Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > เศรษฐกิจ > ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แฉความลับ สัมปทานน้ำมันไทยทำไมได้ผลตอบแทนต่ำ

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แฉความลับ สัมปทานน้ำมันไทยทำไมได้ผลตอบแทนต่ำ

พิมพ์ PDF

“วันนี้ราคาพลังงานขึ้น เราควรจะดีใจเพราะเรามีพลังงานเยอะ แต่เรากลับไม่เคยรวยขึ้นเลย คำว่าโชติช่วงชัชวาลนี่ขอทวงหน่อยเถอะ มันอยู่ไหน หรือมันจะโชติช่วงแค่คนในกระทรวง หรือโชติช่วงแค่บริษัทพลังงาน”

ด้วยเหตุที่เคยทำหน้าที่วางท่อน้ำมันในอ่าวไทยเมื่อครั้งเรียนจบใหม่ๆ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่จะผันตัวเองมาเป็นผู้จัดการกองทุนให้กับสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่ง

ทำให้ “ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี” เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ยอมเปิดหน้าชนอย่างเต็มตัวกับระบบการให้สัมปทานปิโตรเลียมในเมืองไทย

ด้วยเพราะเขา “กังขา” ในเรื่องของ “ตัวเลข”

ทั้ง “ตัวเลข”ที่เป็น “รายได้” ของรัฐจากการให้สัมปทาน ซึ่งมีความแตกต่างจาก “ตัวเลข” ที่ไหลเข้ากระเป๋าบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่

และ “ตัวเลข” ราคาน้ำมันและก๊าซในประเทศที่มีจำนวนสูง ในขณะที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตปิโตรเลียมติดอันดับโลก

สำนักข่าวไทยพับลิก้า ได้พูดคุยกับ “มล.กรกสิวัฒน์” ในห้องประชุมคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มีเขาเป็นเลขานุการ ในช่วงบ่ายของวันหนึ่ง

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี เลขานุการอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา

ไทยพับลิก้า : ที่เคยบอกว่า ใต้พื้นพิภพของแผ่นดินไทยมีพลังงานจำนวนมาก มีหลักฐานอะไรบ้าง

ต้องบอกว่ามีหรือไม่มีเราก็ไม่ควรพูดเอง เราควรจะเอาข้อมูลจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ ผมถามว่าเราเชื่อโอเปก (The Organization of the Petroleum Exporting Countries: OPEC) ได้ไหม อย่างโอเปกทำรายงานออกมาทุกปี ที่เรียกว่าAnnual Statistical Bulletin 2010/2011 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ปริมาณของก๊าซธรรมชาติเราชนะประเทศที่เป็นสมาชิกของโอเปก ไปทั้งหมด 8 ประเทศ นี่คือกำลังการผลิตต่อวัน เขาเขียนไว้เลยว่าเราผลิตได้สูงกว่าอิรัก คูเวต ลิเบีย เวเนซุเอลา แองโกลา มันก็ชัดว่าเรามีเยอะ

ไทยพับลิก้า : ที่บอกว่าผลิตได้จำนวนมาก มาจากการนำเข้าน้ำมันดิบด้วยหรือไม่

ไม่ใช่ แต่เป็นที่ผลิตจากประเทศไทยล้วนๆ จากหลุมในประเทศไทย โอเปกเขาจะไม่พูดเรื่องนำเข้าส่งออก แต่จะพูดแค่ว่าประเทศไหนผลิตได้เยอะได้น้อย หน่วยงานที่สองที่ผมเอามายันคือหน่วยงานที่เรียกว่า Energy Information Administration หรือ EIA ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านพลังงานที่อยู่ใต้รัฐบาลสหรัฐ เป็นหน่วยงานหลวงนะ เขามาสำรวจข้อมูลพลังงานของทั่วโลก และสหรัฐเขาให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานมาก

ดังนั้น เขาต้องรู้ว่าในโลกมีพลังงานอยู่ที่ไหนบ้าง ซึ่งมีการจัดอันดับเช่นกัน และเราอยู่ในอันดับที่ 24 ของ 200 กว่าประเทศ

