Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > เศรษฐกิจ > ผลประโยชน์ไทย-จีนในกำมือรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ผลประโยชน์ไทย-จีนในกำมือรัฐบาลยิ่งลักษณ์

พิมพ์ PDF

ผลประโยชน์ไทย-จีนในกำมือรัฐบาลยิ่งลักษณ์

โดย รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คอลัมน์ “มองจีนมองไทย” กรุงเทพธุรกิจ

http://www.bangkokbiznews.com/home/news/politics/opinion/aksornsri/news-list-1.php

 

ในช่วง 1-2 ปีมานี้ กระแส “นิยมจีน” ในเมืองไทยช่างเบ่งบานไปถ้วนทั่วเกือบจะทุกวงการ โดยเฉพาะบรรดานักการเมืองและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานราชการไทยหลายแห่งต่างพากันยกย่อง “เชิดชูจีน” มากจนเกินจริง ทำให้ดิฉันอดที่จะเป็นกังวลไม่ได้ เพราะการ “เห่อจีน”หรือการมีภาพลวงตาในความสัมพันธ์กับจีนมากเกินไป  อาจจะเกิดภาวะสุ่มเสี่ยงทาง EQ จนทำให้บรรดาผู้กำหนดนโยบายหรือผู้กุมอนาคตของประเทศไทยเหล่านั้นมีการตัดสินใจผิดพลาดทั้งในเชิงนโยบายและทางปฏิบัติก็เป็นได้ค่ะ

เมื่อเร็วๆนี้ ดิฉันได้ไปเข้าประชุมติดตามและกำหนดท่าทีไทย-จีนร่วมกับอธิบดีกรมสำคัญของไทยรายหนึ่ง โดยมีหน่วยงานจากกระทรวงต่างๆ และฝ่ายความมั่นคงของไทยกว่า 20 แห่งเข้าร่วมประชุมด้วย  เมื่อเริ่มการประชุมคุณท่านอธิบดีก็เกริ่นนำร่ายยาวยกย่องความสัมพันธ์ไทย-จีนอย่างสุดแสนเคลิบเคลิ้ม โดยเฉพาะการใช้คำว่า “ที่สุด สูงสุด พิเศษ” อย่าพร่ำเพื่อ มิหนำซ้ำยังมีการเขียนบันทึกในรายงานราชการว่า “มีเพียงไทยเท่านั้นที่มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมมากที่สุด เป็นมิตรที่จีนไว้ใจได้มากที่สุด” และอื่นๆ อีกมากมาย

บทความในวันนี้ จึงตั้งใจที่จะนำประเด็น “ผลประโยชน์จีน” ในแผ่นดินไทยที่อยู่ในกำมือของรัฐบาลไทยชุดนี้มาบอกกล่าวรายงานให้ปวงชนชาวไทยได้รับรู้รับทราบ เพื่อจะได้ช่วยกันเตือนสติ  หรือช่วยเป็นปากเป็นเสียงและร่วมกันปกป้องผลประโยชน์ของชาติ  (เมื่อถึงคราวจำเป็น) แต่เนื่องด้วยเนื้อที่จำกัด  จะขอยกตัวอย่างเฉพาะกรณี “เหมืองแร่โปแตช” ในอีสานไทยเป็นกรณีศึกษาในเรื่องนี้นะคะ

ดิฉันตั้งใจใช้คำว่า “ผลประโยชน์ของจีน” ในกรณีของแร่โปแตช  เพราะฝ่ายจีนได้พยายามอย่างหนักที่จะเข้ามาลงทุนทำเหมืองแร่โปแตชในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธในปี 2547 โดยเฉพาะในอีสานไทย  ซึ่งว่ากันว่า มีแร่โปแตชฝังอยู่ใต้ดินสลับกับชั้นเกลือหินอยู่เป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากในอดีตแผ่นดินอีสานเคยเป็นทะเลมาก่อน

