Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

คู่กรรม : สดใสน้ำ ตาคลอ

พิมพ์ PDF

แนะนำภาพยนต์ โดย วาทิน ศาสนต์ สันติ

"คู่กรรม"

 

"สงครามทำให้เขาได้พบกัน และสงครามก็ได้พรากเขาไปจากกัน"

เรื่องย่อคงไม่จำเป็นต้องเล่า เพราะเชื่อว่าแฟน ทมยันตี หรือคนที่ดูคู่กรรมมาแล้วหลายต่อหลายฉบับต้องรู้ตอนจบของเรื่อง ที่เศร้าไม่สมหวังตามแบบฉบับนามปากกา ทมยันตี ดังนั้น คู่กรรม ฉบับ พ.ศ. 2556 จึงต้องทะลายกำแพงภาพจำของเดิม ๆ เช่น วรุฒ, เบิร์ด ออกไปให้ได้ ซึ่งฉบับ 2556 นี้ถือว่าตีโจทย์และทำลายกำแพงภาพจำจนแตก นับตั้งแต่การดำเนินเรื่องแบบกระชับเพราะอาศัยภาพจำเดิม ๆ ที่คนไทยรู้เรื่องแล้ว จึงตัดฉากเล่าลัดอย่างรวดเร็ว แล้วไปเน้นตรงที่ผู้กำกับอยากจะสื่อ

เปิดเรื่องมาผมชอบมาก เป็นการเล่าถึงสาเหตุการมาของนายทหารช่างญี่ปุ่นโกโบริ แล้วเปิดเรื่องเป็นภาพการ์ตูน โกโบริถูกเปลี่ยนบุคลิกให้ดูสดใสอ่อนโยน แต่พอทำหน้าที่ทหารก็เข้มแข็ง ส่วนอังศุมาริน ค่อนข้างเหมือนแบบฉบับหนังสือมาก โดยเฉพาะการเก็บงำความรักของเธอที่มีต่อโกโบริ ที่เธอแกล้งทำเป็นไม่รัก ทั้งที่ใจรักมาก และที่ชอบคือ เธอแทบไม่เคยพูดดีกับโกโบริเลย นับว่าเป็นการเคารพวรรณกรรมของผู้กำกับ ตอนจบผูกเรื่องใหม่นิดหน่อย แต่ถือว่าไม่ขัดตาไม่ขัดใจ และตอบโจทย์ของเรื่องได้อย่างดี

 

ที่ต้องชมอีกก็คือเพลงประกอบเพราะ เปิดได้ถูกจังหวะถูกเวลา เรียกอารมณ์ของผู้ชมได้ดีแบบสุด ๆ ไปเลย

แม้จะดำเนินเรื่องไม่สนุก (เพราะอ่านนวนิยายมา 3 รอบแล้ว และดูมาหลายฉบับแล้ว) แต่คู่กรรมฉบับของ "เรียว-กิตติกร เลียวศิริกุล" ที่นำแสดงโดย "ณเดชน์ คูกิมิยะ" เป็น โกโบริ กับ "อรเณศ ดีคาบาเลส" เป็น อังศุมาลิน ก็ดำเนินเรื่องที่มีบรรยากาศดูสดใส อีกทั่งหลายจังหวะทำให้ผมน้ำตาซึมด้วยความอิ่มเอม

ผู้กำกับทำการบ้านมาดี โดยเฉพาะการศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และบรรยากาศของบ้านเมือง การแต่งกายสมัยสงครามแบบ รัฐนิยมจอมพล ป. โดยเฉพาะฉากบ้านเมืองย่านสะพานพุธฯ และการทิ้งระเบิดบนสะพาน

ในด้านนักแสดง อรเณศ เล่นได้ดี ที่ชอบคือการเก็บซ้อมอารมณ์ไว้ในสีหน้า แม้ออกจะดูกระด้างไปบ้างก็เถอะ ส่วน ณเดชน์ เล่นได้ดีเกินคาด

แม้จะรู้เรื่องราวมาหมดแล้วก็ตาม คู่กรรมฉบับนี้ก็ยังสามารถเรียกน้ำตาในตอนจบใด้อย่างดี นับว่าเป็นหนังที่ทำให้ผมเสียน้ำตาและเซ็ดน้ำตาอย่างไม่อาย ซึ่งห่างหายจากผมไปหลายปี

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/532406

 

สงกรานต์ หนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือน

พิมพ์ PDF

สงกรานต์ หนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือน

 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง ๔ เมษายน ๒๕๕๖

ภาพประกอบ พระราชพิธีสรงมุรธาภิเษก ในพระราชพิธีสงกรานต์

ที่มา : ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร (๒๕๔๖ : ๑๑๑)

 

 



