Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๐๙. ๘๔ ปี นพ. หทัยชิตานนท์

พิมพ์ PDF

นพ. หทัย ชิตานนท์  ครูสอนวิชาแรงบันดาลใจ

วิจารณ์ พานิช

...............

เมื่อนึกถึงอาจารย์หมอหทัย ชิตานนท์ (ผมเรียกท่านว่าอย่างนี้)   ผมจะนึกถึงพลัง หรือ ลูกบ้า” (drive) ของท่านในเรื่องการต่อต้านยาสูบ เพชฌฆาตเงียบของโลก ที่กัดติดหรือเกาะติดไม่ยอมปล่อย โดยมีวิธีทำงานวิชาการเพื่อบอกสังคม    และเพื่อกระตุ้นหรือกดดันผู้มีหน้าที่รับผิดชอบป้องกัน และปราบปรามการโฆษณายาสูบสารพัดกโลบาย ของบริษัทข้ามชาติ

ผมเข้าใจว่า อาจารย์หมอหทัย เป็นคนหนึ่งในไม่กี่คนในโลก ที่เข้าใจกโลบายล่อหลอกให้คนเข้าไปติดกับ การเสพติดยาสูบ สารพัดวิธีของบริษัทค้าบุหรี่ข้ามชาติ เพราะผมโชคดี ที่ได้ร่วมประชุมกับท่านอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง    และหากมีโอกาส ผมก็จะซักเรื่องราวเพื่อขอเรียนรู้จากท่าน    เรื่องราวต่างๆ จะพรั่งพรูออกมา เป็นขั้นเป็นตอน และสะท้อนความเข้าใจเล่ห์กลของบริษัทข้ามชาติ   และสะท้อนโอกาสที่ผู้มีอำนาจไทย จะถูกติดสินบน เพื่อผลประโยชน์ของบริษัทค้าบุหรี่

ผมสังเกตว่า เมื่อชวนท่านคุยเรื่องการค้นหา และสร้างความรู้เพื่อต่อต้านยาสูบ ป้องกันคนไทย (โดยเฉพาะเยาวชนไม่ให้เข้าไปเสพติด รวมทั้งกิจกรรมสื่อสารสังคม กดดันทางการไทย  และดำเนินการให้ทางการจับผู้ทำผิด    อาจารย์หมอหทัยจะแสดงสีหน้าท่าทางที่แสดงความสุขความภูมิใจ เป็นอย่างยิ่ง    สะท้อนแรงบันดาลใจในงานต่อต้านบุหรี่ที่ท่านทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มาจนอายุเข้า ๘๔ ปีแล้ว ก็ยังทำอยู่อย่างสนุกสนาน โดยผมเชื่อว่าเป็นงานที่มีคุณูปการต่อสังคมไทย (และสังคมโลก) เป็นอย่างยิ่ง    และเดาว่า การได้ทำงานที่ท่านรักเช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ท่านมีสุขภาพดี

อาจารย์หมอหทัย จึงเป็นอาจารย์ของผม    ท่านสอนวิชาสร้างแรงบันดาลใจ ในการทำประโยชน์แก่สังคม ให้แก่ผม   โดยท่านไม่รู้ตัว

เนื่องในมงคลวาร ที่ท่านอาจารย์หมอหทัย มีอายุครบ ๗ รอบนักษัตร   ศิษย์จึงมอบข้อเขียนสั้นๆ   นำเอาเกร็ดเล็กๆ ของชีวิตของท่าน ที่ตนเองสังเกตเห็น มาเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง   ออกทำประโยชน์แก่สังคมไทย   เพื่อบูชาครูด้วยปฏิบัติบูชา

 

 

วิจารณ์ พานิช

๔ กันยายน ๒๕๕๖

 

 

ผมเคยเขียนถึงท่าน ในบันทึกชุดคนดีวันละคน ที่นี่

 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๔ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 09 ตุลาคม 2013 เวลา 07:11 น.
 

สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๖. ช่วยเหลือผู้อื่น (๑) ความมีน้ำใจ เห็นอกเห็นใจช่วยเหลือผู้อื่น

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๙ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People : Progressive Parenting for the 21stCentury เขียนโดย Annie Fox, M.Ed. 

ตอนที่ ๖นี้ ตีความจากบทที่ ๓ How Can I Help? Figuring Out What’s Needed and Providing Some of It    โดยที่ในบทที่ มี ๔ ตอน   ในบันทึกที่ ๖จะตีความตอนที่ ๑ และ ๒ ในบันทึกที่จะเป็นการตีความตอนที่ ๓ และ ๔

คำแนะนำสำหรับพ่อแม่/ครู ในการสอนเด็กให้เป็นคนดีคือ ช่วยให้เด็กพัฒนาความมีน้ำใจ ควบคู่กับความมีวิจารณญาณ ว่าความช่วยเหลือที่ต้องการอย่างแท้จริงคืออะไร

ผมขอเพิ่มเติมความเห็นของตนเองว่า ข้อความในย่อหน้าข้างบนนั่นแหละ คือหลักการที่ผู้เขียนบอกเรา ว่าพ่อแม่/ครู ต้องใช้หลักการทั้งสองควบคู่กัน ในการช่วยเหลือเด็กให้พัฒนาความเป็นคนดี คือครูต้องมีทั้งน้ำใจใฝ่ช่วยเหลือ และมีวิจารณญาณ ควบคู่กัน

