บันทึกชุด “เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” ๒๖ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Transformative Learning in Practice : Insight from Community, Workplace, and Higher Education เขียนโดย Jack Mezirow, Edward W. Taylor and Associates ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2009

ภาค ๔ ของหนังสือ เป็นเรื่องการใช้ TL สร้างความเป็นชุมชนและการเปลี่ยนแปลงสังคม ประกอบด้วยบทที่ ๑๗ - ๒๓

ตอนที่ ๑๘ นี้ ได้จากการตีความบทที่ 17 Fostering a Learning Sanctuary for Transformation in Sustainability Education โดย Elizabeth A. Lange (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการศึกษาผู้ใหญ่ มหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา แคนาดา)

สรุปได้ว่า การศึกษาเพื่อความยั่งยืน มีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง (transformation) ได้ในหลากหลายมิติ การศึกษาแบบนี้จะมีพลังได้จริง ต้องการพื้นที่ที่ปลอดสิ่งรบกวน (sanctuary) เพื่อให้มีกระบวนการที่นำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มาจากพลังลี้ลับของปฏิสัมพันธ์แบบใจถึงใจ

ผู้เขียนได้ชื่อว่า เป็นนักการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งเปลี่ยนแปลงผู้อื่น และเปลี่ยนแปลงตนเอง เธอบอกว่า รู้จัก TL ตอนเป็นนักศึกษาครูผ่าน Paulo Freire ที่เป็นศาสตราจารย์อาคันตุกะ และตอนเป็นนักศึกษา ระดับบัณฑิตศึกษา เมื่อได้ฟัง Jack Mezirow พูดในการประชุมวิชาการ ทำให้เข้าใจ TL เพื่อแสวงหาความหมาย ในชีวิต วิพากษ์สภาพโครงสร้างสังคมที่ดำรงสภาพเดิมและจองจำ จัดการศึกษาเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและมี สภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน

ในบทนี้ผู้เขียนเล่าเรื่องการเดินทางในชีวิต และการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนของตนเอง รวมทั้งวิธีการที่ใช้ในรายวิชาเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อสร้างความยั่งยืน ชื่อวิชา เปลี่ยนแปลงงานและชีวิต (Transforming Working and Living)

รายวิชานี้ ชี้ให้ผู้เรียนเห็นความแตกต่างระหว่างการมีชีวิตแบบรักษาสภาพเดิม กับการมีชีวิตเพื่อสร้าง อนาคตที่สังคมมีความเป็นธรรมมากกว่า และยั่งยืนกว่า

ผู้เขียนให้นิยามสังคมที่ยั่งยืนว่า เป็นสังคมที่สนองความต้องการของตนโดยไม่จำกัดโอกาสของ ความเป็นอยู่ที่ดี (well-being) ของตนเอง ของผู้อื่น ของคนรุ่นต่อไป และของสภาพแวดล้อม นิยามนี้ มีความหมายครอบคุมความเป็นธรรมในสังคมด้วย

ผมตีความต่อว่าสังคมที่ยั่งยืนเป็นสังคมที่ผู้คนไม่เบียดเบียนกัน ทั้งไม่เบียนเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่นทั้งที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันและที่จะมามีชีวิตในอนาคต และไม่เบียดเบียนโลกและสภาพแวดล้อม

ผู้เขียนบอกว่า จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงลึก ที่เปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ การกระทำ และการคิด อย่างถอนรากถอนโคน ต้องการ พื้นที่การเรียนรู้ที่ปลอดสิ่งรบกวน (learning sanctuary) ทั้งของ “คุณอำนวย” (หมายถึงอาจารย์) และของผู้เข้าร่วม (หมายถึงนักศึกษา)

โดย “พื้นที่ปลอดสิ่งรบกวน” มีความหมาย ๓ ประการ (๑) รูปแบบการเรียนรู้ที่มีความขัดแย้งในตัวเอง ระหว่างการเรียนแบบที่มีการไตร่ตรองใคร่ครวญแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างลึกซึ้ง และมีความเปิดกว้างต่อมุมมอง ใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้น (๒) มีประสบการณ์เชิงปฏิสัมพันธ์ใหม่ๆ กับทั้งต่อสังคม และต่อธรรมชาติ (๓) มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับความสัมพันธ์ในกลุ่มที่ตั้งคำถามลึกๆ ภายในตน และตรวจสอบความเป็นจริงใหม่ๆ ในสังคมวงกว้าง

