Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การเงิน > China's shock move to trigger the biggest one-day decline in its currency for more than 20 years is evidence that the currency wars are still live.” ที่มา: Bloomberg View (Aug. 11, 2015)

China's shock move to trigger the biggest one-day decline in its currency for more than 20 years is evidence that the currency wars are still live.” ที่มา: Bloomberg View (Aug. 11, 2015)

พิมพ์ PDF

ความหมาย: Currency War คืออะไร?

หลังจากที่จีนได้ประกาศปรับลดค่าเงินหยวน (Renminbi; CNY) ลงเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา สถาบันการเงินและตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งทั่วโลกต่างมีปฏิกิริยาที่แสดงถึงความวิตกว่าการลดค่าเงินของจีนจะเป็นการเปิดฉาก “สงครามค่าเงิน” (currency war) ครั้งใหม่หรือไม่

คำว่า “currency war” ในความหมายปัจจุบันนั้นเป็นคำที่นายกิดู มันเตกา (Guido Mantega) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของบราซิล กล่าวขึ้นในปี 2010 เพื่อใช้เรียกสถานการณ์ที่นานาประเทศดำเนินนโยบายลดค่าเงินตามๆ กัน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของประเทศ หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “competitive devaluation” (การแข่งขันด้านนโยบายค่าเงินอ่อน)

 

สาเหตุ: ทำไมถึงเกิด currency war ขึ้น?

โดยทั่วไป สงครามค่าเงินมีจุดเริ่มต้นจากการที่ประเทศหนึ่ง (สมมุติให้เป็นประเทศ ก.) ต้องการกระตุ้นให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจ และได้ตัดสินใจใช้นโยบายการลดค่าเงิน หลังจากนั้นอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลงจะส่งผลให้สินค้าของประเทศ ก. มีราคาถูกลงในสายตาของประเทศผู้นำเข้า ทำให้เกิดข้อได้เปรียบในการส่งออก 2 ประการ ได้แก่ 1.) สินค้าส่งออกสามารถเข้าถึงประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น (higher affordability) 2.) ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ก. จะสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ไม่ได้ปรับลดค่าเงิน (higher competitiveness)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลดค่าเงินจะเป็นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศผู้วางนโยบาย แต่ทว่าผลประโยชน์ดังกล่าวนั้นต้องแลกมาด้วยความสูญเสียของประเทศที่เป็นคู่แข่งทางการค้า จึงมีการเรียกนโยบายประเภทนี้ว่าเป็น “นโยบายผลักเพื่อนบ้านให้เป็นยาจก” (Beggar-thy-neighbor policy) กล่าวคือ เมื่อประเทศ ก. ใช้นโยบายการลดค่าเงินจนทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น ประเทศอื่นๆ ย่อมมีส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลง จนสุดท้ายประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องลดค่าเงินลงตามประเทศ ก. เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของตนไว้ เมื่อแต่ละประเทศปรับลดค่าเงินตามๆ กันเป็นลูกโซ่ ก็จะอุบัติเป็นสงครามค่าเงินขึ้นในที่สุด

กลไก: รัฐบาลทำอย่างไรได้บ้างเพื่อลดค่าเงิน?

ผู้ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่สงครามค่าเงิน คือ ธนาคารกลางของแต่ละระบบเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ทั้งนี้ ธนาคารกลางมีวิธีที่นิยมใช้ในการลดค่าเงิน ดังต่อไปนี้

 

1.) มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE (Quantitative Easing) เป็นนโยบายทางการเงินที่ธนาคารกลางพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจผ่านการซื้อสินทรัพย์บางประเภท เช่น พันธบัตร จากธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นๆ กระบวนการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการไหลออกของเงินทุน พร้อมทั้งทำให้อุปทานของเงินสกุลนั้นสูงขึ้น จึงนำไปสู่การอ่อนค่าของสกุลเงินของประเทศตามการทำงานของกลไกตลาด

 

2.) การกำหนดค่าเงินโดยตรง เป็นการที่ธนาคารกลางกำหนดค่าเงินไปเลยโดยไม่ผ่านกลไกตลาด เช่น การที่ธนาคารกลางจีน (PBoC) ประกาศปรับลดค่าเงินหยวนลง 1.9% จากระดับ 6.116 หยวนเป็น 6.229 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา

 

3.) วิธีอื่นๆ อาทิ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางใช้กำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน โดยอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะทำให้เกิดการลดลงของอุปสงค์ของสกุลเงินของประเทศ ค่าเงินของประเทศจึงต่ำลงตามกลไกตลาด

 

ภูมิหลัง: Currency War เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อไร?