ฝ่ายจีนมีข้อมูลแหล่งแร่โปแตชของไทยเป็นอย่างดีและจับจ้องมองด้วยตาเป็นมัน นักการทูตจีนรายหนึ่งถึงกับกล่าวว่า  “ไทยมีแร่ตัวนี้มากติดอันดับโลก ผมติดตามเรื่องนี้มานาน ไม่เข้าใจว่า ประเทศไทยนั่งทับกองเงินกองทองอยู่แต่ทำไมไม่นำมาใช้ประโยชน์เลย”

แร่โปแตซเป็นวัตถุดิบสำคัญเชิงยุทธศาสตร์  ซึ่งฝ่ายจีนตระหนักรู้เป็นอย่างดีว่า “แร่โปแตชสามารถนำมาผลิตเป็นปุ๋ยที่สำคัญทางการเกษตร และมีความต้องการใช้อย่างแพร่หลาย  จึงมีความเกี่ยวพันกับประเด็นความมั่นคงทางอาหารของโลก  ที่ผ่านมา  ประเทศตะวันตกเป็นฝ่ายผูกขาดในการกำหนดราคาแร่โปแตช จนทำให้ประเทศผู้ใช้ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงมาก จีนจึงต้องการแสวงหาแหล่งแร่โปแตชใหม่ๆ เพื่อลดตันทุนนี้”   คำกล่าวนี้จึงชัดเจนว่า ประเด็นแร่โปแตชในอีสานไทยเป็นผลประโยชน์ของจีนมากเพียงใด และกลุ่มทุนจีนโดยบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้เข้ามายื่นขอสำรวจและหาประโยชน์จากแหล่งแร่โปแตซ  ในจังหวัดอีสานของไทย ตั้งแต่ปี 2547

อย่างไรก็ดี  ที่ผ่านมา กระบวนการพิจารณาเรื่องนี้ของรัฐบาลไทยต้องล่าช้า  เนื่องจากมีการปฏิรูประบบการบริหารราชการของกระทรวงอุตสาหกรรม ตาม พรบ. ปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม (2545)  ทำให้หน่วยงานเดิมของไทยที่รับผิดชอบเรื่องนี้ คือ  กรมทรัพยากรธรณี  ถูกแยกออกเป็น 4 กรมและกระจายออกไปอยู่ใน 3 กระทรวง  ได้แก่    (1) กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  (2)  กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  (3) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม และ (4) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

การปฏิรูประบบราชการดังกล่าวทำให้คำยื่นขออาชญาบัตรพิเศษในการขออนุญาตสำรวจแร่ฯ ต้องถูกโอนย้ายไปอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงใหม่ คือ  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้กลุ่มทุนจีนต้องเสียเวลาในการเริ่มกระบวนการยื่นเรื่องใหม่  และย่อมเป็นเรื่องไม่น่าพึงปรารถนาสำหรับฝ่ายจีน

จึงมีการวิ่งเต้นและผลักดันเพื่อผลประโยชน์ของจีนในเรื่องแร่โปแตชกับรัฐบาลไทยในเกือบจะทุกระดับ ไม่เว้นแม้กระทั่งระดับสูงสุด ได้แก่ นายกรัฐมนตรีของจีนก็ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือกับคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรีหญิงไทยที่ใส่ชุดประจำชาติของจีนได้สวยที่สุดในโลก) ในระหว่างการเดินทางเยือนจีนเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ท่านนายกฯ เวิน เจียเป่า ของจีนได้เอ่ยปากขอจากนายกฯ ไทยอย่างชัดเจนว่า “ขอให้ฝ่ายไทยอำนวยความสะดวกด้านข้อกฎหมายต่าง ๆ พร้อมทั้งขอให้สนับสนุนบริษัทจีนเข้าไปพัฒนาแร่โปแตสเซียมในไทยด้วย”

จากรายงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ทุนจีนกลุ่มนี้ได้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษ เพื่อสำรวจแหล่งแร่โปแตชที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร รวมทั้งหมด 12 แปลง กินเนื้อที่ร่วม 120,000 ไร่

