Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๘. การให้อภัย (๑) ความเคารพให้เกียรติ และความเชื่อถือไว้วางใจ

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๙ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People : Progressive Parenting for the 21stCentury เขียนโดย Annie Fox, M.Ed. 

ตอนที่ ๘ นี้ ตีความจากบทที่ ๔ How About Letting It Go Already? Releasing Shame, Regret and Contemp   โดยที่ในบทที่ ๔มี ๔ ตอน   ในบันทึกที่ ๘จะตีความตอนที่ ๑ และ ๒     ในบันทึกที่๙จะเป็นการตีความตอนที่ ๓ และ ๔

ทั้งบทที่ ๔ ของหนังสือ เป็นเรื่องการฝึกลูก/ศิษย์ ให้รู้จักให้อภัย   ทั้งให้อภัยตนเอง และให้อภัยผู้อื่น   ไม่ถือเอาความผิดพลาดมาเป็นอารมณ์ที่กัดกร่อนจิตใจ   แต่ถือเป็นการเรียนรู้

ตอนที่ ๑ เป็นเรื่องฉันทำผิดเสียแล้ว เล่าเรื่องของตัวผู้เขียนเอง ในสมัยเป็นนักเรียน ได้ทำโครงงานร่วมกับเพื่อนคนหนึ่ง เป็นเวลา ๑ ปี   ผลงานออกมาดี แต่ผลด้านมิตรภาพย่อยยับ    คือตนไม่พูดกับเพื่อนคนนั้นอีกเลย

และจริงๆ แล้วผู้เขียนไม่ใช่ทำผิดเรื่องนี้เรื่องเดียว    แต่ในช่วง ๑ ปีนั้น และอีก ๒ ปีต่อมา    ผู้เขียนได้ระเบิดอารมณ์ในที่ต่างๆ และต่อบุคคลต่างๆ อีกนับไม่ถ้วน    ที่ได้ตามหลอกหลอนผู้เขียน ที่ได้ทำความยุ่งยากให้แก่ผู้คนจำนวนมากมาย    จนถึงจุดหนึ่ง ผู้เขียนก็เข้าใจ …. ที่จะให้อภัยตนเอง    ลืมเรื่องร้ายเหล่านั้นเสีย   เหลือไว้เฉพาะบทเรียน สำหรับสอนตน และสอนลูก/ศิษย์

ว่าเมื่อเกิดความรู้สึกคับข้องใจ ที่มีคนสร้างความไม่พอใจแก่ตน   ให้หายใจลึกๆ หลายๆ ครั้ง    แล้วถามตัวเองด้วยสี่คำถาม

  • เกิดอะไรขึ้น   ตอบด้วยข้อเท็จจริงเท่านั้น   ไม่มีการตีความ
  • การตอบสนองของเรา ก่อผลอะไรต่อสถานการณ์นั้น
  • ฉันจะพูด หรือเขียน เพื่อสื่อสารกับบุคคลผู้นั้น ว่าอย่างไร (ที่สะท้อนวุฒิภาวะ และจริยธรรม)
  • หากเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันอีก ฉันจะประพฤติตนแตกต่างจากที่เกิดขึ้นแล้วอย่างไรบ้าง

 

ข้อความในย่อหน้าบน ทำให้ผมนึกถึงกระบวนการ AAR หรือ self-reflection และได้ตระหนักว่า AAR ช่วยเปลี่ยนเรื่องร้าย (ความรู้สึกผิด ที่เกาะกินใจ)  ให้กลายเป็นดี (การเรียนรู้จากสถานการณ์จริง) ได้

 

คำถามของหนุ่ม ๑๑ เพื่อนที่ดีที่สุดในโลกของผม เอาใจออกห่างไปมีเพื่อนใหม่   และไม่ยอมไปเที่ยวกับผมอีก   ไม่ยอมนั่งใกล้ผมตอนกินอาหารเที่ยง   และทำท่าไม่อยากพูดกับผม   เขาแสดงท่าทีว่าเขาทิ้งผมแล้ว   ผมกลับบ้านด้วยความช้ำใจทุกวัน”

คำตอบของผู้เขียน “เขาไม่ใช่เพื่อนที่ดีที่สุดในโลก   เขาอาจจะเป็นในอดีต แต่ไม่ใช่ในเวลานี้   เพื่อนที่ดีไม่ปฏิบัติต่อเพื่อนอย่างที่เธอเล่า   เธอเคยบอกความรู้สึกของเธอกับเขาหรือยัง   ถ้ายังก็น่าหาโอกาสบอก    แต่ก็อย่าหวังมาก ว่าเขาจะกลับมาเป็นอย่างเดิม   สิ่งที่เธอต้องทำในเวลานี้คือ บอกตัวเอง ว่า ‘ฉันเป็นคนมีเกียรติ   และควรได้รับการให้เกียรติจากคนอื่น   แต่เพื่อนคนนี้ไม่ให้เกียรติแก่ฉันอย่างที่เพื่อนควรให้เกียรติแก่กัน   ฉันจะไม่ยอมให้เขา หรือใครก็ตามมาทำให้ฉันรู้สึกต่ำต้อย   ฉันจะไม่รู้สึกเสียใจอีกต่อไป   ฉันจะปล่อยเขาไป   เขามีสิทธิที่จะมีเพื่อนใหม่   และฉันก็มีสิทธิเหมือนกัน’”

 

ตอนที่ ๒ เป็นเรื่อง ความเชื่อถือไว้วางใจ (trust)   ที่คนเราทุกคนต้องการจากคนอื่น   และลูก/ศิษย์ ก็ต้องการจากเรา และจากเพื่อนของเขา    คนที่ไม่ได้รับความไว้วางใจ หรือเคยได้รับ แล้วเกิดเหตุการณ์ที่ผู้อื่นหมดความเชื่อถือไว้วางใจ จะรู้สึกเป็นทุกข์    เด็กวัยรุ่นจะมีปัญหานี้มากเป็นพิเศษ   เด็กมักจะคร่ำครวญว่า ตนไม่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากพ่อแม่ หรือจากเพื่อน เสียแล้ว

เด็กควรได้รับคำแนะนำให้ตระหนักว่า ความเชื่อถือไว้วางใจเป็นสิ่งมีค่ายิ่ง แต่มีความเปราะบาง   แตกหักหรือฉีกขาดได้ง่าย    และเมื่อเสียหายไปแล้ว ทำให้กลับมาคืนดีได้ยาก   ทุกคนควรระมัดระวัง ไม่ทำลายความน่าเชื่อถือไว้วางใจของตน   คนเราต้องรู้จักวิธีปกปักรักษาสิ่งนี้

เด็กต้องการเพื่อน เอาไว้ปรับทุกข์ ระบายความรู้สึกบางอย่าง   และในกระบวนการนั้น บางครั้งก็บอกความลับแก่เพื่อน   ด้วยความหวังว่าเพื่อนจะรักษาความลับได้    แต่เพื่อนบางคนปากโป้ง อดเอาไปขยายต่อไม่ได้    ก็จะเกิดกรณีขัดใจกัน และหมดความเชื่อถือไว้วางใจ

พ่อแม่/ครู ต้องฝึกความน่าเชื่อถือไว้วางใจให้แก่ลูก/ศิษย์ ทั้งโดยการสนทนาทำความเข้าใจจากเหตุการณ์ในชีวิตจริงของเด็ก   และโดยการประพฤติตนเป็นตัวอย่าง    เช่นการตรงเวลานัด   การปฏิบัติตามสัญญา เป็นต้น

 

คำถามของครูของลูก “ภรรยาของผมค้นห้องของลูก   (ลูกชายอายุ ๑๗  ลูกสาวอายุ ๑๕)   พบยานอนหลับที่ซื้อได้ตามร้าน ในห้องลูกสาว    ลูกชายฝึกมวยปล้ำ และพบ ไนอาซิน แคปซูล และยาระบายท้อง    ลูกชายเคยมีปัญหาสูบกัญชาที่บ้านหลายครั้ง    จะทำอย่างไรดี   ตนคิดว่าต้องเผชิญหน้ากับลูกทั้งสอง   ซึ่งก็หมายความว่าต้องบอกเขาว่า เราค้นห้องเขา    และทำให้เขาหาที่ซ่อนใหม่”

