Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ประสานพลังเพื่อการพัฒนาพื้นที่

พิมพ์ PDF

บ่ายวันที่ ๔ พ.ย. ๕๖   ผมไปร่วมประชุมให้ความเห็นต่อร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ เรื่อง โครงการระบบประเมินผลแบบเสริมพลัง เพื่อการพัฒนาพื้นที่ ที่สกว.    ท่ามกลางบรรยากาศร้อนระอุทางการเมือง    ที่กระแสต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอย ขึ้นสูงมาก    แต่การประชุมนี้ให้ความสุข ชุ่มชื่นหัวใจแก่ผมเป็นอันมาก   เพราะได้เห็นวิธีการประสานพลังเพื่อการพัฒนาพื้นที่ที่ประสบผลสำเร็จน่าชื่นชม    โครงการนี้มีคุณจิริกา นุตาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ

ผมได้เรียนรู้ว่าการประเมินผลแบบเสริมพลัง ทีมผู้ทำงานต้องเป็นผู้ประเมินเอง    สำหรับใช้ผลการประเมินในการปรับการทำงานของตน   ให้ได้ผลตามเป้าหมาย    และสำหรับเป็นข้อเรียนรู้ของตนเอง    ทีมประเมินทำหน้าที่ตั้งคำถาม เพื่อให้ทีมทำงานฉุกคิด หาทางทำงานให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

ผมยิ่งชื่นใจ ที่ทีมประเมินและทีม สกว. บอกว่า มีหลายจังหวัดที่บอกว่า “โครงการ สกว. จบ    แต่พวกเราจะทำต่อ”   ผมคิดว่า สปิริต นี้ คือผลงานที่แท้จริง

สปิริตของแกนนำในพื้นที่ ที่จะรวมตัวกัน ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ของตน    อย่างมีระบบ มีการสร้างข้อมูลและใช้ข้อมูลเพื่อการดำเนินการพัฒนา

เราได้เห็นว่า มี “สินทรัพย์เพื่อการพัฒนาพื้นที่” (development assets) อยู่ในพื้นที่มากมาย    แต่โดยทั่วไปจะไม่ได้นำมาใช้ หรือใช้แบบแยกส่วน   ไม่ได้ใช้ให้เกิดการเสริมพลัง (synergy) กัน    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สินทรัพย์” ที่อยู่ในหน่วยราชการ    แต่เมื่อเชื่อมโยงเอามาใช้ร่วมกันได้    จะเกิดประโยชน์มหาศาล    เขายกตัวอย่างศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชนครราชสีมา     เป็นสินทรัพย์ที่มีค่ายิ่งต่อโครงการกลุ่มเกษตรและอาหารปลอดภัย เชื่อมโยงกับโครงการกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

ในระหว่างการเสวนาแลกเปลี่ยนกันนั้น    ผมปิ๊งแว้บคำว่า Empowerment Report   ที่เป็นรายงานถอดบทเรียนความสำเร็จของกลุ่มแกนนำและทีมงานของแต่ละพื้นที่    ที่ได้จากการทำ reflection หรือ AAR ของผู้เกี่ยวข้องเหล่านั้น    นำมาเรียบเรียงสังเคราะห์เป็นรายงาน    โดยผมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า รายงานสมัยใหม่น่าจะจัดทำเป็น multimedia   คืออาจมีวีดิทัศน์สั้นๆ เสริมด้วย

“สินทรัพย์” ที่มีค่าที่สุดในพื้นที่ ในความเห็นของผม คือ จินตนาการร่วมกันของกลุ่มแกนนำ    ในการพัฒนาพื้นที่   แล้วมีการศึกษาหาความรู้หาข้อมูล    เพื่อนำมาปรับความฝันให้เป็นเป้าหมายที่สมจริง    แล้วรวมพลังทุกภาคส่วนในพื้นที่ และนอกพื้นที่    เพื่อดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายนั้น

ผมได้เสนอต่อที่ประชุมว่า ผลลัพท์ที่มีค่าสูงสุดต่อพื้นที่ไม่ใช่ตัวผลสำเร็จของโครงการ    ผลลัพท์ที่มีค่ามากกว่า คือการเรียนรู้ที่เกิดจากการทำโครงการนั้น   ดังนั้น Empowerment Report จึงมีค่ายิ่ง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๔ พ.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2013 เวลา 05:58 น.
 

ความลับของจักรวาล มนุษย์คือปรากกฏการณ์ของธรรมชาติเท่านั้น

พิมพ์ PDF

จิตหยุดนิ่งจึงเห็นสิ่งที่เคลื่อนไหว

คือการเห็นความเป็นธรรมชาติของตัวเราคือการเป็นสิ่งที่มีชีวิต

 

· การเห็นความเป็นธรรมชาติของโลกและจักวาล การเห็น "ตัวเรา"คือธรรมชาติ นำไปสู่การรู้แจ้ง คือการเข้าใจความจริงของชีวิตว่าเป็นปรากฏการณทางธรรมชาติเท่านั้นคือความจริงแท้ การคิดว่าเป็น "ตัวเรา"คือการหลงอยู่ในความเป็นธรรมชาติ การไม่เข้าใจเราจึง เกิดการดิ้นรนไขว่คว้าในสิ่งที่ว่างเปล่า .

การคิดว่ามันเป็น "ตัวเรา" อุปมา เปรียบเหมือนคนหลงทิศ คนหลงทิศยังรู้ว่าตนเองหลง แต่การหลงในความเป็นธรรมชาติ มันไม่รู้ว่าเป็นการหลงแต่กลับคิดว่าเป็น "ตนเอง" นั่นคือเราออยู่ใน "มิติ"ทางความรู้สึกของเราเอง เราจึง

เหมือนอยู่ในโลก สมมุติทางความรู้สึกอยู่เท่านั้น.

