Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > พัฒนาทุนมนุษย์ > การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๖. สิ่งที่จูงใจนักเรียนให้อยากเรียน

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๖. สิ่งที่จูงใจนักเรียนให้อยากเรียน

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

 

ตอนที่ ๖ นี้ มาจากบทที่ 3  What Factors Motivate Students to Learn?

 

บันทึกตอนที่ ๖ อธิบายหลักการเรื่องทฤษฎีว่าด้วยแรงจูงใจในการเรียน และยุทธศาสตร์ในการกำหนดคุณค่า และตอนที่ ๗ ว่าด้วยเรื่องยุทธศาสตร์ทำให้ นศ. มีความคาดหวังเชิงบวก และยุทธศาสตร์ในการจัดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าและความมั่นใจว่าสามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้

 

บทที่ ๓ ของหนังสือ เริ่มด้วยคำบ่นและคร่ำครวญของศาสตราจารย์ ๒ คน  ที่สอนวิชาปรัชญา และวิชา Thermodynamics  ว่า นศ. ไม่สนใจเรียน ขี้เกียจ ขาดเรียน  แม้ครูในวิชา Thermodynamics จะได้เตือน นศ. ตั้งแต่ต้นเทอมแล้ว ว่าวิชานี้ยาก นศ. ต้องตั้งใจเรียนจริงๆ จึงจะสอบผ่าน

 

นี่คือความผิดพลาดที่พบบ่อยที่สุดของครู/อาจารย์ในยุคปัจจุบัน  ที่ตั้งความคาดหวังผิดๆ ว่า นร./นศ. ในปัจจุบันจะตั้งใจเรียน เหมือน นร./นศ. ในสมัยที่อาจารย์เป็น นร./นศ.

 

หนังสือบอกว่า เมื่อศึกษาวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดของการจัดการเรียนการสอนในทั้ง ๒ กรณี  จะพบว่าต้นเหตุหลักที่ทำให้ นศ. ไม่สนใจเรียน อยู่ที่ตัวอาจารย์เอง ไม่ได้อยู่ที่ นศ.

 

ศาสตราจารย์วิชาปรัชญามีความกระตือรือร้นและรักวิชานี้มาก  จึงหลงคิดว่า นศ. จะให้คุณค่าต่อวิชานี้เหมือนที่ตนห็นคุณค่า  ศ. ท่านนี้ไม่ได้พยายามมองวิชา บทเรียน และบรรยากาศในการเรียนจากมุมมองของ นศ.  (ไม่ได้เอาใจเขามาใส่ใจเรา)   บทเรียนจึงไม่ได้จัดตามมุมมองหรือมุมกระตุ้นความสนใจของ นศ.  แต่จัดตามความสนใจของครู

 

ศาสตราจารย์ ก ที่สอนวิชา Thermodynamics ใช้แทคติคเดียวกันกับอาจารย์ที่เคยสอนวิชานี้แก่ตน  คือเตือน นศ. ว่าวิชานี้ยาก ให้ตั้งใจเรียน  คำเตือนแบบนี้กระตุ้นความสนใจแก่ นศ. ที่ตั้งใจเรียนอย่างศาสตราจารย์ ก  แต่ไม่กระตุ้นความสนใจ เอาใจสู้ แก่ นศ. สมัยนี้  และกลับก่อผลในทางตรงกันข้าม คือทำให้ท้อถอย


แรงจูงใจคืออะไ

หนังสือเล่มนี้ให้นิยามแรงจูงใจ (motivation) ว่าหมายถึงการลงทุนส่วนตัวของบุคคล เพื่อการบรรลุเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง

เป็นการให้นิยามแรงจูงใจเพื่อให้เป็นรูปธรรม เป็นพฤติกรรม สามารถวัดได้  ผมคิดต่อว่า หากให้นิยามแนวนี้ ส่วนที่อยู่ภายในจิตใจของเรา เป็นนามธรรม วัดยากหรือวัดไม่ได้ คือ แรงบันดาลใจ (inspiration) หรือแรงปรารถนา(passion)

การลงทุนส่วนตัวนี้ อยู่ในรูปของใจจดจ่อ การให้เวลา ความอดทนพากเพียรพยายาม ทำซ้ำๆ ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก  ไม่ถอดใจเมื่อล้มเหลว   ผมนึกถึงการใช้ทุนทรัพย์เพื่อซื้อสิ่งของและบริการเพื่อบรรลุเป้าหมาย  และตัดสินว่า ไม่ใช่แรงจูงใจ เพราะเป็นการลงทุนนอกกาย (และใจ)

 


ทฤษฎีว่าด้วยแรงจูงใจในการเรียน

แรงจูงใจในการเรียนของ นศ. เป็นตัวเริ่มต้น กำกับทิศทาง และสร้างความต่อเนื่อง ในการเรียน ของ นศ.

