Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๑๐. ดูเขา แล้วย้อนดูเรา

พิมพ์ PDF

ผมตั้งใจเขียนบันทึกชุดเดินทางไปดูงานที่อังกฤษ ๑๐ บันทึกนี้ ด้วยการตีความอย่างสุดๆ    ไม่เขียนแบบบันทึกการดูงาน    ซึ่งเมื่ออ่านทบทวนบันทึกที่ ๑ - ๙ แล้ว    ก็พบว่าได้ “ย้อนดูตัว” ไปมากมายแล้ว     ในลักษณะรำพึงรำพัน    ซึ่งแน่นอนว่า มีความคิดที่ปนอคติส่วนตัวออกมาด้วย    กล่าวอย่างนี้แปลว่า ไม่รับรองความถูกต้อง

 

ข้อแตกต่างกันมากระหว่างอังกฤษกับไทย ในเรื่องระบบอุดมศึกษา    แตกต่างกันอย่างฟ้ากับดิน  หรือคนละกระบวนทัศน์   คือระบบการจัดการอุดมศึกษา ของเขารัฐบาลคิดเรื่องใหญ่ๆ เป้าหมายใหญ่ๆ ระยะยาว  ว่าจะต้องการให้อุดมศึกษาทำประโยชน์ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรให้แก่สังคม   แล้วเขาก็สร้าง เงื่อนไขต่างๆ (เช่นออกกฎหมายเปลี่ยนระบบการเงิน)    เพื่อให้อุดมศึกษาหาวิธีสนอง    โดยแต่ละสถาบัน ทำแตกต่างกัน   เพราะแต่ละสถาบันมีประวัติความเป็นมา จุดแข็งจุดอ่อนแตกต่างกัน    เขาบริหารระบบ โดยบอกเป้า และสร้างเงื่อนไขที่แตกต่าง    แล้วปล่อยให้สถาบันอุดมศึกษาหาวิธีปรับตัวเอาเอง    ไม่กำหนดรายละเอียดของขั้นตอนการทำงาน อย่างของประเทศไทย

 

อังกฤษจัดการระบบอุดมศึกษาแบบ Complex Adaptive Systems ในขณะที่ไทยจัดการแบบ Simple & Linear System

 

อังกฤษใช้ยุทธศาสตร์จัดการเปลี่ยนแปลงระบบแบบ empowerment ในขณะที่ไทยใช้ยุทธศาสตร์ top-down, command and control   ซึ่งได้ผลในการสร้างการเปลี่ยนแปลงต่างกัน    และสร้างอารมณ์คนละแบบในกลุ่ม ผู้ที่จะต้องเปลี่ยนแปลง (หรือถูกเปลี่ยนแปลง)    ในแบบอังกฤษ จะมี prime mover หรือ change agent จำนวน หนึ่ง จากทุกระดับการทำงาน   ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำดำเนินการเปลี่ยนแปลง    หรือจริงๆ แล้ว เขาอาจทำแนวนั้น มาก่อนแล้ว แต่ไม่มีคนเห็น   แต่ในระบบใหม่ เขาจะกลายป็นดาราขึ้นมาทันที   คนเหล่านี้จะมีพลังมาก ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

 

ไทยเราใช้ยุทธศาสตร์ผู้มีอำนาจกำหนดรายละเอียดแบบพิมพ์เขียวในการสร้างบ้าน (ผมเพิ่งพบว่า นายกรัฐมนตรี และคนในรัฐบาลชอบพูดคำว่า blueprint)   ทั้งๆ ที่ในการเปลี่ยนแปลงระบบที่ซับซ้อน ไม่มีทางเขียนพิมพ์เขียวได้    ในแนวทางนี้ “ดารา” คือผู้มีอำนาจ   คือนักการเมือง และข้าราชการระดับสูง    คนในระดับผู้ปฏิบัติไม่มีโอกาสเป็นดารา

 

ผมมีความเชื่อ (โดยไม่รู้ว่าเชื่อถูก หรือเชื่อผิด) ว่าคนเรามีความสร้างสรรค์อยู่ในตัวทุกคน   และความสร้างสรรค์นั้นจะออกมาทำคุณประโยชน์ หากมีโอกาส หรือมีการให้โอกาส (empowerment)    ในสังคมที่ความสัมพันธ์ในสังคมมีความเท่าเทียมกันสูง    หรือเป็นสังคมแนวระนาบ   โอกาสที่คนจะทำงาน สร้างสรรค์ให้แก่สังคมจะมาก

 

แต่ในทางตรงกันข้าม สังคมแนวดิ่ง เน้นใช้อำนาจสั่งการในรายละเอียด    โอกาสที่คนจะทำงาน สร้างสรรค์ให้แก่สังคมจะน้อย