ยังไม่มีการกำหนดตายตัวว่า การแข่งขันการลดค่าเงินต้องมีขอบเขตหรือความรุนแรงแค่ไหนถึงจะเรียกว่าเป็น “สงคราม” แต่โดยทั่วไปแล้วจะเข้าใจกันว่า มีสงครามค่าเงินครั้งสำคัญเกิดขึ้นมาแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง

 

1.) Currency War ครั้งที่ 1 (1921-1936)

ตั้งแต่ราวๆ ปี 1870 จนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914) หลายประเทศใช้ระบบมาตรฐานทองคำ (gold standard) ซึ่งเป็นระบบที่กำหนดว่าเงิน 1 หน่วยของแต่ละประเทศ สามารถแลกเป็นทองคำได้ในปริมาณเท่าไร ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงมีทองคำเป็นตัววัดมูลค่าที่แท้จริง (intrinsic value) ของเงินตรา ต่างจากปัจจุบันที่มูลค่าของเงินสกุลหนึ่งมาจากการเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ระบบมาตรฐานทองคำที่มั่นคง ประกอบกับการค้าระหว่างประเทศที่ยังไม่แพร่หลาย ทำให้แทบไม่มีการแข่งขันทางค่าเงินเกิดขึ้นก่อนต้นศตวรรษที่ 20 เลย

 

ต่อมาไม่นาน ผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (the great depression) ได้ทำให้หลายประเทศยกเลิกการผูกค่าเงินไว้กับทองคำ หลังจากนั้น ประเทศมหาอำนาจอย่าง สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ได้เริ่มใช้วิธีการลดค่าเงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการว่างงาน สงครามค่าเงินจึงได้เกิดขึ้นในวงกว้าง อย่างไรก็ตามสงครามค่าเงินครั้งที่ 1 ได้สิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์หลังจากระบบเศรษฐกิจทั่วโลกได้ประชุมและร่วมตกลงกันใช้ระบบเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods System) ในปี 1945

 

2.) Currency War ครั้งที่ 2 (1967-1987)

ภายใต้ระบบเบรตตันวูดส์ ค่าเงินของแต่ละประเทศผูกไว้กับเงินดอลลาร์ โดยค่าเงินดอลลาร์นั้นจะผูกไว้กับทองคำอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีข้อบังคับมิให้แต่ละประเทศลดค่าเงินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อีกด้วย ระบบดังกล่าวนี้จึงทำให้การเงินระหว่างประเทศมีเสถียรภาพสูง อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงอัตราเติบโตของเศรษฐกิจสูงขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม สงครามค่าเงินก็ได้อุบัติขึ้นอีกครั้งในปี 1967 เนื่องจากระบบเบรตตันวูดส์เริ่มสั่นคลอนด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น การเสียค่าใช้จ่ายปริมาณมหาศาลของสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียดนาม ต่อมา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ริชาร์ด นิกสัน ได้ประกาศยกเลิกความสามารถในการแลกเป็นทองคำ (gold convertibility) ของเงินดอลลาร์ในปี 1971 นำไปสู่การล่มสลายของระบบเบรตตันวูดส์ในที่สุด ประเทศต่างๆ ได้ยกเลิกการตรึงค่าเงินกับดอลลาร์และเปลี่ยนไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว นานาประเทศจึงเริ่มปฏิบัติการลดค่าเงินเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า

 

3.) Currency War ครั้งที่ 3 (ตั้งแต่ 2010)

การแข่งขันทางค่าเงินครั้งใหญ่เริ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2010 เนื่องจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำปี 2008 หลายประเทศได้เริ่มมาตรการค่าเงินอ่อนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการส่งออกของประเทศ

 