พระราชพิธีทวาทศมาส หรือ ที่ประชาชนทั่วไปรู้จักกันในนามที่ว่า พระราชพิธีสิบสองเดือน เป็นพระราชกรณียกิจของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับเทพเจ้าที่จะต้องจัดทำขึ้นเป็นประจำในแต่ละเดือนเพื่อจะคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงของบ้านเมือง และเพื่อแสดงความเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือพระเจ้าจักรพรรดิราช เชื่อกันว่า หากมีการขาดตกบกพร่องในการประกอบพระราชพิธีดังกล่าวจะก่อให้เกิดอันตรายแก่บ้านเมือง ดังนั้นจึงมีการประกอบพระราชพิธีสิบสองเดือนสืบต่อกันเป็นเวลายาวนาน ความสำคัญของการปฏิบัติพระราชพิธีสิบสองเดือนในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้น ก็เพื่อแผ่พระเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่ประจักษ์ เช่นการเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินทางสถลมารถและทางชลมารถนั้นจะมีขบวนใหญ่โต ตลอดจนเป็นการเตรียมความพรักพร้อมด้านกำลังและอาวุธในคราวที่บ้านเมืองจะต้องรบพุ่งเพื่อรักษาเอกราชจากอริราชศัตรู และ รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นทางจิตใจให้กับสังคมในยุคนั้น ๆ ด้วย 

ประเพณีสงกรานต์ คาดว่ามีมานานนับแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี แต่หลักฐานปรากฏเด่นชัดที่สุดคือ หนังสือ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

พระราชพิธีสิบสองเดือน นับว่าเป็นข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์ในประเทศไทย และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาในสมัยต่อมา อีกทั้งยังได้รับการอ้างอิงจากงานเขียนมากมาย พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปีชวด พุทธศักราช ๒๔๓๑ เนื่องจากกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระราชาธิบาย เรื่องพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งทำประจำพระนคร พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ว่าเป็นยอดของความเรียงอธิบาย ให้ข้อมูลเรื่องการพระราชพิธีสิบสองเดือนโดยละเอียด อีกทั้งทรงวินิจฉัยที่มาของการพระราชพิธีและการแก้ไขเปลี่ยนของการพระราชพิธีในสมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชสมัยของพระองค์

ในพระราชนิพนธ์ได้กล่าวถึงประเพณีสงกรานต์ หรือ พระราชพิธีสงกรานต์โดยย่อดังนี้

พระราชพิธีสงกรานต์เริ่มขึ้นเมื่อวันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนห้า ถือเป็นวันปีใหม่ของไทย พระราชพิธีสงกรานต์แบ่งออกเป็นสามวัน คือ วันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศกตามลำดับ ระหว่างสามวันนี้จะมีการพระราชกุศลก่อพระทรายและการถวายข้าวบิณฑ์ และยังมีพระราชพิธีสรงมุรธาภิเษกในวันสงกรานต์อันเป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ ที่พระเจ้าแผ่นดินจะต้องสรงมุรธาภิเษกในวันเถลิงศกเพื่อความเป็นสิริมงคลในวันปีใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ประกาศให้ข้าราชการและราษฎรทำบุญให้ทานในช่วงเวลาสงกรานต์เหมือนที่เคยทำกันมา แต่ทรงเพิ่มเติมพิธีสังเวยพระสยามเทวาธิราช และการเลี้ยงอาหารข้าราชการ พ่อค้า ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตลอดจนมิชชันนารีขึ้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในช่วงต้นรัชกาลได้ทรงยกเลิกการเลี้ยงอาหารข้าราชการและพ่อค้าที่รัชกาลที่ ๔ โปรดให้ตั้งขึ้น เนื่องจากผู้เข้าร่วมงานเลี้ยงขอให้เลิกแล้วโปรดให้มีการเลี้ยงปีใหม่เฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์ขึ้นมาแทนวันสงกรานต์ นอกจากจะเป็นงานพระราชพิธีแล้วยังเป็นประเพณีของชาวไทยที่สืบทอดมาอย่างต่อเนื่องแต่ครั้งสุโขทัยเป็นประจำทุกปี

หนังสือประกอบการเขียน

กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๑. แก้ไขปรับปรุงใหม่ ๒๕๔๘. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ. ๒๕๔๘.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. พิมพ์ครั้งที่ ๑๓. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา. ๒๕๑๔.
เทพพิทู, ออกญา. (ฌืม กรอเสม). พระราชพิธีทวาทศมาส หรือพระราชพิธีสิบสองเดือนกรุงกัมพูชา ภาค ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : กรมสารนิเทศ. ๒๕๕๐.
บำราบปีปักษ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยา. โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ๒๕๔๕.
ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร. “การพระราชพิธีสิบสองเดือนในจิตกรรมฝาผนัง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร”. สาระนิพนธ์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๔๖.