 

คณะไปศึกษาดูงานมีเป้าหมายไปศึกษา ๒ เรื่อง    คือเรื่องการพัฒนาการเรียนการสอน   กับการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสังคมให้แก่นักศึกษา    ซึ่งผมตีความว่า ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน    คือการทำหน้าที่อุดมศึกษา เพื่อสร้างคุณค่าในมิติใหม่ๆ ให้แก่นักศึกษา     ซึ่งก็คือการดึงศักยภาพในการ สร้างสรรค์ออกมา ทั้งเพื่อทำธุรกิจเพื่อกำไรเป็นเงิน และผลประโยชน์แบบอื่น เพื่อประโยชน์ตน   และเพื่อทำธุรกิจ ที่มีเป้าหมายเพื่อสังคมที่ดีขึ้น

 

การสร้างคุณค่าดังกล่าวแก่นักศึกษา ทำไม่ได้โดยวิธีสอนที่อาจารย์สอนวิชาแบบเก่า    แต่ทำได้โดยอาจารย์เปลี่ยนมาทำหน้าที่ตามกรอบมาตรฐานการทำหน้าที่อาจารย์(PSF) ในบันทึกแรกของชุดนี้

 

ที่จริงสังคมไทยเป็นสังคมที่เปิดกว้าง เปิดรับพัฒนาการต่างๆ ในโลกได้อย่างรวดเร็ว    แต่เมื่อรับมาแล้ว เราทำ ๓ อย่าง ที่เชื่อมโยงกัน คือ

 

๑. เราทำแบบแยกส่วน ต่างหน่วยงานต่างทำ หรือบ่อยครั้งแย่งซีนกัน

๒. เราทำแบบผิวเผิน  เอามาแต่ส่วนเปลือก จับแก่นไม่ได้    หรืออาจจงใจเอาแต่เปลือก ไม่เอาแก่น

๓ ราปรับให้เข้ากับสังคมไทย    หรือเข้ากับผลประโยชน์ที่ซับซ้อนในสังคม ที่มีอยู่แล้ว    ซึ่งก็จะไปสอดรับกับข้อ ๑ และข้อ ๒

 

และเมื่อประกอบเข้ากับระบอบการบริหารบ้านเมืองแบบควบคุม-สั่งการ หรือเน้นอำนาจแนวดิ่ง    การหาลู่ทางพัฒนาระบบอุดมศึกษาของเราในแง่มุมต่างๆ จึงทำได้อย่างจำกัด   ย้ำว่าทำได้ เพราะเราเปิดกว้าง adopt เร็ว    และ adapt ด้วย    แต่ทั้ง adopt & adapt นั้น จะผิวเผินหรือศรีธนญชัย    ไม่เกิดผลดีจริงจัง   เนื่องจากเหตุผล ตามคำอธิบายที่กล่าวแล้ว

ผมภาวนาให้ข้อคิดเห็นเชิงรำพึงรำพันนี้ เป็นสิ่งที่ผิด ไม่ตรงกับความเป็นจริง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ก.ย. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2013 เวลา 21:21 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๒๔. ส่งมอบประเทศไทยให้ลูกหลาน

พิมพ์ PDF

เมื่อวันที่ ๖ ก.ย. ๕๖ อดัม คาเฮน วิทยากร ที่ปรึกษาเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง จากประเทศสหรัฐอเมริกา    ได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษา จัดกระบวนการ “วิธีสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยกระบวนการออกแบบชุดภาพอนาคต” (Transformative Scenario Planning)  ในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง    ได้นำเสนอเรื่อง “ถอดบทเรียนเปลี่ยนอนาคต : ประสบการณ์ ๒๐ ปี จาก ๒๐​ประเทศทั่วโลก ของ อดัม คาเฮน”    และสื่อมวลชนได้เสนอข่าวที่ http://www.thairath.co.th/content/pol/368249, www.posttoday.com/245416/5 เครื่องมือหลุดบ่วงขัดแย้งจาก-คาเฮน

 

โครงการส่งมอบประเทศไทยให้ลูกหลานจะส่งมอบผลงานขั้นต้นในเดือนนี้    โดยหลากหลายฝ่าย จะต้องนำเอาไปดำเนินการต่อ   เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับกระบวนทัศน์ขึ้นในสังคมไทย   จนถึงจุด tipping point ก็จะเกิดผลที่การยุติความขัดแย้ง ที่ยังรุนแรงยิ่งในขณะนี้

 

