Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การศึกษา > โครงการ DFC3 : ๒. วันแรก : เดินทาง เที่ยว และกิน

โครงการ DFC3 : ๒. วันแรก : เดินทาง เที่ยว และกิน

พิมพ์ PDF

วันที่ ๒๒ พ.ค. ๕๖ ผมเข้าร่วมกิจกรรม DFC3 Orientation จัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ

DFC ย่อมาจาก Dean for Change รุ่นนี้เป็นรุ่น ๓  จัดเพื่อเตรียมคนเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย ระดับคณบดี  ที่มีหัวใจ จิตใจ และทักษะการบริหารการเปลี่ยนแปลง

จากการเข้าร่วมประชุมวันนี้ ผมเห็นชัดเจนว่าการดำเนินการหลักสูตรนี้เข้มข้น และมีคุณภาพสูงมาก  โดย keyword ของหลักสูตรคือ change, internationalization, และ collaboration  และในวันนี้มีการฝึกเทคนิค ๒ อย่าง เพื่อใช้ในกิจกรรมร่วมกันตลอดหลักสูตร  คือ storytelling และ gallery walk ผมได้คุยกับทีมของคลังสมองและทราบว่า ตอนไปดูงานที่เยอรมัน ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๔ มิ.ย. ๕๖จะใช้เครื่องมือ AAR ด้วย  โดยทำกันบนรถระหว่างเดินทาง   ทีมของสถาบันคลังสมองได้เตรียมข้อมูลไว้อย่างดี  ว่าการเดินทางช่วงต่างๆ ในเยอรมันมีเวลาเท่าไร  จะใช้ประโยชน์ของเวลาให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ร่วมกันโดยทำ AAR

ผู้เข้าร่วมหลักสูตรมี ๑๘ คน จาก ๑๑ มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยที่ส่งคนเข้าร่วมมากที่สุดคือ มข. ๓ คน  มาจากคณะวิทยาการจัดการคณะเดียว  มีวิทยากรเดินทางไปเยอรมันด้วย ๔ คน ผมเป็นคนหนึ่งในนั้น

ในวันปฐมนิเทศนี้ ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ผอ. สถาบันคลังสมองได้เกรินนำขั้นตอนของกระบวนการเปลี่ยนแปลง ๘ ขั้นตอนของ Kotler  เป็นการเรียนทฤษฎีแบบเกริ่นนำ  ให้ไปค้นคว้าเองต่อ   แล้วไปดูตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัย ๗  แห่งในเยอรมัน  แล้วจึงกลับมาทำ “แบบฝึกหัด” ของตนเอง เรียกว่า PAP (Program Action Plan)  ตามด้วยการนัดหมายมารวมตัวแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

ในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๖ จะมีรายการ Learn and Share ใช้เวลา ๕ วัน  เพื่อเรียนรู้ change module ที่สำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยไทย รวม ๖ หน่วย  โดยจะมีรายการไปดูงานที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์  และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วย  เป็นการเสริมความรู้เชิงทฤษฎี และตัวอย่าง  สำหรับให้ผู้เข้าหลักสูตรได้นำไปใช้ปฏิบัติจริงใน PAP  รายการ PAP นี้ จะมีการทำงานต่อเนื่อง จนมี  Final Conference วันที่ ๙ - ๑๐ ม.ค. ๕๗

ผมมีความรู้สึกหลังฟังรายละเอียดของการเดินทางไป study visit ที่เยอรมันว่า  เป็นการเดินทางที่มีการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เข้มข้นมาก  ในขณะเดียวกัน ก็จัดให้มีทัศนศึกษา และมีเวลาให้ช็อปปิ้งด้วย  และที่พักที่กินก็ดีมาก คือได้เรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมด้วย