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/532408

 

 

ชีวิตที่พอเพียง : ๑๗๘๕. เดินเล่นที่พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

พิมพ์ PDF

เช้าวันวาเลนไทน์ วันที่ ๑๔ ก.พ. ๕๖  ผมไปถึงศิริราชเวลาเพียง ๗.๓๐ น. เพราะรถไม่ติด  ได้โอกาสไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะหน้าสถานีรถไฟบางกอกน้อยเดิม  ที่เวลานี้ปรับปรุงเป็น พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ซึ่งหมายความว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ของศิริราช ในพื้นที่ที่เคยเป็นวังหลัง ของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข  สวนสาธารณะนี้ชื่อว่า สวนเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา

ผมไม่ได้เข้าไปเดินชมภายในพิพิธภัณฑ์  เดาว่าเขาปิดไว้  เพราะยังไม่ได้มีพิธีเปิด  เดิมกำหนดพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เปิดวันที่ ๑ ก.พ. ๕๖ ก็ติดทรงประชวรเสียก่อน  ต้องชลอพิธีเปิดไปก่อน  ผมจึงไปเดินชมบริเวณสวนสาธารณะด้านหน้าที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา และด้านข้างที่ติดกับปากคลองบางกอกน้อย   สวยงามร่มรื่นสุดพรรณา

ด้านริมคลองบางกอกน้อย มีแผงประวัติศาสตร์เล่าเรื่องราวของวังหลัง  รวมทั้งเรื่องของสุนทรภู่ ที่ “เกิดวังหลัง”  มีมารดาเป็นพระแม่นม   ฝั่งตรงข้ามมีมัสยิดสวยงาม ผมมาค้นชื่อภายหลัง ทราบว่าชื่อมัสยิดหลวงอันซอริสซุนนะห์

ที่ปากคลองฝั่งตรงกันข้าม มีพื้นที่ว่างกว้างขวาง  ตอนบ่ายวันเดียวกัน ผมพบผมท่านคณบดี ศ. นพ. อุดม คชินทร จึงถามท่านว่าเป็นที่ของใคร  ท่านบอกว่าเป็นของคุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ  ศิริราชกำลังติดต่อขอซื้อเพื่อทำเป็นสวนสาธารณะถวายในหลวง  และทำสะพานคนเดินข้ามติดต่อกัน  โดยได้ปรึกษาขอคำแนะนำจาก ท่าน ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผมบอกว่า ใจตรงกัน

ระหว่างเดินเล่นอยู่นั้น มีเรือทัวร์ มีเสียงไกด์อธิบายเป็นภาษาจีน กว่า ๑๐ ลำ  ไม่เห็นมีที่เสียงพากย์เป็นภาษาอังกฤษเลย  แสดงว่าเวลานี้ทัวร์นักท่องเที่ยวจากจีนกำลังกิจการดี  แต่นักท่องเที่ยวฝรั่งอาจไม่นิยมเส้นทางนี้ก็ได้  เพราะเลยเข้าไปหน่อยเดียวมีวัดศรีสุดาราม  ที่มีรูปหล่อเจ้าแม่กวนอิม และมีรูปปั้นของเจิ้งเหอ หรือซำปอกง ที่คนจีนเคารพนับถือ  เพราะเป็นแม่ทัพเรือจีนที่มีความสามารถสูง  กองเรือเดินสมุทรจีนยิ่งใหญ่กว่ากองเรือฝรั่งมาก  นั่นคือสมัยกรุงศรีอยุธยา  คนจีนนิยมมากราบไหว้เพราะเชื่อว่าท่านศักดิ์สิทธิ์ด้านให้โชคลาภ

ผมเดินอ้อมมาตามริมฝั่งคลองบางกอกน้อย จนมาออกตรงทางเข้าอาคารปิยมหาราชการุณย์


วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.พ. ๕๖



ลานลั่นทม ริมคลองบางกอกน้อย



ถ่ายจากริมคลองบางกอกน้อยไปทางทิศใต้ พิพิธภัณฑ์อยู่ทางขวามือ



แผงเล่าประวัติศาสตร์เรียงรายไปตามริมคลองบางกอกน้อย



พิพิธภัณฑ์อยู่ด้านหน้า อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐​พรรษาอยู่ด้านหลัง



ศาลาจตุรมุข ภายในประดิษฐานพระรูป ผมไม่ได้เข้าไปกราบว่าเป็นพระรูปใคร



ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สะพานปิ่นเกล้า



ถ่ายไปทางทิศตะวันตก ด้านขวาคือคลองบางกอกน้อย



มัสยิดหลวงอันซอริสซุนนะห์



ขวามืออาคาร รพ. ศิริราชปิยมหาราชการุณย์

ซ้ายมืออาคารสมเด็จพระศรีสวรินทราฯ


พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน




คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/532203






 

การปฏิรูปการเรียนรู้ ความเห็นของคุณสุภาวดี หาญเมธี

พิมพ์ PDF

เปลี่ยนพื้นฐานปรัชญาการศึกษาไทย จาก “ไม่ไว้ใจคน” ไปสู่ความเชื่อมั่นว่า “ทุกคนพัฒนาสังคมให้ดีได้” จากระบบปิดความคิดเป็นระบบเปิด ยอมรับความแตกต่าง ท้าทายให้ครูกล้าคิด ให้คนกล้าคิด

 

