Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๒. ความรู้เดิมส่งผลต่อการเรียนรู้ของ นศ. อย่างไร

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

 

ตอนที่ ๒ นี้ มาจากบทที่ ๑  How Does Students’ Prior Knowledge Affect Their Learning?

 

ชื่อของบทนี้ทำให้ผมนึกถึงคำว่าความรู้สะสม“met before” ที่ครูโรงเรียนเพลินพัฒนาใช้  เป็นขั้นตอนหนึ่งในการสำรวจพื้นความรู้ของนักเรียน  สำหรับนำมาใช้ออกแบบการเรียนรู้ให้ต่อยอดจากพื้นความรู้เดิม

 

หลักการของการเรียนรู้ คือการเอาความรู้เดิมมาใช้จับความรู้ใหม่  แล้วต่อยอดความรู้ของตนขึ้นไป  นศ. ที่มีความรู้เดิมแบบไม่รู้ชัด หรือรู้มาผิดๆ ก็จะจับความรู้ใหม่ไม่ได้ หรือจับผิดๆ ต่อยอดผิดๆ  การเรียนรู้แบบเชี่ยวชาญหรือชำนาญ (mastery) ก็จะไม่เกิด   และที่สำคัญจะทำให้ นศ. ตกอยู่ในสภาพ “เรียนไม่รู้เรื่อง”  ส่งผลต่อเนื่องให้เบื่อการเรียน  และการเรียนล้มเหลวกลางคัน

 

ตรงกันข้าม นศ. ที่ความรู้เดิมแน่นแม่นยำถูกต้อง  ก็จะสามารถเอาความรู้เดิมมาจับความรู้ใหม่ และต่อยอดความรู้ของตนได้อย่างรวดเร็ว  และมีความสุขสนุกสนาน เกิดปิติสุขในการเรียน

 

บันทึกตอนที่ ๒ และ ๓ จึงจะอธิบายวิธีการทบทวนความรู้เดิม  และนำมาใช้ในการล่อและจับความรู้ใหม่  สำหรับต่อยอดความรู้ขึ้นไป   โดยบันทึกตอนที่ ๒ จะมี ๓ หัวข้อใหญ่ คือ (๑) การปลุกความรู้เดิม  (๒) วิธีตรวจสอบความรู้เดิมของ นศ.  (๓) วิธีกระตุ้นความรู้ที่แม่นยำ

 

ในบันทึกตอนที่ ๓ จะมีอีก ๓ หัวข้อใหญ่ คือ  (๑) วิธีทำความเข้าใจความรู้เดิมที่ไม่เพียงพอ  (๒) วิธีช่วยให้ นศ. ตระหนักว่าความรู้เดิมของตนยังไม่เหมาะสม  (๓) วิธีแก้ความรู้ผิดๆ


ปลุกความรู้เดิม

ความรู้มีหลายประเภท ประเภทหนึ่งเรียกว่า “ความรู้ที่แสดงให้เห็นได้” (Declarative Knowledge)  หรือ “know what”  อีกประเภทหนึ่งเรียกว่า “ความรู้เชิงกระบวนการ” (Procedural Knowledge) หรือ “know how” และ “know when”  ซึ่งในคำไทยน่าจะหมายถึง รู้จักกาละเทศะ หรือการประยุกต์ใช้ความรู้   และผมคิดว่า DK น่าจะใกล้เคียงกับ Explicit Knowledge  และ PK น่าจะใกล้เคียงกับ Tacit Knowledge

ผมตีความตามความรู้เดิมเรื่องการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ของตนเอง  ว่า DK คือตัวสาระความรู้  หรือความรู้เชิงทฤษฎี  ไม่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑  ต้องเรียนรู้ PK  หรือความรู้ปฏิบัติ ซึ่งก็คือทักษะในการประยุกต์ใช้ความรู้ ไปในเวลาเดียวกันด้วย

ย้ำว่า ต้องมีทั้งสองแบบของความรู้ และรู้จักใช้ให้เสริมกันอย่างเหมาะสม จึงจะเป็นประโยชน์จริง

บอกสาระความรู้ได้ แต่เอาไปใช้ไม่เป็น ยังไม่ใช่การเรียนรู้ที่ดี  และตรงกันข้ามเอาความรู้ไปใช้ทำงานได้ แต่อธิบายไม่ได้ว่าทำไมจึงได้ผล ก็ยังไม่ใช่การเรียนรู้ที่ดี  ต้องทั้งทำได้ และอธิบายได้  คือต้องมีทั้ง DK และ PK จึงจะเป็นการเรียนรู้ที่ครบถ้วน

ผลการวิจัยบอกว่า การมีความรู้เดิม เอามารับความรู้ใหม่  มีความสำคัญมากต่อการเรียนรู้และจดจำความรู้ใหม่  และแม้ นศ. จะมีความรู้เดิมในเรื่องนั้น แต่อาจนึกไม่ออก  การที่ครูมีวิธีช่วยให้ นศ. นึกความรู้เดิมออก จะช่วยการเรียนรู้ได้มาก  นี่คือเคล็ดลับสำคัญในการทำหน้าที่ครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ในการส่งเสริมการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติด้วยตนเองของ นศ.

ผลการวิจัยบอกว่า วิธีกระตุ้นทำโดยตั้งคำถาม why?  จะช่วยให้ นศ. นึกออก

ถึงตอนนี้ผมก็นึกออกว่า ในบริบทไทย นี่คือโจทย์วิจัยสำหรับ นศ. ปริญญาเอก  ดังตัวอย่าง  “วิธีปลุกความรู้เดิม ขึ้นมารับความรู้ใหม่ ในนักเรียนไทยระดับ ป. ๕”

 


กรณีที่ความรู้เดิมถูกต้อง แต่ไม่เพียงพอ

นศ. อาจมีความรู้ชนิด DK อย่างถูกต้องครบถ้วน  ตอบคำถามแบบ recall ได้อย่างดี  แต่เมื่อเผชิญสถานการณ์จริง นศ. ไม่สามารถประยุกต์ใช้ความรู้นั้นได้ (เพราะขาด PK)  สมัยผมเป็นนักศึกษาแพทย์โดนอาจารย์ด่าในเรื่องนี้เป็นประจำ  สมัยผมเป็นอาจารย์ ศ. พญ. อนงค์ เพียรกิจกรรม บ่นให้ฟังบ่อยๆ  ว่าพา นศพ. ไป ราวน์ คนไข้  เมื่อมีคนนำเสนอประวัติ การตรวจร่างกาย และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ แล้ว  อาจารย์ถาม นศพ. ว่าหาก นศพ. เป็นเจ้าของคนไข้ จะปฏิบัติรักษาอย่างไร  นศพ. มักตอบว่า “ถ้า .... ก็ ....”  คือตอบด้วย DK  ไม่สามารถนำเอา PK มาประกอบคำตอบได้   สมัยนั้น (กว่า ๓๐ ปีมาแล้ว) นศ. ถูกกล่าวหาว่าบกพร่องในการเรียน (เราเรียกว่าโดนอาจารย์ด่า)

แต่สมัยนี้ หากถือตามหนังสือ How Learning Works เล่มนี้ ครูคือผู้บกพร่อง  คือครูไม่ได้ช่วยให้ นศ. เชื่อมโยง PK กับ DK  คือจริงๆ แล้ว นศ. กำลังอยู่ในกระบวนการเชื่อมโยงความรู้สองชนิดเข้าด้วยกัน  การเรียนโดย ward round ของนักศึกษาแพทย์เป็นการเรียนเพื่อเชื่อมโยงความรู้สองชนิดนี้  และอาจารย์ควรเข้าใจกลไกการเรียนรู้นี้  และรู้วิธีกระตุ้นหรือปลุกความรู้เดิม ขึ้นมาประยุกต์ใช้ตามสถานการณ์

รายวิชาใด ยังไม่มีขั้นตอนการเรียนรู้โดยการฝึกประยุกต์ใช้ความรู้ (แบบ ward round ของ นศพ.) ก็ควรจัดให้มี  และนี่คือโจทย์วิจัยและพัฒนาสำหรับ Scholarship of Instruction ในวิชาของท่าน

ผลการวิจัยบอกว่า อาจารย์สามารถช่วยปลุกความรู้เดิมของ นศ. โดยการตั้งคำถามที่เหมาะสม  ซึ่งผมเรียกว่า “คำถามนำ”  และหนังสือเล่มนี้เรียกว่า elaborative interrogationและหนังสือเเล่มนี้ย้ำว่า เป็นหน้าที่ของอาจารย์ ที่จะต้องช่วยปลุกความรู้เดิมของ นศ. ขึ้นมารับความรู้ใหม่  หรือขึ้นมาทำให้การเรียนรู้ครบถ้วนขึ้น

วิธีปลุกความรู้เดิมของ นศ. วิธีหนึ่ง ทำโดยบอกให้ นศ. บอกว่าความรู้ในวิชานั้นๆ เชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับชีวิตจริงของตนอย่างไร

ที่จริงหนังสือ How Learning Works เล่มนี้ กล่าวถึงผลงานวิจัยมากมาย  แต่ผมไม่ได้เอามาเล่าต่อ  เอามาเฉพาะการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยเหล่านั้น

 


กรณีที่ความรู้เดิมไม่เหมาะสม

นศ. มีทั้งความรู้เชิงเทคนิค หรือความรู้เชิงวิชาการ  และความรู้จากชีวิตประจำวัน  และ นศ. อาจสับสนระหว่างความรู้ ๒ ประเภทนี้  ความสับสน นำเอาความรู้ในชีวิตประจำวันมาต่อยอดความรู้ทางวิชาการ อาจทำให้ความรู้บิดเบี้ยว

หนังสือสรุปว่า ผลงานวิจัยบอกครู ๔ อย่าง

(๑) ครูต้องอธิบายการนำความรู้ไปใช้ในต่างบริบท อย่างชัดเจน

(๒) สอนทฤษฎี หรือหลักการที่เป็นนามธรรม  พร้อมกับยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม หลากหลายรูปแบบ หลากหลายบริบท

(๓)เมื่อยกตัวอย่างปรียบเทียบ ยกทั้งที่เหมือน และที่แตกต่าง

(๔) พยายามกระตุ้นความรู้เดิม เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับความรู้ใหม่


กรณีที่ความรู้เดิมไม่ถูกต้อง

ข้อความในส่วนนี้ของหนังสือ บอกเราว่า  นศ. มีความรู้เดิมที่ผิดพลาดมากกว่าที่เราคิด  และความรู้ที่ผิดพลาดบางส่วนเป็น “ความฝังใจ” แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงยากมาก  แต่ครูก็ต้องทำหน้าที่ช่วยแก้ไขความรู้เดิมที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้

ครูต้อง

 

 

(๑) ประเมินความรู้เดิมของ นศ.  ตรวจหาความรู้เดิมที่ผิดพลาด ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาที่ นศ. กำลังเรียน

 

 

(๒) กระตุ้นความรู้เดิมที่ถูกต้อง ของ นศ.