การออกจากมิติของตนเองต้องผ่านความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน การมีจิตใจที่งดงาม มีจิตใจที่เป็น "บุญ"จึงจะเข้าใจมิติที่แตกต่างได้จึงต้องทำความรู้สึกนี้ให้เกิดขึ้น.

การหยุดอาการยึดมั่นทางความรู้สึกจึงจะเข้าใจ ความจริงของชีวิตได้

พบกับหนังสือ...

ทางวิเวก : ทางหลุดพ้นจากวังวนความทุกข์ทั้งมวล

โดย.ไพรสณฑ์

( การมองชีวิต ในมุมมองที่แตกต่างจึงพบคำตอบ ว่าแท้จริง "ตัวเรา"คืออะไร? ... เป็นคำถามที่เราลืมหาคำตอบจึงสับสนอยู่ในความเป็นธรรมชาติ การที่เรามีจิตสำนึกอยู่เราจึงต้องหาคำตอบ จึงพบว่าความรู้สึกที่เป็น "ตัวเรา"เป็นการทำงานทางธรรมชาตินั่นเอง คำตอบนี้จึงมีความเป็นเหตุผลสมบูรณ์ ว่าแ้ท้จริงตัวเราคืออะไร นั่นคือสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจ ซึ่งเป็นความรู้ที่ทุกคนต้องรู้เพราะไม่มีสอนนั่นเอง..การรู้จักตนเองจึงมีความเป็นเหตุผลเกิดขึ้น .และมีความเป็นศาสตร์ธรรมชาติไม่ใช่การจินตนาการหรือปรัชญา แท้จริงปรัชญาคือการอธิบายความจริงทางธรรมชาติของ "ตัวเรา"นั่นเอง จึงนำมาเสนอว่าแท้จริงอะไรเกิดขึ้นกับเราและเราจะแก้ไขมันอย่างไร?จึงเป็นสิ่งที่นำมาเสนอ)

หนังสือขนาด432หน้า ราคา150.-บาท(ราคาปก295.-ดูตัวอย่างตามไฟล์แนบ)

(รวมค่าส่งทางไปรษณีย์ในประเทศ)

สั่งซื้อหนังสือ...

...แจ้ง ชื่อ/ที่อยู่ ในการจัดส่ง

ชำระเงินเมื่อได้รับหนังสือแล้วโดยการโอนเข้าบัญชีธนาคารจะแจ้งให้ทราบเมื่อได้สั่งซื้อ.

สั่งซื้อทางอีเมล์ praisin2493@gmail.com

..................................................................................................

.............แจกฟรี!!!........ไฟล์ทางวิเวกฯภาค3 : "ชีวิต"ในมุมมองของ"ธรรมชาติ"

เป็นไฟล์อ่าน ภาค3 จะเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งเป็นภาคสมบูรณ์.คือ`"ชีวิตในมุมมองของความเป็นธรรมชาติเท่านั้น" การเข้าใจจะทำให้เรามีความเป็นเหตุผลเกิดขึ้นนั่นเอง "ตัวเรา"คือการทำงานของธรรมชาตินั่นเอง การยึดมั่นจึงเ็นความหลง การคลายการยึดมั่นต้องเปลี่ยนมุมมองชีวิต จึงจะเห็นภาพจริงที่ไม่สมมุติได้จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ.

...*ผู้แจ้งความประสงค์จะส่งให้ทางอีเมล์ / ส่วนผู้สั่งซื้อหนังสือจะได้รับเป็นซีดีพร้อมหนังสือ

 


 

เห็นด้วยกับข้อเสนอของ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

พิมพ์ PDF
ประเทศไทยควรได้รับการปฏิรูปอย่างแท้จริง โดยเร่งด่วนภายใต้กติกาที่เป็นประชาธิปไตยผมเห็นว่า การปฏิรูปจะเกิดขึ้นและสำเร็จได้จะต้องมีองค์ประกอบต่างๆ ดังต่อไปนี้ หนึ่ง ต้องเป็นกระบวนการที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะคู่ขัดแย้งเข้าร่วมแต่ไม่ถูกครอบงำโดยคู่ขัดแย้งสอง ต้องมีกลไกรับประกันว่าคู่ขัดแย้งจะยอมรับการปฏิรูป และสาม ต้องมีกลไกรับประกันว่า รัฐบาลจะนำข้อเสนอไปสู่การปฏิบัติ

เห็นด้วยกับข้อเสนอของ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

อ่านข้อเสนอได้ ที่นี่ ผมเห็นด้วยทุกข้อ   โดยขอเสนอปรับปรุงข้อเสนอประการที่สอง   ให้องค์ประกอบของผู้ทรงคุณวุฒิสูงกว่าของสองฝ่ายคู่ขัดแย้งนิดหน่อย เช่น 9-9-12

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ธ.ค. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2013 เวลา 06:01 น.
 

สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๑๗. ความกล้าหาญทางสังคม (๒) สู่โลกกว้าง

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๙ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People : Progressive Parenting for the 21stCentury เขียนโดย Annie Fox, M.Ed. 

ตอนที่ ๑๗ นี้ ตีความจากบทที่ ๘ (บทสุดท้าย)  How Can I Do That? Developing Social Courage     โดยที่ในบทที่ ๘ มี ๔ ตอน   ในบันทึกที่ ๑๖ได้ตีความตอนที่ ๑ และ ๒     และในบันทึกที่ ๑๗ นี้ จะเป็นการตีความตอนที่ ๓ และ ๔

ทั้งบทที่ ๘ ของหนังสือ เป็นเรื่อง มิตรภาพ และความกล้าหาญในการเป็นตัวของตัวเอง และสื่อสารทำความเข้าใจเพื่อธำรงมิตรภาพ