การปฏิรูปการเรียนรู้ ความเห็นของคุณสุภาวดี หาญเมธี

วันที่ ๑ เม.ย. ๕๖ มีการประชุมเรื่อง กระบวนทรรศน์ใหม่ทางการศึกษา ที่ สสค.   ผู้เชิญหารือคือ ศ. นพ. ประเวศ วะสี และคุณเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ แห่ง สสส.  เป้าหมายใหญ่ เพื่อเปลี่ยนสังคมไทยจากสังคมอำนาจ เป็นสังคมเรียนรู้   ผู้ได้รับเชิญเข้าร่วมหารือ ที่สามารถมาร่วมได้ท่านหนึ่งคือ คุณสุภาวดี หาญเมธี ประธานกลุ่มบริษัทรักลูก และประธานโรงเรียนเพลินพัฒนา

ท่านได้เขียนเอกสารให้ความเห็นมา ๖ ข้อ และนำเสนอต่อที่ประชุมจับใจผมมาก  ท่านบอกว่าจะเขียนบทความทำหนังสือกระบวนทรรศน์ใหม่ทางการศึกษา ที่ ศ. นพ. ประเวศ แนะนำให้ สสส. และ สสค. จัดพิมพ์เผยแพร่  แต่ผมเห็นว่า สาระที่ท่านเขียนและอธิบายน่าจะมีการเผยแพร่ให้กว้างขวางหลายทาง  จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ทาง บล็อก นี้

๖ ข้อสำคัญของการปฏิรูปการเรียนรู้ ได้แก่

1.  กระจายอำนาจ

2.  ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้

3.  เนื้อหาความรู้ เรียนรู้โดยบูรณาการกับทักษะ

4.  เปลี่ยนแปลงครู

5.  ระบบ

6.  ทรัพยากร

กระจายอำนาจ

·  เปลี่ยนพื้นฐานปรัชญาการศึกษาไทย จาก “ไม่ไว้ใจคน” ไปสู่ความเชื่อมั่นว่า “ทุกคนพัฒนาสังคมให้ดีได้”  จากระบบปิดความคิดเป็นระบบเปิด  ยอมรับความแตกต่าง  ท้าทายให้ครูกล้าคิด ให้คนกล้าคิด

·  ส่วนกลางกำหนดแกนความรู้หลักเท่านั้น  และกำหนดแนวทางการประเมิน  เปิดโอกาสให้แต่ละพื้นที่กำหยดแนวทางของตนเองได้

·  เปิดพื้นที่เพื่อพัฒนาการศึกษาหลากหลายแนวทาง  ไม่รวบอำนาจไว้ที่แนวทางเดียว  รวมทั้งเปิดทางแก่การศึกษาทางเลือก

ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้

·  ส่งเสริมศักยภาพที่มีตามธรรมชาติ (Natural Potentials) 8ส อันได้แก่ สงสัย  สังเกต  สัมผัส  สืบค้น  สังเคราะห์  สร้างสรรค์  สรุปผล  และนำเสนอ  เด็กทุกคนมีศักยภาพทั้ง ๘  เมื่อกระตุ้นจะงอกงาม  ต้องมีวิธีกระตุ้นตามระดับพัฒนาการ

·  พัฒนาการเด็ก  ไม่สอนอ่านเขียนเรียนหนักในระดับอนุบาล (ซึ่งเป็นการบั่นทอนสมอง)  ให้เรียนรู้อย่างมีความสุข  ระดับประถมเน้นการค้นหาความสนใจของตนเอง

·  Learning by doing & participating  ได้ทดลองเห็นจริงที่พิพิธภัณฑ์เด็ก  เห็นการเปลี่ยนแปลงของลักษณะนิสัย และทักษะต่างๆ

·  Project-Based Learning

·  เป็นการเรียนที่นักเรียนต้องได้อ่านมาก และเขียนมาก  ลดการสอบปรนัย ลดการเรียนแบบท่องจำ  ลดจำนวนวิชาเรียน

·  การวัดผลไม่อยู่ที่การสอบปลายภาคเป็นสำคัญ  ต้องเป็นการสะสมผลการเรียนรู้ระหว่างภาคอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งครูต้องใส่ใจเด็กเป็นรายบุคคล

เนื้อหาความรู้ เรียนรู้โดยการบูรณาการกับทักษะ

·  7 วิชา (IB) ได้แก่ ภาษาแม่  ภาษาอังกฤษ  คณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  มนุษย์และสังคม (ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์  เศรษฐศาสตร์)  ศิลปะ  กีฬา  + Theory of Knowledge  เด็ก ม. ปลาย ต้องเรียนเรื่องความรู้  เข้าใจว่าความรู้สำคัญต่อชีวิตตนอย่างไร  รู้วิธี organize ความรู้

ท่านเล่าการเรียน (เข้าใจว่าระดับ ป. ตรี) ในต่างประเทศของลูกสาว  ว่าการเรียนภาษาครูสามารถสอนได้โดยครูไม่รู้ภาษานั้น  โดยครูกำหนดให้เด็กอ่านเลือกหนังสือในประเทศ ที่เขียนในภาษาแม่ของตน ประเภทละ ๔ เล่ม  ได้แก่ กวีนิพนธ์ ๔ เล่ม จากรายการที่มีให้, นวนิยาย ๔ เล่ม, เรื่องสั้น ๔ เล่ม, วรรณกรรมคลาสสิค ๔ เล่ม  และหากชอบหนังสือประเภทใดเป็นพิเศษ ใน ๔ ประเภท ต้องไปหามาอ่านเองอีก ๔ เล่ม