 

 

(๓) ตรวจสอบความรู้เดิมที่ยังบกพร่อง

 

 

(๔) ช่วย นศ. หลีกเลี่ยงการประยุกต์ความรู้เดิมผิดๆ  คือไม่เหมาะสมต่อบริบท

 

 

(๕)​ช่วยให้ นศ. แก้ไขความรู้ผิดๆ ของตน

 

 


วิธีตรวจสอบความรู้เดิมของ นศ. ทั้งด้านความเพียงพอ และด้านความถูกต้อง

คุยกับเพื่อนครู

วิธีที่ง่ายที่สุดคือถามเพื่อนครูที่เคยสอน นศ. กลุ่มนี้มาก่อน  ว่า นศ. มีผลการเรียนเป็นอย่างไร  ส่วนไหนที่ นศ. เรียนรู้ได้ง่าย  ส่วนไหนที่ นศ. มักจะเข้าใจผิด หรือมีความยากลำบากในการเรียนรู้


จัดการทดสอบเพื่อประเมิน

อาจจัดทำได้ง่ายๆ โดยทดสอบในช่วงต้นของภาคการศึกษา   อาจจัดการทดสอบอย่างง่ายๆ แบบใดแบบหนึ่ง ดังนี้  (๑) quiz  (๒) สอบแบบให้เขียนเรียงความ  (๓) ทดสอบ concept inventoryโดยอาจค้นข้อสอบของวิชานั้นๆ ได้จาก อินเทอร์เน็ต เอามาปรับใช้


ให้ นศ. ประเมินตนเอง

ทำโดย ครูจัดทำแบบสอบถามมีคำถามตามพื้นความรู้ หรือทักษะ ที่ นศ. ต้องมีมาก่อนเรียนวิชานั้น  และที่เป็นเป้าหมายของการเรียนวิชานั้น  จัดทำเป็นแบบสอบถามแบบให้เลือกคำตอบที่ตรงกับตัว นศ. มากที่สุด  คำตอบได้แก่

 

  • ·  ฉันเคยได้ยิน/เห็น มาก่อน (คุ้นเคย)
  • ·  ฉันสามารถบอกความหมาย/นิยาม ได้ (ความรู้ระดับ factual)
  • ·  ฉันอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ (conceptual)
  • ·  ฉันสามารถใช้แก้ปัญหาได้ (application)

 


ใช้การระดมสมอง

การระดมสมองในชั้นเรียน ตอบคำถามที่ครูตั้ง อาจช่วยให้ครูประเมินพื้นความรู้ของ นศ. ได้  แม้จะเป็นการประเมินที่ไม่เป้นระบบและอาจไม่แม่นยำนัก  โดยประเภทคำถามของครูจะช่วยให้ครูประเมินพื้นความรู้ว่าอยู่ในระดับใดได้  เช่น “นศ. นึกถึงอะไร เมื่อได้ยินคำว่า ...” (ตรวจสอบความเชื่อ ความเชื่อมโยง)  “องค์ประกอบสำคัญของ … มีอะไรบ้าง” (ถามความรู้ - factual)  “หากจะดำเนินการเรื่อง ... นศ. จะเริ่มอย่างไร”  (ถาม Procedural Knowledge)  “หากจะดำเนินการเรื่องข้างต้นในชาวเขาภาคเหนือ มีประเด็นที่ต้องดำเนินการต่างจากในภาคอื่นอย่างไร”(ถาม Contextual Knowledge)


ให้ทำกิจกรรม Concept Map (ผังเชื่อมโยงหรือแผนผังความสัมพันธ์)

Concept Mapเป็นได้ทั้งเครื่องมือเรียนรู้ และเครื่องมือประเมินพื้นความรู้   หากครูต้องการประเมินทั้งความรู้เกี่ยวกับ concept และความเชื่อมโยงระหว่าง concept  ก็อาจให้ นศ. เขียนเองทั้ง concept และ link ระหว่าง concept  หากต้องการรู้ความคิดเชื่อมโยงเท่านั้น ครูอาจให้คำที่เป็น concept จำนวนหนึ่งในวิชานั้นๆ  ให้ นศ. เขียน link เชื่อมโยง


สังเกตรูปแบบ (pattern) ของความเข้าใจผิดของ นศ.

ความเข้าใจผิดของ นศ. ที่เข้าใจผิดเหมือนๆ กันทั้งชั้น หรือหลายคนในชั้น  สังเกตเห็นง่ายจากตำตอบข้อสอบ  คำตอบ quiz  หรือในการอภิปรายในชั้น  หรือครูอาจตั้งคำถามต่อ นศ. ทั้งชั้น ให้เลือกตัวเลือกด้วย clicker  จะได้ histogram ผลคำตอบ ที่แสดงความเข้าใจผิด  สำหรับให้ครูอธิบายความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ นศ.  เพื่อแก้ความเข้าใจผิด

ผลการวิจัยบอกว่า ความเข้าใจผิดบางเรื่องแก้ยากมาก  มันฝังใจ นศ.  ครูต้องหมั่นชี้แจงทำความเข้าใจที่ถูกต้อง จากตัวอย่างหรือบริบทที่แตกต่างหลากหลาย


วิธีกระตุ้นความรู้เดิมที่แม่นยำ

ใช้แบบฝึกหัด

เป็นแบบฝึกหัดเพื่อช่วยให้ นศ. ฟื้นความจำเกี่ยวกับความรู้ที่ได้เรียนมาแล้ว สำหรับนำมาเชื่อมต่อกับความรู้ใหม่ในบทเรียน  ซึ่งจะช่วยให้การเรียนมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้นมาก  ทำได้หลากหลายวิธี เช่น ให้ นศ. ระดมความคิดว่า ความรู้ใหม่ที่เพิ่งได้เรียน เชื่อมโยงกับความรู้เดิมอย่างไร  หรือให้ทำ Concept Map

ครูต้องตระหนักว่า กิจกรรมนี้อาจทำให้เกิดการเรียนความรู้ที่ถูกต้องก็ได้  เกิดการเรียนความรู้ที่ผิดก็ได้  ครูต้องคอยระวังไม่ให้ นศ. หลงจดจำความรู้ผิดๆ


เชื่อมโยงวิชาใหม่ กับความรู้ในวิชาที่เรียนมาแล้ว

นศ. มักเรียนแบบแยกส่วน (compartmentalize) ความรู้  แยกความรู้จากต่างวิชา ต่างภาควิชา ต่างคณะ ต่างอาจารย์  ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความรู้เชื่อมโยงกันหมด  ครูจึงต้องอธิบายความเชื่อมโยงให้ชัดเจน


เชื่อมโยงวิชาใหม่ กับความรู้ในวิชาที่ครูเคยสอน

การที่ครูเอ่ยถึงวิชาที่ นศ. เคยเรียนไปแล้ว (เพียง ๒ - ๓ ประโยค) เอามาเชื่อมโยงกับวิชาที่ นศ. กำลังจะเรียน  จะช่วยการเรียนรู้ของ นศ. อย่างมากมาย

อาจให้ นศ. ทำแบบฝึกหัดเชื่อมโยงความรู้ เรื่อง ก ที่เรียนไปเมื่อ ๒ สัปดาห์ที่แล้ว กับเรื่อง ข ที่เพิ่งเรียนในวันนี้  หรือให้การบ้าน ให้ นศ. ไปทำ reflection เขียนเชื่อมโยงความรู้ในรายวิชาที่เรียนไปตอนต้นเทอม เข้ากับความรู้ที่ได้เรียนในสัปดาห์นี้  เป็นต้น


ใช้การเปรียบเทียบเชื่อมโยงเข้ากับชีวิตประจำวัน

การอธิบายความรู้เชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์ของตัว นศ. เอง  หรือเข้ากับชีวิตประจำวันใกล้ตัว นศ.  จะช่วยให้เกิดความเข้าใจชัดเจนขึ้น  เช่นเมื่อสอนเรื่องพัฒนาการเด็ก ครูอาจเอ่ยเตือนความทรงจำให้ นศ. คิดถึงตนเองตอนเป็นเด็ก หรือคิดถึงน้องของตน  เมื่อเรียนวิชาเคมี อาจเอ่ยถึงตอนปรุงอาหาร

ให้ นศ. ให้เหตุผลตามความรู้เดิมของตน

เมื่อจะเรียนความรู้ใหม่ ครูอาจกระตุ้นความรู้เดิมโดยให้แบบฝึกหัด  ตั้งคำถามที่กระตุ้นให้ นศ. ทบทวนดึงเอาความรู้ที่มีอยู่แล้ว เอามาอธิบายหรือตอบโจทย์ที่ครูตั้ง