ตอนที่ ๓  เสพติดการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน(Peer Approval Addiction) เป็นอาการรุนแรงในวัยรุ่น    ที่ยอมทำทุกอย่างพื่อให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน   แม้การกระทำนั้นจะขัดความรู้สึกของตน   บางทีใช้คำว่า peer pressure คือตกอยู่ใต้แรงกดดันของกลุ่มเพื่อน    ให้ต้องมีพฤติกรรมสอดคล้องกับกลุ่ม    ไม่กล้าแหกคอกออกมา    มีวัยรุ่นจำนวนหนึ่งมีความทุกข์จากแรงกดดันทางสังคมแบบนี้    หรือมิฉนั้นก็ตกกระไดพลอยกระโจน ทำตามเพื่อนจนเสียคน

ดังตัวอย่างเคยมีหมอเล่าให้ผมฟังว่า    ได้คุยกับเด็กสาวที่เป็นแม่วัยทีน ว่าที่มีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นก็เพื่อให้เข้ากลุ่มกับเพื่อนได้    เข้าใจว่าแรงกดดันจากกลุ่มเพื่อนก็รุนแรงมากในกลุ่มวัยรุ่นไทย

เพื่อเอาชนะแรงกดดันนี้ วัยรุ่นต้องได้รับการฝึกให้มีความกล้าหาญทางสังคม (social courage)    ให้กล้าลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ถูกต้องตามสำนึกผิดชอบดีชั่วของตน

ผมคิดเองว่า คนที่ตกเป็นเหยื่อของการเสพติดการยอมรับของสังคม คือคนที่มีบุคลิกภาพอ่อนแอ    ไม่เป็นตัวของตัวเอง    ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดการ โค้ช ของผู้ใหญ่ ที่ฝึกให้รู้จักผิดชอบดีชั่ว    มี EF มีทักษะชีวิต ไว้ใช้ฝ่าอุปสรรคของชีวิต    ผมเชื่อว่า การศึกษาแบบ Active Learning  ที่เด็กได้ฝึกปฏิบัติเพื่อการเรียนรู้ของตนเอง    เน้นเรียนรู้ 21st Century Skills   และตามด้วยการไตร่ตรองทบทวน อย่างถูกต้อง    จะช่วยสร้างความเป็นตัวของตัวเอง และสติรู้ดีชั่ว ให้แก่เด็ก    ทำให้เด็กเอาชนะแรงกดดันจากกลุ่มเพื่อนได้

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ผมคิดว่า การศึกษาแบบเน้นการถ่ายทอดความรู้ เน้นวิชา    ไม่ได้เรียนจากการปฏิบัติบนฐานชีวิตจริง    ทำให้เด็กขาดทักษะชีวิต   ขาดความแข็งแกร่งที่จะเอาชนะแรงกดดันจากกลุ่มเพื่อนได้

คำถามของครูของลูก “เพื่อนมาบอกว่าลูกสาวของฉันข่มเหงลูกสาวของเขา   โดยการกีดกันลูกสาวของเขาออกจากกลุ่มเพื่อน   และนินทาว่าร้ายลูกสาวของเขา   ฉันเองต้องการสอนลูกให้ดีต่อคนอื่น แม้คนนั้นจะไม่ใช่เพื่อน   ลูกสาวมีความลำบากในชีวิตเพราะการหย่าของฉัน    และลูกสาวโกรธพ่อที่โกหกหลอกลวง   ฉันไม่คิดว่าการหย่าร้างจะเป็นสาเหตุของพฤติกรรมไม่ดีของลูกสาว   แต่มันอาจเป็นสาเหตุก็ได้”

คำตอบของผู้เขียน “ครอบครัวของคุณกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ    และเป็นความยากลำบากสำหรับทุกคน   และความยากลำบากนี้จะดำเนินไประยะหนึ่ง   เวลานี้คุณเป็นผู้นำของครอบครัว    และเป็นพี่เลี้ยง (mentor) แก่ลูกสาวอายุ ๑๓ ของคุณ   ให้เรียนรู้การเอาชนะความยากลำบากในชีวิต   โดยเฉพาะเมื่อคนที่คุณเชื่อถือทำให้คุณเจ็บปวด   คุณไม่แน่ใจว่าพฤติกรรมของลูกสาวเกิดจากการหย่าร้างหรือไม่   สังเกตได้จากว่าพฤติกรรมนี้มีหรือไม่ก่อนการหย่า    ถ้าไม่มีก็สันนิษฐานได้ว่า เกี่ยวข้องกับการหย่าร้าง   ซึ่งมีผลก่อความตึงเครียดแก่ทุกคนในครอบครัว    คุณต้องเป็นตัวอย่างแก่ลูกในการครองสติอารมณ์ในท่ามกลางความตึงเครียดนี้

ขอแนะนำให้หาโอกาสที่คุณบังคับใจได้ และลูกก็พร้อม ปิดสิ่งรบกวน (เช่นโทรศัพท์ โทรทัศน์) คุยกันเรื่องการร่วมกันฟันฝ่ามรสุมชีวิตร่วมกัน   โดยคุณบอกเหตุการณ์ที่คุณได้รับแก่ลูก ด้วยน้ำเสียงราบเรียบ   และด้วยถ้อยคำที่แสดงเหตุการณ์เท่านั้น ไม่มีการตีความ ไม่มีการกล่าวหา   เช่น ‘แม่ของแมรี่โทรศัพท์มาบอกแม่ว่า ....’   แม่อยากรู้ว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร   แล้วปิดปากแน่น ฟังอย่างเดียว    และบอกลูกว่า   แม่เชื่อว่าลูกเป็นคนดี   แต่เวลานี้เราตกอยู่ภายใต้สถานการณ์บีบคั้น   เราอาจพลาดไปบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดา    แต่เราต้องช่วยกันตั้งสติ และไม่ทำพลาดซ้ำซาก   คนเราอาจโกรธได้ อาจพลาดทำเพราะความโกรธได้   แต่ต้องหัดระงับความโกรธ (ด้วยการหายใจเข้าออกยาวๆ ช้าๆ)  และไม่ทำอะไรแบบหุนหันพลันแล่น   ที่ต้องไม่ทำเลยคือแสดงความโหดร้ายต่อเพื่อน”

