Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ฝึกศิษย์ให้เป็นคนที่ควบคุมตนเองได้

พิมพ์ PDF

ทักษะกำกับดูแลตนเองได้ (personal mastery) หรือวินัยในตน (self-discipline)  เป็นสุดยอดของทักษะทั้งปวง เป็นทักษะพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตที่ดี ชีวิตที่พอเพียง    การศึกษาต้องปูพื้นฐานทักษะนี้ให้แก่เด็กทุกคน   ย้ำว่า แก่เด็กทุกคน

และย้ำว่า เป็นหน้าที่ของระบบการศึกษาที่เป็นทางการ ที่จะต้องรับผิดชอบปลูกฝังทักษะ หรือลักษณะนิสัยนี้ ให้แก่เด็กทุกคน    โดยผมเชื่อว่า ทำได้โดยวิธี สอนแบบไม่สอน

วิธีการที่แยบยลยิ่ง เล่าไว้ในหนังสือ ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ

การที่เมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่น แล้วบางคนเสียคน จากการติดเน็ต  ติดเกม  ติดยาเสพติด มั่วเซ็กส์ ตั้งครรภ์ ฯลฯ นั้น    เป็นดัชนีบอกความล้มเหลวย่อหย่อนของการศึกษา    เป็นผลจากความล้มเหลวสะสมทีละน้อยๆ ในเรื่องการพัฒนาทักษะการกำกับดูแลตนเองของเด็ก    ครูทุกคนที่เคยสอนเด็กที่เสียคนตอนวัยรุ่น ควรได้ตระหนัก ว่าการเสียคนของเด็กคนนั้น ตนมีส่วนรับผิดชอบด้วย    และควรนำมาเป็นเครื่อง กระตุ้นเตือนตนเอง ให้แสวงหาวิธีวางพื้นฐานทักษะกำกับดูแลตนเอง ให้หนักแน่นกว่านี้

นี่คือการสร้างภูมิคุ้มกัน ให้แก่ศิษย์ ให้อยู่ในสังคมสมัยใหม่ ที่เต็มไปด้วยอบายมุข ได้โดยไม่เข้าไปเกลือกกลั้ว   ในสมัยโบราณ ปราชญ์สอนว่า ทางอบาย ๔ ได้แก่ เป็นนักเลงหญิง  เป็นนักเลงสุรา  เป็นนักการพนัน  และ คบคนชั่วเป็นมิตร   หรือบางที่เราพูดกันว่า สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร   คำสอนเหล่านี้ยังเป็นจริงในชีวิตสมัยใหม่   แต่มีทางเสื่อมอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย เช่นติดเกม  ติดเน็ต  บ้าสินค้าแบรนด์เนม ฯลฯ   เพราะสังคมสมัยใหม่ ได้พัฒนาตัวล่อตัวลวง เพื่อแสวงประโยชน์จากวัยรุ่นมากมาย และนับวันจะเพิ่มขึ้นทั้งชนิดของตัวล่อลวง และทั้งความรุนแรงหรือความแยบยลของการลวง    จนคนทั้งสังคมไม่รู้สึกว่าถูกลวง

การฝึกศิษย์ให้รู้เท่าทันสิ่งลวงหลอกเหล่านี้ เพื่อให้ควบคุมกำกับตนเองได้ ไม่ให้ติดกับ หรือตกเป็นเหยื่อ จึงต้องเอาเรื่องราวของการตกเป็นเหยื่อมาเป็นกรณีศึกษา ที่เรียกว่า CBL (Case-Based Learning)   รวมทั้งการเรียนรู้ทักษะเชิงซ้อนจากการทำงาน หรือทำโครงการชนิดต้องดำเนินการระยะยาว ตามแนวทางของครูเรฟ ในหนังสือ ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ

อาจฝึกนักเรียน ด้วยวิธีกระตุ้น Executive function ในสมอง ด้วยวิธีการตาม บันทึกนี้

