Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > เศรษฐกิจ > นายกขยับหมาก เปลวสีเงิน

นายกขยับหมาก เปลวสีเงิน

พิมพ์ PDF

นายกฯ 'ขยับหมาก'

******************

    การเมืองเหมือน "หมากรุก"

    "ฝ่ายตรงข้าม" ดาหน้ากันขึ้นไปเป็นแผง ทั้งเบี้ย ยันขุน

    นายกฯ แค่ขยับโคนตัวเดียว ตาค้างกันทั้งกระดาน!

    เมื่อวาน (๙ พ.ย.๖๕) ท่านลงนามแต่งตั้ง "ดร.ไตรรงค์  สุวรรณคีรี" ที่ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ ๒๗ ตุลา

    เป็น "ที่ปรึกษาประจำตัว" อีกคน

    เท่ากับตอนนี้ นายกฯ มี ๒ ที่ปรึกษา ครบ "แขนซ้าย-แขนขวา"

    ข้างหนึ่ง "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" ชำนาญกฎหมาย

    อีกข้าง "ดร.ไตรรงค์" ชำนาญเศรษฐศาสตร์ ที่ปรึกษา "ป๋าเปรม" สมัยป๋าเป็นนายกฯ ๘ ปี

    จาก ๘ ปี "ป๋าเปรม" ถึง ๘ ปี "พลเอกประยุทธ์"!

    จะใช้คำว่า "ลุงตู่" กับ ดร.ไตรรงค์ ก็ไม่เหมาะ เพราะนับโดยพรรษา ลุงตู่ เกิด ๒๔๙๗ แต่ ดร.ไตรรงค์ เกิด  ๒๔๘๗ ห่างกันตั้ง ๑๐ ปี!

    ย้อนกลับไปสมัย ๖ ตุลา ดร.ไตรรงค์ เป็น "เลขาส่วนตัว" ท่านอาจารย์ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์"

    ก็อย่างที่บอก ในโลกนี้ไม่มีอะไรบังเอิญ ทุกอย่างถูกจัดสรรลงตัวไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว

    อยู่แต่ว่า จะปรากฏ "ตอนไหน-เวลาไหน" เท่านั้น!

    ดร.ไตรรงค์ จบเศรษฐศาสตร์ แต่ไม่บ้าทฤษฎีและติดอยู่ในตำราเหมือนนักเศรษฐศาสตร์-รัฐศาสตร์บางคน

    จะเห็นว่า ดร.ไตรรงค์ ต่างกับพวกอาจารย์มากอีโก้ โม้ทฤษฎี ที่ชอบสวมเสื้อนอก ออกจ้อตามจอ

    ส่วนใหญ่ พวก "หัวลูกเต๋า" เรียนมา-จำมาอย่างไหน  ก็ติดตำราอยู่แค่นั้น ไม่รู้จักพลิกแพลงใช้

    ส่วน ดร.ไตรรงค์ ท่านทะลุเปลือกตำราในห้องสอน ไปสู่ปฏิบัติการสร้างและพัฒนาชาติ ซึ่งมันคนละโลกกับในตำรา

    จดหมายลาออกจากประชาธิปัตย์ของท่าน ประเด็นสำคัญอยู่ตรงว่า......

   "ผมขอมีลมหายใจเป็นของตนเอง" สักครั้ง!

    การมาเป็นที่ปรึกษาให้นายกฯ ในภาวะที่ใครๆ ก็พูดว่า "นายกฯ ขาลง" ดังนั้น เรื่องตำแหน่ง ลาภ ยศ เลิกพูด

    ถ้าอย่างนั้น ดร.ไตรรงค์ มาทำงานให้นายกฯ ประยุทธ์เพราะอะไร?

เพราะ "ผมขอมีลมหายใจเป็นของตนเอง" สักครั้ง

    และลมหายใจนั้่น เคียงลมหายใจพลเอกประยุทธ์

    ในความเป็น "คนจริง-นักเลงจริง" เท่านี้...จบ!

    ๒ ที่ปรึกษาซ้าย-ขวา จะช่วยนายกฯ "สร้างประเทศ" ได้แบบไหน อย่างไร อ่านนี่ซักหน่อยปะไร

.......................................

    ดร. ไตรรงค์ สุวรรณคีรี

    #ยุทธศาสตร์ #นโยบาย #การประชุม APEC

    เมื่อผมเขียนใน Facebook ชื่นชมว่าประเทศไทยโชคดีที่มีนายกรัฐมนตรี อย่างน้อย 2 ท่าน ที่เป็นคนซื่อสัตย์

    และได้เป็นผู้นำรัฐบาลเป็นระยะเวลานานพอที่จะคิดเรื่องยุทธศาสตร์ระยะยาวให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ประเทศในอนาคตได้

    ก็มีผู้อ่านบางท่านตำหนิว่า.......

