Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

เรื่องเล่าคอรัปชั่นในวงการศึกษา

พิมพ์ PDF

เรื่องเล่าคอรัปชั่นในวงการศึกษา

เช้าวันที่ ๖ ต.ค. ๕๖ ผมกำลังฟัง FM 100.5 รายการ Good Morning ASEAN ที่มีคุณทรงฤทธิ์ โพนเงิน เป็นวิทยากร และคุณวรวรรณ วรฤทธิ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ตอนท้ายของช่วงที่ ๒ คุยกันเรื่องการศึกษาลาว แล้วลามมาเรื่องของไทย คุณทรงฤทธิ์ เล่าเรื่องคอรัปชั่นในมหาวิทยาลัยไทยแห่งหนึ่ง โดย สร้างโครงการฝึกอบรมปลอม และเบิกเงินไป โดยไม่มีกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้น และเอ่ยการจ้างทำผลงานวิชาการ

วันที่ ๓ ต.ค. ไปประชุมของบริษัทใหญ่ระดับโลกแห่งหนึ่ง เขาเล่าให้ฟังว่า เมื่อไปเสนอขายสินค้าแก่วงการศึกษา เขาก็ถามว่าจะให้เท่าไร ทางบริษัทยึดถือหลักไม่ส่งเสริมคอรัปชั่น ก็จะตอบว่า ไม่สามารถให้เงิน kick back ได้ เจ้าหน้าที่บริษัทบอกว่าเขายืนหยัดไม่จ่าย แม้จะทำให้สูญโอกาสขายสินค้า

วันที่ ๔ ต.ค. ไปประชุมอีกที่หนึ่ง ในที่ประชุมมีการล้อเลียนกันว่าหน่วยงานนี้มีอาชีพเป็น organizer ด้วยหรือ แข่งขันรับงานรัฐได้ไหม นายแบ๊งค์ใหญ่คนหนึ่งร้องว่า งานรัฐมีบริษัทของนักการเมืองจองหมดแล้ว ถ้าจะไปสู้ ต้องเสนอเปอร์เซนต์ คืน สูงมาก

ผมแปลกใจ ที่เรื่องทำนองนี้มีการพูดในที่เปิดเผยโดยทั่วไป ทำไมไม่มีผู้รับผิดชอบ ดำเนินการกวาดล้างความชั่วร้ายนี้ หรือเรายอมรับความชั่วเสียแล้ว

วิจารณ์ พานิช

๖ ต.ค. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 07 ตุลาคม 2013 เวลา 07:07 น.
 

วิธีเลี้ยงลูกให้มีนิสัยใจคอดี

พิมพ์ PDF

วิธีเลี้ยงลูกให้มีนิสัยใจคอดี

บทความเรื่อง The Education of Character เขียนโดย Ingrid Wickelgren ตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ในปี ค.ศ. 2012 และพิมพ์ซ้ำในหนังสือ The Science of Education ในปี 2012 เล่าเรื่องวิธีช่วยให้เด็กพัฒนานิสัยใจคอ หรือให้มีบุคลิกที่ดีที่ฝรั่งเรียกว่า Character

ตัวคุณสมบัติทางสมองที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ Executive Function (EF) นั่นเอง โดยสมองส่วนควบคุม EF อยู่ที่ Amygdala ที่ฝังอยู่ตรงกลางสมอง และ Prefrontal cortex อยู่ที่ผิวสมองตรงหน้าผาก สองส่วนนี้จะมีใยประสาท ต่อถึงกัน ทำงานร่วมกันอย่างขมักเขม้น เพื่อสร้างคุณสมบัติความเป็นคนที่รอได้ ควบคุมตนเองได้ รวมทั้งการมีสมาธิจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และทักษะในการผ่อนคลายจิตใจของตนเอง ความสามารถเก็บข้อมูลสารสนเทศไว้ในใจ นำเอาสารสนเทศนั้นมาใช้ในจังหวะที่เหมาะสม ไม่เกิดความสับสนระหว่างสารสนเทศที่หลากหลาย ทำให้มีขีดความสามารถในการเรียนรู้สูง อดทน มีความานะพยายามเมื่อเผชิญความยากลำบาก รวมทั้งมีความสามารถยับยั้งชั่งใจ ควบคุมอารมณ์ได้ ไม่แสดงปฏิกิริยาที่ไม่เหมาะสมออกไป