คำตอบของผู้เขียน “นี่คือเรื่องการทำหน้าที่พ่อแม่อย่างมีความรับผิดชอบ    ซึ่งมีจุดสำคัญ ๒ ประเด็นคือ (๑) ความปลอดภัยของลูก   (๒) เพื่อสอนลูกเป็นคนดี    เรื่องการเสพหรือใช้ยาเป็นสิ่งอันตรายยิ่งของวัยรุ่น   พ่อแม่ไม่ต้องขอโทษลูกเลย ในการทำหน้าที่เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของลูก   ในสหรัฐอเมริกา การใช้ยาที่ซื้อได้จากร้าน โดยใช้อย่างผิดๆ เป็นเรื่องดาษดื่นมาก และมีอันตรายมากกว่าที่คิด   ยาไนอาซิน (วิตามิน บี ๓) เป็นยาที่วัยรุ่นเชื่อกันว่า เมื่อกินแล้วจะทำให้ตรวจจับยาเสพติดไม่พบ (ซึ่งไม่จริง)   และยานี้กินมากๆ เป็นอันตราย   การเสพยาเสพติดเป็นเรื่องทำลายอนาคตของเด็ก   พ่อแม่ต้องร่วมมือกันป้องกัน   และเด็กมักเสพเป็นแก๊ง โดยช่วยเหลือกันแนะนำชักชวนหรือหายามาให้แก่กัน   คุณควรสอบหาว่ามีเพื่อนคนไหนบ้างของลูกที่เกี่ยวข้อง    และโทรศัพท์ไปแจ้งเรื่องนี้แก่เขา    โดยถือหลักว่า พ่อแม่ต้องช่วยเหลือกัน ในการปกป้องคุ้มครองลูก จากความชั่วร้ายต่างๆ   รวมทั้งจากความประพฤติไม่ดีของตัวลูกเอง

บอกลูกตรงๆ ว่า การใช้ยาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้   เพราะเป็นอันตรายต่ออนาคตของตัวลูกเอง   ควรร่วมกับลูก ค้นอินเทอร์เน็ต ศึกษาว่ายาแต่ละชนิดที่ลูกใช้ มีอันตรายอย่างไร   บอกลูกว่า เหตุการณ์นี้ทำให้พ่อแม่หมดความเชื่อถือลูกอย่างไร   และลูกต้องทำอย่างไร เพื่อฟื้นความน่าเชื่อถือของตน   โดยให้เวลาระยะเวลาหนึ่ง สำหรับให้ลูกพิสูจน์ความน่าเชื่อถือของตน”

 

ข้อคิดเพิ่มเติมของผมคือ พ่อแม่ต้องแสดงให้ลูกเข้าใจว่า   ทั้งหมดที่พ่อแม่ทำนั้น ไม่ใช่ทำเพราะอารมณ์วู่วาม   ไม่ได้ทำเพื่อตนเอง   แต่ทำเพื่ออนาคตของตัวลูกเอง    และเป็นการทำหน้าที่พ่อแม่ที่รักลูก และห่วงใยอนาคตของลูก

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๗ มี.ค. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 23 ตุลาคม 2013 เวลา 10:39 น.
 

จริงหรือไม่ คนไทยโอ้อวด ขี้อวด ลืมตัว ตอนที่ ๑/๒

พิมพ์ PDF

อุปนิสัยของคนไทยด้านการโอ้อวด ขี้อวด ลืมตัว ตอนที่ ๑/๒

วาทิน ศานติ สันติ

บทนำ

มนุษย์มีความจำเป็นจะต้องอยู่รวมกลุ่มกัน เป็นพวก และมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ตั้งแต่สังคมระดับหน่วยเล็ก ไปจนถึงหน่วยใหญ่ และมีการทับซ้อนกันของสังคม ผู้ที่เข้ามารวมกลุ่มมีมากมายหลายประเภท ในการรวมกลุ่มกันจะมีบุคคลที่มีความชอบและความเชื่อที่คล้าย ๆ กัน เช่น เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ระบบความเชื่อ ทัศนคติ การดำเนินชีวิต ทำให้มนุษย์มีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน แม้จะอยู่กระจายกันก็ตาม แต่กระนั้นมนุษย์ก็ล้วนแต่มีความเป็นปัจเจกบุคคล มีความคิด ความรู้สึก ความเชื่อ วิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นแบบอย่างของตนเอง ปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างนี้มีมากมายเช่น การเลี้ยงดูของผู้ปกครอง การอบรมสั่งสอนที่โรงเรียน การขัดเกลาทางสังคม เพื่อน สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ฯลฯ ทำให้เกิดเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ปัจจุบันกลุ่มของสังคมไทยได้จัดเข้ากลุ่มใหญ่ ๆ ๓ กลุ่มคือ กลุ่มชนชั้นสูง กลุ่มชนชั้นกลาง และชนชั้นต่ำโดยมีอำนาจทางเศรษฐกิจที่เข้ามาเป็นตัวกำหนด ทำให้มีการศึกษาที่แตกต่างกัน อำนาจในการพัฒนาและการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ต่างกัน ความก้าวหน้าในรูปแบบต่าง ๆ นำไปสู่การจัดระเบียบทางสังคมใหม่ ดังนั้นกลุ่มทางสังคมที่ได้รับการพัฒนาใหม่นี้จึงถูกแบ่งเป็น กลุ่มผู้ที่มีการศึกษา และกลุ่มผู้ไม่มีการศึกษา (ผจงจิตต์ อธิคมนันทะ. ๒๕๔๓ : ๒๗)

บ่อยครั้งที่คนมีการศึกษาโอ้อวด ขี้อวด ในวิชาความรู้ที่ตนมี ใช้ความรู้นั้นดูถูกและรักแกคนที่มีความรู้น้อยกว่า หาผลประโยชน์ทางมิชอบจากความรู้ที่ตนมี เช่นการคดโกง หาผลประโยชน์ใส่ตน การโอ้อวด ขี้อวดในบางครั้งก็เกิดจากการที่ตนมีความรู้น้อยแล้วพูดจาอวดอ้างแสดงคุณสมบัติที่ไม่เป็นความจริง เราจึงหมายรวมบุคคลทั้งสองประเภทนี้ได้ว่าคนลืมตัว

บทความนี้จะแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของคนไทยในด้านการโอ้อวด ขี้อวด และลืมตัวในเชิงลักษณะนิสัยที่ติดอยู่ในภาษาไทยในรูปของ สำนวน สุภาษิต คำพังเพย

 

เอกลักษณ์ของคนไทยในด้านการโอ้อวด ขี้อวด และลืมตัว

ผจงจิตต์ อธิคมนันทะ (๒๕๔๓ : ๔๕) ได้ให้ความหมาย ของเอกลักษณ์ว่าลักษณะเด่นที่มีและเป็นอยู่เฉพาะหมู่ กลุ่มสังคมหรือชาติใด ที่ชี้ถึงความเป็นตัวเอง เป็นไปอย่างมีระบบ ระเบียบแบบแผนอันเกิดจากปฏิบัติกันมา สั่งสมปรับปรุงสืบทอด จนกลายเป็นคุณค่าที่ยอมรับ เป็นความภาคภูมิใจของกลุ่มนั้น ๆ จึงเกิดเป็นเอกภาพ ความมั่นคงเป็นปึกแผ่นรู้จักรักษาและทำให้เจริญรุ่งเรือง แต่กระนั้น คำว่าเอกลักษณ์ไม่ได้แสดงถึงลักษณะเด่นในทางด้านบวกเสมอไป หมายรวมถึงลักษณ์เด่นในทางด้านลบด้วย