ในแต่ละช่วงชีวิตของคนเรา (โดยเฉพาะ นศ.) เรามีเป้าหมายหลายอย่างแข่งขันกันอยู่  แข่งกันแย่ง “ทรัพยากรส่วนตัว” คือความสนใจ เวลา ความพยายาม ของแต่ละคน

นี่คือธรรมชาติที่ครูพึงเข้าใจและตระหนักอยู่ตลอดเวลา  ว่า นศ. เขามีเป้าหมายอื่นอยู่ในขณะนั้นด้วย  และแม้แต่เป้าหมายด้านการเรียน เขาก็ยังต้องเรียนวิชาอื่นด้วย

 

 


เป้าหมาย

คำพูดว่าใครสักคนมีแรงจูงใจ ไม่มีความหมาย หากไม่ใช่แรงจูงใจสู่การลงมือทำ  ทำเพื่อบรรลุผลตามความมุ่งหมายหรือความคาดหวัง  เป้าหมายเป็นเสมือนเข็มทิศ  หรือภาษาไทยเรามักใช้คำว่า “ปักธง”

สิ่งที่ครูพึงตระหนักในเรื่องเป้าหมายของ นศ. ก็คือ  (๑) นศ. แต่ละคนมีหลายเป้าหมายในเวลาเดียวกัน  ทั้งเป้าหมายทางการเรียน  เป้าหมายทางสังคม ในการหาเพื่อน หาแฟน สร้างการยอมรับนับถือในหมู่เพื่อนๆ เป็นต้น  หรือบางคนอาจต้องหาเงินเลี้ยงชีพด้วย  (๒) เป้าหมายของ นศ. กับของครูมักไม่ตรงกัน  ครูพึงเอาเป้าหมายของ นศ. เป็นหลัก ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ นศ.  ไม่ใช่เอาเป้าหมายของครูเป็นหลัก  (๓) เป้าหมายเกี่ยวกับการเรียนมีทั้งเป้าหมายที่ดี/เหมาะสม  และเป้าหมายที่ไม่ดี/ไม่เหมาะสม  เป้าหมายเกี่ยวกับการเรียนที่ไม่เหมาะสม ไม่นำไปสู่ผลการเรียนที่ลึกซึ้งแตกฉาน

ซึ่งหมายความว่า ครูต้องมีวิธีตรวจสอบทำความเข้าใจเป้าหมายของ นศ. ในชั้น ทั้งในภาพรวม และเข้าใจ นศ. เป็นรายคน

ในทางจิตวิทยาการเรียนรู้ เป้าหมายของ นศ. มีความซับซ้อน  และอาจมีเป้าหมายที่ไม่นำไปสู่การเรียนรู้ที่ดี  เรียกว่าเป้าหมายโชว์ความสามารถหรือเป้าหมายโชว์สมรรถนะ (Performance Goal)  ซึ่งแตกต่างจากเป้าหมายการเรียนรู้(Learning Goal)

เป้าหมายโชว์สมรรถนะอาจกล่าวได้ว่า เป็นหลุมพรางของเป้าหมายที่แท้จริง  หรือเป็นเป้าหมายปลอม ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้เพียงระดับผิวเผิน  คือเพียงแค่เอาไว้โชว์

ทำให้ผมหวนระลึกถึงข้อสงสัยที่ติดใจมากว่า ๕๐ ปี และคิดว่าได้คำตอบเมื่ออ่านหนังสือ How Learning Works มาถึงตอนนี้

