Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ > Gig Economy: โลกยุคใหม่ของคนทำงาน

Gig Economy: โลกยุคใหม่ของคนทำงาน

พิมพ์ PDF


ผมได้อ่านบทความของคุณกัลยรักษ์ นัยรักษ์เสรี ฉบับนี้หลังจากที่ได้เสนอความคิดเห็นในบทความของคุณกัลยรักษ์ ที่เขียนหลังจากบทความนี้ จากการได้อ่านทั้งสองตอน ถือว่าผู้เขียนได้นำเสนอประเด็นความคิดเห็นที่ได้จากการวิจัย ที่น่าสนใจมาก เป็นสิ่งที่ควรจะนำมาคิดและหาคำตอบที่แท้จริงว่าทำไมคนสมัยนี้จึงต้องการทำงานเป็น "gig" ตามเหตุผลที่ผู้เขียนได้นำมาเผยแพร่ อย่างไรก็ตามผมยังเชื่อว่าสิ่งที่ท่านนำมาเขียนโดยการอ้างอิงถึงงานวิจัย ผมยังคงมีความเห็นเช่นเดียวกับที่นำเสนอไว้คราวแรก คือน่าจะมีสาเหตุที่สำคัญมากกว่าความพอใจในการทำงานอิสระ เพียงด้านเดียว ต้องนำประเด็นของความมั่นคงเข้ามาพิจารณาด้วย   เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงทางเศรษฐทั้งของส่วนตัว ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ 

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

19 พ.ย.2560

Gig Economy ในยุคใหม่ของคนทำงาน

ผู้เขียน: กัลยรักษ์ นัยรักษ์เสรี

เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนตุลาคม 2017

Gig Economy คืออะไร

ถ้าดูที่ความหมาย แท้จริงแล้ว Gig เป็นคำแสลง หมายถึงการแสดงของนักดนตรีหรือวงดนตรีที่รับจ้างเป็นครั้งๆ ไป ซึ่งภายหลังก็รวมไปถึงงานประเภทอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นครั้งคราวด้วย ประกอบกับกระแสที่คนยุคนี้หันมานิยมทำงานอิสระรับงานเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ยึดติดกับที่ใดที่หนึ่ง ท่ามกลางการเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สร้างช่องทางการหารายได้ใหม่ๆ โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบการทำงานเดิม ลักษณะการทำงานแบบนี้จึงถูกเรียกว่าGig Economy หมายถึงระบบเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยงานครั้งคราว หรืองานที่รับจ้างจบเป็นครั้งๆ ไป


แล้วใครถูกรวมอยู่ใน Gig Economy บ้าง คำตอบคือ เหล่าฟรีแลนซ์ พาร์ทไทม์ เอาท์ซอร์ส ไปจนถึงคนที่รับจ้างผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น คนขับ Uber และคนที่รับงานผ่าน Upwork หรือ Gigwalk เป็นต้น ลักษณะสำคัญของคนทำงานเหล่านี้ คือมีอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับงานหรือเวลาทำงาน โดยได้รับค่าตอบแทนตามจำนวนงานที่ทำ ที่สหรัฐฯ สถาบันวิจัย Brookings เผยว่าการจ้างงานใน Gig Economy กำลังเติบโตรวดเร็วยิ่งกว่าในตลาดงานประจำเสียด้วยซ้ำ


ข้อดีของการทำงานในรูปแบบ Gig Economy คือมีความยืดหยุ่นในเรื่องเวลาทำงาน เราสามารถบริหารจัดการเวลาและจัดลำดับความสำคัญของงานได้ตามใจ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องแลกมาด้วยความไม่มั่นคงจากรายได้ที่ไม่แน่นอน และยังเสี่ยงถูกแย่งงานจากคนอื่นที่มีฝีมือหรือทักษะแบบเดียวกัน


Gig Economy ถือเป็นอีกหนึ่งเทรนด์แรงของยุคนี้ เพราะได้เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน การจ้างงาน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในปัจจุบัน กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่น่าจับตามองว่าในอนาคตชีวิตการทำงานของเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง


Gig Economy เติบโตจากอะไร

ปัจจัยหลักที่ส่งเสริมการเติบโตของ Gig Economy มีอยู่ 3 ข้อ

1. สังคมออนไลน์ โลกออนไลน์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Gig Economy เติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะทำให้
อุปสงค์ (คนที่ต้องการว่าจ้าง) กับอุปทาน (คนที่ต้องการงาน) มาเจอกันได้ง่ายขึ้น โดยมีแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นคนกลาง ยกตัวอย่างเช่น TaskRabbit แอปพลิเคชันสำหรับหาเพื่อนบ้านมาช่วยงานและทำธุระแทน เช่น ทำความสะอาดบ้าน ซ่อมท่อประปา ย้ายของ จ่ายบิลค่าไฟ ฯลฯ ในกรณีนี้อุปสงค์ก็คือเจ้าของบ้านที่อยากได้คนช่วยงาน ส่วนอุปทานก็คือเพื่อนบ้านที่กำลังว่างและมีแรงจะมาช่วยงานได้ 


2. แนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) ชวนให้เรานำของที่มีอยู่มาแบ่งให้คนอื่นใช้งาน แนวคิดนี้ทำให้เกิดงานและช่องทางหารายได้ใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น Airbnb เปิดโอกาสให้คนนำที่พักมาปล่อยเช่า Spinlister นำจักรยานมาให้คนอื่นยืม หรืออย่าง Grab และ Uber ที่เราคุ้นเคยกันดีก็สร้างโอกาสหารายได้กับคนที่มีรถด้วยการนำออกมาให้บริการรับส่ง กลายเป็นช่องทางหาเงินใหม่ๆ โดยไม่ยึดติดกับการทำงานนั่งโต๊ะแบบเดิม


3. ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ ที่ต้องการมีอิสระ ได้ทำตามใจตัวเอง ทั้งในการตัดสินใจเรื่องงานและการบริหารเวลาในชีวิต ซึ่ง Gig Economy ก็เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการตรงนี้ได้เป็นอย่างดี เราจึงได้เห็นคนยุคนี้เมินงานประจำมาเป็น gig worker กันมากขึ้น ตอนเช้าอาจจะรับงานฟรีแลนซ์ ตอนบ่ายออกไปเป็นคนขับ Grab ตอนเย็นรับจ้างสอนพิเศษ พร้อมๆ กันนี้ก็ปล่อยห้องว่างที่บ้านให้นักท่องเที่ยวเช่าผ่าน Airbnb ไปด้วย นี่เป็นตัวอย่างชีวิตออกแบบได้ของเหล่า gig worker ซึ่งตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไปได้อีกมาก


สถานการณ์ Gig Economy ในโลกไปถึงไหนแล้ว

ในแวดวงบ้านเรา คำว่า Gig Economy อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง แต่ถ้ามองไปทางฝั่งประเทศตะวันตกจะเห็นว่ามีการพูดถึงเศรษฐกิจรูปแบบใหม่นี้กันอย่างครึกโครม ทั้งยังมีงานวิจัย และงานเขียนที่จับประเด็นน่าสนใจออกมาเป็นจำนวนมาก


งานวิจัยจากสถาบัน McKinsey Global เผยว่าตัวเลขประชากร gig worker ในสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 54-68 ล้านคน หรือคิดเป็นราวๆ 40% ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ นับเป็นตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจ โดยในจำนวนนี้มีทั้งคนที่รับงานอิสระแบบเต็มตัว (คนที่เป็นฟรีแลนซ์) และคนที่มีงานประจำอยู่แล้วแต่รับงานอิสระเป็นส่วนเสริม ผลสำรวจยังบอกอีกว่า gig worker ส่วนใหญ่เลือกรับงานอิสระเพราะอยากหาสมดุลชีวิตและการทำงาน (work-life balance) ในขณะที่บางส่วนเลือกทำด้วยความจำเป็นเพราะหางานอื่นที่ดีกว่าไม่ได้ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเป็นประเทศแรกๆ ที่มีโครงการสำรวจประชากร gig worker ในประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งการสำรวจดังกล่าวจัดทำโดยสำนักงานสถิติแรงงาน และน่าจะมีผลออกมาให้เราเห็นประมาณปี 2018


อย่างไรก็ตาม Gig Economy ก็สร้างข้อถกเถียงขึ้นเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานที่แรงงานควรจะได้ เนื่องจาก gig worker ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนคนทำงานทั่วไป เช่น วันลา ประกันสุขภาพ และค่าจ้างขั้นต่ำ พูดง่ายๆ คืออาจถูกผู้ว่าจ้างเอาเปรียบโดยไม่รู้ตัว สำหรับประเด็นนี้ เทศบาลนครนิวยอร์กก้าวหน้ากว่าใครเพื่อน ด้วยการออกกฎหมาย “Freelance isn’t free Act” ให้สิทธิประโยชน์พื้นฐานกับเหล่าคนทำงานอิสระ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัญญาการจ้างงานแบบเป็นลายลักษณ์อักษร การได้รับเงินตามระยะเวลาทำงาน รวมถึงการคุ้มครองต่างๆ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา


ที่น่าสนใจคือ เมื่อเร็วๆ นี้แพลตฟอร์ม Gig Economy เจ้าใหญ่หลายแห่งในสหรัฐฯ ได้เรียงแถวออกมาประกาศให้สวัสดิการและสิทธิประโยชน์กับเหล่า gig worker เหตุผลหนึ่งก็คือจำนวนคนรับจ้างนั้นเข้ามาเยอะก็จริง แต่ก็ลาออกเยอะเช่นกัน อย่างคนขับรถ Uber เข้าใหม่เกือบครึ่งก็เลิกขับตั้งแต่ปีแรก นั่นทำให้ Uber ออกนโยบายอนุญาตให้คนขับสามารถรับทิปจากลูกค้าได้ และมีประกันช่วยเหลือกรณีที่เกิดอุบัติเหตุในระหว่างทำงาน ในขณะที่บริษัทคู่แข่งอย่าง Lyft ก็ให้สิทธิประโยชน์อย่างบริการซ่อมบำรุงรถ ส่วน DoorDash ที่ให้บริการส่งอาหารจากร้านถึงหน้าบ้านก็เสนอการจ่ายเงินค่าแรงในวันถัดมา เรียกได้ว่าฝั่งผู้ว่าจ้างใน Gig Economy ก็ต้องหาทางให้สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจคนทำงานเช่นกันแม้ว่าจะไม่มีกฎหมายออกมาบังคับก็ตาม


มาดูทางฝั่งเอเชียกันบ้าง ที่ญี่ปุ่น มีงานวิจัยออกมาเปิดเผยว่า Gig Economy เป็นหนึ่งในตัวการทำให้อัตราการเกิดของประเทศยิ่งตกต่ำ อาจจะดูไม่เกี่ยวข้องกันเท่าไหร่ แต่สำหรับญี่ปุ่นที่มีค่านิยมคาดหวังให้ผู้ชายเป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว การมีงานประจำถือเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการแต่งงาน ยิ่งคนออกมาเป็น gig worker รับงานชั่วคราวกันมากขึ้น อัตราการแต่งงานก็ยิ่งน้อยลง ส่งผลให้โอกาสการมีลูกน้อยลงไปด้วย ผลสำรวจของสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียวพบว่า เมื่ออายุถึงวัยสามสิบต้นๆ มีเพียง 30% ของกลุ่มคนที่ไม่ได้ทำงานประจำตัดสินใจแต่งงาน เทียบกับกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่มีสัดส่วนนี้สูงถึง 56%


Gig Economy กับประเทศไทย

แม้กระแสจะแรงไม่เท่าเมืองนอก แต่ Gig Economy ในประเทศไทยก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากการเปิดตัวเว็บไซต์หางานสำหรับชาวฟรีแลนซ์โดยเฉพาะ อย่าง Fastwork และ Freelancebay แพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ๆ เช่น Lalamove FindMaid และ Helpster ก็เป็นส่วนช่วยให้ gig worker ในไทยเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว


คำถามถัดมาคือ เราจะปรับตัวกันอย่างไรในวันที่โลกแห่งการทำงานเปลี่ยนแปลงไปแบบนี้

สำหรับคนที่เป็นนายจ้าง รวมไปถึงบริษัทที่มีการจ้างพนักงาน อาจต้องหันมาพิจารณาสัญญาจ้างแบบระยะสั้น ขยายอายุเกษียณ หรือผ่อนปรนในเรื่องเวลาการทำงานเพื่อให้สอดรับกับรูปแบบการใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น ให้โควตาทำงานจากที่บ้านหนึ่งวันต่อเดือน และปรับการคิดเวลาทำงานเป็นจำนวนชั่วโมงแทนเวลาการเข้า-ออกงานเป๊ะๆ แบบเก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น ซึ่งบริษัทหลายแห่งในไทยก็นำสองแนวคิดนี้ไปใช้จริงแล้ว


ส่วนคนทำงาน ไม่ว่าปัจจุบันจะเป็นมนุษย์เงินเดือน เป็นฟรีแลนซ์ หรือเป็น gig worker สิ่งสำคัญคือต้องพัฒนาทักษะที่ตัวเองมีอยู่ให้เชี่ยวชาญ มีความรู้รอบด้าน เพราะไม่ว่าในอนาคตเราจะเปลี่ยนไปทำงานในรูปแบบใด สิ่งสำคัญที่จะทำให้อยู่รอดได้คือความพร้อมที่จะเผชิญกับความไม่แน่นอนอยู่เสมอ


Gig Economy เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา บางเรื่องอาจเป็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึง ทั้งยังข้องเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเรายิ่งขึ้นเรื่อยๆ ใครที่ยังยึดติดอยู่กับสิ่งเดิมๆ และไม่ยอมปรับตัวให้ทันก็อาจตกขบวนรถไฟแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้โดยไม่รู้ตัว


แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2017 เวลา 08:20 น.  
Home > Articles > สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ > Gig Economy: โลกยุคใหม่ของคนทำงาน

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5585
Content : 3038
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8559329

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า