Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การศึกษา > วิจัยมา ปัญญาเกิด

วิจัยมา ปัญญาเกิด

พิมพ์ PDF


วิจัยมา ปัญญาเกิด



สกว. ต้องการทำหนังสือจากการสัมภาษณ์ผู้อาวุโสด้านการวิจัย ๘ ท่าน ผมเป็นหนึ่งในนั้น สัมภาษณ์เสร็จเขาส่งต้นฉบับให้ตรวจทาน ผมยุ่งๆ จนเผลอลืมไป จนหนังสือออกมาในชื่อ วิถีวิจัยในมหาสมุทรความรู้ ปัญญาจากประสบการณ์ของ ๘ นักวิจัยชั้นครู จึงนำเฉพาะส่วนที่สัมภาษณ์ผมมาเผยแพร่ต่อ โดยมีการแก้ไขส่วนที่ผิดจังๆ


ชื่อหนังสือ: วิถีวิจัยในมหาสมุทรความรู้

ชื่อเรื่อง: วิจัยมา ปัญญาเกิด

เรื่อง: อาทิตย์ เคนมี / ณิชากร ศรีเพชรดี

ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง


(เกริ่นนำ)

หลังมีการตราพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. 2535 องค์กรแห่งนี้เป็นที่คาดหวังกันว่า จะเป็นสถาบันบ่มเพาะปัญญาให้สังคมบนฐานของความรู้ โดยอาศัยกระบวนการวิจัยเป็นกลไกผลักดันประเทศไปข้างหน้า

ด้วยความที่เป็นองค์กรเกิดใหม่ และใช้วิธีบริหารแนวทางใหม่ที่มิได้อยู่ใต้ระบบราชการ การจะเนรมิตทุกอย่างให้บรรลุถึงเป้าหมายจึงไม่ใช่เรื่องง่าย หากอิฐก้อนแรกไม่แข็งแรงมั่นคง เสาเอกแห่งสถาบันนี้ก็ไม่อาจยืนเด่นโดยท้าทาย

ในช่วงเวลาของการลงหลักปักฐานองค์กร ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช คือผู้วางอิฐก้อนแรกก้อนนั้น ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ยุคบุกเบิก

25 ปีผ่านไป องค์กรอิสระทางวิชาการแห่งนี้สามารถพิสูจน์วันเวลาให้เห็นแล้วว่า คุณูปการของการวิจัยนั้นมีความหมายสำคัญเพียงใดต่อการ ‘สร้างสรรค์ปัญญา เพื่อพัฒนาประเทศ’

เหนือสิ่งอื่นใด ศ.นพ.วิจารณ์ มองว่า พลังของการวิจัยต่อการปฏิรูปประเทศจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีการสร้างคน สร้างนักวิจัยอาชีพ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 – นี่คือสิ่งที่ สกว. พยายามสร้างทำมาโดยตลอด

“การวิจัยเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ เป้าหมายสูงสุดของการวิจัยคือ ‘การสร้างความเปลี่ยนแปลง’ การวิจัยคือกลไกสร้างความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การสนับสนุนการวิจัยจึงเป็นการสนับสนุนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ผู้ทำงานสนับสนุนหรือจัดการงานวิจัยจึงต้องมี ‘จินตนาการ’ ต่อการเปลี่ยนแปลง มีความมุ่งมั่นเพื่อการสร้างสรรค์ มีความสุขที่ได้ทำให้จินตนาการเป็นจริง” – ความตอนหนึ่งจากหนังสือ การบริหารงานวิจัย แนวคิดจากประสบการณ์ (2539)

อาจพูดได้ว่า หนังสือเล่มนี้คือคัมภีร์ของการบริหารงานวิจัยในบริบทของสังคมไทยที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ถอดหัวใจเขียน

หลักของการบริหารงานวิจัยในความหมายของ ศ.นพ.วิจารณ์ ไม่ได้เป็นแค่ ‘ศาสตร์’ หากยังเป็น ‘ศิลป์’ ที่ผสมผสานอยู่ในท่วงทำนองเดียวกัน ทั้งศิลปะในการบริหารคน บริหารทีม และบริหารความรู้สึกของนักวิจัย

หากความหมายของ ‘การวิจัย’ หมายถึง กระบวนการศึกษาค้นคว้าเพื่อสร้างองค์ความรู้อย่างมีระบบระเบียบ ‘การบริหารจัดการงานวิจัย’ ก็นับเป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่จะช่วยหนุนส่งให้งานวิจัยนั้นไปถึงฝั่งที่เป็นจริง เปรียบเหมือนลมใต้ปีกที่แม้จะมองไม่เห็น...แต่ทรงพลัง

//////////////////////


+ จากหนังสือ การบริหารงานวิจัย แนวคิดจากประสบการณ์ ที่อาจารย์เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2539 อธิบายถึงแก่นแท้และปรัชญาของงานวิจัยไว้อย่างไรบ้าง

หนังสือเล่มนี้อาจพูดได้ว่า ผมเขียนออกมาจากใจ เป็นภาพสะท้อนจากการทำงานในยุคสมัยนั้น โดยถ่ายทอดความรู้จากงานที่ผมทำใน สกว. ออกมาเป็นหนังสือ ซึ่งเกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรง ฉะนั้น หากพูดถึงยุทธศาสตร์การบริหารงานวิจัยในอดีต หนังสือเล่มนี้ก็สามารถสะท้อนได้แง่มุมที่ผมสัมผัสมา แต่ ณ ปัจจุบันนี้ผมคงไม่สามารถพูดในภาพใหญ่ได้ เพราะผมไม่มีประสบการณ์ร่วมโดยตรง เพียงแต่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องบ้างในช่วงเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา ในฐานะประธานในบางโครงการของ สกว. เช่น โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ที่ผลิตนักวิจัยและผลงานวิจัยคุณภาพสูงในระดับปริญญาเอก

หากย้อนกลับไปยังคำถามที่ว่า แก่นแท้และปรัชญาของงานวิจัยคืออะไร อาจพูดได้ว่า แก่นไม่ได้มีเพียงแก่นเดียว และยุทธศาสตร์การทำงานก็มีหลายแก่น

ในช่วงปีแรกๆ ที่ผมเข้ารับหน้าที่ ผมตีความงานวิจัยในความหมายของผมมีอยู่ 2 แก่น หนึ่ง-สร้างความรู้ สร้างปัญญา สร้างความเข้าใจในเรื่องต่างๆ บนฐานของความรู้ที่เชื่อถือได้ มีคุณภาพ และมีคุณค่า ในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อาจจะเรียกว่า ‘การเข้าใจธรรมชาติในขอบฟ้าใหม่’ หรือ ‘Blue Sky Research’ นี่คือการวิจัยในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะมีวิธีการจัดการและตีคุณค่าของงานวิจัยในแบบหนึ่ง ลงท้ายด้วยการวัดผลจากการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่จะเป็นตัวตัดสินว่า ความรู้จากการวิจัยนั้นใหม่จริงหรือไม่

สอง-เป็นขั้วตรงข้ามกันเลย คืองานวิจัยเพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ ถือประโยชน์ของผู้ใช้เป็นหลัก แต่แน่นอนว่าผลงานต้องมีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับทางวิชาการได้

งานวิจัยประเภทหลังต่างกับงานวิจัยประเภทแรกที่เอานักวิจัยเป็นตัวตั้ง ถ้าคุณฝันว่าจะสร้างความรู้ใหม่ออกมา คุณต้องตรวจสอบก่อนว่าใหม่จริง ซึ่งจริงๆ แล้วงานวิจัยที่เรียกว่าสามารถเปิดแนวทางความรู้ใหม่ๆ แทบจะหาได้ยาก ถ้าจะทำอย่างนั้นได้อาจต้องลงทุนมหาศาล อย่างโครงการสำรวจอวกาศของสหรัฐอเมริกา ซึ่งลงทุนเป็นหลักพันล้านดอลลาร์ หรือเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาทไทย เพราะเป็นโครงการที่เปิดความรู้ความเข้าใจใหม่ ทั้งเรื่องธรรมชาติ อวกาศ จักรวาล ทำให้เรารู้ว่าจักรวาลกว้างใหญ่กว่าที่เราเคยเข้าใจเยอะ และยังขยายขอบเขตออกไปเรื่อยๆ อีกทั้งมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Dark Matter’ (สสารมืด) อย่างนี้จึงเรียกว่าเป็นความรู้ใหม่

แต่สำหรับงานวิจัยไทย ผมกลับคิดว่าเราไม่ควรไปให้น้ำหนักกับเรื่องอย่างนั้นมากนัก เพราะงานวิจัยที่เรียกว่า ‘Basic Research’ หรือการวิจัยพื้นฐานเพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ๆ พอเข้าไปดูจริงๆ ก็ไม่ได้ไปถึงขั้นนั้น เป็นเพียงแค่การร่วมขบวนแห่ไปกับเขามากกว่า แม้ว่าในวิธีบริหารงานวิจัยจะมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยวิจารณ์ว่า โจทย์ที่คุณตั้งขึ้นมานั้นควรทำหรือเปล่า วิธีการนำเสนอใช้ได้ไหม สามารถตอบโจทย์ที่คุณต้องการได้จริงหรือเปล่า หรือตอบแล้วน่าเชื่อถือไหม ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เราก็นำเข้ามาจากโลกตะวันตกทั้งสิ้น โดยที่ในเมืองไทยไม่เคยทำมาก่อน


+ ทำไมจึงมองว่า งานวิจัยประเภท Blue Sky Research อาจไม่เหมาะกับประเทศไทย

ในประเทศไทยเราไม่มีการลงทุนมากขนาดนั้น และเราไม่ได้มีนักวิจัยที่เก่งขนาดนั้น เพราะถ้าโยงไปถึงการศึกษาที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ จะเห็นว่าเป็นการศึกษาที่สร้างผู้ตาม ไม่ใช่ผู้นำ การศึกษาในบ้านเราสร้างคนที่ไม่กล้าถาม สังคมไทยว่าไปแล้วคือ สังคมเคารพผู้ใหญ่ แต่ไม่สร้างคนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือ creativity เราจึงไม่สามารถคิดอะไรที่นอกเหนือไปจากกรอบที่มีอยู่เดิมได้

