2012 Speech to Graduating Harvard MBA Students โดย Prof. Deepak Malhotraใน YouTube ซึ่งดูได้ ที่นี่ เป็นปาฐกถาสำหรับคนเก่งที่สุดในโลกเกือบหนึ่งพันคน ที่กำลังจะจบการศึกษาออกไปทำงาน สร้างตัวและทำประโยชน์ให้แก่โลก คำเตือนคือ ให้มีทั้งความมั่นใจตนเอง (confidence) และความอ่อนน้อม ถ่อมตน (humility) แและให้หัดเป็นอกเห็นใจคนอื่น (empathy) เพราะตนเองเป็นคนที่มีข้อได้เปรียบคนทั่วไป อย่างมากมาย

คำเตือนสุดท้ายคือ ให้เรียนรู้จากทั้งสิ่ง/คน ที่ชอบและไม่ชอบ ทั้งที่ตนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ส่วนที่สนุก และประเทืองปัญญาที่สุด คือตอนถามตอบ ประเด็นที่คนสงสัยมากที่สุดคือ คำแนะนำแรก ให้ Quit : Quit early, quit often แต่อย่าลาออกเพราะขี้เกียจ หรือเพราะไม่สู้ ให้ลาออกเพราะรู้ว่า งานนั้นไม่ใช่สิ่งที่ตนชอบหรือรัก

ผมตีความว่ามี ๒ คำแนะนำย่อยในนั้น คือให้รู้จักมีวิจารณญาณว่าตนรักงานนั้นหรือไม่ และข้อที่สอง อย่ากลัวที่จะลาออก อย่ากลัวตกงาน ให้มั่นใจว่ายังมีงานที่มีคุณค่าและตนรักรออยู่

ทำให้ผมย้อนกลับไปรำลึกถึงชีวิตสมัยหนุ่มๆ ที่ผมทำตามที่ ศ. ดีพัก แนะนำไม่มีผิด คือลาออกบ่อย จนภรรยา (คือสาวน้อยคนนี้แหละ) เตือนสติว่า อย่าลาออกบ่อยนัก คนเขาจะหาว่าไม่สู้ความยากลำบาก

ลาออกครั้งแรก จากตำแหน่งรองอธิการบดี ที่เป็นตั้งแต่อายุ ๓๓ ถึง ๓๖ โดยบอกตัวเองว่า ผมไม่ได้เกิดมาต่อสู้กับคอร์รัปชั่นที่มากับผู้ใหญ่ในกรุงเทพ เพื่อหาผลประโยชน์จากการก่อสร้าง ผมเกิดมาทำงานวิชาการ และผมก็ได้เรียนให้ท่านอธิการบดีในขณะนั้นให้ทราบล่วงหน้ากว่า ๑ ปี มีการเตรียมคนไว้ทำงานแทนผมล่วงหน้า

ต่อมาเมื่ออายุ ๔๑ ผมลาออกจากตำแหน่งคณบดี ด้วยเหตุผลคือ ไม่เห็นลู่ทางที่จะทำงานสร้างรากฐาน ความเจริญให้แก่คณะแพทยศาสตร์ได้อย่างที่ฝัน เพราะข้อจำกัดที่ทุกคณะต้องอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน ทั้งๆ ที่งานต่างกัน แต่อีก ๒ ปีต่อมาเขาก็สรรหาผมกลับเข้าไปใหม่ ในสถานการณ์ที่คลี่คลายขึ้น

ตอนทำงานเป็นผู้อำนวยการ สกว. ก็เกิดเหตุการณ์ที่บีบคั้น และผมไม่อยากทน แต่ รศ. ดร. กำจัด มงคลกุล ที่เป็นผู้ใหญ่ที่ผมเคารพ ห้ามไว้ ว่าหากผมลาออก ก็จะเข้าทางฝ่ายที่ต้องการยึด สกว. คราวนั้นเทวดาช่วยไว้ และจริงๆ แล้วสถานการณ์ก็ไม่ได้เลวร้ายมาก การจัดการแบบที่มีระบบและ ตรงไปตรงมาของผมและทีม ช่วยไว้

น่าสนใจว่า สิ่งที่ ศ. ดีพักเตือน ไม่ใช่เรื่องความรู้ความสามารถด้านวิชาชีพเลย แต่เป็นเรื่องทักษะชีวิต (lifeskills)



วิจารณ์ พานิช

๑๒ ก.พ. ๕๙