Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การบริหารการจัดการ > ประชาธิปไตยสายตรง (๓) ประชาธิปไตยทางตรงของสวิส

ประชาธิปไตยสายตรง (๓) ประชาธิปไตยทางตรงของสวิส

พิมพ์ PDF

#ประชาธิปไตยสายตรง (๓)

#ประชาธิปไตยทางตรงของสวิส

สวิตเซอร์แลนด์หรือสวิส มีประชากรอยู่ 8.5 ล้านคน มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ 700 ปี ประมาณประวัติศาสตร์ไทยนับแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงแห่งอาณาจักรสุโขทัย มีขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของภาคเหนือของไทย แต่รายได้ต่อหัวสูงอันดับต้นๆ ของโลก มากกว่าไทยสิบกว่าเท่า

สวิสมีหลายเชื้อชาติและภาษา หลักๆ คือเยอรมัน (62%) ฝรั่งเศส (23%) อิตาเลียน (8%) และอีกประมาณ 0.5% พูดภาษาโรมันช์ ภาษาเก่าแก่ท้องถิ่นทางใต้ อย่างไรก็ดี สวิสมีคนต่างชาติอาศัยอยู่ถึง 2 ล้านคน หรือประมาณ 25% ของประชากร ทั้งแบบถาวรอย่างแรงงานที่มาทำงานหลายสิบปี หรือมาทำงานในองค์การระหว่างประเทศ หรือผู้อพยพ

สวิสเป็น “ประเทศ” ในระบอบสหพันธรัฐเมื่อปี 1848 หรือเมื่อ 172 ปีมานี่เอง โดยประกอบด้วย 26 เขตปกครอง (canton) หรือประมาณ “จังหวัด” ของบ้านเรา มี 2,222 เทศบาล

สวิสมีรัฐบาลกลางที่ประกอบด้วย 7 คน เป็นผู้แทนจากพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกจากประชาชนทุก 4 ปี ใน 7 คนนี้จะเวียนกันเป็นประธานทุกปี เราจึงไม่ค่อยได้ยินว่าใครเป็นประธานาธิบดี เป็นนายกรัฐมนตรีของสวิส เป็นการปกครองที่ “รัฐบาล” มีอำนาจและมีเสียงน้อยที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะยกอำนาจไปให้ “ประชาชน” และ “จังหวัด” เกือบหมด

ที่สวิส ประชาชนมีการโหวตปีละ 4 ครั้งในระดับประเทศ โดยไปลงคะแนนในข้อเสนอประมาณ 15 เรื่อง  ส่วนในระดับจังหวัดและระดับเทศบาลนั้นอีกมากมายนับไม่ถ้วน ประหนึ่งว่าเป็น “ส.ว.” กันทุกคน ที่จะต้องร่วมตัดสินใจในกฎหมายกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกัน แต่คนสวิสก็ให้ความเคารพต่อเสียงส่วนน้อย ประชาธิปไตยไม่ใช่ “ซีโร่ซัมเกม” ที่ผู้ชนะเอาหมด

 

ประชาธิปไตยทางตรงแบบสวิส บางครั้งก็เรียกว่า กึ่งทางตรง (semi-direct democracy) เพราะมีรัฐสภา มีส.ส.ที่ได้รับเลือกด้วย แต่ก็มีการแบ่งหน้าที่กัน เพียงแต่อำนาจสุดท้ายต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจหรือ “รับรอง” ประมาณว่า ประชาชนทุกคนเป็น “ส.ว.” กันหมด “สภาประชาชน” จึงคล้าย “วุฒิสภา” ที่ทำหน้าที่รับรองกฎหมายต่างๆ และเสนอได้ด้วย

