Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การศึกษา > ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๔๖. หนังสือ อัตตชีวประวัติ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๔๖. หนังสือ อัตตชีวประวัติ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

พิมพ์ PDF

วันที่ ๒๘ พ.ค. ๕๖ คุณใหญ่(นงนาท สนธิสุวรรณ) มอบหนังสือ อัตตชีวประวัติ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรผมเอากลับมาอ่านที่บ้าน อ่านแล้ววางไม่ลง และอ่านจบในเย็นวันรุ่งขึ้น เพราะเป็นหนังสือแบบที่ผมชอบอ่านมาก  ให้ความรู้หลากหลายด้าน เป็นที่ตื่นตาตื่นใจมาก  ขอแสดงความขอบคุณคุณใหญ่ไว้ ณ ที่นี้

เนื่องจากเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวเก่าๆ เอ่ยชื่อคนที่เป็นบุคคลสำคัญสมัยก่อน ที่คนรุ่นเราไม่รู้จัก  คุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ บรรณาธิการ ได้จัดทำเชิงอรรถอธิบายความไว้อย่างดีมาก  ช่วยให้การอ่านออกรส และเข้าใจบริบทของเรื่องราวมากขึ้น

ผมติดใจเรื่องราวตอนที่ท่านเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ  ในสมัย ร. ๗ ซึ่งราษฎรบ้านนอกไม่นิยมส่งลูกไปโรงเรียน  ต้องการให้ลูกอยู่ช่วยงานบ้าน  ทางการต้องหาวิธีชักจูง  ทำให้ผมรำลึกถึงเหตุการณ์ในชีวิตของตัวเอง ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ผมอายุ ๑๕ ปี  เรียนชั้น ม. ๕  เริ่มช่วยงานธุรกิจโรงสีที่บ้านได้อย่างเข้มแข็ง  และพ่อแม่ตั้งใจให้เรียนจบแค่ ม.​๖  แล้วอยู่ช่วยงานบ้าน  แต่ครูพิเชษฐ์ บัวลอย ครูประจำชั้น ม. ๔ และ ม. ๕ แนะนำให้ส่งผมมาเรียนต่อ ม. ๖ ที่กรุงเทพ เพื่อสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แล้วจะได้สอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้

พ่อให้ผมเลือกเอง บอกว่าถ้าอยู่ช่วยงานบ้านจะตั้งเงินเดือนให้ ๓,๐๐๐ บาท (เข้าใจว่าตอนนั้นจบปริญญาตรีเงินเดือน ๗๕๐ บาท)  โชคดีที่ผมฟังไม่รู้เรื่อง ในเรื่องเงิน (และยังฟังไม่รู้เรื่องแม้ในปัจจุบัน)  และตัดสินใจเรียนต่อ  จนเริ่มรับราชการในปี ๒๕๑๑ ได้เงินเดือน ๒,๑๕๐ บาท

ผมได้เข้าใจสภาพที่การศึกษาภาคบังคับ เป็นตัวดึงเด็กออกจากการทำงานบ้าน  และคิดย้อนกลับเข้าตัวเองอีก  ว่าผมโชคดีจริงๆ ที่สภาพความจน และการสร้างตัวสร้างฐานะของพ่อแม่ บังคับให้ผมโดนใช้งานสารพัดด้าน อย่างที่ผู้คนในหมู่บ้านสงสารผม  และเป็นที่โจษจรรกันทั่วหมู่บ้าน ว่าแม่ของผม เป็นคนที่เข้มงวดกับลูกๆ มาก มาบัดนี้ ผมเพิ่งเข้าใจว่า สภาพเช่นนั้นเองได้หล่อหลอม ให้ผมมีนิสัยอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้  และน้องๆ ของผม ต่างก็มีชีวิตที่ดีกันทุกคน