ผู้เขียนใช้ “การเรียนการสอนเพื่อการเปลี่ยนแปลง” (transformative pedagogy) ดังกล่าวแล้ว ไปพร้อมๆ กันกับปฏิเสธแนวทางการศึกษาแบบ “instrumentalist prescriptions for effectiveness and linear technicist” ซึ่งผมเข้าใจว่าหมายถึงการศึกษาแบบเป็นเครื่องมือบงการเพื่อเป้าหมายบางอย่าง และมองนักการศึกษาเป็นเทคนิเชียน ซึ่งผมตีความต่อว่า เป็นการศึกษาแบบลดคุณค่าของคน ไปเป็นเครื่องมือรับใช้เป้าหมายบางอย่าง

ตามความเชื่อของผู้เขียน การเรียนรู้ตามแนวทาง deliberative pedagogy เป็นสิ่งที่กำหนดผลไว้ ล่วงหน้าไม่ได้ และเป้าหมายของการศึกษาผู้ใหญ่ เน้นที่ ความหมายของชีวิต (meaning of living) มากกว่า ที่การทำมาหากิน (making a living) ผมคิดว่าย่อมมีคนเชื่อต่างจากนี้ได้

เมื่อผู้เขียนเชื่อเช่นนี้ ผู้เขียนจึงพาผู้เรียนเข้าไปในพื้นที่เรียนรู้ด้วยความตั้งใจ มีเนื้อหา และกระบวนการที่เตรียมมาอย่างดี แต่การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่อยู่ลึกกว่านั้น เป็นสิ่งลี้ลับ และไม่มีทางแน่ใจว่าจะเกิดหรือไม่ คือเป็นสิ่งที่อยู่เหนือกำกับของผู้เขียน


ให้ความหมายใหม่ ต่อการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง

เมื่อประมาณ ๒๐ ปีมาแล้ว เมื่อผู้เขียนมีประสบการณ์ด้านการสอน ๑๕ ปี เริ่มจากเป็นครูมัธยม ในวิชาสังคมศาสตร์ เพื่อเตรียมนักเรียนวัยรุ่นไปเป็น active citizen ต่อมาในฐานะนักการศึกษาเพื่อพัฒนาความ เป็นธรรมทางสังคม ในส่วนที่เกี่ยวกับกิจกรรมนานาชาติ เป้าหมายคือเคลื่อนไหวให้คนชั้นกลางเข้ามา รับผิดชอบในฐานะพลเมือง โดยจัดให้ได้รับรู้เรื่องราวที่มาจากการวิจัยอย่างแม่นยำ และเชิญคนที่ได้รับ ผลกระทบจากต่างชาติมาพูดโดยตรง สิ่งที่กระทบใจผู้เขียนคือ มีช่องว่างระหว่างการรับรู้ กับการกระทำ

สำหรับผู้เขียนช่องว่างนี้หมดไปเมื่อเกิดเหตุการณ์รื้อกำแพงเบอร์ลิน (ค.ศ. 1989) การปล่อยตัวเนลสัน เมนเดลา ออกจากการคุมขัง (ค.ศ. 1990) และผู้เขียนนำทีมเดินทางไปศึกษาที่ เอล ซัลวาดอร์ การเริ่มสอน ในหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่ ในมหาวิทยาลัย และการเบ่งบานของนโยบาย neoliberal ซึ่งก็คือเศรษฐกิจตลาด ที่มีผลให้เกิดการตกงาน หรือรายได้ไม่พอจ่าย ต้องทำงานสองกะ ที่ชักนำให้ผู้เขียนตั้งคำถามต่อสมมติฐาน ของตนเองด้านการศึกษา ที่นักศึกษาแสดงความต้องการทำงานที่เอื้อต่อชีวิตที่ดี ไม่ใช่ทำงานที่ลดทอน ชีวิตมนุษย์