เครื่องมือสำคัญอย่างยิ่ง ตามที่ระบุในปาฐกถาของ อดัม คาเฮน คือ สภาพจิตที่เรียกว่า presencing ซึ่งเข้าใจยากมาก   ผมเข้าใจว่าหมายถึงสภาพจิตที่อยู่กับภายในของตนเอง    พร้อมที่จะใช้พลังเพื่อสร้างศักยภาพ แห่งอนาคต   ไปสู่การลงมือทำให้เกิดผลได้ตามจิตมุ่งมั่น

 

ผมตีความต่อว่า    จุดสำคัญคือการหลุดจากวังวนแห่งความขัดแย้งในอดีต    มาอยู่กับปัจจุบัน    แล้วใช้ฐานที่มั่นปัจจุบัน    ในการสั่งสมพลัง เพื่อไปดำเนินการสร้างอนาคตที่ตนใฝ่ฝันร่วมกันที่จะให้เกิด

 

สภาพเช่นนี้  คนที่มีส่วนร่วมต้องไม่รอให้คนอื่นเป็นผู้ลงมือ    ตนเองต้องเป็นผู้กระทำ ไม่ใช่ผู้รอคอย    ไม่ใช่ผู้รอให้คนอื่นทำ แล้วตนจึงตาม   ต้องมีผู้ที่อยู่ในสภาพ presencing มากพอ   จึงจะเกิดพลังร่วม

 

ต้องใช้ฐานที่มั่นที่อยู่กับจิตที่มั่นอยู่กับภายในตน   และมีความปรารถนาอันแรงกล้า ที่จะให้อนาคตมีภาพ หรือสภาพ ตามที่ตนใฝ่ฝัน   ความใฝ่ฝันร่วมโดยคนจำนวนมาก จะเป็นพลังมหัศจรรย์ ให้ความใฝ่ฝันนั้นเป็นจริง

 

ผมฝันจะมีส่วนร่วมกันส่งมอบประเทศไทยที่ผู้คนมีความสามัคคีกัน เลิกแบ่งพวกแบ่งฝ่าย เพื่อเอาชนะคะคานกัน

สังคมไทยในอุดมคติ เขียนไว้ในรายงานของคณะปฏิรูป อ่านได้ ที่นี่

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2013 เวลา 19:12 น.
 

Ranking มหาวิทยาลัยแบบใหม่ : ผูกกับระบบการเงินการคลังด้านอุดมศึกษา

พิมพ์ PDF

บทความเรื่อง Higher Education.  Universities challenged : Barack Obama wants degrees to be better value for money ลงพิมพ์ใน นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ ฉบับวันที่ ๓๑ ส.ค. ๕๖

 

โลกสมัยนี้ อะไรๆ ก็ต้องใช้เงิน    เรียนมหาวิทยาลัยก็ต้องลงทุน    ดังกรณีโชเฟอร์แท็กซี่ ที่อ้างในบทความ    คุยว่าลูกสาวของตนเรียนจบปริญญาตรีด้านนิเทศศาตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน    โดยเบื้องหลังคือ จ่ายไป เกือบ ๕ ล้านบาท ($140,000)    ซึ่งผู้เขียนบทความบอกว่า เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้ม    เพราะการทำงานหนังสือพิมพ์ ไม่ต้องมีปริญญาก็เข้าทำงานได้    จึงเกิดประเด็นว่า ต้องมีการจัดอันดับ มหาวิทยาลัยในด้านความคุ้มค่าในการเข้าเรียน    ซึ่งก็หมายความว่า การเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่มีชื่อเสียง ก็ไม่ช่วย    ต้องดูกันเป็นรายสาขาวิชาไป

 

บทความบอกว่า ปธน. โอบามา สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการจัดระบบ ranking มหาวิทยาลัยแบบใหม่   ที่เน้นมูลค่าเพิ่มที่บัณฑิตได้รับจากมหาวิทยาลัย    คือดูว่าค่าเล่าเรียนเท่าไร  โอกาสจบมากน้อยแค่ไหน    จบแล้ว ออกไปทำงานมีรายได้เท่าไร    จะใช้ ranking นี้ในปีการศึกษา 2015 ในการจัดลำดับการให้เงินกู้เพื่อการศึกษา

 

ทำให้หวนคิดกลับมาที่บ้านเรา    เงิน กยศ. มีการให้กู้เพื่อเรียนในมหาวิทยาลัยที่คุณภาพต่ำ มากน้อยแค่ไหน   มีหลายแห่งโฆษณาหาผู้เข้าเรียนว่า เรียนฟรี    เพราะเข้าเรียนแล้ว กู้ กยศ. ได้ทุกคน

 

บทความชิ้นนี้บอกเราว่า    สถาบันอุดมศึกษาแค่สอบคัดเลือกรับนักศึกษาเข้าเรียน ยังไม่พอ    ต้องรับผิดชอบจัดการเรียนการสอน ให้จบการศึกษาตามเวลาที่กำหนด    และให้มีทักษะและความรู้ออกไปทำงาน เลี้ยงตัว และทำประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างดี    ในกรณีประเทศไทย ควรมีการจัดระบบข้อมูลเพื่อบอกแก่สังคม ในข้อนี้    นี่คือ university ranking แนวใหม่

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ก.ย. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2013 เวลา 19:16 น.
 