บทความนี้มีลักษณะเป็นการทบทวนผลงานวิจัย ทั้งที่แสดงอิทธิพลของ EF ต่อวิถีชีวิตของแต่ละคน และที่เป็นหลักฐานยืนยันว่า เด็กกลุ่มที่ EF ดี จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีชีวิตดีประสบปัญหาชีวิตน้อยกว่ากลุ่มที่ EF ต่ำ

คุณสมบัตินี้เชื่อมโยงกับ IQ แต่สำคัญต่อชีวิตยิ่งกว่า

วิธีพัฒนา EF

ในบทความนี้แนะนำหลายวิธี ได้แก่

1. วิธีการฝึกสมาธิหลากหลายแบบ รวมทั้งวิธีกำหนดลมหายใจ มาตรวัดอารมณ์ (mood meter) การตรวจสอบความเครียดที่ Amygdala บัตรใบหน้าแสดงอารมณ์ (facial-expression card) วิธีใช้คอมพิวเตอร์โปรแกรมชื่อ MindUp ซึ่งใช้หลักการ จิตวิทยาเชิงบวก เป็นวิธีการฝึกที่คิดค้นจากความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ และจิตวิทยาการเรียนรู้ มีการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง

วิธีฝึกการหายใจ ช่วยทำให้ Amygdala 'เชื่อง' ลง และทำให้ Prefrontal Cortex เข้มแข็งมั่นคงขึ้น คือรับสัญญาณอารม์ที่ป้อนมาจาก Amygdala อย่างมีสติยับยั้งชั่งใจ

Amygdala ที่ยัง 'เถื่อน' อยู่ จะส่งสัญญาณอารมณ์แบบดิบๆ และรุนแรงสัญญาณแบบนี้จะมีส่วนสร้างความอ่อนแอให้แก่ Prefrontal Cortex ลดความสามารถในการคิด และการเรียน

การทำสมาธิ (mindfullness) มีส่วนช่วยลดมรสุมความเครียด เพราะมันทำให้จิตอยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่หันไปคิดเรื่องปัญหาในอดีต หรือคิดวิตกกังวลต่อสิ่งที่ยังมาไม่ถึง คืออนาคต เป็นการตัดวงจรความเครียด และนี่คือตัวหลักการของ คอมพิวเตอร์โปรแกรม MindUp

ความเครียด เป็นตัวบ่อนทำลาย EF นี่คือคำอธิบายอย่างหนึ่งว่า ทำไมเด็กจากครอบครัวที่มีเศรษฐฐานะไม่ดีจึงมี EF ต่ำ เพราะเขาตกอยู่ ใต้สภาพชีวิตที่มีความเครียดเรื้อรัง

2. CASEL (Collaborative for Academic, Social and Emotional Learning) เพื่อให้นักเรียนฝึกทักษะการแก้ปัญหา การจัดการความขัดแย้ง การตัดสินใจอย่างรับผิดชอบ การพัฒนาความสัมพันธ์ การกำหนดเป้าหมายความมุ่งมั่น และความมีวินัยในตน

3. หนังสือเอ่ยถึงวิธีฝึกสติ ให้สติจดจ่อกับผัสสะในขณะนั้นของตน ที่เรียกว่า Sensory Mindfullness ซึ่งทำให้ผมนึกถึงการฝึกสติสำนักหลวงพ่อเทียน

4. มีการทดลอง Exercise Mindfullness ให้เด็ก ป. ๒ - ป. ๓ กลุ่มหนึ่งฝึกนั่งสมาธิ, ออกกำลังกาย, และเล่นเกมที่คิดขึ้น แล้ววัดทักษะด้านการยับยั้งชั่งใจ การกำหนดใจจดจ่อ ความจำใช้งาน และการควบคุมอารมณ์ พบว่าหลังฝึกไป ๘ สัปดาห์ เด็กกลุ่มทดลอง มีทักษะที่กล่าวถึง ดีกว่ากลุ่ม control อย่างชัดเจน

5. วิธีการฝึกอีกแบบหนึ่งเป็นขององค์กรที่ชื่อ PATHS (Promoting Alternative Thinking Strategies)