ในที่สุด  ภาคจบของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เราคงจะต้องจับตาเกาะติดกันต่อไป  และต้องไม่ลืมว่า  โครงการเหมืองแร่โปแตชมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องอีสานในวงกว้าง  รวมทั้งมีผลกระทบสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะโครงการนี้เป็นการทำเหมืองใต้ดินที่จะต้องขุดเจาะลึกลงไปใต้ดินกว่า 100 เมตร ซึ่งอาจจะสร้างปัญหาแผ่นดินทรุดหรือถล่ม รวมทั้งปัญหากองเกลือจำนวนมหาศาลที่จะขุดขึ้นมาอยู่บนผิวดิน หากไม่มีอะไรปกคลุม ฝุ่นเกลือและโปแตชอาจจะปลิวไปในบริเวณรอบๆ ตามทิศทางลม หรือกรณีที่มีฝนตกหนัก/น้ำท่วม กองเกลือหลายล้านตันเหล่านั้นก็จะละลายลงสู่ที่สาธารณะได้ง่าย  อาจจะไหลลงไปในนาข้าวหรือแหล่งน้ำธรรมชาติที่ชาวบ้านต้องใช้ต้องดื่มก็อาจจะปนเปื้อนเกลือเค็มและสารเคมี เป็นต้น

จึงขอฝากเตือนสติ เพื่อให้ผู้ที่มีอำนาจรัฐอยู่ในกำมือจะไม่เผลอไผลหลงใหลไปกับน้ำคำหวานทางการทูตของฝ่ายจีน (นับวันจะมีความเป็นมืออาชีพและมีลีลามากขึ้น) เพราะสิ่งสำคัญที่สุด คือ การเจรจากับฝ่ายจีนด้วยความรอบคอบ  และการสร้างสมดุลในการต่อรองกับจีนในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของไทย  รวมทั้งการวางตัวอย่างเหมาะสมและมีศักดิ์ศรี เพื่อให้ฝ่ายจีนเคารพท่าทีของไทยเราด้วย

ขอแถมท้ายด้วยเกร็ดเล็กน้อยประเด็นน้องหมีหลินปิง  ซึ่งท่านนายกฯ หญิงคนงามจากเชียงใหม่ช่างมีความพยายามอุตสาหะในการ “ขอหมี” จากฝ่ายจีน โดยเฉพาะในการไปเยือนจีนเมื่อเมษายนปีที่แล้ว  ในขณะที่ นายกฯ จีน เอ่ยปากขอเรื่องเหมืองแร่โปแตชจากฝ่ายไทย นายกฯ หญิงไทยก็ได้หยิบยกประเด็นหมีแพนด้าขึ้นมาพูดกับนายกฯ จีน รวมทั้งยังได้ไปเอ่ยปากขอหมีจากประธานรัฐสภาจีน (ไม่เกี่ยว) ด้วย   ซึ่งฝ่ายจีนได้ใช้ภาษาทางการทูตในการตอบว่า “ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา”  (แปลว่า ยากส์/ไม่รับปาก)  ต่อมา  เมื่อนายกฯ จีนเดินทางมาเยือนไทยในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน  นายกฯ คนสวยก็ยังคงมีความอุตสาหะบากบั่นอย่างยิ่งยวดในการเอ่ยปากขอหมีจากนายกฯ จีนอีกครั้ง  จนดิฉันอดคิดไม่ได้ว่า  ท่านนายกฯ เวินของจีนคงจะลำบากใจและอึดอัดใจน่าดู

ล่าสุด มีข่าวแว่วมาว่า  ฝ่ายจีนอาจจะตัดสินใจปล่อยให้พ่อหมี-แม่หมีอยู่ในไทยต่อไปได้  แต่จำเป็นต้องนำลูกหมีหลินปิงกลับแผ่นดินจีน ซึ่งเรื่องนี้ ดิฉันค่อนข้างเข้าใจฝ่ายจีน เพราะแท้จริงแล้ว การปล่อยให้หมีน้อยหลินปิงได้กลับไปอยู่อาศัยตามป่าตามเขาวิ่งเล่นตามธรรมชาติน่าจะเป็น  การแสดงความ”รักหมี” อย่างที่ควรจะเป็นมากกว่านะคะ

 
Home > Articles > เศรษฐกิจ > ผลประโยชน์ไทย-จีนในกำมือรัฐบาลยิ่งลักษณ์

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5605
Content : 3049
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8598653

facebook

Twitter


บทความเก่า