Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การศึกษา > โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พิมพ์ PDF

หมายเหตุ : มีผู้ส่งบทความมาให้ อ่านแล้วประทับใจมาก เห็นว่า เป็นเรื่องที่ดี จึงนำมาให้ได้อ่านกัน (ขอโทษที่ไม่ทราบชื่อผู้เขียน) แต่จำเป็นที่จะต้องออกตัวไว้ก่อนว่า ผมไม่ใช่ผู้เขียน ได้แชร์ต่อมาอีกที

ม.ล.ชาญฌชติ ชมพูนุท

8 กุมภาพันธ์ ชมพูนุท


โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องขอบคุณพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่พูดถึงโรงเรียนนี้เมื่อวันก่อน

เพราะถือเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่ทรงพลังมาก ใช้งบโฆษณา 10ล้านยังทำไม่ได้ขนาดนี้เลย

เพราะแค่พล.อ.ประยุทธ์ สั่งจับตา  เราก็รู้แล้วว่าโรงเรียนนี้น่าสนใจ ต้องไม่ใช่โรงเรียนแบบ “อำนาจนิยม” แน่ๆ

จากนั้นไม่กี่วันคนหันมาสนใจว่าโรงเรียนนี้สอนกันแบบไหน  คนระดับนายกรัฐมนตรีถึงสั่งให้จับตามอง

และเมื่อทุกคนเข้าไปอ่าน เข้าไปศึกษา  ผมเชื่อว่าทุกคนจะตกใจ  เพราะนี่คือ “โรงเรียนในฝัน” ของคนจำนวนมาก

หลายคนคงรู้สึกว่าทำไมรุ่นเราถึงไม่มีโรงเรียนแบบนี้ หรือเสียดายที่ไม่ได้ส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนนี้

 

ผมเพิ่งรู้จักโรงเรียนนี้จากโพสต์ของคุณวีรพร นิติประภา นักเขียนซีไรท์  เธอได้รับเชิญไปสอนในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิ่งที่คุณวีรพรประทับใจมากที่สุด คือ นักเรียนทุกคนตั้งใจฟัง

และ”กล้าสบตากับเธอ” น้องๆ ที่นี่สบตาเราค่ะ เขาไม่หลบตาผู้ใหญ่ เขามองกลับมาตรงๆ นิ่งๆ สุภาพ ม่านตาเปิดกว้าง

เรื่องนี้สำคัญมากค่ะ เด็กไทยไม่เหมือนเด็กอื่นๆ ในโลก จะเรียกได้ว่าผิดมนุษย์มนาก็ได้ เด็กไทยหลบตาผู้ใหญ่ตลอดเวลา เขาไม่มองดูคุณ และแน่นอนเขาไม่เห็นคุณ เขาไม่สนใจจะมองเห็นคุณ แต่ที่แย่กว่าอะไรทั้งหมด นั่นทำให้เรามองไม่เห็นพวกเขาด้วย เขาไม่อยากให้เราเห็นเขา เรามองไม่เห็นตาเขา เราไม่มีโอกาสรู้เลยว่าเด็กที่อยู่ข้างในรู้สึกหรือคิดอะไร ที่นี่โรงเรียนสามารถทำให้เด็กๆ สบตาผู้ใหญ่ได้ “ เป็นมุมมองที่คมคายแบบ “ซีไรท์”  อ่านจบก็สนใจ แต่ยังไม่ได้สนใจมากเท่ากับตอนที่พล.อ.ประยุทธ์ พูดถึงโรงเรียนนี้

ผมรีบหาข้อมูลของโรงเรียนและพบบทสัมภาษณ์เต็มๆของ รศ.ดร.อนุชาติ  พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยิ่งอ่านยิ่งประทับใจ อยากให้ทุกคนได้อ่านกันเต็มๆ อ่านจบแล้วอย่าลืมขอบคุณพล.อ.ประยุทธ์ ด้วยนะครับ ผมเชื่อว่าเปิดรับนักเรียนรุ่นใหม่เมื่อไร คิวยาวแน่นอน

………

 