ข้อสังเกตของผม

โปรดสังเกตว่า ในบันทึกนี้ (และบันทึกต่อๆ ไป)  ครูทำหน้าที่smart teaching โดยตั้งโจทย์หรือคำถามที่เหมาะสม ให้ นศ. ตอบ  เพื่อการเรียนรู้ของ นศ.  ไม่ใช่ครูทำหน้าที่บอกสาระความรู้

คุณค่าที่สำคัญยิ่ง ของครูในศตวรรษที่ ๒๑ คือ การทำหน้าที่ตรวจสอบความเข้าใจผิดๆ ของ นศ.  แล้วหาทางแก้ไขเสีย  สำหรับเป็นพื้นความรู้ที่ถูกต้องแม่นยำ  ให้ศิษย์นำไปใช้จับความรู้ใหม่ เพื่อการเรียนรู้ที่ถูกต้องในอนาคต

 

 

วิจารณ์ พานิช

๘ ธ.ค. ๕๕

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/515116

 

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๓. วิธีจัดการความรู้เดิม

พิมพ์ PDF

ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ นี้ คุณค่าของครูอยู่ตรงช่วยให้ นศ. เรียนรู้ตรงทาง คือ นศ. มีปัญหาเรียนรู้มาผิดๆ มากกว่าที่เราคิด พื้นความรู้ที่บิดเบี้ยวนี้ ทำให้เอามาต่อความรู้ใหม่ไม่ติด หรือต่อติดก็ยิ่งขยายความเข้าใจผิดๆ ยิ่งขึ้นไปอีก

 

 

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

ตอนที่ ๓ นี้ มาจากบทที่ 1  How Does Students’ Prior Knowledge Affect Their Learning?

บันทึกตอนที่ ๒ และ ๓ อธิบายวิธีการทบทวนความรู้เดิม  และนำมาใช้ในการล่อและจับความรู้ใหม่  สำหรับต่อยอดความรู้ขึ้นไป   โดยบันทึกตอนที่ ๒ ได้อธิบาย ๓ หัวข้อใหญ่ไปแล้ว คือ (๑) การปลุกความรู้เดิม  (๒) วิธีตรวจสบอความรู้เดิมของ นศ.  (๓) วิธีกระตุ้นความรู้ที่แม่นยำ

ในบันทึกตอนที่ ๓ จะเพิ่มเติมอีก ๓ หัวข้อใหญ่ คือ  (๑) วิธีทำความเข้าใจความรู้เดิมที่ไม่เพียงพอ  (๒) วิธีช่วยให้ นศ. ตระหนักว่าความรู้เดิมของตนยังไม่เหมาะสม  (๓) วิธีแก้ความรู้ผิดๆ


วิธีทำความเข้าใจความรู้เดิมที่ไม่เพียงพอ

ระบุความรู้เดิมที่ครูคาดหวังว่า นศ. ต้องมี

ครูต้องทำความชัดเจนกับตนเอง ว่าพื้นความรู้ที่ นศ. ต้องมีคืออะไรบ้าง จึงจะเรียนวิชาที่ตนกำลังสอนได้ดี  โดยต้องไม่ลืมว่า ต้องกำหนดทั้ง DK และ PK


จัดการเรียนรู้เสริม

หากเห็นชัดว่า นศ. มีพื้นความรู้เดิมไม่เพียงพอ  โดยครูอาจแก้ปัญหาได้หลายอย่าง  ตั้งแต่แนะนำ นศ. ที่ขาดพื้นความรู้อย่างแรงให้ถอนวิชาไปก่อน ให้ไปเรียนวิชาที่จำเป็นต้องรู้ล่วงหน้าเสียก่อน  ไปจนถึงให้ นศ. บางคนที่ขาดความรู้บางด้านหาความรู้เพิ่มเติมให้ตนเอง  โดยเอารายการคำศัพท์เฉพาะวิชาไปค้นคว้าทำความเข้าใจเอง

ในกรณีที่มี นศ. จำนวนมากขาดความรู้สำตัญส่วนหนึ่ง  ครูอาจต้องใช้เวลา ๑ - ๒ คาบ ทบทวนความรู้เหล่านั้น  หรืออาจนัดมาสอนนอกเวลา

ถ้าพื้นความรู้ของ นศ. ไม่ตรงกับที่กำหนดไว้ในรายวิชาอย่างแรง  อาจต้องแก้ไขข้อกำหนดเงื่อนไขการลงเรียนรายวิชานั้น  รวมทั้งแก้ไขสาระความรู้ที่เรียนในรายวิชานั้น  ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เพราะอาจไปกระทบวิชาอื่น  ต้องมีการปรึกษาหารือกันในภาควิชา หรือในคณะ


วิธีช่วยให้ นศ. ตระหนักว่าความรู้เดิมของตนไม่เหมาะสม

ยกประเด็นเรื่องการนำความรู้มาใช้งาน

ครูของวิชานั้นๆ สามารถตั้งคำถามด้านการนำความรู้มาใช้งาน เพื่อให้ นศ. ได้ตระหนักว่าพื้นความรู้ของตนในเรื่องนั้นๆ ยังไม่แน่น  ยังไม่รู้จริง  เช่นในวิชาสถิติ ครูอาจตั้งคำถามว่า จะใช้ regression analysis มาคำนวณความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตามที่ครูยกมา (เป็นตัวแปรเชิงคุณภาพ- qualitative) ได้อย่างไร  แล้วครูจึงอธิบายว่า regression analysis ใช้ได้กับตัวแปรที่เป็นตัวเลข (quantitative) เท่านั้น

มีตัวช่วย ให้ นศ. หลีกเลี่ยงการใช้งานผิดๆ

เช่นครูมีคำถามมอบให้ นศ. เอาไว้เตือนสติตนเอง เพื่อไม่ให้หลงทาง  ครูที่มีประสบการณ์จะรู้ว่าส่วนไหนในวิชานั้น ที่ นศ. หลงทางบ่อยๆ

ระบุวิธีการที่จำเพาะต่อสาขาวิชานั้นๆ อย่างชัดเจน

ตามปกติ นศ. ต้องเรียนหลายวิชาในเวลาเดียวกัน  และอาจสับสนถ้อยคำหรือวิธีการที่ใช้ต่างกันในต่างสาขาวิชา  เช่น นศ. อาจฝึกการเขียนด้วยสไตล์ที่แตกต่างกันในวิชาวิทยาศาสตร์ (เขียน lab report)  วิชาประวัติศาสตร์ (เขียนเรียงความเชิงวิเคราะห์)  และวิชาภาษา (เรียงความเชิงบรรยาย)  เมื่อมาเรียนวิชานโยบายสาธารณะ นศ. อาจสับสนว่า ควรใช้สไตล์การเขียนรายงานแบบไหน  ครูจึงควรมีคำแนะนำให้ อย่างชัดเจน

ชี้ให้เห็นว่าการเปรียบเทียบบางกรณีใช้ไม่ได้

การเปรียบเทียบ หรืออุปมาอุปมัย เป็นวิธีการเรียนรู้เรื่องที่ซับซ้อน และเป็นนามธรรม  แต่ก็มีข้อจำกัด ที่ นศ. ต้องเข้าใจ  เช่นเมื่อเปรียบเทียบลำไส้ว่าเหมือนท่อน้ำประปา  ครูต้องบอกว่า แต่ลำไส้มีความซับซ้อนกว่าท่อน้ำประปามาก  ผนังลำไส้ไม่เหมือนผนังท่อน้ำประปาที่แข็งทื่อ และทำหน้าที่ไม่ให้น้ำรั่วเท่านั้น  แต่ผนังลำใส้นอกจากเคลื่อนไหวบีบรัดเป็นจังหวะแล้ว ยังดูดซึมสารบางอย่างออกไปจากลำไส้ และปล่อยสารบางอย่างออกมาด้วย


วิธีแก้ความรู้ผิดๆ

ให้ นศ. ทำนายแล้วทดสอบ

วิธีหนึ่งที่อาจช่วยแก้ “ความเชื่อฝังใจ” ของ นศ. ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่เป็นความเชื่อผิดๆ  แต่แก้ยาก  คือให้เห็นด้วยตาของตน หรือพิสูจน์ด้วยการทดลองจริงๆ  โดยให้ นศ. ทำนายว่าผลของการทดลองจะออกมาอย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร  เมื่อผลออกมาแล้ว ก็อภิปรายกันในชั้น ว่าทำไมจึงได้ผลเช่นนั้น

ผลการวิจัยตามที่อ้างในหนังสือเล่มนี้ บอกว่า แม้ทำอย่างนี้แล้ว ก็จะยังมี นศ. บางคนที่ยังเชื่ออย่างเดิม

ให้ นศ. อธิบายเหตุผลของตน

เมื่อให้ นศ. อธิบายเหตุผลของตน นศ. อาจสะดุดเหตุผลที่ขัดแย้งกันเอง(internal inconsistency)  แล้วเปลี่ยนความเชื่อเอง  หรือครูและเพื่อน นศ. อาจช่วยชี้ให้เห็น  แต่พึงตระหนักว่า หากเป็นเรื่องความเชื่อ เช่นทางศาสนา แม้จะเห็นเหตุผลที่ขัดแย้งกันเอง คนเราก็ไม่เปลี่ยนความเชื่อ

ให้โอกาส นศ. ใช้ความรู้ที่แม่นยำหลายๆ ครั้ง

การเปลี่ยน “ความเชื่อฝังใจ” เป็นเรื่องยาก  ครูต้องอดทน ให้โอกาส นศ. ประยุกต์ใช้ความรู้ชุดนั้นหลายๆ ครั้ง  จนในที่สุดก็เปลี่ยนความเชื่อไปเอง

ให้เวลา

ครูควรให้เวลา นศ. ไตร่ตรองเรื่องนั้นๆ  เพื่อให้ นศ. ใช้ความรู้ตรวจสอบด้วยตนเองว่า มีข้อผิดพลาดอยู่ตรงส่วนไหนของความคิด  กระบวนการนี้จะช่วยเพิ่มทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) แก่ นศ. ด้วย


สรุป

ผมสรุปเชิง AAR กับตนเองว่า  ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ นี้ คุณค่าของครูอยู่ตรงช่วยให้ นศ. เรียนรู้ตรงทางนี่แหละ  คือ นศ. มีปัญหาเรียนรู้มาผิดๆ มากกว่าที่เราคิด  พื้นความรู้ที่บิดเบี้ยวนี้ ทำให้เอามาต่อความรู้ใหม่ไม่ติด  หรือต่อติดก็ยิ่งขยายความเข้าใจผิดๆ ยิ่งขึ้นไปอีก

คุณค่าของครูที่แท้จริงอยู่ตรงนี้  ที่การช่วยให้การเรียนรู้ของศิษย์ตรงทาง ถูกต้อง และช่วยแก้ไขส่วนที่ผิด

 

 

วิจารณ์ พานิช

๘  ธ.ค. ๕๕

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/515869

 

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๔. การจัดระเบียบความรู้

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

ตอนที่ ๔ นี้ มาจากบทที่ 2  How Does the Way Students Organize Knowledge Affect Their Learning?