6. เครื่องมือ Tools of the Mind

7. วิธีแขวนภาพสมอง ระบุส่วนสำคัญ ๓ ส่วนให้เด็กเห็นอยู่เสมอ พร้อมทั้งครูคอยอธิบาย กลไกการเรียนรู้ในช่วงขณะนั้นๆ เชื่อมโยงกับสมองแต่ละส่วน ส่วนสำคัญ ๓ ส่วนคือ (1) Amygdala ศูนย์ทางผ่านกระแสอารมณ์ (2) Prefrontal Cortexศูนย์ความมีสติยับยั้งชั่งใจ และ (3) Hippocampus ศูนย์ความจำ วิธีแขวนภาพและเอ่ยถึงภาพเช่นนี้ ช่วยเชื่อมโยง กิจกรรมการเรียนรู้ กับการเติบโตหรือพัฒนาการของสมอง จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ขั้นตอน การเรียนรู้ของตนเอง ที่เรียกว่า Metacognition ช่วยให้การเรียนรู้ดีขึ้น ครบถ้วนขึ้น และช่วยสร้างกระบวนทัศน์ 'พรแสวง' ในการเรียนรู้ กระบวนการนี้ ช่วยให้ นักเรียนเห็นประจักษ์ ว่าตนเองสามารถฝึกควบคุมการคิด และการเรียนรู้ของตนเองได้ ช่วยให้กระบวนการเรียนรู้งอกงาม

8. การแยกความรู้สึกออกจากตน เฝ้ามองความรู้สึกโดยไม่เข้าไปพัวพัน ไม่ตกเป็นทาส ของความรู้สึกนั้น

9. สร้างอารมณ์บวก อารมณ์ Dopamine โดยครูหาวิธีทำให้การเรียนสนุกสนาน

ปัญหาของการวิจัยเพื่อพัฒนา EF ก็คือ ยังไม่มีวิธีวัด EF ที่แม่นยำ

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ก.ย. ๕๖

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 06 ตุลาคม 2013 เวลา 19:06 น.
 

ดัชนีทุนทรัพยากรมนุษย์

พิมพ์ PDF

ดัชนีทุนทรัพยากรมนุษย์

ผมได้รับ อีเมล์ ดังต่อไปนี้ ซึ่งอ่านแล้วก็ใจชื้น ว่าของไทยเราพอใช้ได้ แต่จะให้ดีต้องเข้าไปศึกษารายละเอียดวิธีคิด และวิธีวัดของWEF ว่าน่าเชื่อถือได้เพียงไร เราจะใช้หลักการอะไรที่ดีกว่า สำหรับใช้พัฒนาคนของเรา

ที่ผมแปลกใจ คือ pillar health wellness ของไทยด้อยกว่า ของเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ได้อย่างไร ผมจะขอให้ผู้รู้ช่วยศึกษาและอธิบาย

หมายเหตุวันที่ ๕ ต.ค. ๕๖

ข้อมูลนี้ผิดครับ ที่ถูกต้องอยู่ที่ส่วนแก้ไขใหม่ ในส่วน ความเห็นข้างล่าง ขอบคุณ ดร. มงคลที่ช่วยสอบทานและแก้ไข

 

เรียน อาจารย์หมอวิจารณ์ ที่นับถือ

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 World Economic Forum (WEF) ได้เผยแพร่รายงานดัชนีทุนทรัพยากรมนุษย์ฉบับปี ค.ศ. 2013 ซึ่งเป็นฉบับแรกสุดของดัชนีเกี่ยวกับศักยภาพทุนทรัพยากรมนุษย์ ที่ประกอบด้วยเสาหลัก (Pillars) 4 ด้าน คือ 1) Health and Wellness 2) Education 3) Workforce and Employment และ 4) Enabling Environment โดยมีประเทศที่ได้รับการพิจารณาตามเกณฑ์ดังกล่าวนี้ 122 ประเทศ ปรากฏผลโดยรวม Score (เต็ม 1.5) ดังนี้

Top 10 of the World ได้แก่ 1) Switzerland (1.455) 2) Finland (1.406) 3) Singapore (1.232) 4) Netherlands (1.161) 5) Sweden (1.111) 6) Germany (1.109) 7) Norway (1.104) 8) United Kingdom (1.042) 9) Denmark (1.014) 10) Canada (0.987)

