Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การศึกษา > เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องการศึกษา

เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องการศึกษา

พิมพ์ PDF

เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องการศึกษา ๑

ศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน เศรษฐศาสตร์การเมืองในวัฒนธรรมชุมชน เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่ ศ. กิตติคุณ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และ อาจารย์ ดร. ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ มีอายุครบ ๗๒ ปี และให้เกียรติเชิญผมไปเป็นองค์ปาฐกในงาน โดยพูดเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง เรื่องการเรียนรู้ เพื่อชาติ เพื่อชุมชน จึงนำมาเผยแพร่ต่อ

 

เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องการเรียนรู้ เพื่อชาติ เพื่อชุมชน[1]

 

วิจารณ์ พานิช

๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๖

..

 

 

ท่านศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ท่านอาจารย์ ดร. ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ และแขกผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน

กระผมรู้สึกว่าได้รับเกียรติและความไว้วางใจอย่างสูงยิ่ง ที่ได้รับเชิญให้เป็นผู้กล่าวปาฐกถาเกียรติยศ เนื่องในวาระที่มิตรสหายและศิษย์มาร่วมกันเฉลิมฉลองโอกาสที่สองปราชญ์ไทย มีอายุครบ ๖ รอบนักษัตร ในลักษณะของกิจกรรมทางปัญญา อย่างน้อย ๓ ด้าน คือการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึก จำนวนถึง ๙ เล่ม การแสดงละคร เรื่อง เพื่อชาติ เพื่อมนุษยชาติเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของคุณจำกัด พลางกูร และการแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องการเรียนรู้ เพื่อชาติ เพื่อชุมชน นี้ โดยกระผมได้พยายามค้นคว้าทำความเข้าใจมานำเสนอต่อท่านที่เคารพทั้งหลายในเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง

กระผมขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ฉัตรทิพย์ ท่านอาจารย์ปรีชา และคณะผู้จัดงาน ที่กรุณาให้เกียรติผมมากล่าวปาฐกถานี้ ความรู้สึกว่าได้รับเกียรติและได้รับโอกาสมากล่าวต่อที่ชุมนุมของปราชญ์ แห่งแผ่นดินจำนวนมาก และความรู้สึกรักและเคารพอาจารย์ฉัตรทิพย์และอาจารย์ปรีชา ทำให้กระผมไม่ปฏิเสธคำเชิญ แต่เมื่อรับแล้ว ก็เกิดความวิตกกังวล ว่าอาจทำไม่ได้ดี เพราะเรื่องการเรียนรู้ หรือการศึกษาในสังคมไทย โดยเฉพาะเมื่อมองจากมุมของเศรษฐศาสตร์การเมือง เป็นเรื่องซับซ้อนมาก มีความจริงกึ่งมายา รวมทั้งความจริงทั้งที่เป็นศักยภาพ และที่เป็นจุดอ่อนที่ซ่อนเร้น หรือซุกซ่อนอยู่อีกมากมาย เกินกำลังสติปัญญาของกระผม จะเข้าใจแจ้งแทงตลอดได้ จึงขออนุญาตนำเสนอแบบเน้นตั้งคำถาม มีเป้าหมายเพื่อยั่วยุให้เหล่ามิตรสหาย และศิษย์ของท่านอาจารย์ทั้งสอง นำไปเป็นโจทย์วิจัย เพื่อแก้ปัญหา อันยุ่งเหยิงของบ้านเมืองของเรา

หวังว่า เมื่อจบปาฐกถานี้แล้ว ท่านจะได้คำถามจำนวนมาก ที่เป็นคำถามเพื่อชาติ เพื่อชุมชนของเรา สำหรับให้ท่านที่เคารพทั้งหลายนำไปทำงานวิชาการต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตอบโจทย์ด้านเศรษฐศาสตร์ การเมืองเรื่องการศึกษา เพื่อลดปัจจัยลบ และนำศักยภาพที่ซ่อนเร้น ออกทำคุณประโยชน์ แก่บ้านเมืองของเรา

กระผมจะกล่าวต่อท่านทั้งหลายเพียง ๒ เรื่อง คือเรื่องการศึกษาในระบบ กับเรื่องการเรียนรู้ของชุมชน

 

การศึกษาในระบบ

ความจริงที่รู้กันมากว่า ๑๐ ปี รู้กันทั่ว ไม่มีอะไรซ่อนเร้น คือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กไทย ในภาพรวมตกต่ำลง และตกต่ำลงเรื่อยๆ ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา สะท้อนความล้มเหลวของการบริหารการศึกษา ของประเทศไทย ผลการทดสอบเปรียบเทียบระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า PISA (Programme for International Student Assessment) ซึ่งทดสอบเด็กอายุ ๑๕ ปี ในทักษะ ๓ ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ทดสอบทุกๆ ๓ ปี เริ่มจัดทำปี ค.. 2000 พบว่าคะแนนเฉลี่ยของเด็กไทยอยู่ในกลุ่มต่ำที่สุดของโลก และมีแนวโน้มคงที่หรือลดลง ในทั้ง ๓ ด้าน กระผมขอยกตัวอย่างด้านเดียว คือทักษะการอ่าน คะแนนเฉลี่ยของเด็กไทยในปี ค.. 2009 เท่ากับ ๔๒๑ เป็นอันดับที่ ๕๓ จาก ๖๕ ประเทศ โดยประเทศที่ได้อันดับ ๑ คือนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน คะแนน ๕๕๖ คะแนนเฉลี่ยของเด็กไทย ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานของกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งเท่ากับ ๔๙๓ คะแนนเฉลี่ยด้านการอ่านของเด็กไทย ในปี ค.. 2006, 2003, และ 2000 เท่ากับ ๔๑๗, ๔๒๑ และ ๔๓๑ ตามลำดับ