รศ.ดร.อนุชาติบอกว่าที่ผ่านมาการศึกษาคือความทุกข์ของแผ่นดิน ใครที่ผ่านระบบการศึกษาหรือใครที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามีความทุกข์ทั้งสิ้นในรูปแบบต่างๆ กัน ผู้เรียนเองซึ่งเป็นปลายน้ำที่สุดก็ทุกข์หนัก  เด็กไม่อยากมาโรงเรียน การเรียนหนังสือเป็นเรื่องขมขื่นทรมานที่สุดในชีวิต เมื่อเราพูดถึงคำว่าการทำโรงเรียนจึงไม่ใช่การสอนหนังสือแต่มันเป็นการพูดถึงการปั้นระบบนิเวศหนึ่งอันขึ้นมา” ต้องเปลี่ยนจากมุมที่เล็กที่สุด เราไม่รู้หรอกว่าเด็กจะรอดหรือไม่รอด แต่เราเชื่อว่าถ้าเราใส่ภูมิคุ้มกันให้มากเท่าไหร่มันจะไปได้เยอะเท่านั้น เราเชื่อว่าถ้าเราปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในตัวลึกเท่าไหร่มันก็จะยิ่งคงทนเท่านั้น แล้วมันจะไปปรับตัวเองในสังคมวงกว้าง” มากไปกว่านั้น เราทุกคนรู้ดีว่าโลกมันเปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนเร็วขึ้นทุกวัน จำเป็นต้องสร้างโมเดลการเรียนรู้ใหม่

เราไม่รู้ว่าโมเดลใหม่มันไปรอดหรือไม่รอดนะ แต่เรารู้อยู่แล้วว่าโมเดลเก่าพาสังคมล้มเหลว เราไม่ทำ”

 

หลักสูตรเป็นอย่างไร?

เราร่างหลักสูตรกันบนความฝัน เราเต็มที่ ไม่ใช้รายวิชาของ สพฐ. ทั้งหมด แต่ดูเป็นตัวอย่าง ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้หลักการไม่ใช่ทฤษฎี แต่เน้นการเกิดประสบการณ์ตรง ที่นี่ไม่ใส่เครื่องแบบ ไม่สนใจเรื่องทรงผมแต่เราต้องคุยกันก่อนนะว่าทำไมเด็กไม่ต้องใส่เครื่องแบบ ต้องตั้งคำถามกันเองเพื่อตรวจสอบว่าเราเข้าใจตรงกันไหม นั่นเพราะเราไม่เชื่อว่าการแต่งเครื่องแบบคือคำตอบ  เราไม่ใช้เครื่องแบบ เรามีเสื้อยืดตราโรงเรียน 2 ตัวใส่เฉพาะวันอังคารและศุกร์ที่มีตลาดนัด เพื่อแยกแยะเด็กของเรากับคนภายนอก เนื่องจากโรงเรียนไม่มีขอบรั้วที่มิดชิด นอกจากนั้น ก็ใส่ในวันที่มีพิธีการหรือออกนอกสถานที่ดูงาน

เราไม่มีวิชาลูกเสือเนตรนารี เราไม่สอนวิชาชื่อพระพุทธศาสนา เด็กไม่ต้องมายืนเคารพธงชาติตอนเช้า ไม่มีสวดมนต์ตอนเช้า  แต่เรามีคำตอบในการอธิบายสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เราจะสร้างเด็กแบบไหน เราจะใช้อะไรมาเป็นกติกาในการออกแบบความมีระเบียบวินัยให้เด็กซื้อหรือบายอินกับเรา  ยกตัวอย่าง แทนที่จะยืนอบรมหน้าเสาธง สวดมนต์ตอนเช้า เรามีชั่วโมงโฮมรูมที่เราให้คุณค่าและความสำคัญกับ 30 นาทีของทุกวัน  นี่จะถือเป็นนาทีทองที่เด็กๆ ในแต่ละห้องจะมาพบกับครูประจำชั้น 2 คน นอกจากจะเป็นการสื่อข้อมูลข่าวสารของทางโรงเรียน  ครูประจำชั้นจะพาเด็กคุย ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ หรือทำกิจกรรมเล็กๆ ปรับจูนสมาธิเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่การเรียนคาบที่ 1  ส่วนการสวดมนต์นั้นก็สามารถฝึกฝนทำได้อยู่แล้วในคาบเรียนวิถีศรัทธา เราไม่เคร่งครัดเรื่องทรงผม เด็กมัธยมที่นี่ประมาณ 30% ย้อมสีผม จะย้อมสีอะไรก็ปล่อยเขา  การแต่งตัวก็มีบ้างที่เกินพอดี เช่น ใส่กางเกงขาสั้นเกินก็ให้ครูกับเด็กเขาคุยกันเองว่าอันนี้คือสิ่งที่คุณครูไม่สบายใจนะ อิสระแค่ไหนก็ตาม มันสามารถอยู่ได้ด้วยการที่เด็กต้องรู้สึกว่าเขาดูแลตัวเองได้ รู้จักรักษาความสะอาด

มีวิธีที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมแบบ “อิสระแต่เขาควบคุมตัวเอง” ในโรงเรียนได้อย่างไรบ้าง?

