Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๑. มาตรฐานอาจารย์สอนมืออาชีพ

พิมพ์ PDF

มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๑. มาตรฐานอาจารย์สอนมืออาชีพ

ผมร่วมคณะศึกษาดูงานของสถาบันคลังสมอง ไปสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ ๘ ๑๓ ก.ย. ๕๖   โดยมีเป้าหมายในใจว่า ต้องการไปดูว่าการทำหน้าที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยของอังกฤษ ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลง อย่างไรบ้าง เพราะอะไร เขามีการจัดระบบการทำงานอย่างไร

เอกสารชิ้นหนึ่งที่ได้รับ  ให้อ่านก่อนเดินทางคือ The UK Professional Standards Framework for teaching and supporting learning in higher education, 2012 (UKPSF)  ซึ่งเมื่ออ่านแล้วก็รู้ทันทีว่า มีความพยายามพัฒนากรอบมาตรฐานการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในอังกฤษ โดยมีวัตถุประสงค์ ๕ ประการ

๑. เพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรที่ทำหน้าที่สอนและสนับสนุนการเรียน   ทั้งพัฒนาบุคลากรใหม่ และพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

๒. ส่งเสริมพลวัตของการเรียนรู้   ผ่านการสร้างสรรค์  นวัตกรรม  และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง   ในหลากหลายบริบททางวิชาการ

๓. แสดงความเป็นมืออาชีพในด้านการเรียนการสอน

๔. ให้ความมั่นใจในความหลากหลายและคุณภาพของการเรียนการสอน  ที่นักศึกษาได้รับ

๕. ส่งเสริมให้บุคคลและสถาบันได้รับการรับรอง ว่ามีการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้แก่นักศึกษา    โดยรวมทั้งผ่านการทำหน้าที่อื่นที่กว้างกว่าการสอน เช่นการวิจัย และงานบริหาร

 

 

กรอบมาตรฐานนี้ ประกอบด้วย ๓ ส่วนที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน  คือ กิจกรรม (Area of Activity) หรือสมรรถนะ(Competencies) ในการจัดการเรียนรู้ และสนับสนุนการเรียนรู้ความรู้หลัก (Core Knowledge), และเกณฑ์คุณค่าในการเป็นอาจารย์(Professional Values)   โดยมีองค์ประกอบย่อยของแต่ละส่วนดังนี้

 

Area of Activity

A1   ออกแบบและวางแผนกิจกรรมการเรียนรู้ และ/หรือ โปรแกรมการเรียนรู้

A2   สอน และ/หรือ สนับสนุนการเรียนรู้

A3   ประเมิน (Assess) และให้การป้อนกลับ (feedback) แก่ผู้เรียน

A4   จัดบรรยากาศการเรียนรู้ และแนวทาง ให้นักศึกษาได้แนวทางการเรียนรู้  และการสนับสนุนการเรียนรู้ ที่ดี

A5   ร่วมในกิจกรรมการพัฒนาวิชาการ (professional development) ด้าน สาขาวิชา และกระบวนการเรียนรู้ในสาขาวิชา   รวมทั้งการวิจัย  การค้นคว้าสร้างความรู้ (scholarship)   และการประเมินกิจกรรมการทำหน้าที่อาจารย์มหาวิทยาลัย

 

Core Knowledge

K1   ความรู้ในวิชานั้นๆ

K2   วิธีการที่เหมาะสมในการสอน การเรียน และการประเมิน   ตามระดับของหลักสูตร

K3   นักศึกษาเรียนรู้อย่างไร  ทั้งโดยทั่วๆ ไป และในสาขาวิชาที่ตนสอน

K4   วิธีใช้ และคุณค่า ของเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสม

K5   วิธีการประเมินประสิทธิผลของการสอน

K6    ผลของการประกันคุณภาพ และการเพิ่มคุณภาพ สำหรับกิจกรรมวิชาการ และปฏิบัติการทางวิชาชีพ   เน้นที่กิจกรรมการสอนเป็นพิเศษ

 

Professional Values

V1   เคารพผู้เรียนเป็นรายคน  และเคารพชุมชนการเรียนรู้ที่หลากหลาย

V2   ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาสได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