ถ้าเปรียบเทียบระหว่างนักเรียนในโรงเรียนอังกฤษกับนักเรียนอเมริกัน ความคิดอ่านของทั้งสองคนก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเรียนแบบอเมริกัน ครูกับนักเรียนจะเป็นเหมือนเพื่อนกัน ขณะที่ครูแบบอังกฤษเขาจะเรียกว่า ‘master’ แต่บ้านเรานี่เรียกได้ว่ายิ่งกว่า master เสียอีก

นักเรียนอเมริกันเขาเรียกครูด้วยชื่อเล่นเลย ตอนผมเรียนจบหมอแล้วไปเรียนต่อปริญญาโท ปริญญาเอกที่เมืองนอก มีโปรเฟสเซอร์คนหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชา ชื่อ ‘เจมส์ นีล’ แต่ผมเห็นนักศึกษาเขาเรียกกันง่ายๆ ว่า ‘จิม’ ผมนี่ตกใจแทบสิ้นสติ ทำไมเขาถึงเรียกครูอย่างนี้ แต่นี่คือสังคมอเมริกัน เรื่องเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมพื้นฐานที่ทำให้ความคิดจิตใจของคนเปิดกว้าง คุณจะเห็นว่าในช่วง 6 เดือนก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ถ้าลองไปอ่านหนังสือพิมพ์ต่างประเทศจะเห็นเลยว่า เขาเขียนวิพากษ์วิจารณ์ผู้สมัครแต่ละคนอย่างเปิดเผย แล้ววิเคราะห์กันออกมาเลยว่า ถ้าเลือกคนนั้นคนนี้แล้วจะเป็นอย่างไร ถามว่าเมืองไทยเราเขียนแบบนี้ได้ไหม


+ เป็นเพราะสังคมไทยอยู่ในวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมใช่ไหม ทำให้ไม่มีความกล้าที่จะคิดสิ่งใหม่ๆ

คุณจะเห็นว่า เรื่องเหล่านี้เป็นพื้นฐานของทุกอย่างเลยนะ แต่แน่นอน การทำแบบนั้นไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เคารพกัน เขารู้ว่านี่คือเกมการแข่งขัน มันแสดงถึงการเปิดกว้างหรือการยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่น ที่ผมเล่ามานี้ก็เพียงอยากชี้ให้เห็นว่า ในเรื่องของการทำงานวิจัย มันไม่ใช่แค่ทำขึ้นมาลอยๆ แต่ต้องมาจากบริบทพื้นฐานและปัจจัยต่างๆ ของประเทศ

ถามว่าทำไมเราจึงไม่มีงานวิจัยที่ยิ่งใหญ่และเป็นเรื่องใหม่ขนาดนั้น คำตอบคือ เราไม่มีความจำเป็นหรอก ในทิศทางที่เราจะพัฒนาประเทศ เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมุ่งเป้าไปทางนั้น พูดอย่างนี้บางคนก็อาจจะไม่เห็นด้วยนะ ซึ่งก็แล้วแต่ความเห็นของแต่ละคน แต่ผมมองในเชิงการบริหารจัดการ ซึ่งจะต้องมียุทธศาสตร์ มีเป้าหมายที่ชัดเจน ประเทศไทยในอีก 10 ปี หรือ 100 ปีข้างหน้า ทำไมเราจะมีโนเบลไพรส์ไม่ได้ เราทำได้แน่ๆ เรามีคนเก่งๆ มากมาย เพียงแต่ว่าเราจะบ่มเพาะเขาขึ้นมาอย่างไร

จะเห็นว่าญี่ปุ่นเขาได้โนเบลไพรส์ติดกัน 3 ปี แล้วถ้าลองย้อนไปดูในช่วงเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้โนเบลไพรส์อย่างต่อเนื่อง เราก็ต้องไปดูว่าเขาทำได้อย่างไร ประการสำคัญก็คือ ประเทศญี่ปุ่นถ้าไม่ทำวิจัยแบบนั้นเขาอยู่ไม่ได้ เพราะหลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 สถานการณ์เช่นนั้นทำให้เขาจำเป็นต้องพัฒนาความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา


+ ถ้ามองในบริบทของประเทศไทย อะไรคือจุดที่ทำให้ต้องมีการก่อตั้ง สกว. ขึ้นมา

ผมเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของ สกว. ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ซึ่งเป็นผู้ร่าง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. 2535 ขึ้นมา ตอนนั้นอาจารย์ยงยุทธยังหนุ่มมาก ผมเองก็เช่นกัน จนกระทั่งเมื่อมีการสรรหาผู้อำนวยการ ผมจึงได้เข้ามาเป็นผู้อำนวยการคนแรก เป็นผู้วางฐานการทำงาน แล้วจึงตั้งคำว่า สกว. ขึ้นมา

สกว. เกิดขึ้นในยุครัฐบาลอานันท์ (ปันยารชุน) สมัยที่ 1 จะเห็นว่าหน่วยงานอย่าง สกว. ไม่เกิดขึ้นในรัฐบาลปกติหรือในสภาวะการเมืองธรรมดา เพราะในรัฐบาลปกติคิดใหญ่ไม่เป็น เมื่อผมได้เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการแล้วจึงไปขอเอกสารจากสำนักนายกฯ มาอ่าน อยากรู้ว่าการตั้ง สกว. ขึ้นมานั้นเขาคิดกันอย่างไร จนกระทั่งได้เข้าใจว่า สมัยนั้นเป็นรัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติของ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) คนที่เข้ามาเป็นบอร์ดก็ล้วนมีความรู้สูง ท่านนายกฯ อานันท์ ก็เคยเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เคยเป็นเอกอัครราชทูต ก็มองเห็นโลกกว้าง แล้วก็มี ศ.ดร.ไพจิตร เอื้อทวีกุล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งบุคคลเหล่านี้คือผู้ที่ขบคิดเรื่องนี้ขึ้นมา

เมืองไทยเราตอนนั้น GDP โตขึ้นมาก เราก้าวพ้นจากประเทศยากจนเข้าสู่ประเทศรายได้ปานกลาง และด้วยเงื่อนไขขององค์กรระหว่างประเทศขณะนั้นก็เห็นว่าไม่จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือไทยแล้ว เพราะเราเป็นตัวของตัวเอง เดิมก่อนหน้านั้น ทุนวิจัยทั้งหมดจะได้จากต่างประเทศ ทั้งในรูปของเงินช่วยเหลือหรือเงินอุดหนุนต่างๆ ถ้าใครอยากได้ทุนทำวิจัยก็ต้องเขียนโครงการไปขอทุน นักวิจัยที่เก่งๆ จึงต้องไปหาทุนจากเมืองนอก แต่จากนี้ไปก็จะไม่ได้แล้ว หรือถ้าได้ก็อาจด้วยเหตุผลว่าเขาต้องการใช้งานเรา แต่ไม่ใช่ให้ทุนด้วยความสัมพันธ์แบบเดิม

ฉะนั้น สกว. ตั้งขึ้นมาเพราะเราต้องพึ่งตัวเอง นี่คือหัวใจ นั่นหมายความว่า ในยุคนั้นแนวความคิดของผู้บริหารประเทศเชื่อมั่นว่างานวิจัยจะช่วยพัฒนาประเทศได้ ซึ่งยุคหลังๆ ไม่มีอีกเลย เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากของประเทศไทย ผมไม่แน่ใจว่าปัจจุบันแนวความคิดแบบนี้ยังมีอยู่ไหม คือความคิดที่ว่า เราต้องพึ่งตนเองในการทำวิจัย และใช้งานวิจัยเป็นตัวขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าของประเทศ

ขณะนี้รัฐบาลทหารบอกว่า เราจะเป็น ‘ไทยแลนด์ 4.0’ ซึ่งเป็นเรื่องดีมาก เพียงแต่วิธีการอาจทำให้เราไปไม่ถึงตรงนั้น เพราะหัวใจสำคัญคือ ต้องหนุนกระบวนการทางปัญญาจึงจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้ การก่อเกิดของ สกว. เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า เราจำเป็นต้องลงทุนเพื่อสร้างงานวิจัย และสุดท้ายเราจะเห็นเองว่า คุณค่าที่แท้จริงของงานวิจัยคืออะไร


+ ทำไมจึงต้องทำในลักษณะของกองทุน

เหตุที่ต้องตั้งเป็นกองทุนก็เพราะเขาคิดว่าจะได้ไม่ต้องผันผวนไปตามสถานการณ์ทางการเมือง แต่เดิมเขาคิดว่าถ้ามีกองทุนหมื่นล้านก็จะมีเงินงอกเงยขึ้นมาปีละพันล้าน เพราะตอนนั้นประเมินว่าดอกเบี้ยจะอยู่แถว 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ต่อปี เพียงแต่ว่าสมมุติฐานนั้นผิด เพราะถ้ามาดูตอนนี้ดอกเบี้ยอย่างเก่งก็ได้แค่ 4 เปอร์เซ็นต์ หรือ 400 ล้านเท่านั้นเอง


+ รูปแบบการสนับสนุนทุนวิจัยในช่วงเริ่มต้นมีแบบอย่างมาจากไหน

เดิมทีงานวิจัยในต่างประเทศเกิดขึ้นมานาน บ้านเราก็รับเอาแนวทางการวิจัยมาจากต่างประเทศ แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากทำการปฏิวัติรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ช่วงปี พ.ศ. 2500 และต้องการวางรากฐานของประเทศครั้งใหญ่

ปี 2501 จอมพลสฤษดิ์ไปขอความช่วยเหลือจากอเมริกาและธนาคารโลก ก็ได้รับคำแนะนำให้ตั้ง 3 องค์กรใหญ่ เพื่อเป็นองค์กรระดับมันสมองในการปฏิรูปประเทศ จากการเป็นประเทศเกษตรกรรมก้าวสู่ประเทศอุตสาหกรรม

ในช่วงนั้นมี 3 สภา คือ สภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) สภาการศึกษา (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา) และสภาวิจัย (สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ) ซึ่งกำลังมีการปฏิรูปองค์กรกันอยู่ และอาจเรียกได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของโครงสร้างองค์กรการวิจัยอย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง


+ ทำไมตอนนั้นจึงต้องไปขอความช่วยเหลือจากอเมริกา

เพราะคนไทยเองยังคิดไม่เป็น อย่าลืมว่าสภาพสังคมไทยเมื่อ 60 ปีที่แล้วก็ยังไม่พัฒนามากนัก ฉะนั้น จึงต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาช่วย พอผ่านไป 60 ปี ขณะนี้ถือว่าเราเก่งขึ้นมาก หลายเรื่องเรานำหน้าฝรั่งเลย คนไทยเก่งๆ หลายคนพอไปอยู่ในวงต่างประเทศก็เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ในวงการสุขภาพเราก็มีหลายคนที่ฝรั่งนับถือเลยทีเดียว


+ แสดงว่ารัฐบาลทหารในสมัยนั้นก็พอจะมีวิสัยทัศน์เหมือนกัน?