ประเสริฐ แย้มกลิ่นฟุ้ง ได้กล่าวถึงลักษณะนิสัยของคนที่ซึ่งทำให้คนไทยมีลักษณะนิสัย โอ้อวด ขี้อวด และลืมตัวไว้ดังนี้ คือในด้านความเป็นปัจเจกบุคคลว่า เป็นการย้ำและให้คุณค่าการเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งมีอิทธิพลมาจากพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท โดยที่พุทธศาสนาให้มีความพอใจและเชื่อมั่นในตนเอง รู้จักหาความสุขจากตนและพึ่งพาตนเอง เช่นตนเป็นที่พึ่งแห่งตน โดยปกติคนไทยไม่ชอบให้ใครมายุ่งเกี่ยว กับเรื่องส่วนตัวของตน ไม่ต้องการบังคับจิตใจผู้อื่น ทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียม (ดูใน ผจงจิตต์ อธิคมนันทะ. ๒๕๔๓ : ๕๔) การเน้นย้ำให้เห็นคุณค่าของตนเอง และการเชื่อมั่นในตนเองนั้นหากอยู่ในอำนาจของจิตใจด้านลบ อาจนำไปสู่การโอ้อวดตนเองได้

อีกลักษณะนิสัยหนึ่งคือ ความนิยมความโอ่อ่า นิสัยนี้เกิดจากการเชื่อมั่นและเกิดจากหยิ่งในเกียรติ์ แม้ว่าภายนอกจะดูฐานะต่ำ แต่ในใจไม่ยอมรับว่าตนเองต้อยต่ำ ถือว่าตนเองมีความสามารถเท่าเทียมคนอื่น ไม่ยอมให้ใครดูถูก จึงแสดงนิสัยด้วยการแสดงความโออ่า เพื่อให้เกิดการยอมรับ ชอบมีตำแหน่งที่ให้ได้อำนาจและได้รับเกียรติ ชอบการแสดงเป็นคนมีหน้าใหญ่ใจโต ชอบการยกยอจากผู้อื่น (ดูใน ผจงจิตต์ อธิคมนันทะ. ๒๕๔๓ : ๕๔)

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ (๒๕๔๖ : ๓๐ - ๔๑) กล่าวถึงลักษณะนิสัยของคนไทย ว่า ไม่รู้จักประมาณตนเอง ต้องการมีหน้ามีตา พยายามรักษาหน้าตาและชื่อเสียงเกียรติยศ เข้าทำนองว่าหน้าใหญ่ใจโต ไม่ต้องการให้เสียหน้า หรือทำอะไรโดยไม่คำนึงถึงฐานะของตน “ชิบหายไม่ว่าขออย่าให้ข้าเสียหน้า” , “ชิบหายไม่ว่าต้องการชื่อเสียง” ผลลัพธ์คือ คนไทยเป็นหนี้มากขึ้นและยิ่งจนลง ลักษณะ “จมไม่ลง”

อานนท์ อาภาภิรม (๒๕๑๙ : ๒๓ - ๒๔) ได้กล่าวถึงค่านิยมในเรื่องความหรูหราว่า คนไทยมักนิยมการปฏิบัติตนที่แสดงของของความหรูหรา หรือเพื่อบ่งบอกสถานภาพทางสังคมของตนว่า เป็นคนชั้นสูง เป็นคนมีเงิน เช่นนิยมการแต่งการหรูหรา การจัดงานใหญ่โต ที่แสดงออกถึงความหรูหรา หรือความโก้เก๋ การแข่งกันแต่งกายว่าใครจะหรูหรากว่ากัน บางรายถึงกับกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาจัดงานก็มี การใช้จ่ายเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ซึ่งปัจจุบันนี้เราเห็นว่าผู้คนมากมายก็ยังมีค่านิยมเรื่องความโก้หรู ความรูหรา และการใช้สิ่งของฟุ่มเฟย เช่นใช้โทรศัพท์ราคาหลายหมื่นบาท ทั้ง ๆ ที่ใช้ประโยชน์จากโปรแกรมต่าง ๆ ได้ไม่ครบถ้วน การใช้รถยนต์ส่วนตัวราคาแพง หรือการแต่งกายด้วยสินค้ายี่ห้อดงจากต่างประเทศ ซึ่งราคาแพงมหาศาล ลักษณะนี้จึงเป็นลักษณะของการโอ้อวดอีกอย่างหนึ่ง เป็นการไม่ประมาณตนเอง

จาการที่คนในสังคมไทยมีนิสัยที่ชอบยกย่องผู้มีความรู้ เพราะเชื่อว่าคนมีความรู้ จะเป็นผู้รอบรู้และหน้าเชื่อถือ บุคคลจึงต้องหาความรู้มาเลื่อนฐานะของตนเอง เพราะการมีความรู้หมายถึงการทำงานที่มีเกียรติมีตำแหน่งดีขึ้น อันที่จริงผู้รู้นั้นมีทั้งที่ผู้รู้จริงและรู้ไม่จริง ผู้ที่รู้จริงก็ดีไป แต่ผู้ที่รู้ไม่จริงก็คือผู้ที่รู้ไม่ลึกซึ้งแต่ก็ทำเป็นรู้ เพื่อตำแหน่ง ลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นการทำให้เสียงาน ผมที่ได้กลายเป็นไม่ดีสักอย่าง เป็นการหลอกตัวเองและหลอกคนอื่น (สุพัตรา สุภาพ. ๒๕๓๔ : ๑๔) ลักษณะนี้จึงเข้ากับความหมายของคนที่ชอบโอ้อวด อวดอ้าง และเป็นการลืมตัวในที่สุด

อีกลักษณะนิสัยหนึ่งของคนไทยที่เอามาพิจารณาประกอบคือ การไม่เห็นเห็นใครเหนือกว่า ซึ่งสอดคล้องกับคำพังเพยที่ว่า “เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ ฉะนั้นใครดีกว่าใคร อีกฝ่ายที่ดีไม่เท่าจะไม่พอใจและหาทางว่ากล่าวหรือกลั่นแกล้งเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือไม่ก็โอ้อวดตนเอง (สุพัตรา สุภาพ. ๒๕๓๔ : ๒๘)

จากลักษณะนิสัยที่กล่าวไป ทำให้คนไทยในระดับชาวบ้านค่อนข้างมีอิสระทางความคิด สามารถวิภาษและวิจารณ์ผู้อื่นที่อยู่ในระดับต่ำกว่า หรืออยู่ในระดับเดียวกัน ดังนั้น นิสัย โอ้อวด ขี้อวด และลืมตัวจึงเกิดขึ้น บทความนี้จะขอแยกประเด็นเป็นสองประเด็นคือ ๑) การโอ้อวด ขี้อวด และการลืมตัว ๒)ให้คนรู้จักเจียมตัว ไม่โอ้อวด มุ่งการสอนหรือการเตือน

๑. การโอ้อวด ขี้อวด และการลืมตัว

คางคกขึ้นวอ

ความหมาย : คนที่มีฐานะต้อยต่ำพอได้ดิบได้ดีมักแสดงกริยาอวดดีลืมตัว (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๒. ๒๔๔) และ คนชั้นต่ำที่ไม่เคยมีเคยได้สิ่งที่เกินคาดหมายแล้วมามีได้ขึ้น เป็นกริยาที่เห็นว่าตื่นเห่อต่าง ๆ (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๑๑๖) เป็นการเปลี่ยนเทียบกริยาของคนที่มีนิสัยพอได้ดีมักแสดงกริยาอวดดีลืมตัวกับคางคก ที่ลักษณะประจำของคางคกมักจะเชิดหัวชูคางเวลาที่เกิดอะไรขึ้นกันมัน โดยมีเรื่องเล่าว่า คางคกตัวหนึ่งได้ตามเสด็จพระราชาโดยพระองค์ทรงเมตตานั่งบนวอพระที่นั่งด้วย ครั้นเทื่อกลับมายังหมู่บ้านของคางคก คางคกก็ยังเชิดหัวชูคอทำท่าเหมือนยังนั่งอยู่บนวอของพระราชา (ดนัย เมธิตานนท์. ๒๕๔๘ : ๑๙)  ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับสำนวนไทยเช่น กิ่งก่าได้ทอง และ วัวลืมตีน เป็นต้น ดั่งปรากฏในโคลงสำนวนสุภาษิตไทยดังนี้