เราผลิตน้ำมันดิบ จริงๆ ใช้คำว่าน้ำมันดิบมันไม่ตรง เพราะสิ่งที่กลั่นเป็นน้ำมันได้ไม่ใช่แค่น้ำมันดิบเท่านั้น แต่จะมีสิ่งที่เรียกว่า “ก๊าซโซลีนธรรมชาติ” หรือ “คอนเดนเซท” อีก ซึ่งอันนั้นคือหัวกะทิ เป็นของแพงและเขาไม่อยากให้เรารู้ เพราะเขาใช้ผลประโยชน์กันอยู่ ได้ผลประโยชน์กันอยู่ ตรงนี้อีไอเอของสหรัฐจัดเราอยู่อันดับที่ 33 ของโลก ตรงนี้ถามว่าผมเอาแค่สองแหล่ง ผมไม่ได้เคยบอกเลยนะว่าให้เชื่อผม ผมเอาข้อมูลจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้มาวาง ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพลังงานไม่เถียงแล้วว่ามันไม่จริง แต่คำตอบคือใช้ไม่พอ

เมื่อเรามีทรัพยากรแบบนี้ สิ่งที่จะเสนอให้ประชาชนต้อง “ตระหนัก” ก็คือว่า แล้วเราได้ส่วนแบ่งที่เป็นธรรมไหมจากทรัพยากรเรา ก็ต้องบอกว่าประเทศอื่นที่อันดับ 30-40 กว่า เขาได้ส่วนแบ่ง 100 บาท เขาเอามา 80 หรือ 90 แต่ประเทศเราบอกไม่เอา ขุดเจาะยาก เอามา 30 พอ คำว่า “ขุดเจาะยาก” กระทรวงพลังงานเคยแสดงอะไรให้ดูบ้างครับเวลาเขาอ้าง ไม่เคยเลย

ไทยพับลิก้า : กระทรวงพลังงานมักจะบอกว่า แหล่งปิโตรเลียมของไทยเป็นแหล่งขนาดเล็ก

คือ…อย่างนี้ครับ สิ่งที่เขาพูดเขาเคยให้หลักฐานอะไรดูบ้างล่ะ ผมให้หลักฐานทุกอย่างนะ แต่ว่าเวลากระทรวงที่เป็นหน่วยงานของรัฐ กินเงินภาษีประชาชน พูดทุกอย่างให้เชื่อฉัน แต่ไม่มีข้อมูลให้ดูเลย ถามว่าใครจริงใจ ผมว่าท่านพยายามจริงใจ แต่ข้อมูลอยู่ไหนละ ข้อมูลที่พบผมเชื่อถือได้ว่ามันเล็กจริง มันยากจริง ประเทศนี้ดูว่าใต้ดินมีเยอะหรือน้อยไม่ได้ เพราะเราเป็นประเทศจำนวนน้อยมากในไม่กี่ประเทศในโลกที่ให้สัมปทานโดยที่ตัวเองไม่เคยสำรวจเลยว่าเรามีหรือเปล่า

ดังนั้น คำพูดที่กระทรวงพลังงานบอกว่ามีน้อย กระทรวงพลังงานไม่เคยมีข้อมูล

อย่างกัมพูชา ก่อนให้สัมปทานปิโตรเลียมเขาจ้างที่ปรึกษา 2 รายไปสำรวจ แล้วเอาค่ากลางของ 2 บริษัท บอกว่าหลุมนี้มีเท่านี้ ทีนี้ก็เรียกมาทำสัมปทาน เขาก็เรียกได้เยอะ 70-80 เปอร์เซ็นต์ เชื่อไหมครับ ประเทศไทยไม่เคยทำ แล้วประเทศไทยมาบอกว่าหลุมเล็กไม่มี กระทรวงพลังงานเคยทำหรือครับ เคยไปสำรวจด้วยหรือ เราเคยถามเขาไป 2 ครั้งว่าเคยสำรวจไหม บอกว่าไม่เคย สุดท้ายจบว่าไม่มีงบประมาณ แต่คุณมาพูดปาวๆ ว่าเราหลุมเล็ก พูดได้อย่างไรครับ และต้องถามไปด้วยว่าเบื้องหลังที่มาพูดกันอย่างนี้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับบริษัทพลังงานบ้าง

ที่สำคัญที่สุด บอกไม่คุ้มในเชิงพาณิชย์ เคยแสดงหลักฐานไหมครับ ผมมีหลักฐานว่าบริษัทที่มารับสัมปทานน้ำมันในประเทศไทยส่วนใหญ่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ลอนดอนกับนิวยอร์ก พอเปิดงบ เปิดรายงานผู้ถือหุ้น จะตกเก้าอี้ เพราะกำไรกันมหาศาล มันชัดเจนมากกว่ารายงานบางเล่มของบริษัทระดับโลก ทั้งหน้าปกและรูปมีแต่ประเทศไทยเพราะมันคือคีย์ไฮไลต์ของเขา

ผมว่ามันไม่ถูกนะ เราเกิดบนแผ่นดินไทย เราควรจะทดแทนแผ่นดินไทย เห็นคนไทยเป็นพี่เป็นน้อง ทุกวันนี้ข่าวของ Upstream ซึ่งจะเป็นเรื่องของน้ำมันและแก๊ส เข้าไปดูข่าวที่เกี่ยวกับบริษัท Coastal Energy ซึ่งเป็นบริษัทที่อังกฤษ ก็ต้องบอกว่าบริษัทนี้จะมีข่าวแต่เรื่องดีๆ ของพลังงานในประเทศไทย เช่น เจออีกแล้ว ไหลมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ มีแต่ข่าวแบบนี้ ไม่เห็นได้ยินข่าวแบบที่กระทรวงพลังงานบอกว่ากระเปาะเล็ก

ไทยพับลิก้า : เพื่อปั่นหุ้น?

ไม่ได้ ติดคุกสิครับ ต้องเข้าใจ ตลาดหลักทรัพย์ที่นิวยอร์กกับลอนดอนเขาเคร่งครัดการให้ข่าวมากนะกับ ให้ข่าวเท็จไม่ได้ ให้ข่าวเกินความจริงไม่ได้ ไปค้นว่ามีข่าวแบบนี้จริงไหม รู้ไหมผมเอาข่าวนี้ขึ้นมาในการพิจารณาของ กมธ. ตัวแทนกระทรวงพลังงานบอกบริษัทนี้โชคดี อ๋อ แล้วที่เหลือนี่เหลือโชคร้ายกันหมดหรือ อยากดูบริษัทอื่นอีกไหม เดี๋ยวจะให้ดู

ที่ร้ายไปกว่านั้น เราทราบกันดีว่าชอบพูดว่าพลังงานจะหมดแล้ว แต่ต้องทราบกันด้วยนะว่า หลุมที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ขุดมาจะเกือบ 100 ปีแล้ว และมันยังไม่หมดเลย ต่อมาที่ลานกระบือ กรรมการผู้จัดการของ ปตท.สผ. บอกเข้าไปขุดวันแรกนี่ได้ 1 หมื่นบาร์เรลต่อวัน วันนี้ขุดได้ 3 หมื่นกว่าบาร์เรลต่อวัน คือบอกว่าตอนนั้นเชื่อว่าจะหมด แต่ในที่สุดเราพบมากขึ้น แสดงว่าที่จริงแล้วตามที่คิดว่าจะหมดหรือไม่หมด หนึ่ง ขึ้นอยู่กับพื้นที่สัมปทานที่คุณเปิด มันยังมีพื้นที่ใหม่ที่คุณยังไม่ได้อีกนะ สอง ความลึกที่คุณเจาะ คุณขุดไป 1 กิโล ตรงนี้หมดแล้ว แต่เจาะไปอีก 2 กิโล คุณอาจจะเจออีก