ตอนที่ ๔  สู่โลกกว้าง อย่างมั่นใจ หนังสือเล่มนี้จบลงด้วยภาพของลูก/ศิษย์ ที่เติบโต/พัฒนา เป็นผู้ใหญ่ที่ทำหน้าที่ได้ดี มีความรับผิดชอบ มีเมตตากรุณาเห็นอกเห็นใจคนอื่น    มีความมั่นใจตนเอง  และไม่กลัวอุปสรรคความยากลำบากในชีวิต    คือเป็นคนดีของสังคม

หรือโดยสรุป มี ๘ คุณสมบัติสำคัญ ได้แก่ ความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence), จริยธรรม (ethics), ช่วยเหลือผู้อื่น (help), ให้อภัย (forgiveness), ความเห็นใจ (compassion), เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (empathy), การยอมรับ (acceptance), และ ความกล้าหาญทางสังคม (social courage)    สู่การเป็นพลเมืองดีของโลก

แต่แม่และพ่อมักจะมองลูกเป็นเด็กอยู่เสมอ (แม่อายุ ๙๔ ของผมยังเป็นห่วงลูกชายอายุ ๗๑ อยู่)    และอดเข้ามาเจ้ากี้เจ้าการชีวิตของลูก (ที่โตแล้ว) ไม่ได้

หน้าที่ของพ่อแม่ คือกล่อมเกลา ฟูมฟัก ให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ มีความมั่นใจในตนเอง  และเป็นคนดี    แล้วปล่อยให้ลูกเป็นอิสระในชีวิต แต่ผูกพันกันด้วยความรักความห่วงใย

การเลี้ยงดูลูก/ศิษย์ เป็นการช่วยให้เด็กเติบโต/พัฒนา ผ่านขั้นตอนต่างๆ ในชีวิต    หรือให้เผชิญความเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้อย่างราบรื่น   หรือเมื่อมีช่วงคับขันบ้าง ก็ช่วยแนะนำ หรือโค้ช ให้เรียนรู้อุปสรรคในชีวิตเหล่านั้น และหาทางผ่านพ้นไปได้โดยไม่เกิดผลร้ายต่อชีวิต   ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยค่อยๆ ผ่อนให้เด็กเป็นตัวของตัวเองขึ้นเรื่อยๆ    ในที่สุดก็บรรลุวุฒิภาวะ สามารถดำรงชีวิตได้โดยอิสระ และเป็นที่พึ่งให้แก่คนอื่นได้    เป็นคนดี มีประโยชน์ต่อสังคม    และมีความสามารถฟันฝ่าอุปสรรคหรือวิฤติในชีวิตในอนาคตได้

คำถามของหนุ่ม ๑๒ ผมเพิ่งย้ายโรงเรียน    จากโรงเรียนที่ผมเรียนมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล    ย้ายมาเรียนชั้น ม. ๑ ที่โรงเรียนใหม่   ที่โรงเรียนเดิมผมมีเพื่อนสนิทมากมาย   แต่ตอนนี้เด็กผู้หญิงจากโรงเรียนเดิมของผมกลายเป็นคนป๊อบปูล่าร์แทนผมไปแล้ว   ผมคิดว่าเพื่อนๆ ไม่สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น

คำตอบของผู้เขียน “การย้ายโรงเรียนเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง   ชีวิตคนเราก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เอง    เมื่อมาโรงเรียนใหม่ เพื่อนๆ จากโรงเรียนเดิมอาจยังตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆ จึงยังไม่ได้ทักทายเธอ   แต่เธอสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ไม่ยาก

เริ่มต้นด้วยการนั่งตัวตรง   เอามือออกจากแป้นพิมพ์วางบนขา   หลับตา แล้วหายใจเข้ายาวๆ ช้าๆ ผ่านรูจมูก   จนสุดแล้วอ้าปาก หายใจออกช้าๆ   แล้วทำซ้ำหลายๆ ครั้ง    สังเกตลมหายใจเข้าและออก   วิธีการนี้เรียกว่า re-centering breath (อานาปาณสติ) ซึ่งจะช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย และรู้สึกดีขึ้น

ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำ    พรุ่งนี้เมื่อไปถึงโรงเรียน ให้แสดงความยิ้มแย้มแจ่มใสอารมณ์ดี   ทักทายเพื่อน  เข้าไปคุย เล่น กับเพื่อน   อาจคุยเรื่องความสนุกสนานกับการไปเที่ยวช่วงปิดเทอม   อาจเริ่มจากเพื่อนที่รู้จักกันแล้วที่โรงเรียนเก่า    และต่อมาทำความรู้จักและพูดคุยกับเพื่อนใหม่ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส   เชื่อว่าวิธีนี้จะได้ผล”

ผมมองว่า คำแนะนำนี้คือ ให้หนุ่ม ๑๒ มีความมั่นใจตนเองที่จะเป็นฝ่ายรุก มีความกล้าหาญทางสังคม  ที่จะเข้าไปผูกมิตรกับเพื่อนร่วมชั้น ร่วมโรงเรียนก่อน   ด้วยท่าทีเป็นมิตร ยิ้มแย้มแจ่มใส

 

 

วิจารณ์ พานิช

๙ เม.ย. ๕๖

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 25 ธันวาคม 2013 เวลา 10:21 น.
 