คะแนนเฉลี่ยของปี ค.. 2006 เท่ากับ ๔๑๗ ของปี ค.. 2009 เท่ากับ ๔๒๑ น่าจะใจชื้นว่าคะแนนทำท่าจะดีขึ้น แต่เมื่อวิเคราะห์เจาะลึก ดูร้อยละของเด็กที่มีทักษะการอ่าน ต่ำกว่าเกณฑ์ระดับพื้นฐาน ในปี ค.. 2006 ร้อยละ ๓๗ ในปี ค.. 2009 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๔๓

การที่คะแนนเฉลี่ยของผลการสอบ PISA ของเด็กไทย ต่ำกว่ามาตรฐานโลกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา ๑๐ ปี เป็นเรื่องที่น่าตกใจ แต่ยังไม่น่าตกใจเท่าข้อมูลวิเคราะห์แยกแยะรายละเอียดของผลสอบตามกลุ่มโรงเรียน และตามรายภาค คะแนนเฉลี่ยของกลุ่มโรงเรียนสาธิตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD คือคะแนนเฉลี่ยด้านการอ่านใน PISA 2009 เท่ากับ ๕๒๕ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศ OECD เท่ากับ ๔๙๓ (ของไทย ๔๒๑) แต่ค่าเฉลี่ยของกลุ่มโรงเรียนกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส ในสังกัด สพฐ. เท่ากับ ๓๘๑

นอกจากนั้น ผลการทดสอบ TIMSS (Trends in International Mathematics and Science Study) และผลการทดสอบ O-NET ของไทย เมื่อจำแนกแจกแจงคะแนนผลการสอบตามรายภูมิภาค พบว่าคะแนนของนักเรียนในภูมิภาคต่ำกว่าคะแนนของนักเรียนในกรุงเทพอย่างมากมาย ข้อมูลเหล่านี้ค้นหาได้ไม่ยากทาง อินเทอร์เน็ต

กระผมตกใจมากจากข้อมูลนี้ เพราะมันสะท้อนภาพความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยด้านการศึกษา อย่างรุนแรง กระผมเรียนรู้มาจากหนังสือ ความคิดและความใฝ่ฝันของนักคิดไทย ๖๐ ปี ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ (กนกศักดิ์ แก้วเทพ บรรณาธิการ, ๒๕๔๔) ว่า วิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง เน้นที่ความเป็นธรรมในสังคม และเข้าข้างผลประโยชน์ของกลุ่มที่ด้อยโอกาส กระผมจึงถือเป็นโอกาส ที่ได้มาพูดในที่ชุมนุมนี้ ว่าวงการเศรษฐศาสตร์การเมืองไม่ควรเพิกเฉยต่อความไม่เป็นธรรมอย่างรุนแรง ด้านการศึกษาของสังคมไทย

หากท่านอ่านบทความเรื่อง มนุษยมิติและความเป็นชุมชนในศตวรรษที่ ๒๑ ที่กระผมเขียน และอยู่ในหนังสือเล่มที่ ๓ ที่พิมพ์ในโอกาสนี้ ท่านจะยิ่งตกใจ ที่การศึกษาไทยเราเดินทางผิดมาเป็นเวลานาน เป็นการเดินทางผิดในด้านเทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้ และวิธีการบริหารการศึกษา

สาเหตุของความเพลี่ยงพล้ำทางการศึกษาของสังคมไทย ในความเห็นของกระผม มี ๒ มิติ คือมิติทางวิชาการ (หรือทางเทคนิค) กับมิติทางการเมือง (หรือเศรษฐศาสตร์การเมือง)

ในช่วงเวลา ๒ - ๓ ปีที่ผ่านมา มีการศึกษาและนำเสนอต่อสังคมไทยในมิติทางวิชาการจำนวนไม่น้อย แต่ไม่มีการศึกษาในมิติทางเศรษฐศาสตร์การเมืองเลย ในส่วนที่เกี่ยวกับความตกต่ำของระบบการศึกษาไทย

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ทำการวิจัยปัญหาการศึกษา และนำเสนอในการประชุมประจำปี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ เรื่อง ยกเครื่องการศึกษาไทย : สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง (ซึ่งสามารถ ดาวโหลด เอกสารประกอบการประชุมได้ที่http://tdri.or.th/seminars/ye2011/) ชี้ให้เห็นว่าสาเหตุที่ทำให้คุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำ เพราะระบบการบริหารขาดการรับผิดรับชอบ ขาดความเชื่อมโยงกับตลาดแรงงาน และอื่นๆ อีกมากมาย

หลังจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ว่าจ้างให้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ทำการวิจัยเพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว เรื่องโครงการวิจัยยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างความรับผิดชอบ กระผมทราบว่า ทีดีอาร์ไอ ได้ส่งผลการวิจัยให้แก่ สพฐ. แล้ว แต่การแก้ไขอย่างเป็นระบบยังไม่เกิดขึ้น สพฐ. เองอ่อนแอเกินไป จนไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษาของชาติ ที่มีปัญหาใหญ่หลวงได้ เพราะมิติทางการเมือง ในระบบบริหารการศึกษาไทย มีพลังด้านลบครอบงำอยู่ อย่างแน่นหนาซึมลึก และอย่างที่รู้กันทั่ว แต่ไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหา อย่างจริงจัง ไม่มีการแก้ปัญหาที่รากเหง้า