ในนวนิยาย ให้เลือกบุคลิกของตัวบุคคลในเรื่องที่ชอบ  แล้วไปหาตัวบุคคลในนวนิยายเรื่องอื่นที่ตนชอบ นำมาเปรียบเทียบ  และอธิบายว่าทำไมตัวบุคคลนั้นจึงมีบุคลิกเช่นนั้น

ในมหาวิทยาลัยนั้นไม่มีครูที่อ่านภาษาไทยออก และไม่มีคนสอน  แต่เมื่อ นศ. ส่งรายงานการอ่านและตอบโจทย์ ก็ส่งไปใให้นักเขียนตรวจสอบวิธีคิดของ นศ. ว่ามีเหตุผลหรือไม่  โดยไม่สนใจถูกผิดแต่ดูที่เหตุผล  ทำให้การเรียนสนุก  ได้เรียนภาษาแม่ของตนทั้งๆ ที่อยู่ในต่างประเทศ

ผมนำเรื่องที่ท่านเล่าตอนนี้มาลงไว้อย่างละเอียดโดยถอดจากที่ผมบันทุกเสียงไว้  เพราะต้องการให้ครูอาจารย์เห็นวิธีออกแบบการเรียนรู้ที่ถูกต้อง สำหรับยุคปัจจุบัน

·  ชุดความรู้สำคัญ

-  ความรู้เกี่ยวกับโลก

-  ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

-  ความรู้เกี่ยวกับมนุษย์และสังคม  : ประชาธิปไตย  สันติภาพ  การยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ฯลฯ

-  ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ เศรษฐกิจ การเป็นผู้ประกอบการ

-  ความรู้เกี่ยวกับตนเอง (กาย  ใจ  สังคม  ปัญญา  รากเหง้า)

·  ทักษะสำคัญ

-  ทักษะการคิด  : คิดวิเคราะห์  คิดสังเคราะห์  คิดสร้างสรรค์  คิดตัดสินใจ

-  ทักษะชีวิต  : การสร้างความสุข  การอยู่ร่วมกับผู้อื่น  การจัดการความขัดแย้ง

-  ทักษะการเรียนรู้  : การอ่าน  ICT + Media Literacy

-  ทักษะการงาน

เปลี่ยนแปลงครู

·  ที่มาของครู  ให้จังหวัดคัดกรองครูใหม่ตามมาตรฐานกลาง  และตามแนวทางที่จังหวัดต้องการ

·  สาขาความรู้ใดๆ สนใจมาเป็นครูได้ถ้ามีใจอยากเป็นครู  โดยมาสอบคัดเลือกและเรียนวิชาครูเพิ่มเติม

·  อบรมครูเก่าที่มีอยู่แล้วให้เป็น facilitator  ซึ่งทำได้ไม่ยาก

·  ครูมีหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้  ไม่ทำหน้าที่อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเรียนรู้

·  import  : ครูภาษาอังกฤษสำหรับทุกระดับเข้ามาโดยให้สิทธิประโยชน์จูงใจ

ระบบ

·  ยกเลิกการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบ “ต้อนควายเข้าคอก”

·  ทุกห้องเรียนทั้งประเทศต้องมีนักเรียนไม่เกิน ๒๕ คนต่อห้อง

ทรัพยากร

·  ส่งเสริมให้ทุกองค์กร ทั้งธุรกิจ รัฐ ฯลฯ ใส่ข้อมูลความรู้จากการทำงานของตนลงในเว็บไซต์  โดยไม่ต้องใส่ส่วนที่เป็นความลับ ใส่เฉพาะส่วนที่เป็นความรู้พื้นฐาน   และจัดประกวดเว็บไซต์ความรู้ต่อเนื่อง  เป็นการสะสมองค์ความรู้ของสังคม เพื่อการค้นคว้าสำหรับทุกคน

·  จัดระบบส่งเสริม ให้ภาคการผลิตและบริการของสังคม ร่วมจัดการเรียนรู้นอกระบบในสาขาต่างๆ  ยกตัวอย่างอู่ซ่อมรถของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ร่วมมือกับ กศน. ในการจัดการเรียนรู้  โดย กศน. ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์

·  ใช้สื่อโทรทัศน์ในการรณรงค์ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนรู้อย่างจริงจัง

·  ขอความร่วมมือสื่อโทรทัศน์ให้ทำ subtitle ภาษาอังกฤษในรายการต่างๆ เท่าที่จะทำได้

ฟังคุณสุภาวดีแล้ว ผมคิดว่าท่านเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ลึกซึ้งกว่าผมมากมายนัก

วิจารณ์ พานิช

๖ เม.ย. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/532273

 