เที่ยวน้ำตกอีกัวซู สุดยอดมหัศจรรย์ธรรมชาติ หนึ่งในเจ็ดของโลก

พิมพ์ PDF

เที่ยวน้ำตกอีกัวซู สุดยอดมหัศจรรย์ธรรมชาติ หนึ่งในเจ็ดของโลก (๑) ฝั่ง อาร์เจนตินา

 

สายวันที่ ๘ พ.ย. ๕๖ คณะ ๘ คน บินจาก ริโอ เดอ จาเนโร ไป อีกัวซู ด้วยสายการบิน TAM ใช้เวลา ๒ ชั่วโมง    บนเครื่องบินเขาเสิรฟอาหารกล่องห่อซองอย่างดี   ผมเก็บไว้เป็นเสบียง    กินแต่น้ำส้มกับน้ำ

เครื่องบิน แอร์บัส A 320 ชั้นประหยัดทั้งลำ    ที่นั่ง 3 – 3 คนประมาณ 80%   มีผู้สูงอายุมาด้วยหลายคน ท่าทางบอกว่าคงจะไปเที่ยวน้ำตกเพราะสวมเสื้อกันฝน แบบครึ่งตัวกันมาหลายคน

ถึงสนามบิน อีกัวซู มีข้อแปลกคือกระเป๋ามาเร็วมาก    ใบที่มาช้าที่สุดคือของผม    เดาว่าคงจะมารอบแรกแล้วเรายังไปไม่ถึงสายพาน กระเป๋าจึงวนไป ๑ รอบ

วันนี้เป็นวันโชคดีของคณะ หลังจากเมื่อวานเป็นวันโชคร้าย ๓ ประการ   โดยผู้รับเคราะห์คือ อ. หมอภิเศก    ได้แก่ (๑) ไอโฟนตกหาย แถวชายฝั่งทะเลเมือง ริโอ   (๒) ติดอยู่ในลิฟท์โรงแรมตอนไฟดับ กดกริ่งก็ไม่มีคนมาช่วย    แต่ก็ใช้ความสามารถ ใช้มือและกำลังแขนเปิดประตูออกมาได้ หลังติดอยู่ราวๆ ๒ นาที ที่ชั้น ๑   ไฟดับตอน ๓ ทุ่มกว่า และดับอยู่นานเกือบครึ่งชั่วโมง ที่โรงแรม Linx  (๓) ข้อนี้ที่จริงเกิดเช้าวันนี้ ที่โรงแรม Linx ตอนกินอาหารเช้า    อาจารย์หมอภิเษก ฉีกซองที่คิดว่าเป็นซองน้ำตาลใส่กาแฟ แต่เป็นซองเกลือ

แต่วันนี้ ที่ อีกัวซู  อาจารย์หมอภิเศก เป็นผู้ทำให้เกิดโชคดี ๓ ประการ ต่อเนื่องกัน คือ   (๑) ได้ไกด์ และบริการนำเที่ยวดี   (๒) ได้ความรู้เรื่องประเทศละตินอเมริกา และชีวิตคนบราซิล โดยเฉพาะเกษตรกร จากไกด์   (๓) ได้ กินอาหารเย็นที่อร่อย    ที่จริงมีข้อ  (๔) ด้วย คืออากาศดี แดดจ้า แต่ก็ร้อนน้อยกว่าบ้านเรา

พอเข็นกระเป๋าออกมา อ. หมอภิเศกทำหน้าที่หาแท็กซี่ เพื่อไปโรงแรมที่จองไว้ ชื่อ San Martin ซึ่งอยู่หน้าทางเข้าป่าสงวนแห่งชาติ ที่อยู่ของน้ำตก     เจ้าที่ที่เคาน์เตอร์แท็กซี่ถามว่ากี่คน นอกจากไปโรงแรมแล้วจะไปเที่ยวไหนบ้าง    แล้วพาไปที่บริษัทนำเที่ยวที่อยู่ใกล้ๆ   ชื่อบริษัท FallsVision Receptivo (www.fallsvision.com.br)    คุณ Fabio Wandscheer ( อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน ที่น่าจะเป็นผู้จัดการ อธิบายว่าเขาบริการพาไปเที่ยวได้อย่างไร   บอกราคาต่อหัวเสร็จสรรพ    โดย อ. วิม แย้งว่า ต้องการให้วันนี้พาไปเที่ยวฝั่งประเทศ อาร์เจนตินา ก่อน   วันพรุ่งนี้ค่อยเที่ยวชมน้ำตกฝั่ง บราซิล    เขาก็จัดกำหนดการใหม่ทันที่   ตกคนละ ๑๒๓ เหรียญสหรัฐ ไม่รวมค่าลงเรือ ๗๓ เหรียญ    ผมให้ เว็บไซต์ และ อีเมล์ ติดต่อไว้ สำหรับท่านที่มีโอกาสไปเที่ยว จะได้เลือกใช้บริการ    เราลงมติว่าเขาเป็นคนซื่อสัตย์ต่อลูกค้าดีมาก

การเช็คอิน ที่โรงแรม ซาน มาร์ติน ใช้เวลานาน   เพราะเขามีแขกมาก และเจ้าหน้าที่ก็ทำงานไม่คล่อง

เสร็จแล้ว เรานั่งรถข้ามแม่น้ำ ไปฝั่ง อาร์เจนตินา    ที่สะพาน มองไปทางหนึ่งเห็นประเทศปาราไกว ซึ่งไม่มีน้ำตก   แต่มีสินค้า อิเล็กทรอนิกส์ราคาถูก ให้คนบราซิลไปซื้อ   และให้ขบวนการลักลอบขนของหนีภาษี ทำมาหากิน    รถต้องผ่านด่านฝั่งบราซิล  ขับไปอีกหน่อย ผ่านด้าน อาร์เจนตินา    แต่ละด่านใช้เวลา ๑๐ ๒๐ นาที    ทำให้ผมนึกถึงสมัยอยู่ที่หาดใหญ่ ขับรถไปเที่ยวฝั่งมาเลเซีย ขบวนการยุ่งยากชักช้ามาก รอเป็นชั่วโมง    เป็นช่องทางคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่