ฉะนั้น เวลาที่เขาบอกว่าหมดคือหมดเท่าที่ตรงนี้ แต่ถ้าเจาะไปอีกก็เจอ และสาม เทคโนโลยีที่ใช้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ ราคาถูก คุ้มทุนเลย เช่น เมื่อก่อนเจาะตรงๆ แต่เดี๋ยวนี้เจาะเอียงไปได้ ทำไมไม่พูดเรื่องนี้ ผมพูดเรื่องนี้ใน กมธ. ก็ดิสเครดิตผมในที่ประชุม ผมเลยบอกว่าไม่ทราบหรือครับว่าผมเคยเป็นคนวางท่อน้ำมันมาก่อน

ถ้าคนไทยตื่นรู้เมื่อไหร่ ผมว่ากระทรวงท่านแย่เลยนะ วันนี้ท่านจะให้ข้อมูลแบบนี้ไม่ได้นะ คือเราเป็นข้าราชการมีตำแหน่งสูง ใส่สายสะพาย มีอะไรทุกอย่าง เราจะทำแบบนี้กับประชาชนไม่ได้ แล้วทรัพย์นี้เป็นทรัพย์ของประชาชน ท่านทำแบบนี้กับประชาชนไม่ได้ นี่เหมือนกับเรื่องมรดก ที่ผู้จัดการมรดกไม่ให้เรารู้ แต่วันนี้เรารู้แล้วท่านยังไม่เปลี่ยนอีกหรือ คือวันนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้าของแผ่นดินมากนะ ถ้าประเทศเรามีแต่ทรายไม่มีต้นไม้สักต้น ผมเชื่อว่าทรัพยากรปิโตรเลียมจะถูกบริการจัดการได้ดีกว่านี้ เพราะเป็นทรัพยากรเดียวที่เรามี แต่พอดีวันนี้เราอยู่ดีกินดี ให้คนมาจัดการเขาก็อยากจัดการแบบที่เขาอยากจะจัดการ

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้แหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ของไทยเหลืออยู่ที่ไหนบ้าง

ผมว่ามันทั้งประเทศเลยนะ (หัวเราะ) ที่เป็นแหล่งใหญ่ บนบกที่มันใหญ่มากๆ ก็คือแหล่งสิริกิติ์ ครอบคุลม 4 จังหวัด นครสวรรค์ พิษณุโลก กำแพงเพชร สุโขทัย ต้องบอกว่ามันใหญ่มาก ที่จังหวัดเหล่านี้มีหลุมผลิตน้ำมันทั้งหมด 300 กว่าหลุม ต้นทุนก๊าซแอลพีจี ผมได้ไปดูมาต้นทุน 1 บาทกว่า แต่อยากจะขึ้นราคาให้คนไทยใช้ราคาแอลพีจีตลาดโลก ค่าภาคหลวงคือ 10 เปอร์เซ็นต์ของบาทกว่า คุณได้ 10 กว่าสตางค์ แต่คุณไปขายคนไทยในราคาตลาดโลกคือ 30 บาท ถามว่าใจคุณทำด้วยอะไร

ไทยพับลิก้า : กระทรวงพลังงานบอกว่าอยากให้คนไทยประหยัดพลังงาน

เรื่องประหยัดพลังงานผมเห็นด้วย เพราะเราใช้พลังงานเปลืองก็ทำให้ผู้ค้าพลังงานรวย แต่ประเด็นที่ผมกำลังจะพูดก็คือว่าขายแพงก็ได้ แต่เงินต้องเข้าหลวงนะครับ ต้นทุนบาทกว่านี่คุณบวกกำไรไปแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าคุณจะขายเราในราคาตลาดโลก 30 บาท เงิน 29 บาท ก็ต้องเข้าประเทศนะครับ ไม่ใช่เข้าบริษัทพลังงานแล้วบอกว่าเพื่อการประหยัดพลังงาน มันเป็นเรื่องตลกนะ วันนี้ราคาพลังงานขึ้นเราควรจะดีใจเพราะเรามีพลังงานเยอะ แต่เรากลับไม่ได้เคยรวยขึ้นเลย คำว่าโชติช่วงชัชวาลนี่ขอทวงหน่อยเถอะ มันอยู่ไหน หรือมันจะโชติช่วงแค่คนในกระทรวง หรือโชติช่วงแค่บริษัทพลังงาน