เราคิดว่าการให้อิสระกับสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กๆ เพราะเขากำลังอยู่ในวัยที่กำลังค้นหาอัตลักษณ์ของตัวเอง เขาจะค้นหาไปเรื่อย เรามีหน้าที่คอยประคับประคอง ชี้ข้อดีข้อเสียให้กับเขา

เราเปลี่ยนลูกเสือเนตรนารีเป็นวิชาอยู่รอดปลอดภัย รื้อเนื้อหาใหม่หมด ไม่มีถักเชือกเงื่อนปมแต่ซ้อมหนีไฟให้เป็น เวลาไฟไหม้ ดับไฟเป็นไหม ปฐมพยาบาลให้เป็น

ว่ายน้ำเราก็จะไม่มุ่งเรื่องกีฬาเพื่อความเป็นเลิศแต่เอาเรื่องพัฒนาการทางด้านร่างกายก่อน วิชาว่ายน้ำของเด็ก ม.1 เทอม 1 พอหนึ่งเทอมผ่านไปครูพละจะต้องตอบโจทย์ว่า ถ้าเด็กตกน้ำ เด็กต้องรอดหรือจะดีขึ้นไปอีกถ้าสามารถช่วยคนอื่นได้ด้วย เอาแค่นี้ ไม่ต้องมาผีเสื้อกับผม

ส่วนเทอมต่อๆ ไปก็ค่อยพัฒนากันต่อ ที่นี่เรามีนักกีฬาระดับแข่งขันหลายคนเหมือนกันนะ

นอกจากนี้ เราพบว่าการสอนเพศศึกษาในโรงเรียนมันล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ยิ่งสอนยิ่งทำให้เด็กเก็บกด

เราจึงเปลี่ยนเป็นวิชาวัยรุ่นศาสตร์ 1-6 วัยรุ่นศาสตร์ 1 สำหรับเด็ก ม.1 เรียนเรื่อง Anatomy ให้รู้จักร่างกายตัวเอง ทำความสะอาด ฮอร์โมน เห็นตัวเองว่าเริ่มเติบโตยังไง ร่างกายเปลี่ยนแปลงยังไง เช่น ขนาดของอวัยวะเพศ หรือ ประจำเดือน เด็กจะได้รู้จักตัวเอง เคารพตัวเอง รู้ว่าตอนนี้ขุ่นมัว อารมณ์ไม่แจ่มใสเพราะอะไร เป็นต้น

วัยรุ่นศาสตร์ 2 ให้รู้จักพัฒนาการด้านความสัมพันธ์กับเพื่อน ครอบครัว สังคม มันก็จะขยับเป็นพัฒนาการตามความเป็นวัยรุ่นของเขา พอเราวางเส้นทางแนวนี้ให้ ครูก็ไปออกแบบการสอนเอาเอง  ครูจะสอนแม้กระทั่งเด็กผู้ชายจะต้องเลือกซื้อกางเกงในแบบไหน เลือกผ้าที่ใส่แล้วสบาย ผู้หญิงจะใส่เสื้อชั้นในอย่างไร ฯลฯ เรื่องแบบนี้จะถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ อันนี้เรียกว่ารื้อสร้างหลักสูตรใหม่

ที่นี่จะไม่มีฝ่ายปกครอง แต่มีฝ่ายสนับสนุนนักเรียนและกิจกรรม ถามว่าสนับสนุนอย่างไร นักเรียนตีกัน ทะเลาะกันหรือทิ้งขยะเกลื่อนโรงเรียน ฝ่ายสนับสนุนฯ จะมีหน้าที่คอยดูแลปัญหาเรื่องพฤติกรรมทั้งหลาย  เช่น เด็กๆ กินน้ำ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กินตรงไหนแก้วน้ำก็วางอยู่ตรงนั้น เลยเกิดขยะเต็มโรงเรียน มันก็จะง่ายมากถ้าประกาศว่าต่อไปนี้เด็กๆ ห้ามทิ้งขยะ ให้เพื่อนหัวหน้าห้องจดชื่อรายงานครูเลย แต่เราเปลี่ยนวิธีการหมด ปล่อยไปแล้วบอกแม่บ้าน “ไม่เก็บ ให้ทิ้งไว้”