ระหว่างนั่งรถ เราพบว่ามีผีเสื้อบินว่อนบนถนน   ช่วงเดือน ต.ค. - ธ.ค. เป็นฤดูผีเสื้อ   มีมากจริงๆ   คุณฟาบิโอ บอกว่า บางปีมีมากกว่านี้มาก    ผมว่าผีเสื้อช่วยให้ความสุขสดชื่นแก่นักท่องเที่ยวได้มาก    ถือเป็นทรัพยากรท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง    นอกจากนั้นยังมีเสียงนกร้อง    นกที่ผมเข้าใจว่าคือ ไนติงเกล ร้องที่น้ำตก และที่โรงแรม ขณะที่ผมกำลังพิมพ์อยู่นี้ คือเวลา ๖.๒๐ น. เช้าวันที่ ๙ พ.ย.   เสียงไพเราะมาก    และร้องติดต่อ โต้ตอบกัน    ตอนกลางคืนก็มีเสียงจิ้งหรีด   เหล่านี้เป็น tourism assets ทางอ้อมทั้งสิ้น    ไม่ควรมองข้าม

รวมแล้ว  by Plus-HD-1.5" style="color: #0022cc; text-decoration: underline !important; background-color: transparent !important; border: none !important; display: inline !important; float: none !important; height: auto !important; margin: 0px !important; min-height: 0px !important; min-width: 0px !important; padding: 0px !important; vertical-align: baseline !important; width: auto !important;">จากโรงแรม ถึงสถานีน้ำตกฝั่งอาร์เจนตินา ใช้เวลาราวๆ ๔๕ นาที    แต่ยังไม่ถึงน้ำตกนะครับ    ยังอีก ๒ ขยัก คือนั่งรถไฟเล็ก กับเดินเท้า    นั่งรถไฟเล็กน่าจะหลายกิโล เลียบฝั่งแม่น้ำเล็กๆ    เดินเท้าบนสะพานข้ามแอ่งน้ำ ไปยังน้ำตก ๑.๒ ก.ม.  แล้วเดินกลับ    ที่น้ำตก เราได้เห็นน้ำไหลวนตกหน้าผาลงไปต่อหน้า    รวมทั้งเห็นตกหน้าผาไกลๆ    บางช่วงละอองน้ำถูกลมหอบขึ้นมาโปรยปรายสนองความครึกครื้นให้แก่ผู้ไปชม  เป็นที่สนุกสนาน    ถือเป็นการอุ่นเครื่อง หรือทำความคุ้นเคยแก่การเปียกน้ำ ก่อนจะไปลงเรืออาบน้ำตก (และน้ำแม่น้ำ)

หลังจากนั่งรถไฟเล็กกลับมาจากน้ำตกแล้ว คุณ ฟาบิโอ พาเราเดินไปประมาณครึ่งกิโล ไปลงหน้าผา ไปยังสถานีลงเรือ    วิวน้ำตกสวยงามตื่นตาไปอีกแบบ   ก่อนลงเรือผมสวมหมวกและสวมเสื้อกันฝนที่เอามาจากบ้าน    คุณฟาบิโอเตือนว่าคงไม่ช่วยมากนัก    ก่อนลงเรือจริงๆ เขาแจกถุงพลาสติคหน้าให้สวมใสสิ่งของกันเปียก    และสวมชูชีพทับเสื้อกันฝน   ผมเดินไปนั่งด้านหลังเพื่อให้ได้ที่นั่งริม กะว่าจะได้ถ่ายรูปวิวได้ชัด    ซึ่งก็ได้สมใจ และได้มากกว่าที่คิด    คือโดนน้ำมากกว่าใครๆ ในกลุ่ม    คือผมเปียกโชกทั้งตัว เพราะไม่ใช่แค่โดนน้ำตก   แต่คนขับเรือเขากระแทกเรือให้น้ำแม่น้ำกระฉอกเข้ามาโดนผมเต็มตัว เหมือนโดนเอาน้ำราดตัวสัก ๒ ปี๊บ    เปียกทั้งตัว รวมทั้งถุงเท้ารองเท้า

การลงเรือชมน้ำตกที่นี่กับที่น้ำตกไนแอการ่าต่างกัน   วัตถุประสงค์คนละอย่าง    ที่นี่เป็นการลงไปเปียก เอามัน เอาความตื่นเต้นผจญภัย ตามสไตล์แซมบ้าบราซิล   แต่ที่ไนแอการ่าลงเรือไปชมน้ำตก ไปสัมผัสน้ำตกจากมุมด้านล่าง   และเข้าไปอยู่ใต้น้ำตกเลยทีเดียว    เรือที่ใช้ก็ต่างกัน ที่ไนแอการ่าเป็นเรือล่องแม่น้ำ แล่นเอื่อยๆ    ที่นี่ใช้เรือยาง สำหรับแล่นฉวัดเฉวียนเอาหวาดเสียว

หลังจากเปียกทั่วกันแล้ว เรือพาเราแล่นไปตามแม่น้ำไกลที่เดียว ไปขึ้นฝั่งอีกที่หนึ่ง    โดยเดินขึ้นง่ายกว่า แต่ก็ยังชันอยู่ดี    ผมต้องเดินขึ้นช้าๆ และหยุกพักบ้าง    คุณเดือน ซึ่งยังสาวอยู่ สารภาพว่า หอบเหมือนกัน    คุณฟาบิโอสั่งไว้ว่าเมื่อขึ้นจากเรือ ให้เดินขึ้นไปข้างบนและนั่งรถบรรทุกไปที่สถานีแรกที่รถจอด    เขาจะเอารถไปรับที่นั่น

พอถึงเวลา เราก็ขึ้นรถบรรทุก ที่มีที่นั่งเรียงหน้ากระดานเป็นแถวๆ    ผมเลือกนั่งแถวหน้าที่ริม เพราะเล็งว่าเป็นทำเลถ่ายภาพ    คนแคนาดาที่นั่งติดกันบอกว่าระวังนะ เขาตัวเปียก   ผมตอบว่าผมก็เปียกทั้งตัวเหมือนกัน    เขาว่าคนเรานี้แปลกดีนะ ยอมจ่ายสตางค์ตั้งแพง (๗๓ เหรียญสหรัฐ) เพื่อไปเปียก    แต่ที่จริงแล้ว ประสบการณ์นั่งเรือในลำน้ำ มีน้ำตกอยู่ข้างบน เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า