ในภาพรวมทั้งหมดของบทที่ ๓ นี้   ความช่วยเหลือให้เด็กเป็นคนดีทำ ๒ ทางควบคู่กัน    คือช่วยปลูกฝังนิสัยดี   และช่วยให้เด็กขจัดนิสัยชั่วออกไป

ตอนที่ ๑ของบทที่ ๓เป็นเรื่องช่วยให้ช่วยตัวเองเป็น”   ซึ่งหมายความว่า ไม่ใช่ช่วยอยู่เรื่อยไป จนลูก/ศิษย์ กลายเป็นคนอ่อนแอ หรือเสียนิสัย   คือต้องเตรียมให้เด็กพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง หรือพัฒนาความเป็นผู้ใหญ่   รับผิดชอบตัวเองได้   รู้จักมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่น

หลักการคือ ตอนเด็กอายุน้อย พ่อแม่/ครู ช่วยเหลือมากหน่อย แล้วค่อยๆ ผ่อนให้เด็กทำเอง   และให้เด็กได้เข้าใจกระบวนการช่วยเหลือผู้อื่น รวมทั้งเข้าใจความรู้สึกของผู้ได้รับความช่วยเหลือ จากประสบการณ์ของตนเอง

เด็กบางคนมีแนวโน้มที่จะขอให้พ่อแม่/ครู ทำให้อยู่เรื่อยไป   หากพ่อแม่/ครู ทำให้ตามที่เด็กร้องขอ จะเป็นการทำลาย หรือทำร้ายเด็ก   เพราะจะทำให้เด็กเติบโตเป็นคนที่ช่วยตัวเองไม่เป็น   เป็นคนหนักไม่เอาเบาไม่สู้   และไม่มีจิตใจช่วยเหลือผู้อื่น

เมื่อพ่อแม่/ครู ช่วยเหลือเด็ก ก็ใช้เป็นโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้คุณค่าของการช่วยเหลือผู้อื่นไปด้วย   โดยพ่อแม่/ครู ต้องรู้จักวิธีจับเส้นสัญชาตญาณความเมตตากรุณาของมนุษย์    โดยการบอกเด็กว่า การที่เด็กช่วยเหลือพ่อแม่/ครู น้อง/พี่/เพื่อน นั้น เป็นสิ่งน่าชื่นชมยกย่อง    และพ่อแม่/ครู รู้สึกภูมิใจในตัวเด็กมาก

เมื่อเด็กพยายามช่วยเหลือตัวเอง หรือช่วยเหลือผู้อื่น แต่ประสบความยากลำบาก    พ่อแม่/ครู ต้องยับยั้งตัวเองไม่ให้เข้าไปช่วยเหลือ    จงเปิดโอกาสให้เด็กได้ฟันฝ่าเอง    แล้วแสดงความชื่นชมในทันทีที่เด็กทำได้สำเร็จ   เป็นจิตวิทยาส่งเสริมให้เด็กอยากใช้ความพยายามในโอกาสต่อไป   เป็นการสร้างนิสัย สู้สิ่งยาก   และจะช่วยให้เด็กค่อยๆ พัฒนาตนเอง ให้เป็นคนที่ช่วยเหลือตนเองได้   และช่วยเหลือผู้อื่นเป็น   และเรียนรู้ว่าความมีเมตตากรุณานำไปสู่การช่วยเหลือ   และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันคือชีวิต

เมื่อลูก/ศิษย์ โตขึ้น เด็กจะต้องการความมีอิสระ   พ่อแม่/ครู ควรคุยกับเด็ก ว่าอยากได้อิสระเรื่องใดบ้าง    และทำความเข้าใจว่า ความมีอิสระ (independence) ต้องคู่กับความรับผิดชอบ (responsibility) และทำตามข้อตกลง (accountability)    โดยเด็กต้องทำตามข้อตกลงที่ตนสัญญาไว้    และพ่อแม่/ครู ก็ต้องทำตามข้อตกลงตามที่สัญญาไว้

เมื่อลูก/ศิษย์ วัยรุ่น มาขอความช่วยเหลือหรือขอคำปรึกษา    พ่อแม่/ครู ต้องอย่ารีบบอกความเห็นของตน   ให้ถามกลับ ว่านอกจากเล่าปัญหา (problem) แล้ว    ขอให้เล่าแนวทางแก้ปัญหา (solution) ที่เด็กคิดไว้    แล้วจึงแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกัน   จะแปรสภาพที่พ่อแม่/ครู สอน” เด็ก (ซึ่งเด็กวัยรุ่นไม่ชอบถูกสั่งสอนให้กลายเป็นการปรึกษากันอย่างเพื่อน หรือคนที่เท่าเทียมกันมากขึ้น   เป็นการปรับความสัมพันธ์ต่อกัน แบบผู้ใหญ่ต่อผู้ใหญ่ (แต่ก็ต้องตระหนักว่า ลูก/ศิษย์ ยังไม่ใช่ผู้ใหญ่เต็มที่)