บทเรียนจากปี 2540

พิมพ์ PDF

(April 5) "บทเรียนจากปี 40" ช่วงนี้ เมื่อเห็นความคึกคักในส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ตลาดอสังหาฯ การใช้จ่ายของประชาชน ทำให้อดนึกย้อนกลับไปถึงช่วงก่อนเกิดวิกฤติปี 40 ไม่ได้ เพราะสิ่งที่เคยเป็นตัวเรา ที่ได้ห่างหายไปเกือบ 16 ปี กำลังหวนกลับคืนมาอีกรอบ
คนไทยกำลังมีความเชื่อมั่นมากขึ้นเรื่อยๆ 

๐ นักลงทุน ลงทุนกันอย่างสนุกสนาน คึกคัก ประเภทหยุดไม่อยู่ ห้ามไม่ฟัง (แม้ตลาดหุ้นจะมี correction แล้ว 2 ครั้งก็ตาม) ยังกล้าลงทุนในบริษัทต่างๆ ที่ไม่ได้แม้แต่จะรู้ว่า บริษัทนั้นทำธุรกิจอะไร แพงแล้วแค่ไหน เพียงเพราะเชื่อกันว่า ช่วงนี้ “หุ้นตัวนี้กำลังมา” “เจ้ากำลังเข้า” “ลงแล้วได้เงินแน่” ประเภทจิ้มตัวไหนก็ขึ้น กระทั่งคนที่ไม่เคยเล่นหุ้นมาก่อน ก็ดาหน้ากันเข้ามาขอเปิดบัญชี ขอลิ้มรสความรวยอย่างสบายๆ กับเขาสักครั้ง 

๐ ภาคอสังหาริมทรัพย์ แย่งเปิดโครงการกันไม่เว้นแต่ละวัน จบโครงการหนึ่งก็ไปเริ่มอีกสองโครงการ ทุกอย่างเป็นเงินไปหมด แข่งกันสร้าง แย่งกันซื้อที่ดิน เพราะคิดว่า เดี๋ยวราคาที่ดินก็พุ่งขึ้นไปอีก จนราคาที่ดินในบางจังหวัด เพิ่มมากกว่า 80-90% ในปีที่ผ่านมา ส่วนคอนโด ก็แย่งกันซื้อมาเก็บ บางครอบครัวก็มีกันแล้วหลายห้อง เพราะคิดว่า เดี๋ยวจะไปขายต่อ และราคาคอนโดจะขึ้นไปได้อีก และก็คุ้นๆ เช่นกัน ที่เมื่อมีคนพูดขึ้นว่า “กำลังมีฟองสบู่หรือเปล่า” ก็ปฏิเสธกันเป็นพัลวัน หาเหตุผลมาแย้งว่า ทุกอย่างกำลังไปได้ดี มีความต้องการซื้อจริงๆ 

๐ ผู้บริโภค กล้าจับจ่ายใช้สอย จะไม่ให้กล้าจับจ่ายใช้สอยได้อย่างไร ก็ได้เงินมากันง่ายๆ เช่นนี้ จิ้มหุ้นไปตัวสองตัว ได้เงินเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้าน พอได้เงินมา ก็นำไปบริโภคสิ่งต่างๆ กระเป๋าใบใหม่ เสื้อผ้าใหม่ รถคันใหม่ แบรนด์เนมต่างๆ ทานอาหารหรูๆ ใช้จ่ายเหมือนเงินไม่มีหมด 

๐ บริษัท มั่นใจขึ้นเรื่อยๆ กล้าที่จะลงทุนกันมากขึ้น คิดการใหญ่กันมากขึ้น แม้ช่วงนี้ยังลงทุนอยู่ในกรอบที่ตนสันทัด แต่ในช่วงต่อไป เมื่อทุกอย่างเฟื่องฟูกว่านี้ ก็คงอดไม่ได้ ที่จะขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่โอกาสเปิดขึ้น 

๐ กระทั่งธนาคารเอง แย่งกันปล่อยสินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบุคคล รถยนต์ บ้าน สินเชื่อธุรกิจ ใหญ่ กลาง เล็ก เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด และเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจขาขึ้น 

ทุกอย่างเหล่านี้ เราได้ผ่านมาเมื่อ 16-17 ปีที่แล้วทั้งนั้น โดยในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ หลายคนก็เคยรู้สึกกันอย่างนี้มาแล้วทีหนึ่ง ที่คิดว่า “เราทำได้” “ทุกอย่างเป็นไปได้” “อีกไม่นานเราก็จะเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย” แข่งขันกันโต แข่งขันกันวิ่งไปข้างหน้า แข่งขันกันทำธุรกิจ อย่างไม่เกรงกลัวอะไร 