บันทึกตอนที่ ๔อธิบายหลักการเรื่องการจัดระเบียบความรู้  และตอนที่ ๕อธิบายว่าครูจะช่วยศิษย์ให้จัดระเบียบความรู้เก่ง ได้อย่างไร


วิธีการจัดระเบียบความรู้ มีผลต่อการเรียนรู้

การจัดระเบียบความรู้ (Knowledge Organization) เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้  สมองของ นศ. หรือมือใหม่ด้านความรู้ จะมีความรู้กระจัดกระจาย ไม่หนาแน่น ยังไม่ค่อยมีการจัดระบบ  และการเชื่อมต่อระหว่างความรู้แต่ละชิ้นก็ยังไม่ดีไม่คล่องแคล่ว  ต่างจากสมองของผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความรู้หนาแน่น จัดเป็นระบบที่มีความหมาย (meaningful)  และการเชื่อมต่อระหว่างชิ้นความรู้ก็สะดวก  ทำให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถดึงเอาความรู้ที่เหมาะสมมาใช้งานได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว

หนังสือบอกว่า การจัดระเบียบความรู้ มีผลต่อการเรียนรู้  แต่ผมตีความไปไกลกว่านั้น  ว่าการเรียนรู้นั้นเอง ที่เป็นการจัดระเบียบความรู้  เราเรียนก็เพื่อจัดระเบียบความรู้ในระบบประสาทของเราให้มีโครงสร้างดียิ่งขึ้น  คล่องแคล่วต่อการดึงเอามาใช้งานยิ่งขึ้น  คือการจัดระเบียบความรู้ เป็นทั้งเหตุ และเป็นทั้งผล อยู่ในตัวของมันเอง


โครงสร้างรับใช้หน้าที่

มนุษย์เรียนรู้ความสัมพันธ์ต่างๆ จากประสบการณ์ของตน หลากหลายแบบของความสัมพันธ์  เช่น ในเรื่องในด้านกายภาพ เราเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างสวิตช์ไฟกับแสงสว่าง  โดยรู้ว่าว่าเมื่อกดสวิตช์ ไฟจะสว่าง  ในด้านหลักการ เราเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมกับเท่าเทียมกัน  เมื่อสมองของเราเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้น  ความรู้จะก่อตัวเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อน

รูปแบบของการจัดระเบียบโครงสร้างความรู้ขึ้นกับประสบการณ์ของคน  และสมองจะจัดระเบียบความรู้ตามเป้าหมายการใช้งานเป็นหลัก  เช่น นศ. ในวิชากายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา มีการเรียนเป็นท่อนๆ ตามอวัยวะ และระบบการทำงานของอวัยวะ  ได้แก่ระบบย่อยอาหาร ระบบหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด ระบบประสาท เป็นต้น  นศ. ก็จะจัดระเบียบโครงสร้างความรู้ตามระบบการทำงานของอวัยวะ  เมื่ออาจารย์ตั้งคำถามว่า ให้ระบุและอธิบายอวัยวะต่างๆ ที่มีผลต่อความดันโลหิต  นศ. ตอบไม่ได้  เพราะคำถามนี้ถามความรู้ที่จัดระเบียบโครงสร้างแตกต่างจากที่สมองของ นศ. จัดโครงสร้างไว้

ทำให้ผมหวนนึกถึงสมัยตนยังเป็นนักศึกษาแพทย์  อาจารย์สอนพวกเราเป็นรายโรค  ว่าโรคนั้นมีสาเหตุจากอะไร  มีอาการความเจ็บป่วยอย่างไร  ตรวจร่างกายพบความผิดปกติอย่างไรบ้าง  ตรวจพิเศษพบอะไรผิดปกติบ้าง ฯลฯ  พอไปดูคนไข้จริงๆ พวกเรางง ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร  เมื่อคนไข้เล่าอาการ เราก็คิดไม่ออกว่าจะต้องรี่เข้าไปตรวจร่างกายตรงไหน  ผมเพิ่งมาเข้าใจตอนนี้ว่า ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าสมองของพวกเราจัดระเบียบความรู้เป็นรายโรค  ไม่ได้จัดโครงสร้างความรู้สำหรับการปฏิบัติรักษาผู้ป่วย  แต่เมื่อเราฝึกปฏิบัติรักษาผู้ป่วยไม่นาน เราก็คล่อง  เข้าใจว่า เพราะสมองของเราได้จัดโครงสร้างความรู้อีกแบบหนึ่งไว้ใช้งานจริง  สภาพเช่นนี้ยังเป็นจริงสำหรับนักศึกษาแพทย์ในปัจจุบัน  และน่าจะมีส่วนอธิบายคำบ่นของคนบางคนว่าบัณฑิตที่จบออกมายังทำงานไม่เป็น


การจัดระบบความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ ต่างจากของผู้เริ่มต้น: ความหนาแน่นของการเชื่อมต่อ

ผู้เริ่มต้น (นักเรียน/นักศึกษา) มีความรู้ในสมองกระจัดกระจาย ไม่หนาแน่น  และมีการเชื่อมต่อน้อย ไม่ซับซ้อน  ความสัมพันธ์ระหว่างชิ้นความรู้มักเป็นหนึ่งต่อหนึ่ง คือผู้เริ่มต้นยังไม่มีความสามารถรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ชิ้นต่างๆ ได้มากนัก

ดูตัวอย่างของการจัดระเบียบความรู้ของผู้เชี่ยวชาญได้ ที่นี่ ตรงกันข้าม การจัดระเบียบความรู้ของผู้เริ่มต้นจะมีnode น้อย  และการเชื่อมต่อระหว่าง node ก็น้อย  แต่ละ node เชื่อมโยงกับ node อื่นไม่เกิน ๒ node

 


การจัดระบบความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ ต่างจากของผู้เริ่มต้น: ธรรมชาติของการเชื่อมต่อ

ความรู้ของผู้เริ่มต้น นอกจากไม่หนาแน่น แล้ว  ยังมีการเชื่อมต่อแบบผิวเผิน  ไม่เชื่อมต่อตามความสัมพันธ์เพื่อการแก้ปัญหา

ผู้เชี่ยวชาญ จัดระบบความรู้เป็นโครงสร้างความสัมพันธ์หลากหลายแบบแผน (pattern) แต่ละแบบแผนมีความหมายจำเพาะ ไว้ในสมอง  เมื่อมีปัญหาที่ต้องการแก้  สมองก็วิเคราะห์โครงสร้างของปัญหา และนำไปเปรียบเทียบกับโครงสร้างความรู้ที่มีอยู่ทันที  เรียกว่า pattern matching  เมื่อพบโครงสร้างความรู้ที่ตรงกับโครงสร้างปัญหา ก็นำมาใช้แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว  ในทำนอง “ไม่ต้องคิด”

นอกจากผู้เชี่ยวชาญจะจัดระเบียบโครงสร้างความรู้เป็นแบบแผนจำเพาะแล้ว  ยังจัดกลุ่มแบบแผนเป็นกลุ่มๆหรือเป็นแผนผังเพื่อให้สามารถใช้ความรู้ได้อย่างยืดหยุ่น  ยกตัวอย่าง เรามีแบบแผนภาพของไดโนเสาร์อยู่ในสมอง  เราไม่จำเป็นต้องมีแบบแผนของไดโนเสาร์แต่ละชนิดแยกๆ กัน  แต่สามารถจัดโครงสร้างระเบียบภาพไดโนเสาร์ในสมอง เป็นแผนผังแยกเป็นต่างชนิด  ทำให้ช่วยประหยัดพื้นที่ของสมอง  และสมองของผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีเกี่ยวกับไดโนเสาร์ ก็จะเชื่อมโยงโครงสร้างความรู้เกี่ยวกับภาพไดโนเสาร์ เข้ากับโครงสร้างความรู้เกี่ยวกับยุคทางธรณีวิทยา  ถิ่นที่อยู่  อาหาร ความสัมพันธ์กับสัตว์เลื้อยคลานยุคปัจจุบัน เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญ จะมีความสามารถมีความยืดหยุ่นในการใช้ความรู้จากหลายโครงสร้าง ได้อย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์  ดังกรณีตัวอย่าง อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถใช้ความรู้ให้เหมาะต่อสถานการณ์  คือเมื่อสอน นศพ. ที่ต้องเริ่มต้นด้วยความรู้ระบบอวัยวะ ก็ทำได้  เมื่อไปปฏิบัติดูแลผู้ป่วย ที่ต้องใช้ความรู้ในระดับที่สูงกว่า คือบูรณาการความรู้หลายระบบอวัยวะเข้าด้วยกัน ก็ทำได้