ภายใน 1 อาทิตย์ขยะมันก็สะสม แล้วครูก็ไปถ่ายรูปโพสต์ลง Facebook พิมพ์ว่าทำไมโรงเรียนเราสกปรกจัง จนเด็กๆ บอกครูเองว่า “มาช่วยกันเถอะ” แล้วตรงนี้ก็จะเป็นโอกาสของเราที่จะชวนกันคุยต่อว่า เราจะช่วยกันทำอย่างไรดี ถ้าเราอยากเห็นโรงเรียนของเราสะอาด ไม่รู้ระยะยาวจะเป็นยังไงนะ แต่ว่าถึงที่สุดมันมีชมรมสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นจากเรื่องเล็กๆ แบบนี้  เราเชื่อว่าการปลูกฝังวินัย จิตสำนึกที่ดี น่าจะทำอย่างไรให้เขาเกิดความตระหนักอย่างแท้จริง ในฐานะครู เรามีหน้าที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ ต้องอดทนรอคอย ประคับประคองเส้นทาง เชื่อว่าผลลัพธ์จากกระบวนการเช่นนี้น่าจะยั่งยืนกว่าการบังคับสั่ง  อีกอย่างหนึ่งที่เราปลดล็อกหลักสูตร คือ โรงเรียนเราไม่ออกเกรด และบอกพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยว่าโรงเรียนนี้จะไม่สนับสนุนเรื่องการแข่งขันใดๆ ลืมไปเลยการติดป้ายหน้าโรงเรียนว่าเด็กคนนี้ประกวดอะไร ชนะเลิศอะไรมา หรือเป็นนักกีฬาดีเด่น  พ่อแม่ที่มีลูกเป็นนักกีฬาได้ถ้วยแล้วเอามาให้โรงเรียน เราไม่เอา อยากให้ลูกเรียนเสริมอะไร กีฬา ศิลปะ หรือวิชาการเราไม่ห้าม เพราะทักษะบางอย่างโรงเรียนก็จัดให้ไม่ได้ ทว่าเราไม่สนับสนุนให้โรงเรียนพาไปเอง เราไม่สนับสนุนให้พ่อแม่จ่ายเงินเพิ่มเพื่อพาลูกไปติววิชาการ เราเชื่อว่าสาระความรู้ที่อยู่ในหลักสูตรน่าจะเพียงพอแล้ว

กับนิยามว่าเน้นกิจกรรมมากกว่าวิชาการ เป็นปัญหาต่อโรงเรียนมากน้อยแค่ไหน ?

ลึกๆ แล้ว จะพูดอะไรก็พูดไป แต่ใน 2 ปีที่ผ่านมา เด็ก ม.4 ม.5 ที่นี่ผ่านกระบวนการสอบ o-net ตอนม.3 เด็กไปสอบตามความสมัครใจ ไม่บังคับ ก็ไปกัน 80% ไม่ติวล่วงหน้า มีแค่ 1 ชั่วโมงแนะนำว่าสิ่งที่จะไปเผชิญไม่เหมือนกับที่ครูเคยสอนมาเลยนะ ข้อสอบหน้าตาเป็นอย่างนี้ แล้วลูกก็ไปทำในมุมของลูก สอบ 4 วิชา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ทั่วไป ภาษาไทย

ปีแรกเราจุดธูปนะ ขอให้รอด ขอให้รอด (หัวเราะ)

ที่นี่เน้นเรียนภาษาไทย วรรณกรรม ภาษาอังกฤษเข้มข้น คะแนน 2 ปีที่ผ่านมาอยู่ระดับท็อปของประเทศ คณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ลงมาหน่อยหนึ่ง แต่เกาะกลุ่มสาธิต ไม่ขี้เหร่

แต่สิ่งที่เราเห็นมากกว่าคือเด็กคนหนึ่งเขียนร้อยกรองรวมเล่มของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ได้ตีพิมพ์ตั้งแต่อยู่ม.3 เรื่องถ่ายทำตัดต่อวิดิโอมีเยอะมาก อีกคนเขียนการ์ตูนเก่ง เลยให้มาช่วยครูทำสื่อการสอนสวยๆ มีความสามารถที่เขาปั้นของเขาเองเยอะมาก

นั่นแปลว่ามันมีเรื่องแบบนี้อยู่ในตัวเด็กเยอะมาก เราคิดว่ามันเป็นมุมที่ระบบการศึกษาไม่ส่งเสริม


 
Home > Articles > การศึกษา > โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5601
Content : 3040
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8585243

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า