Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > ประชาสัมพันธ์ > ประชาสัมพันธ์ > ประชาธิปไตยสายตรง (๔) Lichtenstein

ประชาธิปไตยสายตรง (๔) Lichtenstein

พิมพ์ PDF

#ประชาธิปไตยสายตรง (๔)

#ลิคเตนชไตน์ Lichtenstein

ลิคเตนชไตน์เป็นประเทศเล็กที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป (ต่อจากวาติกัน, โมนาโก, ซานมารีโน) มีพื้นที่เพียง 160 ตร.กม.เท่ากับอำเภออัมพวา สมุทรสงคราม มีประชากร 38,000 คน เท่ากับอำเภอเล็กๆ หนึ่งของไทย แต่เป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก มีรายได้ต่อคนปีละประมาณ 4-5 ล้านบาท หรือเดือนละ 3-4 แสนบาท

ประเทศเล็กๆ นี้อยู่ติดกับสวิสและออสเตรีย และเยอรมันก็มีออสเตรียแคบๆ กั้นไว้เท่านั้น พูดภาษาเยอรมัน มีภูมิประเทศเป็นภูเขาสวยงามไม่แพ้สวิส คนมีชื่อเสียง มีรายได้มากอย่างนักกีฬาดังจากประเทศต่างๆ อาจเลือกโมนาโกเป็นที่อยู่อาศัยเพราะมีภาษีน้อยมาก ขณะที่ลิคเตนชไตน์ ภาษีส่วนบุคคลต่ำ แต่ภาษีการค้า อุตสาหกรรม ภาคธุรกิจต่างๆ น้อยมาก ทำให้มีบริษัทต่างชาติไปจดทะเบียนที่นี่กันมาก ทั้งมีที่ตั้งและไม่มีในประเทศนี้

ลิคเตนชไตน์พัฒนามาจริงๆ ไม่กี่สิบปีนี้เอง ที่น่าสนใจไม่ใช่แต่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เรื่องการเมือง เพราะเป็นประเทศสองระบบก็ว่าได้ เป็นประชาธิปไตย มีส.ส. มีสภา ในเวลาเดียวกันมีประมุขที่เป็นเจ้าชายที่มีอำนาจสูงสุด สามารถยับยั้ง (วีโต้) มติของสภาหรือการลงประชามติของประชาชนได้ จนมีคนถือว่านี่เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช (absolute monarchy) มากกว่า

ที่แปลก คือ การเมืองแบบนี้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจเลือกเอง เพราะเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2003 (ฉบับเดิมปี 1921) ในลักษณะนี้ ประชาชนก็เห็นชอบ และเมื่อมีการลงประชามติว่า ต้องการให้มีสองระบบนี้และเจ้าชายซึ่งเป็นประมุขยังมีอำนาจสูงสุดอยู่หรือไม่ ประชาชนร้อยละ 65 เห็นชอบ มีการไปสัมภาษณ์นักการเมือง (มี ส.ส. 35 คน) พวกเขาบอกว่า ตั้งแต่หลังสงครามโลกมานี่ เจ้าชายเคยวีโต้เพียงครั้งเดียว เป็นกฎหมายเรื่องการล่าสัตว์หรืออะไรแนวนั้น ที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตและไม่ทราบว่าทำไม

 

ประชาธิปไตยทางตรงที่ลิคเตนชไตน์คล้ายกับในสวิส ประชาชนมีสิทธิรวมรายชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เสนอกฎหมาย และเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกฎหมายที่ผ่านสภามาแล้วประหนึ่งเป็น “วุฒิสภา” ในประเทศอื่นๆ มีสิทธิรวมรายชื่อยุบสภาก็ได้ถ้ามีเหตุผลที่ดีพอ และมีเสียงประชากรเพียงพอ ประชาชนมีสิทธิเสนอข้อกฎหมายต่างๆ และเจ้าชายประมุขก็ไม่เคยวีโต้ ประชาชนลงมติเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศได้ด้วย ว่าลิคเตนชไตน์จะเข้าร่วมหรือไม่ เช่น การลงมติเมื่อปี 1992 ที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area EEA)

เจ้าชายฮันส์ อาดัมที่สองบอกว่า ประมุขอยู่สูงไม่ทราบความเป็นไป ปัญหาที่แท้จริงของประชาชนเท่ากับคนที่อยู่ในชุมชน จึงควรรับฟังเสียงของพวกเขามากที่สุด ลิคเตนชไตน์มี 11 เทศบาล ที่มีความเป็นอิสระสูงมาก สามารถวางแผนการบริหารจัดการตนเอง จัดการเก็บภาษีและดำเนินการแทบทุกอย่างด้วยตนเอง เกิดการแข่งขันระหว่างเทศบาลต่างๆ ในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวทั้งหน้าร้อนหน้าหนาวที่มีเล่นสกี

ลิคเตนชไตน์มีประวัติความเป็นมายาวนานเช่นเดียวกับบ้านเมืองต่างๆ ในยุโรป เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (The Holy Roman Empire) ซึ่งตอนท้ายอยู่ภายใต้อำนาจของออสเตรีย เจ้าผู้ครองที่เป็นลิคเตนชไตน์ทุกวันนี้เดิมก็อยู่ที่ออสเตรีย ได้ซื้อที่ดินแถบนี้ ซึ่งกลายเป็นเขตปกครองของเจ้าชาย (Principality) มีความเป็นเอกเทศจากสมาพันธรัฐเยอรมันเมื่อปี 1866