ที่สำคัญยิ่ง หากพบว่าวิธีคิด/วิธีปฏิบัติ ของลูก/ศิษย์ เหมาะสม จงให้คำชมเชย

คำขอความช่วยเหลือของหนุ่ม ๑๖ พ่อแม่ให้เงินไม่พอใช้   เพราะต้องพาสาวไปเที่ยว   แถมยังต้องจ่ายค่าน้ำมันรถมอเตอร์ไซคล์เพิ่มขึ้น   ขอเงินจากพ่อแม่เพิ่มพ่อเข้าใจ แต่แม่ยืนกรานไม่ให้   ตนพยายามหาเงินเองโดยไปรับจ้างเพื่อนบ้านตัดหญ้า แต่ไม่พอ   จนแต้มเข้าตนจึงไปขะโมยของจากร้าน และโดนจับได้   พ่อแม่ก็ยังไม่ยอมให้เงินเพิ่ม   และตอนนี้แม่ไม่ยอมพูดด้วย    ตนเศร้าใจมาก

คำตอบของผู้เขียน ข้อเขียนนี้คล้ายๆ จะโทษพ่อแม่ ว่าเป็นต้นเหตุให้ตนต้องขะโมย   ซึ่งจริงๆ แล้วไม่เกี่ยวกันเลย   การขะโมยมาจากการตัดสินใจผิดของตนเอง   เป็นความรับผิดชอบของตนเอง ที่จะต้องเลิกพฤติกรรมแบบนี้เสีย

ผู้เขียนแนะนำให้หนุ่ม ๑๖ เริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่กับพ่อแม่   โดยเข้าไปขอโทษ ที่ทำให้พ่อแม่เดือดร้อนใจ   และบอกพ่อแม่ว่าตนจะถือความผิดพลาดในอดีตเป็นครู   ที่จะไม่ทำสิ่งผิดซ้ำอีก หากต้องการเงินเพิ่ม ก็จะขวนขวายหาเอง    บาดแผลทางใจระหว่างหนุ่ม ๑๖ กับพ่อแม่ก็จะค่อยๆ หาย

ตอนที่ ๒ ของบทที่ ๓ เป็นเรื่อง การฝึกเด็กให้เป็นคนเห็นอกเห็นใจช่วยเหลือผู้อื่น    โดยผู้เขียนเล่าเรื่อง Dear Abby ตอบคำปรึกษาของแม่สูงอายุคนหนึ่ง ใช้สมญานามว่า Alone in the Kitchen ที่ลูกสาวที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ๒ คน แยกครอบครัวไปแล้ว และกลับมาบ้านแม่ในงานเลี้ยงประจำปี ทำตัวเป็นแขกเหมือนแขกคนอื่นๆ ๒๐ คน   ให้แม่เป็นเจ้าภาพทำครัว ล้างจาน ฯลฯ โดยไม่ช่วยแม่เลย    จนแม่หมดแรงเป็นลม ก็ช่วยนิดๆ หน่อยๆ    แล้วก็ทำตัวอย่างเดิมอีก   เป็นอย่างนี้ทุกปี

ผู้เขียนบอกว่า ตนให้คะแนนคำตอบของ Dear Abby เพียง C+ เท่านั้น   เพราะไม่ได้ให้คำแนะนำวิธีแก้ปัญหาอย่างแท้จริง    แล้วผู้เขียนก็เขียนคำตอบให้ใหม่    ว่าพฤติกรรมของลูกสาวเป็นกระจกสะท้อนวิธีเลี้ยงและฝึกสอนลูกของคุณ Alone in the Kitchen ที่ไม่ได้สอนให้ลูกเห็นอกเห็นใจคนอื่น และรู้จักเข้าไปช่วยเหลือ

ผู้เขียนแนะนำว่า ในงานเลี้ยงปีต่อไปจงเริ่มด้วยการขอโทษลูกสาว   ที่แม่ไม่ได้ฝึกความมีน้ำใจให้แก่ลูก    เป็นคำตอบที่สะใจแท้ๆ

ถึงตอนนี้ ผมก็นึกออกว่า การที่พ่อแม่มอบหมายงานบ้านให้ลูกช่วยเหลือและรับผิดชอบ เป็นการฝึกเด็กให้รู้จักช่วยเหลือผู้อื่นโดยทางอ้อม   และนึกขอบคุณแม่ที่เข้มงวดมอบหมายสาระพัดงานให้ผมทำตั้งแต่เด็กๆ

คำปรึกษาของสาว ๑๖ ที่ครอบครัวกำลังเผชิญความยากลำบาก   แม่ต้องทำงานตั้งแต่ ๔.๓๐ ๒๐.๐๐ น.   พ่อป่วยเป็นมะเร็งและต้องการคนพยาบาล   พี่สาวมีครอบครัวและอยู่ไกล   ตนจึงต้องทำงานบ้านทุกอย่าง รวมทั้งต้องไปเรียนและทำการบ้าน   ซึ่งครูขยันให้การบ้านมาก   ขอคำแนะนำวิธีจัดระบบงานให้ทำได้เร็ว

คำตอบของผู้เขียน เริ่มด้วยการชมสาว ๑๕ ว่าชื่นชมความมีน้ำใจช่วยเหลือพ่อแม่ของสาว ๑๕ เป็นอย่างยิ่ง   และเชื่อว่าพ่อแม่ก็ภูมิใจในตัวลูกคนนี้มาก ที่มีน้ำใจช่วยเหลือ   แนะนำให้บอกครูเรื่องความยากลำบากที่บ้าน    เพื่อให้ครูช่วยลดภาระการบ้าน   และช่วยเหลือการเรียนทางอื่นด้วย   ควรไปคุยกับครูแนะแนว (school counselor) ซึ่งจะช่วยพูดทำความเข้าใจกับครูผู้สอนอีกทางหนึ่งด้วย