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๓ ส.ค. ๕๖

ระหว่างนั่งรถยนต์ไป อ. บ้านแหลม  จ. เพชรบุรี

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2013 เวลา 07:44 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๐๒. แนะนำหนังสือ เสียงของความหวัง

พิมพ์ PDF

รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผศ. สมปอง ทองผ่อง มอบหนังสือ เสียงของความหวัง : เรื่องเล่าผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพ ชายแดนใต้ ๑ เล่ม เมื่อวันที่ ๒๙ ส.. ๕๖   ในการประชุมสภาวิทยาเขตปัตตานีครั้งแรก

 

ผมเอามานอนอ่านที่โรงแรมที่หาดใหญ่ แล้วบอกตนเองว่า นี่คือบทเรียนของความซับซ้อนของสังคม   ที่การศึกษาไทยต้องส่งเสริมให้ผู้คนเรียนรู้ และรู้จัก สภาพความเป็นจริงแบบนี้ ให้จงได้

การศึกษาต้องไม่หยุดอยู่แค่เรียนสิ่งที่ชัดเจน  สิ่งที่ผู้คนเห็นพ้องกันหมด แต่จะต้องเลยไปสู่สิ่งที่มองได้หลายแง่หลายมุม หลายมิติ   ที่คนเราตีความแตกต่างกัน   คนเราต้องเรียนรู้ความเป็นจริงนี้ และยอมรับสภาพไม่เห็นพ้องเช่นนี้ จะยิ่งดี หากได้ฝึกฝนจนไม่เพียงยอมรับ   แต่ไปไกลถึง เคารพคนที่เคารพความคิดเห็น และความเชื่อ ที่แตกต่างของคนอื่นเป็น   จะมีชีวิตที่ดี   ผมคิดถึงคำว่า จาคะในทางพุทธ ซึ่งแปลว่าการให้   การให้ที่ประเสริฐที่สุดอย่างหนึ่ง คือให้ความเคารพ ยอมรับ นับถือ   แม้เขาจะแตกต่างจากเรา

การฟัง ถือเป็นการให้ และการแสดงความเคารพอย่างหนึ่ง

ในสังคมที่เต็มไปด้วยความรุนแรงอย่างในสามจังหวัด ชายแดนใต้   มี ความจริงที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง หากไม่ ฟังให้ ได้ยินในระดับเข้าถึง สิ่งที่ไม่ได้พูด” (ในกรณีนี้คือ สิ่งที่ไม่ได้เขียน) เราก็จะไม่สามารถเข้าถึง ความจริงนี้ได้

หนังสือเล่มนี้ กลายเป็นบทเรียน หรือแบบฝึกหัด ฝึกเข้าถึงความจริงที่ซับซ้อน ของผม และเรื่องเล่าหลายเรื่อง ให้ความสะเทือนใจอย่างยิ่ง    สะท้อนสภาพสังคมที่ไม่เป็นธรรม สังคมแห่งความระแวง สังคมแห่งการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม ของเจ้าหน้าที่รัฐในบางเหตุการณ์ตามเรื่องเล่า   และสะท้อนภาพของความไม่เข้าใจความเดือดร้อนแสนสาหัสของประชาชน บางคนที่ถูกกระทำโดยอำนาจรัฐ ส่วนที่ไม่เป็นธรรม ไม่เข้าใจ ไม่สนใจความเดือดร้อนของชาวบ้านตัวเล็กๆ ที่ดิ้นรนเพื่อความเป็นอยู่ของตน

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ส.ค. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2013 เวลา 07:57 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : 1425. ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ

พิมพ์ PDF
ชีวิตของครูเป็นชีวิตที่ดี เป็นชีวิตของคนมีบุญ ที่ได้เกิดมาเป็นครู และรักชีวิตครู ทุ่มเทให้แก่งานครูเพื่อศิษย์ ขอเติมส่วนที่ไม่ได้พูด ว่า คำพูดนี้ของผมเป็นจริงต่อคนที่รักและเห็นคุณค่าของการเป็นครูเท่านั้น สำหรับคนที่ไม่รัก ไม่เห็นคุณค่าอย่างแท้จริง ก็จะไม่ได้รับพรจากการเป็นครู ครูเพื่อศิษย์/ครูสอนดี ไม่ควรไปยัดเยียดความเชื่อนี้แก่เขา อย่าไปคิดว่าเขาเป็นครูไม่ดีหรือคนไม่ดี คนเราย่อมคิดต่างกันได้

