Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > ประชาสัมพันธ์ > ประชาสัมพันธ์ > อ่าน วิเคราะห์ คิด อย่างมีสติปัญญา นำพาประเทศชาติพ้นวิกฤต

อ่าน วิเคราะห์ คิด อย่างมีสติปัญญา นำพาประเทศชาติพ้นวิกฤต

พิมพ์ PDF

อ่านวิเคราะห์ คิด อย่างมีสติปัญญา นำพาประเทศชาติพ้นวิกฤต

 

ผมเพิ่งมาอ่านและวิเคราะห์ ข้อความที่คุณอานันท์ ได้นำเสนอความคิดเห็นของท่าน เดี๋ยวนี้เอง หลังจากที่ข่าวเรื่องนี้ถูกนำเสนอมาก่อนนี้โดยยกเอาข้อความประโยคสุดท้าย มาวิเคาระห์ ในด้านไม่ดีต่อคุณอนันท์ ทำให้ผมได้คล้อยตามและสงสัยคุณอนันท์ ว่าท่านทำไมถึงกล่าวเช่นนั้น แต่เมื่อผมมาอ่านทั้งหมดและวิเคราะห์ ด้วยสติปัญญา จึงเห็นว่า คุณอนันท์ เป็นผู้ใหญ่ที่ดี และออกมากล่าว ด้วยความบริสุทธิ์ เพื่อให้ข้อคิดอย่างสร้างสรรค์กับคนไทย และสังคมไทย

ขอขอบพระคุณ คุณอานนท์  มา ณ. ที่นี้

หม่อมหลวงชาญโชติ ชมพูนุท

4 พฤศจิกายน 2563

 

อานันท์ ปันยารชุน : ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ ไม่ต้องเห็นด้วย แต่ต้องเข้าใจ

หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ผ่านเวทีเสวนา ‘จากรุ่นแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัล เราจะลดช่องว่างการสื่อสารด้วยความจริงและความงามได้อย่างไร’ โดยเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งภายในงานเวทีนักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 13 ที่จัดขึ้นโดย ภาคีโคแฟค , สภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายอานันท์ กล่าวว่า วันนี้ทุกคนเข้าใจว่าสถานการณ์บ้านเมืองของเราอยู่ในขั้นที่บางคนเรียกว่าวิกฤติ บางคนในรุ่นผมก็อาจจะรู้สึกว่าไม่ใช่ของผิดปกติอะไร เพราะที่จริงเรามีเหตุการณ์แบบนี้ไม่รู้กี่ครั้งในระยะ 88 ปีที่เราเรียกว่ามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คนเราเมื่ออายุมาก ผ่านโลกมามาก เห็นร้อนเห็นหนาว เห็นเหวเห็นยอดเขา เมื่อเราผ่านสิ่งเหล่านี้มาแล้ว เห็นความสำเร็จ เห็นความล้มเหลว มีความผิดหวัง มีความดีใจ เมื่อผ่านทั้งหลายมาแล้ว ผมคิดว่าเราอยู่ในสถานะที่มองโลกในแง่ดีมากกว่าคนที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อนอันนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติ ตัวผมเองรู้เลยว่า มันมีวิวัฒนาการในวิธีคิดของผม สมัยผมเป็นหนุ่ม ผมเลือดร้อน ใจร้อน พูดอะไรค่อนข้างจะผิดกาลเทศะบางครั้ง พูดบางอย่างก็กระทบจิตใจคนโดยไม่จำเป็น แต่จากการที่เราพยายามดูตัวเองอยู่เสมอว่ามีข้อบกพร่องอะไร และเหตุการณ์ในชีวิตกล่อมให้เราก้าวหน้าไปในทางที่เหมาะสมกว่าในอดีต ฉะนั้นเรื่องอายุ เรื่องนิสัยของคนเปลี่ยนแปลงได้หากตั้งใจที่จะหาทางออก หาทางที่จะคบค้าสมาคมกับคนทั่วไป