ทำให้ผมย้อนกลับไประลึกถึงการเรียนของผมสมัยเป็น นศพ.  ผมทราบว่าอาจารย์บางท่านที่เรายกย่องกันว่าสอนเก่ง ช่วยให้เราเข้าใจง่าย  ตอนท่านเป็น นศพ. ท่านสอบตกแล้วตกอีก ต้องเรียนซ้ำชั้น  แต่เวลาสอน ท่านสอนวิธีจำให้พวกเรา  สอนความเชื่อมโยงระหว่างความรู้ให้  ทำให้เรารู้วิธีทำความเข้าใจ ง่ายต่อการเรียนรู้

ต่างจากอาจารย์บางคน เรียนเก่งได้เหรียญทอง แต่สอนไม่รู้เรื่อง  คือท่านเน้นที่เนื้อหาสาระที่ซับซ้อน  โดยไม่คำนึงว่า นศพ. จะตามทันหรือไม่  ความที่ท่านหัวดีและเชี่ยวชาญ ท่านจึงสอนสาระที่ซับซ้อนมาก (ดีมาก) แต่พวกเรารับไม่ได้ เพราะเรายังเป็นมือใหม่  น่าเสียดายที่ท่านไม่ได้สอนวิธีจำหรือวิธีทำความเข้าใจ หรือวิธีเชื่อมโยงความรู้แก่ นศพ.  ผมเดาว่า เพราะท่านหัวสมองดีมาก ท่านจึงเข้าใจและจดจำได้โดยไม่รู้ตัวว่าสมองของท่านจัดระเบียบโครงสร้างความรู้อย่างไร



ข้อแนะนำสำหรับครูเพื่อศิษย์ คือ  ครูต้องตระหนักในความเป็น มือใหม่ของศิษย์  ครูในศตวรรษที่ ๒๑ ไม่ต้องเน้นบอกสาระความรู้ (เพราะศิษย์ค้นหาเองได้ง่าย) แต่ครูมีคุณค่ามาก ในการแนะนำวิธีเรียนรู้ วิธีจัดระเบียบโครงสร้างความรู้แก่ศิษย์ซึ่งจะกล่าวถึงในบันทึกที่ ๕

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๐  ธ.ค. ๕๕

คัดลอกมาจาก http://www.gotoknow.org/posts/516679

 

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๕. ครูช่วยศิษย์จัดระเบียบโครงสร้างความรู้ให้ถูกต้องและมั่นคง

พิมพ์ PDF

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๕. ครูช่วยศิษย์จัดระเบียบโครงสร้างความรู้ให้ถูกต้องและมั่นคง

 

 

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

ตอนที่ ๕ นี้ มาจากบทที่ 2  How Does the Way Students Organize Knowledge Affect Their Learning?

บันทึกตอนที่ ๔ อธิบายหลักการเรื่องการจัดระเบียบความรู้  และตอนที่ ๕ อธิบายว่าครูจะช่วยศิษย์ให้จัดระเบียบความรู้เก่ง ได้อย่างไร


สร้าง Concept Map เพื่อวิเคราะห์การจัดระเบียบความรู้ของครู

ครูถือเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ความรู้ในเรื่องที่ตนสอน  จึงมีการจัดระเบียบความรู้ในสมองของตนแบบซับซ้อน แต่ไม่รู้ตัว  และยากแก่การอธิบาย หรือทำความเข้าใจ  เพื่อให้ครูมีความสามารถช่วยเหลือศิษย์ให้จัดระเบียบความรู้ได้ถูกต้อง  ครูต้องเข้าใจวิธีจัดระเบียบความรู้ของตนเองในวิชาที่ตนสอน  และวิธีทำความเข้าใจทำได้โดยการทำ Concept Map  ในหนังสือมีคำอธิบายวิธีทำอยู่ใน Appendix B  ซึ่งผมจะไม่อธิบาย   ท่านที่สนใจ อ่านได้ ที่นี่

เมื่อทำ Concept Map  ของตนเองแล้ว ครูสามารถนำเอามาไล่วิธีคิดกับ นศ. ได้   เพื่อเน้นประเด็นหลักๆ หรือที่เป็นหัวใจสำคัญของวิชานั้นกับ นศ.


วิเคราะห์ภารกิจ เพื่อหาการจัดระเบียบความรู้ที่เหมาะสมที่สุด

ภารกิจที่ต่างกัน ต้องการการจัดระเบียบความรู้ที่แตกต่างกัน   ในการเรียนแต่ละวิชา หรือในการเรียนโดยทำโครงการ ครูควรชวน นศ. วิเคราะห์แต่ละภารกิจ ว่าต้องการการจัดระเบียบความรู้อย่างไร   จึงจะช่วยให้การเรียนรู้ดำเนินไปได้ดี

ครูสามารถช่วยเหลือ นศ. ให้ฝึกวิเคราะห์ภารกิจโดยมีร่างโครงให้คร่าวๆ  ให้ นศ. ลงมือทำเป็นทีมเล็กๆ  ตัวอย่างของเค้าโครงคือตาราง  ที่มีหัวข้อของแนวตั้ง หรือ column  ให้ นศ. ในทีมปรึกษากันและกรอกภารกิจสำคัญลงในตาราง

ผมขอเพิ่มเติมเองว่า ครูควรส่งเสริมให้ นศ. คิดต่างจากครู  คือคิดตารางที่ต่างออกไป  แล้วนำมาอภิปรายกันว่าตารางแบบไหนวิเคราะห์ภารกิจได้ชัดเจนเข้าใจง่ายกว่า  ช่วยการเรียนรู้ได้ดีกว่า


บอกโครงสร้างการจัดระเบียบรายวิชาแก่ นศ.

การที่ครูบอกโครงสร้างการจัดระเบียบรายวิชาแก่ นศ. จะช่วยการเรียนรู้ของ นศ. ในฐานะ “มือใหม่” อย่างมาก  เพราะช่วยให้ นศ. มองเห็น “ภาพใหญ่”  และโครงสร้างภายในของ “ภาพ” นั้น ช่วยให้การเรียนวิชานั้นมีความหมาย  หรือกล่าวว่า ช่วยให้วิชาหรือกิจกรรมนั้นมีความหมายที่ลึกซึ้งและเชื่อมโยง  แก่ นศ.

ผมตีความว่า การที่ครูบอกโครงสร้างการจัดระเบียบรายวิชาแก่ นศ. เป็นสัญญาณบอกว่า ความเข้าใจภาพใหญ่ สำคัญกว่ารายละเอียดปลีกย่อย  และนี่คือส่วนสำคัญของ “ทักษะการเรียนรู้”(Learning Skills) ที่ นศ. จะได้สั่งสมขึ้น โดยไม่รู้ตัว

การบอกโครงสร้างรายวิชานี้ ควรทำเป็นไดอะแกรม หรือ flow chart  ช่วยการอธิบาย  เป็นภาพกระตุ้นการเรียนรู้ผ่านจักษุประสาท ไปพร้อมๆ กับการอธิบายด้วยถ้อยคำ

ผมเถียงผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ว่า  หากผมเป็นครูผู้สอน ผมจะไม่บอกโครงสร้างการจัดระเบียบรายวิชาแก่ นศ.  แต่จะให้ นศ. แต่ละคนไปเขียนมาเป็นการบ้านจากการอ่าน course description ของวิชาส่งครูเป็นผลงานส่วนบุคคล  แล้วให้จับกลุ่ม ๔ คนปรึกษากันและหาข้อสรุปเขียนส่งครูเป็นผลงานกลุ่ม  แล้วให้จับฉลากนำเสนอต่อชั้น ๓ - ๔ กลุ่ม  แล้วจึงให้อภิปรายกันในชั้น  นศ. ก็จะได้ฝึกทำ Concept Map ไปในตัว  พร้อมกับเข้าใจภาพใหญ่ของรายวิชาไปในตัว

ที่สำคัญ เนื่องจาก นศ. ยังไม่ได้เรียนวิชานั้น  จึงยังไม่รู้ ไม่เข้าใจเนื้อหารายละเอียด  ความสงสัยนี้จะติดตัวติดใจ นศ.  กลายเป็นตัวกระตุ้นการเรียนรู้  และครูก็จะได้ใช้ key word ที่อภิปรายกัน นำมาชี้ให้ นศ. เห็นและเข้าใจ ในระหว่างเรียนตอนต่อๆ ไป ว่ากำลังเรียนถึงส่วนย่อยไหนของภาพใหญ่  ให้เห็นความต่อเนื่อง และความสัมพันธ์กันของการเรียนแต่ละตอน


ระบุการจัดระเบียบโครงสร้างของแต่ละการบรรยาย,Lab,หรือการอภิปราย

ครูต้องบอกโครงสร้างของแต่ละกิจกรรม แก่ นศ.  เพื่อช่วยให้ นศ. เชื่อมโยงความรู้ที่เรียนใหม่เข้ากับความรู้เดิมโดยอัตโนมัติ  โดยครูต้องมีวิธีบอกที่เข้าไปในสาระหลักของสิ่งที่เรียน  ที่จะช่วยความเข้าใจและความจำ  ไม่ใช่แค่บอกกระบวนการหรือขั้นตอนการเรียนในชั้นเรียน

ตัวอย่างของการบอกโครงสร้างที่ไม่ดี “การเรียนรู้วันนี้จะประกอบด้วย บทนำ การบรรยาย การอภิปราย และสรุป”  เพราะเป็นโครงสร้างที่ไม่มีเนื้อสาระเลย  ตัวอย่างที่ดี เช่น “หลัก ๓ ประการ สำหรับ ....  เหตุผลของแต่ละหลักการ  และข้อจำกัดของแต่ละหลักการ”


