Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ภารกิจเฉพาะหน้าของปวงชนชาวไทย

พิมพ์ PDF
พวกเขาใช้วิธี “ลักไก่” เวลาเอาร่างกฎหมายเข้าสภาผู้แทนฯ พวกเขาอ้างหลักการและเหตุผล เพื่อล้างผิดให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง (พวกลูกน้อง) พอถึงขั้นคณะกรรมาธิการแปรญัตติ พวกเขาเปลี่ยนเป็นล้างโทษให้พวกตัวเอง ซึ่งเป็นเจ้านาย ขัดกับหลักการในรัฐธรรมนูญมาตรา 30 พวกนักการเมืองและสมุนเป็นเทวดามาจากไหน โกงบ้าน-กินเมือง-เผาบ้านเมืองฯ ผิดกฎหมายชัดๆ แต่พวกมันบอกว่าไม่ผิด ถ้าผิดก็ทำให้พ้นผิด ในขณะที่คนอื่นที่ไม่ใช่นักการเมืองและสมุนทำผิดเล็กน้อยก็ต้องรับโทษกันทั้งนั้น

ภารกิจเฉพาะหน้าของปวงชนชาวไทย

เขียน ธีระวิทย์

“เมื่อความอยุติธรรมกลายเป็นกฎหมาย การลุกขึ้นต่อต้านจึงเป็นหน้าที่”

โธมัส เจฟเฟอร์สัน  อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

เหตุใดเราจึงต้องร่วมใจกันต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้?

  1. มันทำและจะทำให้คนไทยแตกแยกกันยิ่งๆ ขึ้น ไม่ใช่ “ปรองดองกัน” “สมานฉันท์กัน” หรือ “สามัคคีกัน” ดังที่พวกเขาตีหน้าตายหรอกพวกเรา
  2. พวกเขาใช้วิธี “ลักไก่” เวลาเอาร่างกฎหมายเข้าสภาผู้แทนฯ พวกเขาอ้างหลักการและเหตุผล เพื่อล้างผิดให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง (พวกลูกน้อง) พอถึงขั้นคณะกรรมาธิการแปรญัตติ พวกเขาเปลี่ยนเป็นล้างโทษให้พวกตัวเอง ซึ่งเป็นเจ้านาย ขัดกับหลักการในรัฐธรรมนูญมาตรา 30 พวกนักการเมืองและสมุนเป็นเทวดามาจากไหน โกงบ้าน-กินเมือง-เผาบ้านเมืองฯ ผิดกฎหมายชัดๆ แต่พวกมันบอกว่าไม่ผิด ถ้าผิดก็ทำให้พ้นผิด ในขณะที่คนอื่นที่ไม่ใช่นักการเมืองและสมุนทำผิดเล็กน้อยก็ต้องรับโทษกันทั้งนั้น
  3. ผิดหลักการปกครองโดยกฎหมาย ความเป็น “นิติรัฐ” ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายมาระบุความผิดของผู้กระทำ พอพวกตัวทำผิด กลับออกกฎหมายมาล้างผิด บอกว่าไม่ผิด เก่งยิ่งกว่าเทวดา ทำความผิดให้เป็นความถูกได้
  4. ผิดหลักประชาธิปไตย ซึ่งให้ฝ่ายนิติบัญญัติออกฎหมาย ฝ่ายบริหารบังคับใช้กฎหมาย และฝ่ายตุลาการตัดสินคดีตามกฎหมาย คดีที่ศาลตัดสิตถึงที่สุดว่าผิดแล้วก็ต้องรับโทษเด็ดขาด ไม่ใช่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติมาแก้ว่าที่ตัดสินไปแล้ว ถ้าเป็นพวกนั้นพวกนี้ถือว่าไม่เป็นความผิด ฝ่ายนิติบัญญัติ-ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจลบล้างอำนาจฝ่ายตุลาการได้ (การอภัยโทษให้คนที่รับโทษแล้วทำได้) ขืนทำเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นโจรปล้นอำนาจตุลาการของคนไทย ต่อไปพวกนักการเมืองที่ครองอำนาจ ก็จะผูกขาดปล้นอำนาจเบ็ดเสร็จไปจากคนไทย และปล้นบ้านขายเมืองไม่รู้จักจบสิ้น
  5. ถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับได้ ในสายตาของชาวโลก คนไทยจะกลายเป็นคนป่าเถื่อน มีกฎหมายป่าเถื่อนใช้ คนที่ไม่ยอมก็จะต่อต้านทุกวิธีทาง บ้านเมืองก็จะวุ่นวาย ทุกคนเดือดร้อน

 

เรามีหน้าที่เฉพาะหน้าอันใด?