“ขี้ค่าโชคเข้าช่วย                 ถูกหวย

ยากจกโชคอำนวย                               ลาภให้

อวดหยิ่งนึกว่ารวย                                ลืมโคตรตนเอง

คางคกขึ้นวอได้                                    เชิดหน้าชูคอ” (สุทธิ ภิบาลแทน. ๒๕๔๕ : ๖๖)

กิ้งก่าได้ทอง

ความหมาย : เย้อหยิ่งเพราะได้ดีหรือมีทรัพย์เล็กน้อย (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๒๒ : ๕๔) เป็นการกล่าวถึงบุคคนที่เย้อหยิ่งจองหองลำพองตนโดยใช้ในการติเตียนคนที่คิดว่าตนดีกว่าคนอื่น หรือบุคคลที่ได้ดีแล้วลืมนึกถึงบุญคุณของผู้อุปการะ เป็นสำนวนที่มาจากนิทานชาดกเรื่อง มโหสถชาดกกล่าวถึงกิ้งก่าตัวหนึ่งที่อาศัยประตูพระราชอุทยานของพระราชาพระองค์หนึ่ง เมื่อพระราชาเสด็จมาเจ้ากิ้งก่าก็จะลงมาถวายคำนับมิได้ขาด พระราชาจึงพระราชทานสร้อยทองให้กิ้งก่า ภายหลังพระราชาเสด็จมาอีกครั้ง เจ้ากิ้งก่าก็ไม่ยอมลงมาถวายคำนับ พระราชาจึงตรัสว่า ที่กิ้งก่ากำเริบเย่อหยิ่งก็เพราะถือตัวว่ามีทองผูกคอเพียงเล็กน้อยเลยเอาทองออกเสียและไม่พระราชทานอะไรอีกต่อไป (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๒๙ – ๓๐) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้พระราชนิพนธ์เรื่องไชยเชษฐ์ที่แสดงถึงสำนวนนี้ไว้ดังนี้

“เมื่อนั้น                            พระไชยเชษฐ์เคืองแค้นแสนศัลย์

งุ่นง่านดาลเดือดดุดัน                          ขบฟันเกรี้ยวกราดตวาดไป

เหม่อีขี้ข้าหน้าเป็น                              มาเยอะเย้ยกูเล่นหรือไฉน

กูขับเมียกูเสียก็เพราะใคร                      พวกมึงหรือมิใช่มายุยง

มึงอย่าพักชมชื่นรื่นรวย                        ชีวิตมึงจะม้วยเป็นผุยผง

แม้ตามไปได้ดั่งใจจง                          จะปลดปลงทั้งโคตรอีกเจ็ดคน

วันนั้นเสียความไม่ถามไถ่                      กูหลงเชื่ออีใจอกุศล

ม่ทันคิดพิเคราะห์ดูเล่ห์กล                      บันดาลดลจิตใจให้ขับน้อง

มึงทั้งเจ็ดคนอีชาติข้า                           เห็นกูไปมาก็จองหอง

ทำแก่เนื้อแก่ตัวหนังหัวพอง                     เหมือนกิ่งก่าได้ทองผูกคอไว้” (ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา.๒๕๔๔ : ๑๘)

วัวลืมตีน

ความหมาย : เหลิง เหิม ไม่เจียมตัว ฯลฯ มักมีคำพูดเพิ่มขึ้นว่า “ข้าลืมตัว วัวลืมตีน” (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๕๓๔) หมายถึงคนที่ลืมตัว ลืมกำพืดตนเอง หยิ่งผยองในฐานะปัจจุบันโดยลืมอดีตความเป็นมาของตน สำนวนนี้นิยมใช้กับคนที่เคยยากจนข้นแค้น ปากกัดตีนถีบ เพื่อให้มีกิน แต่เมื่อมีฐานะดีขึ้น กลับลืมตัวตนในอดีตของตน หยิ่งยโส ยกตนข่มท่านอยู่เสมอ  ดั่งปรากฏในโคลงสำนวนสุภาษิตไทยดังนี้

“วัวลืมตีนย้ำน้ำ                    โคลนตม

คนแค่นลืมปฐมกาล                           โคตรเหง้า

ดุจว่าวร่อนหลงลม                            สุดป่าน

ได้ดิบได้ดีแล้วเจ้า                             ห่อนรู้ตนเอง” (สุทธิ ภิบาลแทน. ๒๕๔๕ : ๒๘๑)

จมไม่ลง, จนแล้วไม่เจียม

การจมไม่ลงเป็นการเปรียบเทียบเรือที่รั่ว ผุพังแต่ไม่ยอมจม ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๔๒. ๒๘๘) คือ เคยทำตัวใหญ่มาแล้วทำให้เล็กลงไม่ได้ มักใช้แก่คนที่เคยมั่งมีหรือรุ่งเรืองมาก่อน เมื่อยากจนหรือตกอับลงก็ยังทำตัวเหมือนเดิม กาญจนาคพันธุ์ (๒๕๓๘ : ๑๓๙) ได้ให้ความหมายว่า อยู่ในฐานะที่ไม่อาจลดตัวลงได้ เช่นคนเป็นเศรษฐีมีหน้าตาใหญ่โต จะมีจะทำอะไรก็ล้วนแต่ใหญ่โตมาแล้ว ครั้นจนลง จะทำอะไรเล็กน้อยก็เสียหน้า เลยต้องทำอะไรใหญ่โตตามเดิม ทั้ง ๆ ที่อัตคัดขาดแคลนเต็มที สำนวนที่มีความหมายเหมือนกันคือ “จนแล้วไม่เจียม” โคลงสำนวนสุภาษิตไทยกล่าวถึงสำนวนนี้เอาไว้ว่า

“ยามรวยมีทรัพย์ใช้             คล่องมือ

เงินหมดยังยึดถือ                                  ก่อนกี้

ทำตัวว่าข้าคือ                                      ผู้ร่ำ   รวยนา

จมไม่ลงอย่างนี้                                    แค้นยิ้ม อกตรม” (สุทธิ ภิบาลแทน. ๒๕๔๕ : ๒๘๑)

เรือใหญ่คับคลอง

ความหมาย คนที่เคยรุ่งเรืองในอดีตหรือเคยเป็นใหญ่เป็นโตเมื่อตกต่ำก็ไม่สามารถวางตัวอย่างคนสามัญได้ ยังมีนิสัยแสดงความเป็นใหญ่อยู่เสมอ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๒ : ๙๗๔) โดยเปรียบเทียบเรือขนาดใหญ่ที่แล่นอยู่ในคลองเล็ก เป็นการแล่นแบบช้า ๆ โดยไม่สนใจว่าจะมีเรือลำได้แล่นตามมา หรือไม่เปิดโอกาสให้เรือแล่นแซงไป เรือขนาดเล็กกว่าจึงไม่สามารถแล่นผ่านไปได้ และเมื่อเมื่อเวลาน้ำลง เรือใหญ่จะไม่สามารถแล่นต่อไปได้ติดเนินจนขวางทางสัญจรของเรือลำอื่น เปรียบเสมือนคนที่เคยมียศเสื่อมยศ เคยมีลาภก็เสื่อมลาภ เคยมีบรรดาศักดิ์ก็เสื่อมบรรดาศักดิ์ เคยจ้างคนรับใช้มาคอยดูแล เมื่อไม่มีคนรับใช้ก็ทำอะไรเองไม่เป็น เมื่อตกต่ำลงก็ไม่สามารถใช่ชีวิตได้อย่างสามัญชนคนทั่วไป สำนวนที่มีความหมายเหมือนกันคือ “จมไม่ลง” ปรากฏในโคลงสำนวนสุภาษิตไทยดังนี้

“เรือใหญ่แจวถ่อค้ำ             คับคลอง

ไม่คล่องแคล่วดั่งปอง                       มุ่งไว้

เคยสุขกลับหม่นหมอง                       ตกยาก ลงนา

หากไม่ปลงใจได้                            คับแค้นเคืองใจ (สุทธิ ภิบาลแทน. ๒๕๔๕ : ๒๖๒)