ตอนต้นปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ผมอายุ ๑๖ ปี เรียนอยู่ชั้น ม. ๖ (ในสมัยนั้นเรียนชั้นประถม ๔ ปี  มัธยม ๖ ปี  เตรียมอุดม ๒ ปี  แล้วจึงเข้ามหาวิทยาลัย)  เตรียมตัวสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของนักเรียนทุกคนที่เรียนดี และต้องการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย  การเตรียมตัวอย่างหนึ่งทำโดยไปกวดวิชา  โรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ “โรงเรียนทัดสิงห์” (ทัด สิงหเสนี)  อยู่บนถนนพระราม ๑ ใกล้สี่แยกแม้นศรี  ผมไปเรียนแบบเด็กเรียนเก่งแต่ไม่มั่นใจตัวเอง  มุมานะขยันเรียนสุดฤทธิ์  และหมั่นสังเกตนักเรียนคนอื่นๆ ว่าเขามีวิธีเรียนกันอย่างไร  มีเด็กผู้ชาย (ที่จริงเป็นวันรุ่น) คนหนึ่งเป็นคนช่างพูดและเสียงดัง  ระหว่างที่เราไปนั่งรอให้ถึงเวลาเรียน  จะได้ยินเขาพูดจาอธิบายความรู้ด้านต่างๆ รวมทั้งวิธีทำโจทย์ข้อสอบ  ผมสังเกตว่าบางข้อเขาพูดผิด แต่ไม่ได้พูดจาโต้แย้ง (ผมไม่เคยพูดกับเขาเลย)  แต่ส่วนใหญ่ผมรู้สึกพิศวงว่าเขามีความรู้มากมายกว้างขวางเช่นนั้นได้อย่างไร  รวมทั้งผมสงสัยว่าเขารู้จริงหรือไม่  คำตอบอยู่ที่ผลสอบเข้าโรงเรียนเตรียมฯ  ผมไม่เห็นตัวเขาที่โรงเรียนเตรียมฯ เลย จึงเดาว่าเขาสอบไม่ได้  แต่ผมสงสัยเรื่อยมาว่าทำไมเขามีพฤติกรรมเช่นนั้น  มาได้คำตอบเชิงวิชาการเอา ๕๔ ปีให้หลัง  ว่าเป็นเพราะเขาหลงเรียนเพื่อโชว์  ไม่ใช่เรียนเพื่อรู้ (จริง)

เป้าหมายที่ไม่ดีอีกอย่างหนึ่ง คือเป้าหมายหลบเลี่ยงการทำงานหนัก (Work-avoidant goals) ซึ่งนำไปสู่การทำงานลวกๆ ขอไปที  นศ. อาจมีเป้าหมายเรียนเพื่อรู้จริงต่อวิชา ก  แต่มีเป้าหมายหลบเลี่ยงการทำงานหนักของวิชา ข ก็ได้

การที่ นศ. มีหลายเป้าหมายในเวลาเดียวกัน ไม่จำเป็นจะต้องทำให้เป้าหมายการเรียนย่อหย่อน  หากครูมีวิธีช่วยเอื้ออำนวยให้เป้าหมายหลายอย่างช่วยเสริม (synergy) ซึ่งกันและกัน  ตัวอย่างเช่น ทำให้เป้าหมายการเรียนรู้ เป้าหมายด้านความชอบ (Affective Goal)  และเป้าหมายทางสังคม (Social Goal) คือได้เพื่อน ได้รับความยอมรับนับถือจากเพื่อน เสริมซึ่งกันและกัน  ทำให้เป้าหมายการเรียนรู้มีพลังเข้มแข็งขึ้น  นี่คือข้อสรุปจากผลการวิจัย

ทำให้ผมหวนระลึกถึงสมัยที่ตนเองกำลังเป็น นศ.  เป็นวัยรุ่น  ที่ผู้ใหญ่เตือนว่าอย่าเพิ่งริมีแฟน จะทำให้เสียการเรียน  ลุงคนหนึ่งถึงกับสอนให้ท่อง “สตรีคือศัตรู”  ซึ่งผมก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง  และสมัยผมเรียนแพทย์ผมมีเพื่อนที่เรียนอ่อน  แต่เมื่อมีแฟนการเรียนดีขึ้นมาก เข้าใจว่าต้องขยันเรียน เอาไปติวแฟน  ซึ่งเข้าตำราเรื่อง Learning Pyramid ว่าการสอนผู้อื่นเป็นวิธีเรียนที่ดีที่สุด

จะเห็นว่า เรื่องเป้าหมายชีวิตในขณะนั้น กับผลการเรียนรู้ เป็นเรื่องซับซ้อน  มีประเด็นให้เอาใจใส่ทดลอง หรือทำวิจัยได้ไม่สิ้นสุด  โดยอาจนำเอาเรื่องตัวเบี่ยงเป้าหมาย หรืออุปสรรคขัดขวางเป้าหมายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการตั้งโจทย์ก็ได้


การให้คุณค่า

เมื่อ นศ. มีหลายเป้าหมายในเวลาเดียวกัน  มีเรื่องที่จะต้องทำให้เลือกหลายตัวเลือกในเวลาเดียวกัน  นศ. ย่อมเลือกทำสิ่งที่ตนคิดว่ามีคุณค่าสูงสุดต่อตนเอง