ประชาธิปไตยทางตรงของสวิสมีเครื่องมือสำคัญ คือ การลงประชามติ ซึ่งมี 3 แบบ คือ แบบบังคับ, แบบการริเริ่มของประชาชน, และแบบเลือกได้  ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทุกคนต้องไปลงประชามติ การเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้โดย “การริเริ่มของประชาชน” ที่ต้องรวบรวมรายชื่อผู้เห็นด้วยให้ได้ 100,000 คนภายใน 18 เดือน  นอกนั้นมีประเด็นอื่นๆ ที่ภาคประชาชนรวบรวมรายชื่อ 50,000 คน และ 8 จังหวัดเห็นด้วย สามารถเสนอเพื่อให้มีการลงประชามติในระดับชาติได้ เช่น เมื่อปี 2016 มีประเด็นเรื่อง “รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า” (UBI) ที่ประชาชนร้อยละ 77% ลงมติไม่เห็นด้วย  หรือการเสนอให้ออกกฎหมายให้คนงานมีเวลาพัก 6 สัปดาห์ต่อปี ก็ตกไปเช่นเดียวกัน หรือ อาจเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับประเทศอื่นๆ ก็ได้ เช่น เมื่อไม่นานมานี้ ที่มีการเสนอให้ยกเลิก “พรมแดนเปิด” กับประเทศอียู สวิสไม่ใช่สมาชิกของอียู แต่มีข้อตกลงหลายอย่างร่วมกัน อย่างการทำวีซ่า การผ่านแดนอิสระกับประเทศอียู ซึ่งคนสวิสส่วนหนึ่งเห็นว่า ข้อตกลงนี้ทำให้เกิดปัญหาผู้อพยพที่ไม่อาจควบคุมได้ แต่ผลการลงประชามติ คนสวิสส่วนใหญ่อยากให้คงเดิม เพราะได้ประโยชน์กับคนสวิสเองมากกว่า ที่ไปศึกษาไปทำงานอยู่ในประเทศอียูหลายแสนคน การเสนอของประชาชนให้มีการตรากฎหมายที่ผ่านมาร้อยกว่าปีมีอยู่ 180 ครั้ง ปรากฎว่า มีเพียง 78 เรื่องเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ คือ ได้รับการรับรองจากประชาชนส่วนใหญ่ที่ลงมติเห็นชอบ  การลงประชามติของสวิสมีคนออกไปหย่อนบัตรไม่ถึงครึ่ง (ประมาณร้อยละ 48) แต่การวิจัยพบว่า ประชาชนคนสวิสพอใจกับระบอบประชาธิปไตยทางตรงเช่นนี้ และงานวิจัยที่เกี่ยวกับปราะชาธิปไตยในโลกบอกว่า เปอร์เซนต์การออกไปลงคะแนนไม่ได้วัดความเป็นประชาธิปไตยเสมอไป เพราะการไปลงคะแนนต่ำอาจหมายถึงประชาชนพอใจในสภาพที่เป็นอยู่ พอใจในการมีสิทธิมีเสียง อย่างกรณีสวิส ความจริง การลงประชามติหรือประชาธิปไตยทางตรงเป็นประเพณีที่ทำกันมากว่า 700 ปี ในบาง “จังหวัด” ก่อนจะเป็นระดับสหพันธรัฐ ปัจจุบันนี้มีการลงประชามติในแต่ละจังหวัดแตกต่างกันไป บางแห่งมากบางแห่งน้อย รวมไปถึงการลงมติในระดับเทศบาล ที่มีกระบวนการตามมาตรฐานของเขา (คงแตกต่างจาก การทำประชาคมตามหมู่บ้าน หรือตามอบต. เทศบาลของไทยเรา)

ตัวอย่างประเด็นที่มีการลงประชามติในระดับชาติ เช่น การห้ามสร้างสถานีนิวเคลียร์  การก่อสร้างทางรถไฟใหม่ในเทือกเขาแอลป์ รัฐธรรมนูญใหม่ การควบคุมการอพยพ การยกเลิกกองทัพ การเข้าร่วมสหประชาชาติ การลดชั่วโมงทำงาน  การเปิดตลาดไฟฟ้า เป็นต้น