  1. ทุกคนมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
  2. ช่วยกันบอกคนอื่นให้รู้ถึงผลร้ายของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นลูกหลานของพวกเรา เชิญชวนให้พวกเขาช่วยกันต่อต้าน ถ้าเราทำสำเร็จ จะมีผลช่วยกำจัดนักการเมืองใจโจรให้ค่อยๆ หายไปจากแผ่นดินไทย
  3. รัฐบาลนี้จะอยู่หรือจะไปก็ตาม เรามีหน้าที่ต่อเนื่องที่จะต้องช่วยกันทำกลไกของรัฐ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ให้ทำตามอำนาจหน้าที่ของตัวอย่างเคร่งครัด
  4. ติดตาม-ไล่จี้ ตำรวจ-อัยการ-ศาล-ป.ป.ช. ให้เอาคนทำผิดมาลงโทษทั้งหมด ที่หนีไปต่างประเทศก็ต้องเอาตัวมาเข้าคุกหรือดำเนินคดี ใครที่ไม่ทำตามหน้าที่ตามกฎหมายก็ต้องถูกลงโทษด้วย เพื่อความสงบสุขของคน 4 จังหวัดภาคใต้ อย่าลืมเอาตัวผู้สั่งการ สังหารหมู่ คนที่อยู่ในมัสยิดกรือเซะ และการชุมนุมที่ตากใบด้วย
  5. อย่าหลงกลลวงของคนโกงที่อ้างเรื่อง “ปรองดอง” หรือ “ให้อภัยกัน” มาบังหน้า คนที่ไม่รู้อะไรผิด-ถูกเท่านั้นที่กล้าเสนอความคิด เอาคนทำถูกกฎหมายมาปรองดองกับคนทำผิดกฎหมาย วิธีการสร้างความปรองดองง่ายๆ คือ ทำให้ทุกคนทำตามกฎหมาย โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด บ้านเมืองจะสงบสุขเองโดยไม่ต้องเอาความดีมาปรองดองกับความชั่ว

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน 2013 เวลา 20:55 น.
 

ครูสอนนักศึกษาอย่างไร

พิมพ์ PDF
นักศึกษาไทยไม่ใช่คนโง่ พวกเขามีศักยภาพในการคิดแบบล้นเหลือ เพียงแต่ไม่ได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม เนื่องจากระบบการศึกษาไทยยังไม่กล้าให้รางวัลกับการคิด เพราะการให้คะแนนกับความคิดจะมีความเป็นอัตวิสัยสูง เปิดช่องให้นักศึกษาฟ้องร้องอาจารย์ได้ว่าให้คะแนนไม่เป็นธรรม เพราะการตัดสินว่าความคิดของใครดีกว่าใคร ความคิดของใครถูกต้องกว่าใครเป็นเรื่องยาก

ครูสอนนักศึกษาอย่างไร

อ่านได้จากบทความ เศษกระดาษ ๓ แผ่น ... โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์    สอนให้ คิด ไม่มักง่าย  ไม่กลัวความผิด  และไม่ลอกเลียนหรือขโมยความคิด (ผิดจริยธรรม)

บทความนี้เป็นตัวอย่างของวิธีทำหน้าที่ครู/อาจารย์ ที่ดี

วิจารณ์ พานิช

๕ พ.ย. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน 2013 เวลา 20:39 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๓๑. กฎหมาย (อาจจะ) เป็นมายา

พิมพ์ PDF
มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และฝึกได้ดีที่สุด กว่าสัตว์ทั้งปวง ฝึกให้ประเสริฐสุดก็ได้ ให้ร้ายสุดก็ได้ หากฝึกให้ดี ก็จะมีวิจารณญาณเลือกดำรงชีวิตเฉพาะด้านที่เป็นคุณ ไม่ประพฤติปฏิบัติสิ่งที่เป็นโทษต่อตนเอง ดีกว่าการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งบังคับใช้กับทุกคน และกฎหมายบางฉบับเป็นมายา