คงต้องมี ผมเองก็โตไม่ทัน แต่ในสมัยนั้นก็มีคนหัวก้าวหน้าอยู่มากเหมือนกัน


+ อะไรคือข้อสังเกตที่ว่า การคิดการใหญ่หรือการมองการณ์ไกล มักเกิดขึ้นในภาวะที่บ้านเมืองไม่ปกติ อย่างในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ หรือรัฐบาลอานันท์

ผมไม่อยากจะลงมติถึงขนาดนั้น เพียงแต่ว่าช่วงเวลานั้นอาจบังเอิญลงตัวพอดี แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยต้องการการคิดใหญ่และต้องมีวิธีคิดด้วย เพียงแต่เราคิดเป็นหรือเปล่า

หน้าที่หลักของงานวิจัยคือ การสร้างคน และสร้างคนที่คิดใหญ่เป็น คิดอย่างมี Evidence based (หลักฐานเชิงประจักษ์) และที่สำคัญงานวิจัยกับความเป็นจริงต้องไปด้วยกัน เมื่อใดก็ตามที่มันแยกออกจากกัน งานวิจัยก็จะตั้งอยู่อย่างลอยๆ ซึ่งตอนนี้ก็ค่อนข้างแยกกันอยู่ เช่น สถาบันอุดมศึกษา โดยภารกิจหลักควรเป็นแหล่งผลิตงานวิจัยที่สำคัญ และสามารถเชื่อมโยงระหว่างงานวิจัยกับชาวบ้านได้ แต่ขณะนี้สถาบันอุดมศึกษาผลิตนักศึกษาโดยแยกขาดจากชาวบ้าน และงานวิชาการก็ลอยไปหมด


+ ทิศทางการบริหารงานวิจัยของประเทศไทยจากอดีตถึงปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ผมเริ่มทำงานกับ สกว. เมื่อปี 2535 ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการในปี 2536 สิ่งที่ผมพยายามคิดแล้วคิดอีก ปรึกษาคนแล้วปรึกษาคนอีก แล้วเอามาตีความ เพื่อจะหาคำตอบให้ได้ว่า แท้จริงแล้วหน้าที่หลักของ สกว. คืออะไร ถ้าเป็นเชิงการบริหารกลยุทธ์ในภาษาอังกฤษก็จะใช้คำว่า “What business are we in?”

ชื่อ ‘กองทุนสนับสนุนงานวิจัย’ ถ้าตีความอย่างตื้นและง่ายที่สุดคือ เราเป็นองค์กรที่มีทุน ฉะนั้นก็มีหน้าที่ให้ทุน แล้วคนจำนวนหนึ่งก็จะมาทวงถามอยู่เรื่อยว่า หมอวิจารณ์มาอยู่ สกว. ตั้งหลายเดือนแล้วนะ ทำไมยังไม่ยอมให้ทุนใครเลย พอดีสมัยนั้น ไมเคิล แจ็คสัน เขาร้องเพลงและเต้นท่าคลำเป้า กำลังดังเลย ผมก็เลยตอบไปว่า ถ้าอย่างนั้นคุณต้องไปคลำเป้าให้เจอก่อน (หัวเราะ)

ความหมายผมก็คือว่า การจะให้ทุนวิจัยนั้น เราต้องรู้เป้าหมายก่อนว่าต้องการให้เกิดผลอะไรต่อบ้านเมือง จะทำอย่างไรให้เป้าที่ว่านั้นส่งผลไปยังเรื่องอื่นๆ ต่อไปด้วย คือต้องคิดหลายชั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้น เมื่อผมรู้ว่าจะต้องมาเป็นผู้อำนวยการให้กับกองทุนที่มีเงินหมื่นล้าน ผมจะบริหารเงินก้อนนี้อย่างไร ศ.นพ.ประเวศ วะสี ท่านก็ให้คำแนะนำมาว่า วิจารณ์...ไปเรียนรู้จากการให้ทุนของมูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) สิ เพราะคนที่ได้ทุนจากร็อคกีเฟลเลอร์ เกลียดร็อคกีเฟลเลอร์เสียเป็นส่วนใหญ่


+ ทำไมจึงเป็นแบบนั้น

ไม่น่าเชื่อใช่ไหม เพราะถึงแม้คุณจะมีทุนเยอะ มีเงินเยอะ แต่คนที่ได้รับทุนกลับรู้สึกว่า คุณใช้งานเขาแบบจิกหัวใช้ ใช้เงินเป็นนาย ใช้เงินเป็นเครื่องมือ ทำตัวเหนือกว่าเขา เขาก็เลยไม่ชอบ แล้วโดยจารีตการให้ทุนวิจัยแบบที่ทำกันอยู่ทั่วไปก็คือ สมมุติว่าจะมีการให้ทุนวิจัย คุณอยากทำเรื่องอะไรก็เสนอมา แล้วก็การประกาศให้ทุน ถ้าเฉพาะเจาะจงหน่อยก็อาจต้องบอกด้วยว่าจะให้ทุนประเภทไหน หรือมีโจทย์ทำนองไหน ซึ่งเป็นโจทย์กว้างๆ แล้วแต่คุณจะเสนอมา แต่สุดท้ายงานนี้ต้องตีพิมพ์ได้ มีความใหม่และมีคุณภาพ

ถ้าวางกติกาไว้อย่างนี้ คนก็ส่งโครงการเข้ามาเป็นร้อยชิ้น เจ้าของทุนก็ส่งให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนพิจารณาว่า โจทย์นี้ใหม่จริงหรือเปล่า วิธีการที่ใช้ในการวิจัยจะได้ผลลัพธ์อย่างนั้นจริงหรือไม่ แล้วประวัติของผู้ขอรับทุนน่าเชื่อถือไหมว่าจะทำได้ อัตราความสำเร็จมีมากแค่ไหน และลงท้ายด้วยคำถามที่ว่า ถ้ามีคนเสนอมาร้อยคน เราจะให้ได้สักกี่คน

ยกตัวอย่างบางกองทุนของเมืองนอกที่เขามีมาตรฐานสูงๆ อัตราความสำเร็จอาจได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แล้วถ้าเราจัดการความสัมพันธ์ไม่เป็น เราอาจได้เพื่อนแค่ 10 คน แต่ได้ศัตรูมา 90 คน เพราะคนที่เขาถูกปฏิเสธจะรู้สึกว่า ทุนวิจัยนั้นไม่เอื้อเฟื้อต่อเขา ทำให้เขารู้สึกไม่ดี


+ วิธีคิดในการให้ทุนของ สกว. แตกต่างออกไปอย่างไร

ที่ผ่านมาก็มีคนมาเตือนผมว่า โมเดลแบบร็อคกีเฟลเลอร์หรือการให้ทุนวิจัยไม่ใช่ของง่าย คุณอย่าคิดแค่ว่ามีเงินแล้วจะได้มิตร ผมจึงมักคิดเตือนตัวเองอยู่ตลอดว่า นี่เรากำลังทำอะไร เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่อาจสร้างมิตรได้น้อยกว่าศัตรู เพราะถ้าอัตราความสำเร็จในการทำวิจัยอยู่ที่ร้อยละ 10 แปลว่าต้องมีคนถูกปฏิเสธ 90 ฉะนั้น ถ้าเราบริหารความสัมพันธ์ไม่ดี นักวิจัยก็จะรู้สึกขมขื่นกับแหล่งทุน

ผมโชคดีที่เคยเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยที่ มอ. (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) เคยเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ และเคยเป็นนักวิจัยมาก่อน ก่อนหน้านั้นอาจารย์ประเวศได้ทุนจากร็อคกีเฟลเลอร์มาทำงานในคณะกรรมการระบาดวิทยาแห่งชาติ ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนมาเป็นมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ส่วนผมยังอยู่ที่หาดใหญ่ อาจารย์ประเวศก็ชวนมาร่วมงานกัน ผมจึงได้ประสบการณ์หลากหลาย คำหนึ่งซึ่งเป็นคีย์สำคัญก็คือ ถ้าไม่ระมัดระวังเรื่องการให้ทุน อาจกระทบต่อความความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้ทุนกับผู้รับทุน

เมื่อผมเป็นผู้อำนวยการ สกว. ผมจะบอกกับเจ้าหน้าที่ทุกคนเสมอว่า คำคำหนึ่งที่ห้ามพูดก็คือคำว่า ไปชวนนักวิจัยมา ‘ทำงานให้เรา’ เพราะเป็นคำที่แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ผิด ในทางกลับกัน เราต้องไปหนุนให้นักวิจัยได้ทำวิจัยในสิ่งที่ ‘เขาอยากทำ’ และมี ‘คุณค่า’ ต่อบ้านเมือง


+ หมายความว่า ต้องให้อิสระต่อนักวิจัย ไม่ใช่ไปตั้งโจทย์ให้เขา?