    นายกฯ ที่ซื่อสัตย์ของไทยมิได้มีเพียง 2 ท่านเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อตำหนิที่ถูกต้องที่สุด

    เพราะตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทย เคยมีนายกรัฐมนตรี ที่ไม่มีชื่อเสียเกี่ยวกับการโกงกินคอร์รัปชันอยู่อีกหลายท่าน

    เช่น พระยามโนปกรณ์นิติธาดา, นายทวี บุณยเกียรติ,  ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, นายควง อภัยวงศ์, นายสัญญา  ธรรมศักดิ์

    นายธานินทร์ กรัยวิเชียร, นายอานันท์ ปันยารชุน, พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์, นายชวน หลีกภัย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นต้น

    แต่ที่ผมเอ่ยชื่อเพียง 2 ท่าน คือ พล.อ.เปรม และ  พล.อ.ประยุทธ์ นั้น

    ผมหมายถึงนายกฯ ที่ซื่อสัตย์ และได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลบริหารประเทศเป็นระยะยาวติดต่อกัน

    จนสามารถมียุทธศาสตร์ มีนโยบาย ในการวางโครงสร้างเพื่อความเจริญและมั่นคงต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวได้

    เช่น พล.อ.เปรม ได้สร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจมาบตาพุด ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง

    และเป็นคนแรก ที่สั่งให้มียุทธศาสตร์ระยะยาวสำหรับ  3 จังหวัดภาคใต้ ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

    ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นคนแรก ที่สั่งให้มีการวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) สร้างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

    รวมทั้งมีการปรับปรุงการคมนาคมทั้งทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ มากที่สุดในประวัติศาสตร์

    นายกฯ ที่ซื่อสัตย์คนอื่นๆ อาจจะซื่อสัตย์จริง แต่มิได้มีผลงานในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจใดๆ

    ไม่มีการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่ออนาคตประเทศ  จึงไม่มีการลงมือทำแผนเพื่อสนองยุทธศาสตร์ที่ให้เห็นได้อย่างชัดเจน

    ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะในยุคของท่านเหล่านั้น มีเวลาให้ท่านบริหารประเทศสั้นเกินไป

    หรืออาจเพราะมีปัญหาเฉพาะหน้าทางการเมืองจากพวกอกหัก คอยก่อกวน จนไม่มีเวลาคิดวางแผนอะไรในระยะยาวให้กับประเทศได้

    หรืออาจไม่มีความคิดเช่นนั้นอยู่ในสมองก็เป็นไปได้

    ที่น่าเสียดายก็คือ ในช่วงของรัฐบาลเผด็จการของจอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐบาลเผด็จการจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ และช่วงของรัฐบาลจอมพลถนอม-ประภาส

    แต่ละท่าน เป็นผู้นำรัฐบาลในระยะยาวพอสมควร มีเสถียรภาพเพราะได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากสหรัฐอเมริกา

    แต่ก็ไม่เคยมีวิสัยทัศน์ที่คิดจะวางยุทธศาสตร์ระยะยาวให้กับประเทศเลย

    ช่างแตกต่างจากรัฐบาลของนายพลปัก จุงฮี จอมเผด็จการของเกาหลีใต้ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน (พ.ศ.2504-2521)

    ได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน แต่นายพลปัก จุงฮี มีวิสัยทัศน์กว้างไกล.......

    ได้สั่งให้ลูกน้องที่ใกล้ชิดไปจัดการทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว ทั้งๆ ที่ลูกน้องคนนั้นมิได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์แต่อย่างใด

    ต้องพูดความจริงกันเสียสักครั้งหนึ่งว่า.....

    เบื้องหลังความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ จากประเทศด้อยพัฒนา (Less Developed Country-LDC)

    เป็นประเทศพัฒนา (Developed Country-DC) ของหลายๆ ประเทศ

    ล้วนใช้นักเศรษฐศาสตร์น้อยมาก อาจจะเป็นเพราะนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ มักติดยึดในทฤษฎีการค้าเสรีตามที่เคยเรียนมาจากประเทศตะวันตก

    ซึ่งโลกได้พิสูจน์แล้วว่า การให้ทุกประเทศมีการค้าเสรีตามนโยบาย Washington Consensus ที่คิดขึ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันและอังกฤษนั้น