สำหรับผม ประสบการณ์ขึ้นรถบรรทุก นั่งไปตามทางลูกรังในป่าฝนเขต subtropical ของอาร์เจนตินา    โดยมีไกด์เจ้าหน้าที่ของป่าสงวนแห่งชาติ เป็นผู้บรรยายสองภาษา (ปอร์ตุกีส และอังกฤษ) ให้คุณค่าไม่แพ้การชมน้ำตก    ผมได้รู้จักป่าเขตกึ่งร้อนและชื้น    ซึ่งต่างจากป่าฝนเขตร้อนอย่างบ้านเรา ตรงที่มันทึบน้อยกว่า    และมี epiphyte ต้นโตๆ ตามค่าคบต้นไม้ใหญ่มากกว่า    เขาบอกว่า สำหรับป่าฝนเขตกึ่งร้อน ต้นไม้มี ๓ กลุ่ม คือไม้ใหญ่  เถาวัลย์  และต้นไม้อิงอาศัย (epiphytes) 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๙ พ.ย. ๕๖

 

 

รถไฟเล็กกำลังพาเราไปยังจุดเดินเท้าสู่น้ำตก

 

เดินเท้าบนสะพาน ๑.๒ กม. กลางแดด สู่น้ำตก

 

น้ำที่ตกลงไปต่อหน้า

 

น้ำตกจากหน้าผาไกลออกไป

 

เห็นรุ้งกินน้ำ

 

บริเวณชมน้ำตก และอาบละอองน้ำ โปรดสังเกตละอองน้ำที่พลุ่งขึ้นมาเป็นรูปครึ่งวงกลม

 

กลุ่มผีเสื้อ

 

เรือลำก่อนเราตีวงกลับเข้าไปอาบละอองน้ำตกอีกครั้งหนึ่ง

 

ก่อนเรือออก

 

 

ถ่ายจากในเรือ

 

 

รุ้งกินน้ำ โค้งน้อย

 

เรือลำก่อนเรา เตรียมชาร์จเข้าไปอาบละอองน้ำตก  คนขับนั่งอยู่บนที่สูงหลังเรือ

 

ขึ้นรถบรรทุก

 

บนรถ

 

บนรถ

 

รถบรรทุกอีกคันสวนมา

 

ป่าฝนกึ่งเขตร้อน

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/556889

เที่ยวน้ำตกอีกัวซู สุดยอดมหัศจรรย์ธรรมชาติ หนึ่งในเจ็ดของโลก (๒) ฝั่ง บราซิล

 

วันที่ ๙ พ.ย. ๕๖ เป็นวันชมน้ำตกจากฝั่งบราซิล   ซึ่งง่ายกว่าไปฝั่ง อาร์เจนตินามาก    เพราะอยู่ใกล้กับโรงแรมของเรานั่นเอง    รถออกไป ๕ นาทีก็ถึงทางเข้า    เราต้องลงรถไปเดินเข้าโดยแสดงบัตรผ่านคนละใบ    แล้วคุณฟาบิโอ เอารถไปรับด้านใน    คนอื่นๆ ที่ไปเอง มีรถบัสคันใหญ่จำนวนมากมายให้บริการพาไปจุดเดินชมน้ำตก    ซึ่งก็ห่างออกไปหลายกิโลเมตร

คุณฟาบิโอบอกว่า นักท่องเที่ยวที่มาชมน้ำตก อีกัวซู ฝั่งบราซิล ปีละ ๑.๕ ล้านคน    ฝั่งอาร์เจนตินามากกว่าเล็กน้อย    โดยนักท่องเที่ยวที่มาส่วนใหญ่ไปชมทั้งสองฝั่ง อย่างที่พวกเราทำ    เครื่องบินมาลงฝั่งบราซิลวันละ ๒๒ เที่ยว   ฝั่งอาร์เจนตินาวันละ ๘ เที่ยว   และฝั่งปารากวัย วันละเพียง ๑ เที่ยว ทั้งๆ ที่สนามบินของปารากวัยดีที่สุด

รถไปจอดหน้าโรงแรม Caracatas ซึ่งแปลว่าน้ำตก    ทางลงไปเดินชมน้ำตกอยู่ตรงนั้น    แล้วมีทางเดินชมวิวน้ำตกตลอดทาง    โดยภาพน้ำตกที่เห็น อยู่ทางฝั่งประเทศอาร์เจนตินา    จนสุดทางเดิน และมีบันไดลงไปยังสะพานชมน้ำตก และรับละอองน้ำตก    ช่วงนี้น้ำตกอยู่ทางฝังบราซิล    ได้ชมและรับคำอธิบายเช่นนี้ จึงเห็นชัดว่า น้ำตก อีกัวซู ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศ อาร์เจนตินา

นอกจากสะพานชมน้ำตกแล้ว ฝั่งบราซิลยังสร้างหอชมน้ำตก เป็นหอหลายชั้น   ให้เดินขึ้นบันไดไปชมและถ่ายรูปน้ำตกใกล้ๆ ในระดับต่างๆ

ผมใช้คำว่า ชมและถ่ายรูปน้ำตก”   ตามความหมายของผม    แต่คนอื่นคงไม่ได้คิดและทำอย่างผม    คือเขาถ่ายรูปตนเองกับน้ำตก   หรือถ่ายรูปคนที่เขารักกับน้ำตก    ผมไม่ได้ถ่ายรูปตนเองเลย   แต่หากพบคนในคณะเดียวกัน ผมก็หาทางถ่ายรูปให้ แบบไม่ให้รู้ตัว