คำแนะนำให้ทำงานเป็นระบบและเร็วขึ้นคือ ให้ทำรายการของสิ่งที่ต้องทำที่บ้าน   แยกแยะระหว่างสิ่งที่ต้องทำทุกวัน กับสิ่งที่ทำ ๒ ๓ ครั้งต่อสัปดาห์    จะช่วยให้จัดระบบการทำงานได้ดีขึ้น   ขอให้ยอมรับว่าสภาพที่เป็นอยู่เป็นเรื่องที่ต้องเผชิญ    แต่ชีวิตจะไม่เป็นเช่นนี้ตลอดไป

คำแนะนำคือ จงทำหน้าที่เพื่อครอบครัว และเพื่อการเรียนให้ดีที่สุด   และจัดเวลาวันละอย่างน้อย ๓๐ - ๖๐ นาทีทุกวันสำหรับอยู่กับตัวเอง เป็นเวลาของตัวเอง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ มี.ค. ๕๖

โรงแรมเรือรัษฎา  จังหวัดตรัง

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 09 ตุลาคม 2013 เวลา 07:14 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : 2008a. เรียน “พุทธทาสภิกขุ” ด้วยสายตานักปฏิบัตินิยม

พิมพ์ PDF
ผมตีความจากอคติความเข้าใจของผมว่า ความพิเศษของท่านพุทธทาสที่ทำให้ท่านเด่นมาก คือท่านเชื่อการปฏิบัติ มากกว่าเชื่อทฤษฎี กล่าวจากมุมของการศึกษาได้ว่า ท่านเป็น “practice-based learner” คือเป็นผู้เรียนรู้จากฐานของการปฏิบัติ เอาผลจากการปฏิบัติของตนเองมาตรวจทานข้อเขียน ที่คัดลอก สืบต่อกันมานานมาก คือพระไตรปิฎก แล้วเลือกเอามาแต่ส่วนที่ตรงกันระหว่างผลของการปฏิบัติ กับข้อเขียนเชิงทฤษฎี ทำให้เห็นว่า ข้อเขียนเชิงทฤษฎีหรือคำสอนในพุทธศาสนานั้นมีหลายส่วน ที่เป็นส่วนขยาย ไม่ใช่หัวใจของพระพุทธศาสนา และในบางกรณีเกิดผลร้ายมาก คือส่วนขยายไปบดบัง ส่วนหัวใจหรือแก่น ทำให้คนเข้าใจแก่นแบบไขว้เขว เกิดการปฏิบัติแบบเบี่ยงเบน ซึ่งพบมากในปัจจุบัน เพราะในความจริงแล้ว ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแห่งผลประโยชน์ของมนุษย์ โดยที่แก่นแท้ของศาสนาคือ ทำหน้าที่ลดความเห็นแก่ตัว แต่อาจมีคนใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ตน หรือผลประโยชน์ของกลุ่ม ได้เสมอ หรือจริงๆ แล้ว ทำอยู่ตลอดเวลา

ชีวิตที่พอเพียง: 2008a. เรียน พุทธทาสภิกขุ ด้วยสายตานักปฏิบัตินิยม

วันที่ ๔ ต.ค. ๕๖ ผมได้รับแจกหนังสือแปล เรื่อง พุทธทาสภิกขุ : พระพุทธศาสนานนิกายเถรวาท และการปฏิรูปเชิงนวสมัยนิยมในประเทศไทยจากการไปประชุมคณะกรรมการบริหารหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ คนห่างวัด อย่างผมอ่านแล้ว วางไม่ลง

หนังสือเล่มนี้แปลจากหนังสือภาษาอังกฤษที่สำนักพิมพ์ Silkworm เคยพิมพ์จำหน่าย ขื่อ Buddhadasa: Theravada Buddhism and Modernist Reform in Thailand ฉบับพิมพ์แก้ไขครั้งที่ ๒พ.ศ. ๒๕๔๔ และมาจากวิทยานินธ์ปริญญาเอก เรื่องBuddhadasa and Doctrinal Modernisation in Contemporary Thai Buddhism, 2529ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ของPeter A. Jackson ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ไทยและวัฒนธรรมไทยศึกษา อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ออสเตรเลียโดยผู้แปลคือ ศ. ดร. มงคล เดชนครินทร์ ราชบัณฑิต

ที่อ่านแล้ววางไม่ลงก็เพราะได้อ่านเรื่องของท่านพุทธทาสแบบที่ไม่มองเป็น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ ของขลังแต่มองแบบมนุษย์ธรรมดาสามัญและที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ไม่มองแยกจากวิถีชีวิตผู้คนแต่มองภายใต้บริบททางสังคมการเมือง และอื่นๆ

แล้วผมก็พบคำ นักปฏิบัตินิยม และ แนวปฏิบัตินิยม ในหน้า ๑๒๔ และ ๑๒๕ ตามลำดับทำให้ผมเพ่งพินิจทันทีว่า ศ. แจ็สันหมายความว่าอย่างไร