ปฏิรูป' นั้น...ปฏิรูปอะไร-ตรงไหน?

พิมพ์ PDF

คัดลอกจากบทความของ เปลว สีเงิน ในไทยโพสต์ วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2556 (บางส่วน)

การปฏิรูป "สังคมประเทศ" จำเป็นต้องทำด้วยสูตรเข้มข้น ขอย้ำว่า "ปฏิรูปสังคมประเทศ" นะครับ ไม่ใช่ปฏิรูปประเทศ!
ประเทศไทยนั้นดีอยู่แล้ว มีแต่คนในสังคมประเทศเท่านั้น ทุกวันนี้มันตรงข้ามกับคำว่า "ดี" เพราะนโยบายรัฐภายใต้ "เศรษฐกิจทุนสหรัฐครอบ" ในรอบ ๕๐ ปีที่ผ่านมา หลอมคนเพื่อเป็นเหยื่อป้อน "เศรษฐกิจระบบทุน" ทาสจักรวรรดินิยมสหรัฐ!
คนไทยวันนี้จึงเป็นประชากรวัตถุ เพื่อ "ทุนนิยม" ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องปฏิรูป หรือปฏิวัติ "สังคมประเทศ"
จากประชากร "เศรษฐกิจทุนนิยม" คืนกลับประชากร "เศรษฐกิจพอเพียง"
หรือพูดให้เห็นภาพเปรียบเทียบชัดๆ ปฏิวัติสังคมวัตถุ ที่บูชาเงินเป็นสิ่งสูงสุด ให้กลับสู่สังคมจิตใจ ธรรมชาติ-คุณธรรมคือทุนสังคม และนั่นคือ "ทุนมหาศาลของประเทศ"
เงยหน้ามองรอบตัวเถอะ แล้วจะเห็น "สังคมโลก" วันนี้ มันไปสุดทางเศรษฐกิจระบอบทุนแล้ว ไปต่อก็คือเหว ขณะนี้ กำลังดิ้นรนหาเส้นทางรอดกัน ทั้งสหรัฐ-ยุโรป-ญี่ปุ่น ต่างก็รู้อยู่กับใจว่าจะเล่นขายข้าว-ขายแกง หลอกปั๊มกระดาษเป็นเงิน แลกปัจจัยชีวิตจริงๆ อย่างที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้แล้ว
แต่ละประเทศที่รู้ตัว-รู้ทัน หันกลับไปฟื้นฟูธรรมชาติบ้านตัวเอง เข้าลักษณะ "สูงสุดคืนสู่สามัญ" พลิกฟื้นประเทศ ด้วยผันชีวิตสู่วิถีดั้งเดิมกันทั้งนั้น ธรรมชาติและวิถีธรรมชาติแต่ละถิ่น จะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ คืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้ให้แต่ละประเทศที่รู้ทัน แทนที่อุตสาหกรรมทำลายธรรมชาติเพื่อการพาณิชย์
ธนบัตรจะคืนกลับกระดาษ สมมุติสหรัฐใช้หนี้ที่เป็นอยู่ให้หมด ต่อให้พิมพ์กระดาษเป็นดอลลาร์ไปอีก ๕๐-๑๐๐ ปี ก็พิมพ์ออกมาใช้หนี้ไม่หมด!
เอ้า..สมมุติว่าหมด ประเทศเจ้าหนี้อย่าง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน จะเอากระดาษขนาดภูเขาหิมาลัยไปเก็บไว้ที่ไหน และมากมายเป็นกระดาษเช็ดตูดอย่างนั้น มันมีค่าตรงไหน?
โดยแก่นชีวิต มนุษย์ต้องการความสุข แรกๆ ก็เข้าใจว่า มีเงินแล้วจะมีสุข ก็เลยแย่งกันหาเงิน แต่เมื่อมีเงินแล้ว มหาเศรษฐีร้อยละร้อยพิสูจน์พบว่า
เงินไม่ใช่ความสุข และเงินก็ใช่ว่าจะซื้อความสุขได้!
ไม่ต้องมาก ดูอย่างทักษิณซิ มีเป็นแสนล้าน แล้วมีความสุขมั้ย วันๆ เห็นแต่โอดครวญ...อยากกลับมาตายบ้าน....!?
บางเศรษฐียังเข้าใจว่า...มีเงิน ซื้อสุขได้ ก็เอาเงินไปซื้อคฤหาสน์อยู่ตามป่า ตามเขา ตามชายทะเล คือหาทำเลสงบงามเพื่อจะสุขกับสิ่งนั้น