ชีวิตที่พอเพียง : 1425. ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ

วันที่ ๑๐ ต.ค. ๕๔ สสค. จัดประชุมเปิดตัวหนังสือ ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ : สรรพวิธีและสารพัดลูกบ้าในห้อง ๕๖ ที่แปลมาจากหนังสือ Teach Like Your Hair’s on Fire : The Methods and Madness Inside Room 56 เขียนโดย Rafe Esquith   ซึ่งเป็นหนังสือที่ผมคลั่งใคล้   และนำไปสู่คำว่า “ครูเพื่อศิษย์” ที่ใช้กันแพร่หลาย เกิดขบวนการครูเพื่อศิษย์ หรือชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ เพื่อปฏิรูปการศึกษาไทย ขับเคลื่อนโดยมูลนิธิสดศรีฯ  สร้างความปิติยินดีให้แก่ผมเป็นอันมาก   และเมื่อ สสค. จัดให้มีการแปลหนังสือเล่มนี้ ผมได้รับเชิญให้เขียนคำนิยม อ่านได้ที่นี่

สำหรับผม ผมมองว่าหนังสือ Teach Like Your Hair’s on Fire : The Methods and Madness Inside Room 56 ได้จุดชนวนของขบวนการ All for Education ขึ้นในสังคมไทย   เพื่อช่วยกันคนละไม้คนละมือ ในการกอบกู้คุณภาพการศึกษาไทย   ให้เป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ยุคศตวรรษที่ ๒๑   เท่ากับเป็นการช่วยกันวางรากฐานอนาคตของสังคมไทยผ่านการสร้างคน สร้างสมาชิกของสังคมไทยยุคใหม่

ในการประชุมเปิดตัวหนังสือเมื่อวันที่ ๑๐ ต.ค. ครูเรฟ ได้กรุณาบินมาร่วมเสวนาเรื่อง “ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ”   และผมได้รับเชิญไปร่วมด้วย โดยทาง สสค. ให้โพยมาดังนี้

ประเด็นอภิปรายสำหรับวิทยากร

  • ความประทับใจต่อหนังสือเล่มนี้
  • สะท้อนแนวคิดและมุมมองต่อวิธีการเรียนการสอนที่มีลักษณะโดดเด่นของครู Rafe คือ อะไร
  • คุณค่าของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ตรงไหน
  • การเรียนรู้สำคัญของหนังสือเล่มนี้ต่อระบบการศึกษาและการพัฒนาครูของไทยคืออะไร
  • ทักษะที่สำคัญของเด็กไทยในยุคปัจจุบันคืออะไร และครูจะมีส่วนสนับสนุนทักษะเหล่านี้อย่างไร
  • จะแนะนำให้ครูไทยนำประเด็นอะไรไปใช้ เสนอแนะอย่างไร

เป็นการเตรียมการประชุมที่รอบคอบมาก   และช่วยให้ผมเตรียมใช้เวลา ๑๕ นาที บอกแก่ผู้มาร่วมเสวนาว่า    ห้องเรียนตามในหนังสือเล่มนี้จะไม่เป็นห้องเรียนนอกแบบอีกต่อไป   แต่จะกลายเป็นห้องเรียนมาตรฐาน   โรงเรียนใดปรับตัวได้เร็ว นักเรียนก็จะได้เรียนรู้ฝึกฝนตนเองเพื่อยกระดับขีดความสามารถได้เต็มตามศักยภาพของตน