จากการไตร่ตรองของผู้เขียน เห็นว่า TL เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไข (๑) มีการตั้งคำถามต่อโลกทัศน์ ภายใต้ความเชื่อว่ามนุษย์และสังคม เปลี่ยนแปลงได้ (๒) เปลี่ยนมุมมองต่อ transformation จากคิดว่าเกิดจาก การคิดแบบใช้เหตุผล ไปเป็นการเรียนรู้จากกาย ใจ และสถานที่/พื้นที่ (๓) เปลี่ยนมุมมองต่อปัจเจกบุคคล จากมองว่าเป็นปัจเจกที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกต่อปัจเจก ไปเป็นมองว่าปัจเจกบุคคลเป็นส่วนหนึ่ง ของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกัน เป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมที่มีชีวิต (๔) เปลี่ยนมุมมองต่อ transformation ว่าเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่บุคคลจะลดความเห็นแก่ตัว และเกิดจิตเพื่อสังคม เปลี่ยนไปสู่ความคิดว่า แม้บุคคลจะต้องการเปลี่ยนตนเองไปทำประโยชน์เพื่อสังคม แต่ก็จะถูกเหนี่ยวรั้งด้วยค่านิยมเดิมๆ ของสังคม คือต้องไม่มองข้ามความสำคัญของระบบใหญ่ และ (๕) ความเชื่อในหลักการ radical ecology (Merchant, 2005) ที่กล่าวว่า ความทุกข์ยากของมนุษย์และความเสื่อมโทรม ของสภาพแวดล้อม เกิดจากระบบที่ไร้ความเป็นธรรม และแก้ไขได้ด้วยพื้นที่แห่งการเปลี่ยนแปลง ที่เอื้อให้สมาชิกสัมผัสสภาพใหม่ได้

ย้ำว่า การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ต้องเน้นสัมผัสตรง ไม่ใช่เน้นการคิดเป็นเหตุเป็นผล


ปฏิบัติการเพื่อการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง

ผู้เขียนบอกว่า “การสอนเพื่อการเปลี่ยนแปลง” (transformative teaching) ที่ตนใช้ เป็น การสอนแบบมีชีวิต (organic teaching) ซึ่งหมายความว่า วัสดุหรือเรื่องราวที่นำมาสู่พื้นที่เรียนรู้ ต้องมาจากสภาพความเป็นจริงในสังคมที่เราดำรงชีวิตอยู่ และสภาพความเป็นจริงอย่างหนึ่ง ที่ซ่อนตัว อยู่ในสังคม คืออุดมการณ์หลัก (dominant ideologies) ซึ่งสำหรับนักศึกษาผู้ใหญ่เป็นเรื่องงาน ที่อุดมการณ์หลักคือ ประสิทธิภาพและการแข่งขัน ที่เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิ neoliberal globalization ที่นำไปสู่สารพัดปัญหาสังคม

ผู้เขียนค้นหาเอกสารที่มีแนวทางเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์หลักนี้ ที่วิเคราะห์ปรากฏการณ์ในสังคม และเสนอทางออก นำมาสังเคราะห์เป็นหลัก ๑๐ ประการเพื่อความยั่งยืน และนำมาใช้ออกแบบกิจกรรมใน รายวิชา เปลี่ยนแปลงงานและชีวิต ระบุในเอกสารรายวิชาว่า ผู้เรียนจะได้มีโอกาสคิดหาเป้าหมายใหม่ของการ ทำงาน พัฒนาหลักการเพื่อชี้นำงานและชีวิต ทำความเข้าใจผลกระทบของเศรษฐกิจโลกต่อชีวิตประจำวัน และพัฒนาแผนปฏิบัติ


จัดพื้นที่ปลอดสิ่งรบกวน ให้แก่การศึกษาผู้ใหญ่เพื่อความยั่งยืน

ผู้เขียนเชื่อว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการเรียนรู้แบบที่กล่าว คือ “พื้นที่ปลอดสิ่งรบกวน” (learning sanctuary) เพื่อให้ผู้เรียนได้ไตร่ตรองสะท้อนคิดเรื่องงานและชีวิตของตน โดยใช้เป้าหมาย “ความยั่งยืน” (sustainability) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