แต่ถ้าหยุดคิดซักนิดก็จะเข้าใจ......."สุขแท้" ที่จิตเดิมแท้ไขว่หา ไม่ใช่เงิน หากแต่การอยู่กับธรรมชาติ เกื้อกูลกับธรรมชาติ และจิตใจที่ดีงามของสังคมมนุษยธรรมตะหาก เพราะถ้าไม่ใช่ แล้วจะตะกายซื้อวิวธรรมชาติทำไมล่ะ?
เมื่อใจพอ มันก็เกิด "พอเพียง" เมื่อเกิดพอเพียง การเบียดบัง การทำลายธรรมชาติ เพื่อสนองสุขระบบทุนมันก็น้อยลง เพราะ "สุขแท้จริง" คือสุขที่เกิดจาก "ใจสุข"
และใจสุขแบบนี้ จะใช้เงินเพื่อถนอมรักษาธรรมชาติ ไม่ใช่ใช้เงินทำลายธรรมชาติ ด้วยหลงเข้าใจว่า ธรรมชาติที่ถูกทำลายนั้น จะนำมาซึ่งสุขให้กับเขา!
ขณะนี้ สังคมโลกเหมือนผึ้งแตกรัง คนมีเงินต่างหอบเงินเสาะแสวงหาที่อยู่อาศัยที่อยู่แล้วสุข มีเศรษฐี (มิใช่คนเอเชีย) คนไหน หอบเงินไปซื้อสุขอยู่แถวสหรัฐ ญี่ปุ่น หรือยุโรปบ้างล่ะเห็นมีแต่พวกยุโรป พวกญี่ปุ่น หอบเงินไปซื้อ "ธรรมชาติ" ในบางประเทศที่ยังบริสุทธิ์ หรืออย่างไทย แถบพัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงราย อีสานบางจังหวัด นั่นเพราะ พวกเขามองเห็น "ภูเขาสุข" คือธรรมชาติในธรรมชาติ ธรรมชาติในคนธรรมในบ้านเรา เขาจึงมา ในขณะที่คนไทยกลับกระหาย "ภูเขากระดาษ"
ใครจะตัดไม้ทำลายป่า ใครจะทำเขื่อน ทำถนน ทำฟลัดเวย์ ผ่าป่า-ผ่าเขา-ฝังกลบต้นน้ำ-ลำธารตรงไหน ให้ประเทศเป็นทะเลทราย ระเกะระกะด้วยเสาอิฐ เสาปูน และแท่งตึก "เอาเงินมา" จะ ๓.๕ แสนล้าน จะ ๒ ล้านล้าน พวกมึงจะตัด-จะโค่น จะทำอย่างไร ก็ทำไป เอาไปเลย! ได้แดกน้ำข้าวที่กระเซ็นหกจากระบอบทักษิณคนละนิดละหน่อย ก็ขายประเทศ กูมีเงินแล้วไม่เดือดร้อน พวกสื่อก็เห่าไม่ออก เพราะ "จุกน้ำข้าว"
เพราะอย่างนี้ จึงต้องปฏิรูปสังคมประเทศ ชนิดต้องทุบแรงๆ จะทำแบบสะกิด-สะเกา มันไม่รู้สึก-รู้สา กู้ประเทศให้กลับมาไม่ได้หรอก!
ที่ "สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย" ระดมความคิดที่ธรรมศาสตร์เมื่อวาน (๒๗ ต.ค.๕๖) จะฉาบฉวยแค่คำว่า "ประชาชน" และคำว่า "ปฏิรูป" ไม่พอ เมื่อลงมือทั้งที ต้องตกผลึกออกมาเป็น "พิมพ์เขียวประเทศ" ให้ประชาชนเข้าใจ เห็นพิษ-เห็นภัย ด้วยสังคมประเทศจมอยู่ในเศรษฐกิจระบบทุนผูกขาด "ทาสจักรวรรดินิยมทุนสหรัฐ"
ทักษิณ และระบอบทักษิณ นั่นแค่ "เบี้ยขยะ" ในตีนสหรัฐที่มันใช้เป็นลูกมือ-ลูกตีนกัดกร่อน-บ่อนทำลาย ด้วยการ "มอมเมา" สังคมไทยที่แต่เดิมเป็นสังคมจิตใจ ให้กลายเป็นสังคมบ้าเงิน ตั้งแต่สูงสุด ยันต่ำสุด ไล่ลงมา นายกฯ คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ครูบาอาจารย์ พระ เถน เณร ชี ชาวบ้าน ไม่มีเว้น เพื่อยึดไทยเป็นประเทศใต้อาณัติ สำหรับปฏิบัติการในภูมิภาคนี้ สู่ "โลกบาล"!
"สถาบัน" น่ะ มันไม่ต้องการล้ม แต่มันต้องการ "ยึดครอง" ใช้เป็นกระดองให้มัน ผ่านปฏิบัติการ "ระบอบทักษิณ".