ห้องเรียนตามที่เล่าในหนังสือเล่มนี้ คือห้องเรียนสำหรับศตวรรษที่ ๒๑   ที่จะทำให้นักเรียนได้ฝึกฝน 21st Century Skills ซึ่งหมายความว่าเป็นการเรียนรู้ที่นอกจากได้ความรู้เชิงสาระวิชาแล้ว ยังได้ทักษะที่สำคัญยิ่งต่อการเป็นมนุษย์ หรือการดำรงชีพ ในศตวรรษที่ ๒๑   ซึ่งการเรียนรู้ในรูปแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันไปไม่ถึง    ทำให้การเรียนรู้ในรูปแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนักเรียนเกิดการเรียนรู้ในระดับที่ตื้น อยู่เพียงแค่รู้วิชา    ครูเน้นสอนวิชา ไม่ได้เน้นสอนคน ที่ต้องสอนแบบไม่สอน   คือทำหน้าที่ โค้ช ให้ศิษย์เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติเอง   ทั้งปฏิบัติการค้นคว้า และปฏิบัติทำงานในการเรียนแบบที่เรียกว่า เรียนโดยทำโครงงาน (PBL – Project-Based Learning)

การดิ้นรนขวนขวายค้นคว้าเป็นคุณสมบัติของมนุษย์    เมื่อโลกเปลี่ยนสังคมเปลี่ยนมนุษย์เปลี่ยน รูปแบบของห้องเรียนจึงต้องเปลี่ยนไปด้วย   และครูที่ไวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ก็จะแสวงหาวิธีจัดการห้องเรียนใหม่   ครูเรฟคือท่านหนึ่งที่แสวงหา และประสบความสำเร็จ   แล้วท่านก็เอาประสบการณ์ของท่านเขียนหนังสือเผยแพร่จนกลายเป็นหนังสือติดอันดับขายดี   เพราะสังคมกำลังต้องการรูปแบบการเรียนรู้ในกรอบใหม่ ที่ไม่ใช่แบบเดิมที่ล้าสมัยและไม่ทำให้ Learning Outcomes เป็นไปตามความต้องการของยุคใหม่ ที่เรียกว่า 21st Century Skills

และที่เมืองไทยก็มีหลายโรงเรียนที่ดิ้นรนขวนขวายเพื่อแสวงหานั้น   และรวมตัวกันเป็นเครือข่ายโรงเรียนกระแสทางเลือก   ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนราษฎร์ เพราะมีอิสระที่จะแสวงหานอกกรอบ    หนึ่งในโรงเรียนนั้นเป็นโรงเรียนในต่างจังหวัดที่นักเรียนเป็นลูกชาวบ้านธรรมดา    เข้ามาโดยการจับฉลาก คือโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา    มีผลงานพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนนอกแบบที่คล้ายของครูเรฟมาก และเป็น “นอกแบบ” ในบริบทไทย    ตามที่ผมเคยบันทึกไว้ที่นี่

บรรยากาศของเวทีเสวนา ดูได้จากเว็บไซต์ ของ สสค. ที่นี่

ผมกลับมาบ้านนอนหนึ่งคืน    นึกได้ว่า ได้บอกแก่ครูสอนดี ๑๕๐ คน ที่ได้รับเชิญมาร่วมงานจากทั่วประเทศว่า ชีวิตของครูเป็นชีวิตที่ดี เป็นชีวิตของคนมีบุญ ที่ได้เกิดมาเป็นครู และรักชีวิตครู ทุ่มเทให้แก่งานครูเพื่อศิษย์    ขอเติมส่วนที่ไม่ได้พูด ว่า คำพูดนี้ของผมเป็นจริงต่อคนที่รักและเห็นคุณค่าของการเป็นครูเท่านั้น    สำหรับคนที่ไม่รัก ไม่เห็นคุณค่าอย่างแท้จริง ก็จะไม่ได้รับพรจากการเป็นครู    ครูเพื่อศิษย์/ครูสอนดี ไม่ควรไปยัดเยียดความเชื่อนี้แก่เขา    อย่าไปคิดว่าเขาเป็นครูไม่ดีหรือคนไม่ดี    คนเราย่อมคิดต่างกันได้