การเรียนมี ๑๖ คาบ (๓ ชั่วโมง) และ รีทรีตสุดสัปดาห์อีก ๔ ครั้ง จัดการเรียนเป็น ๓ วงรอบ เพื่อให้ผู้เรียนได้ทบทวนเรื่องเดิมในมิติที่ลึกยิ่งขึ้น เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เป็นชุดกิจกรรม (conjuncture) ตามแนวคิดของ Gramsci ว่าการเรียนรู้ในห้องเรียนตามปกติจะให้การเรียนรู้แบบชั่วคราว ต้องมีกิจกรรมเป็นชุดและทำซ้ำในระยะยาว จึงจะเกิดการเรียนรู้ที่ถาวรกว่า


กระบวนการการเรียนการสอน

ผู้เขียนนำเสนอกระบวนการเรียนการสอนเป็นช่วงๆ ช่วงละหลายคาบ

ช่วงแรก เป็นการแนะนำตัวผู้เรียน บอกว่าสิ่งใดนำผู้เรียนเข้าเรียนรายวิชานี้ โดยใช้ภาพตัดแปะเป็นสื่อนำ ความคิด เป็นจุดเริ่มต้นของการวิพากษ์งานและชีวิต และเป็นการดึงเอาสภาพชีวิตจริงเข้าสู่การเรียน และการทำความเข้าใจหลักการใหม่ๆ ผ่านมุมมองของชีวิตจริงของตน

ช่วงที่สอง ชื่อ ชีวิตและงานที่ยั่งยืน (Sustainable Living and Sustainable Working) มีกิจกรรม

    • “การวิเคราะห์เชิงวัฒนธรรม” (cultural analysis) วิเคราะห์วิถีการดำรงชีวิตของตนเอง ว่าแต่ละวันใช้เวลาทำอะไรบ้าง ลงรายละเอียดเป็นรายนาที เก็บข้อมูล ๒ - ๓ สัปดาห์ วิเคราะห์การใช้จ่าย ลงรายละเอียด ว่าแต่ละเดือนใช้จ่ายอะไรบ้าง ลงรายละเอียดที่แต่ละบาท เพื่อเป็นสติต่อนิสัยการดำรงชีวิต และความคิดในด้าน ความสำเร็จ ความสุข ความสามารถในการผลิต และความมั่นคงปลอดภัย
    • กิจกรรมอยู่กับธรรมชาติ ลดเครียด เช่นเดินจงกรมในสวนป่า ด้วยสติระลึกรู้ทางอารมณ์
    • กิจกรรมเจริญสติแบบฝรั่ง เช่นกินแอ๊ปเปิ้ลช้าๆ ให้รับรู้รส ดื่มน้ำ เล่นกับเด็ก อาบน้ำ
    • ในช่วง ไตร่ตรองสะท้อนคิดความรู้สึกจากกิจกรรมข้างต้น ผู้เขียนนำเสนอประวัติ ของสังคมบริโภค และผลการวิจัยที่บอกว่ามีสหสัมพันธ์ผกผันระหว่างการบริโภคกับ ความสุข และสร้างบรรยากาศแห่งความหวังว่า ผู้เรียนสามารถเอาชนะความท้าทาย เหล่านี้ได้
    • กิจกรรมวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจสังคม คำนวณ ecological footprint ของผู้เรียนแต่ละคน เพื่อทำความเข้าใจระดับการบริโภค ให้เห็นว่า เพื่อการดำรงชีวิตขแงแต่ละคน ต้องการ พื้นที่เท่าไร นำตัวเลขไปเปรียบเทียบกับตัวเลขของประเทศอื่น และทำความเข้าใจว่า หากคนทั้งโลกบริโภคแบบคนอเมริกัน เราต้องการโลกอีกกี่ใบ เพื่อเป็นที่อาศัยของคน ในโลกนี้ทั้งหมด

นอกจากนั้น ยังให้ลองศึกษาวงจรชีวิตของเครื่องอุปโภค เช่นกางเกงยีน ๑ ตัว กล้วย ๑ ผล ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งในโลก และเข้าใจโครงสร้างการผลิต ของโลก เชื่อมโยงกับงาน ให้เห็นว่าใครได้รับผลประโยชน์ ใครได้มาก ใครได้น้อย ทำไมเป็นเช่นนั้น นำไปสู่นิยามใหม่ของงานที่ดี ชีวิตที่พอเพียง