ในปัจจุบันปัญหาเมืองไทยเป็นปัญหาที่เรียกว่าเป็นปัญหาการเมืองเหมือนกับที่เคยมีมาในอดีต พอมีปัญหาทำไปทำมาก็สู้รบกันเสร็จแล้วก็รัฐประหาร เมื่อรัฐประหารเสร็จก็เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วก็เลือกตั้ง และตั้งรัฐบาล อีก 7-8 ปีก็กลับมาวงเวียนเก่า มั้นไม่พ้นวงจรนี้ เพราะสิ่งที่เราทำในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญ ตั้งรัฐบาล หรือการมีนโยบายต่างๆก็ดี เป็นเรื่องการมองผลระยะสั้นทั้งนั้น ไม่ได้มองประเด็นที่ถึงแก่นรากของประเด็น มองแต่ผิวเผิน เมื่อมองแต่ผิวเผินก็ไม่รู้ว่าเหตุที่เกิดมาจากอะไร เวลาแก้ไขก็ไม่ได้แก้ที่ราก แต่ไปแก้ที่กิ่งใบเท่านั้น

@ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีความสงบ
การหาทางออกที่ผ่านมาในอดีตมักเป็นทางออกระยะสั้น เช่น เมืองไทยต้องการสงบเรียบร้อย ไม่ต้องการให้มีการสู้รบกันเหมือนที่ราชประสงค์ แต่บอกว่าขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้น ก็ต้องคิดว่าดีขึ้นเพราะอะไร หากดีขึ้นเพราะกฎหมาย ซึ่งอาจจะเป็นจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม หรือดีขึ้นเพราะมีพระราชบัญญัติคุมทหาร คุมตำรวจเอง ก็เป็นความสงบที่เรียกว่าเป็นความสงบที่ผิวเผิน ความสงบที่แท้จริงต้องไม่ได้มาจากการบังคับ ไม่ได้มาจากเบื้องบน ไม่ได้มาจากเบื้องล่าง แต่เป็นความสงบที่ทุก ๆ ฝ่าย เขาพูดคุยกันแล้วที่จะมีความสงบ

การตั้งคำถามหรือการตั้งระเบียบวาระเป็นเรื่องจำเป็นมาก สังคมไทยเมื่อตั้งคำถามผิด เมื่อคุณไปหาคำตอบมาถึงแม้ว่ามันจะถูก แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้แก้ปัญหา เพราะคำถามมันผิดอยู่แล้ว หรือบอกว่ามันสงบเพราะมีโควิดมันก็ไม่ใช่ ความสงบต้องมองไปอีกว่าความสงบจริง ๆ แล้วอยู่ที่ไหน มันมีคำพูด คนจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ ในสายตาของผม ซึ่งอาจจะผิดนะ แต่ผมคิดว่าตราบใดที่สังคมไม่มีความยุติธรรม ไม่มีความเสมอภาค มันอาจจะสงบ 60% แต่มันไม่สงบจริงจัง ไม่ยั่งยืน แต่ถามว่ามีสังคมไหนที่มีความสงบยั่งยืน 100% คำตอบก็คือไม่มี เพราะแม้แต่ความยุติธรรมก็ดี หรือปัญหารากฐานก็ดี ก็ไม่ได้แก้ไขได้ 100% แต่อย่างน้อยเมื่อจับประเด็นที่ถูกต้อง จับเหตุที่ถูกต้อง โอกาสที่เราไปสู่สังคมที่มีความยุติธรรมมากขึ้น สังคมที่เหลื่อมล้ำน้อยลงไป สังคมที่มีโอกาสมากขึ้นดีกว่าเดิม ผมว่าเราก็น่าจะพอใจแล้ว