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ต.ค. ๕๔  ปรับปรุง ๑๑ ต.ค. ๕๔

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2013 เวลา 08:01 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๐๐. ความสุขกับการทำงาน

พิมพ์ PDF
การทำงาน ทำให้คนมีคุณค่า การทำงานจะสนุกและให้คุณค่าต่อชีวิต หากเราค้นหาคุณค่าของงานนั้นพบ นี่คืออุดมคติที่ผมยึดถือ การทำงานจึงเป็นการเรียนรู้สำหรับผม และการเรียนรู้ที่ยิ่งยวดคือการค้นหาคุณค่าของกิจกรรมต่างๆ สนุกอย่าบอกใคร เพราะยิ่งค้นก็ยิ่งพบ ยิ่งสนุก เมื่อค้นไปเรื่อยๆ พบว่าที่เราเคยพบนั้นมันผิด ทำให้คิดว่า ชีวิตคือการเดินทางแห่งคุณค่า เดินทางไปในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไร้ขอบเขต

นสพ. In ternational Herald Tribune ฉบับวันที่ ๒๘ ส.ค. ๕๖ เซ็กชั่น Health + Science หน้า ๑๔ ลงข่าวสั้นๆ เรื่อง Less work does not lead to happiness, study shows

 

 

เขาอ้างผลงานวิจัยที่ลงพิมพ์ใน The Journal of Happiness Studies โดย Robert Rudolf จาก Korea University ในกรุงโซล   ที่ศึกษาข้อมูลจากสภาพจริงในเกาหลีระหว่างปี ค.ศ. 1998 – 2008 อาศัยข้อกำหนดในกฎหมายแรงงานของประเทศเกาหลี ปี 2004 ที่กำหนดให้ลดจำนวนวันทำงานจากสัปดาห์ละ ๖ วัน เหลือ ๕ วัน   เวลาทำงานจากสัปดาห์ละ ๔๔ ชั่วโมงเหลือ ๔๐ ชั่วโมง    ผลการศึกษาบอกว่า    การลดเวลาทำงานนี้ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความพึงพอใจในชีวิต และความพึงพอใจในงาน

 

ท่านพุทธทาสบอกว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรมผมบอกตัวเองยามชราว่า การมีงานทำเป็นลาภอันประเสริฐ   และพยายามชักจูงส่งเสริมให้แม่ ซึ่งอายุเข้า ๙๔ ปีแล้ว ทำงานเล็กๆ น้อยๆ เพื่อออกกำลัง

 

การทำงาน ทำให้คนมีคุณค่า    การทำงานจะสนุกและให้คุณค่าต่อชีวิตหากเราค้นหาคุณค่าของงานนั้นพบ   นี่คืออุดมคติที่ผมยึดถือ   การทำงานจึงเป็นการเรียนรู้สำหรับผม    และการเรียนรู้ที่ยิ่งยวดคือการค้นหาคุณค่าของกิจกรรมต่างๆ สนุกอย่าบอกใคร เพราะยิ่งค้นก็ยิ่งพบ   ยิ่งสนุก เมื่อค้นไปเรื่อยๆ พบว่าที่เราเคยพบนั้นมันผิด ทำให้คิดว่า ชีวิตคือการเดินทางแห่งคุณค่า    เดินทางไปในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไร้ขอบเขต

 

ดาราศาสตร์สมัยใหม่บอกเราว่า ขณะนี้จักรวาลยังอยู่ในช่วงขยายตัว จักรวาลแห่งคุณค่า ที่มนุษย์พอจะจินตนาการ และสัมผัสได้นั้น ก็เป็นจักรวาลที่ไม่มีขอบเขต คือขยายตัวได้เรื่อยไป หากตัวเรายังเรียนรู้หรือทำความรู้จักคุณค่าจากการปฏิบัติภารกิจต่างๆ คือยังทำงาน

 

