“เลขา” หายไปสิบกว่าวัน กลับมาอย่างกระปรี้กระเปร่า และเล่าเรื่อง Transformative Learning ของนักศึกษาสาว ไทยมุสลิมที่ได้รับทุนจาก มูลนิธิพูนพลัง แบบที่มีเรื่องเล่าหลายตอนไม่รู้จบ คราวนี้เป็นการเรียนรู้ จากการไปออกค่ายในอีสาน ร่วมกับคนญี่ปุ่น

ฟังแล้วผมคิดว่านักศึกษาคนนี้ได้เรียนรู้สิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตอย่างมากมาย ในลักษณะเปลี่ยนความคิดต่อการเคร่งศาสนา ในเรื่องอาหาร ที่เดิมตนเคร่งเกินพอดี พอคนญี่ปุ่นตั้งคำถามแบบซื่อๆ ก็ฉุกคิด และโทรศัพท์ไปถามครูสอนศาสนาอิสลาม และได้คำตอบว่า ศาสนาไม่ได้ห้ามอย่างที่ตนคิด นักศึกษาคนนี้ถึงกับอุทานว่า “หนูเข้าใจผิดมาตลอดชีวิต”

ผมมองว่า นี่คือการที่พูนพลัง">มูลนิธิพูนพลังทำประโยชน์ให้แก่นักศึกษาที่ได้รับทุน ในลักษณะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มี ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (socialization) กับคนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ที่เป็นมิตร เกิดการเปิดโลกทัศน์ นำไปสู่ “การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” ความคิดเกี่ยวกับข้อห้ามในศาสนาของตน

คนที่เกิดมาด้อยโอกาสนั้น ความด้อยโอกาสมีมากกว่าด้อยทางเศรษฐฐานะ และฐานะในสังคม และความด้อยโอกาส บางด้านอาจแฝงอยู่อย่างลี้ลับจนไม่มีใครตระหนักรวมทั้งเจ้าตัว เช่น ด้อยโอกาสเห็นโลกกว้าง สังคมวงกว้าง เพราะหน้าที่ การงาน (ที่ดีเลิศ) กำหนดให้ต้องทำงานและมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในวงแคบ วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า จนกลายเป็นคนที่ ความคิดคับแคบ ขัดแย้งกับคนอื่นง่าย

การศึกษา หรือการเรียนรู้ ในชีวิตนี้ มีมากกว่าการศึกษาในรูปแบบมากมายนัก วันนี้ผมได้เรียนรู้แง่มุมที่จะช่วยให้ทำ หน้าที่ประธานมูลนิธิพูนพลังได้ดียิ่งขึ้น อีกแง่มุมหนึ่ง เกิดความสุขใจยิ่งนัก



วิจารณ์ พานิช

๑๒ ส.ค. ๕๘

วันแม่