@ความขัดแย้ง 2563 ความรุนแรงน้อยกว่าในอดีต
อีกประการที่อยากตั้งข้อสังเกตก็คือว่า มันพูดได้เลยว่า นี่เป็นข้อขัดแย้งระหว่างคนละรุ่น ในสายตาของผม ปัญหาของเราจะว่ายากก็ยาก จะว่าไม่ยากก็ไม่ยาก ถ้าไปเปรียบเทียบในประวัติศาสตร์โลก พบว่าข้อขัดแย้งของเมืองไทย ทุกสมัยเป็นข้อขัดแย้งของข้อพิพาทไม่ใช่ระหว่างสองฝ่าย แต่จริง ๆ เป็นเรื่องระหว่างคนสองกลุ่มเท่านั้น เป็นข้อพิพาททางการเมืองบ้างหรือเป็นข้อพิพาทในเรื่องวิธีคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองบ้าง แต่ไม่ใช่ข้อพิพาทที่อยู่บนพื้นฐานเรื่องสีผิว ศาสนาหรือเชื้อชาติ

ความวุ่นวายในปัจจุบัน จริงๆ แล้วหากดูให้ดี โดยผมจะไม่พูดถึงเรื่องข้อเรียกร้องของเขา ผมจะไม่พูดว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่หากมองเหตุการณ์ดูแล้ว ความวุ่นวายปัจจุบันมันมีระดับความรุนแรงน้อยกว่าความวุ่นวายในอดีตไม่ว่าจะเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ หรือ 6 ตุลาฯ ที่เป็นข้อพิพาททางด้านการเมืองเหมือนกัน แต่ทั้งสองเหตุการณ์จบด้วยการปะทะกัน แต่คราวนี้แม้จะเป็นความคิดทางการเมือง แต่การชุมนุมต่างๆ ไม่ว่าคนจะเป็นหมื่นหรือแสน ผมไม่ทราบ แต่ไม่มีการพกอาวุธ ไม่มีปืน ไม่มีมีด อาจจะมีปลายร่มนิดๆหน่อย ฉะนั้นทุกอย่างเป็นระเบียบ ไม่มีการเผาสถานีตำรวจ ไม่มีการปิดถนนอย่างไม่ยอม ไม่มีการเผายางรถยนต์ รถบัส หรือแม้แต่รัฐบาลก็ไม่มีการใช้อาวุธ อาจจะตอนใช้น้ำอัดฉีดเรียกว่าเกินความเหมาะสมไปบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้คนต้องเสียชีวิต ฉะนั้นความรุนแรงครั้งนี้มีการกำหนดกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งต้องชมทั้งสองฝ่าย ไม่มีการถือโอกาสลักขโมยของในร้านค้าต่างๆ

 @ไม่ต้องเห็นด้วย แต่ต้องเข้าใจ
อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า อีกเรื่องที่อยากตั้งข้อสังเกตก็คือว่า การเรียกร้องอะไรก็แล้วแต่ หากจะทำทุกอย่างตามอำเภอใจของเรา คุณจะไม่ประสบผลสำเร็จ ในฐานะที่ผมอยู่ด้านการเมืองมา 2 ปีครึ่ง ไม่ได้เข้าไปอยู่เพราะใจชอบหรือใจรัก แต่เข้าไปเพราะต้องไปทำงานด้านการเมือง ประสบการณ์บอกผมอย่างหนึ่งว่า ถ้าจะหวังว่าให้สำเร็จในสิ่งที่คิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เราต้องคำนึงเสมอว่าเราทำคนเดียวไม่ได้ รัฐบาลนี้ทำได้เพราะมีอำนาจทางทหาร มีอำนาจทางสภา แต่ผมเข้าไปไม่มีอำนาจสักอย่าง ผมต้องหาอำนาจประชาชน ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเรากำลังจะทำอะไร หากเราคิดว่าสิ่งที่เป็นของสำเร็จรูปทำใส่กล่องอย่างดีไปให้ประชาชน อันนี้ไม่ใช่ความสำเร็จ แต่เรียกว่าไปกำหนดไปบังคับให้ประชาชนรับสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุด แต่ประชาชนจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เขารับไปแต่จะไม่รู้จักคุณค่า