Top 10 of Asia Pacific ได้แก่ 3) Singapore (1.232) 12) New Zealand (0.978) 15) Japan (0.948) 19) Australia (0.831) 22) Malaysia (0.644) 23) Korea, Rep. (0.640) 43) China (0.186) 44) Thailand (0.518) 50) Sri Lanka (0.020) 53) Indonesia (0.001)

Top 8 of ASEAN ได้แก่3) Singapore (1.232)22) Malaysia (0.644)44) Thailand (0.518)53) Indonesia (0.001) 66) Philippines (-0.161) 70) Vietnam (-0.202) 80) Lao PDR (-0.297) 96) Cambodia (-0.505)

เป็นที่น่าสังเกตว่าในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน อันดับที่ดีที่สุดของไทยอยู่ใน Pillar 3 (Workforce and Employment)เป็นอันดับ 27 ของโลก แต่ก็ยังตามสิงคโปร์และมาเลเซีย (อันดับ 2 และ 28 ตามลำดับ) ส่วน Pillar ที่ไทยได้อันดับแย่ที่สุด อยู่ใน Pillar 1 (Health and Wellness)ได้อันดับ 79 รองมาจาก สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ทั้งนี้สามารถดูรายละเอียดทั้งหมดได้ในไฟล์รายงานเต็มฉบับ 549 หน้าในไฟล์ WEF_HumanCapitalReport_2013 ที่แนบมาพร้อมนี้ หรือดูได้ที่เว็บลิงค์

http://www.weforum.org/nr_hci13

 

หรือติดตามเว็บลิงค์ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ต่อท้ายอีเมล์ฉบับนี้

 

ผมจึงขอส่งเรื่องนี้มายังอาจารย์ เพื่อพิจารณานำลงบล็อกสภามหาวิทยาลัย เพื่อ ลปรร. ในวงวิชาการมหาวิทยาลัยไทยต่อไป ตามที่เห็นสมควรด้วย จักขอบคุณยิ่ง

 

มงคล รายะนาคร

 

ส่วนที่แปลกใจอีกเหมือนกันคือ เขาให้คะแนน pillar 3 Workforce Employment ของเราเข้มแข็งมากทั้งๆ ที่ภาคธุรกิจร้องเสียงดัง ว่าบัณฑิตหรือผู้จบการศึกษาของเราทำงานไม่เป็น นี่ก็เป็นเรื่องที่ควรมีคนทำความกระจ่าง

ขอขอบคุณ รศ. ดร. มงคล รายะนาคร (เจ้าประจำ) ที่กรุณาส่งข้อมูลมาให้ หาก อ. ดร. มงคล จะช่วยเจาะลึกใน ๒ ประเด็นแปลกใจ ก็จะมีประโยชน์มากครับ

วิจารณ์ พานิช

๔ ต.ค. ๕

 

 

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

ความคิดเห็นของคุณ บุษยมาศ

ส่วนที่แปลกใจอีกเหมือนกันคือ เขาให้คะแนน pillar 3 Workforce Employment ของเราเข้มแข็งมากทั้งๆ ที่ภาคธุรกิจร้องเสียงดัง ว่าบัณฑิตหรือผู้จบการศึกษาของเราทำงานไม่เป็น นี่ก็เป็นเรื่องที่ควรมีคนทำความกระจ่าง...

"น่าจะไม่ใช่แล้วมังค่ะ...จบแล้วทำงานไม่เป็น ถ้าจะไม่จริง...จากที่อยู่งานบุคคลมา สังเกตเห็นเด็กใหม่ ๆ ที่จบมา ถ้าเปรียบแล้วก็เหมือน ๐ สำหรับความรู้ในเรื่องงาน แต่สิ่งที่จะค่อย ๆ เติมเต็มให้พวกเขาขึ้นเรื่อย ๆ นั่น คงขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่จะต้องให้การอบรม ให้ความรู้กับพวกเขาให้มากยิ่งขึ้น มิใช่ปล่อยให้พวกเขาได้ศึกษาเอง แล้วก็มาโทษว่าบัณฑิตหรือผู้จบการศึกษาทำงานไม่เป็น...เพราะการจะเป็นงานนั้น ลักษณะของงานแต่ละที่ไม่เหมือนกัน เด็กจบใหม่มีความรู้ทางทฤษฎีได้ในระดับหนึ่งค่ะ...

