Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การศึกษา > การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม

การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม

พิมพ์ PDF

การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม : หัวใจอุดมศึกษา : 6 ประสบการณ์ การใคร่ครวญ และการเปลี่ยนแปลงจากภายใน

 

บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ  The Heart of Higher Education : A Call to Renewalเขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmerและ Arthur Zajonc ซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า  นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit)  หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (Transformative Learning)

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา  แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ  รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต  และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้  ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษาเข้าสู่การศึกษากระแสหลัก  เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนาบูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน  และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning  ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ ๒ แบบ ว่า (๑) การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน  คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้   บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช  (๒) เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรืองอกงาม ภายในตน  ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดความรู้มาจากภายนอก

ในบทที่ ๕ ของหนังสือชื่อบทคือ Experience, Contemplation, and Transformation  ผู้เขียนคือ Arthur Zajonc  เป็นเรื่องการเข้าสู่คุณค่าที่แท้จริงของการศึกษา

รูปแบบของการศึกษาที่ใช้กันในปัจจุบัน ไม่ทำให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์เต็มที่  ไม่ทำให้เข้าถึงคุณค่าที่แท้จริงของการศึกษา คือการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน และการเปลี่ยนแปลงแบบงอกงามขึ้นภายในตน

การศึกษาในปัจจุบัน ละเลยมิติด้าน จิตวิทยาพัฒนาการ (developmental psychology), ความยืดหยุ่นของสมอง หรือระบบประสาท (neuroplasticity), และจิตสำนึกที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์สองทาง (intersubjective formation of consciousness)  เราไม่ได้มองนักเรียนนักศึกษาเป็นมนุษย์ที่กำลังเจริญงอกงาม  แต่หลงมองเป็นภาชนะสำหรับรับถ่ายทอดความรู้

การเรียนรู้แบบที่ใช้กันในปัจจุบัน เรียกว่าแบบรับถ่ายทอดความรู้ (informative learning)  แต่แบบที่เป็นเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้คือ แบบเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง (transformative learning)

ศ. ซาย้องค์ อ้างถึงพัฒนาการทางจิตวิทยาการเรียนรู้ ๖ ขั้นตอน ที่เสนอโดย Robert Kegan ได้แก่ the incorporative stage (ขั้นตอนที่ ๐), the impulsive stage (ขั้นตอนที่ ๑), the imperial stage (ขั้นตอนที่ ๒), the interpersonal stage (ขั้นตอนที่ ๓), the institutional stage (ขั้นตอนที่ ๔) และ the inter-individual stage (ขั้นตอนที่ ๕)  โดยที่ ๓ ขั้นตอนหลังเป็นการเรียนรู้ของผู้ใหญ่

นศ. เข้าเรียนมหาวิทยาลัย โดยมีพัฒนาการถึงขั้นที่ ๓  ซึ่งอาจเรียกว่า มีพัฒนาการถึง Social Mind (interpersonal stage)  ซึ่งหมายความว่า นศ. ได้สร้างความรู้ความเข้าใจภายในตนด้าน โครงสร้างการเรียนรู้ (cognitive structures), สุนทรียะ, ประเพณี, ข้อกำหนดความประพฤติ, และความคาดหวังของผู้คนต่อตน  ทำให้ความคิดและความประพฤติของ นศ. แต่ละคนสะท้อนกระบวนการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงภายใน และระบบศีลธรรม ที่นำไปสู่การแสวงหาความหมายต่อโลก และต่อชีวิต