ในประเด็นนี้ ถ้ากันพูดตามจริง การที่เรามีความเชื่อมั่นในตนเองเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่ดี เพราะเราเสียความมั่นใจกันไปมากในปี 40 ทำให้ประเทศไทยขับเคลื่อนเดินต่อไปได้อย่างช้าๆ ในช่วงที่ผ่านมา จนคู่แข่งของเรา อย่างมาเลเซีย จีน แซงหน้าเราไปได้ แต่ถ้าเราจะกล้ากันมากขึ้น เราต้องหา “สมดุลที่เหมาะสม” ไม่เชื่อมั่นกันจนมากเกินไป กล้าเกินไป จนเกิดความเสียหายอีกครั้ง 

สำหรับอีกหลายคน สัญญาณความคึกคักเหล่านี้เป็นระฆังเตือนภัยว่า “กระบวนการสะสมความเปราะบางของเศรษฐกิจกำลังเริ่มขึ้นอีกรอบ” และถ้าเราไม่ระวังให้ดี ก็อาจจะจบลงเช่นกับครั้งที่แล้ว ที่ต้องมานั่งล้างเช็ดแผลของเรา เสียเวลาไปกว่า 10-15 ปีกว่าที่จะกลับมาจุดเดิมได้
บทเรียนจากปี 40 คืออะไร

นักเศรษฐศาสตร์ชอบพูดว่า “วิกฤติทุกครั้งจะไม่เหมือนกัน” และประเทศไทยก็เปลี่ยนแปลงตนเอง ในกรอบนโยบายต่างๆ ไปมาก เกินกว่าที่จะกลับย้อนไปเกิดวิกฤติเหมือนปี 40 อีกครั้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว วิกฤติทุกครั้งในประเทศต่างๆ เริ่มเหมือนๆ กัน จากความประมาท ความเชื่อมั่นเกินไปว่า เราทำได้ เราดูแลสถานการณ์ดีแล้ว ปล่อยปละให้ปัญหาและความเปราะบางต่างๆ สะสมตัวขึ้นมาได้ และมั่นใจจนลืมไปว่า ทุกประเทศสามารถเกิดวิกฤติได้ ไม่ว่าจะพัฒนาไปแล้วแค่ไหนก็ตาม กระทั่งสหรัฐ ยุโรปที่ว่าพัฒนาไปไกลเกินกว่าคนอื่นๆ ก็ยังตกอยู่ในภาวะวิกฤติได้เช่นกัน 

ปี 40 ให้บทเรียนหลายอย่างกับเรา ที่เราจะใช้เป็นคาถาคุ้มครองตนเองในช่วงต่อไป

บทเรียนที่ 1 - ต้องไม่ทำอะไรเกินตัว ต้องไม่คึกกับช่วงดีๆ ของเศรษฐกิจเกินไป ครั้งที่แล้วเราคึกคะนองจนเกินไป เพราะยังเป็นเด็กหนุ่มอยู่ เพิ่งได้จัดงานเลี้ยงกับเขาเป็นครั้งแรก ก็เลยสนุกไปหน่อย แต่ครั้งนี้ เราโตขึ้นมาแล้ว เป็นหนุ่มกลางคน เคยมีบทเรียนราคาแพงจากปี 40 มาแล้ว เราก็ต้องรู้จักพยายามยับยั้งชั่งใจ ไม่ทำอะไรเกินตัวไป ซึ่งส่วนนี้ ก็ต้องหวังพึ่งทุกคน ที่จะพยายามรั้งตัวเองไว้ เลือกลงทุน เลือกบริโภค เลือกขยายกิจการแบ่งยั้งๆ เพราะถ้าเราไม่ดูแลตนเอง ก็ยากที่คนอื่นจะมาช่วยเราได้

บทเรียนที่ 2 - ทางการต้องจัดการกับปัญหาแต่เนิ่นๆ อย่ารอจนพิสูจน์ได้ว่า “เป็นฟองสบู่แล้ว” แล้วจึงมาออกมาตรการ ในเรื่องนี้ ทางการจะเป็นหัวใจสำคัญ เพราะเอกชนรวมไปถึงนักลงทุน ก็พลาดได้เช่นกัน (ต้องไม่คิดว่าเอกชน ถูกเสมอ) เพราะเอกชนยากที่จะห้ามใจตนเองได้ จะห้ามได้อย่างไร ก็กำลังแข่งกันอย่างเมามันอยู่ การจะหยุดแต่เพียงคนเดียวจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ก็ต้องหวังพึ่งทางการว่า จะเป็นกรรมการกลางคอยเป่านกหวีด กำหนดกฎเกณฑ์ สั่งให้ทุกคนชะลอสิ่งต่างๆ ลงมาพร้อมๆ กัน ถ้ากรรมการตั้งอยู่บนความยุติธรรม ทุกคนก็ยอมรับกันได้