คือผมและน้องๆ ตกอยู่ในสภาพที่ ทั้งเรียนจากโรงเรียน และเรียนจากที่บ้าน  จากการทำงาน สารพัดอย่างที่บ้าน เพื่อช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน  แต่เด็กสมัยนี้โชคไม่ดีอย่างผมและน้องๆ  เขาถูกจารีตทางการศึกษา หรือถูกกระแสสังคม ที่แยกการเรียนออกจากชีวิตจริง ทำให้เขาไม่ได้เรียนจากการช่วยงานบ้าน  หรือที่บ้านของเขาไม่มีงานให้ช่วยทำ เขาจึงขาดโอกาส “เรียนจากการลงมือทำ”

หนังสือ Who Owns the Learning?บอกว่า เด็กต้องเรียนจากการลงมือทำ  ทำสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมายต่อชีวิตและต่อตัวเด็ก  โดยการทำสิ่งที่มีคุณประโยชน์ต่อผู้อื่น  เพื่อฝึกนิสัยให้เป็นคนที่มีใจเผื่อแผ่ และมุ่งทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อสังคม และ ต่อโลก

แต่สมัยผมเป็นเด็กผมก็ไม่เห็นคุณค่าของงานที่แม่มอบหมาย (และบังคับ) ให้ทำ  ผมทำด้วยความเบื่อ เพราะอยากไปเล่นอย่างเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน  เพิ่งมาเห็นคุณค่าเอาตอนแก่นี่แหละ  ว่าแม่ของผมเป็นคนล้ำสมัย โดยไม่รู้ตัว  จัดการฝึกลูกให้เรียนรู้โดยลงมือทำ โดยที่แม่ไม่มีความรู้ทางการศึกษาเลย เพราะแม่เรียนจบแค่ ป. ๔

ที่จริงแม่มีเจตนาฝึกลูกให้ทำมาหากินเป็น เอาตัวรอดในชีวิต  ไม่ได้เข้าใจเรื่องฝึก “ทักษะชีวิต” ใน 21st Century Skills อย่างที่พูดกันในปัจจุบัน  แต่ความมีเจตนาเรื่องการเรียนโดยฝึกทักษะเพื่อการทำมาหากินนั่นเอง  เป็นสิ่งที่ถูกต้องมาตั้งแต่ยุคนั้น และยิ่งถูกต้องในยุคปัจจุบัน  คือเป็นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง  และพ่อแม่มีส่วนสำคัญ  แต่คนรุ่นหลังจากผมเกือบทั้งหมดไม่มีโชคที่จะได้รับการเรียนรู้แบบนี้จากบ้าน  รุ่นลูกของผมก็ไม่ได้รับ

ผมติดใจมาก ที่เสด็จในกรมฯ ท่านสนใจเรียนรู้ความเป็นอยู่ของชาวบ้าน  ชอบเสด็จออกไปสัมผัสชีวิตของชาวบ้านโดยตรง  ไม่ใช่เอาแต่รอรับรายงานจากหน่วยงาน  ผมว่านี่คือตัวอย่างของการบริหารงานแบบเอาใจใส่ “ผู้รับบริการ”  พยายามทำความเข้าใจจากมุมมอง ของชาวบ้าน ที่เป็นผู้รับผลโดยตรง  ไม่ใช่คิดเอาเอง และสั่งการแบบ top down  จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วตีความมุมของการเรียนรู้ ผมคิดว่า เสด็จในกรมฯ ทรงมี empathy skills สูงมาก   ผมเดาว่า การเลี้ยงดูกล่อมเกลาโดยย่าของท่าน (ท้าววรจันทร์) น่าจะมีส่วนสร้างลักษณะนิสัยนี้