นศ. ที่พัฒนาการทางจิตวิทยา ก้าวหน้าถึงขั้นที่ ๓ จะอยู่ร่วมกับผู้คนได้อย่างไม่ยากลำบาก  แต่พัฒนาการของ นศ. ยังไม่ถึงที่สุด  ยังต้องพัฒนาไปให้ถึงขั้นตอนที่ ๔ คือ Self-Authoring Mind   คือมีความสามารถคัดเลือกปรับแต่งความคิดและความรู้ที่หลากหลาย นำมาสร้างเป็นความรู้ของตน  ระหว่างครึ่งถึงสองในสามของคน พัฒนาไม่ถึงขั้นตอนที่ ๔ นี้  โดยที่จริงๆ แล้วอุดมศึกษาควรมีความรับผิดชอบ เอื้อให้บัณฑิตทุกคนบรรลุการพัฒนาตนถึงระดับนี้  ซึ่งก็คือ ระดับที่กำกับดูแลกระบวนการเรียนรู้ของตนเองได้

และในที่สุดเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้าย คือขั้นตอนที่ ๕ คือ Self-Transforming Mind  ซึ่งก็คือสภาพที่ บุคคลนั้นมีข้อคิดเห็นของตนเอง ต่อเรื่องต่างๆ  และข้อคิดเห็นนั้นมีได้หลายแง่มุม รวมทั้งอาจมีแง่มุมที่ขัดกันเอง  และที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาละเทศะ

คือในขั้นตอนที่ ๕ คนเราจะเสมือนมีหลายตัวตนในคนๆ เดียว  มองความขัดแย้งเป็นความยึดติดกับแนวคิดแบบเดียว  อยู่กับกระบวนการเปลี่ยนแปลงตนเอง (transformative process)  มากกว่าอยู่กับผลของการพัฒนาตัวตน (formative product)  Kegan บอกว่า มีคนจำนวนน้อยมาก ที่พัฒนาได้ถึงขั้นนี้

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม  การเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จึงเป็นวิธีเรียนรู้ที่ทรงพลังที่สุด  นี่คือที่มาของ การเรียนเป็นทีม  ทั้งใน PBL ของ นศ./นร. และใน PLC ของครู


กระบวนการเรียนรู้แห่งการเปลี่ยนแปลงภายในตน

กระบวนการเรียนรู้ที่ใช้กันในปัจจุบันอ่อนแอ และแยกส่วนเกินไป ที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ในระดับที่บูรณาการและลึกซึ้งไปถึงมิติด้านจิตใจ  เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน อย่างที่เสนอโดย Kegan, Mezirow, Kohlberg, และนักวิชาการท่านอื่นๆ

การศึกษาต้องเปลี่ยนแปลงในระดับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ จากเรียนวิชาแยกส่วน เป็นเรียนโลกที่ซับซ้อน  คือเปลี่ยนจากกระบวนทัศน์ simple fragments  สู่กระบวนทัศน์ complex systems  นศ. ต้องได้เรียนรู้ภายใต้หลักการของความเป็นจริงที่ซับซ้อน  ไม่ใช่เพียงภายใต้สาระวิชาแยกส่วน อย่างที่ใช้กันในศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐

การเปลี่ยนแปลงภายในตนที่เป็นเป้าหมายของการศึกษา มองในมุมหนึ่ง ก็คือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของผู้เรียน นั่นเอง  โดยที่การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดอย่างช้าๆ  ไม่สามารถเกิดได้จากการเรียนคาบเดียวหรือครั้งเดียว  แต่เรียนได้โดยวิธี “ใส่ใจ”  นำเอาข้อสงสัย ประสบการณ์  เข้ามาใส่ไว้ในใจ  นำไปทดลองใช้ในการฝึกฝนตนเองจากการลงมือปฏิบัติ เพื่อทำโครงงาน  และในการคิดไต่ตรอง (AAR)  ในที่สุด “คำตอบ” หรือการบรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้ ก็จะมาเอง

การเรียนรู้เพื่อบรรลุขั้นตอนที่ ๕ ของ Kegan คนเราต้องฝึก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”  หรือเห็นอกเห็นใจคนอื่น ที่อยู่ในฐานะ หรือสถานการณ์ แตกต่างจากตน (empathy)  นั่นคือต้องฝึกจินตนาการและฝึกเห็นอกเห็นใจคนอื่นไปพร้อมๆ กัน

คนที่บรรลุ Self-Transforming Mind เข้าถึงสภาพที่มีหลายมิติ และมีความสามารถเปลี่ยนแปลงปรับตัวได้ ของมนุษย์