ช่วงที่สาม ช่วงวางแผนกิจกรรม ว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง มีการระดมความคิดวางแผน การเปลี่ยนแปลง เป็นช่วงที่ต้องการพื้นที่ปลอดสิ่งรบกวน เพื่อมีสติอยู่กับตนเอง และเพื่อมีสมาธิ ในการเลือกทางเลือกที่เหมาะสม

พื้นที่ปลอดสิ่งรบกวนอาจเป็นการไป retreat ร่วมกันในพื้นที่ที่ธรรมชาติสวยงาม ทำกิจกรรม ผ่อนคลาย และใช้กิจกรรมเชิงศิลปะ นำไปสู่การวางแผนเปลี่ยนชีวิต

ช่วงที่สี่ ช่วงหลังกิจกรรม เป็นการวางแผนเผชิญอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น

ช่วงสุดท้าย เฉลิมฉลองการเปลี่ยนความคิดและการวางแผนกิจกรรม อาจมีการจัดตั้งโครงสร้างการทำงานร่วมกันหลังจบหลักสูตร


การศึกษาผู้ใหญ่ในฐานะพื้นที่ปลอดสิ่งรบกวน

พื้นที่ปลอดสิ่งรบกวนเกิดขึ้นได้ ๓ แบบ

(๑) ในระหว่างที่ผู้เขียนวางแผนการสอนอย่างตั้งอกตั้งใจ ผู้เขียนละวางสมมติฐานเดิมๆ ผู้เขียนเข้าสู่พื้นที่นี้ด้วยความเคารพ เพื่อไปสู่การเรียนรู้ขั้นลึก ที่ไม่อยู่ในแผน การสอนใดๆ แต่สามารถบรรลุได้ด้วยปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

(๒) มีการเรียนจากปฏิสัมพันธ์เชิงลึกระหว่างกัน และปฏิสัมพันธ์กับทุกสิ่งในจักรวาล

(๓) สภาพที่สมาชิกกลุ่ม และ “คุณอำนวย” มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันด้วยใจ จากใจถึงใจ


ไตร่ตรองสะท้อนคิด

พลังอยู่ที่ “ความตั้งใจอย่างมุ่งมั่น” (intentionality) ไม่ใช่ความตั้งใจระดับธรรมดา คือตั้งเป้า อย่างมุ่งมั่น แล้วปล่อยให้พลวัตของความสร้างสรรค์ทำงานอย่างเป็นธรรมชาติ นั่นคือ การเรียนรู้สู่การ เปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งผุดบังเกิด และผุดบังเกิดร่วมกันกับเพื่อนสมาชิก ในรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้เกิดอย่างเป็นขั้นตอนตรงตามแผน แต่จะเป็นไปตามความตั้งใจอย่างมุ่งมั่น

กระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มจะเป็นไปตามสภาพที่ยึดโยงอยู่กับความเป็นจริง และตามชีพจร อารมณ์ที่เกิดขึ้น อารมณ์ยิ่งรุนแรง โอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงยิ่งสูง ดังนั้น “คุณอำนวย” ต้องไม่กังวล กับอารมณ์ความรู้สึกกังวลใจ สับสน หรือโกรธ ที่เกิดขึ้นในกลุ่มระหว่างทาง

มีสมาชิกกลุ่มเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ว่าคล้ายกับผีเสื้อออกมาจากรังไหม เป็นสิ่งที่แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง ไม่สามารถอธิบายด้วยถ้อยคำได้ และเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจาก ปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน เป็นผลของพลังที่มากกว่าการเรียนวิชา หนังสือที่ควรอ่านคือ Capra, F. (1996). The Web of Life : A new scientific understanding of living systems

ผมขอเพิ่มเติมข้อไตร่ตรองสะท้อนคิดของผมบ้าง ผมคิดว่า ที่กล่าวมาทั้งหมดในตอนนี้ เป็นการศึกษากระแสทางเลือก และไม่มีทางเข้าใจ หากไม่ได้ฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง



วิจารณ์ พานิช

๑๓ ม.ค. ๕๘

สนามบินหาดใหญ่