Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การบริหารการจัดการ > ประชาธิปไตยสายตรง (๒) ประชาธิปไตยชุมชน

ประชาธิปไตยสายตรง (๒) ประชาธิปไตยชุมชน

พิมพ์ PDF

#ประชาธิปไตยสายตรง (๒)

#ประชาธิปไตยชุมชน

เป็นเรื่องดีที่ภาคการเมืองเสนอเรื่อง “ประชาธิปไตยที่หมู่บ้าน” เพื่อเป็นรากฐานประชาธิปไตยทีมั่นคง ป้องกันวงจรอุบาทว์ของการทำ “รัฐประหาร” (ของทหาร และการ “การผูกขาดอำนาจ” ของรัฐบาลพลเรือน – ผู้เขียนเติมเอง) ที่มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อบ่ายวันที่ 17 พฤศจิกายน 2561

เป็นเรื่องดีถ้าเป็น “วาทกรรม” (discourse) ที่จุดประกายการถกเถียง เป็นวิภาษวิธีที่นำไปสู่ข้อสรุปใหม่และเกิดปัญญา แต่ถ้าพูดเพียงให้ดูดี ไม่มีความตั้งใจให้เกิดขึ้นจริง ก็อาจเป็นเพียงวาทศิลป์ (rhetoric) การตีฝีปากที่บิดเบือนเพื่อประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะหน้า เพราะท่านมหาตมะ คานธี บิดาแห่งชาติของอินเดีย เคยพูดไว้นานแล้วว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ท่านให้ความหมายที่เป็นองค์รวม ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยทำให้ดูเป็นตัวอย่างอีกด้วย นักการเมืองอินเดียบอกว่าเห็นด้วยกับท่าน แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้ทำอะไรจริงจัง ทำอะไรที่ได้คะแนนเท่านั้น ท่านจึงเล่าเรื่องจากมหาภารตะ ตอนที่อรชุนจะออกรบแล้วลังเล พระนารายณ์ในร่างพระกฤษณะสารถีรถม้าของอรชุน กล่าวกับอรชุนเป็นเวลายาวนาน เนื้อหานั้นก็คือ ภวควคีตา หนึ่งในคัมภีร์อันสูงสุดของฮินดู อรชุนจึงได้ออกรบ มหาตมะคานธีสอนนักการเมืองอินเดียว่า อย่าได้คิดเพียงว่าทำอะไรแล้วจะชนะหรือไม่ ได้ประโยชน์ได้กำไรหรือไม่ จึงค่อยลงมือทำ แต่ให้ทำเพราะเป็นหน้าที่ เพราะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 9 ก็ทรงสอนเรื่องคล้ายกันใน “พระมหาชนก” เมื่อเรือสำเภาที่จะไปสุวรรณภูมิแตก คน 700 คนได้แต่อ้อนวอนเทวดา ตายหมด ขณะที่พระมหาชนกเตรียมตัวแล้วลงมือว่ายในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ นางมณีเมขลาเทวดามาเห็นจึงถามว่า ไม่เห็นฝั่งทำไมยังว่ายอยู่ได้ บทเรียนสำคัญของพระมหาชนก คือ “ความเพียรอันบริสุทธิ์ทำให้เกิดสิ่งอัศจรรย์” เทวดาได้อุ้มพระมหาชนกขึ้นฝั่งในที่สุด

ความปรารถนาดีของฝ่ายการเมืองที่อยากเห็น “ประชาธิปไตย” จากฐานราก คือ จากหมู่บ้าน ชุมชน ไม่ว่าชนบทหรือเมือง เป็นหลักคิดที่ทุกคนเห็นด้วยกันทั้งนั้น อยู่ที่วิธีการจะทำอย่างไรให้เกิดได้จริง ที่ผ่านมา นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ รัฐบาล คนมีอำนาจ มักคิดแทนชาวบ้าน แบบปรารถนาดีประสงค์ร้าย เพราะไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าชาวบ้านมีปัญหาอะไร มีศักยภาพอะไร ต้องการอะไร มักจะอ้างว่าได้ไปคลุกคลีเข้าถึงประชาชน แต่ผลที่ออกมาทำไมไม่มีอะไรที่ไปช่วยให้ “ชาวบ้าน” หรือ “ชุมชน” เข้มแข็งจริง กลับถูกครอบงำ และทำตามที่คนมีอำนาจบอกให้ทำ สั่งให้ทำ เพราะมีทั้งพระเดชและพระคุณ ดูแต่การเสวนาที่มหิดลวันก่อนก็ไม่มี “ชาวบ้าน” จาก “หมู่บ้าน” มาร่วมนั่งให้ความคิดเห็นแม้แต่คนเดียว เต็มไปด้วยคนจาก “หมู่บ้านจัดสรร” ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่อ้างว่าพูด “แทนชาวบ้าน”