ความเห็นของผู้ใช้นามว่า GD

ดิฉันไม่เชื่อข่าวที่ออกมาว่าคุณภาพการศึกษาไทยเป็นอันดับ 8 รองจากเขมรมาตั้งแต่แรกแล้ว จะเอาผลของคำถามทีถามนักธุรกิจระดับที่มี potential เพียงไม่กี่คนของแต่ละประเทศมาตัดสินคุณภาพการศึกษาของทั้งระบบได้อย่างไร  สรุปได่อย่างเดียวว่า ผู้ตอบชาวเขมรพอใจระบบของตน มากกว่านักธุรกิจไทยพอใจระบบของไทยเท่านั้น  เขาคงตั้งความหวังสูงเกินไป เป็นเพียงความรู้สึก ระดับการแข่งขันของประเทศที่ 37 ใน 150 กว่าประเทศ ดีขึ้นจากปีที่แล้ว ต้องมีผลมาจากการศึกษาในประเทศไม่น้อยเลย

ความเห็นของคุณมงคล รายะนาคร

ก่อนอื่น ผมขออนุญาตแก้ไขข้อความและคำที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนในอีเมล์จากผมถึงอาจารย์หมอวิจารณ์ เรื่องดัชนีทุนทรัพยากรมนุษย์ ข้างต้นนนี้ ดังนี้

ในท่อนแรก ขอแก้ลำดับเสาหลัก (Pillars) จาก "เสาหลัก (Pillars) 4 ด้าน คือ 1) Health and Wellness 2) Education 3) Workforce and Employment และ 4) Enabling Environment" เป็น "เสาหลัก (Pillars) 4 ด้าน คือ 1) Education 2) Health and Wellness 3) Workforce and Employment และ 4) Enabling Environment"

ในท่อนเกือบสุดท้าย ขอแก้คำในวงเล็บต่อจากคำว่า Pillar จาก "Pillar 1 (Health and Wellness)ได้อันดับ 79 รองมาจาก สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม" เป็น "Pillar 1 (Education)ได้อันดับ 79 รองมาจาก สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม"

ผมต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่งในความผิดพลาดของผมมายังอาจารย์หมอวิจารณ์และทุกท่านที่เข้ามาอ่านในบล็อกนี้ และเพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องศักยภาพด้านทุนทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย ผมขอยกอันดับ (Rank) ในภาพรวมทุกด้าน (Overall index rank) และอันดับในด้านหลักทั้งสี่ด้าน จากรายงาน The Human Capital Report 2013 เฉพาะของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับในครั้งแรกนี้ 8 ประเทศ มาเพื่อพิจารณาร่วมกันต่อไป ณ ที่นี้ ดังนี้

Country Overall index Education Health & wellness Workforce & employment Enabling environment
Singapore 3 3 13 2 5
Malaysia 22 34 39 18 22
Thailand 44 79 40 27 48
Indonesia 53 61 84 32 58
Philippines 66 65 96 38 78
Vietnam 70 73 88 57 73
Lao PDR 80 83 91 59 80
Cambodia 96 99 102 42 93

ทั้งนี้ หากท่านที่สนใจในเรื่องนี้ กรุณาเข้าไปดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม (549หน้า) ได้ที่ลิงค์ข้างล่างนี้ แล้วมาแบ่งปันความรู้และความคิดเห็นกันต่อไปด้วย ก็จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากยิ่งขึ้นนะครับ