 

เช้าวันที่ ๒๓ ก.ย. ๕๖ คุยกันที่ สคส. เรื่องมายาของยาเสพติด    ว่าเวลานี้โลกค่อยๆ เปลี่ยนกระบวนทัศน์กี่ยวกับยาเสพติด     มามองคุณของมัน ดังกรณี กัญชา    คุณเดชา ศิริภัทร เล่าว่าลูกสาวทำงานอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย    บอกว่ามีร้านขายกัญชามากกว่าร้านเซเว่นบ้านเรา    และมี ๑๘ รัฐ ในสหรัฐอเมริกา ที่มีกฎหมายอนุญาตให้ขายกัญชาได้

คุณเดชา เล่าเรื่องกระท่อม    ว่าเหลือประเทศเดียวคือไทย ที่ยังกำหนดให้ผิดกฎหมาย     ที่อื่นเขาอนุญาตให้ปลูกบริโภคได้    ถือเป็นยาสมุนไพร    เพราะมีการวิจัยบอกสรรพคุณมากมาย ค้นได้ด้วยคำว่า kratom

จะเห็นว่า กฎหมายคือเครื่องมือของรัฐ    ในการกำหนดข้อต้องประพฤติ หรือข้อห้ามปฏิบัติ ของผู้คนในรัฐ    เพื่อความสงบเรียบร้อยในการอยู่ร่วมกัน   แต่นานไป โลก สังคม และความรู้ เปลี่ยนไป    กฎหมายบางฉบับก็ล้าสมัย    กลายเป็นมายา    กฎหมายบางฉบับแก้ยาก เพราะผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มค้ำไว้    เช่นกฎหมายมรดก

กลับมาที่ยาเสพติด   ชื่อมันทำให้คนรังเกียจ    แต่ในโลกนี้ สิ่งที่มีคุณอนันต์ ก็อาจมีโทษมหันต์ได้ หากใช้ผิดทาง    และในทางกลับกัน สิ่งที่เราเคยยึดถือกันว่าเป็นโทษ เช่นกัญชา กระท่อม หากใช้เป็น   ก็อาจเป็นยาที่มีประโยชน์มาก (medicinal use)    หรืออาจใช้เพื่อการผ่อนคลาย (recreational use)    โดยที่เราต้องให้การศึกษา ฝึกผู้คนไว้แต่ยังเล็ก ให้มีทักษะยับยั้งชั่งใจตนเอง    ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อสิ่งใดง่ายๆ

ผมเป็นโรคการศึกษาขึ้นสมอง    คิดเรื่องอะไร ย้อนกลับมาที่การศึกษาหมด    มองว่าการศึกษาเป็นการวางพื้นฐานชีวิต    ให้สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ล่อแหลมจะเป็นโทษได้     เพราะในโลกนี้ สิ่งที่มีคุณอนันต์กับมีโทษมหันต์มันเป็นสิ่งเดียวกัน

มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้    และฝึกได้ดีที่สุด กว่าสัตว์ทั้งปวง    ฝึกให้ประเสริฐสุดก็ได้  ให้ร้ายสุดก็ได้    หากฝึกให้ดี ก็จะมีวิจารณญาณเลือกดำรงชีวิตเฉพาะด้านที่เป็นคุณ    ไม่ประพฤติปฏิบัติสิ่งที่เป็นโทษต่อตนเอง    ดีกว่าการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งบังคับใช้กับทุกคน    และกฎหมายบางฉบับเป็นมายา

ผมไม่เชื่อการพึ่งพา    ผมไม่ชอบการใช้ยาเพื่อการผ่อนคลาย    เชื่อว่าการผ่อนคลายที่ดีที่สุดคือ การได้ทำสิ่งที่ตนรัก   หรือได้เรียนรู้สิ่งที่มีประโยชน์

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ก.ย. ๕๖

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 09 พฤศจิกายน 2013 เวลา 11:10 น.
 

