธุรกิจ  ซึ่งเป็นหนึ่งใน ๓ สาขาแรกที่เปิดสอน  อีก ๒ สาขาคือ บัญชี และการโรงแรม  คณะที่ ๔ คือนิเทศศาสตร์ ซึ่งเวลานี้เป็นคณะใหญ่ที่สุด


วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.พ. ๕๖



นิเทศศาสตร์ คอมเพล็กซ์ ปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์



ลานแสดงกลางนิเทศศาสตร์ คอมเพล็กซ์

ยามเช้าตรูมีหนุ่มน้อยมาซ้อมกีต้าร์อยู่คนเดียว



อีกสักครู่ก็มีเพื่อนมาสมทบอีก ๒ คน



รถรางเริ่มออกบริการ แต่ยังไม่มีคน



สถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตย์งดงาม



อีกมุมหนึ่ง



 

กระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง (Teacher Coaching)

พิมพ์ PDF

ผมเคยบันทึกเรื่องนี้ไว้ ที่นี่ ขอนำมาบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์การเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาครู  จากเน้น training  มาเป็นเน้น learning  โดยขอจารึกไว้ว่าเป็นความริเริ่มของท่านรองเลขาธิการ สพฐ. ดร. อนันต์ ระงับทุกข์  โดยมีพื้นฐานหรือหลักฐานวิธีการและความสำเร็จมาจากโครงการ LLEN ที่นำโดย ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย และ ดร. เจือจันทร์ จงสถิตอยู่

กล่าวใหม่ ว่าโครง TC นี้ มีเป้าหมายพัฒนาระบบพัฒนาครู ด้วย PLC  หรือด้วย KM ครูนั่นเอง  โดย PLC ก็คือ COP ครู

กล่าวใหม่อีกที โครงการ TC มีเป้าหมายพัฒนาครู ด้วยกระบวนการเรียนรู้จากการทำงานของครู  เท่ากับใช้หลักการ Learning by Doing กับครู นั่นเอง

เดี๋ยวนี้ เป็นที่ชัดเจนในวงการศึกษากันแล้วว่า  ทั้งเป้าหมายและกระบวนการเรียนรู้ ที่จัดให้ศิษย์นั้น  ครูก็ต้องปฏิบัติด้วย

สพฐ. ลงทุน ๓๐ ล้านบาท มอบให้ สกว. บริหารโครงการ TC  และลงทุน ๒๐๐ ล้านบาทสนับสนุน PLC ครู โดย สพฐ. จัดการเอง เรียกชื่อว่าโครงการ Browser in Service  ดำเนินการคู่ขนานไปพร้อมๆ กัน

ผมเรียกชื่อโครงการทั้งสองให้ต่างกัน คือโครงการ TC กับ โครงการ BS ทั้งๆ ที่ที่จริงแล้วเป็นโครงการพัฒนา PLC เช่นเดียวกัน

ผมมีความสุขมาก ที่วงการศึกษาไทยส่วนที่เป็นกระแสหลักเริ่มเปลี่ยนกระบวนทัศน์ จากเน้นพัฒนาครูด้วยการเรียกมาฝึกอบรม  เปลี่ยนเป็นส่งเสริมให้เรียนรู้ ณ จุดทำงาน

แต่หนทางยังยาวไกลครับ  เพราะระบบเดิมเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคนในวงการศึกษามากมาย  กฎแห่งระบบผลประโยชน์เป็นของจริง  ผมเรียกกฎนี้ว่า Law of Establishment  ซึ่งเป็นคนละความหมายกับคำนี้ในทางศาสนา ซึ่งอ่านได้ ที่นี่ คนไม่เคร่งศาสนาอย่างผม เชื่อว่า “พระเจ้าอยู่ในใจคน”  สมัยก่อน และสมัยนี้ในหลายวงการ การอ้างพระเจ้า ช่วยให้ตกลงกันง่ายดี

รวมทั้งระบบสั่งการจากเบื้องบน  คิดโครงการใหม่โดยผู้บริหารสูงสุดเพื่อเป็นอนุสาวรีย์ส่วนตน ก็ยังคงอยู่