http://www3.weforum.org/docs/WEF_HumanCapitalReport_2013.pdf

ความเห็นของ ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

ผมเห็นด้วยกับความเห็นของคุณบุษยมาศ และ ของผู้ใช้นามว่า GD ครับ จากที่ผมสัมผัสกับคนทั้งผู้ประกอบการ พนักงาน ข้าราชการ และ คนในทุกกลุ่ม ทั่วโลก ผม มีความเชื่อว่าคนไทย เป็นคนที่มีความสามารถสูง และมีความเก่งเรียนรู้ได้เร็ว คนไทยเป็นคนที่มีคุณภาพสูง แต่คนไทยส่วนมากถูกกดโดยผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า ไม่ให้โอกาส และไม่ส่งเสริมคนของเราเอง ผมเคยมีลูกน้องทั้งชาติตะวันตก ชาติเอเซีย ติดต่อกับคู่ค้าทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ขอยืนยันว่าคนไทยไม่ด้อยกว่าคนชาติไหนๆครับ เรื่องการเปรียบเทียมผมเห็นด้วยกับคุณผู้ใช้นามว่า GD ผมโต้เถียงและถามผู้ที่เอาข้อมูลมาว่าคนไทยภาษาอังกฤษอ่อน และมีความรู้ภาษาอังกฤษน้อยกว่าคนเวียตนาม และอื่นๆ ผู้กล่าวก็ไม่สามารถตอบได้ชัดเจน และผมขอสรุปได้เลยว่าเป็นการเปรียบเทียบในฐานที่แตกต่างกัน คนไทยที่ภาษาอังกฤษดีๆมีมากแต่เข้าไปทำงานหรือทำธุรกิจที่ผู้ทำวิจัยเข้าไม่ถึง

สรุปคนไทยไม่สนับสนุนและส่งเสริมคนของตัวเอง กดเข้าไว้ไม่ให้โต ผู้ประกอบการบ้านเราใช้คนเหมือนกับ คนไปตลาดดอกไม้เลือกดอกไม่สวยๆที่อยู่ในกระถาง เมื่อซื้อกลับมาบ้านก็ไม่สวยเหมือนอยู่ในร้าน เพราะไม่ได้ดูแลและรักษาเลี้ยงดูเหมือนที่อยู่กับชาวสวน

คนไทยขาดโอกาสครับ ไม่ใช่ขาดความสามารถ ผู้ใหญ่ต้องหันมาช่วยกันสร้างโอกาสและหาวิธีการส่งเสริม และสร้างแรงจูงใจไม่ใช่มัวแต่กดไว้เพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์เพื่อตัวเอง

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

5 ตุลาคม 2556

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 05 ตุลาคม 2013 เวลา 10:20 น.
 

เรียนเชื่อ กับเรียนแย้ง

พิมพ์ PDF

ผมสังเกตเห็นว่า วงการศึกษาไทยในปัจจุบัน มีลักษณะ ศรัทธานำ หรือเรียนแบบศิษย์เชื่อครู ตัวครูเองก็สอนให้ศิษย์เชื่อครู เชื่อตามที่ครูบอก ในขณะที่การศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑ เน้นการเรียนรู้แบบฝึก ให้เชื่อตัวเอง เชื่อผัสสะของตนเอง จากการที่ตนเองลงมือทำ ตามด้วยการไตร่ตรอง (reflection) แบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ โดยมีครูเป็นโค้ช การศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑ จึงเน้นผัสสะนำ ไม่ใช่ศรัทธานำ เป็นการศึกษาที่ตรงตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ กาลามสูตร

ในศตวรรษที่ ๒๑ โลกเต็มไปด้วยความซับซ้อน ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน การเรียนรู้ต้อง อยู่บนฐานความจริงนี้ การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ จึงต้อง เรียนแย้ง ไม่ใช่ เรียนเชื่อ เพราะในโลกที่ซับซ้อนและไม่แน่นอนเช่นนี้ คนเราต้องฝึกมองหลายมุม ฝึกให้กล้ามีมุมมองของตนเอง

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องฝึกรับฟังการตีความผัสสะของคนอื่นด้วย จากประสบการณ์เดียวกัน นั่นคือ ต้องเรียนรู้เพื่อทักษะในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการปฏิบัติ แลกเปลี่ยนการตีความผัสสะของตัวเราต่อเพื่อน และรับฟังการตีความผัสสะของเพื่อน เพื่อนำมาเป็นข้อเรียนรู้ของเรา ให้ได้เห็นว่า คนเราตีความผัสสะ ไม่เหมือนกัน หรือแม้เหมือนกันก็ไม่เหมือนกันทั้งหมด

คือเรียนรู้ที่จะเคารพมุมมองของผู้อื่น นำมาเป็นข้อเรียนรู้เพิ่มเติมแก่ตนเอง

จริงๆ แล้ว ต้องทั้งเรียนแย้งและเรียนเชื่อในเวลาเดียวกัน

หากแย้งออกไปด้วยวาจา ก็แย้งอย่างเคารพความเห็นของผู้อื่น อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ว่าการตีความของตนอาจผิดก็ได้ แต่ตนรับรู้ผัสสะแล้วตีความอย่างนั้น