ทั้งใช่และไม่ใช่ ส่วนที่อิสระก็ต้องมี ส่วนการตั้งโจทย์บางประเด็นก็ต้องช่วยกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายเราเองอาจไม่มีความรู้มากพอที่จะตั้งโจทย์ขึ้นมาได้ทุกเรื่อง เพราะการทำงานวิจัยของ สกว. มีโจทย์ร้อยแปดพันเก้าเลย สกว. สนับสนุนงานวิจัยแทบทุกด้าน ฉะนั้น ลำพังเราเองจึงไม่ได้เชี่ยวชาญไปเสียทุกเรื่อง จึงต้องมาร่วมกันตั้งโจทย์

หลักในการทำงานวิจัย นักวิจัยควรมีอิสระในการคิดเอง แต่ผลงานต้องตีพิมพ์ได้ เป็นที่ยอมรับได้ เราเรียกว่า Basic Research หรือการวิจัยพื้นฐาน พูดง่ายๆ ก็เพื่อสร้างคนนั่นเอง แล้วถ้างานวิจัยนั้นสร้างประโยชน์ ก็ต้องเอาคนที่จะได้ใช้ประโยชน์และนักวิจัยมานั่งคุยกัน ส่วนเราเป็นผู้ดูแลเรื่องการจัดกระบวนการ ถ้ามีบางกรณีที่หาข้อสรุปไม่ได้ หรือฟังแล้วมืดแปดด้าน เราก็ต้องหาผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ เข้ามาช่วย

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมต้องไปรักษาการในฝ่ายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ทำอยู่สัก 2-3 ปี ผมก็เริ่มมองว่าหาคนที่จะมาทำแทน แต่หลายคนก็มายื้อว่า คุณหมอ...คุณหมออย่าไปหาใครเลย นั่งอยู่นี่ดีแล้ว เพราะคนในสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เขามีหลายสำนัก หลายทฤษฎี ฉะนั้น ถ้าคุณหมอไปหาใครมาแทน ก็จะได้คนที่อยู่ในสำนักใดสำนักหนึ่ง และปฏิเสธสำนักอื่น ถึงแม้คุณหมอจะไม่รู้เรื่องรู้ราวทางสังคมศาสตร์ แต่ก็ไวพอที่จะจับประเด็นได้ อย่างนี้ดีแล้ว ผมเองก็ได้เรียนรู้จากตรงนี้ ไม่ได้แปลว่าผมเก่งนะ แต่บางทีการที่เราเปิดใจให้กว้าง ยอมรับในความคิดหลายๆ แบบ ก็เป็นสิ่งมีค่ามากในการทำหน้าที่จัดการงานวิจัย


+ นอกจากการจัดการในแง่ความสัมพันธ์กับนักวิจัยแล้ว การจัดสรรงบประมาณการวิจัยของ สกว. มีการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละประเด็นอย่างไรบ้าง

ปัจจุบันผมคงตอบไม่ได้ แต่ในสมัยที่ผมทำเรียกได้ว่าค่อนข้างมีความคล่องตัวในเรื่องงบประมาณ พูดง่ายๆ คือมีเงินรออยู่แล้ว แต่โจทย์วิจัยมาไม่ทัน นักวิจัยก็ยังปรับตัวไม่ทัน สมัยนั้นนักวิจัยยังมีน้อย พอทำมาได้ 2 ปี เรารู้เลยว่าจำเป็นที่จะต้องสร้างนักวิจัยเพิ่ม

จากตัวเลขการวิจัยทั่วโลกเขาบอกเลยว่า ถ้าจะพัฒนาประเทศให้ได้ในระดับนี้ต้องลงทุนด้านการวิจัยกี่เปอร์เซ็นต์ของ GDP ซึ่งประเทศไทยตอนนั้นเมื่อ 20 ปีก่อน เราลงทุนด้านการวิจัยราว 0.22 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งที่จริงควรลงทุนให้ได้สัก 1 เปอร์เซ็นต์ของ GDP หรือเพิ่มอีกประมาณ 5 เท่า ขณะนั้น ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต เป็นประธาน สกว. ก็สรุปภาพใหญ่ให้ฟังว่า เรากำลังขาดทุนวิจัย 5 เท่า ขาดนักวิจัย 10 เท่า แปลว่าอะไรรู้ไหม ก็แปลว่าในสภาวะนั้นเรามีทุนวิจัยล้น เพราะมีทุนมากกว่านักวิจัยไง ไม่ใช่ว่าทุนเราไม่พอ (หัวเราะ)

สิ่งที่เราต้องทำคือ ต้องหาทางหนุนนักวิจัยที่เก่งๆ จึงเกิดทุน ‘เมธีวิจัยอาวุโส’ ขึ้นมา แล้วเราก็พยายามประกาศว่า สกว. มีนโยบายที่จะสร้างนักวิจัยอาชีพ ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก เพราะอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสมัยนั้นอย่างเก่งที่สุด เงินเดือนสูงสุดได้อยู่ประมาณสัก 50,000 บาท ผมก็บอกว่าถ้าอย่างนี้คงไม่พอกิน ทุกคนก็รู้กันอยู่ ฉะนั้น เมธีวิจัยอาวุโสที่เราพยายามคัดแล้วคัดอีก รุ่นแรกเราอยากได้สัก 10 คน แต่คัดได้แค่ 9 คน เราก็บวกให้เลยคนละ 50,000 บาท รวมเป็นแสนหนึ่ง เขาก็อยู่ได้สบายแล้ว แล้วผมก็บอกเลยว่า ในความเห็นของผม ต่อไปเขาควรจะได้สัก 2 แสน จะได้ใช้ชีวิตอยู่ได้ เป็นนักวิจัยอาชีพได้สบาย อย่างคนอายุ 30 กว่า ที่กำลังเริ่มตั้งตัว พ่อแม่และภรรยาเขาจะได้ไม่ลำบาก


+ ถ้ามีการอัดฉีดแบบนี้แล้วจะทำให้ผู้ที่ไม่ได้รับทุนเกิดความไม่พอใจบ้างไหม

ทั้งใช่และไม่ใช่ ขึ้นอยู่กับวิธีการสื่อสารของเรา พูดง่ายๆ ว่า ถ้าจะมีคนอิจฉาก็ต้องถามว่า แล้วเขาทำได้หรือเปล่า ถ้าไปเซ็นสัญญากับหมอวิจารณ์ว่าจะทำวิจัยเรื่องนี้ จะผลิตผลงานอย่างนี้ เขาก็รู้ตัวเองว่าทำไม่ได้ แต่บางครั้งก็เกิดกรณีที่ไม่พอใจบ้าง เช่น ในปี 2540 เศรษฐกิจแย่ พวกผมลดเงินเดือนตัวเองลง 20 เปอร์เซ็นต์ พนักงานก็ถูกลดไปด้วย แล้วเราก็ลดทุนจาก 50,000 เหลือ 40,000 บาท หลังจากนั้นอีกสักระยะเมื่องานของ สกว. เริ่มขยายขึ้น ก็เริ่มมีความกดดันทางการเงิน เพราะเราต้องสร้างคนและงานก็งอก จึงมีการเสนอไปยังบอร์ด สกว. ว่า โครงการให้ทุนนักวิจัยอาวุโสนี่ได้ประโยชน์อย่างมหาศาล ไม่ใช่แค่เฉพาะตัวนักวิจัย แต่มหาวิทยาลัยก็ยังได้ผลงานวิจัย ฉะนั้น เราต้องชวนมหาวิทยาลัยช่วยออกคนละครึ่ง

มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นเจ้าของเมธีวิจัยอาวุโสนั้น สมมุติว่าทั้งหมดมี 6 มหาวิทยาลัย อาจจะมีสัก 2 มหาวิทยาลัยที่ไม่เห็นด้วยกับการร่วมจ่าย เหตุผลก็คือ เขามองว่านักวิจัยคนนี้เขาเก่งอยู่แล้ว ทำไมจะต้องไปให้เงินสนับสนุนอีก ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ก็เป็นข้อถกเถียงที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน

ข้อถกเถียงนี้มีมาตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นอาจารย์ใหม่ๆ ที่จุฬาฯ มีบุคคลที่ผมเคารพ และเป็นคนเก่งที่สุดตอนนั้น คือ ศ.ดร.เกษม สุวรรณกุล ท่านเพิ่งกลับมาจากเมืองนอกใหม่ๆ ซึ่งถือว่าเป็นคนไฟแรงที่พยายามหาทางขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย แล้วเกิดประเด็นถกเถียงกันที่จุฬาฯ ว่า จุฬาฯ นี่มีทรัพยากรมาก ถ้าเราต้องการสร้างงานวิชาการ เราจะถมบ่อหรือถมเนิน นี่คือวาทกรรม

คำอธิบายของอาจารย์เกษมก็คือว่า ถมบ่อทางวิชาการนั้นไม่เหมือนถมบ่อน้ำปกติ ถ้าถมบ่อน้ำ สักวันหนึ่งก็เต็ม แต่ถมบ่อวิชาการ ถมเท่าไรก็ไม่เต็ม ฉะนั้น เป้าหมายใหญ่คือต้องถมเนิน ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องทุ่มทรัพยากรมากกว่าเดิมนะ แต่ยุทธศาสตร์ของการถมเนินคือเอาเงินไปให้คนเก่ง เพราะนั่นคือการสร้างคน

ผมจำเรื่องนี้ได้แม่นเลย ข้อถกเถียงนั้นน่าจะสักประมาณ 20 ปีก่อนที่ผมจะเข้ามาทำ สกว. ผมจำได้แม่นยำเลยว่า ยุทธศาสตร์นี้ต้องคิดให้ดี แต่อย่าลืมว่าไม่มีทางที่จะทำให้คนเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์


+ แล้วจะอธิบายให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์นี้เข้าใจได้อย่างไร

อย่าลืมว่า คนที่เก่งอยู่แล้วอย่างเมธีวิจัยอาวุโส หน้าที่เขาคือการไปสร้างคนที่ยังไม่เก่งให้เป็นคนเก่ง แต่คุณต้องสร้างแรงบันดาลใจให้เขาได้ คุณต้องมีความอดทนมานะพยายาม และแน่นอนคุณต้องมีปัญญา อาจไม่ถึงกับต้องเป็นอัจฉริยะ เพียงแต่มีหน้าที่สร้างคนด้วยการทำวิจัยร่วมกัน ถ้าคุณยังไม่เก่งคุณก็ไปร่วมขบวนกับเขา แล้วสร้างขบวนการของตัวเองขึ้นมา


+ เหมือนกับเป็นการสร้าง ‘node’ หรือสร้างผู้นำขึ้นมา แล้วให้เขาไปขยายฐานของเขาเองใช่ไหม

ใช่ ผมยังจำได้เลย มีเมธีวิจัยอาวุโสเขาถามว่า หมอวิจารณ์...คุณจะให้ผมทำอะไรอย่างไร ผมบอกผมไม่รู้ แต่ผมรู้ว่าอาจารย์เก่งเรื่องนี้ ผมรู้ว่าอาจารย์จะตั้งโจทย์วิจัยได้ แต่เป้าหมายคือการสร้างคนนะ สร้างแล้วต้องวิจัยด้วย ฉะนั้น เอาท์พุตคือนักวิจัย แต่ถามว่าจะเอาใครดี ผมบอกผมไม่รู้ (หัวเราะ) คือทุนวิจัยแบบนี้เหมือนให้อิสระร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ส่วนหนึ่งก็ถูกล่ามอยู่ด้วยผลงาน ถ้าใครทำตามเงื่อนไขนี้ได้ เราก็โอเค