อย่าหมิ่นคนจน เรื่องการเลือกโรงเรียนให้ลูก

พิมพ์ PDF

ข้อเขียนในหน้าความเห็น ใน นสพ. The Wall Street Journal ลงเว็บไซต์วันที่ ๒๖ ก.ย. ๕๖ เรื่อง Poor Indians Prove Amartya Sen Wrong บอกเราว่า คนจนในอินเดีย แม้จะมีความรู้น้อย    มีข้อมูลน้อยสำหรับ ใช้ตัดสินใจ   แต่ในเรื่องการศึกษาของลูก เขารู้จักตัดสินใจเลือกโรงเรียน    เพื่อให้ลูกได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพดี

บทความนี้อ้างว่า Amartya Sen (นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล) เคยบอกว่าระบบที่รัฐสนับสนุน การศึกษาของเด็ก    โดยจ่ายเงินเป็นคูปองการศึกษา ให้โอกาสพ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กเลือกโรงเรียนเอง    จะใช้ไม่ได้ผลในคนจน    เพราะเขาไม่มี ข้อมูลสำหรับใช้ตัดสินใจอย่างถูกต้อง

บทความบอกว่า ข้อมูลจากการปฏิบัติ พิสูจน์ว่า Amartya Sen เข้าใจผิด   คนจนของอินเดียเลือกส่งลูกเข้าโรงเรียนราษฎร์ที่ค่าเล่าเรียนไม่แพง    แทนที่จะส่งเข้าโรงเรียนของรัฐที่เรียนฟรี แต่คุณภาพการศึกษาต่ำกว่า

อ่านข่าวนี้แล้ว ผมเกิดความเข้าใจ ว่าในประเทศที่มีช่องว่างทางสังคมสูง    โรงเรียนของรัฐมักมีคุณภาพ ต่ำ เพราะการจัดการภาครัฐไม่ดี    สภาพนี้เป็นจริงอย่างยิ่งสำหรับไทย

ในประเทศไทย เราเคยพูดเรื่องการจัดเงินอุดหนุนการศึกษาแบบให้เป็นคูปองติดตัวนักเรียน    ให้พ่อแม่ไปเลือกที่เรียน เอาเอง ตามที่พอใจ หรือเชื่อว่ามีคุณภาพตามที่ต้องการ    แต่ระบบนี้ก็ยังไม่เกิด

ผมจึงเรียกร้องให้เปลี่ยนระบบการเงินอุดมศึกษาส่วนที่รัฐสนับสนุน    ให้หันไปใช้ระบบคูปอง การศึกษา    ประกอบกับจัดให้มีระบบข้อมูลคุณภาพโรงเรียนรายโรงเรียน    ให้ผู้ปกครองเด็กใช้ประกอบการเลือก โรงเรียนให้ลูก    โดยทั้งหมดนี้ ให้ตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่   คล้ายๆ สปสช. ในระบบบริการสุขภาพ    ทำงานจัดการการเงินและระบบข้อมูลอย่างทันสมัย   มีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับระบบ หรือสร้างเครื่องมือจูงใจ ให้เด็กที่เหมาะต่อการเรียนด้านอาชีพ (อาชีวศึกษา) ได้รับการสนับสนุนมากกว่า หากเรียนตามสายที่ตนเหมาะ    รวมทั้งสร้างเครื่องมือจูงใจอื่นๆ เพื่อให้เกิดระบบการศึกษาที่เข้มแข็ง

ผมเห็นด้วยกับข้อความในบทความ ที่เสนอให้สนับสนุนโรงเรียนราษฎร์ที่คุณภาพดี แต่เก็บค่าเล่าเรียนถูก   ซึ่งผมมองว่า นี่คือ Social Enterprise ชนิดหนึ่ง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ก.ย. ๕๖

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 09 พฤศจิกายน 2013 เวลา 11:21 น.
 