การทำงานที่ทำให้ชีวิตอยู่ในสภาพแห่งความสุข เรียกว่าอยู่ในภาวะ flow ตามที่อธิบายไว้ในหนังสือชื่อFlow : The Psychology of Engagement with Everyday Life เขียนโดย Mihaly Csikszentmihalyi ผมหมั่นฝึกฝนตนเองเพื่อให้ทำงานในสภาพ flow ได้   และชีวิตช่วงใดอยู่ในสภาพนี้ ผมรู้สึกว่า เป็นชีวิตที่มีความสุขแบบเบาสบาย ทั้งๆ ที่ทำงานหนัก หรือมีงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๙ ส.ค. ๕๖

บนเครื่องบินนกแอร์ไปหาดใหญ่

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๔. จริยธรรม (๑) เคารพ และซื่อสัตย์

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๙ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People : Progressive Parenting for the 21stCentury เขียนโดย Annie Fox, M.Ed. 

ตอนที่ ๔นี้ ตีความจากบทที่ ๒ How Should I Know What to Do? Doing the Right Thing is Good Karma   โดยที่ในบทที่ ๒มี ๔ ตอน   ในบันทึกที่ ๔จะตีความตอนที่ ๑ และ ๒ ในบันทึกที่ ๕ จะเป็นการตีความตอนที่ ๓ และ ๔

ตอนที่ ๑ของบทที่ ๒เป็นเรื่องความเคารพให้เกียรติคนอื่นเพื่อทำให้โลกสดใสงดงาม โดยที่คนเราทุกคนมีโอกาสทำได้    ผู้เขียนเล่าเรื่องตนกับสามีช่วยกันเก็บขวดและขยะบนเนินเขาที่เป็นที่สาธารณะหลังบ้าน   ที่ตอนแรกรกรุงรังมาก   แต่เมื่ออดทนเก็บขยะไปได้ระยะหนึ่ง    คนที่มาเที่ยวก็เลิกทิ้งขยะ   ทำให้ทัศนียภาพบริเวณนั้นสวยงาม   และหลังจากผู้เขียนไม่ได้ขึ้นเขาไปนาน และขึ้นไปใหม่ ก็พบว่าสถานที่ยังสะอาดไม่มีขยะ นี่คือตัวอย่างของการมองโลกแง่ดี   ว่าการทำความดีช่วยโลกได้จริง ในท่ามกลางกระแสสังคมที่สอนให้คนเราเห็นแก่ตัว และเอาเปรียบกัน

ขยะทางกายภาพยังไม่ร้ายเท่าขยะสังคม พ่อแม่และครู ต้องไม่ปล่อยให้ลูกหรือศิษย์กลายเป็นขยะสังคม โดยเฉพาะเมื่อเด็กโตเข้าวัยรุ่น ที่แรงกดดันชักจูงจากเพื่อน และจากกระแสสังคม รุนแรงมาก    พ่อแม่และครูต้องช่วยให้เด็กพัฒนามาตรฐานจริยธรรมของตนเอง    เพื่อเติบโตเป็นคนดีในอนาคต และในการช่วยเหลือเด็กนั้นเอง พ่อแม่และครูก็ได้ฝึกฝนตนเองในเรื่องเดียวกันด้วย

วิธีช่วยเด็ก ทำโดยให้ความเคารพ หรือให้เกียรติแก่เด็ก    ผู้เขียนแนะนำให้ฝึกการพูดคุยสนทนากันในครอบครัว    โดยมีแบบสอบถามบรรยากาศในครอบครัว ให้สมาชิกทุกคนกรอก แล้วนำมาเสวนากัน    โดยสร้างบรรยากาศไม่มีถูกไม่มีผิด มีแต่ความปรารถนาจะให้ในบ้านมีบรรยากาศของความรักความอบอุ่น และการฝึกให้ทุกคนเป็นคนดี ไม่เป็นขยะสังคม

คำถามของสาว ๑๔ ตนรักชายหนุ่มที่โหดร้ายต่อตน   แต่ก็ไม่กล้าแสดงความไม่พอใจ เพราะเกรงว่าจะสูญเสียเขาไป ในที่สุดเขาก็ delete ตนออกจากเพื่อนใน เฟสบุ๊ก    ตนได้พยายามเขียนไปง้อ และเฝ้ารอคำตอบ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ ตนคิดว่าเขาโหดร้าย   แต่ก็ทำใจไม่ได้ในเมื่อพบกันทุกวันในวันเปิดเรียน    จะทำอย่างไรดี