มีผู้ให้ความเห็นไว้ว่านศ. ที่ตั้งใจเรียน เกิดจากการให้คุณค่าเชิงนามธรรม (subjective value) ต่อการเรียนรู้แบบใดแบบหนี่งหรือหลายแบบใน ๓ แบบ ต่อไปนี้

๑.  Attainment value  เป็นคุณค่าจากความพึงพอใจที่เกิดจากการได้เรียนรู้  หรือจากความสำเร็จ

๒.  Intrinsic value  เป็นความพึงพอใจจากการทำสิ่งนั้นๆ เอง  ไม่สนใจผล

๓.  Instrumental value  เป็นคุณค่าที่นำไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าการเรียนรู้  เช่นความมีชื่อเสียง  การมีรายได้สูง ที่เป็นผลได้ภายนอก (Extrinsic Reward) ในกรณีนี้ นศ. ตั้งใจเรียน เพราะมีความหวังว่าเมื่อสำเร็จ ตนจะมีชีวิตที่ดี

ประเด็นสำคัญต่อครูก็คือ  ครูพึงชี้ให้ นศ. เห็นคุณค่าของการเรียนวิชานั้นๆ ให้ นศ. เห็นหรือเข้าใจชัดเจน   และหากกระบวนการเรียนรู้ของ นศ. คนนั้นลื่นไหลได้ผลดี  จากคุณค่าเริ่มต้นแบบที่ 3  ต่อไปจะเกิดคุณค่าแบบที่ 2 และ 1 ขึ้นได้เอง


ความเชื่อมั่นว่าบรรลุได้

จากผลการวิจัย ชี้ว่า แม้ นศ. จะเห็นคุณค่าของการเรียนวิชานั้น  แต่หากใจไม่สู้ ไม่เชื่อว่าตนจะเรียนวิชานั้นได้  ก็ไม่เกิดแรงจูงใจต่อการเรียนวิชานั้น

ในภาษาวิชาการ ความเชื่อมั่นต่อการบรรลุผล เรียกว่า outcome expectanciesซึ่งมีทั้งตัวบวกและตัวลบ  ตัวบวกเรียกว่า positive outcome expectancies ส่วนตัวลบ เรียกว่า negative outcome expectancies จะเห็นว่า ตัวหลังทำให้ใจไม่สู้  และตัวแรกทำให้ใจสู้มุมานะ

การให้กำลังใจแก่ นศ.  ที่ครูให้เป็นรายบุคคล มีถ้อยคำแสดงความเชื่อมั่นว่าทำได้ ที่เหมาะสมตามบริบทของ นศ. คนนั้นๆ พร้อมกับคำแนะนำให้เอาใจใส่บางจุด ปรับปรุงบางเรื่อง จะเป็นเสมือนน้ำทิพย์ชโลมใจ นศ.

เป้าหมายของ นศ. บางคนคือ “เหรียญทอง”  ครูที่เข้าใจจิตใจของ นศ. จะสามารถใช้เทคนิคนี้ช่วยสร้างกำลังใจ/แรงจูงใจ ให้ นศ. มีความมานะพยายาม และบรรลุเป้าหมายได้

ความเชื่อมั่นต่อการบรรลุผลเชิงบวก มีตัวช่วยตัวหนึ่ง ชื่อ efficacy expectancies ซึ่งหมายถึงความมั่นใจว่าตนมีทักษะต่างๆ เพียงพอที่จะช่วยให้ตนบรรลุผลตามเป้าหมายได้

หากครูช่วยชี้ให้ นศ. ใช้ efficacy expectancies หรือ learning skills ที่เหมาะสมต่อการเรียนวิชานั้น  ก็จะเป็นกำลังใจให้เกิดความ “ฮึดสู้” ได้


มุมมองต่อสภาพแวดล้อมมีผลต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างการให้คุณค่า และความเชื่อมั่นว่าบรรลุได้

สรุปอย่างง่ายที่สุด  แรงจูงใจต่อการเรียน เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ๓ ปัจจัยของ นศ.  คือ (๑) เป้าหมาย  (๒) ความเชื่อมั่นว่าเรียนวิชานั้นได้สำเร็จ  และ (๓) มุมมองต่อสภาพแวดล้อมว่าเอื้อให้ตนเรียนได้สำเร็จ