V3   ใช้วิธีการที่มีหลักฐานยืนยันผลสัมฤทธิ์ จากการวิจัย หลักฐานทางวิชาการ (scholarship)  และจากการพัฒนาอาจารย์

V4   ตระหนักในบริบทสังคมวงกว้างที่อุดมศึกษาจะต้องทำงานด้วย   ที่ปฏิบัติการทางวิชาชีพ จะต้องเอาใจใส่

 

อ่านเอกสารนี้แล้ว ผมนึกถึงคำบรรยายของ ศดรสุภา เพ่งพิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียนมหาวิทยาลัยมหิดล ในการประชุม retreat ของสภามหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง Transformative Education เมื่อวันที่ ๒๓ ส.ค. ๕๖   โดยที่ ศ. ดร. สุภา ไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยในประเทศอัฟริกาใต้อยู่ ๑๐ ปี จนได้ตำแหน่งศาสตราจารย์    จึงคุ้นกับระบบการเรียนการสอนของประเทศนั้น   ซึ่งใช้ระบบอังกฤษ

ท่านเล่าว่า คนที่จบปริญญาเอก หากต้องการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ต้องไปเข้ารับการอบรมการเป็น moderator (ทำหน้าที่สอน) และการเป็น assessor (ทำหน้าที่ประเมิน นศ.)    และสอบผ่านจึงจะเป็นอาจารย์ได้   โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้คือSAQA (South African Quality Authority)     ผมฟัง ดร. สุภา แล้วรู้สึกว่า หน่วยงานนี้ในประเทศไทยคือ ONESQA หรือ สมศ. นั่นเอง   แต่ทำงานต่างกัน   ที่อัฟริกาใต้ SAQA เขาทำงาน ส่งเสริมและวางระบบคุณภาพ   ไม่ใช่เน้นการประเมินอย่าง สมศ. ของไทย

ผมได้ข้อสรุปสำหรับการทำหน้าที่อาจารย์มหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ ๒๑ ว่าต้องมีคุณสมบัติ ๓ ด้าน   คือ (๑) ด้านเนื้อวิชา  (๒) ด้านการเรียนการสอน การสนับสนุนการเรียนรู้ และการประเมิน  (๓) ด้านคุณค่า หรือจริยธรรม ของการเป็นอาจารย์    โดยต้องเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตในคุณสมบัติทั้ง ๓ ด้านนั้น   โดยในต่างประเทศหน่วยงานประกันคุณภาพ ทำหน้าที่จัดการระบบนี้   แต่ในบ้านเราไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ อย่างแท้จริง    น่าจะเป็นหน้าที่ ของ สกอ.   แต่ สกอ. ก็อ่อนแอ ไม่มีความสามารถที่จะทำหน้าที่นี้ได้

วันที่ ๙ ก.ย. ๕๖ เมื่อได้ฟังการนำเสนอเรื่อง UKPSF and the Continuing Professional Development Programme in the UK โดย Dr. Jeanne Keay, Assistant Director and Head of International Strategy, HEA (Higher Education Academy)ที่ Sunley Conference Centre  ผมก็สว่างวาบ ว่าประเทศอังกฤษเขามีวิธีบริหาร การเปลี่ยนแปลงอย่างแยบยล และเป็นขั้นตอนระยะยาวอย่างน่าชื่นชมยิ่ง    โดยมี PSF (Professional Development Framework) เป็นตัวช่วยอย่างหนึ่ง    แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือวิธีที่เขาค่อยๆ ดำเนินการให้มีอาจารย์มหาวิทยาลัย ได้รับยกย่องตามเกณฑ์คุณสมบัติผู้สอน (Descriptor) ซึ่งมี ๔ ระดับ   ตาม Descriptor 1 – 4  ซึ่งจะได้รับยกย่องเป็น Associate Fellow, Fellow, Senior Fellow, และ Principal Fellow ตามลำดับ   โดยการยกย่องนี้มีอายุ ๓ ปี ไม่เป็นการถาวรตลอดชีพ   เพราะสมัยนี้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก   เคล็ดลับในการจัดการคือ เขาไม่บังคับ