ดังนั้นเราตั้งระเบียบวาระของเราจะมี 8 ข้อ 10 ข้ออะไรก็ตาม แต่เราทำตามอำเภอใจไม่ได้ เราต้องเลือกประเด็นปัญหาที่มีความเร่งด่วน แต่ถ้าบอกว่ามี 8 เรื่อง 10 เรื่อง ไม่บอกว่าจะทำที่ไหนก่อน ทุกอันที่ยกประเด็นขึ้นมาหากไม่สอดคล้องกับความเห็นส่วนใหญ่ของประชาชน โอกาสที่จะสำเร็จจะน้อยมาก อันนี้ไม่ใช่เรื่องของผิดถูก อย่าไปคิดว่าระบอบประชาธิปไตยมันจะต้องถูกเสมอไป เพราะผิดหรือถูกไม่ได้ขึ้นอยู่กับสาระอย่างเดียว แต่ผิดหรือถูกขึ้นอยู่กับกาลเทศะด้วย

ฉะนั้นคนที่จะทำอะไรต้องวางยุทธศาสตร์ วางแผนงานให้ดี ยุทธศาสตร์ที่ผมบอกก็คือ ต้องพยายามเลือกประเด็นที่สอดคล้องกับความคิดกับประชาชนส่วนใหญ่ ถ้าเลือกประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับประชาชนส่วนใหญ่อันนั้นยิ่งเสร็จใหญ่เลย อย่าดูถูกประชาชน เขาจะถูกหรือผิดอย่างไร เป็นความคิดของเขา ฉันใดฉันนั้นเราไม่ดูถูกความคิดเด็กรุ่นใหม่ ไม่ดูถูกความคิดของรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ เพราะการจะคบกัน การอยู่ร่วมกันต่อไปในผืนแผ่นดินไทย ต้องเปิดใจกว้าง ไม่ใช่ว่าต้องเห็นด้วย แต่ต้องเข้าใจกันและกัน การใช้ภาษาก็สำคัญ วิธีเขียนประเด็นสำคัญมาก หากเริ่มต้นเขียนเชิงลบก็บาดหมางน้ำใจกันแล้ว มันมีวิธีเขียนครับ เขียนออกมาเป็นเชิงบวก อย่าไปเขียนออกมาแล้วคนด่าทันที มันต้องรักษาน้ำใจซึ่งกันและกัน และต้องเข้าใจเหตุผลของความแตกต่างกัน

@ยกเลิกอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ
นายอานันท์ กล่าวว่า สังคมไทยจะผิดจะถูกอย่างไรผมไม่รู้ สังคมไทยที่บอกว่าสังคมอนุรักษนิยม สังคมไทยยังเคารพเรื่องประเพณี เรื่องคุณค่าเก่าๆ แล้วถามว่าปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ไม่มีความกตัญญูกตเวทีหรือไม่ ก็ไม่ใช่ เพราะเขาก็มี แต่เขามีคำถาม เพราะหลายสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไปแล้ว ผมรู้สึกว่าการเขียนรัฐธรรมนูญ จะเรียกว่าการเขียนฉบับใหม่หรือปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็แล้วแต่ ผมว่าถ้าเราวางหลักเกณฑ์ก่อนว่าควรจะสั้นกว่านี้ อย่าลงรายละเอียดมากเกินไป และดูมาตราที่สร้างปัญหาก่อน

แน่นอนมาตราที่สร้างปัญหา คือมาตราที่ให้มีการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และไม่ใช่แค่แต่งตั้ง ส.ว. 250 คนที่ถือว่าแปลกแล้ว แต่ยังให้อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย อันนี้ต้องเอาออกไปแน่ๆ และ ส.ว.หลายคนมีความรู้สึกอย่างนั้นแต่ไม่กล้าพูดออกมา ฉะนั้นต้องเข้าใจว่าอันนี้คือประเด็นใหญ่ ที่ทำให้เกิดการเดินขบวน เป็นสิ่งที่เยาวชนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่าอย่างผม อยากที่จะเห็นว่าจะไม่มีประโยคนี้ ไม่มีมาตรานี้อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ ไป