และอีกหนึ่งความท้าทายอยู่ที่ความเคยชินของครู  ที่คุ้นเคยกับการไม่ต้องคิด  ไม่คุ้นเคยกับการใช้ความคิด  ไม่คุ้นเคยกับกระบวนการ ลปรร.  คุ้นเคยแต่กับการรับคำสอน และคำสั่ง/สั่งสอน  ความท้าทายนี้ รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ มีวิธีการฝึกทักษะการคิด/การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล/การคิดอย่างเป็นระบบ แก่ครู ใช้เวลา ๓ - ๔ วัน  โดยท่านได้เล่าให้ที่ประชุม TC ฟังเมื่อคืนวันที่ ๑๗ ก.พ. ๕๖ ที่โรงแรมบั๊ดดี้ฯ ปากเกร็ด  น่าสนใจมาก  และผมเชื่อว่าได้ผลจริง  แต่ผมคิดว่า หากกลับไปที่โรงเรียน  ครูกลับไปอยู่ในบรรยากาศเดิม สอนแบบเดิม รับคำสั่งจากหน่วยเหนือแบบเดิม  ทักษะนี้ก็จะเลือนไป กลับไปเหมือนเดิม

การเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ของ นร. ไปเป็นแบบ AL (Active Learning)  เน้นใช้ PBL  จึงจะช่วยเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของครู และพัฒนาทักษะการคิด ของครู ไปพร้อมๆ กัน

จะเห็นว่า กระบวนการเหล่านี้ คือ การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง  เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไปถึงนักเรียน มีเป้าหมายสุดท้ายที่ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของ นร.   และปฏิรูปรูปแบบการเรียนรู้ จากวิธีการที่ใช้ไม่ได้ผล คือแนวทางเน้นสอน  ไปสู่วิธีการที่ รร. กระแสทางเลือกพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าได้ผล  คือแนวทางเรียนรู้งอกงามจากภายในตนของ นร.  จากการลงมือทำ (และคิด) โดย นร. เอง  ครูคอยช่วยแนะนำ และเชียร์ (เป็นโค้ช)

ครูก็เรียนรู้ด้วยหลักการเดียวกันกับศิษย์  โดยในโครงการ TC มีอาจารย์มหาวิทยาลัย และ ศน. ร่วมกันเป็นโค้ช

เราเตือนกันว่า โค้ช ต้องไม่ทำ top-down coaching  ต้องเน้นใช้  empowerment coaching   ทาง มรภ. เพชรบุรี บอกว่า จะไปทำ co-reflective process ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง   อีกคำหนึ่งคือ Inquiry-Based Coaching

กล่าวให้แรง โครงการ TC ต้องไม่หลง Coaching-Oriented  ต้องเน้น Learning-Oriented  คือเน้นที่กระบวนการเรียนรู้ของครู  ไม่ใช่เน้นการโค้ช ของ อจ. มหาฯ และ ศน.

กล่าวอย่างนี้ก็ผิด  เพราะผลลัพธ์ นอกจากผลสุดท้าย นร. มีผลการเรียนรู้ดีขึ้น  เราจะได้แนวทาง/วิธีการ ดำเนินการ PLC  และ แนวทาง/วิธีการดำเนินการ Coaching (แก่ครู และ แก่ นร.)

เรากำลังปฏิรูปการเรียนรู้ สู่การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษากระแสหลัก

 

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ก.พ. ๕๖

 

 

 

Training เป็นเครื่องมือแห่งศตวรรษที่ ๒๐ (และ ๑๙)

พิมพ์ PDF

หากสังคมไทยจะก้าวสู่สังคม/เศรษฐกิจแห่งนวัตกรรม เพื่อก้าวพ้นความเป็นประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูง การศึกษาไทยจึงต้องหนีห่างจากลัทธิ Training ในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาครู ทั้งครูใหม่และครูประจำการ

 


 

ยิ่งนับวัน ผมก็ยิ่งเห็นความจำเป็น ที่จะต้องตีความ ทำความเข้าใจสังคมยุคใหม่  ว่าแตกต่างจากยุคเก่าอย่างไร  ผมขอย้ำคำว่า “ตีความ” ซึ่งหมายความว่า ตีความได้หลายแบบ  และไม่รู้ว่าตีความถูกหรือผิด  เดาว่า มีทั้งส่วนถูก และส่วนผิด

 

เราอยู่กับยุคอุตสาหกรรมมากว่า ๒๐๐ ปี จนเคยชิน  จนกลายเป็น mindset ติดตรึงใจ  ว่าระบบที่เคยชินนั้นคือความถูกต้องเหมาะสม  แต่บัดนี้ โลกได้เปลี่ยนไป เข้าสู่ยุคหลังอุตสาหกรรม หรือยุคข้อมูลข่าวสาร  หรือยุคบริการ