ตอนที่ ๓ ระบบสื่อสารแห่งจิตตนคร

พิมพ์ PDF

จิตตนครมีระบบสื่อสารติดต่อกันโดยทางต่างๆหลายทาง และมีจุดรวมเป็นที่รับข่าวสารทั้งปวงเพื่อรายงานแก่เจ้าเมือง ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่จุดไหนของเมือง เจ้าเมืองจะทราบได้ทันทีทางระบบสื่อสารเหล่านี้

โลกในปัจจุบันนี้มีระบบสื่อสารที่วิเศษต่างๆเป็นอันมาก มีการไปรษณีย์ การโทรเลข โทรศัพท์ มีวิทยุ มีโทรทัศน์ มีเรด้าร์ มีเครื่องมือในการติดต่อตั้งแต่บนพื้นดิน จนถึงลอยเป็นดาวเทียมอยู่ในอากาศ ทำให้คนเราที่อยู่คนละมุมโลกพูดกันได้ เห็นกันได้ คล้ายกับอยู่ใกล้ๆกันแค่มือเอื้อมถึง เมื่อคราวที่คนไปถึงดวงจันทร์เมื่อไม่นานมานี้ ก็ติดต่อพูดกันกับคนในโลกนี้ได้ ทั้งที่อยู่ไกลแสนไกลจากกันและกัน

การสื่อสารในจิตตนคร ก็น่าจะไม่ล้าสมัยกว่าในโลกดังกล่าว และมีระบบบางอย่างที่วิเศษพิสดารกว่าอย่างที่โลกจะเอาอย่างไม่ได้จิตตนครมีระบบการสื่อสารแบ่งออกเป็นสองชั้น คือ ชั้นนอกและชั้นใน

ระบบการสื่อสารชั้นนอก นั้นมี..
ระบบตาเมือง มีหน้าที่เป็นดวงตาสำหรับดูสิ่งต่างๆ คล้ายเป็นเครื่องโทรทัศน์
ระบบหูเมือง สำหรับฟังเสียงต่างๆ คล้ายกับเครื่องวิทยุ
ระบบจมูกเมือง มีหน้าที่สำหรับดมกลิ่นต่างๆ
ระบบลิ้นเมือง สำหรับลิ้มรสต่างๆ
ระบบกายเมือง สำหรับรับสิ่งต่างๆ ที่มาถูกต้อง

ระบบต่างๆเหล่านี้แยกออกจากกันเป็น ๕ ส่วน ต่างมีสายที่ละเอียดยิบมากมายโยงจากชั้นนอกของเมืองเข้าไปสู่ระบบชั้นใน ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของระบบสื่อสารทั้งหมด คล้ายกับสายโทรเลขโทรศัพท์ แต่ละเอียดพิสดารกว่ามากนัก อย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้

ระบบชั้นใน อันเป็นจุดรวมนี้เรียกว่า ระบบใจเมือง หรือสมองเมือง มีหัวหน้าควบคุมอยู่ที่ระบบศูนย์กลางชื่อว่า “มโน” ในสมัยปัจจุบันนี้ พวกแพทย์มักเรียกกันว่า “สมอง” เป็นหัวหน้าควบคุมระบบสื่อสารแห่งจิตตนครทั้งหมด และมีหัวหน้าควบคุมระบบสื่อสารภายนอกทั้ง ๕ เรียกว่า “ปสาท” หรือ “ประสาท” ทั้ง ๕ แต่ละคนมีชื่อเฉพาะ ตามชื่อของระบบงานดังนี้

คนที่ ๑ ชื่อ จักขุปสาท เป็นหัวหน้าระบบตาเมือง
คนที่ ๒ ชื่อ โสตปสาท เป็นหัวหน้าระบบหูเมือง
คนที่ ๓ ชื่อ ฆานปสาท เป็นหัวหน้าระบบจมูกเมือง
คนที่ ๔ ชื่อ ชิวหาปสาท เป็นหัวหน้าระบบลิ้นเมือง
คนที่ ๕ ชื่อ กายปสาท เป็นหัวหน้าระบบกายเมือง

ปสาททั้ง ๕ นี้ เป็นหัวหน้าเฉพาะระบบของตน ไม่ก้าวก่ายกัน คนไหนได้รับข่าวสารอะไรแล้วก็รีบรายงานไปยังหัวหน้าใหญ่คือมโน ที่จุดศูนย์กลางอันเป็นจุดรวมทันที ฝ่ายมโนเมื่อได้รับรายงานจากระบบภายนอกก็รายงานแก่เจ้าเมืองในทันใดนั้น เจ้าเมืองก็ได้ทราบข่าวสารต่างๆทันที แม้จะสถิตอยู่กลางเมืองซึ่งเป็นที่รวมแห่งถนนใหญ่ ๔ สายดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อได้ทราบข่าวสารแล้ว ก็เหมือนอย่างได้ออกไปเห็น ได้กลิ่น ได้ยิน ได้รส ได้ถูกต้องสัมผัสสิ่งภายนอกต่างๆด้วยตนเอง วิเศษกว่าระบบสื่อสารทั้งปวงของโลก