การทำความเข้าใจกับ “ประชาธิปไตยชุมชน” ไม่ควรเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ “ทฤษฎี” หรือหลักปรัชญาด้วยวิธีการ “นิรนัย” (deductive) แต่ควรเรี่มต้นจาก “ชุมชน” ด้วยวิธีการ “อุปนัย” ( inductive) แนวคิดก็คงมีอย่างเดียวอันเป็นหลักสากล คือ ประชาธิปไตยหมายถึงประชาชนปกครองตนเอง จากนั้นควรไปค้นหาข้อมูลตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันว่า ชาวบ้านในอดีตปกครองตนเองอย่างไร ก็จะพบหลักว่าด้วย “อนาธิปัตย์” (anarchism) หรือการปฏิเสธอำนาจรัฐ การหนีอำนาจรัฐ มาจนถึงการลอดรัฐและข้ามรัฐ

ชาวคีรีวงที่มูลนิธิหมู่บ้านได้ไปร่วมกับชาวบ้านวิจัยตนเองเมื่อปี 2531 ค้นหารากเหง้าและวิวัฒนาการของชุมชนพบว่า พวกเขาเป็นไพร่หนีนายเข้าไปอยู่ในหุบเขาหลวง ไม่ไปรบที่ไทรบุรีตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ และเพิ่งออกมาสู่โลกภายนอกเมื่อปี 2505 เมื่อเกิดวาตภัยแหลมตะลุมพุก

คีรีวงเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง และรอดพ้นจากภัยพิบัติธรรมชาติและการครอบงำของอำนาจทางสังคมเศรษฐกิจการเมืองได้ดีกว่าชุมชนอื่นๆ มาจนถึงทุกวันนี้

 

เจมส์ ซี สก็อต ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ชื่อว่า ศิลปะการไม่ถูกปกครอง (The Art of Non-being Governed) พูดถึง “ชาวเขา” กว่า 100 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า ทางใต้ของจีนและทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียว่า เป็น “คนไร้รัฐ” (non-state people) ที่อาศํยอยู่ใน “เขตเงา” (shadow zone) ด้วยความสมัครใจเพื่อหนีการปกครองและครอบงำของรัฐ

นักการเมืองที่อยากส่งเสริมประชาธิปไตยในระดับฐานราก ควรศึกษาจิตวิญญาณของการต่อสู้ของชุมชนในอดีต ศึกษาภูมิปัญญาและศักยภาพของชุมชนในการปกครองตนเอง แล้วดูตัวอย่างของคนอย่างคุณหมอสงวน นิตยรัมพงษ์และแพทย์ชนบททั้งหลายที่คลุกคลีอยู่กับชาวบ้านที่เจ็บป่วย จนพัฒนานโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” ให้รัฐบาลนำไปใช้ รวมทั้งผลการวิจัย การทำงานกับชุมชนขององค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน รวมทั้งองค์กรรัฐอย่างสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ ที่ส่งเสริมเครือข่ายประชาชนและธรรมนูญสุขภาพ ธรรมนูญจังหวัด ตำบล ทั่วประเทศ เหล่านี้ล้วนเป็นความพยายามของทุกฝ่ายในการส่งเสริมการดูแลตนเอง การปกครองตนเองของชุมชน ซึ่งมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำเช่นนั้น เพียงแต่รัฐและผู้มีอำนาจไม่ “บอนไซ” ทำให้ชุมชนเป็นไม้ในกระถาง แต่ต้องปฏิรูป คือ ทุบกระถางให้ไม้ลงดิน เติบโตพึ่งพาตนเอง “คืนอำนาจ” ให้ชุมชน แทนที่จะไปคิดแทนชาวบ้านว่า ประชาธิปไตยในชุมชนควรมีระบบโครงสร้างอย่างไร นักการเมืองควรแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ที่สร้างความเหลื่อมล้ำ จำกัดโอกาสคนจนและชุมชนให้เติบโต ส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชน การเรียนรู้ในแบบที่สร้างความเข้มแข็งได้จริง

กฎหมายที่ดีและการเรียนรู้ที่มีพลังสร้างความเข้มแข็งให้ฐานราก คือ เงื่อนไขไปสู่ประชาธิปไตย ทำเช่นนี้ก่อนเถิด แล้วชุมชนจะคิดระบบโครงสร้างประชาธิปไตยในชุมชนของพวกเขาเอง

เสรี พงศ์พิศ สยามรัฐ 21 พฤศจิกายน 2561


 
Home > Articles > การบริหารการจัดการ > ประชาธิปไตยสายตรง (๒) ประชาธิปไตยชุมชน

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5581
Content : 3036
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8538606

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า