ผมมักบอกว่า ผมไม่ได้มีอำนาจในการหว่านเงินให้ใครก็ได้ เพราะมันคือเงินภาษีของชาวบ้าน อย่างน้อยผมต้องเอาผลงานไปโชว์บอร์ดได้ หรือโชว์คนทั้งประเทศได้ เพื่อให้เขาเห็นว่า แต่ละปีที่เราใช้เงินไปนั้นมันคุ้มค่า นี่คือความรับผิดชอบของเรา แต่ถ้าเราเอาเงินไปหว่านให้ใครต่อใครทั่วไปหมด ทั้งที่คุณยังไม่รู้เลยว่างานวิจัยดีๆ เป็นอย่างไร แล้วผมจะไปกล้าให้คุณหรือ เราเองต้องใช้เวลาอยู่หลายปีในการสร้างมาตรฐานให้เห็นว่า งานวิจัยที่ดีเป็นอย่างไร


+ ถ้าอย่างนั้นความหมายของงานวิจัยที่ดีคืออะไร

มี 2 ความหมายในตอนนั้น แต่ตอนนี้อาจมีอย่างน้อย 3 ความหมาย ถ้าเป็นงานวิจัยพื้นฐาน จารีตทางวิชาการต้องผ่านการตีพิมพ์ในวารสารที่สร้างความสั่นสะเทือนได้ แต่ปัจจุบันความคิดนี้ถือว่าตกสมัยไปแล้ว ไม่ใช่ว่าใช้ไม่ได้เลย แต่หมายความว่าต้องใช้อย่างระมัดระวังและต้องขยับขึ้นไปอีก

อีกความหมายที่สุดขั้วในฝั่งหนึ่งคือ งานวิจัยที่เอาไปใช้ประโยชน์ ถ้าคุณทำวิจัยเรื่องโคนม เกษตรกรโคมนมต้องเอาไปใช้ได้ เช่น ช่วยให้โรคเต้านมอักเสบในโคมนมลดลง ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมจาก 10 ลิตร เป็น 20 ลิตร อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งยิ่งนับวันผมก็ยิ่งโน้มไปทางนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน งานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ ถ้าจัดการให้ดีก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย


+ งานวิจัยสมัยแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร

เขาก็ทำในสิ่งที่เขาเรียนมา หลายคนที่มีโปรเฟสเซอร์อยู่เมืองนอกก็ยังติดสายสะดืออยู่ เราก็พยายามบอกเขาว่า ให้คุณตัดสายสะดือเสียที เพราะเราต้องมองความเป็นจริงในบ้านเราด้วย อย่างในภาคอุตสาหกรรมก็ยังถือว่าทำวิจัยน้อยมาก แต่สายวิศวกรรมเรามีคนเก่งๆ อยู่มาก เขาสามารถโยงกับภาคอุตสาหกรรมได้ แล้วกลุ่มนี้โตเร็วมาก เพียงแต่ส่วนใหญ่อาจยังติดอยู่กับงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ แล้วขาก็ลอยๆ อยู่

อย่าลืมว่านับวันอุตสาหกรรมต้องก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ แต่สิ่งที่คุณเรียนมา ไม่ว่าจะที่อเมริกา เยอรมนี พอ 5 ปีให้หลังมันคนละอย่างแล้ว ถ้าเขาไม่ได้ทำงานใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรมก็จะตามไม่ทัน นี่คือปัญหาอย่างหนึ่งในบ้านเรา

แม้กระทั่งปัจจุบัน กติกาเงื่อนไขของการนับเวลาทำงาน คนที่เป็นอาจารย์จะต้องอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ถ้าออกไปทำงานข้างนอกถือว่าไม่นับรวมเป็นเวลาทำงาน อย่างนี้อาจารย์ก็ไปไหนไม่ได้ ฉะนั้น อาจารย์ก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะไปทำงานวิจัยข้างนอก เพราะเขาไม่นับเวลา และอาจจะถูกเพื่อนร่วมงานมองได้ว่า คุณเอาเวลางานไปทำวิจัยให้ภาคอุตสาหกรรม ไปหาเงิน ได้ประประโยชน์ส่วนตัว

นอกจากนี้ การทำวิจัยในภาคอุตสาหกรรมยังมีข้อตกลงระหว่างตัวบุคคลกับอุตสาหกรรมนั้น ซึ่งเป็นความลับ ไม่รู้ว่าทำอะไรกัน เพราะเราไม่มีการจัดการเชิงสถาบันเพื่อจะทำให้อุตสาหกรรมกับมหาวิทยาลัยใกล้ชิดกัน

ปัจจุบันมีบางมหาวิทยาลัยเก่งมาก เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยเฉพาะช่วงหลังที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย ก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ปีนี้นักเทคโนโลยีดีเด่นก็มาจากราชมงคล ซึ่งถือว่าดีมาก ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับนับถือ ทำให้มั่นใจในตนเองมากขึ้น เพราะผลงานเขาดีจริงๆ อย่างเช่นเทคโนโลยีในการตรวจวัดฝุ่นละอองในอากาศทางภาคเหนือแบบเรียลไทม์ ราชมงคลล้านนาก็ได้รางวัลนี้ เครื่องมือที่เขาประดิษฐ์ขึ้นถูกนำไปติดตั้งตามจุดต่างๆ เพื่อจะตรวจวัดว่าหมอกควันพิษเกินขีดอันตรายไปแค่ไหน จากเดิมไทยต้องสั่งนำเข้าเครื่องมือมาจากเมืองนอก แล้วเวลาประกาศเตือนมลพิษก็ใช้ตัวเลขที่วัดได้จากในเขตเมืองแค่ 2-3 จุด แต่พอนักศึกษาประดิษฐ์เครื่องมือนี้ขึ้น แล้วเอาไปติดตั้งกระจายตามพื้นที่ห่างไกลต่างๆ ก็ทำให้ตรวจวัดได้แม่นยำมากขึ้น


+ มองในแง่การสนับสนุนทุนวิจัย ควรกระจายทุนไปตามท้องถิ่นมากขึ้นไหม เพราะท้องถิ่นเป็นผู้ที่มองเห็นปัญหาใกล้ชิดกว่า

ไม่แน่เสมอไป ตอนแรกผมก็ตั้งเป้าว่าจะกระจายทุนไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้เขาจัดการกันเอง แต่ปรากฏว่าท้องถิ่นหรือมหาวิทยาลัยในพื้นที่ส่วนใหญ่จัดการงานวิจัยไม่เป็น

ลองคิดสั้นๆ ง่ายๆ ว่า เมื่อไรก็ตามที่เราต้องการให้เกิดงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้จริง มันจะมีขั้นตอนการจัดการมากกว่าที่เราคิดเยอะ การลงทุนด้านกระบวนการจัดการในฟากของงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์นั้นทำได้ง่ายมาก ลงทุนน้อย ใช้แรงน้อย แต่ฟากงานวิจัยที่จะเอาใช้จริงต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการตั้งโจทย์ ว่าจะทำเรื่องอะไรจึงจะเกิดประโยชน์กับประเทศ ซึ่งมีรายละเอียดซับซ้อนมากกว่า

อาจารย์บางท่านเคยมาบอกกับผมว่า งานวิจัยต้องช่วยคนจน อย่างเช่นทำวิจัยเรื่องวัวนม เพราะมีเกษตรกรรายใหญ่ที่เลี้ยงวัวนมอยู่แค่ 2-3 ราย นอกนั้นเป็นเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงกันคนละห้าตัวสิบตัว เกษตรกรรายย่อยมีเป็นพันคน แต่เขาเลี้ยงไม่เป็น เมืองนอกเขารีดนมได้วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 30 ลิตร แต่บ้านเราได้ประมาณ 10 ลิตร และอย่าลืมว่าการเลี้ยงวัวนมเหมาะกับสภาพอากาศอบอุ่น ไม่ใช่อากาศร้อนแบบบ้านเรา แต่ก็มีวิธีที่จะพัฒนาได้

สิ่งที่เราทำก็คือ ผมไปขอให้อาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งเป็นปรมาจารย์ทางด้านนี้ช่วยไปศึกษาสำรวจสถานการณ์การเลี้ยงโคนมในประเทศไทยว่าเป็นอย่างไร และต้องเร่งสำรวจให้ได้อย่างรวดเร็วภายใน 3 เดือน 6 เดือนนะ ไม่ใช่ 3 ปี ไม่อย่างนั้นจะเอามาใช้ได้ไม่ทันการ แล้วไปดูด้วยว่าเรามีความรู้อะไรก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ได้ใช้บ้าง และเรายังขาดความรู้อะไรบ้าง จากนั้นเมื่อได้เค้าโครงสภาพปัญหาโดยรวมแล้ว เราก็จัดประชุมผู้เลี้ยงโคนมทั้งรายใหญ่ รายย่อย และนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องโคมนม ศึกษาเรื่องโรค เรื่องอาหาร วิธีการจัดการฟาร์ม เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมานั่งคุยกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ยังไม่ถึงขั้นต้องออกไปทำวิจัย ผู้เลี้ยงโคนมก็สามารถเอาความรู้นี้ไปใช้ได้แล้ว นี่คือธรรมชาติของการเรียนรู้และใช้ได้กับทุกเรื่อง คือเรามีความรู้อยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่รู้จะเอาไปใช้อย่างไร หรือบางทีก็รู้ แต่รู้ไม่จริง บางเรื่องเรามีความรู้รออยู่ที่ปากคอกแล้ว พอได้มาคุยกันปั๊บ...ปิ๊งเลย แค่นี้ก็ได้ประโยชน์ไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว คือ ศึกษา สำรวจ พูดคุย ลงท้ายก็ได้โครงเรื่องของการทำวิจัย

ทีนี้นักวิจัยก็เริ่มรู้ทิศทางแล้วว่าจะไปทางไหนต่อ และเพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์เราก็ประกาศออกไปว่า โครงการวิจัยชุดนี้เป็นอย่างนี้ ใครสนใจให้เขียนแนะนำตัวมาสัก 2 หน้ากระดาษ ว่าคุณเป็นใคร สนใจเรื่องอะไร จากนั้นเราก็มาจัดกลุ่มงานวิจัย เช่น กลุ่มที่ศึกษาเรื่องอาหาร กลุ่มที่ศึกษาเรื่องโรคเต้านมอักเสบ ระบบทางเดินหายใจ กลุ่มจัดการฟาร์ม แล้วเชิญมาคุยกันทีละกลุ่ม ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการจัดการค่อนข้างมาก ทั้งต้องลงแรง ลงเงิน