เมื่อได้ฟังเกี่ยวกับระบบสื่อสารอันละเอียดพิสดารของจิตตนครแล้ว บรรดาผู้มาบริหารจิตควรจะได้พิจารณาให้ประจักษ์ในความจริงประการหนึ่ง คือความจริงที่ว่า ยิ่งการสื่อสารหรือคมนาคมติดต่อเจริญออกไปกว้างไกลเพียงใดในโลกเรานี้ ผู้คนก็ยิ่งต้องวุ่นวายเหน็ดเหนื่อยเพียงนั้น

สมัยก่อน เมื่อการสื่อสารหรือการคมนาคมยังไม่เจริญ มีใครไม่กี่คนที่เดินทางออกไปพ้นบ้านเมืองของตน มาบัดนี้ การคมนาคมเจริญขึ้นมาก ผู้คนมากมายพากันเดินทางไปต่างประเทศ ต้องสิ้นเปลือง ต้องเหน็ดเหนื่อยไปตามกัน บางคนบางพวกก็ไปตกทุกข์ได้ยาก แม้ไปต้องโทษจองจำอยู่ในต่างประเทศก็มี เรียกได้ว่าความลำบากติดตามความเจริญของการสื่อสารการคมนาคมมาเป็นอันมากด้วยเหมือนกัน

ระบบสื่อสารของจิตตนครก็เช่นกัน ยิ่งเจริญเพียงใด เจ้าเมืองคือจิตได้รับการติดต่อรู้ข่าวสารเรื่องราวต่างๆ มากเพียงใด ก็ยิ่งจะได้รับความทุกข์ลำบากวุ่นวายเพียงนั้น นอกเสียจากว่า เจ้าเมืองคือจิตจะมีสติปัญญารู้เท่าทันพอสมควร ว่าข่าวสารเหล่านั้นเป็นสักแต่เรื่องชั้นนอกเท่านั้น ถ้ารับเข้าไปเก็บไว้ผิดที่ คือรับเข้าไปเก็บไว้ชั้นในคือจิต ก็ย่อมจะทำให้หนักให้แน่นไปหมด หาที่ว่างที่โปร่งที่สบายไม่ได้ หมดความเบาสบาย หมดความเป็นสุข

กล่าวอีกอย่างก็คือ ถ้ามีสติปัญญารู้เท่าทัน ก็ต้องรู้ว่า เรื่องข้างนอกต้องปล่อยไว้ให้เป็นเรื่องอยู่ข้างนอก ต้องไม่เข้าไปยึดเอาไปเป็นเรื่องข้างใน พระพุทธดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งปวงควรให้ความสนใจปฏิบัติตามให้ได้พอควรก็คือ พระพุทธดำรัสที่ว่า “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น” ความไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง จะนำไปสู่ความสงบสุขอันควร เป็นยอดปรารถนาของทุกคน

ระบบสื่อสารแห่งจิตตนคร มีความรวดเร็วอย่างน่าอัศจรรย์ สื่อสารที่ส่งเข้าไปจากระบบชั้นนอก แม้จะต้องผ่านระบบชั้นในก่อน จึงจะถึงเจ้าเมือง แต่ก็รวดเร็วมาก คือจะทราบถึงเจ้าเมืองในทันใดนั้นเอง ความรวดเร็วจากต้นทางทั้ง ๕ ถึงปลายทางชั้นในคือมโนนั้น มีอุปมาเหมือนอย่างความเร็วแห่งเงาของนกที่ทอดจากยอดไม้ถึงแผ่นดิน คือเมื่อนกบินมาจับบนยอดไม้ เงาของนกจะทอดถึงพื้นดินทันที สื่อสารที่ส่งเข้าไปจากระบบชั้นนอกจะถึงมโนทันทีฉันนั้น และมโนก็รายงานเจ้าเมืองทันที