ถึงเวลาแล้ว ที่วงการวิจัยเศรษฐศาสตร์การเมืองไทย จะออกมาทำงานวิจัย ศึกษาปัญหาทาง เศรษฐศาสตร์การเมือง ของระบบการศึกษาไทย นำเสนอต่อสาธารณชน เพื่อกระตุ้นเตือนให้มีการปรับตัว แก้ไขลดละปัจจัยลบในระบบการเมืองของวงการศึกษา และหาทางเพิ่มปัจจัยบวก ทั้งนี้ เพื่อความวัฒนาถาวร ของสังคมไทยในระยะยาว

ตัวอย่างหนึ่งของปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองในระบบการศึกษาคือบทบาทของคุรุสภา และสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา และกลไกอื่นๆ ตามกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครู น่าจะได้มีการศึกษาทำความเข้าใจว่า ในทางปฏิบัติ กลไกเหล่านี้ทำหน้าที่อย่างไร ก่อผลบวกและผลลบต่อคุณภาพการศึกษา ของประเทศอย่างไร

-ต่อบันทึกที่ ๒-นอกจากนั้น มีคนในวงการการศึกษาเอง......................

 

- บันทึกที่ ๓ - และ บันทึกที่ ๔ (จบ)

 

ป้ายบนเวที ผมนั่งพูดที่โต๊ะ

 

ศ. กิตติคุณ ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร กล่าวแนะนำองค์ปาฐก (คือผมนั่นแหละ)

 

ศ. กิตติคุณ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา คุณจรรยา ภรรยา และ พญ. ช่อทิพย์ บุตรสาว

 

มีการจัดพิมพ์เผยแพร่บทความวิชาการที่เขียนโดยศิษย์

และมิตร ของ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ถึง ๙ เล่ม ๑๑๗ เรื่อง

 

อธิการบดีจุฬาฯ ศ. นพ. ภิรมย์ กมลรัตนกุล มอบของที่ระลึก

 

ศ. ดร. วิชัย บุญแสง หนึ่งในคณะสี่สหาย ไปร่วมงาน

 

รศ. ดร. ชโยดม สรรพศรี คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวเปิดงาน

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องการศึกษา ๒

นอกจากนั้น มีคนในวงการการศึกษาเอง เล่าให้กระผมฟังว่า ครูในภูมิภาคต่างๆ ได้รวมตัวกัน เป็นสมาคม เพื่อต่อรองผลประโยชน์ให้แก่ครู มีสมาคมครูในพื้นที่จำนวนมาก สมาคมเหล่านี้เชื่อมโยงกับกลไก ของพรรคการเมือง และมีส่วนเรียกร้องกดดันเพื่อผลประโยชน์ต่างๆ ของครู ทำให้ค่าตอบแทนของครู สูงกว่าค่าตอบแทนของข้าราชการอื่นๆ รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เท็จจริงอย่างไร น่าจะได้มีการวิจัย และควรวิจัยด้วยว่า สมาคมและการรวมตัวในรูปแบบอื่นๆ ของครู มีส่วนยกระดับคุณภาพของผลสัมฤทธิ์ ทางการศึกษาของนักเรียนอย่างไรบ้าง หรือจริงๆ แล้ว กลับมีส่วนลดทอนระดับผลสัมฤทธิ์ในการเรียน

 

มีคนในวงการศึกษา ส่งข้อมูลมาให้กระผม บอกว่า ในจำนวนบุคลากรของ สพฐ๕ แสนคนนั้น เป็นผู้บริหารในระดับต่างๆ ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ครูจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนเป็นจำนวนถึง ๔ หมื่นคน ระบบกำลังคนของระบบการศึกษาไทยจึงอยู่ในสภาพที่มีผู้บริหารจำนวนมากเกินไป เป็นระบบที่ประสิทธิภาพ ในการใช้ทรัพยากรต่ำ เป็นประเด็นวิจัยที่จะช่วยให้มีการปรับปรุงระบบการศึกษาไทยให้มีประสิทธิภาพ ในการใช้ทรัพยากรสูงขึ้นได้มาก

เมื่อเข้าไปคลุกคลีกับคนในวงการศึกษามากเข้า กระผมก็ได้รับคำบอกเล่าเกี่ยวกับความทุจริตฉ้อฉล ในวงการศึกษาหลากหลายด้าน เช่น การที่ครูที่ต้องการเลื่อนวิทยฐานะเป็นครูชำนาญการ ต้องเสนอผลงานวิชาการ ครูที่ตั้งใจทำงานดูแลศิษย์ พยายามทำผลงานจากงานจริงๆ พยายามอย่างไร ผลงานก็ไม่ผ่านการพิจารณา แต่ครูในโรงเรียนเดียวกันที่ไม่ตั้งใจทำงาน แต่ใช้วิธีไปจ้าง ผู้เชี่ยวชาญทำผลงานให้ และจ่ายค่าตัดสินผ่านแก่ reader รวมแล้วเป็นเงินในหลักแสนบาท ก็ได้ตำแหน่งชำนาญการ โดยไม่ต้องมีผลงานด้านการดูแลจัดการเรียนรู้เป็นผลดีแก่ศิษย์แต่อย่างใด โดยมีคนเล่าว่า บางเขตพื้นที่การศึกษา มีเจ้าหน้าที่ของเขตนั่นเองทำหน้าที่ติดต่อจัดการให้ เท็จจริงอยู่ที่ผู้เล่า กระผมไม่กล้ายืนยัน แต่ยืนยันได้ว่า นี่คือโจทย์วิจัยด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง เรื่องระบบการศึกษาไทย

นอกจากนั้น ยังมีคำพูดดาษดื่นในวงการศึกษาว่า หากครูต้องการย้ายโรงเรียนจากที่ห่างไกล ไปสอนในโรงเรียนในตัวอำเภอ หรือในตัวจังหวัด รายจ่ายค่าสั่งย้าย คิดเป็นกิโลคือตามระยะทาง เป็นกิโลเมตร กิโลเมตรละกี่บาทกระผมไม่ทราบ และไม่ทราบว่าเท็จหรือจริง รวมทั้งไม่ทราบว่าในการย้ายนั้น ครูต้องจ่ายทุกคนหรือไม่ จ่ายแก่ใครบ้าง นี่ก็เป็นโจทย์วิจัยเช่นเดียวกัน