โลกยุคอุตสาหกรรม ทุกสิ่งทุกอย่างเป็น “การผลิตจำนวนมาก” (mass production)  ได้ผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกันหมด  รวมทั้งคน  คือยุคอุตสาหกรรม การศึกษาเน้นสร้างคนที่คิดเหมือนกัน พฤติกรรมเหมือนกัน  คุณค่าอยู่ที่ “ความเหมือน”  ดังนั้น การศึกษาในยุคอุสาหกรรมจึงเน้น Training  คือเน้นจับคนมาฝึกในคิดเหมือนกัน ทำสิ่งเดียวกันได้เหมือนกัน  การฝึกในสายพานการผลิต คนกลายเป็นส่วนประกอบของเครื่องจักร

โลกยุคศตวรรษที่ ๒๑ ยุคบริการ  หัวใจอยู่ที่ mass diversification  คือการผลิตหรือบริการยังต้องทำได้จำนวนมาก แต่ต้องมีความแตกต่างหลากหลาย  นวัตกรรมกลายเป็นข้อได้เปรียบ  แตกต่างจากยุคศตวรรษที่ ๒๐ และ ๑๙ ที่ประสิทธิภาพการผลิตและการลดต้นทุนเป็นข้อได้เปรียบ

คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของมนุษย์แห่งศตวรรษที่ ๒๑ จึงอยู่ที่ทักษะด้านนวัตกรรม (innovation skills)   ซึ่งสอนไม่ได้ เจ้าตัวต้องเรียนรู้และฝึกเอาเอง  การศึกษาแบบ Training ที่เน้นฝึกคนให้ทำสิ่งเดียวกันได้  ให้คิดแบบเดียวกันเป็น  ไม่ใช่แนวทางสร้างทักษะนวัตกรรม

หากสังคมไทยจะก้าวสู่สังคม/เศรษฐกิจแห่งนวัตกรรม  เพื่อก้าวพ้นความเป็นประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูง  การศึกษาไทยจึงต้องหนีห่างจากลัทธิ Training ในทุกมิติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาครู ทั้งครูใหม่และครูประจำการ

ต้องเปลี่ยนจาก Training สู่ Learning  เน้น Learning ในสถานการณ์จริง คือในการทำหน้าที่ครู

นั่นคือครูต้องเป็นสมาชิกของ Learning Community  เพื่อรวมตัวกันเรียนรู้จากการปฏิบัติ  ที่เรียกว่า  Interactive learning through action  ซึ่งในภาษา KM เรียกว่า COP ครู  หรือในภาษาวิชาการสมัยใหม่เรียกว่า PLC (Professional Learning Community)

ครูต้องทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ให้ศิษย์เรียนรู้งอกงามทักษะนวัตกรรมขึ้นในตน  ครูจึงต้องฝึกฝนเพิ่มพูนทักษะนวัตกรรมของตน  โดยการเรียนรู้จากการปฏิบัติ คือโดยการ ลปรร. ใน PLC  ครูที่ไม่มีทักษะนวัตกรรม ยากที่จะเอื้อให้ศิษย์เรียนทักษะนวัตกรรม

ประเทศใดพลเมืองด้อยทักษะนวัตกรรม ยากที่จะก้าวสู่สังคมเศรษฐกิจ innovation-based

 

 


วิจารณ์ พานิช

๒๐ ก.พ. ๕๖


 

ชีวิตที่พอเพียง : 1785a. “นายใน” สมัยรัชกาลที่ ๖

พิมพ์ PDF

ในสมัย ร. ๖ การปรนนิบัติพัดวีพระมหากษัตริย์ แทนที่จะเป็นของผู้หญิง ที่เรียกกันว่า "นางใน" ตามปรกติของทุกรัชกาล กลับตกแก่มหาดเล็กเด็กชาย ที่หนังสือเล่มนี้เรียกว่า "นายใน"

 

ชีวิตที่พอเพียง  : 1785a. “นายใน” สมัยรัชกาลที่ ๖

นี่คือหนังสือเล่มใหม่ของสำนักพิมพ์มติชน ชื่อ นายใน” สมัยรัชกาลที่ ๖ที่เขียนจากผลงานวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เป็นเรื่องเชิงประวัติศาสตร์ที่เป็นหนังสือโปรดของผม  ผมชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์  เพื่อรู้เรื่องราวเก่าๆ เอาไว้สอนใจ  และเอาไว้ตีความว่าคนอื่นเขามองเรื่องในประวัติศาสตร์อย่างไร  ผมเป็นคนอ่านประวัติศาสตร์แบบตีความมาตั้งแต่เด็กๆ  คือไม่ได้อ่านเอาไว้เชื่อ แต่อ่านแล้วตีความ  และตอนนี้ผมคิดว่า  หลายเรื่องผมตีความอย่างหนึ่งในสมัยหนุ่มๆ  แต่ตอนนี้ตีความต่างออกไป