อย่าลืมว่าสัมปทานที่เราให้นี่เป็นสัมปทานที่ถูกที่สุดในอาเซียน ขุดที่ไหนไม่ถูกเท่านี้อีกแล้ว คือเอาผลประโยชน์น้อยที่สุดในอาเซียน บูรไนขุดน้อยกว่าเรา 3 เท่า นะครับ ทั้งน้ำมันและแก๊ส อันดับโลกห่างจากเราเยอะ แต่เขาได้ผลประโยชน์เยอะกว่าเรามาก จะบอกว่าประเทศไทยกระทรวงรู้น้อยหรือเปล่า ผมไม่ทราบ เพราะอะไรครับ มีทุจริตหรือเปล่า ให้ตั้งข้อสังเกตนะ

สิ่งที่น่าตกใจก็คือว่า กระทรวงพลังงานชอบพูดว่าต้นทุนในการขุดเจาะมันสูง เราต้องเห็นใจผู้ขุดเจาะ แต่ไปดูงบสิครับ เขากำไรแสนกว่าล้าน และเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ 30 เปอร์เซ็นต์ ผมว่ากระทรวงมีปัญหาแล้วนะ

เราเคยพูดเรื่องบริษัทของเพิร์ลออย เอนเนอร์จี้ กระทรวงพลังงานรู้จักดี สนิทกัน แต่พอผมพูดเรื่องนี้ปุ๊บ ข้อมูลในเว็บไซต์หายเลย แต่ก่อนนี้เขาจะพูดเลยว่าในเมืองไทยเจ๋งมาก แต่ตอนนั้นหน้าของเมืองไทยไม่มีแล้ว ถามว่าถ้ามันเป็นเรื่องที่ดีทำไมต้องปกปิดละ บางบริษัทลงไว้ให้ผู้ถือหุ้นรู้ว่าต้นทุนการขุดเจาะในเมืองไทยต่ำที่สุดในโลก โดยมีต้นทุนน้ำมันลิตรละบาท 1.60 บาท

เช่น ที่อเมริกา 15 เหรียญ ยุโรป 17 เหรียญ แอฟริกา 12 เหรียญ ไทย 8 เหรียญต่อบาร์เรล เห็นข้อมูลอย่างนี้กระทรวงพลังงานยังบอกว่าข้อมูลผิดเลย ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ที่นิวยอร์ก ไม่ว่าข้อมูลจะมาทั้งจากผู้ขุดเจาะ ตลาดหลักทรัพย์ กระทรวงพลังงานบอกผิดหมด แล้วที่ถูกว่าอย่างไร ท่านไม่เห็นแสดงตัวเลขให้ผม

กราฟแสดงอัตราการใช้น้ำมันดิบของประเทศไทย ที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เป็นผู้ทำขึ้น

กราฟแสดงอัตราการใช้น้ำมันดิบของประเทศไทย ที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เป็นผู้ทำขึ้น

ทั้งนี้ กราฟที่แสดงข้างต้น เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งของกระทรวงพลังงานที่รายงานเรื่อง “ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายได้ที่ประเทศได้จากการประกอบกิจการปิโตรเลียม”

จากกราฟข้างต้น ส่วน “สีชมพู” คือการนำเข้าน้ำมัน ส่วน “สีฟ้า” คือเรามีเอง แต่ข้อมูลเป็น “เท็จ” ทั้งสองอัน ผมไม่อยากใช้คำว่า “เท็จ” แต่ที่แสดงว่าเรามีเอง 1.5 แสนบาร์เรล จริงๆ มีเกือบ 3 แสนบาร์เรล เขาเอาคอนเดนเซทกับก๊าซโซลีนธรรมชาติออกไป อย่าลืมว่า 2 สิ่งนี้คือหัวกะทิน้ำมันดิบ เพราะคอนเดนเซทมันแยกตัวเองอยู่แล้ว ตอนอยู่ใต้ดินลึก 2 กิโลเมตร ความร้อนเป็น 100 องศา มันเป็นไอ เป็นก๊าซตอนอยู่ใต้ดิน แต่พอมันขึ้นมาเจออุณหภูมิปกติที่ 30 กว่าองศา มันกลั่นตัวกลายเป็นของเหลว คุณสมบัติใกล้เคียงเบนซิน ตัวมันถ้าเอามากลั่นจะได้ก๊าซหุงต้มเยอะ เบนซินเยอะ และได้ดีเซลบางส่วน ดังนั้น สิ่งที่กลั่นเป็นน้ำมันได้มันไม่ใช่แค่นี้ไง เห็นไหมครับว่าเขากำลังเล่นกับความไม่รู้ของคนไทย ชัดเจนไหม