การกล้าแย้ง กล้าแตกต่าง เป็นคุณสมบัติของมนุษย์ที่ต้องการสำหรับการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑ ภาษาอังกฤษว่า Dare to be different หรือเรียกว่าคุณสมบัติ differentiation

การศึกษาที่เน้นศรัทธานำ ไม่เหมาะต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑

กล่าวแล้วก็ต้องแย้งตนเองเสียหน่อย

การเรียนรู้ต้องมีส่วนศรัทธานำด้วย ในเรื่องเป้าหมายการเรียนรู้เพื่อพัฒนาไปสู่การทำหรือปฏิบัติ เพื่อคุณค่าที่ยิ่งใหญ่กว่าผลประโยชน์ของตนเอง ตีความได้ว่า เพื่อศรัทธาต่อพระเจ้า ก็ได้

 

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 05 ตุลาคม 2013 เวลา 10:34 น.
 

THE World University Ranking 2013-2014

พิมพ์ PDF
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งแรกของไทยที่ผันตัวเองมาจากมหาวิทยาลัยของรัฐ ได้รับการจัดอันดับโดย THE ติดต่อกันเป็นปีที่สอง ในขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นๆของไทย ไม่ได้รับการจัดอันดับโดย THE ตั้งแต่ปีกลายมาแล้ว

THE World University Ranking 2013-2014

ผมได้รับ อีเมล์ จาก รศ. ดร. มงคล รายะนาคร ดังนี้

Times Higher Education (THE) ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกปีนี้คือ THE World University Rankings 2013-2014 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2556 ปรากฏผลโดยย่อดังนี้

Top 10 of the World: 1) California Institute of Technology 2) HarvardUniversity 3) University of Oxford 4) Stanford University 5) Massachusetts Institute of Technology 6) Princeton University 7) University of Cambridge 8) University of California, Berkeley 9) University of Chicago 10) Imperial College London

อันดับโลกของมหาวิทยาลัย Top 10 of Asia: 23) The University of Tokyo 26) National University of Singapore (NUS) 43) The University of Hong Kong 44) Seoul National University 45) Peking University 50) Tsinghua University 52) Kyoto University 56) Korea Advanced Institute of Science and Technology 57) Hong Kong University of Science and Technology 60) Pohang University of Science and Technology

ประเทศในกลุ่มอาเซียน มีมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับครั้งนี้เพียง 3 แห่ง โดยมีอันดับโลกตามลำดับดังนี้ 26) NUS 76) Nanyang Technological University (NTU) 301-350) King Mongkut's University of Technology Thonburi (KMUTT)

สำหรับตัวชี้วัดสมรรถนะ (Performance Indicators) ที่ THE ใช้ในการจัดอันดับครั้งนี้มีทั้งหมด 9 ตัวชี้วัด จัดอยู่ใน 5 ด้าน (Areas)เหมือนปีกลาย คือ 1) Teaching (30%) 2) Research (30%) 3) Citations (30%) 4) Industry Income (2.5%) 5) International Outlook (7.5%)

เป็นที่น่าสังเกตว่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT)ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแห่งแรกของไทยที่ผันตัวเองมาจากมหาวิทยาลัยของรัฐ ได้รับการจัดอันดับโดย THE ติดต่อกันเป็นปีที่สอง ในขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นๆของไทย ไม่ได้รับการจัดอันดับโดย THE ตั้งแต่ปีกลายมาแล้ว

สำหรับรายละเอียดการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกโดย THE สามารถดูได้ที่เว็บไซต์ไปนี้

www.timeshighereducation.co.uk หรือที่ http://www.timeshighereducation.co.uk/world-university-rankings/

 

ผมจึงขอส่งอีเมล์เรื่องนี้มายังอาจารย์ เพื่อพิจารณานำลงบล็อกสภามหาวิทยาลัย เพื่อ ลปรร. ในวงวิชาการมหาวิทยาลัยไทย ตามที่เห็นสมควรด่อไปด้วยจะขอบคุณมาก

มงคล รายะนาคร

วิจารณ์ พานิช

๔ ต.ค. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 05 ตุลาคม 2013 เวลา 10:22 น.
 


หน้า 438 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5611
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8635627

facebook

Twitter


บทความเก่า