ผมเดาว่า คำว่า ปฏิบัตินิยม นี้ ศ. ดร. มงคล แปลมาจากคำว่า pragmatismซึ่งผมเข้าใจว่าหมายถึง อนุโลมให้เข้ากับวิถีปฏิบัติที่ยึดถือกันโดยทั่วไปในความหมายเช่นนี้ ผมคิดว่า ไม่ตรงกับความเป็นท่านพุทธทาส

ผมตีความจากอคติความเข้าใจของผมว่าความพิเศษของท่านพุทธทาสที่ทำให้ท่านเด่นมากคือท่านเชื่อการปฏิบัติ มากกว่าเชื่อทฤษฎีกล่าวจากมุมของการศึกษาได้ว่า ท่านเป็น practice-based learnerคือเป็นผู้เรียนรู้จากฐานของการปฏิบัติเอาผลจากการปฏิบัติของตนเองมาตรวจทานข้อเขียน ที่คัดลอก สืบต่อกันมานานมาก คือพระไตรปิฎก แล้วเลือกเอามาแต่ส่วนที่ตรงกันระหว่างผลของการปฏิบัติ กับข้อเขียนเชิงทฤษฎีทำให้เห็นว่า ข้อเขียนเชิงทฤษฎีหรือคำสอนในพุทธศาสนานั้นมีหลายส่วน ที่เป็นส่วนขยายไม่ใช่หัวใจของพระพุทธศาสนาและในบางกรณีเกิดผลร้ายมาก คือส่วนขยายไปบดบัง ส่วนหัวใจหรือแก่นทำให้คนเข้าใจแก่นแบบไขว้เขวเกิดการปฏิบัติแบบเบี่ยงเบนซึ่งพบมากในปัจจุบัน เพราะในความจริงแล้ว ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแห่งผลประโยชน์ของมนุษย์ โดยที่แก่นแท้ของศาสนาคือ ทำหน้าที่ลดความเห็นแก่ตัวแต่อาจมีคนใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ตน หรือผลประโยชน์ของกลุ่ม ได้เสมอหรือจริงๆ แล้ว ทำอยู่ตลอดเวลา

ในหนังสือหน้า ๑๕๖ ระบุว่า ท่านพุทธทาสเน้นว่าการศึกษาพระพุทธศาสนาในเชิงทฤษฎีล้วนๆจะไม่ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจเรื่องจิตวิญญาณได้อย่างถูกต้องข้อความนี้ ผมคิดว่าเป็นจริงในทุกเรื่อง ไม่ใช่จริงเฉพาะเรื่องจิตวิญญาณ

ในการอ่านหนังสือนั้นผมชอบอ่านให้ได้ ภาพใหญ่ ของสาระในหนังสือ ที่ผู้เขียนต้องการบอกและภาพใหญ่ นั้น มักปรากฎอยู่ในชื่อบทของหนังสือ

ผมรู้สึกทันทีที่เห็นชื่อบทที่ ๕ จิตว่างและการล้มเลิกข้อแตกต่างระหว่างฆราวาสกับบรรพชิตว่าสอดคล้องกับคำของ อ.หมอประเวศ ว่าท่านพุทธทาสเป็นผู้ทำให้ธรรมะกลายเป็น ยาสามัญประจำบ้านผมต่อให้อีกหน่อยว่า แก้โรคมืดบอด

โป๊ะเชะผมพบที่หน้า ๒๘๓ ว่า ว่าง เต็ม ในคติเซนผมต่อเองว่า ว่างจากกิเลสมีปัญญาอยู่เต็ม

หนังสือเล่มนี้เขียนเสนอแนวคิดใหม่ๆ ของท่านพุทธทาสและในขณะเดียวกัน ก็แสดงข้อโต้แย้งของผู้ไม่เห็นด้วย (อาจเรียกว่า มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม) หรือผู้แสดงความเป็นศัตรูแบบเอาเป็นเอาตายวิธีเขียนแบบนี้ ช่วยทำให้แนวคิดของท่านพุทธทาสแจ่มชัดขึ้น และช่วยให้เข้าใจด้วยว่าทำไมจึงเกิดคำอธิบายแบบนั้นๆ ของท่านพุทธทาสผมเรียกวิธีเขียนหนังสือแบบนี้ว่า เขียนแบบมีบริบท

ผู้เขียนตีความบอกประเด็นที่สำคัญมากในเรื่องการพัฒนาคน หรือการศึกษา โดยอ้างจากหนังสือ บรมธรรม ว่า ประเทศญี่ปุ่นได้ใช้วิถีการพัฒนาทางจิตเป็นหลักนำแทนที่จะใช้วัตถุเป็นหลักนำทำให้ญี่ปุ่นในปัจจุบันนี้มีการพัฒนาทางวัตถุที่ก้าวหน้ามากเสียจนชาวต่างชาติรู้สึกเกรงกลัวดินแดนแห่งการพัฒนาจิตแห่งนี้ญี่ปุ่นมีการพัฒนาทางจิตในระดับสูง ... ซึ่งก็อยู่ในชีวิตประจำวัน และในวัฒนธรรมประจำชาติของพวกเขา นั่นคือ นิกายของพระพุทธศาสนาที่เราเรียกกันว่า เซน

ผู้เขียนตีความต่อในหน้า ๓๒๕ ว่า ประเด็นสำคัญก็คือว่าท่านพุทธทาสเห็นว่าการพัฒนาจิตตามแบบเซนนั้น ทำให้เกิดคุณสมบัติที่ดีต่างๆ ขึ้นในคนญี่ปุ่น เช่น ความตั้งใจมั่น ความอุตสาหะพยายาม ความเข้มแข็งในการทำงาน และความอดทน รวมทั้งความสุภาพและความอ่อนน้อม ซึ่งทั้งหมดนี้ถือได้ว่า เป็นคุณสมบัติของคนงานที่มีประสิทธิภาพและพึงประสงค์สำหรับนายจ้างทุกคน ...