ข่าวสารอันใดที่ถึงมโนแล้ว ไม่มีที่มโนจะปกปิดเอาไว้ จะรายงานทันทีทั้งหมด แต่ก็มีเหตุบางอย่างที่ทำให้ข่าวสารจากภายนอกเข้าไปไม่ถึง คือบางคราวเจ้าเมืองพิจารณาข่าวสารเก่าต่างๆ มโนต้องคอยรายงานเรื่องจากแฟ้มเก็บเอกสารต่างๆอยู่ตามที่เจ้าเมืองต้องการ มโนจึงไม่ว่างที่จะรับข่าวสารใหม่ๆ ที่ส่งทยอยกันเข้ามาอยู่ตลอดเวลา เมื่อมโนไม่ว่างที่จะรับเช่นนั้น ข่าวสารเหล่านั้นก็เข้าไม่ถึงเจ้าเมือง จนกว่ามโนจะว่างและรับข่าวสารเหล่านั้น เจ้าเมืองจึงจะได้ทราบข่าวสารใหม่ๆต่างๆ ต่อไปตามปกติ

มโนซึ่งเป็นหัวหน้าแห่งระบบสื่อสารทั้งหมด ขึ้นตรงต่อเจ้าเมืองแต่ผู้เดียว นอกจากเป็นหัวหน้ารับสื่อสารจากระบบสื่อสารชั้นนอกทั้ง ๕ แล้ว ยังเป็นเหมือนเลขานุการของเจ้าเมือง มีหน้าที่รวบรวมข่าวสารที่ได้รับมาแล้วทุกอย่าง เก็บเข้าแฟ้มไว้สำหรับเจ้าเมืองเรียกหา และเจ้าเมืองก็มักเรียกหาอยู่เสมอ มโนก็ต้องเป็นผู้เสนอเรื่อง

บางคราวเจ้าเมืองตรวจตราเรื่องราวต่างๆอยู่นาน เป็นเหตุให้มโนไม่ว่าง และไม่อาจรับข่าวสารจากภายนอกอยู่นาน แต่ข่าวสารบางอย่างที่ส่งเข้ามาอาจแรง อาจทำให้เจ้าเมืองต้องชะงักการตรวจตราเรื่องเก่าๆก็มี เช่น เสียงดังที่ระบบหูเมืองรับเข้ามา คลื่นของเสียงเช่นนี้แรงมาก ทำให้กระเทือนถึงกับเจ้าเมืองต้องชะงักปล่อยมโนให้ว่าง มโนจึงรับข่าวสารของเสียงนั้นรายงานแก่เจ้าเมืองได้

บางคราวก็รายงานด้วยว่า จำเป็นต้องทำให้เสียงดังเช่นนั้นเพื่อให้ถึงเจ้าเมือง คล้ายกับร้องเรียกปลุกคนหลับ เรียกเบาๆไม่ตื่น ก็ต้องเรียกดังๆ ในขณะที่เจ้าเมืองตรวจตราเรื่องต่างๆ เพลินอยู่เช่นเดียวกัน เจ้าเมืองจะไม่เห็น จะไม่ได้ยินอะไร เพราะมโนไม่ว่างที่จะรับเข้ามารายงานให้ทราบ จึงต้องใช้กระแสคลื่นอย่างแรงเข้ามาเตือนให้หยุดคิดอะไรเพลินๆเสีย และรับข่าวสารปัจจุบันสักที

มโนเป็นผู้ทำงานมากกว่าหัวหน้าระบบสื่อสารภายนอกทั้ง ๕ แม้ในขณะที่ชาวจิตตนครนอนหลับ ประสาททั้ง ๕ พักหลับกันหมด แต่มโนก็ยังไม่หลับ เพราะเจ้าเมืองยังไม่ยอมหลับ ยังเรียกหามโนมารายงานเรื่องราวต่างๆกันอีกโดยเฉพาะ ดังที่เรียกกันในภาษาจิตตนครว่า “ฝัน” เจ้าเมืองชอบฝันอยู่กับมโนเสมอ มโนจึงมีเวลาพักจริงๆ วันหนึ่งไม่มากนัก