เรื่องที่อาจไม่ฉ้อฉล อาจมาจากความเข้าใจผิด แต่ก่อความสูญเสียงบประมาณปีละน่าจะ หลายพันล้านบาท หรือบางปีอาจจะเป็นหมื่นล้านบาท คือเรื่องการพัฒนาครู ที่หลงดำเนินการแบบเน้น training โดยที่เวลานี้เป็นที่รู้กันทั่วโลกว่า เป็นวิธีการที่ได้ผลน้อย วิธีการที่ได้ผลดีต้องเน้น learning

วิธีพัฒนาครูประจำการ ที่พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลดี เรียกว่าแนวทาง PLC (Professional Learning Community) คือส่งเสริมให้ครูรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือเป็นชุมชน เรียนรู้วิธีทำหน้าที่ครู คือพัฒนาครู โดยใช้เครื่องมือ KM (Knowledge Management) หรือการจัดการความรู้ ชุมชนเรียนรู้ในภาษา KM เรียกว่า CoP (Community of Practice) ชุมชนเรียนรู้ของครูคือ PLC ต้องการ คุณอำนวย(facilitator) เพื่ออำนวยความ สะดวกต่อการเรียนรู้ จากการปฏิบัติ

แต่วิธีพัฒนาครูประจำการของไทยในปัจจุบัน เน้นการกำหนดว่า ต้องไปเข้ารับการอบรม มิฉนั้นถือว่าไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการเลื่อนวิทยะฐานะหรือปูนบำเหน็จ กระทรวงศึกษาธิการตั้งงบประมาณ ไปหนุนหน่วยจัดการฝึกอบรม แม้เป็นที่รู้กันว่าครูไม่อยากไปรับการอบรม เพราะไม่ได้ประโยชน์ แต่ก็ต้องไป เพราะมีการกำหนดไว้ใน KPI ว่าต้องผ่านการอบรม

กระผมตั้งข้อสงสัยว่า เรื่องนี้น่าอาจเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของหน่วยงานที่จัดการฝึกอบรม และผลประโยชน์ของหน่วยงานรับจัดการฝึกอบรม รวมทั้งผลประโยชน์ของวิทยากร จึงน่าจะมีการวิจัย ชี้ให้เห็นว่า ทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ของครูเหล่านี้ น่าจะใช้อย่างชาญฉลาดกว่านี้ เพื่อให้ผลตกไปที่ผลสัมฤทธิ์ ในการเรียนของเด็กอย่างแท้จริง

ความรู้เกี่ยวกับข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนของระบบการศึกษาไทย ในมิติด้านวิชาการแม้จะยังอ่อนแอ ยังไม่ค่อยมีความรู้เชิงระบบ แต่ก็ได้มีการศึกษาและนำออกเผยแพร่พอสมควร เช่น ผลการวิจัยที่สถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศไทยนำออกเผยแพร่ในการประชุมวิชาการประจำปี ๒๕๕๔ แต่จัดประชุมในเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ดังกล่าวแล้ว เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ หากท่านเข้าไปในเว็บไซต์ ของสถาบันวิจัยเพื่อ การพัฒนาประเทศไทย (www.tdri.or.thจะมีเรื่องราวของผลการวิจัยด้านการศึกษา จำนวนหนึ่ง แต่ไม่มีงานวิจัย ในมิติด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองเลย

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดทำเอกสารชื่อ ผลการประเมิน PISA 2009 การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ดาวน์โหลดได้ที่ http://pisathailand.ipst.ac.th/files/PISA2009_StudentsPerformance.pdf (ค้นเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖)

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสคwww.qlf.or.thดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา และส่งเสริมให้มีการรวมตัวกันในระดับพื้นที่ เพื่อดำเนินการพัฒนา คุณภาพของการศึกษาในพื้นที่ ในลักษณะของการดำเนินการกันเองเป็นหลัก ไม่ขึ้นกับกลไกรัฐ แต่ไม่ปฏิเสธ ผู้เข้าร่วมที่เป็นคนในระบบรัฐ หรือในหลายกรณี ก็มีคนในระบบการศึกษาภาครัฐนั่นเองเป็นแกนนำ แต่ดำเนินการนอกระบบราชการ

นอกจากนี้ยังมีมูลนิธิ เอ็นจีโอ และมีการรวมตัวกันของผู้นำในท้องถิ่นหรือพื้นที่จำนวนมากมาย ลุกขึ้นมาช่วยกันกอบกู้คุณภาพการศึกษาไทย เช่นมูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ สมาคมพัฒนาการศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น

แต่กลไกทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ทำได้เพียงครึ่งเดียวของกลไกพัฒนา คือเฉพาะส่วนของการเพิ่มปัจจัยบวก ไม่ได้ดำเนินการลดปัจจัยลบ ซึ่งมีกุญแจไขอยู่ที่ความเข้าใจกลไกด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองในระบบการศึกษาไทย

การพัฒนาในเรื่องใดๆ ก็ตาม ต้องดำเนินการใน ๒ มิติควบคู่กันไป คือเพิ่มปัจจัยบวก ต่อพลังขับเคลื่อน และลดปัจจัยลบ หรือพลังขัดขวาง ในโลกแห่งความซับซ้อนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ปัจจัยขัดขวางอยู่ลึกและซ่อนเร้น ในหลายกรณีแม้เจ้าตัว หรือกลุ่มบุคคลที่เป็นตัวการ ก็ไม่รู้ตัว ต้องมีการวิจัยและสื่อสารสังคมเพื่อลดปัจจัยลบดังกล่าว กระผมจึงถือโอกาสที่ได้มากล่าว ต่อนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองในที่นี้ เพื่อวิงวอนให้ท่านช่วยกันกอบกู้บ้านเมือง ผ่านการกอบกู้การศึกษาไทย โดยการทำวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองของระบบการศึกษา นำความรู้ที่ได้ออกสื่อสารต่อสังคม เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงระบบ ในด้านที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม ปฏิสัมพันธ์ หรือวัฒนธรรมของคนในระบบการศึกษาไทย

กระผมขอย้ำว่า ระบบทางสังคมในวงการศึกษาที่เน่าเฟะจะกัดกร่อนบั่นทอนสังคมไทย ทำให้เกิดการ เสียเมืองในรูปแบบใหม่ ที่ไม่ใช่ถูกยึดครองโดยข้าศึกภายนอก แต่เป็นการล้มละลายจากความอ่อนแอ ภายในสังคมเอง เราต้องช่วยกันปกป้องกอบกู้บ้านเมือง อย่างที่คุณจำกัด พลางกูร ได้อุทิศชีวิตเพื่อชาติ เพื่อมนุษยชาติ เราต้องรวมกลุ่มกันทำความจริงที่มีอยู่ในวงการศึกษาในลักษณะข่าวเล่าลือ ให้กลายเป็นความจริง ที่มีข้อมูลหลักฐาน น่าเชื่อถือ และนำออกเผยแพร่แก่สังคม เพื่อปกป้องคนในวงการศึกษาไทยที่เป็นคนดี ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นครูเพื่อศิษย์ ปกป้องระบบการศึกษาไทย และปกป้องสังคมไทย จากการล้มละลายทางปัญญา และทางศีลธรรม

 

การเรียนรู้ของชุมชน

การเรียนรู้ของชุมชนเป็นเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เป็นการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ (Adult Learning) และเป็นการเรียนรู้จากการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพการงาน แต่นั่นเป็นเพียง ส่วนเดียวของการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ คือเป็นส่วนของการเรียนรู้ที่ตนเองสร้างขึ้นให้แก่ตนเอง อีกส่วนหนึ่ง เป็นการเรียนรู้ ที่ถูกยัดเยียด คือมาจากสื่อมวลชน และการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ รวมทั้งป้ายคัทเอ๊าท์ ขนาดมหึมาของรัฐ ที่ติดตามที่สาธารณะต่างๆ

การเรียนรู้ตลอดชีวิต ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ มาจากไหนบ้าง ได้รับอิทธิพลจากสื่อมวลชน มากน้อยแค่ไหน สื่อมวลชนสื่อสาร เพื่ออะไร เพื่อใครเป็นการสื่อสารเพื่อปลดปล่อยอิสรภาพในชีวิต หรือเพื่อครอบงำ มอมเมา เอาผลประโยชน์ เป็นโจทย์วิจัยด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ท้าทายยิ่ง

เราได้เห็นว่า ในช่วงเวลาไม่ถึงสิบปี ได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่เปลี่ยนใจคนได้ ผ่านกระบวนการ ทางการเมือง เปลี่ยนมาตรฐานผิดชอบชั่วดีในสังคม เช่น เปลี่ยนความคิดของคนว่าด้วยเรื่องคอรัปชั่น ผลการสอบถามโดยโพล พบว่าคนไทยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ ๘๐ มีความเห็นว่า ยอมรับให้นักการเมือง โกงบ้านเมืองได้ หากทำงานเก่ง คนไทยคิดอย่างนั้นจริงหรือ หากจริง ปัจจัยอะไรที่ทำให้เขาคิดเช่นนั้น และความคิดเช่นนี้ จะนำพาบ้านเมืองไปสู่อนาคตเช่นไร

ในสังคมยุคข้อมูลข่าวสาร และยุคเทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้ารวดเร็ว ความก้าวหน้าและการลงทุน ด้านเทคโนโลยีเหล่านี้ของประเทศไทย ก่อผลประโยชน์ต่อคนไทยอย่างเท่าเทียมกันมากน้อยเพียงใด ก่อผลประโยชน์ด้านการเรียนรู้ของคนไทยกลุ่มต่างๆ แตกต่างกันอย่างไร ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์

เรารู้จากข้อมูลรายได้ เปรียบเทียบกลุ่มที่รายได้สูง กับกลุ่มรายได้ต่ำ ว่าช่องว่างในสังคมไทย ถ่างกว้างขึ้น ในทางเศรษฐกิจ สังคมไทยมีความไม่เป็นธรรมสูงขึ้น คำถามวิจัยคือ สาเหตุของความไม่เป็นธรรมนั้น มาจากการเรียนรู้ของประชาชนที่บิดเบี้ยว จากสื่อสารมวลชน และจากการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ มากน้อยเพียงไร จะมีวิธีลดปัจจัยลบเหล่านี้ได้อย่างไร

การเรียนรู้ของผู้ใหญ่ เรียนรู้จากการประกอบสัมมาชีพ เรียนรู้จากการดำรงชีวิต วิธีการที่ดีที่สุด คือการรวมกลุ่มกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยวิธีการที่เรียกว่า การจัดการความรู้ทำโดยนำเอาความรู้ปฏิบัติ ที่มาจากประสบการณ์ตรงในเรื่องนั้นๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยมีคนทำหน้าที่ คุณอำนวย (learning facilitator) ให้สมาชิกกลุ่มนำเอาความรู้ปฏิบัติ (tacit knowledge) กับความรู้ทฤษฎี (explicit knowledge) มาหมุนเกลียวความรู้ ยกระดับความรู้ในเรื่องนั้นๆ ขึ้นไป โดยที่เป็นการหมุนเกลียวความรู้วนรอบการปฏิบัติ หรือบนฐานของการปฏิบัติ ซึ่งก็คือการประกอบกิจการนั้นๆ หรือประกอบสัมมาชีพ นั่นเอง

มีต่อ- สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม........................................

