Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การศึกษา > เด็กปัญญาเลิศ

เด็กปัญญาเลิศ

พิมพ์ PDF
ผลการวิจัยบอกว่า เด็กที่มีความสามารถพิเศษสูงมากเหล่านี้ ร้อยละ 20-25 มีปัญหาทางอารมณ์และสังคม ตัวเลขนี้สูงกว่าในเด็กทั่วๆ ไปเท่าตัว แต่เด็กที่มีความสามารถพิเศษปานกลาง ไม่มีปัญหานี้

เด็กปัญญาเลิศ

บทความเรื่อง Uncommon Talents : Gifted Children, Prodigies and Savants เขียนโดย Ellen Winner     ตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ในปี ค.ศ. 1998    และพิมพ์ซ้ำในหนังสือ The Science of Education ในปี 2012  บอกว่า เด็กปัญญาเลิศนั้นไม่ใช่ว่าจะเลิศไปเสียทุกด้าน   เพราะจริงๆ แล้วปัญญามีธรรมชาติเป็นพหุปัญญา    เด็กที่มีปัญญาเลิศมักมีเฉพาะบางด้าน  และอ่อนแอมากในบางด้าน

และบอกว่าวงการศึกษาเข้าใจผิดเรื่องเด็กปัญญาเลิศมานานเกือบ ๑ ศตวรรษ   จากผลงานวิจัยระยะยาว (กว่า ๗๐ ปี) ของยักษ์ใหญ่ในด้านนี้ คือ Lewis M. Terman แห่งมหาวิทยาลัย สแตนฟอร์ด  ศึกษาเด็ก ไอคิวสูง ๑๓๕ ขึ้นไป กว่า ๑,๕๐๐ คน โดยการวิจัยนี้มีข้อผิดพลาดใหญ่หลวงตั้งแต่เริ่มต้น    คือมอบให้ครูเสนอเด็ก ที่ตนคิดว่าสมองดีที่สุดไปรับการทดสอบเพื่อคัดเลือก   โดยวิธีคัดตัวอย่างแบบนี้ จะได้เฉพาะเด็กที่ครู เห็นว่าเก่งเท่านั้น    เด็กปัญญาเลิศที่เกเร หรือเก็บตัว หรือปรับตัวเข้าสังคมกับเพื่อนไม่ได้ จะไม่อยู่ในข่าย    ทำให้ผลการศึกษาเรื่องเด็กปัญญาเลิศของ เทอร์แมน ผิดพลาด

เทอร์แมน บรรยายเด็กปัญญาเลิศอย่างเลิศเลอเกินจริง   คือไม่ใช่เด่นพิเศษด้านการเรียนวิชาเท่านั้น   ยังเด่นพิเศษด้านสุขภาพ การปรับตัวเข้าสังคม และทัศนคติด้านคุณธรรม    นำไปสู่ความเข้าใจผิดว่า เด็กปัญญาเลิศจะมีชีวิตที่มีความสุข มีความสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งต่างๆ ได้เก่ง   จึงเป็นเด็กที่ครูไม่ต้องเอาใจใส่มากนัก    เป็นความเข้าใจผิดที่วงการศึกษายังยึดถือมาจนปัจจุบัน

ความเป็นเด็กปัญญาเลิศ (gifted) มีลักษณะเด่น ๓ อย่าง

  1. เรียนรู้เร็ว (precocious)
  2. มีความสนใจและเรียนรู้ในรูปแบบของตนเอง   ไม่ได้เรียนตามแนวทางปกติทั่วๆ ไป
  3. มีความสนใจดื่มด่ำในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ  อาจมุ่งมั่นดื่มด่ำมากจนไม่สนใจเรื่องอื่น   หรือไม่สนใจโลกภายนอก

จุดอ่อนของเด็กปัญญาเลิศคือ อาจอ่อนไหวต่อปัจจัยด้านสังคมและอารมณ์มากกว่าเด็กทั่วไป

นักวิจัยที่ให้ภาพของเด็กปัญญาเลิศแตกต่างไปจาก Lewis Terman คือ Mihaly Csikszentmihalyi แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก (ผู้เขียนหนังสือขายดีเรื่อง Flow)    ที่ได้แสดงให้เห็นว่า เด็กที่เก่งเป็นพิเศษในด้านใดด้านหนึ่ง (เรียน ศิลปะ ดนตรี กีฬา) มักเข้าสังคมกับเพื่อนๆ ยาก   เด็กเหล่านี้มีลักษณะ มีแรงบันดาลใจ (drive) สูง  มีความคิดเป็นของตนเอง  และไม่ชอบสุงสิงกับใครๆ (introvert)    ยิ่งมีความสามารถพิเศษสูงเพียงใด เด็กจะยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยว

ผลการวิจัยบอกว่า เด็กที่มีความสามารถพิเศษสูงมากเหล่านี้ ร้อยละ 20-25 มีปัญหาทางอารมณ์และสังคม   ตัวเลขนี้สูงกว่าในเด็กทั่วๆ ไปเท่าตัว    แต่เด็กที่มีความสามารถพิเศษปานกลาง   ไม่มีปัญหานี้

ผลการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งบอกว่า เด็กที่มีความสามารถพิเศษจำนวนหนึ่ง จะพยายามซ่อนความสามารถ ของตน   เพื่อจะได้เข้ากับเพื่อนๆ ได้