ใช้ตัวอย่าง ที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว เพื่อบอกลักษณะของการจัดระเบียบ

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม สัมผัสได้ ช่วยให้ทำความเข้าใจการจัดระเบียบโครงสร้างความรู้ง่ายขึ้น  ยิ่งมีตัวอย่างที่แตกต่างกันมาก ยิ่งช่วยความเข้าใจ  เช่นในการเรียนเรื่องสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  ครูอาจยกตัวอย่าง (ปลา)โลมา กับปลาฉลาม  ที่ในการจำแนกกลุ่มสัตว์ อยู่ในกลุ่มที่ต่างกันมาก  คือ(ปลา)โลมาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  ในขณะที่ปลาฉลามเป็นปลา  แต่ดูลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกันหลายอย่าง


แสดงลักษณะเชิงลึก อย่างชัดเจน

ทำได้โดยยกตัวอย่าง ๒ ตัวอย่าง ที่มีความเหมือนหรือคล้ายคลึง หากพิจารณาอย่างละเอียด  แต่ดูผิวเผินแตกต่างกัน  หรือที่เมื่อมองอย่างผิวเผินเหมือนหรือคล้ายกัน แต่เมื่อพิจารณาให้ละเอียดจะพบว่าแตกต่างกัน  การทำเช่นนี้ จะช่วยฝึก นศ. ให้เรียนรู้อย่างลึก ไม่ใช่เรียนรู้แบบผิวเผิน


ทำให้ความเชื่อมโยงระหว่าง concept มีความชัดเจน

ครูต้องช่วยเตือนความจำของศิษย์ ว่าสิ่งที่กำลังเรียนรู้ใหม่นั้น เชื่อมโยงกับสิ่งที่เคยเรียนมาแล้วอย่างไร  และจะยิ่งดี หากครูตั้งคำถาม เพื่อให้ นศ. ทบทวนความจำและเชื่อมโยงความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เก่า ด้วยตนเอง  เช่น “เราเรียนเรื่อง ก ในสัปดาห์ที่แล้ว  นศ. ลองบอกได้ไหมว่า เรื่องที่เรากำลังเรียนอยู่นี้ เกี่ยวข้องกับเรื่อง ก อย่างไร”


ส่งเสริมให้ นศ. ฝึกพัฒนาหลายโครงสร้างของการจัดระเบียบความรู้

นศ. ควรได้รับการฝึกฝนให้ไม่เชื่อหรือฝังใจในหลักการหรือแนวคิดเดียว  ต้องฝึกให้เปิดใจไว้รับสิ่งที่แตกต่างได้  วิธีหนึ่งสำหรับฝึกวิธีคิดดังกล่าว ทำโดยให้ นศ. ฝึกจัดโครงสร้างระเบียบความรู้หลายแบบ  เช่นในการจัดกลุ่มพืช ครูบอกให้จัดกลุ่มตามวิวัฒนาการก่อน  หลังจากนั้นจึงแนะให้จัดกลุ่มตามสถานที่อยู่ตามธรรมชาติ  นศ. จะได้เข้าใจว่า การจัดโครงสร้างความรู้แตกต่างกันได้ตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน


ให้ นศ. เขียน Concept Map เพื่อทำความเข้าใจการจัดระเบียบความรู้ของตนเอง

การให้ นศ. เขียน concept map มีประโยชน์ ๒ อย่าง  คือช่วยให้ครูทราบพื้นความรู้ของศิษย์  และยังช่วยให้ครู (และตัวศิษย์เอง) รู้ว่าศิษย์จัดระเบียบโครงสร้างความรู้เรื่องนั้นอย่างไร   ซึ่งจะช่วยให้ครูรู้ว่าศิษย์คนใดมีปัญหาเรื่องพื้นความรู้


ใช้ Sorting Task เพื่อให้ นศ. ทำความเข้าใจการจัดระเบียบความรู้ของตนเอง

การให้ นศ. แยกแยะปัญหา, หลักการ, หรือสถานการณ์ ออกเป็นชนิดต่างๆ จะช่วยให้ครูเข้าใจวิธีจัดระเบียบโครงสร้างความรู้ของศิษย์  โดยที่ศิษย์ไม่ต้องทำชิ้นงานจัดระเบียบความรู้โดยตรง

วิธีหนึ่งสำหรับตรวจสอบว่า นศ. มีวิธีคิดแบบผิวเผินหรือแบบลึก  ทำโดยให้ นศ. จับคู่คำหรือสิ่งของที่มีความคล้ายคลึงกัน  โดยที่ความคล้ายคลึงกันนั้น มีทั้งแบบที่ใช้ลักษณะที่มองเห็นอย่างผิวเผิน  กับแบบที่ใช้เกณฑ์ความคล้ายคลึงที่ใช้ความรู้ที่ลึกซึ้ง

นศ. คนใดยังจัดระเบียบความรู้แบบผิวเผิน ครูจะได้หาทางช่วยเหลือให้เรียนรู้ความรู้ที่ลึกซึ้งเชื่อมโยงต่อไป


ติดตามตรวจสอบการทำงานของ นศ. เพื่อทราบข้อบกพร่องในการจัดระเบียบความรู้

การติดตามตรวจสอบผลงานของ นศ. แต่ละคน  หากพบว่ามีการทำผิดซ้ำๆ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  ก็อาจสะท้อนความบกพร่องในการจัดโครงสร้างระเบียบความรู้เรื่องนั้น  โดยอาจตีความทฤษฎี หรือสูตร ผิด หรืออาจเชื่อมโยงทฤษฎีเข้ากับบริบทแบบผิดๆ  หากไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะก่อปัญหาการเรียนรู้ของ นศ.


สรุป

การเรียนรู้มี ๒ ส่วน คือ  (๑) รู้สาระ  และ (๒) รู้ความหมายและความเชื่อมโยง หรือการจัดระเบียบโครงสร้างของความรู้นั้น  ส่วนที่สำคัญกว่า และช่วยให้เรียนลึกซึ้งกว่า คือส่วนที่ ๒  การเรียนรู้เฉพาะส่วนที่ ๑ เรียกว่า เรียนรู้แบบผิวเผิน (ได้ superficial knowledge)  ครูเพื่อศิษย์ต้องมุ่งจัดการให้ นศ. เรียนรู้อย่างลึกซึ้งและแตกฉาน  ซึ่งทำได้โดยทำความเข้าใจวิธีจัดระบบโครงสร้างความรู้เรื่องนั้นๆ ของ นศ.  รวมทั้งช่วยให้ นศ. เข้าใจการจัดระบบโครงสร้างความรู้ด้านนั้นๆ ของตนเอง  สำหรับนำมาใช้พัฒนาวิธีเรียนของตนเอง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ธ.ค. ๕๕

คัดลอกมาจาก http://www.gotoknow.org/posts/517323

 

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๖. สิ่งที่จูงใจนักเรียนให้อยากเรียน

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

 

ตอนที่ ๖ นี้ มาจากบทที่ 3  What Factors Motivate Students to Learn?

 

บันทึกตอนที่ ๖ อธิบายหลักการเรื่องทฤษฎีว่าด้วยแรงจูงใจในการเรียน และยุทธศาสตร์ในการกำหนดคุณค่า และตอนที่ ๗ ว่าด้วยเรื่องยุทธศาสตร์ทำให้ นศ. มีความคาดหวังเชิงบวก และยุทธศาสตร์ในการจัดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าและความมั่นใจว่าสามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้

 

บทที่ ๓ ของหนังสือ เริ่มด้วยคำบ่นและคร่ำครวญของศาสตราจารย์ ๒ คน  ที่สอนวิชาปรัชญา และวิชา Thermodynamics  ว่า นศ. ไม่สนใจเรียน ขี้เกียจ ขาดเรียน  แม้ครูในวิชา Thermodynamics จะได้เตือน นศ. ตั้งแต่ต้นเทอมแล้ว ว่าวิชานี้ยาก นศ. ต้องตั้งใจเรียนจริงๆ จึงจะสอบผ่าน

 

นี่คือความผิดพลาดที่พบบ่อยที่สุดของครู/อาจารย์ในยุคปัจจุบัน  ที่ตั้งความคาดหวังผิดๆ ว่า นร./นศ. ในปัจจุบันจะตั้งใจเรียน เหมือน นร./นศ. ในสมัยที่อาจารย์เป็น นร./นศ.

 

หนังสือบอกว่า เมื่อศึกษาวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดของการจัดการเรียนการสอนในทั้ง ๒ กรณี  จะพบว่าต้นเหตุหลักที่ทำให้ นศ. ไม่สนใจเรียน อยู่ที่ตัวอาจารย์เอง ไม่ได้อยู่ที่ นศ.