เอาบาตรใหญ่เข้าข่ม

ความหมาย เอาอำนาจที่ตนมีมาข่มขู่ผู้อื่นที่อยู่ในฐานะต่ำกว่า  ดนัย เมธิตานนท์ (๒๕๔๘ : ๑๑๐) ได้ให้ที่มาของสำนวนนี้ว่าอาจมาจากบาตรพระสงฆ์ที่มี ๓ ขนาด คือขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ซึ่งมีความจุแตกต่างกัน เมื่อพระสงฆ์จะตวงวัดอะไรก็เอาบาตรของตนออกมาเป็นเกณฑ์วัด ใครมีบาตรใหญ่ก็จะนำออกมาใช้ แล้วถือว่าของตนถูกกว่าพระสงฆ์ที่มีบาตรเล็กกว่าปรากฏในโคลงสำนวนสุภาษิตไทยดังนี้

“พูดดีพูดถูกต้อง                  เจรจา กันเอย

ผิดถูกเหตุผลหา                                   เอ่ยอ้าง

อย่าเอาบาตรใหญ่มา                             เข้าข่ม

ใช้วิธีเสริมสร้าง                                   สฤษฏ์ในธรรม”   (สุทธิ ภิบาลแทน. ๒๕๔๕ : ๓๔๒)

ลูกสมภารหลานเจ้าวัด, ลูกท่านหลานเธอ

ความหมาย : ลูกเจ้านาย หรือ ลูกผู้มีอำนาจที่จะแสดงอำนาจแก่คนที่มีอำนาจน้อยกว่า ในสมัยก่อนที่การศึกษาต้องขึ้นอยู่กับวัด ชาวบ้านจะนิยมส่งลูกหลายไปร่ำเรียนที่วัด เด็กบางคนเป็นหลานของเจ้าอาวาท เด็กบางคนเป็นลูกของเจ้านาย ก็จะได้รับความเกรงใจจากเด็กคนอื่นที่เรียนร่วมกันแต่มีฐานะต่ำกว่า เด็กเหล่านี้ก็จะต้องระมัดระวังตัวไม่ไปทำอะไรขัดใจเด็กเหล่านั้น (ดนัย เมธิตานนท์ ๒๕๔๘ : ๑๓๔) มีความเหมือนกับสำนวน “ลูกท่านหลานเธอ” เปรียบดั่งโคลงสำนวนดังนี้

“ญาติมิตรคนใกล้ชิด             ได้งาน เร็วเฮย

ดั่งลูกหลานสมภาร                             ฝากไว้

อีกญาติมิตรสนิทนาน                          แนบแน่น

หากมาลำเอียงไซร้                            แน่แท้คนชัง” (สุทธิ ภิบาลแทน. ๒๕๔๕ : ๒๗๒)

บอกหนังสือสังฆราช, สอนจระเข้ว่ายน้ำ, สอนลูกแกะให้เล็มหญ้า

ความหมาย เป็นการสั่งสอนผู้มีความรู้มากกว่าตน หรือผู้ที่มีความรู้ดีในเรื่องนั้น ๆ อยู่แล้ว ซึ่งมีความหายเดียวกับสำนาน “สอนจระเข้ว่ายน้ำ” และ ส”อนลูกแกะให้เล็มหญ้า” สำนวนนี้มาจากเรื่องศรีธนชัยคือ ศรีธนชัยเดินไปที่ข้างกุฏิสังฆราชเห็นคัมภีร์ตกอยู่ที่พื้นก็บอกให้สังฆราชทราบ เลยใช้เหตุการณ์ไม่ไปเข้าเฝ้าพระราชาหลายวัน พระราชาจึงรับสั่งให้ตามตัวเพื่อถามถึงสาเหตุ ศรีธนชัยทูลว่าต้องไปบอกหนังสือสังฆราช พระราชาถามว่าศรีธนชัยมีความรู้มากแค่ไหนจึงไปบอกหนังสือ ศรีธนชัยไม่ตอบ พระองค์จึงตรัสถามสังฆราช สังฆราชทูลว่า บอกในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสอนอย่างที่เข้าพระทัย แต่บอกคือ บอกว่าหนังสือหล่นที่พื้น (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๕๖๑) ส่วนสำนวนคำว่า สอนจระเข้ว่ายน้ำมีความหมายว่า สอนคนที่มีสันดานไม่ดีอยู่แล้วให้มีปัญญามากขึ้น สำนวนนี้บางทีก็ใช้เป็นกลางคือ สอนหรือบอกแนะนำให้เขาทำอะไรที่เขาเป็นอยู่แล้ว แต่สอนมากหมายถึงสอนคนที่สันดาลพาลให้มีปัญญา ซึ่งแล้วก็ก่อเรื่องร้ายในภายหลัง (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๕๖๐) ดังปรากฏในโคลงสุภาษิตเก่าดังนี้

“สั่งสอนสัตว์จระเข้            คงคา

ให้แหวกวนเวียนวา                            รีหว้าย

เปรียบปราชญ์สั่งสอนสา                      นุศิษย์ พาลแฮ

มันเก่งโกงยิ่งย้าย                            อย่าเยื้องยักสอน” (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๕๖๐)

ฝรั่งขี้นก, ฝรั่งบางเสาธง, ฝรั่งกังไส

ความหมาย เรียกคนที่ชอบทำตัวเป็นฝรั่ง ซึ่งหมายถึงการลืมตนประเภทหนึ่ง คือเป็นการเปลี่ยนแปลงตนเองไปสู่สิ่งหนึ่งเช่น เมื่อเรียนจนจากต่างประเทศกลับมา ก็ยังปฏิบัติตนเหมือนกับอยู่ที่ต่างประเทศ กินของพื้นบ้านที่เคยกินไม่ได้ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็แต่งอย่างฝรั่ง พูดไทยคำภาษาอังกฤษคำการลืมรากเหง้าของตนเอง ลืมตนเองนั่นเอง คำว่า “ฝรั่งขี้นก” ไขสิริ ปราโมช ณ อยุธยา (๒๕๓๙ : ๑๙๐ - ๑๙๑) ได้อธิบายไว้ดังนี้ หมายถึงฝรั่งที่เป็นผลไม้พันธุ์หนึ่งมีลูกเล็ก ไส้แดงมีรสอร่อยพอสมควร แต่ก็สู้ฝรั่งลูกใหญ่ไม่ได้ คนจึงไม่นิยมกิน เช่นเดียวกับ “ฝรั่งบางเสาธง” ก็เป็นชื่อพันธุ์ของฝรั่งที่อยู่ฝั่งธนบุรี นับเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของที่นี่ ส่วนคำว่า และ “ฝรั่งกังไส” โดยเฉพาะ “กังไส” เป็นชื่อแคว้นหนึ่งของจีนที่ขึ้นชื่อเรื่องถ้วยปั้น สำนวน “ฝรั่งกังไส” นั้นได้มาจากพวกฝรั่งที่ทำถ้วยชามเลียนแบบชามกังไสของจีน แต่เอาสำนวนนี้มาเรียกคนจีนที่ทำตัวเป็นฝรั่งหรือคนทั่ว ๆ ไปที่ทำตัวเป็นฝรั่ง พระราชนิพนธ์ไกลบ้านมีกลอนตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับสำนวนฝรั่งบางเสาธงว่า

“มามัวดูอยู่เช่นนี้ไหนรอด                 เห็นจะจอดเจ็บใจจนไผ่ผอม

ฝรั่งขาวพี่เกลียดขี้เกียจตอม                ไม่งามพร้อมเหมือนฝรั่งบางเสาธง” (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๓๗๗)