การมี fellow ด้านการจัดการเรียนการสอน ๔ ระดับ    เป็นการบอกไปในตัวว่าทักษะและความรู้ ด้านการเรียนการสอนนั้น ต้องมีการเรียนรู้และพัฒนา อยู่ตลอดเวลา โดยเขามีช่องทางให้ได้คุณวุฒิ (ย้ำว่าเป็นคุณวุฒิชั่วคราว ๓ ปีนี้ ๒ ช่องทาง    คือ (เข้ารับการอบรมโดยหน่วยงานที่ HEA รับรอง    (๒)​ ช่องทางประสบการณ์ โดยเขียน portfolio ของตนตามแบบฟอร์มที่กำหนด  เสนอ HEAเพื่อส่ง assessor ไปประเมิน    ตอนรับประทานอาหารเที่ยง ผมนั่งคุยกับ Dr. Caroline Stainton, Academic Lead for Reward and Recognition and Deputy Head, HEA   เธอบอกว่ากำลังเตรียมตัว apply เพื่อให้ได้รับ Principal Fellow   ผมปากหนัก ลืมถามว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

ทั้งหมดนั้น เขาเรียก CPD (Continuous Professional Development) Scheme   โดยเป็น scheme ที่มีความยืดหยุ่นตามสาขาวิชา และตามลักษณะของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา

ผมคิดว่า นี่คือวิธีการที่ สรพ. (พรพ. ในช่วงก่อตั้ง) ใช้ในการดำเนินการพัฒนาระบบคุณภาพโรงพยาบาล   โดยเรียนรู้หลักการจากต่างประเทศ   เอามาคิดเกณฑ์ของไทยเอง    สร้างผู้ตรวจเยี่ยมหรือผู้ประเมิน (assessor) ของเราเอง จากคนที่ทำงานในระบบบริการโรงพยาบาลนั่นเอง    และใช้ HA Forum ประจำปี เป็นเวทีเรียนรู้ (และแลกเปลี่ยนเรียนรู้) ต่อเนื่อง   ดำเนินการเรื่อยมาจนปัจจุบัน    โดยมี สปสช. ซึ่งมีเงินปีละกว่าแสนล้าน ซื้อบริการการดูแลสุขภาพจากโรงพยาบาลต่างๆ    ช่วยสร้าง incentive ให้แก่ รพ. ที่พัฒนาระบบคุณภาพ และผ่านการประเมินของ สรพ.   รพ. เหล่านี้จะได้รับค่าตอบแทน การให้บริการแต่ละครั้ง เพิ่มขึ้น ๗๐ บาท

ต้องจับหลักการเรียนรู้ต่อเนื่อง ของอาจารย์ผู้สอนให้มั่น   แล้วดำเนินการยกย่องตามระดับของ สมรรถนะ   ก็จะช่วยให้อาจารย์สอนเป็นมืออาชีพด้านการเรียนการสอน   จัดการเรียนรู้อย่างมีหลักการมากขึ้น    เกิดผลดีต่อผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของศิษย์   ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้าย    และตัวอาจารย์ก็จะเป็นผู้เรียนรู้ (จากการทำงาน) ตลอตชีวิต    หรือเป็นอาจารย์มืออาชีพนั่นเอง

ผมแปลกใจ ที่ตลอดเวลา ๕ วันของการดูงาน   ไม่มีการนำเสนอที่ย้ำว่า อาจารย์ต้องรวมตัวกัน ทำงานเป็นทีม ร่วมมือกันทำงานและเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงาน ที่เรียกว่า PLC (Professional Learning Community)    แต่เขาเน้น partnership มากในทุกที่

ส่วน UKSPF มีการเอ่ยถึงในทุกที่ที่เราไปดูงาน   และเอ่ยในเชิงบวก ว่าเป็นเครื่องมือให้เขาพัฒนาอาจารย์  อย่างต่อเนื่องได้สะดวกขึ้น    ต่างจากปฏิกิริยาของสถาบันอุดมศึกษาไทย ต่อ TQF อย่างหน้ามือกับหลังมือ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ก.ย. ๕๖  เพิ่มเติม ๑๓ ก.ย. ๕๖

Sunley Conference Centre, U of Northampton  และบนเครื่องบินการบินไทย กลับกรุงเทพ

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2014 เวลา 22:01 น.
 

การเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวจะไม่ขจัดความยากจน

พิมพ์ PDF
ธนาคารโลกตั้งเป้าลดความยากจนแบบรุนแรงให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ ๓ ซึ่งจะไม่บรรลุ หากใช้มาตรการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เพราะกลไก trickle down ให้ผลจำกัด จะได้ผลรัฐต้องมีมาตรการ trickle up ร่วมด้วย คือสร้างกลไกช่วยให้คนจนแข็งแรงขึ้น ลุกขึ้นมาช่วยตัวเองได้ เช่นเพิ่มโอกาสเข้าถึงคุณภาพการศึกษาที่มีคุณภาพ เพิ่มโอกาสมีภาวะโภชนาการที่ดี สร้างโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดี

การเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวจะไม่ขจัดความยากจน

บทความ Growth alone will not end poverty เขียนโดยศาสตราจารย์ Kaushik Basu แห่งมหาวิทยาลัย คอร์เนล ที่มาทำงานชั่วคราวที่ธนาคารโลก ในฐานะ Chief Economist และ Senior Vice President ของธนาคารโลก    บอกเราพร้อมหลักฐานจากการวิจัยว่า    ในช่วงเวลา ๒๐ ปี จาก 2010 ถึง 2030 หากประเทศต่างๆ มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเท่ากับปัจจุบัน    สัดส่วนของคนยากจนจะลดลงจาก ร้อยละ ๑๗.๗ ในปี 2010 เหลือร้อยละ ๗.๗ ในปี 2030    แต่ถ้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเท่ากับช่วงทศวรรษที่ 2000    สัดส่วนของคนยากจนจะเหลือร้อยละ ๕.๕

ผลการวิจัยบอกว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการขจัดความยากจนแบบรุนแรงให้หมดไป

เขานิยามความยากจนแบบรุนแรงว่าหมายถึงมีความสามารถบริโภคต่ำกว่าวันละ ๑.๒๕ ดอลล่าร์สหรัฐหรือ ๓๙ บาท โดยปรับตามค่าครองชีพของท้องถิ่นแล้ว

เขาบอกว่า ธนาคารโลกตั้งเป้าลดความยากจนแบบรุนแรงให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ ๓    ซึ่งจะไม่บรรลุ หากใช้มาตรการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว    เพราะกลไก trickle down ให้ผลจำกัด    จะได้ผลรัฐต้องมีมาตรการ trickle up ร่วมด้วย   คือสร้างกลไกช่วยให้คนจนแข็งแรงขึ้น ลุกขึ้นมาช่วยตัวเองได้    เช่นเพิ่มโอกาสเข้าถึงคุณภาพการศึกษาที่มีคุณภาพ    เพิ่มโอกาสมีภาวะโภชนาการที่ดี    สร้างโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดี

วิจารณ์ พานิช

๑๙ ต.ค. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2014 เวลา 23:07 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๑๘. ระลึกรู้ของมือถ่ายภาพ

พิมพ์ PDF

เมี่อไปสัมผัสบรรยากาศใดๆ ผมจะหาทางถ่ายภาพเก็บไว้    เพื่อนำมาสังเกตเพิ่มเติม   ในบางกรณีก็เพื่อได้ซึมซับ หรือสัมผัสสุนทรียภาพ ที่ละเมียดละไม   และเพื่อนำมาไตร่ตรองตรวจตราภายหลัง ว่าวิธีถ่ายภาพให้งาม ทำอย่างไร   ถือเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง

มักจะมีคนมาเสนอบริการถ่ายภาพตัวผม กับวิวสถานที่นั้นๆ    ซึ่งผมมักจะปฏิเสธ   ด้วยคำตอบว่า ผมไม่ชอบถ่ายรูปตัวเอง    ชอบถ่ายรูปคนอื่นมากกว่า

แต่ถ้าเขามาขอถ่ายรูปด้วย ผมจะไม่ปฏิเสธ   ถือว่าเป็นการที่ผมให้เกียรติเขา

ผมไม่เข้าใจคุณประโยชน์ของการยึดถือแนวปฏิบัตินี้   จนมาคุยกับสาวน้อยบนโต๊ะอาหารเย็นวันที่ ๑๕ ก.ย. ๕๖   หลังกลับมาจากไปดูงานที่อังกฤษหมาดๆ