ย้ำนะครับว่า เรื่องสภาพแวดล้อมนั้น จุดสำคัญอยู่ที่ว่า นศ. มีมุมมองต่อสภาพแวดล้อมอย่างไร  ไม่ใช่ตัวสิ่งแวดล้อมโดยตรง  นศ. ในชั้นส่วนใหญ่อาจมองว่า สิ่งแวดล้อมให้ชั้นเรียนดีมาก ช่วยสนับสนุนการเรียนของตนอย่างดีเยี่ยม  แต่ นศ. บางคนอาจมีมุมมองเป็นลบ  เช่นคิดว่าตนน่าจะสอบไม่ผ่าน เพราะครูคนนี้ไม่ชอบ นศ. ผู้ชายที่ตัวดำ  หรือคิดว่า ในชั้นเรียนมีแต่คนเรียนเก่งทั้งนั้น เวลาครูตัดเกรดเราก็จะเป็นคนคะแนนโหล่ สอบตกแน่ๆ  เป็นต้น


ยุทธศาสตร์ในการกำหนดคุณค่า

ต่อไปนี้เป็นเทคนิคที่ครูสามารถใช้ส่งเสริมให้ศิษย์มองเห็นคุณค่าของวิชาที่ตนสอน


เชื่อมโยงสาระเข้ากับความสนใจของ นศ.

จะเห็นว่า ครูที่ดีต้องเอา นศ. เป็นตัวตั้ง  ต้องเข้าใจความสนใจของ นศ. แต่ละคน  และคอยชี้ให้เห็นว่าการเรียนวิชานั้น ในตอนนั้นๆ เชื่อมโยงกับความสนใจของ นศ. อย่างไร

 


มอบงานที่สอดคล้องกับโลกแห่งชีวิตจริง

ครูต้องหาทางต่างๆ ที่จะช่วยให้ นศ. เห็นว่าวิชาที่ครูสอน มีความเชื่อมโยงกับชีวิตจริงอย่างไร   วิธีหนึ่งทำได้โดยให้ทำโครงงาน (project)  หรือกรณีศึกษา (case studies) ที่เป็นเรื่องจริง  หรือให้ไปฝึกงานหรือสหกิจศึกษา ณ สถานที่ทำงานจริง

 


แสดงความสอดคล้องกับวิชาการในปัจจุบันของ นศ.

นศ. มักตั้งข้อสงสัยว่า เรียนวิชานั้นไปทำไม  ในเมื่อมันไม่เกี่ยวกับวิชาชีพที่ตนต้องการเรียน  เช่นนักศึกษาเตรียมแพทย์อาจตั้งคำถามว่าทำไมตนต้องเรียนวิชาสถิติด้วย  ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกับวิชาแพทย์เลย  อาจารย์จึงควรอธิบายคุณค่าของวิชาสถิติ ต่อคนที่จะเรียนแพทย์ว่า มันเป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนวิชาเวชสถิติ  ซึ่งแพทย์จะต้องใช้ตลอดชีวิต


แสดงให้เห็นว่าทักษะระดับสูงมีความหมายต่อวิชาชีพในอนาคตของ นศ. อย่างไรบ้าง

ที่จริงตัวอย่างในตอนที่แล้ว ช่วยอธิบายความหมายของตอนนี้ได้ด้วย

 


ตรวจหา และให้รางวัลแก่ผลงานที่ครูให้คุณค่า

ครูต้องหมั่นตรวจหาพฤติกรรม และผลงานที่ครูให้คุณค่า  แล้วให้คะแนนและให้คำชมอย่างชัดเจน  ตัวอย่างเช่น หากครูต้องการให้ นศ. ฝึกการทำงานเป็นทีม  เมื่อครูสังเกตเห็น นศ. กลุ่มใดทำงานเป็นทีมที่เข้มแข็ง ครูต้องให้คำชม  โดยชมในชั้นเรียน และให้คำอธิบายต่อชั้นเรียนว่าครูสังเกตเห็นลักษณะการทำงานเป็นทีมที่ดีอย่างไร ใน นศ. กลุ่มนั้น   และครูคิดว่า นศ. ที่มีทักษะเช่นนี้ จะมีผลดีต่อชีวิตในอนาคตอย่างไร

 


แสดงความกระตือรือร้น และการเห็นคุณค่า ของครู ต่อวิชานั้นๆ

การแสดงอย่างจริงใจ และแจ้งชัด ว่าครูมีความกระตือรือร้น  มีพลังของความรักเห็นคุณค่าของวิชานั้นสูงยิ่ง  จะเป็นคล้ายๆ โรคติดต่อ ให้ นศ. รู้สึกพิศวงต่อวิชานั้น  เกิดความสนใจ และเห็นคุณค่าของวิชานั้น ตามไปด้วย

 

วิจารณ์ พานิช

๒๙ ธ.ค. ๕๕

 
Home > Articles > พัฒนาทุนมนุษย์ > การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๖. สิ่งที่จูงใจนักเรียนให้อยากเรียน

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5585
Content : 3038
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8560217

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า