การเรียนรู้(จาก)ประสบการณ์

การเรียนรู้(จาก)ประสบการณ์ (Experiential Learning) ในที่นี้ มีความหมายที่ลึกมาก   ไม่ใช่การเรียนรู้จากประสบการณ์แบบที่เราแยกตัวออกจากประสบการณ์  แต่เป็นการเรียนรู้ในสภาพที่ตัวเรากับประสบการณ์หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว  และเรา “สัมผัส” ปรากฏการณ์นั้นจากภายใน สมอง ใจ และวิญญาณ ของเรา  และจากประสบการณ์เช่นนั้น เราเกิดการเรียนรู้แบบเปลี่ยนแปลงจากภายในตน

ตามปกติการเรียนรู้(จาก)ประสบการณ์ มักเกิดขึ้นในโอกาสพิเศษ นอกมหาวิทยาลัย  ในการเรียนแบบทำโครงงาน หรือเรียนแบบให้บริการ (in-service learning)  เมื่อผ่านประสบการณ์แล้ว นศ. รวมกลุ่มกันทำกระบวนการทบทวนสะท้อนความคิด (reflection) หรือ AAR  การมีศูนย์บริการในชุมชน ให้ นศ. หมุนเวียนไปเรียนรู้(จาก)ประสบการณ์  จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้แบบเปลี่ยนแปลงจากภายในตนได้ง่ายขึ้น

และผมเชื่อว่า เทคนิคของการเรียนรู้แบบนี้ ที่มีให้เรียนที่ศูนย์จิตตปัญญาศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล  และที่อื่นๆ เช่น เทคนิคสุนทรียสนทนา  เทคนิคเรื่องเล่าเร้าพลัง  เทคนิคถามอย่างชื่นชม (Appreciative Inquiry)  เป็นเทคนิคที่ช่วยให้บรรลุการเรียนรู้แบบเปลี่ยนแปลงจากภายในตน


การเรียนรู้โดยการใคร่ครวญ

การเรียนรู้(จาก)ประสบการณ์ สามารถนำมาใช้ในชั้นเรียนตามปกติได้  โดยชลอความเร็วในการเรียนลง  และให้ นศ. มีเวลาทำกระบวนการทบทวนสะท้อนความคิดร่วมกัน  โดยทำได้ในทุกวิชา ทุกสาขาอาชีพ  ให้ นศ. ทำสุนทรียสนทนา แลกเปลี่ยนความรู้สึกในคุณค่าของประสบการณ์การเรียนรู้  แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ด้านในที่เกิดขึ้นจากการได้สัมผัสกับกระบวนการณ์การเรียนรู้นั้นๆ

ผมเชื่อว่า การเรียนรู้แบบ PBL  ตามด้วย reflection หรือ AAR  โดยครูมีเทคนิคในการทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ที่ดี  เป็นคำถามที่มีชีวิต เชื่อมโยงกับชีวิตจริง  เชื่อมโยงกับคุณค่าในชีวิตอนาคต   จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้แบบเปลี่ยนแปลงจากภายในตนได้อย่างมีพลัง  รวมทั้งสามารถสร้างแรงบันดาลใจ สร้างพลังในชีวิต และการเรียน


มิติด้านจิตวิญญาณในนักศึกษาอุดมศึกษา

สถาบัน HERI (Higher Education Research Institute) แห่ง UCLA ได้ทำวิจัยเรื่องการเรียนรู้ในมิติด้านจิตวิญญาณในอุดมศึกษา  ด้วยความเป็นห่วงว่า ในปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาเอาใจใส่แต่การเรียนด้านนอก  ไม่สนใจการเรียนรู้ด้านใน  อันได้แก่เรื่องคุณค่า ความเชื่อ วุฒิภาวะทางอารมณ์ ความเข้าใจตนเอง และด้านจิตวิญญาณ