นี่คือการตีความว่า ธรรมะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้บูรณาการสำหรับคนทุกคนเป็นเครื่องมือสร้างคนที่มีคุณสมบัติต่างๆ ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาประเทศ และน่าจะมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการวางยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาในขณะนี้ ที่ควรมีส่วนของการพัฒนาจิต เพื่อสร้างคุณสมบัติที่จำเป็นแห่งยุคสมัย

ที่หน้า ๓๗๔ ผมติดใจถ้อยคำว่า บุคคลในอุดมคติที่พอจะเห็นได้ จากระบบความคิดของท่านพุทธทาสนั้นไม่ใช่อริยสงฆ์ระดับพระอรหันต์ที่ปลีกตัวออกจากโลกแต่เป็นฆราวาสที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกตามแบบพระโพธิสัตว์คือ ทำงานเพื่อให้ตนเองบรรลุความหลุดพ้น ไปพร้อมๆ กับที่ช่วยเหลือสังคม ที่ปฏิบัติตามหลักจิตว่าง

ในปัจฉิมบท หน้า ๔๕๖ ผมติดใจข้อความว่า ข้อเขียนของ หลุยส์ กาโบด . ได้ชี้ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคำสอนในพระพุทธศาสนา ตามแบบประเพณีนิยมแล้วคำสอนของท่านพุทธทาสที่ตัดเรื่องปรัมปราออกไปจนหมดยังมีข้อบกพร่องที่สำคัญอยู่อีก ๒ ประการประการแรก คำสอนของท่านไม่มีสิ่งประโลมใจอย่างที่ชาวพุทธไทยจำนวนมากแสวงหาจากศาสนาประการที่ ๒ การที่ท่านตัดเรื่องราวเหนือธรรมชาติออกไปจากคำสอนในพระพุทธศาสนาอาจส่ง ผลให้การตีความคำสอนตามแนวใหม่ของท่านหลุดพ้นไปจากรากเหง้าเดิมที่คนส่วนใหญ่ยอมรับกัน

ตลอดเล่มของหนังสือ ผู้เขียนได้ชี้ว่า ผู้ที่ยึดปฏิบัติตามแนวทางของท่านพุทธทาสมีน้อยจำกัดอยู่เฉพาะชนชั้นกลางหัวก้าวหน้าแนวปฏิบัติของท่านเข้าไม่ถึงคนชั้นสูงและคนยากจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ทำให้ผมนึกถึงสมัยที่ท่านพุทธทาสยังมีชีวิตอยู่ผมไปที่สวนโมกข์ พบพี่ศิริ (ครูศิริ พานิช ลูกคนโตของคุณลุงธรรมทาส และเป็นบิดาของ ดร. โพธิพันธุ์ พานิช) ซึ่งเป็นคนสนุกและพูดจาขวานผ่าทรากท่านบอกว่ามีสวนโมกข์อยู่ที่นี่แต่ชาวบ้านโดยรอบสวนโมกข์เล่นการพนัน ลักขโมย และฆ่ากันแบบฆ่าล้างโคตรกันต้องเอาศพที่ต่างฝ่ายต่างโดนฆ่ามาสวดพร้อมกันที่วัดเดียวกันพี่ศิริเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว

ทำให้ผมนึกถึงคำว่า จุดแข็งคือจุดอ่อนคำสอนของท่านพุทธทาส เป็นคำสอนที่ประเทืองปัญญายิ่งนั่นคือจุดแข็งและจุดอ่อน

สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้เอ่ยถึงในหนังสือเล่มนี้ (และเล่มไหนๆ) คือปฏิปทา ของท่านพุทธทาสชีวิตทั้งชีวิตของท่านสอนอะไรเราผมตีความแบบของผม ว่าสอนเราในเรื่องเป็น นักเรียน ท่านเรียนทั้งจากการปฏิบัติและการตีความทฤษฎีแล้วเอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสังคม

ผมบอกตัวเองว่า สิ่งที่มีคุณค่าต่อตัวผม ของท่านพุทธทาสมี ๒ ส่วน คือส่วนคำสอน (ความรู้)กับส่วนวิธีเข้าถึงข้อสรุปในคำสอนเหล่านั้น (วิธีเข้าถึงความรู้ หรือ วิธีเรียนรู้)ผมให้น้ำหนักส่วนหลังมากกว่า น่าจะ 30 : 70คือส่วนหลังมีน้ำหนัก ๒ เท่าของส่วนแรกเราใช้ส่วนหลังเรียนรู้จากชีวิตจริง ปฏิบัติจริง ของเราเพื่อทำความเข้าใจโลก ชีวิต และวิธีทำให้ชีวิตเดินตามแนว โพธิสัตว์

คุณูปการยิ่งใหญ่ของท่านพุทธทาส ในความเห็นของผม คือท่าน empower คนทุกคน ว่าเป็นโพธิสัตว์ได้หากดำเนินชีวิตถูกต้อง

วิจารณ์ พานิช

๕ ต.ค. ๕๖

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 07 ตุลาคม 2013 เวลา 07:12 น.
 