ต่อไปนี้เป็นบันทึกระหว่างเดินทางจริงๆ ที่ผมใช้ iPad Mini บันทึกเป็นระยะๆ


วันที่ ๘ - ๙ มิ.. ๕๖

เราเดินทางโดย TG 920 เครื่องบิน A380-800 ซึ่งมี ๒ ชั้น ชั้นหนึ่งกับชั้นธุรกิจอยู่ชั้นบน  เวลาขึ้นเครื่องเดินเข้างวงก็แยกทางกัน  ทางไปชั้นบนก็ค่อยๆ ลาดขึ้น  ไม่ใช่เป็นสองชั้นแบบเครื่องบินจัมโบ้ โบอิ้ง 747  ผมเข้าใจว่า เครื่องบิน A380 ไม่มีบันไดติดต่อระหว่างชั้นบนกับชั้นล่าง  เดาว่าแยกขาดจากกัน

ชั้นธุรกิจจัดที่นั่งเป็นแถว 2-2-2 โดยมีที่นั่งริมหน้าต่างด้านละ ๒ ที่ เพราะจัดที่นั่งด้านริมหน้าต่างให้เหลื่อมกัน  แต่ละที่นั่งออกสู่ทางเดินได้เหมือนกัน  ดังนั้นวิธีเลือกที่นั่งจึงควรเลือกที่นั่งริมหน้าต่างจะดีกว่า  เพราะออกไปเข้าห้องน้ำง่ายเหมือนนั่งที่นั่งตรงกลาง อย่าง 15F ที่ผมได้รับ  แต่ได้ความเป็นส่วนตัวมากกว่า คือไม่มีคนนั่งข้าง  รวมทั้งมีที่เก็บของข้างๆ ที่นั่งด้านในด้วย

ที่นั่งมีการออกแบบตำแหน่งระหว่างที่นั่งตัวหน้ากับตัวหลังให้สลับหรือเหลื่อมกัน  เพื่อให้ได้พื้นที่เหยียดขา  เมื่อปรับนอนก็จะราบ ดีกว่า A340 ที่ผมนั่งไปซูริกเมื่อเดือนที่แล้ว ที่เอนได้เพียงเกือบราบ  แต่อย่างไรก็ตาม ที่นอนมันแคบหน่อย คนตัวโตๆ ยังรู้สึกคับแคบ  คนที่นั่งข้างผมตัวโต ผมก็ตัวโต ต้องระมัดระวังไม่ไห้พลิกตัวไปโดนกัน

อาหารที่เลี้ยง (ตอนตีหนึ่ง) ก็คล้ายๆ กันกับของการบินไทยเที่ยวอื่นๆ  วันนี้ผมกินปลาปรุงแบบฝรั่งซึ่งผมไม่ได้จดชื่อไว้ อร่อยอย่างที่ไม่เคยกินมาก่อน  ไวน์แดงก็อร่อยอย่างเดิม  แต่ของหวานซึ่งเป็นชีสเค้ก ไม่อร่อย หวานเกินไป

ผมนอนแล้วตื่นขึ้นมาดื่มน้ำ เพราะคอแห้ง และไปถ่ายปัสสาวะ 3-4 ครั้ง รวมนอนได้ ๖ ชั่วโมง  แปลกมากที่เดินทางคราวนี้ผมคอแห้งมาก  สิ่งที่ต้องระวังคือ เบาหวานกำเริบ

เครื่องบินใหม่ เทคโนโลยีหลายอย่างก็ใหม่  เราได้เห็นความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชัดเจน  ในส่วนที่สัมผัสกับผู้โดยสาร และในส่วนที่เราไม่ได้สัมผัส  จอสื่อสารตรงหน้าที่นั่งใหญ่ หูฟังคุณภาพสูง เพลงเพราะ  และมีที่ชาร์จไฟด้วย UBS  และเสียบ iPhone หรือ thumb drive ของเรา ดูหนัง  ฟังเพลงได้  แต่ผมทดลองเสียบ thumb drive เพื่อดูหนังแล้ว ไม่เก่งอย่างที่คิด หรืออาจเพราะผมใช้ไม่เป็นก็ได้

เมื่อลงเครื่องบินที่แฟรงค์เฟิร์ต ต้องไปผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง  แล้วผ่านการตรวจความปลอดภัย  เครื่องตรวจของเยอรมันเขาละเอียดมาก  ขนาดผมเอาของออกจากตัวหมดแล้ว มันก็ยังร้อง  ต้องไปตรวจตัวอย่างละเอียด  และถอดรองเท้าตรวจอย่างละเอียดมาก  ในที่สุดก็พบจำเลย 2 อย่าง คือซิปกางเกง กับแปรงซอกฟันอันเล็กๆ ที่มีแกนเป็นเหล็ก