แต่ผลการวิจัยใน นศ. กว่า ๑ แสนคน  อาจารย์กว่า ๔ หมื่นคน  จากมหาวิทยาลัย ๔๐๐ แห่ง  ใช้เวลา ๕ ปี  ให้ผลตรงกันข้าม  คือมีการให้ความสำคัญแก่มิติการเรียนรู้ด้านในมากกว่าที่คิดมาก  คือ ร้อยละ ๘๐ ของ นศ. ปี ๑ กว่า ๑ แสนคน บอกว่าตนสนใจเรื่องจิตวิญญาณ  และร้อยละ ๔๒ ตอบแบบสอบถามว่า ตนใช้ชิวิตโดยมีการปฏิบัติทางจิตวิญญาณ  และเมื่อ นศ. เหล่านี้เลื่อนขึ้นไปเรียนชั้นปีที่ ๓  ตัวเลขเพิ่มเป็นร้อยละ ๕๐

มากกว่า สองในสามของ นศ. บอกว่า ตนต้องการให้มหาวิทยาลัยอำนวยความสะดวก หรือจัดการเรียนรู้ด้านจิตวิญญาณ


มิติด้านจิตวิญญาณในอาจารย์มหาวิทยาลัย

ผลการวิจัยของ HERI ที่กล่าวข้างต้น ในกลุ่มอาจารย์  ได้ผลไปในทางเดียวกับใน นศ.  แต่มีความแปรปรวนสูงกว่า  โดยอาจารย์บอกว่าการเรียนให้ได้ คุณค่า ความหมาย และปณิธานชีวิต มีความสำคัญ  และตนได้ส่งเสริมอยู่แล้ว  แต่วิธีดำเนินการไม่ชัดเจน

สรุปได้ว่า ในสหรัฐอเมริกา นศ. มีความต้องการการเรียนรู้ในมิติด้านจิตวิญญาณมาก  แต่สถาบันอุดมศึกษาไม่มีการตอบสนองอย่างเป็นระบบ และจริงจัง

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะระบบอุดมศึกษามีวิธีจัดผังวิชาการที่ผิด  คือเอาเรื่องวิทยาศาสตร์ และเรื่องศาสนา จิตใจ ไว้ฝั่งตรงกันข้ามกัน  จารีตในการศึกษาค้นหาความจริง  อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับความเชื่อ  ดังนั้น มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อการค้นหาความจริง จึงไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับศาสนา

ศ. ซาย้องค์ ผู้เขียนบทนี้ บอกว่าตนทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  ในเรื่องความเชื่อเป็นเรื่องส่วนตัว นั้น ท่านเห็นด้วย  มหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่ขององค์การศาสนา ไม่ควรเข้าไปยุ่งกับความเชื่อทางศาสนา  แต่ศาสนากับมิติทางจิตวิญญาณไม่ใช่สิ่งเดียวกัน  มิติทางจิตวิญญาณเป็นคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด

วิทยาศาสตร์กับจิตวิญญาณมีส่วนเชื่อมต่อกัน คือ cognitive spirituality  การปฏิบัติฝึกภาวนา มองเห็นได้ว่าทำให้มีการเปลี่ยนแปลงภายในตัวบุคคล  นอกจากนั้น การศึกษาด้านประสาทวิทยาศาสตร์ ยืนยันว่า ในขณะปฏิบัติภาวนา มีการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าในสมอง


มิติด้านจิตวิญญาณในอุดมศึกษาในปัจจุบัน

การเรียนรู้ระดับปริญญาตรี เป็นการวางรากฐานชีวิตการเป็นผู้ใหญ่  มิติด้านจิตวิญญาณเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานนั้น  มิตินี้รวมถึง การภาวนา สุนทรียะ ความรู้เชิงศีลธรรม  เพื่อวางรากฐานชีวิตที่มีความหมาย และมีปณิธานความมุ่งมั่น

 

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ม.ค. ๕๖

คัดลอกจากhttp://www.gotoknow.org/posts/536719

 

 
Home > Articles > การศึกษา > การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5585
Content : 3038
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8555903

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า