ผมตาไม่ดี ไม่เห็นคนที่ชมน้ำตกทางฝั่ง อาร์เจนตินา ที่อยู่ไกลลิบๆ    เมื่อมีคนชี้จึงพอสังเกตเห็น   แต่เมื่อใช้กล้อง Canon PowerShot SX 260 ถ่ายโดยซูมเต็มที่ ๒๐ เท่า ก็เห็นแถวคนที่กำลังชมน้ำตกอยู่ทางฝั่งประเทศ อาร์เจนตินา ที่เราไปยืนชมเมื่องานนี้ชัดเจน

สำราญใจกับการชมและรับไอน้ำตก จนถึงเวลา ๑๑ น. เศษ เราก็ได้เวลาเดินทางไปสนามบิน    ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง ๓ ก.ม.   เพื่อเดินทางไป Recife ด้วยเครื่องบินของสายการบิน TAM    โดยไปต่อเครื่องที่ Sao Paolo  และนั่งรอที่สนามบิน ๔ ชั่วโมง    ผมพิมพ์บันทึกนี้เสร็จระหว่างรอที่สนามบิน Sao Paolo นี้

 

วิจารณ์ พานิช

สนามบิน Sao Paolo, Brazil

๙ พ.ย. ๕๖

 

ทางเข้าเปิด ๙ โมงเช้า  เวลา ๙.๐๕ น. คนแน่นแล้ว

 

สัมผัสแรกที่เห็นน้ำตกจากฝั่งบราซิล  น้ำตกอยู่ฝั่งอาร์เจนตินา

 

ทางเข้าเส้นทางเดินชมวิว มีป้ายต้อนรับ

 

ผมชอบเส้นทางเดินชม (และถ่ายรูป) น้ำตกฝั่งบราซิล เพราะเหมือนเดินอยู่ในป่า

 

เห็นน้ำตกสองชั้น

 

น้ำตกไหลลงแม่น้ำ

 

มีสะพานให้ลงไปชมน้ำตกใกล้ๆ และรับละอองน้ำ  ส่วนนี้เป็นน้ำตกฝั่งบราซิล

 

น้ำตกกับสะพานชมวิวและรับละอองน้ำ

 

ถ่ายจากสะพานชมวิวและรับละอองน้ำ

 

นี่ก็ถ่ายจากสะพาน

 

อีกมุมหนึ่งที่ถ่ายจากสะพาน

 

และอีกมุมหนึ่ง

 

แม่น้ำทั้งสาย ตกลงหน้าผา

เมื่อวานเราลงไปนั่งเรือในแม่น้ำแถวนี้

 

เมื่อวานเราไปยืนชมน้ำตกฝั่งอาร์เจนตินา เหมือนคนเหล่านี้

ถ่ายจากหอชมวิวฝั่งบราซิล ด้วยกล้องกำลังขยาย ๒๐ เท่า

 

หอชมน้ำตก

 

บนหอชมน้ำตก

 

หอฯ ถ่ายจากด้านบน

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/557157

เที่ยวน้ำตกอีกวาซู สุดยอดมหัศจรรย์ธรรมชาติ หนึ่งในเจ็ดของโลก (๓) พืชและสัตว์

 

ระหว่างไปเที่ยวน้ำตก อีกัวซู ในวันที่ ๘ - ๙ พ.ย. ๕๖    ผมได้ถ่ายรูปพืช/ดอกไม้ และสัตว์ไว้จำนวนหนึ่ง    จึงขอนำมา ลปรร. ด้วย

ระบบนิเวศของน้ำตกที่ใหญ่โตมโหฬารและมหัศจรรย์เช่นนี้    จะต้องแตกต่างจากระบบนิเวศของป่าฝนเขตกึ่งร้อนอย่างแน่นอน    โดยเฉพาะบริเวณที่ละอองน้ำโปรยไปถึง    ผมจึงสังเกตดอกไม้และต้นไม้ระหว่างเดินไปยังจุดชมวิว    แต่คงได้ไม่มากนัก ที่ได้มากคือภาพถ่ายสวยๆ หรือแปลกๆ

แต่ระหว่างวิ่งออกกำลังตอนเช้าวันที่ ๙ พ.๕๖  และในบริเวณโรงแรม San Martin มีดอกไม้และนกสวยๆ    จะอยู่ในบันทึกตอนต่อไป

 

 

วิจารณ์ พานิช

สนามบิน Sao Paolo, Brazil

๙ พ.ย. ๕๖

ที่สนามบินเมือง Sao Paolo

เมล็ดสีแดงสวยขาดนี้ ไม่เคยเห็น

 

ดอกหญ้าริมทางรถไฟเล็ก

 

ไม่ทราบต้นอะไร มีทั่วไปตอนเดินไปน้ำตกฝั่ง เวเนซูเอลา  ออกดอกเต็มต้น

 

เช่นต้นนี้

 

ดอกนี้งามเป็นพิเศษ ด้วยพลังแสงแดดส่อง

 

ต้นที่มีดอกเหลืองสดใสนี้พบบ่อยที่น้ำตกฝั่งอาร์เจนตินา

 

ต้นนี้พบทั้งสองประเทศ

 

ต้นนี้อยู่ที่เกาะเล็กๆ เห็นกอเดียวนี้

 

ปลาดุก อีกวาซู

 

กาน้ำผึ่งแดดหลังดำน้ำจับปลา

 

สีแดงเตะตา

 

สีม่วงก็สวย

 

ผีเสื้อเกาะกลุ่ม

 

สีขาวก็สวยได้

 

 

 

 

ตัว badger ที่เชื่อง ทางอุทยานแห่งชาติประกาศระวังมันกัด เป็นแผลเหวอะหวะ

 

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/557229

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 25 ธันวาคม 2013 เวลา 10:36 น.
 


หน้า 407 จาก 557
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5602
Content : 3043
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8588519

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า