ในกระเป๋าถือขึ้นเครื่องมีของที่เป็นโลหะหลายอย่าง  เขารอเปิดตรวจ  เจ้าหน้าที่บอกให้ผมเปิด ผมตอบว่ายูเปิดก็ได้  เขายืนยันว่าผมต้องเป็นผู้เปิด  ซึ่งตรวจแล้วก็ผ่านด้วยดี

แต่ผมไปนึกขึ้นได้ตอนอยู่บนเครื่องบิน บินจากแฟรงค์เฟิร์ต ไปเบอร์ลิน ว่าผมลืมหยิบ MacBook Air มาด้วย  ทิ้งไว้บนสายพานตรวจนั่นเอง

สนามบิน แฟรงค์เฟิร์ต ผมคุ้น เพราะ transit บ่อยในปีก่อนๆ เพื่อไปเจนีวา  ดังบันทึกนี้ ในที่สุดผมไปถึง Gate A21 เพื่อขึ้นเครื่องบินไปเบอร์ลิน ก่อนคนอื่นๆ

บินชั่วโมงเดียว สายการบินลุฟท์ฮันซ่า เครื่อง Airbus A321 ผู้โดยสารเต็มลำ  ถึงเบอร์ลิน  คุณทานาส มิเชล ไกด์ของบริษัททัวร์ มารับ พาไปขึ้นรถบัสคันใหญ่ ไปชม Charlottenburg Palace โดยมีไกด์เยอรมันอธิบาย  พาไปชมสวนก่อน  แล้วไปชมบางห้องของวัง  ซึ่งเริ่มต้นด้วยวังเล็กๆ เพื่ออยู่ส่วนตัว  แต่ในที่สุดก็ถูกใช้เป็นพระราชวังเพื่อแสดงอำนาจ  มีห้องที่สร้างให้โอ่อ่าอวดมั่งมีของ กษัตริย์ปรุสเซีย

ในสวนมีต้นไม้เมืองร้อนจำนวนหนึ่งปลูกในกระถางใหญ่ เช่นส้มจีน  ในฤดูหนาวต้องย้ายไปอยู่ในห้องกระจกปรับอุณหภูมิ  ไกด์บอกว่าต้นไม้เหล่านี้อายุ ๔๐​ปี เป็นคล้ายๆ บอนไซ ออกลูกด้วย

เรามีเวลาชั่วโมงเศษ สำหรับชมวังและสวน  ตอนเราไปถึงบริเวณลานหน้าวังก่อน ๑๐ น. ไม่มีคนเลย จนแปลกใจว่าเหมือนวังร้าง  แต่ตอนเข้าไปชมในวังก็พบว่ามีนักท่องเที่ยวเข้าชมเป็นกลุ่มๆ มากมายขวักไขว่  และเมื่อออกมาที่ลานหน้าวังตอนขากลับ เวลา ๑๒ น. ก็ตกใจที่มีคนเต็มไปหมด

ผมขอให้คุณทานาสไกด์ ช่วยติดต่อสนามบินแฟรงค์เฟิร์ต ติดตามของหาย คือ MacBook Air  จากคำพูดของเขาทำให้ผมนึกได้ว่า หากไม่มีไกด์ช่วยเหลือ ขากลับผมสามารถไปสอบถามที่ สนง. Loss & Found ของสนามบินได้

กลับมาที่โรงแรม Streigenberger Berlin แล้วเดินไปดูลาดเลาถนนใหญ่ ที่สามารถเดินไปตลาดเพื่อ ช็อปปิ้งได้ สินค้าราคาไม่แพง  แล้วเดินกลับมากินอาหารที่ภัตตาคารใกล้ๆ โรงแรมชื่อ La Sepia  เป็นอาหารเยอรมัน ที่ใช้ได้ แต่อร่อยไม่เท่า Bei Otto ที่ผมเพิ่งไปกินเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  เมื่อผมเอ่ยว่าผมชอบรสอาหารของภัตตาคารเยอรมันที่สุขุมวิทซอย ๒๐ มากกว่า ศ. ดร. ศันสนีย์ไชยโรจน์ ก็เอ่ยชื่อ bei Otto และบอกว่าไปกินบ่อย เพราะอยู่ใกล้บ้าน