แก่แล้ว  อะไรๆ มันเป็นสมมติไปหมด  ไม่มองเป็นสิ่งควรยึดมั่นถือมั่น  คือมองได้หลายมุม

มุมหนึ่งคือศิลปะการเป็นผู้นำ คือพระมหากษัตริย์ ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช  ที่หนังสือเล่มนี้เขียนแบบขัดแย้งกันเอง  คือตอนต้นเขียนว่า ร. ขึ้นครองราชย์ในสมัยที่บ้านเมืองมีความมั่นคง  แต่ตอนท้ายกลับเขียนว่าราชบัลลังก์ของ ร. ๖ ไม่มั่นคงตั้งแต่เริ่มรัชกาล (น. ๒๖๗)  ซึ่งผมมองว่าในตำแหน่งเช่นนั้น  ความมั่นคงแบบนอนใจ มองสิ่งต่างๆ ตามใจตนเอง คือความไม่มั่นคง

คนเป็นผู้นำต้องเข้าใจ และเห็นใจคนอื่น  และในขณะเดียวกัน ก็ต้องมองเห็น “ภาพใหญ่”

ผมมองว่า ในสมัย ร. ๖ (ซึ่งก็เหมือนยุคนี้) เป็นยุคเปลี่ยนผ่าน  ที่มีปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนมาก   ผู้นำต้อง oversee และสร้าง harmony ระหว่างปัจจัยเหล่านั้น

เรื่องราวของ “นายใน” ในหนังสือ ช่วยผมก็ได้เข้าใจสภาพสังคมยุควิกตอเรียนในอังกฤษ  และเข้าใจพระสุขภาพพลานามัยของ ร. ๖ ดีขึ้นมาก  น่าเสียดายที่ไม่ได้มีการผ่าตัดแก้ไขไส้เลื่อนที่หน้าท้อง (พระนาภี) ที่เป็นโรคแทรกซ้อนจากการผ่าตัดของพระองค์  ทำให้พระชนมายุสั้น

ผู้เขียนหนังสืออ่านหนังสืออ้างอิงมากมาย  แต่เป็นเอกสารชั้นรอง คือมักจะเล่าจากความจำของคนที่เกี่ยวข้อง  ผมแปลกใจที่เราไม่มี archive ของพระมหากษัตริย์ให้ค้นคว้าข้อมูลชั้นต้น  แต่วิธีคิดของผมอาจผิดก็ได้ เพราะผู้วิจัยสนใจ “นายใน” เป็นหลัก  ไม่ใช่ ร. ๖ เป็นหลัก   และคล้ายกับว่าต้องการชี้ให้เห็นว่า  สมัย ร. ๖ เป็นยุคที่แตกต่างจากพระมหากษัตริย์องค์อื่นๆ ในเรื่องเพศสภาพ  ซึ่งมีผลต่อการเมืองภายในประเทศอย่างมาก   และข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจจะไม่มีใน archive ของพระมหากษัตริย์

เราได้ทราบเรื่องของ “นายใน” ท่านหนึ่ง ที่มีคุณูปการต่อบ้านเมืองอย่างยิ่ง คือ มล. ปิ่น มาลากุล ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ทำหน้าที่สำคัญตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี เท่านั้น   เขานำภาพของท่านมาขึ้นปกที่เดียว

เวลาอ่านหนังสือ คำคิยมหรือคำนำ มีความหมายอย่างยิ่งในด้านช่วยให้เราอ่านแตกยิ่งขึ้น  ในหนังสือเล่มนี้ คำนำเสนอทั้งสองช่วยผมมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำนำเสนอของ ดร. ธเนศ วงศ์ยานนาวา ที่ชี้ประเด็นที่ผมไม่มีความรู้ได้อย่างลึกซึ้ง  ทำให้ผมได้เห็นว่าในโลกนี้มีความรู้ที่ผมเข้าไม่ถึงอีกมากมายนัก

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะสำคัญยิ่งต่อหลักการเลี้ยงดู ลูกหลานของ “ชนชั้นนำ” คือการฝึก emotional intelligence ตั้งแต่เด็ก  ยิ่งเป็นลูกของคนมีตำแหน่งใหญ่โต ยิ่งต้องฝึกอย่างจริงจัง  มิฉนั้นเด็กจะถูกตามใจจนเหลิง  เป็นข้อด้อยติดตัวไปจนเป็นผู้ใหญ่ ตลอดชีวิต

วิจารณ์ พานิช

๖ เม.ย. ๕๖

 

 


หน้า 496 จาก 556
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5585
Content : 3038
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8558525

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า