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องการศึกษา ๓

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) เคยได้รับทุนจาก สสส. ดำเนินการพัฒนาวิธีการ จัดการความรู้ขึ้นในบริบทต่างๆ ในสังคมไทย ได้สนับสนุนให้มูลนิธิข้าวขวัญที่สุพรรณบุรี ทดลองดำเนินการ จัดการความรู้ให้แก่ชาวนาในหลายอำเภอของจังหวัดสุพรรณบุรี ในรูปของ โรงเรียนชาวนาพบว่า ได้ผลดีอย่างยิ่ง โรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญมีเป้าหมายลดค่าใช้จ่าย ลดความเจ็บป่วยจากการทำนา และผลิตข้าวปลอดสารพิษ ผลของการดำเนินการพบว่า ชาวนาสามารถนำเอาความรู้เชิงทฤษฎี ที่ได้จากเอกสารของหน่วยราชการ และจากการไปดูงานในหน่วยราชการและมหาวิทยาลัย มาทดลองใช้ในการทำนาตามการตีความของแต่ละคน แล้วนำผลที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ในการนัดพบกันทุกสัปดาห์ ครั้งละครึ่งวัน เกิดการเรียนรู้อย่างมากมาย ได้ผลลดต้นทุนการผลิต ลดหนี้ ลดความเจ็บป่วยเพราะเลิกใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมี และได้ข้าวปลอดสารพิษ ตามเป้าหมาย แต่มีผลได้ที่เกินความคาดหมายคือมีเวลาว่างมากขึ้น มีโอกาสใช้เวลาทำกิจกรรมชุมชน และรื้อฟื้นประเพณีท้องถิ่นขึ้นมา

การเรียนรู้ในการประกอบสัมมาชีพโดยการจัดการความรู้เช่นนี้ ต้องการ คุณอำนวย(Knowledge Facilitator) ทำหน้าที่ประสานงาน และทำหน้าที่กระบวนกรของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งในกรณีนี้ เจ้าหน้าฝึกอบรมของมูลนิธิข้าวขวัญพัฒนาทักษะขึ้นมาทำหน้าที่

การเรียนรู้แบบนี้ แตกต่างจากการเรียนรู้ที่วงการศึกษาไทย (และวงการศึกษาโลกส่วนที่ล้าหลัง) ยึดถือแตกต่างในระดับกระบวนทัศน์ อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ การเรียนรู้แบบนี้ เน้นการเรียนรู้แบบเน้นอิสรภาพ ของผู้เรียน เน้นความมั่นใจในตนเอง มั่นใจในศักยภาพการเรียนรู้ของตนเอง ในขณะที่กระบวนทัศน์การเรียนรู้ แบบเดิมเน้นศรัทธาต่อผู้สอน หวังรับถ่ายทอดความรู้จากผู้สอน ในขณะที่กระบวนทัศน์ใหม่ ผู้เรียนมีศรัทธา เชื่อมั่นในศักยภาพการเรียนรู้ของตนเอง เน้นเรียนรู้จากการปฏิบัติ เรียนรู้จากการตีความประสบการณ์ตรง ของตน ร่วมกับกัลยาณมิตร ที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การตีความจากประสบการณ์ตรงของตนเช่นเดียวกัน

การเรียนรู้แบบเดิมอยู่ในกระบวนทัศน์หวังพึ่งผู้อื่น หวังได้รับการอุปถัมภ์ ส่วนการเรียนรู้แบบใหม่ อยู่ในกระบวนทัศน์เน้นการพึ่งตนเอง และช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน หวังได้รับอิสระในการคิด และความสัมพันธ์แนวราบ ซึ่งตรงกับแนวคิดสังคมและวัฒนธรรมไทยของ ศ.ดร. ฉัตรทิพย์ ที่มีความรักในความเป็นอิสระ มีน้ำใจ และให้ความสำคัญแก่ความเปฅ้นชุมชน

สมาชิกของโรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญสุพรรณบุรี เห็นคุณค่าและลึกซึ้งหลักการของการเรียนรู้ แบบใหม่นี้ จนบางคนไปตั้งโรงเรียนชาวนาในพื้นที่ของตนเอง โดยตั้งตนเองเป็น ครูใหญ่เพราะใน บริบทของการเรียนรู้แบบใหม่ ทุกคนเป็นครู และทุกคนเป็นนักเรียน ครูใหญ่เพียงทำหน้าที่จัดการ ให้เกิด โรงเรียนในลักษะ โรงเรียนไร้อาคารหรือ virtual schoolคือนัดมาคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ที่ไหนก็ได้ ส่วนใหญ่เป็น ที่ศาลาวัด หรือที่ใต้ถุนบ้านของนักเรียนก็ได้ จุดสำคัญคือ โรงเรียนต้องเปิด สม่ำเสมอ ดีที่สุดคือสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละครึ่งวัน ตอนบ่ายอาจเป็นกิจกรรมเยี่ยมแปลงนา เพื่อไปดู ให้เห็นกับตา

ตัวอย่างของนักเรียนโรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ ที่เมื่อตนเองเรียนจบหลักสูตรแล้ว ได้ไปตั้ง โรงเรียนชาวนาที่ตนเองรับหน้าที่ ครูใหญ่โดยไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ คือคุณเบี้ยว ไทยลา แห่งบ้านหนองแจง อ. ดอนเจดีย์ จ. สุพรรณบุรี ท่านที่สนใจอ่านเรื่องราวได้ที่http://www.gotoknow.org/posts/391907

การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ควรจะได้ปรับกระบวนทัศน์ หันมาทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ต่อการเรียนรู้แบบใหม่นี้ แต่จะทำไม่ได้ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ ที่ยึดถืออำนาจหน้าที่ และความสัมพันธ์ เชิงอำนาจ ตามแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กระผมจึงขอเสนอต่อท่านที่เคารพทั้งหลายว่า วงการเศรษฐศาสตร์ การเมือง น่าจะได้เข้าไปตั้งโจทย์และวิจัย เพื่อบอกสังคมว่า กระบวนทัศน์ที่ผิดพลาดในเรื่องรูปแบบการเรียนรู้ ของผู้ใหญ่ การเรียนรู้เพื่อการประกอบสัมมาชีพ ได้ก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจและทางสังคมต่อประเทศไทย อย่างไรบ้าง

ในความเป็นจริงชุมชนไทยไม่ได้หยุดนิ่ง มีการเรียนรู้จากการปฏิบัติ มีการนำความรู้ปฏิบัติ (tacit knowledge) มาต่อยอดใช้ประโยชน์ ตามบริบทสัมมาชีพของตนอยู่แล้ว แต่ขาดมิติสำคัญที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ สร้างสรรค์อันไพศาล และเกิดนวัตกรรม คือการรวมกลุ่มกันเพื่อการเรียนรู้แบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ และมี คุณอำนวยหรือวิทยากรกระบวนการ (knowledge facilitator) ช่วยอำนวยความสะดวก และช่วยกระตุ้นพลัง ของปัญญาปฏิบัติ (phronesis)

 

เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องการเรียนรู้ ทั้งการเรียนรู้ในระบบ และการเรียนรู้ของชุมชน จึงเป็นการต่อสู้กัน ระหว่างการเรียนรู้แบบ ศรัทธานำหวังพึ่งพิง หวังรับถ่ายทอดความรู้ หวังได้รับความเมตตาอุปถัมภ์ จาก ผู้รู้กับการเรียนรู้แบบ ปัญญานำหวังพึ่งตนเอง และพึ่งพากันเอง หวังร่วมกันสร้างความรู้ขึ้นใช้เอง จากการปฏิบัติ แล้วร่วมกันไตร่ตรอง หาความหมาย จากสิ่งที่ตนสังเกตรับรู้จากการปฏิบัตินั้น เปรียบเทียบกับความรู้เชิงทฤษฎีที่มีอยู่แล้ว

กระผมเชื่อว่า การเรียนรู้แบบใหม่ ที่ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ หรืออย่างน้อยเป็นผู้ร่วมสร้างความรู้ เน้นสร้างความรู้โดยการปฏิบัติ แล้วแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ผ่านกระบวนการร่วมกันไตร่ตรอง (collective reflection) เพื่อเรียนรู้ให้ลึกขึ้น เป็นรูปแบบการเรียนรู้ ที่ถูกต้องตามหลักของการเรียนรู้สมัยใหม่ ที่เรียกว่า cognitive psychology และเป็นรูปแบบการเรียนรู้ ที่ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่จากโซ่ตรวนพันธนาการ ของความรู้เชิงทฤษฎี สู่ความมั่นใจตนเองจากการเรียนรู้ผ่าน สัมผัสของตนเอง ร่วมกับการร่วมกันไตร่ตรอง โดยการรับฟังการตีความที่แตกต่างหลากหลาย นำไปสู่การยกระดับปัญญาปฏิบัติร่วมกัน และอาจนำไปสู่การสร้างทฤษฎีใหม่ ที่เป็นทฤษฎีของคนธรรมดา ที่ไม่ใช่กูรู ไม่ใช่ ปราชญ์แต่เป็น ปราชญ์ชาวบ้านตัวจริง

Paolo Freire เขียนหนังสือ Pedagogy of the Oppressed เมื่อปี ค.. ๑๙๖๘ และมีการแปลเผยแพร่ ไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย แต่ ๔๕ ปีให้หลัง การศึกษาของประเทศต่างๆ รวมทั้งของประเทศไทย ก็ยังคงเป็น การศึกษาเพื่อการกดขี่ครอบงำ พันธนาการผู้คนด้วยทฤษฎี ด้วยความเชื่อ ด้วยการเรียนแบบรับถ่ายทอดความรู้ และการท่องจำ นักเรียนโรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญสุพรรณบุรี ได้ค้นพบการเรียนรู้แบบปลดปล่อย เรียนจากการประยุกต์ใช้ความรู้ ร่วมกันการไตร่ตรอง (reflection หรือ AAR After Action Review) ที่เป็นการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ โดยค้นพบตั้งแต่ปี พ..​๒๕๔๘ เป็นต้นมา

 