ส่วนในปี 2555 ที่แสดงจำนวนการนำเข้าน้ำมันดิบ 8 แสนบาร์เรลนั้น (แท่งกราฟสีชมพูริมขวาสุด) ในจำนวนนี้มี 2.3 แสนบาร์เรลเป็นการนำเข้าเพื่อการส่งออก ถามว่ากระทรวงนำมารวมในกราฟนี้ทำไม ตัวเลขนี้ไม่ใช่คนไทยใช้ทั้งหมด 8 แสนบาร์เรลนะ เพราะตัวนี้คุณนำเข้าเพื่อการส่งออก ก็คือนำเข้ามากลั่นให้ฝรั่งใช้แล้วคุณบอกคนไทยใช้เปลือง ทีนี้ ใน 8 แสนบาร์เรล คนไทยใช้ประมาณ 6 แสนบาร์เรล ไม่เกินนี้ แต่เรามีเองที่ผลิตได้ 3 แสนบาร์เรล จริงๆ แล้วเรานำเข้าแค่ 3 แสนบาร์เรล ที่ให้คนไทยใช้ “เห็นความผิดปกติหรือยัง” นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เป็นคอนเดนเซทอีก 1 แสน ที่มีการนำเข้าเพื่อไปทำปิโตรเคมีซึ่งไม่ใช่เรื่องของเรา แต่กระทรวงพลังงานก็นับตรงนี้เป็นของเราอีก

ดังนั้น นำเข้าเกินมา 5 แสนบาร์เรล แล้วก็โทษคนไทย ถามว่าอย่างนี้คือข้อมูลเท็จใช่ไหม ไม่เท็จ แต่มันจริงครึ่งเดียว ถามว่าข้อมูลถูกไหม ถูกแต่ผิด

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ ปตท. เอาไปใช้เอง นำเข้าเพื่อการส่งออก เอาไปให้ลูกใช้ก็มารวมว่าเป็นความต้องการของประชาชน แล้วบอกว่าประชาชนใช้เปลือง ประชาชนก็เป็นแพะไป

ไทยพับลิก้า : ที่มีปัญหาจริงๆ คือ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม

ปัจจุบันประเทศไทยได้ผลประโยชน์จากส่วนแบ่งสัมปทานปิโตรเลียมต่ำที่สุดในอาเซียน แต่การที่ผลิตพลังงานไม่ได้ต่ำที่สุดในอาเซียน เราผลิตพลังงานได้มากกว่าบูรไน 3 เท่า เราผลิตพลังงานได้มากกว่าเขมร มากกว่าพม่า แต่เราได้ผลประโยชน์ต่ำกว่าทุกประเทศ แปลว่าอะไรครับ กฎหมายปิโตรเลียมเราใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 วันนั้นราคาน้ำมันอยู่ที่ 3.56 เหรียญต่อบาร์เรล วันนี้ 100 เหรียญต่อบาร์เรล ท่านก็ไม่แก้กฎหมายนะครับ ท่านก็ยังยืนว่ากฎหมายที่ออกตอนที่น้ำมัน 3 เหรียญต่อบาร์เรล ใช้ได้จนน้ำมันเป็นร้อยเหรียญแล้ว