ส่วนเรื่องมาตรา 112 ผมก็พูดมา 7-8 ปีแล้ว ผมพูดคนแรก ๆ เลยว่าต้องปรับปรุงใหม่ ไม่ได้บอกว่าต้องล้มล้างนะ แต่สิ่งที่ต้องทำทันทีคือ มาตรา 112 ต้องไม่เป็นคดีอาญา คือไม่มีการลงโทษ แต่ต้องเป็นคดีแพ่งคือการปรับ แต่ไม่ใช่ปรับจำนวนเงินที่สูงเกินไป เหมือนเราจะสั่งสอนเด็ก ไม่ใช่ทุบหัวให้แตก แค่ตีก้นให้รู้สึกว่าผิด ไม่ต้องตีให้มันช้ำ ให้มันแตกก็พอแล้ว ฉะนั้นหลักการเขียนรัฐธรรมนูญต้องวางหลักเกณฑ์ให้แน่นอน

@พูดคนละภาษา รบคนละสนาม
เรื่องหนึ่งที่ผมว่าจะเป็นปัญหา แต่ผมไม่อยู่ในฐานะที่จะพูดว่าควรหรือไม่ควรทำนะ แต่เด็กยืนยันว่าท่านนายกรัฐมนตรีเป็นตัวปัญหานะ คนรุ่นใหม่เขามองว่า นายกรัฐมนตรีเป็นคนเดียวที่สามารถปลดล็อกได้ จะปลดล็อกด้วยวิธีใดผมไม่รู้ ท่านจะไม่ลาออก ผมก็ไม่ว่าอะไรเพราะเป็นสิทธิ์ของท่าน แต่ท่านต้องรู้นะว่าเขาเรียกร้องอย่างนั้น แล้วถ้าจะเถียงกับคนรุ่นใหม่ อ้างปัญหากฎหมาย อ้างกฎเกณฑ์ต่างๆ มันไปไม่ถึงไหน เพราะเด็กมองว่ามันผิดมา 7 ปีแล้ว คุณอาจจะไม่เห็นด้วย ผมก็ไม่เห็นด้วยทุกอย่างนะ แต่พยายามเข้าใจ เหมือนอย่างผมพยายามทำความเข้าใจสถานะของท่านนายกรัฐมนตรี หรือสถานะของรัฐบาลเหมือนกัน แต่ถ้ามันไม่เข้าใจซึ่งกันและกันก็ต้องคุยกัน

ผมไม่สนใจที่จะเข้าไปร่วมด้วยทั้งสองฝ่าย มันมีมากกว่าสองฝ่ายหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่เริ่มต้นสมมติฐานก็ผิดกันแล้ว เด็กเริ่มต้นจาก 7 ปีที่แล้ว แต่นายกรัฐมนตรีเริ่มต้นบอกว่าทำอะไรผิด พูดคนละภาษา เด็กพูดภาษาดิจิทัล รัฐบาลตอนนี้พูดภาษาแอนะล็อก สงครามต่อสู้กันคนละสนาม ไม่เคยเจอกัน แล้วพูดคนละประเด็น ผมถึงบอกว่าในสังคมโลกเขาพูดกันเลยว่า คุณจะมีสันติภาพไม่ได้ ถ้าคุณไม่มีความยุติธรรม แล้วคุณจะไม่มีความยุติธรรม เมื่อคุณไม่มีความจริงใจซึ่งกันและกัน ฉะนั้นสองฝ่ายต้องเริ่มต้นจากการพูดภาษาเดียวกัน

คัดลอกจากสำนักข่าวอิศรา


 
Home > ประชาสัมพันธ์ > ประชาสัมพันธ์ > อ่าน วิเคราะห์ คิด อย่างมีสติปัญญา นำพาประเทศชาติพ้นวิกฤต

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5602
Content : 3043
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8589778

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า