ชนวนของสงครามค่าเงินครั้งนี้ ได้แก่ 1.) การที่จีนตรึงค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าจนเกินไป (undervalued yuan) และ 2.) การดำเนินมาตรการ QE ของสหรัฐอเมริกาเนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤติปี 2008 ทั้งยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยได้อีกแล้วเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในขณะนั้นอยู่ที่ระดับ 0-0.25% มาตรการดังกล่าวทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงมาก1 และก่อให้เกิดการไหลของเงินทุนออกจากสหรัฐอเมริกาไปยังตลาดเกิดใหม่ของประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูง ค่าเงินของประเทศเหล่านี้จึงแข็งค่าขึ้นและกลายเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกและการเติบโตทางเศรษฐกิจในที่สุด

 

นอกจากสหรัฐอเมริกาและจีนแล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าวยังมีอีกหลายประเทศที่พยายามลดค่าเงินของตนลง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ โคลัมเบีย สวิตเซอร์แลนด์ อิสราเอล เป็นต้น แม้จะยังไม่มีการนิยามคำว่าสงครามค่าเงินอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม คำว่า “currency war” ก็ได้ปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์อย่างนับครั้งไม่ถ้วนตั้งแต่มีการสร้างคำนี้ขึ้นมาในปี 2010 ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่ามวลชนกำลังตระหนักถึงการที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้แทรกแซงค่าเงินบ่อยครั้งขึ้นนับจากวิกฤตการณ์การเงินปี 2008 โดยประเด็นนี้ได้รับความสนใจอีกครั้งเมื่อจีนประกาศลดค่าเงินเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

 

สังเกต: มีจุดร่วมอะไรระหว่างสงครามค่าเงินทั้งสามครั้งนี้?

สงครามค่าเงินมักเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในสภาวะถดถอย

ในภาวะเศรษฐกิจคล่องตัวนั้น ค่าเงินแข็งในระดับอ่อนๆ ถือว่าเป็นสิ่งที่แต่ละประเทศยอมรับได้ ดังนั้น สงครามค่าเงินจะอุบัติขึ้นในสถานการณ์ที่แม้แต่การหดตัวของการส่งออกอีกเพียงเล็กน้อย เพราะมีประเทศหนึ่งลดค่าเงินก็เป็นสาเหตุที่เพียงพอที่ทำให้แต่ละประเทศปรับลดค่าเงินตามไปด้วย

 

ปัจจุบัน: ทำไมตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกถึงวิตกเมื่อจีนลดค่าเงินหยวน?

เพราะตลาดหลักทรัพย์คาดการณ์ได้ว่าอีกหลายสกุลเงินในระบบเศรษฐกิจโลกจะอ่อนค่าลงตามเงินหยวนไป และอาจจะเกิดสงครามค่าเงินขึ้นอีกครั้ง เงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ จะแข็งค่าขึ้น และจะส่งผลให้รายได้การส่งออกของสหรัฐอเมริกาลดลงอย่างมากในภายภาคหน้า

แล้วเหตุการณ์ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ภายในเวลาเพียง 1 วันหลังจากที่จีนประกาศลดค่าเงิน โดยเริ่มจากเงินวอนของเกาหลีใต้ซึ่งได้อ่อนค่าลงกว่า 1.3% เงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนลงเกือบ 1.5% ส่วนเงินบาทอ่อนค่า 0.7% แล้วยังตามด้วยเกือบทุกสกุลเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คำถามคือ ทำไมเหตุการณ์ที่ว่านี้ถึงเกิดขึ้นแทบจะทันที ทั้งๆ ที่ผลของการปรับค่าเงิน ยังไม่แสดงออกมาเลย? คำตอบก็คือ นี่เป็นฝีมือของ “ความคาดหมาย” (expectation) ของนักลงทุนและผู้เล่นทั้งหลายในระบบเศรษฐกิจ

 

จีนเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกด้าน GDP ซึ่งระบบเศรษฐกิจขนาดยักษ์นี้ก็ได้ทำการค้าขายและนำเข้าสินค้าจำนวนมหาศาลจากนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตลาดเกิดใหม่ อาทิ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และประเทศในทวีปแอฟริกา เมื่อจีนลดค่าเงินหยวน ผลที่จะตามมาไม่ใช่เพียงการทำให้ยอดการส่งออกของจีนสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้จีนนำเข้าจากต่างประเทศลดลง นักลงทุนคาดการณ์ได้ว่า ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกไปจีนจะเสียดุลการส่งออกและอาจเกิดภาวะเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจขึ้น ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงเร่งย้ายเงินทุนออกจากประเทศกลุ่มดังกล่าว ไปไว้ในประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ส่งผลให้สกุลเงินของประเทศเหล่านั้นอ่อนค่าลงตามลำดับ

 

ผลกระทบ: ถ้าเกิดสงครามค่าเงินขึ้น แล้ว สุดท้ายจะลงเอยอย่างไร?