 

ศาสตราจารย์วิชาปรัชญามีความกระตือรือร้นและรักวิชานี้มาก  จึงหลงคิดว่า นศ. จะให้คุณค่าต่อวิชานี้เหมือนที่ตนห็นคุณค่า  ศ. ท่านนี้ไม่ได้พยายามมองวิชา บทเรียน และบรรยากาศในการเรียนจากมุมมองของ นศ.  (ไม่ได้เอาใจเขามาใส่ใจเรา)   บทเรียนจึงไม่ได้จัดตามมุมมองหรือมุมกระตุ้นความสนใจของ นศ.  แต่จัดตามความสนใจของครู

 

ศาสตราจารย์ ก ที่สอนวิชา Thermodynamics ใช้แทคติคเดียวกันกับอาจารย์ที่เคยสอนวิชานี้แก่ตน  คือเตือน นศ. ว่าวิชานี้ยาก ให้ตั้งใจเรียน  คำเตือนแบบนี้กระตุ้นความสนใจแก่ นศ. ที่ตั้งใจเรียนอย่างศาสตราจารย์ ก  แต่ไม่กระตุ้นความสนใจ เอาใจสู้ แก่ นศ. สมัยนี้  และกลับก่อผลในทางตรงกันข้าม คือทำให้ท้อถอย


แรงจูงใจคืออะไ

หนังสือเล่มนี้ให้นิยามแรงจูงใจ (motivation) ว่าหมายถึงการลงทุนส่วนตัวของบุคคล เพื่อการบรรลุเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง

เป็นการให้นิยามแรงจูงใจเพื่อให้เป็นรูปธรรม เป็นพฤติกรรม สามารถวัดได้  ผมคิดต่อว่า หากให้นิยามแนวนี้ ส่วนที่อยู่ภายในจิตใจของเรา เป็นนามธรรม วัดยากหรือวัดไม่ได้ คือ แรงบันดาลใจ (inspiration) หรือแรงปรารถนา(passion)

การลงทุนส่วนตัวนี้ อยู่ในรูปของใจจดจ่อ การให้เวลา ความอดทนพากเพียรพยายาม ทำซ้ำๆ ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก  ไม่ถอดใจเมื่อล้มเหลว   ผมนึกถึงการใช้ทุนทรัพย์เพื่อซื้อสิ่งของและบริการเพื่อบรรลุเป้าหมาย  และตัดสินว่า ไม่ใช่แรงจูงใจ เพราะเป็นการลงทุนนอกกาย (และใจ)

 


ทฤษฎีว่าด้วยแรงจูงใจในการเรียน

แรงจูงใจในการเรียนของ นศ. เป็นตัวเริ่มต้น กำกับทิศทาง และสร้างความต่อเนื่อง ในการเรียน ของ นศ.

ในแต่ละช่วงชีวิตของคนเรา (โดยเฉพาะ นศ.) เรามีเป้าหมายหลายอย่างแข่งขันกันอยู่  แข่งกันแย่ง “ทรัพยากรส่วนตัว” คือความสนใจ เวลา ความพยายาม ของแต่ละคน

นี่คือธรรมชาติที่ครูพึงเข้าใจและตระหนักอยู่ตลอดเวลา  ว่า นศ. เขามีเป้าหมายอื่นอยู่ในขณะนั้นด้วย  และแม้แต่เป้าหมายด้านการเรียน เขาก็ยังต้องเรียนวิชาอื่นด้วย

 

 


เป้าหมาย

คำพูดว่าใครสักคนมีแรงจูงใจ ไม่มีความหมาย หากไม่ใช่แรงจูงใจสู่การลงมือทำ  ทำเพื่อบรรลุผลตามความมุ่งหมายหรือความคาดหวัง  เป้าหมายเป็นเสมือนเข็มทิศ  หรือภาษาไทยเรามักใช้คำว่า “ปักธง”

สิ่งที่ครูพึงตระหนักในเรื่องเป้าหมายของ นศ. ก็คือ  (๑) นศ. แต่ละคนมีหลายเป้าหมายในเวลาเดียวกัน  ทั้งเป้าหมายทางการเรียน  เป้าหมายทางสังคม ในการหาเพื่อน หาแฟน สร้างการยอมรับนับถือในหมู่เพื่อนๆ เป็นต้น  หรือบางคนอาจต้องหาเงินเลี้ยงชีพด้วย  (๒) เป้าหมายของ นศ. กับของครูมักไม่ตรงกัน  ครูพึงเอาเป้าหมายของ นศ. เป็นหลัก ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ นศ.  ไม่ใช่เอาเป้าหมายของครูเป็นหลัก  (๓) เป้าหมายเกี่ยวกับการเรียนมีทั้งเป้าหมายที่ดี/เหมาะสม  และเป้าหมายที่ไม่ดี/ไม่เหมาะสม  เป้าหมายเกี่ยวกับการเรียนที่ไม่เหมาะสม ไม่นำไปสู่ผลการเรียนที่ลึกซึ้งแตกฉาน

ซึ่งหมายความว่า ครูต้องมีวิธีตรวจสอบทำความเข้าใจเป้าหมายของ นศ. ในชั้น ทั้งในภาพรวม และเข้าใจ นศ. เป็นรายคน

ในทางจิตวิทยาการเรียนรู้ เป้าหมายของ นศ. มีความซับซ้อน  และอาจมีเป้าหมายที่ไม่นำไปสู่การเรียนรู้ที่ดี  เรียกว่าเป้าหมายโชว์ความสามารถหรือเป้าหมายโชว์สมรรถนะ (Performance Goal)  ซึ่งแตกต่างจากเป้าหมายการเรียนรู้(Learning Goal)

เป้าหมายโชว์สมรรถนะอาจกล่าวได้ว่า เป็นหลุมพรางของเป้าหมายที่แท้จริง  หรือเป็นเป้าหมายปลอม ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้เพียงระดับผิวเผิน  คือเพียงแค่เอาไว้โชว์

ทำให้ผมหวนระลึกถึงข้อสงสัยที่ติดใจมากว่า ๕๐ ปี และคิดว่าได้คำตอบเมื่ออ่านหนังสือ How Learning Works มาถึงตอนนี้

ตอนต้นปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ผมอายุ ๑๖ ปี เรียนอยู่ชั้น ม. ๖ (ในสมัยนั้นเรียนชั้นประถม ๔ ปี  มัธยม ๖ ปี  เตรียมอุดม ๒ ปี  แล้วจึงเข้ามหาวิทยาลัย)  เตรียมตัวสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของนักเรียนทุกคนที่เรียนดี และต้องการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย  การเตรียมตัวอย่างหนึ่งทำโดยไปกวดวิชา  โรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ “โรงเรียนทัดสิงห์” (ทัด สิงหเสนี)  อยู่บนถนนพระราม ๑ ใกล้สี่แยกแม้นศรี  ผมไปเรียนแบบเด็กเรียนเก่งแต่ไม่มั่นใจตัวเอง  มุมานะขยันเรียนสุดฤทธิ์  และหมั่นสังเกตนักเรียนคนอื่นๆ ว่าเขามีวิธีเรียนกันอย่างไร  มีเด็กผู้ชาย (ที่จริงเป็นวันรุ่น) คนหนึ่งเป็นคนช่างพูดและเสียงดัง  ระหว่างที่เราไปนั่งรอให้ถึงเวลาเรียน  จะได้ยินเขาพูดจาอธิบายความรู้ด้านต่างๆ รวมทั้งวิธีทำโจทย์ข้อสอบ  ผมสังเกตว่าบางข้อเขาพูดผิด แต่ไม่ได้พูดจาโต้แย้ง (ผมไม่เคยพูดกับเขาเลย)  แต่ส่วนใหญ่ผมรู้สึกพิศวงว่าเขามีความรู้มากมายกว้างขวางเช่นนั้นได้อย่างไร  รวมทั้งผมสงสัยว่าเขารู้จริงหรือไม่  คำตอบอยู่ที่ผลสอบเข้าโรงเรียนเตรียมฯ  ผมไม่เห็นตัวเขาที่โรงเรียนเตรียมฯ เลย จึงเดาว่าเขาสอบไม่ได้  แต่ผมสงสัยเรื่อยมาว่าทำไมเขามีพฤติกรรมเช่นนั้น  มาได้คำตอบเชิงวิชาการเอา ๕๔ ปีให้หลัง  ว่าเป็นเพราะเขาหลงเรียนเพื่อโชว์  ไม่ใช่เรียนเพื่อรู้ (จริง)

เป้าหมายที่ไม่ดีอีกอย่างหนึ่ง คือเป้าหมายหลบเลี่ยงการทำงานหนัก (Work-avoidant goals) ซึ่งนำไปสู่การทำงานลวกๆ ขอไปที  นศ. อาจมีเป้าหมายเรียนเพื่อรู้จริงต่อวิชา ก  แต่มีเป้าหมายหลบเลี่ยงการทำงานหนักของวิชา ข ก็ได้

การที่ นศ. มีหลายเป้าหมายในเวลาเดียวกัน ไม่จำเป็นจะต้องทำให้เป้าหมายการเรียนย่อหย่อน  หากครูมีวิธีช่วยเอื้ออำนวยให้เป้าหมายหลายอย่างช่วยเสริม (synergy) ซึ่งกันและกัน  ตัวอย่างเช่น ทำให้เป้าหมายการเรียนรู้ เป้าหมายด้านความชอบ (Affective Goal)  และเป้าหมายทางสังคม (Social Goal) คือได้เพื่อน ได้รับความยอมรับนับถือจากเพื่อน เสริมซึ่งกันและกัน  ทำให้เป้าหมายการเรียนรู้มีพลังเข้มแข็งขึ้น  นี่คือข้อสรุปจากผลการวิจัย

ทำให้ผมหวนระลึกถึงสมัยที่ตนเองกำลังเป็น นศ.  เป็นวัยรุ่น  ที่ผู้ใหญ่เตือนว่าอย่าเพิ่งริมีแฟน จะทำให้เสียการเรียน  ลุงคนหนึ่งถึงกับสอนให้ท่อง “สตรีคือศัตรู”  ซึ่งผมก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง  และสมัยผมเรียนแพทย์ผมมีเพื่อนที่เรียนอ่อน  แต่เมื่อมีแฟนการเรียนดีขึ้นมาก เข้าใจว่าต้องขยันเรียน เอาไปติวแฟน  ซึ่งเข้าตำราเรื่อง Learning Pyramid ว่าการสอนผู้อื่นเป็นวิธีเรียนที่ดีที่สุด