เพื่อให้เข้าใจง่าย จะขอเปรียบเจ้าเมืองที่รับข่าวสารจากมโนไปสะสมไว้มากมายไม่หยุดยั้ง กับแปลงทาสีที่มีอยู่อันเดียว และใช้จุ่มลงไปในสีต่างๆกัน สีนั้นบ้าง สีนี้บ้าง โดยไม่มีเวลาหยุดเอาแปรงแช่น้ำมันล้างสีออกเสียบ้างเลย ผลจะเป็นเช่นไร

ทุกท่านย่อมนึกได้ถึงแปลงทาสีอันนั้น ว่าต้องสกปรกเลอะเทอะและใช้งานไม่ได้ผลดีจริง คือทาสีแดงก็จะไม่แดงแท้ จะมีสีอื่นปนอยู่ด้วย ทาสีเหลืองก็จะเป็นสีเหลืองไปไม่ได้ เพราะจะมีสีอื่นปนด้วยนั่นเอง ทาสีอะไรก็จะไม่เป็นสีนั้นจริงๆทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ เมื่อจะใช้แปรงอันเดียวทาหลายสี เขาจึงต้องมีน้ำมันไว้แช่แปรงให้สีออกเป็นพักๆไป จะได้ทาสีอื่นให้เป็นสีนั้นแท้ๆ ไม่มีสีที่ทาไว้ก่อนปนเปทำให้ไม่เป็นสีที่ต้องการ

เจ้าเมืองแห่งจิตตนครหรือจิตของเราทุกคนนี้ก็เช่นกัน หากให้รับเรื่องราวจากทวารทั้ง ๕ ที่ผ่านมโนเข้ามาถึงอยู่เรื่อยๆ ไม่มีเวลาให้เจ้าเมืองได้คลี่คลายเรื่องแต่ละเรื่องออกเสียให้พ้น เหมือนเขาเอาแปรงทาสีลงแช่น้ำมัน เจ้าเมืองก็จะสกปรกเลอะเทอะไม่ผิดแปรงที่ทาสีไม่ได้แช่น้ำมันเลย แต่เปลี่ยนสีทาอยู่มากมายหลายสีนั่นเอง

อันเรื่องทั้งหลายที่เข้าสู่จิต ย่อมก่อให้เกิดอารมณ์หรือกิเลสเป็นธรรมดา จิตรับเรื่องไว้มากเพียงไร อารมณ์หรือกิเลสอันเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ก็จะเพิ่มพูนมากขึ้นเพียงนั้น ทำให้จิตสกปรกเศร้าหมองยิ่งขึ้นเพียงนั้น

บรรดาผู้มาบริหารจิต คือผู้กำลังพยายามปฏิบัติต่อจิตของตน เหมือนช่างทาสีปฏิบัติต่อแปรงสำหรับทาสี คือพยายามล้างสีที่จับให้ออกไปเสมอๆ ความสกปรกแม้มีบ้างก็จะไม่มากมาย

จิตก็เช่นกัน เมื่อเป็นจิตสามัญชนก็ต้องมีอารมณ์มีกิเลสเศร้าหมองเป็นธรรมดา แต่ถ้าพยายามใช้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือทาน ศีล ภาวนา เข้าขัดเกลาไว้เสมอ กิเลสเครื่องเศร้าหมองก็จะไม่ท่วมท้นจนเกินไป แต่จะค่อยลดน้อยลงได้ทุกที โดยที่เจ้าตัวหรือเจ้าเมืองแห่งจิตตนครนั่นเองจะรู้ด้วยตัวเอง

จิตที่มีอารมณ์หรือมีกิเลสเครื่องเศร้าหมองน้อย ย่อมเป็นจิตที่ผ่องใส มีความสุขมาก ส่วนจิตที่มีอารมณ์หรือมีกิเลสเครื่องเศร้าหมองมาก ย่อมเป็นจิตที่หม่นหมอง มีความสุขน้อย เจ้าเมืองแห่งจิตตนครทุกคนย่อมรู้จักตัวของตัวเองได้ดังนี้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 154 ตุลาคม 2556 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย แพรภัทร

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 08 พฤศจิกายน 2013 เวลา 13:18 น.
 


หน้า 424 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5609
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8628250

facebook

Twitter


บทความเก่า