เด็กปัญญาเลิศ จึงเป็นความท้าทายของครู   ที่จะช่วยส่งเสริม ให้เด็กได้ประโยชน์จากปัญญาเลิศของตน    และในขณะเดียวกัน ก็มีชีวิตทางสังคมที่ดีในกลุ่มเพื่อน   และให้ได้พัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข และได้ใช้ความสามารถพิเศษของตนให้เป็นประโยชน์ตน และประโยชน์ส่วนรวม

 

เด็กปัญญาเลิศบางด้าน(unevenly gifted)

เด็กเก่งพิเศษมี ๒ แบบ  คือเก่งทุกด้าน กับเก่งบางด้าน   ส่วนใหญ่เป็นแบบหลัง   ยิ่งเก่งพิเศษยอดเยี่ยมเพียงไร โอกาสตกอยู่ในแบบหลังยิ่งสูง    ดังตัวอย่างมีผู้วิจัยพบว่า เด็กที่เก่งคณิตศาสตร์เป็นพิเศษ หรือเก่งพื้นที่ (spatial ability) มักอ่อนด้านถ้อยคำ (verbal ability)    ดังตัวอย่างเด็กอายุ ๘ ขวบคนหนึ่ง สอบ SAT ด้านคณิตศาสตร์ได้ ๗๖๐ จากคะแนนเต็ม ๘๐๐   แต่ผลสอบด้านถ้อยคำ ได้เพียง ๒๙๐ จากคะแนนเต็ม ๘๐๐

Benjamin S. Bloom ศึกษาประวัตินักคณิตศาสตร์ระดับโลก ๒๐ คน    พบว่าไม่มีใครเลยที่อ่านหนังสือออกก่อนไปโรงเรียน   และในจำนวนนี้ ๖ คนมีปัญหาด้านการอ่าน   แต่เด็กปัญญาเลิศโดยทั่วไปแทบทุกคนอ่านหนังสือออกก่อนไปโรงเรียน   ในหนังสือยกตัวอย่างมากมายของคนที่ปัญญาเลิศพิเศษด้านหนึ่ง   แต่มีปัญหาในอีกด้านหนึ่งหรือหลายด้าน

 

นักปราชญ์ปัญญาอ่อน

ในหนังสือเขาใช้คำว่า savant    หมายถึงคนที่เก่งในบางด้าน แต่มี ไอคิวระหว่าง ๔๐ - ๗๐    คือในด้านทั่วไปเป็นคนปัญญาอ่อน    และมักเป็นเด็กออทิสติก

savant มี ๒ แบบ   คือแบบที่ด้านเก่ง เก่งในระดับคนเก่งทั่วๆ ไป   กับแบบที่ด้านเก่ง เก่งในระดับเลิศหาตัวจับยาก    แบบหลังนี้มีเพียงประมาณ ๑๐๐ คนในโลก ซึ่งมักเก่งด้าน ทัศนศิลป์ ดนตรี หรือคิดเลขเร็วสายฟ้าแลบ

savant คือเด็ก unevenly gifted แบบสุดขั้ว

วิธีจัดการสมองพิเศษ

ผมขอหมายเหตุว่าบทความนี้ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1998 คือ ๑๕ ปีมาแล้ว   ในช่วง ๑๕ ปี น่าจะมีความรู้เกี่ยวกับวิธีจัดการเด็กปัญญาเลิศเพิ่มขึ้นมากมาย

วิธีจัดการโดยทั่วไปคือ ยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยทั่วไป    และจัดการเรียนรู้ที่ท้าทาย    จะมีคุณต่อเด็กสมองดีจำนวนมาก

วิธีแยกแยะเด็กปัญญาเลิศเพื่อให้การศึกษาพิเศษไม่ควรใช้ การทดสอบไอคิว    ควรทดสอบความถนัด หรือความสามารถเฉพาะด้าน    เมื่อพบก็ให้เด็กได้เรียนวิชานั้นๆ ของนักเรียนชั้นสูงกว่า (advanced course) หรือ AP (Advance Placement) Program ในมหาวิทยาลัย   โดยที่ยังเรียนวิชาอื่นๆ กับเพื่อนร่วมชั้นตามปกติ

วิธีจัดการส่งเสริมเด็กเก่งพิเศษบางด้านอีกวิธีหนึ่งเรียกว่า Accellerated Summer Program    คือจัดชั้นเรียนวิชาที่ตามปกติใช้เวลาเรียน ๑ ปี   แต่จัดให้เรียนภาคฤดูร้อนในเวลา ๒ - ๓ สัปดาห์   เพื่อให้เด็กทั้งได้เรียนวิชา และได้เข้าสมาคมกับเด็กที่ชอบและมีความสามารถพิเศษแบบเดียวกัน

ผมขอหมายเหตุความเห็นส่วนตัวของผม   ว่าส่วนที่ต้องจัดการ และจัดการยากกว่า คือจัดการพ่อแม่เด็ก    ที่อยากให้ลูกของตนเป็นอัจฉริยะเกินจริง    โดยไม่ตระหนักว่า การที่ตนคาดหวังและผลักดันยกลูกเกินไป อาจก่อผลร้ายต่อชีวิตของลูกในระยะยาว    คือทำให้พัฒนาการของลูกไม่ครบด้าน    หรือทำให้ลูกเป็นคนมีปมเขื่อง    สภาพที่พึงระวังคือพ่อแม่ผลักดันลูกเพื่อสนองปมเขื่องของตนเอง

ความพอดี คือเป้าหมาย

วิจารณ์ พานิช

๑๗ พ.ย. ๕๖

 

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 08 ธันวาคม 2013 เวลา 09:58 น.  
Home > Articles > การศึกษา > เด็กปัญญาเลิศ

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5607
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8611203

facebook

Twitter


บทความเก่า