แม้ว่าประชาธิปไตยทางตรงของสวิสจะได้รับคำชมจากทั่วโลก และเป็นโมเดลที่หลายประเทศอยากนำไปใช้ แต่คงทำไม่ได้ทั้งหมด เพราะมีประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ภูมิรัฐศาสตร์และบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

แต่ประชาธิปไตยทางตรงจุดอ่อนเช่นเดียวกัน หนึ่งในนั้น คือ ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะไม่ได้มีอำนาจเหมือนในประเทศประชาธิปไตยทั่วไป สภา ส.ส.ไม่ได้มีอำนาจมากมายเพราะถูกคานด้วยอำนาจของภาคประชาชนที่ทำตัวเป็นเหมือน “วุฒิสภา” หรือมากกว่าเสียอีก

ภาคประชาชนของสวิสเข้มแข็ง เพราะมีส่วนร่วมทางการเมือง สามารถ “ปกครองตนเอง” ในความหมายดั้งเดิมของ “ประชาธิปไตย” (ภาษากรีก demos แปลว่าประชาชน kratos แปลว่าปกครอง) และที่สำคัญ มีกระบวนการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดเวลา เพราะก่อนการลงประชามติในทุกระดับ ที่ดูเหมือนทำกันตลอดเวลาประหนึ่งประชาชนคือ “ส.ว.” นั้น มีการอภิปราย ถกเถียง นำเสนอข้อมูลเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยในประเด็นนั้นๆ จากฝ่ายต่างๆ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันในที่สุด

 

 

ระบบการเมือง และเศรษฐกิจเมืองสวิสน่าสนใจมาก เสียดายว่า ข้อมูลที่ไกด์ไทยบอกกับนักท่องเที่ยวเวลาไปสวิสแทบไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับการเมืองสวิสเลย สวิสจึงเป็นเพียงประเทศในฝันที่ใครๆ อยากไปเที่ยวชมภูมิประเทศสวยงาม บ้านเมืองเจริญพัฒนา (จากที่เคยไปมากับทัวร์หลายปีก่อน และที่ได้ฟังจากคนอื่นๆ ที่ไปกันมา) คนไทยอยากไปซื้อนากฬิกาโรแลกซ์ ช็อคโกแล็ตอร่อย อยากไปชมยอดเขามัตเตอร์ฮอร์น (หรือแชร์วิโนในภาษาอิตาเลียน หรือแซร์แวงในภาษาฝรั่งเศส) ที่สวยที่สุดของเทือกเขาแอลป์ อยากนั่งกระเช้าไฟฟ้าหรือรถไฟขึ้นไปเล่นหิมะบนยอดเขา ถ่ายรูปสวยๆ มาอวดมาแชร์เพื่อนฝูง

 

นอกจากการเมือง สวิสมีบทเรียนมากมายในด้านเศรษฐกิจและสังคมให้เรียนรู้ ซึ่งไม่ได้มีแต่เนสเล่ โรแลกซ์ ช็อคโกเล็ตลินด์ นาฬิกายี่ห้อดัง แต่มีเรื่องพัฒนาการ การจัดการท่องเที่ยว เรื่องเศรษฐกิจชุมชน เรื่องการประกอบการขนาดย่อมที่น่าเรียนรู้อีกมาก

 

ถ้าจัดไปดูงาน ผสมผสานกับการไปเที่ยวก็คงไม่น่าเกลียดเท่าไร เพียงแต่จะไปทัวร์หรือไปดูงานมากกว่าเท่านั้น

 

เสรี พพ 27 ตุลาคม 2020


 
Home > Articles > การบริหารการจัดการ > ประชาธิปไตยสายตรง (๓) ประชาธิปไตยทางตรงของสวิส

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5581
Content : 3036
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8538603

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า