เมื่อแต่ละกลุ่มมาเจอกัน มาคุยกัน ก็ทำให้เกิดความคิดว่าเรื่องบางเรื่องอาจทำร่วมกันได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำร่วมกันได้ทุกเรื่อง บางคนอาจจะไม่ถูกกัน บางคนอาจจะหยิ่งทะนงว่าตัวเองเก่งแล้ว และอีกสารพัดปัญหาที่เราจะต้องเข้าใจ แต่สุดท้ายก็ทำให้เกิดการเขียนโครงการใหญ่ขึ้นมา เรียกว่าชุดโครงการ ทำให้เห็นภาพชัดขึ้น ฉะนั้น อัตราความสำเร็จก็จะเป็นไปได้ถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์

ที่ผ่านมาผมก็เป็นกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งพอเราให้ทุนไปแล้ว อัตราความสำเร็จของผลงานอยู่ที่ 30-40 เปอร์เซ็นต์ บางคนโดนทวงงานก็ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองได้ทุน แต่ใช้เงินหมดแล้ว (หัวเราะ)


+ กว่าที่งานวิจัยจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ต้องผ่านขั้นตอนการจัดการข้อมูลอย่างมหาศาลเลยใช่ไหม

ไม่ใช่แค่จัดการข้อมูลเท่านั้น ต้องจัดการทั้งความสัมพันธ์ จัดการโจทย์ จัดการหาคนที่เหมาะสมมาทำเรื่องนี้ ซึ่งหลายคนก็รู้สึกว่าเขาได้รับโอกาส ทั้งที่เป็นคนตัวเล็กๆ โนเนม แต่เขามีความภูมิใจ เมื่อทำแล้วยังมีโอกาสประสบความสำเร็จถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีซือแป๋มาคอยชี้แนะให้คำปรึกษาทุกๆ 3 เดือน 6 เดือน เขาจึงรู้ว่านี่คือโอกาสเกิดของเขา ถ้าไม่มีกระบวนการจัดการอย่างนี้เขาไม่มีโอกาสได้เกิด หรือถ้าตะเกียกตะกายเองก็คงเกิดยาก แต่นี่มี สกว. เป็นพี่เลี้ยงเต็มที่ นี่คือผลจากการจัดความสัมพันธ์เชิงบวก นี่แหละคือธรรมชาติของความเป็นจริงในการทำงาน

ทั้งหมดนี้ผมเองก็ทำไม่เป็น วิธีการแบบนี้ผมไม่เคยเห็นมาก่อน คนที่นำแนวคิดแบบนี้มาใช้คือ ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ สกว. ถัดจากผม เพราะเคยทำงานวิจัยกับคนอเมริกันเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน ซึ่งเขาก็ใช้กระบวนการแบบนี้ อาจารย์ปิยะวัติก็นำมาเสนอและปรับใช้ในบ้านเรา ในช่วงแรกเราอาจยังไม่ค่อยเข้าใจวิธีการบริหารจัดการแบบนี้ เราก็ค่อยๆ ปรับ หลายอย่างก็ใช้สามัญสำนึก


+ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าการบริหารจัดการงานวิจัยที่ไม่ใช่แค่ลงเงิน แต่ต้องลงแรงด้วย?

ที่ผมเล่าให้ฟังเป็นเพียงระดับไมโครเท่านั้น ถึงตอนนี้ผ่านมากว่า 20 ปีแล้วที่ สกว. เป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นที่ยอมรับมากขึ้น แต่ไม่ใช่อยู่ๆ สกว. จะสร้างคุณค่าของงานวิจัยขึ้นมาได้ เราเองก็ไม่เคยเข้าใจมาก่อน แต่หลังจากทำไปได้ 2-3 ปี เราก็เริ่มรู้แล้วว่า แท้ที่จริงคุณค่าสำคัญของ สกว. ที่มีต่อบ้านเมืองคือ เรารู้วิธีที่จะจัดการงานวิจัย จนถึงทุกวันนี้ก็เป็นที่รู้กันว่าสถาบันที่รู้วิธีบริหารจัดการงานวิจัย คือ สกว.

ถึงตอนนี้ถ้าถามผม ผมคิดว่าต้องก้าวไปข้างหน้าต่อไปอีก แต่มันอาจยากขึ้นเรื่อยๆ นะ เพราะเรื่องง่ายๆ อย่าง ‘low-hanging fruits’ มันถูกเก็บกินหมดแล้ว (หัวเราะ) ต่อไปต้องไปอีกขั้นหนึ่งที่ยากขึ้น ก็คือต้องหาวิธีบริหารจัดการระบบ ยกระดับความยากขึ้นไปเรื่อยๆ

สิ่งที่ผมได้เล่าไปเป็นเพียงระดับไมโคร เป็นกรณีพื้นฐาน ในเวลาต่อมาเราก็ขยับมาทำโครงการที่ใหญ่ขึ้น อย่างโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นการสร้างนักวิจัยและสร้างผลงานวิจัยภายใต้การออกแบบวิธีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีความซับซ้อนของกระบวนการ ซึ่งถ้าเป็นหน่วยราชการคงทำไม่ได้ เพราะเขามีรูปแบบตายตัว แต่ สกว. อยู่นอกกรอบของระบบราชการ เราจึงมีความยืดหยุ่นกว่า

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ขณะนี้รัฐมีความพยายามต้อนหน่วยงานด้านการวิจัยเข้าไปอยู่ในกรอบและเข้าใกล้ระบบราชการมากขึ้น ซึ่งวิธีการอย่างนี้เป็นเรื่องน่ากังวลต่อบ้านเมือง แม้เขาจะมีเจตนาดีที่ต้องการแก้ปัญหาหน่วยงานที่มีการคอร์รัปชัน แต่ สกว. ไม่ได้เข้าข่ายอะไรแบบนั้นเลย เพราะเรามีระบบตรวจสอบเข้มข้น มีคณะกรรมการ 2 ชุด คอยติดตามประเมินผล ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยผมแล้ว เราเอาบุคคลจากหน่วยงานภายนอกเข้ามาตรวจสอบ เข้ามาแงะดูทุกอย่าง และยังมี สตง. ตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้นการจัดตั้ง สกว. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มี พ.ร.บ.ของตัวเอง จึงมีกลไกการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบที่ค่อนข้างแน่นหนา

เพียงแต่ สกว. ยุคปัจจุบันอาจไม่โชคดีเท่าผม ในสมัยผม บอร์ดจะมาจากปลัดกระทรวงต่างๆ นำโดยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ท่านมาประชุมเองโดยตลอด และมีความเอาใจใส่อย่างจริงจัง ผมนี่โดนนวดแล้วนวดอีก จนกระทั่ง 2-3 ปีให้หลัง เขาจึงเห็นว่าผมเป็นคนที่ไว้ใจได้ ผมไม่ถลุงเงิน ผมไม่เล่นพรรคเล่นพวก และผมก็พอจะคิดเป็น บริหารเป็น เขาจึงให้ความไว้วางใจและให้อิสระในการบริหารค่อนข้างมาก ในระยะหลังๆ ผมเข้าใจว่าบอร์ดที่มาเข้าร่วมประชุมไม่ใช่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว กลายเป็นส่งตัวแทนมา ทำให้ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมคิดกันมากนัก


+ ถ้าต้องการจะปฏิรูปประเทศจริง รัฐต้องให้ความสำคัญกับการวิจัยมากกว่านี้ใช่ไหม

งานวิจัยไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า แต่ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ ยิ่งถ้าเราต้องการหนีออกจาก Middle-income Trap (กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง) ไปสู่ High-income Countries (ประเทศที่มีรายได้สูง) เราต้องการความพร้อมในเรื่องต่างๆ อีกเยอะมาก งานวิจัยก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันตรงนี้ได้ ฉะนั้น ผู้ที่เป็นนักบริหารงานวิจัยรุ่นใหม่ๆ ยิ่งจะต้องเก่งกว่าผมเป็นสิบเท่าร้อยเท่า ต้องมีความสามารถในการทำงานที่ซับซ้อน ซึ่งผมเองก็เรียนรู้เอาจากประเทศอื่นๆ ทั้งอังกฤษ อเมริกา แคนาดา ขอคำปรึกษาจากเขา ฟังคำแนะนำจากเขา แม้จะรู้ว่าเราทำแบบเขาไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นว่ามีแนวคิดแบบนี้ มีวิธีการแบบนี้ จะเอามาใช้กับบ้านเราอย่างไรได้บ้าง ซึ่งสมัยผมก็จะมีการประยุกต์ใช้ในระดับไมโคร พอถึงสมัยนี้ผมเห็นเลยว่า สกว. ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในระดับแมคโคร

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านในเชิงนโยบายการวิจัย ซึ่งเดิมเรามี 2 หน่วยงานสำคัญคือ สภาวิจัย (สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.) ภายใต้กำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี กับ สวทน. (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ) ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยขณะนี้รัฐบาลมีความพยายามที่จะควบรวมทั้งสองหน่วยงานนี้เข้าด้วยกัน คำถามก็คือ ท้ายที่สุดแล้วผู้ที่จะเข้ามากำกับดูแลหน่วยงานที่ว่านี้ จะสามารถกำหนดยุทธศาสตร์และสร้างแบบแผนด้านการวิจัยให้กับประเทศได้จริงหรือไม่

โครงสร้างขณะนี้เท่าที่ทราบก็คือ นายกฯ จะนั่งเป็นประธาน โดยมีรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงเป็นคณะกรรมการ แต่คำถามคือ คนเหล่านั้นสามารถให้ความเห็นที่เป็นเนื้อเป็นหนังได้จริงหรือไม่ ซึ่งผมคิดว่า ไม่จริง เพราะในการผลักดันยุทธศาสตร์ด้านการวิจัย เราต้องการโครงสร้างอำนาจที่เอื้อให้คนที่มีปัญญาเข้าไปทำงาน อย่างตอนผมทำ สกว. มีปลัดกระทรวงเข้ามาเป็นบอร์ดอยู่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็จะมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งจริงๆ คนที่มีส่วนสำคัญในการเคลื่อนยุทธศาสตร์ก็คือ ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยเฉพาะประธาน สกว. คือ ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต

เดิมทีพวกเราเองก็ไม่เคยรู้จักอาจารย์สิปปนนท์มาก่อน เคยได้ยินแต่ชื่อ ทราบมาว่าท่านเป็นคนเก่งและเป็นคนดีด้วย เราไปหาท่านครั้งแรก ท่านก็ไม่รู้จักพวกเราและไม่ค่อยเชื่อมือนัก แต่พอทำงานไปได้ 6 เดือน หลังจากนั้นก็เกิดความสนิทสนม พวกเราได้เรียนรู้จากท่านเยอะมาก พอเข้าประชุมบอร์ด ผู้ทรงคุณวุฒิก็จะให้ไอเดียเยอะมาก

บางคนมาเอ่ยปากชมผมว่าเก่งจังเลย ทำให้ สกว.ประสบความสำเร็จ นั่นก็อาจจะใช่ แต่ไม่ใช่ฝีมือผมทั้งหมด เป็นฝีมือของบอร์ดที่ช่วยชี้แนะ และทีมที่ผมไปเชื้อเชิญมา อย่างอาจารย์ปิยะวัติ ผมเองไม่เคยรู้จักมาก่อน เคยไปชวนแล้วก็ไม่มา ต้องไปล่อมา (หัวเราะ) ผมบอกอาจารย์...ลองไปดูอุตสาหกรรมพอร์ซเลนที่ลำปางกันหน่อยไหม มีคนบอกว่าโรงงาน 200 กว่าแห่งขณะนี้กำลังต้องการความช่วยเหลือทางด้านวิจัยอย่างมาก ผมก็ชวนอาจารย์ปิยะวัติไปดู สรุปว่าไม่มา เพราะไม่เคยรู้จักกัน ยังไม่รู้สไตล์การทำงานกัน

ถามว่าทำไมผมจึงไปชวนอาจารย์ปิยะวัติ เพราะตอนนั้นผมอยากได้คนที่เป็นวิศวะ ผมก็ไปถามคนที่เขารู้จักและอยู่ในวงการนี้ ทุกคนต่างชี้ไปที่อาจารย์ปิยะวัติ ผมจึงไปบอกกับอาจารย์ปิยะวัติว่า อาจารย์...เอาอย่างนี้ดีกว่า ลองทำดูสัก 6 เดือนก่อน ถ้าทำแล้วอาจารย์พอใจก็อยู่ต่อไป 4 ปีเลย แล้วหลังจากนั้นค่อยว่ากัน แต่ถ้าภายใน 6 เดือนอาจารย์ดูท่าว่าจะไม่ถูกใจ อาจารย์ก็ค่อยกลับเชียงใหม่ สุดท้ายท่านก็มาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายฯ อยู่ สกว. จนกระทั่งเป็นผู้อำนวยการอีก 2 สมัยต่อจากผม เท่ากับว่าอาจารย์ปิยะวัติอยู่ สกว. รวมแล้ว 16 ปี ส่วนผมอยู่แค่ 8 ปีเท่านั้น (หัวเราะ)

คือคนเก่งๆ นี่ดีลยากทั้งนั้นเลย แต่เราก็ทำงานกันเป็นทีมได้ และสร้างองค์กรกันขึ้นมาได้ ผมสร้างองค์กรแบบไม่เล่นพวก ไม่ได้เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง แต่เอาเนื้องานและการสร้างผลงานเป็นตัวตั้ง ซึ่งพูดอย่างนี้พูดง่าย ใครๆ ก็พูดได้ แต่คนจะเชื่อก็ต่อเมื่อเขาเห็นพฤติกรรมและผลจากการทำงาน


+ เรียกได้ว่า ความยากของการบริหารงานวิจัยต้องอาศัยศาสตร์อีกแขนงหนึ่งเลยใช่ไหม

ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ถ้าเป็นคนหนุ่มๆ อาจจะคิดว่าศาสตร์คือตัวตั้ง แต่พออายุมากเราจะรู้เลยว่า ศาสตร์อาจจะใช้สัก 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ศิลป์ 60 เปอร์เซ็นต์


+ ท้ายสุดแล้วโลกของการวิจัยจะตอบโจทย์โลกของความเป็นจริงอย่างไรได้บ้าง

มันสะท้อนออกมาในวิสัยทัศน์ของ สกว. ที่ว่า ‘สร้างสรรค์ปัญญาเพื่อพัฒนาประเทศ’ เราหนุนการวิจัยก็เพื่อสร้างปัญญาให้กับประเทศ และไม่ใช่ปัญญาแบบลอยๆ แต่เป็นปัญญาที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ นั่นคือหัวใจของ สกว. ซึ่งยึดมั่นในแนวทางนี้มาตลอดไม่เคยเปลี่ยน

ถามว่าจากวิสัยทัศน์นั้นเราต้องทำอะไรบ้าง ก็จะมีพันธกิจปลีกย่อยอีกมโหฬาร คำว่า ‘สร้างสรรค์ปัญญาเพื่อพัฒนาประเทศ’ ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาก็ไม่เหมือนกัน ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับระดับพัฒนาการของประเทศเป็นอย่างไร เพราะวัฒนธรรมของคนไม่เหมือนกัน คุณภาพคนก็ไม่เหมือนกัน ยิ่งถ้าพูดถึงคุณภาพในเชิงความคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล หรือการมีพื้นฐานความรู้ที่เป็นสากล เราอาจเทียบไม่ได้กับประเทศอังกฤษ อเมริกัน หรือญี่ปุ่น

ผมเองต้องใช้เวลาหลายปี เพื่อทำให้คนในวงการมหาวิทยาลัยรู้ว่า งานวิจัยที่มีคุณภาพคืออะไร ก่อนหน้านั้นหลายคนมักตีขลุมว่า ฉันเป็นนักวิจัย ฉันเป็นด็อกเตอร์ แต่พอไปดูผลงาน เริ่มตั้งแต่ที่คุณเขียนรายงานแนะนำตัว เราก็พบว่าคุณไม่ได้เก่งอย่างบอก


+ อุปสรรคที่ทำให้นักวิจัยไปไม่ถึงเป้าหมาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาด้านการศึกษาของไทยตั้งแต่ฐานรากเลยหรือไม่

ใช่ เพราะการศึกษาไทยคือการศึกษาแบบต่อท่อความรู้ โดยเอาความรู้สำเร็จรูปไปสอนให้แก่นักเรียน นักศึกษา ซึ่งตอนนี้เราจะเห็นเลยว่าทุกอย่างเดินมาผิดหมด เราสร้างคาแรกเตอร์คนผิด มนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ฉลาด แต่การศึกษาไทยกลับทำให้คนไม่ฉลาด เราฉลาดในแง่ความว่านอนสอนง่ายและการเป็นพวกเดียวกัน คิดเหมือนๆ กัน แต่ไม่ฉลาดในแง่ของการที่จะคิดอะไรใหม่ๆ


+ นอกจากการวิจัยจะมีบทบาทสร้างปัญญาแล้ว จะมีส่วนช่วยปฏิรูประบบการเรียนรู้ของคนไทยอย่างไรบ้าง

พื้นฐานการทำวิจัยอยู่ที่ความคิดคน ความสามารถของสมองในการคิดเรื่องที่ซับซ้อนและเป็นเหตุเป็นผล เราจะเห็นว่าคนที่เก่งๆ เขาสามารถคิดได้หลายชั้น เหตุที่คิดได้หลายชั้นเพราะเขามีสต็อคความรู้เก็บไว้ในสมอง เป็น long-term memory และไม่ใช่แค่สต็อคไว้เฉยๆ แต่เขายังเก็บไว้เป็นชุดๆ เขาจัดการความรู้เป็น เพราะฉะนั้นหัวเขาจะไวมาก เพราะเขาผ่านการฝึกฝนความช่างสังเกต ทำให้สามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่าคนอื่น

สำหรับนักวิจัย การสังเกตและเห็นด้วยตาเท่านั้นยังไม่พอ ต้องสังเกตและเห็นได้ด้วยตัวเลข รวมถึงโยงไปสู่ข้อมูลที่ซับซ้อนได้ ยิ่งในยุคปัจจุบันนี้เรามี big data เพราะฉะนั้นคนที่มีความสามารถสูงก็จะมีเครื่องมือที่หลากหลายในการเก็บข้อมูล ทั้งด้วยการสังเกต การสัมผัสของตัวเอง และเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นได้ จนเกิดเป็นคลังความรู้ หรือ stock of knowledge

แม้บางคนอาจมองว่า stock of knowledge อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมเอาได้ แต่กระบวนการที่คนคนหนึ่งสามารถใช้เครื่องมือได้อย่างหลากหลาย ทั้งความทรงจำระยะสั้น และความทรงจำระยะยาว ก็ล้วนมาจากพลังของสมอง นั่นแสดงว่าคนคนนั้นต้องผ่านการฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก และการฝึกนั้นต้องไม่ใช่การเรียนโดยวิธีท่องจำ หรือได้รับการถ่ายทอดความรู้แบบสำเร็จรูป

ในประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดี เขาเน้นการฝึกทักษะใหม่ที่เรียกว่า การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ การใช้พลังทางสมอง และการพัฒนาทักษะความจำที่เรียกว่า working memory ที่สามารถดึงเอาความรู้จากประสบการณ์ออกมาใช้งานได้ นี่คือหัวใจสำคัญ

ถ้าเด็กไม่ได้รับการดูแลที่ดี ไม่ได้ผ่านการฝึกฝนแบบนี้มาก่อน หัวเขาจะตื้อ คิดอะไรไม่ค่อยออก นี่คือปัญหาบ้านเมืองเรา ตัวผมเองก็เป็นเด็กบ้านนอกโดยสมบูรณ์แท้ เริ่มจากโรงเรียนวัดเลย แต่ผมโชคดีในแง่การเลี้ยงดูของพ่อแม่ โชคดีที่สามารถตะเกียกตะกายไปเรียนโรงเรียนประจำจังหวัดได้ จนได้มาเรียนที่กรุงเทพฯ นี่คือความโชคดี เพราะเราสามารถไต่จุดสูงสุดของแต่ละจุดและไปต่อได้ แต่กรณีแบบนี้มีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ และอาจไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีแบบนี้เสมอไป


+ เรายังพอมีโอกาสที่จะพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเด็กไทยได้อยู่ใช่ไหม