ผมระลึก หรือปิ๊งแว้บขึ้นว่า การที่ผมไม่สนใจถ่ายรูปตนเอง    ทำให้ผมมีปัจจุบันขณะกับสิ่งแวดล้อม รอบตัว    ผมจึงสังเกตเห็นวิวหรือสิ่งสวยงามที่อยู่โดยรอบในขณะนั้น    ผมจึงมีภาพถ่ายจากมุมที่คนอื่นไม่มี   มีภาพถ่ายสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่งดงามที่คนอื่นไม่เห็น

การที่คนเรามัวคิดถึงตนเอง    ทำให้เราพลาดโอกาสเห็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แปลกใหม่ หรือสวยงาม ที่อยู่โดยรอบตัวเรา

เมื่อลดตัวตนลงได้   ความงดงามของสรรพสิ่งรอบตัวก็ปรากฏ    ทั้งที่สัมผัสได้ด้วยจักษุประสาท    และจักษุประสาทส่วนขยาย (คือกล้องถ่ายรูป)   และที่สัมผัสได้ด้วยประสาทรับรู้แบบอื่น

เมื่อลดตัวตนลงได้ โลกจึงงดงามขึ้น

 

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ก.ย. ๕๖

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2014 เวลา 23:21 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๒๔. ส่งมอบประเทศไทยให้ลูกหลาน

พิมพ์ PDF

เมื่อวันที่ ๖ ก.ย. ๕๖ อดัม คาเฮน วิทยากร ที่ปรึกษาเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง จากประเทศสหรัฐอเมริกา    ได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษา จัดกระบวนการ “วิธีสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยกระบวนการออกแบบชุดภาพอนาคต” (Transformative Scenario Planning)  ในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง    ได้นำเสนอเรื่อง “ถอดบทเรียนเปลี่ยนอนาคต : ประสบการณ์ ๒๐ ปี จาก ๒๐​ประเทศทั่วโลก ของ อดัม คาเฮน”    และสื่อมวลชนได้เสนอข่าวที่ http://www.thairath.co.th/content/pol/368249, www.posttoday.com/245416/5 เครื่องมือหลุดบ่วงขัดแย้งจาก-คาเฮน

 

โครงการส่งมอบประเทศไทยให้ลูกหลานจะส่งมอบผลงานขั้นต้นในเดือนนี้    โดยหลากหลายฝ่าย จะต้องนำเอาไปดำเนินการต่อ   เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับกระบวนทัศน์ขึ้นในสังคมไทย   จนถึงจุด tipping point ก็จะเกิดผลที่การยุติความขัดแย้ง ที่ยังรุนแรงยิ่งในขณะนี้

 

เครื่องมือสำคัญอย่างยิ่ง ตามที่ระบุในปาฐกถาของ อดัม คาเฮน คือ สภาพจิตที่เรียกว่า presencing ซึ่งเข้าใจยากมาก   ผมเข้าใจว่าหมายถึงสภาพจิตที่อยู่กับภายในของตนเอง    พร้อมที่จะใช้พลังเพื่อสร้างศักยภาพ แห่งอนาคต   ไปสู่การลงมือทำให้เกิดผลได้ตามจิตมุ่งมั่น

 

ผมตีความต่อว่า    จุดสำคัญคือการหลุดจากวังวนแห่งความขัดแย้งในอดีต    มาอยู่กับปัจจุบัน    แล้วใช้ฐานที่มั่นปัจจุบัน    ในการสั่งสมพลัง เพื่อไปดำเนินการสร้างอนาคตที่ตนใฝ่ฝันร่วมกันที่จะให้เกิด

 

สภาพเช่นนี้  คนที่มีส่วนร่วมต้องไม่รอให้คนอื่นเป็นผู้ลงมือ    ตนเองต้องเป็นผู้กระทำ ไม่ใช่ผู้รอคอย    ไม่ใช่ผู้รอให้คนอื่นทำ แล้วตนจึงตาม   ต้องมีผู้ที่อยู่ในสภาพ presencing มากพอ   จึงจะเกิดพลังร่วม

 

ต้องใช้ฐานที่มั่นที่อยู่กับจิตที่มั่นอยู่กับภายในตน   และมีความปรารถนาอันแรงกล้า ที่จะให้อนาคตมีภาพ หรือสภาพ ตามที่ตนใฝ่ฝัน   ความใฝ่ฝันร่วมโดยคนจำนวนมาก จะเป็นพลังมหัศจรรย์ ให้ความใฝ่ฝันนั้นเป็นจริง

 

ผมฝันจะมีส่วนร่วมกันส่งมอบประเทศไทยที่ผู้คนมีความสามัคคีกัน เลิกแบ่งพวกแบ่งฝ่าย เพื่อเอาชนะคะคานกัน

สังคมไทยในอุดมคติ เขียนไว้ในรายงานของคณะปฏิรูป อ่านได้ ที่นี่

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2014 เวลา 23:40 น.
 

มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๑๐. ดูเขา แล้วย้อนดูเรา

พิมพ์ PDF

ผมตั้งใจเขียนบันทึกชุดเดินทางไปดูงานที่อังกฤษ ๑๐ บันทึกนี้ ด้วยการตีความอย่างสุดๆ    ไม่เขียนแบบบันทึกการดูงาน    ซึ่งเมื่ออ่านทบทวนบันทึกที่ ๑ - ๙ แล้ว    ก็พบว่าได้ “ย้อนดูตัว” ไปมากมายแล้ว     ในลักษณะรำพึงรำพัน    ซึ่งแน่นอนว่า มีความคิดที่ปนอคติส่วนตัวออกมาด้วย    กล่าวอย่างนี้แปลว่า ไม่รับรองความถูกต้อง

 

ข้อแตกต่างกันมากระหว่างอังกฤษกับไทย ในเรื่องระบบอุดมศึกษา    แตกต่างกันอย่างฟ้ากับดิน  หรือคนละกระบวนทัศน์   คือระบบการจัดการอุดมศึกษา ของเขารัฐบาลคิดเรื่องใหญ่ๆ เป้าหมายใหญ่ๆ ระยะยาว  ว่าจะต้องการให้อุดมศึกษาทำประโยชน์ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรให้แก่สังคม   แล้วเขาก็สร้าง เงื่อนไขต่างๆ (เช่นออกกฎหมายเปลี่ยนระบบการเงิน)    เพื่อให้อุดมศึกษาหาวิธีสนอง    โดยแต่ละสถาบัน ทำแตกต่างกัน   เพราะแต่ละสถาบันมีประวัติความเป็นมา จุดแข็งจุดอ่อนแตกต่างกัน    เขาบริหารระบบ โดยบอกเป้า และสร้างเงื่อนไขที่แตกต่าง    แล้วปล่อยให้สถาบันอุดมศึกษาหาวิธีปรับตัวเอาเอง    ไม่กำหนดรายละเอียดของขั้นตอนการทำงาน อย่างของประเทศไทย

 

อังกฤษจัดการระบบอุดมศึกษาแบบ Complex Adaptive Systems    ในขณะที่ไทยจัดการแบบ Simple & Linear System

 

อังกฤษใช้ยุทธศาสตร์จัดการเปลี่ยนแปลงระบบแบบ empowerment   ในขณะที่ไทยใช้ยุทธศาสตร์ top-down, command and control   ซึ่งได้ผลในการสร้างการเปลี่ยนแปลงต่างกัน    และสร้างอารมณ์คนละแบบในกลุ่ม ผู้ที่จะต้องเปลี่ยนแปลง (หรือถูกเปลี่ยนแปลง)    ในแบบอังกฤษ จะมี prime mover หรือ change agent จำนวน หนึ่ง จากทุกระดับการทำงาน   ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำดำเนินการเปลี่ยนแปลง    หรือจริงๆ แล้ว เขาอาจทำแนวนั้น มาก่อนแล้ว แต่ไม่มีคนเห็น   แต่ในระบบใหม่ เขาจะกลายป็นดาราขึ้นมาทันที   คนเหล่านี้จะมีพลังมาก ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

 

ไทยเราใช้ยุทธศาสตร์ผู้มีอำนาจกำหนดรายละเอียดแบบพิมพ์เขียวในการสร้างบ้าน (ผมเพิ่งพบว่า นายกรัฐมนตรี และคนในรัฐบาลชอบพูดคำว่า blueprint)   ทั้งๆ ที่ในการเปลี่ยนแปลงระบบที่ซับซ้อน ไม่มีทางเขียนพิมพ์เขียวได้    ในแนวทางนี้ “ดารา” คือผู้มีอำนาจ   คือนักการเมือง และข้าราชการระดับสูง    คนในระดับผู้ปฏิบัติไม่มีโอกาสเป็นดารา