    ประเทศเล็กๆ ที่ด้อยพัฒนา มีแต่ถูกสูบเลือด ถูกเอาเปรียบจากประเทศที่พัฒนาแล้ว

    วิกฤตเศรษฐกิจก็เกิดขึ้น เพราะการบ้าทฤษฎีเศรษฐกิจเสรีนั้นแหละ

    ตัวอย่างประเทศใกล้ตัวของเราที่ใช้นักเศรษฐศาสตร์น้อยมากก็คือ จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

    ประเทศญี่ปุ่น นั้น ใช้นักกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ในการวางยุทธศาสตร์ระยะยาว

    ไต้หวัน ใช้วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ เป็นส่วนใหญ่ ในการวางยุทธศาสตร์ดังกล่าว

    เกาหลีใต้ก็เช่นเดียวกับไต้หวัน ภายใต้การนำของนายพลปัก จุงฮี ผู้เป็นเผด็จการยิ่งกว่าจอมพลสฤษดิ์

    ปกครองประเทศเกาหลีใต้ติดต่อกันถึง 18 ปี

    แต่ปัก จุงฮีกลับใช้ผู้ช่วยประธานาธิบดี คือ นายโอ  วอนชุล (Oh Won Chul) ซึ่งเป็นวิศวกรให้เป็นผู้รับผิดชอบในการยกร่างแผนเศรษฐกิจและกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาว

    นาย Won Chul ได้ร่วมกับวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์อื่นๆ อีกประมาณ 20 คน โดยกำหนดยุทธศาสตร์ด้วยความเห็นชอบของประธานาธิบดี

    ว่า#ต้องสร้างประเทศเกาหลีด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

    ทั้งนี้ ก็เพื่อเปลี่ยนประเทศ จากการเป็นผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกรดต่ำๆ ให้กลายเป็นประเทศ ที่สามารถส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมคุณภาพสูง เหนือกว่าคู่แข่งขันใดๆ ในโลกให้ได้

    โดยเฉพาะทางด้านการผลิตเครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้า (Electronics) เหล็กกล้า (Steel) และการก่อสร้างเรือขนาดใหญ่ทั้งเรือสินค้าและเรือรบ (Ship building) เป็นต้น

    ยุทธศาสตร์เหล่านี้ ได้ประกาศไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 2 (พ.ศ.2510-2514)

    หลังจากนั้น การกำหนดนโยบายเพื่อวางแผนผลิตแรงงานให้ทันกับความต้องการของอุตสาหกรรมดังกล่าวในอนาคต โดยเฉพาะการผลิตวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักฟิสิกส์

    ผู้สำเร็จขั้นกลางระดับอาชีวะที่สามารถจะทำงานร่วมกับเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ #จนปัจจุบันอุตสาหกรรมดังกล่าว ก็ไม่เป็นสองรองใคร

    เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของเราก็ต้องการแรงงานที่มีคุณภาพจริงๆ

    คือรู้งานในการทำงานกับเครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่จากประเทศต่างๆ ได้ เมื่อมันเสีย ก็สามารถซ่อมแซมได้ทันที

    แรงงานประเภทนี้ ไม่จำเป็นต้องเรียนจบมีดีกรี ตรี โท  หรือเอก

    ความรู้ความเข้าใจของกลไกทางเทคโนโลยีที่ต้องใช้กับเครื่องจักรสมัยใหม่จากทั่วโลกที่จะมาลงทุนในเขต EEC  ต่างหาก ที่สำคัญกว่าสิ่งใดๆ

    #จะต้องใช้งบประมาณเท่าใดก็ต้องยอมครับ

    นอกจากประเทศไทยต้องมี #นโยบายการศึกษาเพื่อผลิตแรงงานที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรม เหมือนอย่างที่เกาหลีใต้เคยมีตั้งแต่สมัย ประธานาธิบดีปัก จุงฮี แล้ว

    การแลกเปลี่ยนการฝึกแรงงานกับประเทศผู้เป็นเจ้าของเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงน่าจะเป็นเรื่องจำเป็นในการทำความตกลงกันให้ได้ในการประชุม APEC ในครั้งนี้ด้วย

.......................................

    ขยับหมากตาเดียว ยังตาค้างกัน

    ขยับอีกตา ต้นปีหน้า...

    มิตกใจ จน "หลานตา" คลอดก่อนกำหนดรึนั่น!?

.

คนปลายซอย

เปลว    สีเงิน

ไทยโพสต์

๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๕


 
Home > Articles > เศรษฐกิจ > นายกขยับหมาก เปลวสีเงิน

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5603
Content : 3043
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8591564

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า