วัดรอยเท้า, วัดรอยตีน

ความหมายตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (๒๕๔๒. ๑๐๕๘) คือ เทียบดูว่าสู้พอได้หรือไม่ เช่นลูกศิษย์วัดรอยเท้าครู, คอยเทียบตัวเองกับผู้ที่เหนือกว่าเพื่อชิงดีชิงเด่น เช่นลูกน้องวัดรอยตีนหัวหน้า กาญจนาคพันธุ์ (๒๕๓๘ : ๕๓๐) ได้ให้ความหมายว่า เป็นสำนวนที่มุ่งจะตอบแทน มุ่งแก้แค้น มุ่งอาฆาต ฯลฯ เป็นสำนวนใช้กับลูกที่คิดจะสู้กับพ่อ ผู้น้อยคิดจะหักล้างผู้ใหญ่ที่เคยบังคับบัญชาตนมาก็ได้ ความหมายในที่นี้อาจหมายถึงการไม่เจียมตัว หรือการลืมตัวได้ในทางหนึ่ง สำนวนนี้มาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ตอนทรพีสู้กับทรพาพ่อของตนดังนี้

“มาจะกล่าวบทไป               ถึงทรพีใจหาร

เทวารักษ์มาช้านาน                              ในถ้าสุรกานต์พรายพรรณ

เหมือนได้กินนมมารดร                          มีกำลังฤทธิรอนแข็งขัน

เจริญวัยใหญ่ขึ้นทุกวัน                           ก็เที่ยวสัญจรออกมา

ลองเชิงเริงร้องคะนองไพร                       ไล่เลี้ยวเสี่ยวขวิดหินผา

ตามสะกดบทจรทรพา                          วัดรอยบาทาบิดาดู

เห็นเท่าเติบใหญ่คล้ายคลึง                     ก้ำกึ่งพอจะตอบต่อสู้

หมายเขม้นจะเป็นศตรู                           วันนี้ตัวกูกับบิดา

จะได้ลองฤทธิ์ขวิดกัน                          ประจัญดูกำลังให้หนักหนา

คิดแล้วแอบพุ่มซุ่มกายกายา                    จับกลิ่นหญ้าอยู่ริมธาร” (ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา.๒๕๔๔ :๑๑๖ – ๑๑๗)

ในเรื่องพระอภัยมณีก็ได้กล่าวไว้เช่นกัน

“แม้ลูกชั่วหัวดื้อทำซื้อรู้                      จนพี่ป้าย่าปู่ไม่รู้จัก

ผลาญพงศ์เผ่าเหล่ากอทรลักษณ์                       ชื่อว่าอักตัญญูชาติงูพิษ

เหมือนพวกมึงซึ่งไม่รู้จักกูนี้                             ดังทรพีวัดรอยจะคอยขวิด” (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๕๓๑)

ในโคลงสำนวนสุภาษิตไทยที่แต่งในปัจจุบันก็ได้กล่าวถึงการวัดรอยเท้าไว้เช่นกัน8nv

“วัดที่แบ่งโฉนดไว้              วัดวา

วัดที่แบ่งเนื้อหา                                   เขตให้

สอบวัดคิดราคา                                  สูงต่ำ

หากวัดรอยตีนไซร้                              แน่แท้เนรคุณ” (สุทธิ ภิบาลแทน. ๒๕๔๕ : ๒๗๙)

เห็นกงจักเป็นดอกบัว

ความหมายคือการเห็นผิดเป็นชอบ เห็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นดี มาจากชาดกเรื่อง มิตตวินทชาดก ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเทวดาไปเที่ยวเมืองนรก ไปเห็นมิตตวินทุทำร้ายมารดาตายไปตกนรก กำลังได้รับความทุกขเวทนาจากการที่มีกลจักครอบอยู่ที่หัว กงจักรหมุนรอบหัวจนเลือดไหลโทรม พระโพธิสัตว์แลเห็นกงจักรนั้นกลายเป็นดอกบัวจึงเอามาครอบศีรษะตนเอง (ดนัย เมธิตานนท์. ๒๕๔๘ : ๑๐๘) สำนวนนี้ปรากฏในวรรณคดีเรื่อง เพลงยาวกรมหมื่นสถิต

“แต่แรกรักหักจิตไม่คิดกลัว               เห็นจักรหลอกเป็นกอดบัวก็เร่อมา

ครั้นเห็นชัดสิเมื่อพลัดเข้าติดตึ้ง                            จะถอนทิ้งก็ไม่ขาดเหมือนปรารถนา”  (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๖๔๕)

เพลงยาวคุณพุ่ม

“ในชาตินี้มิได้อยู่ชูฉลอง                   เพราะคะนองหนีบุญมุ่นโมหา

ดูกงจักรหักเห็นเป็นผกา                                    ต้องออกมาใช้ชาติญาติเวร” (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๖๔๕)

วาทิน ศานติ์ สัสนติ

(อ่านต่อใน จริงหรือไม่ คนไทยโอ้อวด ขี้อวด ลืมตัว ตอนที่ ๒))

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย วาทิน ศานติ์ สันติ

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 23 ตุลาคม 2013 เวลา 10:51 น.
 

อุปนิสัยของคนไทยด้านการโอ้อวด ขี้อวด ลืมตัว ตอนที่ ๒/๒ ตอนจบ

พิมพ์ PDF

อุปนิสัยของคนไทยด้านการโอ้อวด ขี้อวด ลืมตัว ตอนที่ ๒/๒ ตอนจบ

วาทิน ศานติ์ สันติ

 

๒. ให้คนรู้จักเจียมตัว ไม่โอ้อวด มุ่งการสอนหรือการเตือน

นุ่งห่มนุ่งเจียม, เจียมอยู่เจียมกิน

ความหมาย แต่งตัวพอให้สมฐานะ เป็นการสอนให้คนพอใจในสิ่งที่ตนมี ไม่ไปอยากได้อยากมีเหมือนคนอื่นเขา ควรทำอะไรให้สมฐานะของตนเอง เป็นสำนวนที่บอกให้ถ่อมตน อีกทั้งสำรวมกิริยามารยาทของตน ซึ่งในสังคมปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ผู้คนใช้เงินเกินรายได้ กู้หนี้ยืมสินมาซื้อรถซื้อบาทซึ่งราคาไม่สมดุลกับเงินเดือน เมื่อไม่สามารถจ่ายได้กำหนด ก็กลายเป็นหนีสินมหาศาล บ้าน รถ ก็โดนยึด บางคนใช้เครื่องแต่งกายที่มีราคาแพง ซึ่งไม่เหมาะสมกับฐานะและสถานที่ที่ไป ซึ่งก็สอดคล้องกับสำนวนนุ่งห่มนุ่งเจียมเช่น “เจียมอยู่เจียมกิน” ในสุภาษิตสอนหญิงได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“เห็นผู้ดีมีทรัพย์ประดับแต่ง             อย่าทำแข่งวาสนากระยาหงัน

ของตัวน้อยก็ถอยไปทุกวัน                         เหมือนตัดบั่นต้นทุนศูนย์กำไร

จงนุ่มเจียมห่มเจียมเสงี่ยมหงิม                     อย่ากระหยิ่งยศถาอัชฌาสัย

อย่านุ่งลายกรุยทำฉุยไป                          ตัวมิใช่ชาววังไม่บังควร” (กระทรวงศึกษาธิการ๒๕๔๕ : ๑๐๑)

ในโคลงโลกนิติได้สอนเรื่องให้คนเจียมตัวเอาไว้ ในที่นี้หมายถึงการเจียมตัวในเรื่องอารมณ์ เรื่องการเจียมตัวในความรู้ดังนี้

“เจียมใดจักเทียมเท่า           เจียมตัว

รู้เท่าท่านทำกลัว                               ซ่อนไว้

อย่ามึนมืดเมามัว                               โมหะ

สูงนักมักเหมือนไม้                              หักด้วยแรงลม (กระทรวงศึกษาธิการ. ๒๕๔๓ : ๒๕๘)