ต้องบอกว่าสิ่งเหล่านี้ประเทศอื่นเขาเห็นว่า เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นสูงจากเพียงไม่กี่เหรียญต่อบาร์เรลเป็นร้อยเหรียญ บริษัทพลังงานก็จะกำไรเยอะมาก ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของของทรัพยากร เราก็ต้องได้ส่วนแบ่งที่มากขึ้น เขาทำกันแบบนี้ทั้งนั้น

ประเทศเราไม่เคยคิดที่จะแก้ไขกฎหมายตัวนี้เลยตั้งแต่ 2514 นาน 40 กว่าปีแล้ว น้ำมันอยู่ 3 เหรียญต่อบาร์เรลจนไป 100 เหรียญ ก็ไม่แก้กฎหมาย แม้จะมีการแก้ไขกฎหมายในปี 2532 ตอนนั้นแก้แล้วด้วยเหตุผลที่ว่าท้าย พ.ร.บ. เขียนว่า เนื่องจากราคาน้ำมันตกต่ำจึงต้องลดค่าภาคหลวงลง คือเวลาน้ำมันลงท่านรีบแก้กฎหมาย แต่น้ำมันราคาขึ้นท่านไม่แก้เลย ตอนนั้นเราได้แค่ภาคหลวงอยู่ 12.5 ของใหม่ได้ 5-15 เปอร์เซ็นต์ เป็นขั้นบันได

ดังนั้น น้ำมันที่มีประมาณ 50 ล้านลิตรต่อปี หลุมน้ำมันแบบนั้น เดิมจาก 12.5 วันนี้แค่จาก 5 เท่านั้น นี่คือแย่ลง ผมสังเกตว่าเวลานั้นราคาลงท่านก็ขยันแก้ไขกฎหมาย วันนี้น้ำมันขึ้นเป็น 100 เหรียญแล้ว ถามใน กมธ. 3-4 ครั้ง ก็ยืนยันว่าไม่แก้ อ้างว่าต้นทุนสูง

ผมอยากจะถามกลับไปว่า วันที่น้ำมัน 20 เหรียญต่อบาร์เรล 5 หรือ 3 เหรียญต่อบาร์เรล อะไรก็ตาม ต้นทุนมันก็อย่างนี้ไม่ใช่หรือครับ ตอนที่น้ำมันราคาเท่านั้นบริษัทก็มีกำไรแล้ว พอน้ำมันเป็นร้อยเหรียญท่านก็ไม่แก้กฎหมาย ยิ่งแพงขึ้นเขาก็มีกำลังเพิ่มมากขึ้น คำว่าต้นทุนสูงมันไม่ใช่ต้นทุนเพิ่งสูง ที่บอกว่าประเทศไทยขุดเจาะยากก็ขุดเจาะยากมานานแล้ว วันนี้น้ำมันขึ้นมาจากปี 47 จำนวน 400 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการขยับเขยื้อนการแก้ไขกฎหมายใดๆ เลย ทั้งที่กฎหมายปิโตรเลียมเก่ามากถึง 20-30 ปี กฎหมายอื่นแก้ได้ รัฐธรรมนูญแก้ได้ แต่กฎหมายปิโตรเลียมแก้ไม่ได้

น้ำมันเบนซิน 95 ราคา 100 บาท 30 กว่าบาทเป็นมูลค่าน้ำมันดิบ 40 กว่าบาทไปบริษัทผู้ค้าน้ำมัน และ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ก็เป็นภาษี ไม่มีบริษัทผู้ค้าน้ำมันที่ไหนในโลกทำได้แบบนี้นอกจากบริษัทน้ำมันประเทศไทย

ไทยพับลิก้า : นอกจากแหล่งสิริกิติ์แล้วมีบ่ออะไรที่ใหญ่ๆ อีกบ้าง

เพชรบูรณ์ใหญ่มากเลยครับ แต่คนเพชรบูรณ์ไม่รู้เรื่องเลย เพชรบูรณ์ผู้ขุดเจาะได้รายงานต่อผู้ถือหุ้นว่ามีน้ำมันอยู่ใต้ดิน115 ล้านบาร์เรล มีมูลค่ากว่า 3.6 แสนกว่าล้านบาท นี่คือจังหวัดเดียวนะ ถามว่ากระทรวงพลังงานเคยบอกเราไหม ผมต้องไปเอารายงานของผู้ถือหุ้น