ในตอนท้ายของหนังสือ (หน้า ๒๗๙) ทรงเล่าเรื่องเสด็จไปประชุมที่เมือง แอนน์ อาร์เบอร์ รัฐมิชิแกน ของสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.​๒๕๑๐  ทำให้ผมระลึกได้ว่า ตอนนั้นผมเรียนปริญญาโทอยู่ที่นั่น  และได้มีโอกาสเข้าเฝ้าร่วมกับนักเรียนไทยที่นั่นจำนวนประมาณ ๕๐ คน  จำได้ว่า ท่านมีลักษณะเป็นผู้ใหญ่ใจดี  นักวิชาการที่เชิญท่านไปประชุมชื่อ ศาสตราจารย์ วิลเลียม เก็ดนีย์ จำได้ว่าท่านเสด็จไปที่บ้านศาสตราจารย์เก็ดนีย์ และพวกเราไปเฝ้าท่านที่นั่น   ท่านศาสตราจารย์เก็ดนีย์มีภรรยาเป็นคนไทย

อ่านจบก็เห็นสัจธรรมในชีวิตคน ว่ามีขึ้นมีลง  ทรงได้ทรงกรม และเป็นเสนาบดี ตั้งแต่อายุน้อย เพราะความสามารถ  แล้วก็ “ตกงาน” เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  แต่ความที่ท่านเป็นข้าราชการฝ่ายบุ๋น ไม่มีอำนาจเป็นพิษเป็นภัยต่อผู้ใด  จึงไม่ถึงกับต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ  และความเป็นนักวิชาการของท่าน ก็ได้ช่วยให้ท่านได้ใช้ช่วงเวลา “ตกงาน” อยู่สิบกว่าปี สร้างสรรค์ผลงานเป็นอันมาก  ผมได้เรียนรู้ตัวอย่างบุคคลที่มี resilience ในการดำรงชีวิต

ผมรู้สึกว่า ทรงนิพนธ์หนังสือนี้แบบ “ยั้งมือ” คือไม่เขียนเรื่องที่จะกระทบคนอื่น  ซึ่งเป็นคุณลักษณะของพระองค์ท่าน   แต่น่าเสียดายที่คนไทยเรามีวัฒนธรรมไม่เขียนเรื่องราวที่ซับซ้อนไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้  เนื่องจากเกรงกระทบคนอื่น

ผมเสียดาย ที่ทรงเล่าเรื่องการศึกษาน้อยเกินไป  มิฉนั้น ผมจะได้เอามาตีความทำความเข้าใจวิวัฒนาการ ของการศึกษาไทยได้มากกว่านี้  โดยที่เท่าที่ทรงเล่าว่า เริ่มเห็นข้อจำกัดของการศึกษาเพื่อสร้างคนไปรับราชการ ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนระบอบการปกครอง  ทรงมีนโยบายส่งเสริมอาชีวศึกษา  แต่ผมเดาว่านโยบายนี้ไม่ต่อเนื่อง

แต่ที่ผมติดใจมากที่สุดในเรื่องระบบการศึกษา และพระองค์ท่านก็ไม่ทรงเอ่ยถึง  คือการที่ระบบการศึกษาของเรา แยกตัวออกจากชีวิตจริงของเด็ก  มองการศึกษากับการช่วยงานพ่อแม่ เป็นเรื่องแยกกัน  หรือไม่มีบทเรียนที่ใช้ฐานการทำงานช่วยงานพ่อแม่ เป็นกิจกรรมเรียนรู้  แต่ตอนนี้ เราจะต้องเรียกเอาแนวคิดนี้กลับคืนมา  ครูจะต้องฝึกทักษะเป็นโค้ช ฝึกให้เด็กได้เรียนรู้จากการทำงาน หรือการลงมือทำในบริบทต่างๆ รวมทั้งการช่วยพ่อแม่ทำงาน เพื่อการทำมาหากิน  เรียนรู้ทฤษฎีให้รู้จริง จากการลงมือปฏิบัติหลากหลายบริบท  รวมทั้งบริบทช่วยงานพ่อแม่

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๙ พ.ค. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/541756

 

 

 
Home > Articles > การศึกษา > ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๔๖. หนังสือ อัตตชีวประวัติ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5607
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8609949

facebook

Twitter


บทความเก่า