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ ที่กระผมกราบเรียนมานั้น สรุปได้ว่า วิธีการเรียนรู้สมัยใหม่ที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างได้ผลดี ต้องใช้วัฒนธรรมชุมชนมาเป็นพลังของการเรียนรู้ พวกเราทุกคนทราบดีว่า ท่านอาจารย์ฉัตรทิพย์ และท่านอาจารย์ปรีชา สนใจ ให้คุณค่า และทำวิจัยเรื่องวัฒนธรรมชุมชนมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรมชุมชนชนชาติไท บัดนี้ วงการศึกษาทั่วโลก ได้สรุปจากผลการวิจัยมากมาย ว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดในยุคปัจจุบันไม่ใช่วิธีนั่งท่องบ่นคนเดียว ไม่ใช่วิธีเรียนกับทิศาปาโมกข์สองต่อสอง แต่เป็นวิธีเรียนแบบที่ผู้เรียนรวมตัวกันเป็น "ชุมชนแห่งการเรียนรู้" (Learning Community) ร่วมกันดำเนินการ "เรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ" (Interactive learning through action) โดยมีครู ทำหน้าที่เป็น "ครูฝึก" ไม่ใช่ "ครูสอน" วัฒนธรรมชุมชน ตามที่ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ทำวิจัยเผยแพร่แก่สังคมไทย ได้กลายเป็นวิธีเรียนรู้ที่ดีที่สุดในยุคปัจจุบัน ทั้งเพื่อการเรียนรู้ของศิษย์และของครู ที่เรียกว่าเป็น team learning และการเรียนรู้ของครูเรียกว่า Professional Learning Community (PLC) ในภาษาของการจัดการความรู้ เรียกว่า CoP (Community of Practice) ของครู

สรุปว่า การเรียนรู้ที่มีพลังในยุคปัจจุบัน ต้องรวมตัวกันเรียนรู้ เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ นักเรียนในห้องเรียน ทำตัวเป็นสมาชิกของชุมชนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่รู้จริง รู้ลึก และรู้เชื่อมโยง ครูรวมตัวกันเป็นชุมชนเรียนรู้เพื่อการทำหน้าที่ครูที่ดีขึ้น มีความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพครู ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพ รวมตัวกันเป็นชุมชนเรียนรู้เพื่อการประกอบอาชีพที่ได้ผลดียิ่งขึ้น

 

ที่กระผมเล่ามาทั้งหมด ทั้งเรื่องการศึกษาในระบบ และการเรียนรู้ของชุมชน คือเส้นทางสู่ประชาธิบไตยผ่านกระบวนทัศน์ใหม่ วิถีปฏิบัติใหม่ด้านการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ และการศึกษาผ่านการประกอบสัมมาชีพที่นักเศรษฐ์ศาสตร์การเมือง น่าจะได้ร่วมกันตั้งโ่จทย์วิจัย เพื่อขับเคลื่อน สังคมไทยสู่สังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นสังคมประชาธิบไตยที่เรียนรู้ปรับเปลี่ยนตนเองได้ ไม่จำเป็นต้องมีนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ หรืออัศวินขี่ม้าขาว หรือเทวดามาโปรด

วงการเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่ ท่านศาสตราจารย์กิตติคุณฉัตรทิพย์ นาถสุภา และอาจารย์ ดร. ปรีชา เปื่ยมพงศ์สานต์ ร่วมกันก่อตั้งขึ้น จะใช้โอกาสนี้อย่างไร เพื่อมีส่วนร่วมวางรากฐานประชาธิปไตยไทย จากมุมของวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง กระผมขอตั้งความหวังว่า เมื่อเรามาร่วมกันเฉลิมฉลองชนมายุ ๘๔ ปี ของท่านอาจารย์ทั้งสอง เราจะได้เฉลิมฉลองและเรียนรู้เรื่องราวสู่ความสำเร็จ ที่กระผมท้่าทายไว้นี้

มีต่อ - กระผมเข้าใจว่า ที่ประชุมนี้............................................

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

·

เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องการศึกษา ๔ (จบ)

กระผมเข้าใจว่า ที่ประชุมนี้ เป็นที่ประชุมของผู้สนใจเรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคม และต้องการมีส่วนขจัดปัดเป่า และด้วยสติปัญญาอันจำกัดของกระผม กระผมตีความว่า แก่นของการชุมนุมเฉลิมฉลองในวันนี้ ก็เพื่อสานต่ออุดมการณ์ อุดมคติ ของการกระทำเพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเราเอง ที่มีคุณค่าสูงส่ง ซึ่งสิ่งหนึ่งคือผลประโยชน์ของส่วนรวม เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของส่วนรวม ที่อาจใช้คำว่า เพื่อชาติ เพื่อมนุษยชาติ ซึ่งในสมัยของคุณจำกัด พลางกูร ศัตรูมาจากภายนอก ในรูปของสงคราม แต่ศัตรูสมัยนี้ ตามที่กระผมเสนอ มาจากภายใน จากการดำเนินการระบบการเรียนรู้ และความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ในสังคม ผิดพลาด กระผมจึงขอมีส่วนร่วมด้วยการนำเสนอปาฐกถานี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงมือทำ จากมุมของการสร้างสรรค์วิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง เพื่อเป็นปฏิบัติบูชาสนองพระคุณ ที่สองปราชญ์ไทย ศ. กิตติคุณ ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และ อาจารย์ ดร. ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ ได้มอบให้แก่ สังคมไทย ในช่วงอายุ ๗๒ ปีของท่าน

 

 

กราบขอบพระคุณครับ

 

..

ในช่วงกล่าวภาพรวมของงาน โดย ศ. กิตติคุณ ดร. ผาสุก พงศ์ไพจิตร ผมได้เรียนรู้ว่าเศรษฐศาสตร์การเมือง เป็นวิธีสังเคราะห์สังคมแบบองค์รวม ให้เห็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ในภาพเดียวกัน เพื่อสังคมที่ดีกว่าทั้งด้านสังคม และความเสมอภาค

 

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑ ก.ย. ๕๖

 

 

--------------------------------

[1] ปาฐกถาเนื่องในงาน เศรษฐศาสตร์การเมืองในมิติวัฒนธรรมชุมชน จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโอกาส ๗๒ ปี ศาสตราจารย์กิตติคุณฉัตรทิพย์ นาถสุภา และอาจารย์ ดร.ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ ณ อาคารมหาจักรีสิรินธร ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 
Home > Articles > การศึกษา > เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องการศึกษา

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5609
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8629353

facebook

Twitter


บทความเก่า