ที่จริงแล้วถ้าหากเราเรียนกันอย่างถูกต้อง เราสามารถสร้างคนที่มีคุณภาพได้ถึงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เหมือนกับที่ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น เราจะเห็นว่าคุณภาพคนของเขาดีกว่าเราอย่างมากมาย เวลาเราคุยกับคนประเทศเหล่านี้ เขาจะฟังและคิดก่อน แต่ของเราฟังยังไม่ทันจบก็โต้กลับแล้ว ฉะนั้น ในแง่การพัฒนาคุณภาพคน การศึกษาต้องเป็นการเรียนโดยการปฏิบัติ ต้องมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบระหว่างครูกับนักเรียน ครูต้องทำหน้าที่ประเมินเด็กอยู่ตลอดเวลา แล้วให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ สร้างแรงบันดาลใจ ให้เด็กรู้จักตัวเอง เมื่อเติบโตขึ้นจะมีแรงบันดาลใจที่จะทำอะไรบางอย่างที่ตัวเองรัก สนใจ และถนัด แต่การศึกษาในบ้านเราไม่ได้เป็นแบบนั้น

ถามว่าครูแนะแนวแปลว่าอะไร ลองไปถามเด็ก เด็กก็ไม่รู้จัก ที่จริงครูแนะแนวก็คือครูทุกคน ยิ่งกว่านั้นพ่อแม่เองก็คือครูแนะแนว เพราะอยู่กับเด็กมากกว่า แต่พ่อแม่ก็หมดแรง ไม่มีเวลา เพราะต้องตะเกียกตะกายหาเงิน หรือในบางครอบครัวพ่อแม่กลับเป็นปัญหาเสียเอง พ่อแม่บางคนอาจทำร้ายลูกทั้งทางตรงหรือทางอ้อม

ระบบการศึกษาจึงโยงมาสู่ระบบวิจัย ในความเชื่อของผม เราสามารถผลิตคนที่มีคุณภาพได้ เพียงแต่เขายังไม่เคยได้รับโอกาสนั้น และนับวันความรู้สมัยใหม่ที่มาจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยชี้ให้เห็นเลยว่า คนที่ฉลาดตอนเกิดยังไม่สำคัญเท่าฉลาดตอนเลี้ยงและฝึก

หนังสือ เลี้ยงให้รุ่ง (How Children Success เขียนโดย พอล ทัฟ, สำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลด์ พับลิชชิ่ง เฮาส์ ปี 2557) บอกเลยว่า พรสวรรค์ไม่ดีเท่าพรแสวง เราต้องเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กเป็น ถ้าทำไม่เป็น ไอคิวหรือความฉลาดของเด็กก็อาจลดลง นอกจากความฉลาดแล้วต้องสามารถควบคุมตัวเองได้ ยับยั้งชั่งใจได้ เรียกว่า executive function นี่คือสิ่งที่ต้องเกิด

ผมโชคดีที่ผมมีสิ่งนั้น เรารู้ตั้งแต่เด็กว่า สิ่งไหนไม่ควรทำ เพราะมันไม่เป็นคุณต่ออนาคตเรา แต่พอเพื่อนทำ เราก็เห็นอนาคตเพื่อนดับไปต่อหน้าต่อตา ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ รู้แต่เพียงว่าพ่อแม่จะคอยตักเตือนให้เราได้สติอยู่ตลอด เหล่านี้คือเรื่องของกระบวนการศึกษาทั้งหมด


+ การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีทักษะอะไรอีกบ้างที่เราจำเป็นต้องฝึก

ความซื่อสัตย์ ความเห็นแก่ผู้อื่น นี่คือต้นทางของชีวิตที่ดี เรื่องนี้คนแก่ๆ ถึงจะเข้าใจ หลายคนอาจจะบอกว่า ไม่ต้องตรงไปตรงมานักก็ได้ จะได้ไม่เสียเปรียบคนอื่น แต่ของแบบนี้กินได้ไม่นานหรอก ถ้าจะกินได้นานต้องเกิดจากความไว้วางใจที่คนอื่นมีต่อคุณ คุณถึงจะได้ทำงานใหญ่ๆ

ก่อนที่ผมจะได้เข้ามาดูแลเงินเป็นหมื่นล้านของกองทุนนี้ เขาต้องเช็คแล้วเช็คอีกว่าคนนี้ไว้ใจได้แค่ไหน ผมเองยังสงสัยอยู่ทุกวันนี้ว่า คนที่ถูกเรียกตัวเข้ามาสัมภาษณ์เขาเก่งกว่าผมตั้งมากมาย และผมก็นับถือเขามากด้วย ทำไมเขาจึงไม่ถูกเลือก กลับมาเลือกผมซึ่งเป็นคนบ้านนอกคนหนึ่ง ตอนหลังผมจึงค่อยๆ เรียนรู้ว่า เหตุผลประการหนึ่งเขาคงพิจารณาเรื่องความซื่อสัตย์ด้วย ส่วนความเก่งอาจเป็นเรื่องรองลงมา ลงท้ายผมก็ได้ข้อสรุปกับตัวเองแบบนี้ ซึ่งจริงหรือเปล่าผมเองก็ไม่ทราบแน่ชัด

ที่เล่ามานี้ก็เพื่อให้เห็นว่า จริงๆ แล้วการสร้างคนที่มีคุณภาพและลักษณะนิสัยที่ดี สำคัญกว่าเพียงแค่การมีความรู้ ถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็ก การเรียนเก่ง สอบได้เกรดสูง อาจไม่สำคัญเท่ากับการปลูกฝังคุณงามความดีให้กับลูกศิษย์ เพราะนั่นคือฐานของชีวิตที่ดี


+ ถ้ามองในแง่โครงสร้างของระบบการศึกษาไทย ปัญหาอยู่ตรงไหน

ถ้าพูดถึงคำว่า ‘ระบบการศึกษา’ หัวใจสำคัญที่สุดของโครงสร้างนี้คือ ต้องไม่คอร์รัปชัน เราต้องการพลเมืองที่มีความซื่อตรง ยึดมั่นความดี แต่ทุกวันนี้เรายึดมั่นในความเบี้ยว

ตัวระบบก็เป็นตัวเหตุด้วยส่วนหนึ่ง แต่พฤติกรรมของคนในระบบก็สำคัญ ทั้งผู้บริหารและผู้มีอำนาจ ภายใต้โครงสร้างที่เปิดช่องให้มีการแสวงผลประโยชน์ แสวงอำนาจ แม้แต่รัฐบาลทหารซึ่งมีโอกาสที่จะเข้าไปแก้ได้ แต่ก็ยังแก้ได้เพียงบางส่วน

สำหรับผม ถามว่าระบบการศึกษาที่ดีคืออะไร ผมคิดว่าอยู่ที่ learning outcome (ผลจากการเรียนรู้) ต้องดี อย่างอื่นมาทีหลัง เป็นเรื่องของ means (วิธีการ) ส่วน end (เป้าหมาย) คือสิ่งที่เราต้องไปให้ถึง

การจัดการศึกษาทุกวันนี้ถูกแยกเป็นส่วนๆ เอาเฉพาะคะแนนสอบของแต่ละวิชาเป็นตัววัดผลความสำเร็จ และเพื่อให้เด็กได้คะแนนสอบดีก็เลยต้องติวกันอย่างหนักเพื่อจะให้เด็กจำ ซึ่งนั่นไม่ใช่การเรียนรู้ในความหมายที่แท้จริงเลย การเรียนรู้ที่แท้จริงต้องขยาย working memory ขยายความช่างสังเกต ถ้าเป็นนักวิจัยก็ต้องขยายเครื่องมือในการสังเกต นี่คือหลักของการเรียนรู้


////////////////////

Quote 1

การศึกษาที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นการศึกษาที่สร้างผู้ตาม ไม่ใช่ผู้นำ เราสร้างคนที่ไม่กล้าถาม สังคมไทยว่าไปแล้วคือ สังคมเคารพผู้ใหญ่ แต่ไม่สร้างคนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือ creativity เราจึงไม่สามารถคิดอะไรที่นอกเหนือไปจากกรอบที่มีอยู่เดิมได้


Quote 2

ผมมองในเชิงการบริหารจัดการ ซึ่งจะต้องมียุทธศาสตร์ มีเป้าหมายที่ชัดเจน ประเทศไทยในอีก 10 ปี หรือ 100 ปีข้างหน้า ทำไมเราจะมีโนเบลไพรส์ไม่ได้ เราทำได้แน่ๆ เรามีคนเก่งๆ มากมาย เพียงแต่ว่าเราจะบ่มเพาะเขาขึ้นมาอย่างไร


Quote 3

หัวใจสำคัญคือ ต้องหนุนกระบวนการทางปัญญาจึงจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้ การก่อเกิดของ สกว. เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า เราจำเป็นต้องลงทุนเพื่อสร้างงานวิจัย และสุดท้ายเราจะเห็นเองว่า คุณค่าที่แท้จริงของงานวิจัยคืออะไร


Quote 4

การให้ทุนวิจัยไม่ใช่ของง่าย คุณอย่าคิดแค่ว่ามีเงินแล้วจะได้มิตร ผมจึงมักคิดเตือนตัวเองอยู่ตลอดว่า นี่เรากำลังทำอะไร เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่อาจสร้างมิตรได้น้อยกว่าศัตรู เพราะถ้าอัตราความสำเร็จในการทำวิจัยอยู่ที่ 10 แปลว่าต้องมีคนถูกปฏิเสธ 90 ฉะนั้น ถ้าเราบริหารความสัมพันธ์ไม่ดี นักวิจัยก็จะรู้สึกขมขื่นกับแหล่งทุน


Quote 5

ถึงตอนนี้ผ่านมากว่า 20 ปีแล้วที่ สกว. เป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นที่ยอมรับมากขึ้น แต่ไม่ใช่อยู่ๆ สกว. จะสร้างคุณค่าของงานวิจัยขึ้นมาได้ เราเองก็ไม่เคยเข้าใจมาก่อน แต่หลังจากทำไปได้ 2-3 ปี เราก็เริ่มรู้แล้วว่า แท้ที่จริงคุณค่าสำคัญของ สกว. ที่มีต่อบ้านเมืองคือ เรารู้วิธีที่จะจัดการงานวิจัย จนถึงทุกวันนี้ก็เป็นที่รู้กันว่าสถาบันที่รู้วิธีบริหารจัดการงานวิจัย คือ สกว.


/////////////////////

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/623139https:/

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ 2017 เวลา 13:09 น.  
Home > Articles > การศึกษา > วิจัยมา ปัญญาเกิด

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5607
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8609607

facebook

Twitter


บทความเก่า