ที่จริงร้านอาหาร La Sepia เขาขึ้นป้ายว่าเขาเก่งด้านปลาย่าง  แต่ผมไม่ได้สังเกต  (มาสังเกตตอนเดินออกกำลังผ่านในเช้าวันรุ่งขึ้น)  ผมจึงไม่ได้สั่งปลา แต่สั่งเนื้อแกะ กินกับไวน์แดง  ซึ่งผมคิดว่าเป็นไวน์ธรรมดาๆ ไม่อร่อย  หลังจากนั้นผมจึงถือหลัก “มาเมืองเบียร์ต้องดื่มเบียร์”

ระหว่างกินอาหารผมถาม ผศ. ดร. ชลทิศ เอี่ยววรวุฒิกุล คณบดีคณะวิศว ม. ศรีปทุม เรื่องบัณฑิตของมหาวิทยาลัยกับการหางาน  ท่านบอกว่าไม่มีปัญหา  เพราะมหาวิทยาลัยร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจใกล้ชิดมาก  เชิญเขามาออกแบบหลักสูตร และส่ง นศ. ไปฝึกงาน  เมื่อจบก็ได้งาน  โดยหลักสูตรของ ม. เอกชนเน้นปฏิบัติ ไม่ใช่ทฤษฎี

ตอนเย็นก่อนออกไปนั่งเรือเที่ยว คุณทานาส ก็มาบอกข่าวดีว่าทางสนามบินเก็บ MacBook Air ไว้ให้แล้ว  เราตกลงกันว่า ไปรับวันกลับเลย

16.15 น. ล้อหมุน จากโรงแรมรถบัสคันเล็กนั่งได้ 22 คนพอดี พาเราไปที่ท่าเรือ  รอขึ้นเรือที่เหมาลำเฉพาะกลุ่มพวกเรา  พาล่องแม่น้ำ Spree ฟังเทปบรรยายอาคารสถานที่สองฝั่งแม่น้ำ  สิ่งที่ตื่นตาตื่นใจคือมีที่พักผ่อนหย่อนใจสองฝั่งคลองมากมาย  และการสร้างอาคารที่ทำการของนายกรัฐมนตรีอาคารใหม่ออกแบบได้งดงามทันสมัย เป็นศิลปะยุคใหม่  และได้เห็นว่า ในยุคแบ่งเบอร์ลินเป็นฝั่งตะวันออกกับตะวันตกนั้น แม่น้ำกั้นเพียงแคบนิดเดียว

เมืองเบอร์ลินจึงมีทั้งส่วนที่เป็นเมืองเก่า และส่วนที่เป็นเมืองใหม่  ยังมีการก่อสร้างอีกมากมาย  เห็นเครนก่อสร้างเต็มไปหมด

นั่งเรือกลับไปกลับมา ๑ ชั่วโมง กลับมาขึ้นท่าเดิม แล้วเดินไปที่อาคารรัฐสภาท่ามกลางสายฝนพรำ ผ่านบริเวณที่นั่งเรือผ่าน ได้เห็นวิวงามจากบนฝั่ง  ไปกินอาหารเย็นที่ภัตตาคาร Kaefer บนระเบียงของอาคารโดมของรัฐสภา  อาหารหลักเป็นปลา อร่อยทีเดียว แต่ก็ยังสู้ bei Otto ไม่ได้

กินอาหารเย็นเสร็จ เดินลงมาโดนฝนหนักกว่าขามา แต่ก็เดี๋ยวเดียว  กลับถึงโรงแรมนอนหลับเป็นตาย


วิจารณ์ พานิช

๑๕ มิ.ย. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/541768
มีรูปสวยๆหลายรูปถ้าต้องการชมรูปโปรดเข้าไปที่ link ข้างบน

 
Home > Articles > การศึกษา > โครงการ DFC3 : ๒. วันแรก : เดินทาง เที่ยว และกิน

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5607
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8609072

facebook

Twitter


บทความเก่า