ตัวเป็นข้าอย่าให้ผ้าเหม็นสาบ

ความหมาย ยากไร้แล้วอย่าประพฤติตัวไม่ดีเป็นสำนวนเก่าที่ยังอยู่ในยุคที่มีทาส ดังนั้นข้าในที่นี้จึงหมายถึงข้าทาส (ดนัย เมธิตานนท์. ๒๕๔๘ : ๑๗๑) ที่อยู่ในชั้นต่ำสุดของสังคมศักดินา เป็นการสอนให้ผู้มีฐานะต่ำต้อยสำรวมอยู่ในฐานะของตนเอง อีกทั้งยังสอนให้ไม่ไปทำเรื่องเดือนร้อนเสียหาย ไม่ให้ประพฤติตนไปในทางที่ไม่ดีเป็นการซ้ำเติมฐานะของตนเอง ซึ่งก็เป็นการสอนให้คนรู้จักเจียมเนื้อเจียมตัว ในเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยา ซึ่งถูกนำมาขายเป็นทาสขุนช้าง นางแก้วกิริยาตัดพ้อขุนแผนว่า

“แม้นใครรู้ก็จะจู่กันกระซิบ          ตาขยิบปากด่าใส่หน้าเอา

ว่าเป็นข้าแล้วให้ผ้าเหม็นสาบสิ้น                    ฉันจะผินหน้าเถียงอย่างไรเล่า” (ดนัย เมธิตานนท์. ๒๕๔๘ : ๑๗๑)

ปลูกเรือนแต่พอตัว หวีหัวแต่พอเกล้า, นกน้อยทำรังแต่พอตัว

ความหมาย ทำสิ่งใด ๆ ให้พอสมควรกับฐานะของตนเอง (ดนัย เมธิตานนท์. ๒๕๔๘ : ๑๘๕) เป็นสำนวนที่สอนให้คนรู้จักประมาณตน พอใจในสิ่งที่มี รู้จักความพอเพียง ใช้ทรัพยากรให้เหมาะสมคุ้มค่า ซื้อหาสิ่งใดก็ให้สมกับฐานะการประโยชน์ในการใช้ เช่นการซื้อบ้านหรือสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งสามารถใช้ได้กับสังคมในปัจจุบัน ในสุภาษิตสอนเด็กกล่าวว่า

 

“จงจียมจิตคิดเหมือนนกกระจ้อยร่อย     ตัวนั้นน้อยทำรังพอฝังแฝง

รอดจากภัยพาธากาเหยี่ยวแร้ง                             พอคล่องแคล่งอยู่สบายจนวายปราณ” (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๒๗๕)

โคลงโลกนิติสอนให้คนรู้จักฐานะของตนเองไว้ดังนี้

“หัวล้านไป่รู้มาก                  มองกระจก

ผอมฝิ่นไป่อยากถก                             ถอดเสื้อ

นมยานไป่เปิดอก                                ออกที่   ประชุมนา

คนบาปไป่เอื้อเฟื้อ                              สดับถ้อยธรรมกวี” (กระทรวงศึกษาธิการ. ๒๕๔๓ : ๓๐๒)

ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา

ความหมาย รู้จักเจียมตัว เป็นสำนวนที่มีความหมายประชดประชันหรือดูถูกเหยียดหยาม (ดนัย เมธิตานนท์. ๒๕๔๘ : ๒๒๔) มักใช้ต่อว่าคนที่มีฐานะต่ำกว่าว่าไม่ควรทำอะไรเกินตัว เป็นการเปรียบเทียบภาชนะที่คนมีฐานะยากจนใช้ตักน้ำคำกะโหลก ซึ่งทำมาจากกะลานั่นเอง เป็นการใช้กะลาตักน้ำแล้วส่องดูเงาของตน ซึ่งคนรวยจะใช้ขันที่ทำจากภาชนะโลหะชั้นดี ซึ่งในสังคมในปัจจุบันก็ยังมีการดูถูกเหยียดหยามเช่นนี้ หากมมองในอีกแง่มุมหนึ่งก็เป็นการสอนให้คนรู้จักเจียมเนื้อเจียมตัวเช่นกัน ในบทเจรจาละครอิเหนา พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ ๙ ได้กล่าวเกี่ยวกับสำนวนนี้ดังนี้

“อุ๊ย นี่อะไรก็ช่างไม่ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงาเลยแหละ ช่างเพ้อพูดไปได้นี่ ฉันแน่ะจะว่าเป็นกลาง อย่าอึงไปนะหล่อน ถ้าแม้นทองกุเรปันนี้ ได้เป็นเรือนรับหัวเพชรเมืองดาหาละก็นั่นแหละจะงามเลิศประเสริฐตาน่าดูจริงละ” (กาญจนาคพันธุ์. ๒๕๓๘ : ๒๐๙) โคลงสำนวนสาษิตไทยได้กล่าวถึงสำนวนนี้ไว้ดังนี้

“ตักน้ำใส่กระโหลดไว้       ดูเงา   ตนเอง

เป็นคติเตือนเรา                           อยู่ได้

เจียมตัวอย่าตามเขา                      ทุกอย่าง

ฐานะตนรู้ไว้                                อย่าให้คนขยัน” (สุทธิ ภิบาลแทน. ๒๕๔๕ : ๑๒๒ฆ)

คมในฝัก

หมายถึงลักษณะของผู้ฉลาด แต่นิ่งเงียบ ไม่แสดงความฉลาดนั้นออกมาโดยไม่จำเป็น มีความรู้ความสามารถ แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็ไม่แสดงออกมาให้ปรากฏ การไม่อวดรู้แต่คมในฝัก เก็บความฉลาดไว้ข้างใน, ล่วงรู้ความคิดของผู้อื่น แต่ไม่แสดงออกมาว่ารู้ ปรากฏในคำประพันธ์เรื่อง เพลงยาวถวายโอวาท ของ สุนทรภู่

อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ      ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก

สงานคมสมนึกใครฮึกฮัก                   จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย (กระทรวงศึกษาธิกร. ๒๕๔๕ : ๕๘)

โคลงโลกนิติกล่าวถึงการไม่พูดโม้โออวดตนไว้ดังนี้

“กะละออมเพ็ญเพียบน้ำ         ฤๅติง

โอ่งอ่างร่องชลชิง                       เฟื่องหม้อ

ผู้ปราชญ์ห่อนสูงสิง                      เยียใหญ่

คนโฉดรู้น้อยก้อ                         พลอดนั้นประมาณ” (กระทรวงศึกษาธิการ. ๒๕๔๓ : ๘๐)

บทสรุป

นิสัยการโอ้อวด ขี้อวด และการลืมตัวขึ้นลักษณะดังกล่าวเกิดจากการที่ตนมีความรู้น้อยหรือความรู้มากแล้วพูดจาอวดอ้างแสดงคุณสมบัติที่ไม่เป็นความจริง เพื่อเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ให้ตนเองมีเกียรติ์มากว่าหรือทับกับผู้อื่น สำนวนไทยที่แสดงให้เห็นส่วนใหญ่เป็นการอธิบายนิสัยทางตรง เช่น “คางคกขึ้นวอ” , “กิ้งก่าได้ทอง” ซึ่งยกตัวอย่างวรรณกรรมศาสนาเช่นชาดก ส่วนสุภาษิต“เรือใหญ่คับคลอง” ,“เอาบาตรใหญ่เข้าข่ม” คือการเปรียบเทียบกับวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้านโดยยกสิ่งของเครื่องใช้ประกอบ เพื่อให้คนสามารถเห็นภาพชัดเจน พญาล้านนาปรากฏสำนวนที่ว่า “ข้ามขัวบ่พ้น อย่าฟั่งห่มก้นแยงเงา” อีกทั้งยังสำสุภาษิตที่สอนให้คนไม่ทำหรือทำในด้านบวกเช่น สอนไม่ให้โออวดความรู้ “คมในฝัก” สอนให้รู้จักเจียมตน “ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา” ผญาล้านนาปรากฏภาษิตว่า “หันช้างขี้ อย่าขี้ทวยช้าง” เอกลักษณ์ด้านการโอ้อวด ขี้อวด ลืมตัว จึงเป็นเอกลักษณ์ทางด้านนิสัยของคนไทยมาช้านาน ทำให้เกิดสำนวนเปรียบเทียบมากมาย

 

วาทิน ศานติ์ สันติ

 

บรรณานุกรม

กระทรวงศึกษาธิการ, กรมวิชาการ.โคลงโลกนิติ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเดชาดิศร.กรุงเทพฯ : สถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. ๒๕๔๓.