เรื่องเล่าคอรัปชั่นในวงการศึกษา

พิมพ์ PDF

เรื่องเล่าคอรัปชั่นในวงการศึกษา

เช้าวันที่ ๖ ต.ค. ๕๖ ผมกำลังฟัง FM 100.5 รายการ Good Morning ASEAN ที่มีคุณทรงฤทธิ์ โพนเงิน เป็นวิทยากร และคุณวรวรรณ วรฤทธิ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ตอนท้ายของช่วงที่ ๒ คุยกันเรื่องการศึกษาลาว แล้วลามมาเรื่องของไทย คุณทรงฤทธิ์ เล่าเรื่องคอรัปชั่นในมหาวิทยาลัยไทยแห่งหนึ่ง โดย สร้างโครงการฝึกอบรมปลอม และเบิกเงินไป โดยไม่มีกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้น และเอ่ยการจ้างทำผลงานวิชาการ

วันที่ ๓ ต.ค. ไปประชุมของบริษัทใหญ่ระดับโลกแห่งหนึ่ง เขาเล่าให้ฟังว่า เมื่อไปเสนอขายสินค้าแก่วงการศึกษา เขาก็ถามว่าจะให้เท่าไร ทางบริษัทยึดถือหลักไม่ส่งเสริมคอรัปชั่น ก็จะตอบว่า ไม่สามารถให้เงิน kick back ได้ เจ้าหน้าที่บริษัทบอกว่าเขายืนหยัดไม่จ่าย แม้จะทำให้สูญโอกาสขายสินค้า

วันที่ ๔ ต.ค. ไปประชุมอีกที่หนึ่ง ในที่ประชุมมีการล้อเลียนกันว่าหน่วยงานนี้มีอาชีพเป็น organizer ด้วยหรือ แข่งขันรับงานรัฐได้ไหม นายแบ๊งค์ใหญ่คนหนึ่งร้องว่า งานรัฐมีบริษัทของนักการเมืองจองหมดแล้ว ถ้าจะไปสู้ ต้องเสนอเปอร์เซนต์ คืน สูงมาก

ผมแปลกใจ ที่เรื่องทำนองนี้มีการพูดในที่เปิดเผยโดยทั่วไป ทำไมไม่มีผู้รับผิดชอบ ดำเนินการกวาดล้างความชั่วร้ายนี้ หรือเรายอมรับความชั่วเสียแล้ว

วิจารณ์ พานิช

๖ ต.ค. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 07 ตุลาคม 2013 เวลา 07:07 น.
 

วิธีเลี้ยงลูกให้มีนิสัยใจคอดี

พิมพ์ PDF

วิธีเลี้ยงลูกให้มีนิสัยใจคอดี

บทความเรื่อง The Education of Character เขียนโดย Ingrid Wickelgren ตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ในปี ค.ศ. 2012 และพิมพ์ซ้ำในหนังสือ The Science of Education ในปี 2012 เล่าเรื่องวิธีช่วยให้เด็กพัฒนานิสัยใจคอ หรือให้มีบุคลิกที่ดีที่ฝรั่งเรียกว่า Character

ตัวคุณสมบัติทางสมองที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ Executive Function (EF) นั่นเอง โดยสมองส่วนควบคุม EF อยู่ที่ Amygdala ที่ฝังอยู่ตรงกลางสมอง และ Prefrontal cortex อยู่ที่ผิวสมองตรงหน้าผาก สองส่วนนี้จะมีใยประสาท ต่อถึงกัน ทำงานร่วมกันอย่างขมักเขม้น เพื่อสร้างคุณสมบัติความเป็นคนที่รอได้ ควบคุมตนเองได้ รวมทั้งการมีสมาธิจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และทักษะในการผ่อนคลายจิตใจของตนเอง ความสามารถเก็บข้อมูลสารสนเทศไว้ในใจ นำเอาสารสนเทศนั้นมาใช้ในจังหวะที่เหมาะสม ไม่เกิดความสับสนระหว่างสารสนเทศที่หลากหลาย ทำให้มีขีดความสามารถในการเรียนรู้สูง อดทน มีความานะพยายามเมื่อเผชิญความยากลำบาก รวมทั้งมีความสามารถยับยั้งชั่งใจ ควบคุมอารมณ์ได้ ไม่แสดงปฏิกิริยาที่ไม่เหมาะสมออกไป

บทความนี้มีลักษณะเป็นการทบทวนผลงานวิจัย ทั้งที่แสดงอิทธิพลของ EF ต่อวิถีชีวิตของแต่ละคน และที่เป็นหลักฐานยืนยันว่า เด็กกลุ่มที่ EF ดี จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีชีวิตดีประสบปัญหาชีวิตน้อยกว่ากลุ่มที่ EF ต่ำ

คุณสมบัตินี้เชื่อมโยงกับ IQ แต่สำคัญต่อชีวิตยิ่งกว่า

วิธีพัฒนา EF

ในบทความนี้แนะนำหลายวิธี ได้แก่

1. วิธีการฝึกสมาธิหลากหลายแบบ รวมทั้งวิธีกำหนดลมหายใจ มาตรวัดอารมณ์ (mood meter) การตรวจสอบความเครียดที่ Amygdala บัตรใบหน้าแสดงอารมณ์ (facial-expression card) วิธีใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรมชื่อ MindUp ซึ่งใช้หลักการ จิตวิทยาเชิงบวก เป็นวิธีการฝึกที่คิดค้นจากความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ และจิตวิทยาการเรียนรู้ มีการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง

วิธีฝึกการหายใจ ช่วยทำให้ Amygdala 'เชื่อง' ลง และทำให้ Prefrontal Cortex เข้มแข็งมั่นคงขึ้น คือรับสัญญาณอารม์ที่ป้อนมาจาก Amygdala อย่างมีสติยับยั้งชั่งใจ

Amygdala ที่ยัง 'เถื่อน' อยู่ จะส่งสัญญาณอารมณ์แบบดิบๆ และรุนแรงสัญญาณแบบนี้จะมีส่วนสร้างความอ่อนแอให้แก่ Prefrontal Cortex ลดความสามารถในการคิด และการเรียน

การทำสมาธิ (mindfullness) มีส่วนช่วยลดมรสุมความเครียด เพราะมันทำให้จิตอยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่หันไปคิดเรื่องปัญหาในอดีต หรือคิดวิตกกังวลต่อสิ่งที่ยังมาไม่ถึง คืออนาคต เป็นการตัดวงจรความเครียด และนี่คือตัวหลักการของ คอมพิวเตอร์โปรแกรม MindUp

ความเครียด เป็นตัวบ่อนทำลาย EF นี่คือคำอธิบายอย่างหนึ่งว่า ทำไมเด็กจากครอบครัวที่มีเศรษฐฐานะไม่ดีจึงมี EF ต่ำ เพราะเขาตกอยู่ ใต้สภาพชีวิตที่มีความเครียดเรื้อรัง

2. CASEL (Collaborative for Academic, Social and Emotional Learning) เพื่อให้นักเรียนฝึกทักษะการแก้ปัญหา การจัดการความขัดแย้ง การตัดสินใจอย่างรับผิดชอบ การพัฒนาความสัมพันธ์ การกำหนดเป้าหมายความมุ่งมั่น และความมีวินัยในตน

3. หนังสือเอ่ยถึงวิธีฝึกสติ ให้สติจดจ่อกับผัสสะในขณะนั้นของตน ที่เรียกว่า Sensory Mindfullness ซึ่งทำให้ผมนึกถึงการฝึกสติสำนักหลวงพ่อเทียน

4. มีการทดลอง Exercise Mindfullness ให้เด็ก ป. ๒ - ป. ๓ กลุ่มหนึ่งฝึกนั่งสมาธิ, ออกกำลังกาย, และเล่นเกมที่คิดขึ้น แล้ววัดทักษะด้านการยับยั้งชั่งใจ การกำหนดใจจดจ่อ ความจำใช้งาน และการควบคุมอารมณ์ พบว่าหลังฝึกไป ๘ สัปดาห์ เด็กกลุ่มทดลอง มีทักษะที่กล่าวถึง ดีกว่ากลุ่ม control อย่างชัดเจน

5. วิธีการฝึกอีกแบบหนึ่งเป็นขององค์กรที่ชื่อ PATHS (Promoting Alternative Thinking Strategies)

6. เครื่องมือ Tools of the Mind

7. วิธีแขวนภาพสมอง ระบุส่วนสำคัญ ๓ ส่วนให้เด็กเห็นอยู่เสมอ พร้อมทั้งครูคอยอธิบาย กลไกการเรียนรู้ในช่วงขณะนั้นๆ เชื่อมโยงกับสมองแต่ละส่วน ส่วนสำคัญ ๓ ส่วนคือ (1) Amygdala ศูนย์ทางผ่านกระแสอารมณ์ (2) Prefrontal Cortexศูนย์ความมีสติยับยั้งชั่งใจ และ (3) Hippocampus ศูนย์ความจำ วิธีแขวนภาพและเอ่ยถึงภาพเช่นนี้ ช่วยเชื่อมโยง กิจกรรมการเรียนรู้ กับการเติบโตหรือพัฒนาการของสมอง จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ขั้นตอน การเรียนรู้ของตนเอง ที่เรียกว่า Metacognition ช่วยให้การเรียนรู้ดีขึ้น ครบถ้วนขึ้น และช่วยสร้างกระบวนทัศน์ 'พรแสวง' ในการเรียนรู้ กระบวนการนี้ ช่วยให้ นักเรียนเห็นประจักษ์ ว่าตนเองสามารถฝึกควบคุมการคิด และการเรียนรู้ของตนเองได้ ช่วยให้กระบวนการเรียนรู้งอกงาม

8. การแยกความรู้สึกออกจากตน เฝ้ามองความรู้สึกโดยไม่เข้าไปพัวพัน ไม่ตกเป็นทาส ของความรู้สึกนั้น

9. สร้างอารมณ์บวก อารมณ์ Dopamine โดยครูหาวิธีทำให้การเรียนสนุกสนาน

ปัญหาของการวิจัยเพื่อพัฒนา EF ก็คือ ยังไม่มีวิธีวัด EF ที่แม่นยำ

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ก.ย. ๕๖

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 06 ตุลาคม 2013 เวลา 19:06 น.
 


หน้า 437 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5606
Content : 3049
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8602165

facebook

Twitter


บทความเก่า