เมื่อก่อนนี้ ต้นตระกูลของเจ้าลิคเตนชไตน์ถือว่า พื้นที่แถบนี้ที่เป็นเขตภูเขาสวยงาม จนเรียกกันว่าเป็นสวิสน้อย เป็นที่บรรดาเจ้ามาพักตากอากาศในปราสาทที่สร้างไว้บนเขา ซึ่งวันนี้ได้รับการบูรณะเป็นที่พำนักของเจ้าชายฮันส์ อาดัมที่สอง ประมุขของลิคเตนชไตน์ (ที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของยุโรป ไม่ใช่จากสมบัติของตระกูล แต่จากการทำธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะเป็นประธานกลุ่มธนาคารใหญ่ของยุโรป)

ลิคเตนชไตน์พัฒนาอย่างรวดเร็วด้วยวิสัยทัศน์ของเจ้าผู้ครองนครโดยแท้ ที่เปลี่ยนจากสังคมเกษตรเล็กๆ ให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของยุโรป มีโรงงานมากมายที่ผลิตเครื่องมือก่อสร้าง เครื่องมือแพทย์ จักษุแพทย์ และทันตกรรม เซรามิก ยา เสื้อผ้า อาหาร และอื่นๆ ที่เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะเงื่อนไขภาษีและอื่นๆ ที่เอื้อ จนทำให้ประเทศเล็กๆ นี้มีบริษัทมาจดทะเบียนที่นี่ถึง 670,000 บริษัท ทั้งๆ ที่มีประชากรเพียง 38,000 คน มีทนายความเพียง 90 คน ที่ดูแลเฉลี่ยคนละ 7,000 บริษัท ที่นี่เป็นศูนย์กลางการเงินการธนาคารที่สำคัญแห่งหนึ่ง ก่อนนี้มีกฎหมายเรื่องการรักษาความลับของลูกค้า กลายเป็นสวรรค์การฟอกเงิน จนกระทั่งยกเลิกกฎหมายนี้เมื่อไม่กี่ปีก่อน เพราะถูกกดดันจากนานาชาติ

จากคำสัมภาษณ์เจ้าชายประมุขของลิคเตนชไตน์ ทำให้เข้าใจว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาของประเทศเล็กๆ นี้มาจากพื้นฐานการศึกษาที่ทำกันมาตั้งแต่ร้อยกว่าปีก่อน นับเป็นรัฐแรกๆ ในยุโรปที่ทำเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าประชาชนยากจน ไม่มีการศึกษาจึงหางานทำในประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ วันนี้ลิคเตนชไตน์มีมหาวิทยาลัย มีโรงเรียนทุกระดับที่ดีและเพียงพอ คนอ่านออกเขียนได้ทุกคน

ที่นี่มีโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าออกทำงานทุกวันกว่า 20,000 คน เป็นศูนย์กลางตลาดสินค้าต่างๆ เปิดตลาดโลก โดยเฉพาะกับประชาคมยุโรป ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเช่นเดียวกับสวิส แต่ก็มีข้อตกลงทางการค้า และมีสิทธิพิเศษต่างๆ

เมื่อต้นปี 2548 เจ้าชายแห่งลิคเตนชไตน์มาปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงร่วมกับลุงประยงค์ รณรงค์ ซึ่งเพิ่งรับรางวัลแมกไซไซ ท่านเล่าว่า รัฐธรรมนูญใหม่ที่ประกาศใช้กันเมื่อปี 2003 (2546) นั้น มีข้อแตกต่างหลายอย่างจากรัฐธรรมนูญเดิมที่ร่างเมื่อก่อตั้งลิคเตนชไตน์เป็นประเทศเมื่อปี 1921 โดยเฉพาะการจำกัดอำนาจของเจ้าประมุขของรัฐ แต่ก็ยังให้สิทธิในการยับยั้งมติของสภาและของประชาชนได้ ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญให้เสรีภาพแก่ทุกชุมชนสามารถแยกเป็นอิสระหรือไปขึ้นกับประเทศอื่นได้ ถ้าต้องการ

ท่านเล่าว่ามีคนไทยในลิคเตนชไตน์อยู่กว่า 500 คน โดยไม่ได้ให้รายละเอียด เข้าใจว่า เป็นผู้หญิงที่แต่งงานกับชาวลิคเตนชไตน์ ผ่านมา 16 ปี วันนี้อาจมีเป็นพันแล้วก็เป็นได้ เพราะประเทศนี้น่าอยู่มาก เศรษฐกิจดี สังคมดี ไม่มีปัญหาการเมือง ประชาชนมีสิทธิมีเสียงประหนึ่งเป็นสมาชิก “วุฒิสภา” ในประชาธิปไตยทางตรง หรือกึ่งทางตรงของลิคเตนชไตน์

ถ้าเพลโต, มักเกียแวลลี และโทมัส โมร์ กลับมาเกิดและไปเที่ยวลิคเตนชไตน์ อาจจะอุทานว่า “อ้าว นึกว่าที่เราคิดไว้เขียนไว้เป็นแค่ความฝันหรือยูโธเปีย !”

 

เสรี พพ 28 ตุลาคม 2020


 
Home > ประชาสัมพันธ์ > ประชาสัมพันธ์ > ประชาธิปไตยสายตรง (๔) Lichtenstein

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5585
Content : 3038
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8556846

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า