คำตอบของผู้เขียน ตามที่เล่า แสดงว่าชายหนุ่มผู้นั้นไม่ได้มีความนับถือสาว ๑๔ เลย    แล้วสาว ๑๔ จะสูญเสียอะไรเกี่ยวกับเขา   คำแนะนำคือ ให้หันมานับถือตัวเอง    สร้างคุณค่าของตัวเอง    เลิกสนใจคนที่ไม่ให้เกียรติให้คุณค่าต่อตัวเรา

ตอนที่ ๒ ของบทที่ ๒ เป็นเรื่อง ความซื่อสัตย์ ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้ลูกหรือศิษย์พัฒนานิสัยสัตย์ซื่อในตน ในขณะที่สภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กเต็มไปด้วยความฉ้อฉล   และที่น่าเศร้าใจก็คือ ครูบางคนเป็นคนไม่ซื่อสัตย์

พ่อแม่และครู ต้องพูดคุยเรื่องราวและคุณค่าของความซื่อสัตย์ โดยหยิบยกเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมมาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ผู้ใหญ่ผ่านโลกมามากกว่า สามารถเลือกหยิบยกกรณีตัวอย่างคุณค่าที่เกิดจากความซื่อสัตย์มั่นคงในคุณธรรม มาเล่าให้ลูกหรือศิษย์ฟัง เพื่อปลูกฝังอุดมคติ ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน

คำถามของแม่ ลูกสาวอายุ ๑๖  จัดอยู่ในกลุ่มนักเรียนเรียนดี และเป็นนักกีฬาประจำโรงเรียน แล้ววันหนึ่งเธอก็โกหก   เธอให้เพื่อนชายลอกการบ้าน   แล้วโกหกครูว่าเธอวางสมุดการบ้านไว้ เพื่อนหยิบไปลอกเอง   เธอโกหกแม่ว่าไปนอนบ้านเพื่อนผู้หญิง   แต่จริงๆ แล้วไปนอนบ้านเพื่อนชายที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้าน ตำรวจมาที่บ้านนั้นและพบสุราและยาเสพติด   แม่เป็นห่วงว่าลูกจะเสียคน

คำตอบของผู้เขียน แนะนำว่าการตำหนิว่าโดนเพื่อนชักนำไปในทางเสื่อมไม่ช่วยแก้ปัญหา    เพราะลูกสาวเป็นคนฉลาด   ไม่น่าจะถูกชักจูงได้ง่าย   และจริงๆ แล้วการตัดสินใจเป็นของลูกสาวเอง แนะนำให้หานักจิตวิทยา หรือนักครอบครัวบำบัด (family therapist) ที่ลูกสาวร่วมเลือก   เพื่อให้ลูกสาวได้ถอนตัวออกมาจากทางเสื่อม

เรื่องคำแนะนำในการแก้ปัญหาวัยรุ่นนี้ แตกต่างกันในสังคมต่างวัฒนธรรม   ในสังคมไทยน่าจะได้มีคนทำงานวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างความรู้ ทักษะ และบริการ ในการช่วยเหลือพ่อแม่และครู ให้มีทักษะแนะนำชี้ทางดีให้แก่ลูกหรือศิษย์ อย่างได้ผล

ในความเห็นของผม ยุทธศาสตร์คือ   ช่วยให้ ฝ่ายเทพ” ในตัวเด็ก ฉายแสงสร้างความมั่นใจ และเคารพตัวเอง   แล้วมีพฤติกรรมด้านบวก จนติดเป็นนิสัย

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๐ มี.ค. ๕๖

บนเครื่องบินไปวอชิงตัน ดีซี

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 


หน้า 444 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5607
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8610546

facebook

Twitter


บทความเก่า