 

ผมมีความเชื่อ (โดยไม่รู้ว่าเชื่อถูก หรือเชื่อผิด) ว่าคนเรามีความสร้างสรรค์อยู่ในตัวทุกคน   และความสร้างสรรค์นั้นจะออกมาทำคุณประโยชน์ หากมีโอกาส หรือมีการให้โอกาส (empowerment)    ในสังคมที่ความสัมพันธ์ในสังคมมีความเท่าเทียมกันสูง    หรือเป็นสังคมแนวระนาบ   โอกาสที่คนจะทำงาน สร้างสรรค์ให้แก่สังคมจะมาก

 

แต่ในทางตรงกันข้าม สังคมแนวดิ่ง เน้นใช้อำนาจสั่งการในรายละเอียด    โอกาสที่คนจะทำงาน สร้างสรรค์ให้แก่สังคมจะน้อย

 

คณะไปศึกษาดูงานมีเป้าหมายไปศึกษา ๒ เรื่อง    คือเรื่องการพัฒนาการเรียนการสอน   กับการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสังคมให้แก่นักศึกษา    ซึ่งผมตีความว่า ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน    คือการทำหน้าที่อุดมศึกษา เพื่อสร้างคุณค่าในมิติใหม่ๆ ให้แก่นักศึกษา     ซึ่งก็คือการดึงศักยภาพในการ สร้างสรรค์ออกมา ทั้งเพื่อทำธุรกิจเพื่อกำไรเป็นเงิน และผลประโยชน์แบบอื่น เพื่อประโยชน์ตน   และเพื่อทำธุรกิจ ที่มีเป้าหมายเพื่อสังคมที่ดีขึ้น

 

การสร้างคุณค่าดังกล่าวแก่นักศึกษา ทำไม่ได้โดยวิธีสอนที่อาจารย์สอนวิชาแบบเก่า    แต่ทำได้โดยอาจารย์เปลี่ยนมาทำหน้าที่ตามกรอบมาตรฐานการทำหน้าที่อาจารย์(PSF) ในบันทึกแรกของชุดนี้

 

ที่จริงสังคมไทยเป็นสังคมที่เปิดกว้าง เปิดรับพัฒนาการต่างๆ ในโลกได้อย่างรวดเร็ว    แต่เมื่อรับมาแล้ว เราทำ ๓ อย่าง ที่เชื่อมโยงกัน คือ

 

๑. เราทำแบบแยกส่วน ต่างหน่วยงานต่างทำ หรือบ่อยครั้งแย่งซีนกัน

๒. เราทำแบบผิวเผิน  เอามาแต่ส่วนเปลือก จับแก่นไม่ได้    หรืออาจจงใจเอาแต่เปลือก ไม่เอาแก่น

๓ ราปรับให้เข้ากับสังคมไทย    หรือเข้ากับผลประโยชน์ที่ซับซ้อนในสังคม ที่มีอยู่แล้ว    ซึ่งก็จะไปสอดรับกับข้อ ๑ และข้อ ๒

 

และเมื่อประกอบเข้ากับระบอบการบริหารบ้านเมืองแบบควบคุม-สั่งการ หรือเน้นอำนาจแนวดิ่ง    การหาลู่ทางพัฒนาระบบอุดมศึกษาของเราในแง่มุมต่างๆ จึงทำได้อย่างจำกัด   ย้ำว่าทำได้ เพราะเราเปิดกว้าง adopt เร็ว    และ adapt ด้วย    แต่ทั้ง adopt & adapt นั้น จะผิวเผินหรือศรีธนญชัย    ไม่เกิดผลดีจริงจัง   เนื่องจากเหตุผล ตามคำอธิบายที่กล่าวแล้ว

ผมภาวนาให้ข้อคิดเห็นเชิงรำพึงรำพันนี้ เป็นสิ่งที่ผิด ไม่ตรงกับความเป็นจริง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ก.ย. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2014 เวลา 23:45 น.
 


หน้า 383 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5607
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8610211

facebook

Twitter


บทความเก่า