จะเห็นว่า เรื่องเป้าหมายชีวิตในขณะนั้น กับผลการเรียนรู้ เป็นเรื่องซับซ้อน  มีประเด็นให้เอาใจใส่ทดลอง หรือทำวิจัยได้ไม่สิ้นสุด  โดยอาจนำเอาเรื่องตัวเบี่ยงเป้าหมาย หรืออุปสรรคขัดขวางเป้าหมายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการตั้งโจทย์ก็ได้


การให้คุณค่า

เมื่อ นศ. มีหลายเป้าหมายในเวลาเดียวกัน  มีเรื่องที่จะต้องทำให้เลือกหลายตัวเลือกในเวลาเดียวกัน  นศ. ย่อมเลือกทำสิ่งที่ตนคิดว่ามีคุณค่าสูงสุดต่อตนเอง

มีผู้ให้ความเห็นไว้ว่านศ. ที่ตั้งใจเรียน เกิดจากการให้คุณค่าเชิงนามธรรม (subjective value) ต่อการเรียนรู้แบบใดแบบหนี่งหรือหลายแบบใน ๓ แบบ ต่อไปนี้

๑.  Attainment value  เป็นคุณค่าจากความพึงพอใจที่เกิดจากการได้เรียนรู้  หรือจากความสำเร็จ

๒.  Intrinsic value  เป็นความพึงพอใจจากการทำสิ่งนั้นๆ เอง  ไม่สนใจผล

๓.  Instrumental value  เป็นคุณค่าที่นำไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าการเรียนรู้  เช่นความมีชื่อเสียง  การมีรายได้สูง ที่เป็นผลได้ภายนอก (Extrinsic Reward) ในกรณีนี้ นศ. ตั้งใจเรียน เพราะมีความหวังว่าเมื่อสำเร็จ ตนจะมีชีวิตที่ดี

ประเด็นสำคัญต่อครูก็คือ  ครูพึงชี้ให้ นศ. เห็นคุณค่าของการเรียนวิชานั้นๆ ให้ นศ. เห็นหรือเข้าใจชัดเจน   และหากกระบวนการเรียนรู้ของ นศ. คนนั้นลื่นไหลได้ผลดี  จากคุณค่าเริ่มต้นแบบที่ 3  ต่อไปจะเกิดคุณค่าแบบที่ 2 และ 1 ขึ้นได้เอง


ความเชื่อมั่นว่าบรรลุได้

จากผลการวิจัย ชี้ว่า แม้ นศ. จะเห็นคุณค่าของการเรียนวิชานั้น  แต่หากใจไม่สู้ ไม่เชื่อว่าตนจะเรียนวิชานั้นได้  ก็ไม่เกิดแรงจูงใจต่อการเรียนวิชานั้น

ในภาษาวิชาการ ความเชื่อมั่นต่อการบรรลุผล เรียกว่า outcome expectanciesซึ่งมีทั้งตัวบวกและตัวลบ  ตัวบวกเรียกว่า positive outcome expectancies ส่วนตัวลบ เรียกว่า negative outcome expectancies จะเห็นว่า ตัวหลังทำให้ใจไม่สู้  และตัวแรกทำให้ใจสู้มุมานะ

การให้กำลังใจแก่ นศ.  ที่ครูให้เป็นรายบุคคล มีถ้อยคำแสดงความเชื่อมั่นว่าทำได้ ที่เหมาะสมตามบริบทของ นศ. คนนั้นๆ พร้อมกับคำแนะนำให้เอาใจใส่บางจุด ปรับปรุงบางเรื่อง จะเป็นเสมือนน้ำทิพย์ชโลมใจ นศ.

เป้าหมายของ นศ. บางคนคือ “เหรียญทอง”  ครูที่เข้าใจจิตใจของ นศ. จะสามารถใช้เทคนิคนี้ช่วยสร้างกำลังใจ/แรงจูงใจ ให้ นศ. มีความมานะพยายาม และบรรลุเป้าหมายได้

ความเชื่อมั่นต่อการบรรลุผลเชิงบวก มีตัวช่วยตัวหนึ่ง ชื่อ efficacy expectancies ซึ่งหมายถึงความมั่นใจว่าตนมีทักษะต่างๆ เพียงพอที่จะช่วยให้ตนบรรลุผลตามเป้าหมายได้

หากครูช่วยชี้ให้ นศ. ใช้ efficacy expectancies หรือ learning skills ที่เหมาะสมต่อการเรียนวิชานั้น  ก็จะเป็นกำลังใจให้เกิดความ “ฮึดสู้” ได้


มุมมองต่อสภาพแวดล้อมมีผลต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างการให้คุณค่า และความเชื่อมั่นว่าบรรลุได้

สรุปอย่างง่ายที่สุด  แรงจูงใจต่อการเรียน เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ๓ ปัจจัยของ นศ.  คือ (๑) เป้าหมาย  (๒) ความเชื่อมั่นว่าเรียนวิชานั้นได้สำเร็จ  และ (๓) มุมมองต่อสภาพแวดล้อมว่าเอื้อให้ตนเรียนได้สำเร็จ

ย้ำนะครับว่า เรื่องสภาพแวดล้อมนั้น จุดสำคัญอยู่ที่ว่า นศ. มีมุมมองต่อสภาพแวดล้อมอย่างไร  ไม่ใช่ตัวสิ่งแวดล้อมโดยตรง  นศ. ในชั้นส่วนใหญ่อาจมองว่า สิ่งแวดล้อมให้ชั้นเรียนดีมาก ช่วยสนับสนุนการเรียนของตนอย่างดีเยี่ยม  แต่ นศ. บางคนอาจมีมุมมองเป็นลบ  เช่นคิดว่าตนน่าจะสอบไม่ผ่าน เพราะครูคนนี้ไม่ชอบ นศ. ผู้ชายที่ตัวดำ  หรือคิดว่า ในชั้นเรียนมีแต่คนเรียนเก่งทั้งนั้น เวลาครูตัดเกรดเราก็จะเป็นคนคะแนนโหล่ สอบตกแน่ๆ  เป็นต้น


ยุทธศาสตร์ในการกำหนดคุณค่า

ต่อไปนี้เป็นเทคนิคที่ครูสามารถใช้ส่งเสริมให้ศิษย์มองเห็นคุณค่าของวิชาที่ตนสอน


เชื่อมโยงสาระเข้ากับความสนใจของ นศ.

จะเห็นว่า ครูที่ดีต้องเอา นศ. เป็นตัวตั้ง  ต้องเข้าใจความสนใจของ นศ. แต่ละคน  และคอยชี้ให้เห็นว่าการเรียนวิชานั้น ในตอนนั้นๆ เชื่อมโยงกับความสนใจของ นศ. อย่างไร

 


มอบงานที่สอดคล้องกับโลกแห่งชีวิตจริง

ครูต้องหาทางต่างๆ ที่จะช่วยให้ นศ. เห็นว่าวิชาที่ครูสอน มีความเชื่อมโยงกับชีวิตจริงอย่างไร   วิธีหนึ่งทำได้โดยให้ทำโครงงาน (project)  หรือกรณีศึกษา (case studies) ที่เป็นเรื่องจริง  หรือให้ไปฝึกงานหรือสหกิจศึกษา ณ สถานที่ทำงานจริง

 


แสดงความสอดคล้องกับวิชาการในปัจจุบันของ นศ.

นศ. มักตั้งข้อสงสัยว่า เรียนวิชานั้นไปทำไม  ในเมื่อมันไม่เกี่ยวกับวิชาชีพที่ตนต้องการเรียน  เช่นนักศึกษาเตรียมแพทย์อาจตั้งคำถามว่าทำไมตนต้องเรียนวิชาสถิติด้วย  ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกับวิชาแพทย์เลย  อาจารย์จึงควรอธิบายคุณค่าของวิชาสถิติ ต่อคนที่จะเรียนแพทย์ว่า มันเป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนวิชาเวชสถิติ  ซึ่งแพทย์จะต้องใช้ตลอดชีวิต


แสดงให้เห็นว่าทักษะระดับสูงมีความหมายต่อวิชาชีพในอนาคตของ นศ. อย่างไรบ้าง

ที่จริงตัวอย่างในตอนที่แล้ว ช่วยอธิบายความหมายของตอนนี้ได้ด้วย

 


ตรวจหา และให้รางวัลแก่ผลงานที่ครูให้คุณค่า

ครูต้องหมั่นตรวจหาพฤติกรรม และผลงานที่ครูให้คุณค่า  แล้วให้คะแนนและให้คำชมอย่างชัดเจน  ตัวอย่างเช่น หากครูต้องการให้ นศ. ฝึกการทำงานเป็นทีม  เมื่อครูสังเกตเห็น นศ. กลุ่มใดทำงานเป็นทีมที่เข้มแข็ง ครูต้องให้คำชม  โดยชมในชั้นเรียน และให้คำอธิบายต่อชั้นเรียนว่าครูสังเกตเห็นลักษณะการทำงานเป็นทีมที่ดีอย่างไร ใน นศ. กลุ่มนั้น   และครูคิดว่า นศ. ที่มีทักษะเช่นนี้ จะมีผลดีต่อชีวิตในอนาคตอย่างไร

 


แสดงความกระตือรือร้น และการเห็นคุณค่า ของครู ต่อวิชานั้นๆ

การแสดงอย่างจริงใจ และแจ้งชัด ว่าครูมีความกระตือรือร้น  มีพลังของความรักเห็นคุณค่าของวิชานั้นสูงยิ่ง  จะเป็นคล้ายๆ โรคติดต่อ ให้ นศ. รู้สึกพิศวงต่อวิชานั้น  เกิดความสนใจ และเห็นคุณค่าของวิชานั้น ตามไปด้วย

 

วิจารณ์ พานิช

๒๙ ธ.ค. ๕๕

คัดลอกจากhttp://www.gotoknow.org/posts/518126

 


หน้า 494 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5606
Content : 3049
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8602613

facebook

Twitter


บทความเก่า