ที่ จ.สงขลา ขุดขึ้นมา ปีละ 25,000 ล้านบาททุกปี คนสงขลาไม่รู้เรื่อง นี่ยังขุดไม่หมดพื้นที่นะครับ ยังมีอีกเยอะ แต่วันนี้ขุดอยู่ปีละ 2.5 หมื่นล้านบาท คนสงขลาก็ไม่รู้เรื่อง ถ้าขุดอีก 20 ปี จะเป็นเงินเท่าไหร่ มหาศาล คนสงขลาไม่รู้เรื่อง คนหาดใหญ่ไม่รู้เรื่อง ไม่มีใครรู้เรื่องอะไรเลย

ไทยพับลิก้า : อดีต รมว.พลังงานคนหนึ่งบอกว่า ความหวังหนึ่งเดียวของพลังงานไทยคือบริเวณพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

คือ พื้นที่ทับซ้อนนี่มันเป็นพื้นที่ของไทยตามกฎหมายทะเล เพราะตรงนั้นมีเกาะกูด พื้นที่ทับซ้อนตรงนั้นได้มาจากการแลกดินแดนฝั่งซ้าย แม่น้ำโขงที่มีเสียมเรียบ มีนครวัด รัชกาลที่ 5 ยอมแลกและเอาจันทบุรีกับตราดมา แต่ที่ตราดมีเกาะกูดอยู่เกาะหนึ่ง เกาะกูดต้องมี 12 ไมล์ทะเล แล้วถ้ารัฐบาลนั่นไปยอมเกี้ยเซียะแล้วบอกว่าร่วมกันนะ รัฐบาลนั้นยกดินแดนให้เขาแล้ว บางคนก็ยังไปเถียงอีกว่าทะเลไม่ใช่ดินแดน ทะเลคืออาณาเขต ถูกไหม ผลประโยชน์ทางทะเลต้องเป็นของเรา รัชการที่ 5 ยอมเสียน้ำตาแลกมา เอาทะเลผืนใหญ่มา คุณก็ไปยอมยกให้เขา

ไทยพับลิก้า : มีความพยายามในการสื่อว่ากัมพูชาไม่มีโรงแยกก๊าซ ประชากรน้อยกว่าไทย เราจะรับประโยชน์มากกว่า

แม้เราได้ใช้เราก็ต้องจ่ายราคาตลาดโลก ไม่เห็นต้องขุดตรงนี้เลย ไปเอาที่อื่นก็ได้ ผลประโยชน์ก็ไม่เคยเข้าหลวง จะทำทำไมครับ วันนี้สัมปทานน้ำมันดิบเลิกให้หมด วันนี้คุณเติมน้ำมันราคานำเข้าจากสิงคโปร์ คุณจะขุดน้ำมันทำไม วันนี้ขุดบางกระบือลงมาบางจากเป็นราคาสิงคโปร์แล้ว แล้วจะขุดกันทำไม ก็นำเข้าไปเลย เพราะใช้ราคาสิงคโปร์แต่มากลั่นที่นี่ แล้วมลภาวะล่ะ

พื้นที่ทับซ้อนคุณไม่ต้องขุดหรอก เพราะคนไทยจะไม่ได้ประโยชน์อยู่แล้ว เราใช้ราคาแพงอยู่แล้ว เก็บไว้ให้ลูกหลานในวันหน้าคิด จะตกลงผลประโยชน์ได้เมื่อไหร่ ราคาได้เมื่อไหร่

ให้ทำวันนี้ “คิดไม่ได้ ไม่ต้องทำ”

บทความนี้คัดลอกมาจาก http://thaipublica.org/2012/12/interview-kornkasiwat/

 
Home > Articles > เศรษฐกิจ > ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แฉความลับ สัมปทานน้ำมันไทยทำไมได้ผลตอบแทนต่ำ

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5585
Content : 3038
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8560020

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า