ทุกคนจะเป็นผู้เสียประโยชน์ หรือไม่ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

สงครามค่าเงินนั้นเป็นการ “race to the bottom” กล่าวคือ ทุกประเทศจะแข่งกันลดค่าเงินให้ต่ำที่สุดเพื่อผลประโยชน์จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์ที่ว่านี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อค่าเงินของประเทศตนต่ำกว่าประเทศอื่นๆ แต่เมื่อทุกประเทศต่างลดค่าเงินกันหมด ผลประโยชน์นั้นย่อมหมดความสำคัญลง

 

การลดค่าเงินยังมีต้นทุน หรือข้อเสียอยู่ด้วยหลายประการ ได้แก่ 1.) เป็นการทำให้ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยราคาการนำเข้าที่สูงขึ้นจะไปลดการลงทุนของบริษัทที่ต้องอาศัยการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรจากต่างประเทศ 2.) เมื่อค่าเงินอ่อน หนี้ต่างประเทศจะสูงขึ้น 3.) เป็นการทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากมูลค่าของสกุลเงินนั้นต่ำลง นอกจากนี้ การนำเข้าที่ลดลงยังเป็นการลดการแข่งขันภายในประเทศ ทำให้ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นไปอีก และ 4.) การแข่งขันด้านการลดค่าเงินยังมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การใช้นโยบายกีดกันทางการค้า (protectionist policy) เช่น การตั้งกำแพงภาษี ดังที่เคยมีปรากฏในสงครามค่าเงินครั้งที่ 1 ด้วยเหตุนี้ เมื่อทำการลดค่าเงินไปจนถึงจุดหนึ่ง ต้นทุนเหล่านี้จะเริ่มมากกว่าผลประโยชน์ที่ได้ และจะทำให้มาตรการลดค่าเงินค่อยๆ สิ้นสุดลง

 

เรียนรู้: เราจะป้องกันและรับมือการเกิดขึ้นของ currency war ได้อย่างไร?

สงครามค่าเงินนั้น อาจจะมีประเทศใดเป็นชนวนสงครามก็ได้ ซึ่งสามารถคาดการณ์ในระยะยาวได้ยาก ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุด คือการประชุมเพื่อสร้างข้อตกลงระหว่างประเทศ ดังเช่นแถลงการณ์ร่วมจากการประชุมสมาชิก G-20และAPECซึ่งได้กำหนดให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามกลไกตลาด และให้หลีกเลี่ยงการแทรกแซงค่าเงินจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงเหล่านี้ใช่ว่าจะป้องกันการเกิดสงครามค่าเงินได้เสมอไป ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือการเรียนรู้เพื่อลดผลกระทบด้านลบจากสงครามค่าเงินที่เกิดขึ้น เช่น รัฐบาลไทยอาจส่งเสริมให้ธุรกิจการผลิตหันมาใช้การเพิ่มคุณภาพหรือมูลค่า ให้แก่สินค้าที่ผลิต ควบคู่ไปกับการแข่งขันทางราคา เพื่อมิให้ประเทศเสียเปรียบจากการส่งออก รัฐบาลอาจจัดเตรียมหน่วยงานเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการ พร้อมแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในประเทศที่มีความเสี่ยง เป็นต้น ทั้งนี้รัฐบาลต้องเลือกใช้มาตรการให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อปลดปล่อยประเทศให้หลุดออกจากวงจรการแข่งขันที่พร้อมจะนำความสูญเสียมาได้ทุกเมื่อ

 

1 ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (U.S. Dollar Index) ลดลงจาก 76.5 เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2010 มาต่ำสุดที่ 72.9 เมื่อ 29 เมษายน 2011

คัดลอกจาก https://www.scbeic.com/th/detail/product/1694

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม 2015 เวลา 16:08 น.  
Home > Articles > การเงิน > China's shock move to trigger the biggest one-day decline in its currency for more than 20 years is evidence that the currency wars are still live.” ที่มา: Bloomberg View (Aug. 11, 2015)

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5585
Content : 3038
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8559582

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า