ในส่วนนี้ อุปสรรคสำคัญจะมาจากเสียงค้านจากภาคเอกชน ที่มักบอกว่า “ได้ดูข้อมูลแล้ว ยังไม่พบฟองสบู่แม้แต่นิด แล้วจะออกมาตรการทำไม” แต่ถ้าเราจะรอจนพิสูจน์กันได้ชัดๆ ว่า มีฟองสบู่เรียบร้อยในระบบเศรษฐกิจแล้ว ทุกอย่างก็จะสายเกินแก้ รอแต่วันล่มสลาย บทเรียนจากวิกฤติของทุกประเทศในช่วงที่ผ่านมาก็คือ “ถ้าจะทำมาตรการ ก็ต้องทำแต่ช่วงต้น ทำแต่เนิ่นๆ” โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเห็นพฤติกรรมที่ผิดสังเกต เช่น ปกติราคาที่ดินเพิ่ม 10-15% แต่อยู่ๆ ก็เพิ่มเป็น 80-90% ปกติมีคอนโด 10 โครงการต่อปี อยู่ๆ มีเป็น 50-60 โครงการแย่งกันเปิด แย่งกันขาย เมื่อเห็นเช่นนี้ ทางการก็ต้องเร่งคิดว่า จะทำอย่างไรให้เอกชนไม่คึกคะนองเกินไป ทำให้โตได้ ขยายได้ แต่โตอย่างพอประมาณ ยั่งยืน ไม่จบด้วยโศกนาฏกรรม 

บทเรียนที่ 3 - ต้องรู้จักเก็บออมเอาไว้บางส่วน สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง เพราะในโอกาสมีวิกฤติซ่อนอยู่เสมอ ยิ่งโอกาสดีเท่าไร วิกฤติที่ซ่อนอยู่ก็ร้ายแรงขึ้นเท่านั้น ยิ่งครั้งนี้ หลายๆ ประเทศในเอเชียกำลังเป็นที่สนใจของคนทั้งโลก กำลังได้รับเงินไหลเข้ามาพร้อมๆ กัน ถ้าเป็นเช่นนี้ คงจะมีสักประเทศ 2 ประเทศ ที่บริหารจัดการเงินไหลเข้าได้ไม่ดี ท้ายสุดต้องล้มลง วิกฤติในระบบเศรษฐกิจโลกรอบต่อไป ก็อาจเกิดขึ้นแถวๆ บ้านเราก็ได้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ถ้าเราไม่มีเงินเก็บออม ไม่มีสภาพคล่อง ทุกคนมีแต่หนี้ ทั้งหนี้ภาครัฐ และหนี้ภาคเอกชน วิกฤติก็คงมาถึงเรา ล้มลงในที่สุด แต่ถ้าเรารู้จักเก็บออมแต่ตอนนี้ แม้มีวิกฤติ เราก็จะพยุงตนให้ผ่านไปได้ 

นอกจากนี้ ท่ามกลางวิกฤติ ในความมืดมิด มักจะมีโอกาสที่ดีที่สุด เปิดขึ้นเสมอ ถ้าเรารู้จักถนอมตัวเองเอาไว้ได้ ไม่โหมทำลงไปหมดในช่วงที่เฟื่องฟู จนต้องมายุ่งกับการแก้ปัญหาที่เราผูกเอาไว้ วุ่นวายกับการเอาชีวิตรอด ด้วยเงินที่เราเก็บออมไว้ได้บางส่วน เราอาจจะสามารถฉกฉวยโอกาสที่เปิดในช่วงที่เกิดวิกฤติ เดินก้าวหน้าต่อไปขณะที่ทุกคนถอยหลัง เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย

พระท่านกล่าวไว้อย่างไพเราะว่า “ผิดหนึ่งพึงจดไว้ ในสมอง เร่งระวังผิดสอง ภายหน้า” ก็ต้องขอให้เราทุกคนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ยิ่งระฆังเตือนภัยเริ่มดังขึ้นเช่นนี้ ก็ขอให้หมั่นทบทวนบทเรียนจากปี 40 ทั้ง 3 ข้ออยู่อย่างสม่ำเสมอ “ไม่ทำอะไรเกินตัว” “รู้จักจัดการปัญหาแต่เริ่มเห็น” “เร่งเก็บออม สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองอย่างต่อเนื่อง” ซึ่งหากเราทำได้ตามนี้ ก็จะน่าสามารถรักษาตัวให้ผ่านวิกฤติที่กำลังรออยู่ได้ และน่าจะสามารถเปลี่ยนวิกฤติครั้งนี้ให้เป็นโอกาสกับประเทศไทยอย่างแท้จริง ก็ขอเอาใจช่วยทุกคนครับ

Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล 
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "อนาคตเศรษฐกิจไทย" ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ 
หมายเหตุ สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “Blog ดร. กอบ” ที่ www.kobsak.com ครับ


ขอบคุณครับ ดร.กอบศักดิ์ ที่ออกมาเตือน ผมเป็นห่วงจริงๆครับ คนไทยชอบเสี่ยงตามกระแส และคิดในระยะสั้นๆ ไม่ค่อยคิดถึงความยั่งยืน ผมคิดว่าคนไทยเป็นคนที่ชอบเล่นการพนันที่สุด ตลาดหลักทรัพย์ กลายเป็นบ่อนคาสิโนถูกกฎหมาย แถมไม่เสียภาษีด้วย ลงท้ายใครรวย

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท


1Like ·  · 

 


หน้า 497 จาก 556
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5585
Content : 3038
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8560104

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า