......................., ภาษิตคำสอนภาคกลาง เล่ม ๑. สถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. ๒๕๔๕.

กาญจนาคพันธุ์. สำนวนไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : ส.เอเชียเพรส (1991) จำกัด. ๒๕๓๘.

ไขสิริ ปราโมช ณ อยุธยา. การเปลี่ยนแปลงถ้อยคำและความหมายของสำนวนไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๕. กรุงเทพฯ  : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ๒๕๓๙.

จันทิมา น่วมศรี. ย้อนคำ สำนวนไทย. กรุงเทพฯ : คลี่อักษร. ๒๕๕๔.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นามมีบุคส์. ๒๕๔๖.

ดนัย เมธิตานนท์. บ่อเกิดสำนวนไทย. กรุงเทพฯ : มิติใหม่. ๒๕๔๘.

ผจงจิตต์ อธิคมนันทะ. สังคมและวัฒนธรรมไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง.๒๕๔๓.

วิรัช วิรัชนิภาวรรณ. (๒๕๔๖, - ตุลาคม-ธันวาคม). "วิเคราะห์ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ,"   รัฏาฐาภิรักษ์. ๔๕(๔) :   ๓๐ – ๔๑.

ศุภิสรา ปุนยาพร. ภาษิตสำนวนไทย. กรุงเทพฯ : ไทยควิลิตี้บุ๊คส์. ๒๕๕๔.

ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา. สำนวนไทยที่มาจากวรรณคดี. โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ ๑. ๒๕๔๔.

สมร เจนจิระ. ภาษิตล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเพทฯ : สถาพรบุ๊คส์. ๒๕๔๗.

สุพัตรา สุภาพ. สังคมและวัฒนธรรมไทย ค่านิยม : ครอบครัว : ศาสนา : ประเพณี. กรุงเพทฯ : ไทยวัฒนาพานิชย์. ๒๕๓๔.

สุทธิ ภิบาลแทน. โคลงสำนวนสุภาษิต. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : ไทยร่มเกล้า. ๒๕๔๕.

อานนท์ อาภาภิรม. สังคม วัฒนธรรม และประเพณีไทย. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา. ๒๕๑๙.

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย วาทิน ศานติ์ สันติ

 

ทางสู่หายนะการศึกษาไทย : การทดสอบวัดผลกลาง

พิมพ์ PDF
การพัฒนาคนทั้งคน มีเป้าหมายพัฒนารอบด้าน ทั้งด้านพุทธิปัญญา การพัฒนาด้านอารมณ์ ด้านสังคม ด้านจิตใจหรือจิตวิญญาณ ด้านสุนทรียะ และด้านกายภาพ แต่การบังคับใช้การทดสอบวัดผลกลางจะวัดได้เฉพาะด้านพุทธิปัญญาเท่านั้น การทดสอบวัดผลกลาง จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้การศึกษาไทยไม่เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาคนรอบด้านยิ่งขึ้นไปอีก ที่จริงตอนนี้อาการก็หนักมากอยู่แล้ว น่าเป็นห่วงว่า มาตรการเข้มงวดกับการทดสอบวัดผลกลาง จะยิ่งทำให้โรงเรียนและครู ยิ่งไม่เอาใจใส่พัฒนาการด้านอื่นๆ ของเด็ก ที่ไม่ใช่ด้านรู้วิชา ที่นำไปตอบข้อสอบได้

ทางสู่หายนะการศึกษาไทย : การทดสอบวัดผลกลาง

อ่านได้ ที่นี่ กรุงเทพธุรกิจ_561022.pdf

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ต.ค. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 23 ตุลาคม 2013 เวลา 10:48 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๑๘. ระลึกรู้ของมือถ่ายภาพ

พิมพ์ PDF

เมี่อไปสัมผัสบรรยากาศใดๆ ผมจะหาทางถ่ายภาพเก็บไว้    เพื่อนำมาสังเกตเพิ่มเติม   ในบางกรณีก็เพื่อได้ซึมซับ หรือสัมผัสสุนทรียภาพ ที่ละเมียดละไม   และเพื่อนำมาไตร่ตรองตรวจตราภายหลัง ว่าวิธีถ่ายภาพให้งาม ทำอย่างไร   ถือเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง

มักจะมีคนมาเสนอบริการถ่ายภาพตัวผม กับวิวสถานที่นั้นๆ    ซึ่งผมมักจะปฏิเสธ   ด้วยคำตอบว่า ผมไม่ชอบถ่ายรูปตัวเอง    ชอบถ่ายรูปคนอื่นมากกว่า

แต่ถ้าเขามาขอถ่ายรูปด้วย ผมจะไม่ปฏิเสธ   ถือว่าเป็นการที่ผมให้เกียรติเขา

ผมไม่เข้าใจคุณประโยชน์ของการยึดถือแนวปฏิบัตินี้   จนมาคุยกับสาวน้อยบนโต๊ะอาหารเย็นวันที่ ๑๕ ก.ย. ๕๖   หลังกลับมาจากไปดูงานที่อังกฤษหมาดๆ

ผมระลึก หรือปิ๊งแว้บขึ้นว่า การที่ผมไม่สนใจถ่ายรูปตนเอง    ทำให้ผมมีปัจจุบันขณะกับสิ่งแวดล้อม รอบตัว    ผมจึงสังเกตเห็นวิวหรือสิ่งสวยงามที่อยู่โดยรอบในขณะนั้น    ผมจึงมีภาพถ่ายจากมุมที่คนอื่นไม่มี   มีภาพถ่ายสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่งดงามที่คนอื่นไม่เห็น

การที่คนเรามัวคิดถึงตนเอง    ทำให้เราพลาดโอกาสเห็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แปลกใหม่ หรือสวยงาม ที่อยู่โดยรอบตัวเรา

เมื่อลดตัวตนลงได้   ความงดงามของสรรพสิ่งรอบตัวก็ปรากฏ    ทั้งที่สัมผัสได้ด้วยจักษุประสาท    และจักษุประสาทส่วนขยาย (คือกล้องถ่ายรูป)   และที่สัมผัสได้ด้วยประสาทรับรู้แบบอื่น

เมื่อลดตัวตนลงได้ โลกจึงงดงามขึ้น

 

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ก.ย. ๕๖

 

ผมพิศวงมากว่ามี lichens ที่โคนต้นไม้

ที่มหาวิทยาลัย Aston เพราะคิดว่ามันขึ้นในที่ความชื้นสูง

 

ถ่ายรูปใกล้ชิด (closeup) มาให้คนในคณะดู   ไม่มีคนเห็นภาพนี้เลย

 

ที่ Skoll CentreOxford University ทุกคนเดินผ่านเลยไม้ดอกกอนี้

 

แต่ผมได้ภาพที่งดงามที่สุดที่ผมถ่ายได้ในวันที่ ๑๐ ก.ย. ๕๖ มาฝาก

 

เราเดินผ่านหรือลอดใต้กระถางไม้ดอกโทรมๆ นี้ทุกวัน ที่ Sunley Conference Centre

ระหว่างวันที่ 9-13 ก.ย. 56 แต่น้อยคนที่สังเกตเห็นความงามพิเศษ คือสีเกือบดำสนิท

 

ถามผู้ชายในคณะ ไม่มีคนเห็นรูปนี้ในห้องน้ำของภัตตาคาร Olb Bookbinders ที่ Oxford

 

berry ริมรั้วด้านนอกมหาวิทยาลัย Northampton ไปสู่ Bradlaugh Fields

 

ดอกไม้งามหลังฝนหาย หน้ามหาวิทยาลัย Aston

 

สัมผัสแรก มหาวิทยาลัย Northampton ยามเย็นวันที่ ๙ ก.ย. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 22 ตุลาคม 2013 เวลา 07:34 น.
 


หน้า 432 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5611
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8635565

facebook

Twitter


บทความเก่า