 

จากบทความข้างบน เป็นการยืนยันว่าความคิดของผมและเพื่อนๆ ถูกต้อง ที่ร่วมกันจัดตั้ง มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ เพื่อเป็นเวทีให้คนไทยเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาสังคมที่อ่อนแอ สังคมที่ตกเป็นทาสระบบทุนนิยม ให้กลับมาเป็นสังคมที่เข้มแข็ง ไม่ตกเป็นทาสของระบบทุนนิยม โดยการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการปฎิรูปความคิดของคนไทย เพื่อนำไปสู่การปฎิบัติอย่างแท้จริง ทำให้ประชากรไทยหลุดพ้น จากสังคมเศรษฐกิจทุนนิยม เป็นสังคมเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์เป็นมูลนิธิของคนไทย เพื่อคนไทย จึงขอเชิญชวนคนไทยทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสร้างคุณค่าให้กับคนไทยทุกคน มาช่วยกันร่วมแรงร่วมใจเพิ่มคุณค่าของคน พัฒนาคนไทยให้เป็นคนที่มีคุณภาพ เป็นคนดี คนเก่ง มีสติปัญญารู้เท่าทัน มีจิตสาธารณะ มีความรัก ความสามัคคี เสียสละ เห็นประโยชน์ของส่วนรวม สังคม และประเทศชาติมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม พัฒนาและให้การสนับสนุนส่งเสริมคนที่เคยเป็นภาระต่อสังคมให้เป็นคนที่มีคุณภาพช่วยตัวเองได้และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคม สนใจติดต่อสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น โดยส่ง e-mail  แจ้งชื่อ นามสกุล e-mail address และเบอร์โทรศัพท์ มาที่ e-mail address : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน หลังจากนั้น ผมจะจัดส่งแบบฟอร์มการตอบรับเข้าร่วมเป็นสมาชิก ไปให้ท่านกรอกและส่งกลับมาเพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป สามารถ เข้าไปดูรายละเอียดของมูลนิธิได้ตามเอกสารในเวปไซด์ www.thaiihdc.org สำหรับท่านที่เข้ามาในเวปไซด์นี้อยู่แล้วโปรดเข้าไปกดหารายละเอียดได้ใน MENU ด้านซ้ายมือ


ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

28 ตุลาคม 2556


 

แสดงความคิดเห็นในบทความของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช" มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๙. ระบบนิเวศเพื่อพัฒนาระบบอุดมศึกษา"

พิมพ์ PDF

ผมได้อ่านบทความของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช หัวข้อ "

มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๙. ระบบนิเวศเพื่อพัฒนาระบบอุดมศึกษา

(อ่านรายละเอียดบทความของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ทั้งหมดได้ข้างล่าง)

เรียนอาจารย์วิจารณ์ พานิช ที่เคารพ

ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงที่ให้โอกาสผมได้พบเพื่อเรียนเสนอเรื่องมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์   เมื่ออ่านบทความฉบับนี้ของอาจารย์ ทำให้ผมชัดเจนยิ่งขึ้นว่า มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ มีจุดประสงค์ในการดำเนินการเช่นเดียวกับ "UnLTD" และ "NACUE"

" อีกหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของสังคม รวมทั้งของระบบอุดมศึกษา คือ UnLtd ทำหน้าที่สร้างระบบนิเวศของการทำธุรกิจ หรือเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม ให้แก่ประเทศ    ไม่ใช่จำกัดเฉพาะ ในอุดมศึกษา    เป็นการทำหน้าที่ขับเคลื่อนกระแส “เพื่อสังคม” ต่อสู้กับกระแส “เพื่อกู” ในสังคมทุนนิยม บริโภคนิยม

และอีกหน่วยงานหนึ่ง คือ NACUE ทำหน้าที่พัฒนาระบบนิเวศของการเป็นผู้ประกอบการ ในหมู่นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ "

" ผมเกิดความคิดว่า ที่ไปเห็นนั้น เป็น change management หรือ change governance  เชิงระบบ ของประเทศ    เพื่อการพัฒนาอุดมศึกษาหลากหลายด้าน    ที่เป็น complex management    มองมุมหนึ่ง เป็น advocacy หรือการสร้างกระแส    โดยภาครัฐและภาคการกุศลสนับสนุนให้เกิดองค์กรสร้างกระแส ในทิศทางที่ต้องการ    ผมรู้สึกว่าประเทศไทยเราไม่มีวิธีคิดแบบนี้    ภาครัฐของเราคิดทำเอง คิดกำหนดรายละเอียดแล้วออกกฎหมาย หรือข้อบังคับให้ถือปฏิบัติ    แล้วก็บ่นว่ามีคนเบี้ยวไม่ทำตาม    โดยไม่คิดว่า กฎหมายหรือข้อบังคับที่ออกไป มันไม่ซับซ้อนพอ    ยิ่งเขียนข้อบังคับละเอียด ก็ยิ่งมีช่องโหว่    ดังที่เห็นๆ กันอยู่ "

ที่อาจารย์วิจารณ์ กล่าวว่า "ผมรู้สึกว่าประเทศไทยเราไม่มีวิธีคิดแบบนี้" ผมเห็นด้วยแต่ไม่ทั้งหมดอย่างน้อยๆก็มีผมคนหนึ่งที่คิด และเพื่อนๆอีกหลายคน เราจึงร่วมกันจัดตั้งมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนกระแส "เพื่อสังคม" ต่อสู้กับกระแส "เพื่อกู" ในสังคมทุนนิยม บริโภคนิยม โดยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการ พัฒนาคนที่มีคุณค่า พัฒนาระบบนิเวศของการเป็นผู้ประกอบการ รุ่นใหม่ ผมเชื่อว่ามีคนไทยเป็นจำนวนมากที่คิดเพียงแต่ขาดโอกาสในการทำ ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง ประเทศชาติ  หรือสถาบันการศึกษาอาจไม่ได้คิดหรือไม่สนใจดำเนินการ แต่ผมเชื่อว่าอาจารย์วิจารณ์ คิดและอยากให้ประเทศไทยมีหน่วยงานเช่น UnLtd หรือ NACUE ก็ไม่ทราบว่าอาจารย์มีการดำเนินการอะไรไปบ้างแล้ว หรือมีผู้บริหารท่านใดได้ดำเนินการทำแล้วแต่ยังไม่เป็นที่เปิดเผย อย่างน้อยๆวันนี้ผมขอนำเสนอ "มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์" เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องการดำเนินการตาม UnLtd และ NACUE ถึงแม้นผมและเพื่อนๆจะเป็นแค่หนูตัวเล็กๆแต่บังอาจไปคิดการใหญ่แทนราชสีห์ ทั้งๆที่รู้ว่าเป็นงานใหญ่และยาก แต่ก็มีความตั้งใจที่จะทำเพื่อประเทศชาติ เพื่อคนไทยในอนาคต ส่วนจะทำได้แค่ไหน ก็อยู่ที่จิตสำนึกของคนไทยทั้งประเทศ

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผมจึงเรียนเชิญท่านอาจารย์ให้การสนับสนุนมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ทั้งๆที่ทราบว่าท่านมีสุขภาพไม่ค่อยดี และรับงานไว้มากหลายแห่ง และได้ปฎิเสธงานอีกหลายๆแห่ง จึงไม่สามารถรับคำเชิญของผมได้ เพราะเกรงว่าหน่วยงานอื่นที่อาจารย์เคยปฎิเสธจะว่าได้ จึงขอความกรุณาอาจารย์ วิจารณ์ พานิช โปรดพิจารณาคำเชิญของผมอีกสักครั้ง อย่างน้อยๆก็เป็นกำลังใจและให้การสนับสนุนหนูตัวเล็กๆได้ทำงานใหญ่เพื่อประเทศชาติ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

26 ตุลาคม 2556

บทความของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

ระหว่างนั่งฟังการนำเสนอเรื่อง UKPSF and the Continuing Professional Development Programme in the UK โดย Dr. Jeanne Keay, Assistant Director and Head of International Strategy, HEA เมื่อวันที่ ๙ ก.ย. ๕๖   ผมเกิดความคิดขึ้นว่า    วิธีการที่ HEA ดำเนินการอยู่ เป็นวิธีจัดการการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ของระบบอุดมศึกษาของอังกฤษ    เพื่อให้ระบบอุดมศึกษามีคุณค่าต่อบ้านเมืองมากขึ้น

ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา มีการบ่นกันทั่วโลก ว่าวงการอุดมศึกษาเน้นส่งเสริมการวิจัย และทอดทิ้ง การเรียนการสอน  หรือทอดทิ้งนักศึกษา    เราไปพบว่า ที่อังกฤษเขาไม่บ่นกันเฉยๆ แต่คิดหากลไกสร้างการ เปลี่ยนแปลงด้วย   และกลไกระดับสถาบันก็คือ Higher Education Academy (HEA)

ผมตีความว่า HEA ทำหน้าที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ โดยการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ ของอุดมศึกษา    ทำให้สภาพแวดล้อมเอื้อให้อาจารย์เอาใจใส่การเรียนการสอนมากขึ้น

วิธีเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของอุดมศึกษาประเทศอังกฤษโดย HEA ทำโดยการสร้างความรู้   นี่คือการตีความของผม    สร้างความรู้เกี่ยวกับทักษะและความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้    และแยกแยะจัดระดับ ออกเป็น ๔ ระดับ   ที่เรียกว่า Higher EducationFellowship   โดย ๔ ระดับคือ Associate Fellow, Fellow, Senior Fellow, และ Principal Fellow   เป็นการสร้างและเผยแพร่เรื่องราวของทักษะการเป็นอาจารย์ในศตวรรษที่ ๒๑ นั่นเอง

อีกหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของสังคม รวมทั้งของระบบอุดมศึกษา คือ UnLtd ทำหน้าที่สร้างระบบนิเวศของการทำธุรกิจ หรือเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม ให้แก่ประเทศ    ไม่ใช่จำกัดเฉพาะ ในอุดมศึกษา    เป็นการทำหน้าที่ขับเคลื่อนกระแส “เพื่อสังคม” ต่อสู้กับกระแส “เพื่อกู” ในสังคมทุนนิยม บริโภคนิยม

และอีกหน่วยงานหนึ่ง คือ NACUE ทำหน้าที่พัฒนาระบบนิเวศของการเป็นผู้ประกอบการ ในหมู่นักศึกษา และคนรุ่นใหม่

เราไปเห็นระบบนิเวศเพื่อการแข่งขัน (Ranking) ต่างลู่ต่างจุดเด่น    โดยสังเกตทางอ้อม    เช่น มหาวิทยาลัย แอสตัน (ที่เบอร์มิงแฮม) บอกว่า เขาเด่นกว่ามหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด ในด้านการมีงานทำ (employability) ของบัณฑิต    โดยอ้างคำของ SundayTimes University Guide 2013 ว่า “Aston turns out some of the most sought after graduates in Britain – putting the likes of Oxford in the shade”

มหาวิทยาลัย นอร์ธแทมตัน บอกว่าเขาต้องการเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ ๑ ในสหราชอาณาจักร ด้าน social enterprise ภายในปี ค.ศ. 2015   โดยอธิการบดีประกาศให้ทั้งมหาวิทยาลัยเป็น social enterprise   แล้วใช้จุดเด่นด้าน social enterprise สร้างความคึกคักด้านอื่นๆ    เพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน

ผมเกิดความคิดว่า ที่ไปเห็นนั้น เป็น change management หรือ change governance  เชิงระบบ ของประเทศ    เพื่อการพัฒนาอุดมศึกษาหลากหลายด้าน    ที่เป็น complex management    มองมุมหนึ่ง เป็น advocacy หรือการสร้างกระแส    โดยภาครัฐและภาคการกุศลสนับสนุนให้เกิดองค์กรสร้างกระแส ในทิศทางที่ต้องการ    ผมรู้สึกว่าประเทศไทยเราไม่มีวิธีคิดแบบนี้    ภาครัฐของเราคิดทำเอง คิดกำหนดรายละเอียดแล้วออกกฎหมาย หรือข้อบังคับให้ถือปฏิบัติ    แล้วก็บ่นว่ามีคนเบี้ยวไม่ทำตาม    โดยไม่คิดว่า กฎหมายหรือข้อบังคับที่ออกไป มันไม่ซับซ้อนพอ    ยิ่งเขียนข้อบังคับละเอียด ก็ยิ่งมีช่องโหว่    ดังที่เห็นๆ กันอยู่

ผมคิดว่าระบบอุดมศึกษาไทยติดกับดักความเป็นสังคมแนวดิ่ง    เน้นการใช้อำนาจควบคุมสั่งการ (command and control) ซึ่งหมดยุคที่จะใช้ได้ผลแล้ว    เนื่องจากสังคมมันซับซ้อนเกินกว่าจะควบคุมสั่งการได้    วิธีที่ไปเห็นที่อังกฤษน่าจะได้ผลมากกว่า ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ต้องการ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2013 เวลา 12:25 น.
 


หน้า 429 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5609
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8628191

facebook

Twitter


บทความเก่า