Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง: ๑๗๘๐.วาดฝันในวันแห่งความรัก

พิมพ์ PDF

วันที่ ๑๔ ก.พ. ๕๖ วันวาเลนไทน์ ผมมีนัดที่ตกลงกันว่าจะถือเป็นนัดถาวร หรือนัดประเพณีคือ ๙.๓๐ น. นัดวาดฝันของเยาวชนที่ได้รับพระราชทานทุนเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และ ๑๓ น. นัดวาดฝันของประชาคมมหาวิทยาลัยมหิดลในการเสวนาสภามหาวิทยาลัย และสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล พบประชาคม เราตกลงกันว่าจะนัดจัดงานนี้ทุกปี

ทั้งสองเวที เป็นทั้งที่วาดฝันและสานฝันเพื่อนำไปสู่การกระทำเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ตามรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมราชชนกดังพระราชหัตถ์เลขา“... ถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง .....”

โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นโครงการสร้างชุมชนคนมีฝันที่จะอุทิศชีวิตในการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ในด้านการแพทย์แต่ละปีมีการคัดเลือกนักศึกษาแพทย์ปีที่ ๕ เพื่อรับพระราชทานทุนไปต่างประทศ ๑ ปี จำนวน ๕ คน เพื่อไปฝึกทำฝันให้เป็นจริง  มีที่ปรึกษาทั้งในต่างประเทศ และในประเทศไทยโดยเราหวังว่าความสัมพันธ์กับที่ปรึกษา (mentor) จะเป็นความสัมพันธ์ตลอดชีวิต และความสัมพันธ์ (ของผู้ได้รับพระราชทานทุน และของmentor) กับมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ก็จะเป็นความสัมพันธ์ตลอดชีวิตเช่นกัน

เป็นความสัมพันธ์ เพื่อร่วมมือกันทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์

โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จึงเป็นโครงการจรรโลงใจแห่งความรักเพื่อนมนุษย์ จรรโลงการอุทิศตนเพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่น

วันที่ ๑๔ ก.พ. ๕๖ ผู้ได้รับพระราชทานทุนรุ่นที่ ๔ จำนวน ๕ คน  และ mentor ไทย ๕ ท่าน (มา ๓ ท่าน) มาสานฝันกัน เพื่อเตรียมตัวเริ่มต้นชีวิตในชุมชนเยวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ทำงานพัฒนาการแพทย์เพื่อประโยชน์ต่อผู้อื่น ตามประเด็นสนใจของตน

ความเป็นชุมชนของเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เริ่มชัดเจนขึ้น งอกงามขึ้น เมื่อมีการประชุมวิชาการ PMA Youth Program Conference ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๘ ม.ค. ๕๖เป็นside meeting ของPMAC 2013 ที่ศูนย์ประชุมโรงแรมเซนทาราแกรนด์ ราชประสงค์  และประสบความสำเร็จสูงมากต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อก่อตัวชุมชนแห่งการทำประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ มี mentor ต่างประเทศมาร่วมด้วย การประชุมนี้จะจัดทุกปี และเยาวชนฯจะเข้ามาร่วมทำงานจัดการประชุม

ตอนบ่ายมีเวทีสภามหาวิทยาลัยและสภาคณาจารย์พบประชาคมมหาวิทยาลัยมหิดลที่ทีมสำนักงานสภาฯและทีมสภาคณาจารย์ ตั้งชื่อเวทีนี้ว่า“ความมั่นคงในการทำงานกับความก้าวหน้าของมหาวิทยาลั”  ซึ่งเป็นเวทีที่ประชาคมมหาวิทยาลัยมหิดลมาร่วมกันวาดฝันไป ๑๐ ปี ข้างหน้าว่า ประชาคมมหาวิทยาลัยมหิดลจะร่วมกันทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง และแก่เพื่อนมนุษย์ได้อย่างไร อะัไรคือสิ่งที่มีความสำคัญลำดับต้น และจะร่วมกันบรรลุเป้าหมายนั้นได้อย่างไร โดยที่คนทำงานมีความมั่นคงในงานมีความสุขในการทำงานด้วยดูกำหนดการประชุมได้ที่นี่

เวทีนี้คนมาร่วมล้นหลามไม่มีที่นั่งจนจำนวนหนึ่งต้องกลับไป

 

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ก.พ. ๕๖

คัดลอกมาจาก http://www.gotoknow.org/posts/531599

 

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๑๔. ผู้กำกับการเรียนรู้ของตนเอง : ทฤษฎี

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

ตอนที่ ๑๔และ ๑๕ มาจากบทที่ 7 How Do Students Become Self-Directed Learners?ซึ่งผมตีความว่าเป็นการทำความเข้าใจและฝึกวิธีเรียนรู้ อย่างรู้ขั้นตอนของการเรียนรู้  ช่วยให้ นศ. ไม่ใช้วิธีเรียนรู้แบบผิดๆ  ที่ทำให้ทั้งเปลืองแรง แล้วผลการเรียนยังไม่บรรลุเป้าหมาย “รู้จริง” อีกด้วย

ตอนที่ ๑๔ ว่าด้วยทฤษฎี  ตอนที่ ๑๕ว่าด้วยภาคปฏิบัติ หรือยุทธศาสตร์

หนังสือบทนี้เริ่มทำนองเดียวกับบทก่อนๆ  คือเริ่มด้วยเรื่องเล่า ๒ เรื่อง ของ ศาสตราจารย์ ๒ คน  ที่คนหนึ่งเล่าเรื่อง นศ. ที่ทำการบ้านแบบทำวันนี้ส่งพรุ่งนี้  และอ้างว่าตนเป็นนักเรียนเรียนเก่งวิชานั้นมาจากชั้นมัธยม  ไม่พอใจกับเกรดที่ได้ต่ำกว่าที่คาด  ศาสตราจารย์อีกคนหนึ่งเล่าเรื่อง นศ. ที่ขยันสุดขีด แต่ผลสอบแย่  หนังสือบอกว่า นศ. ๒ คนนี้มีปัญหาเดียวกัน  คือ เรียนไม่เป็น หรือไม่มีทักษะการเรียนรู้ ไม่เข้าใจวิธีการและขั้นตอนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง  ไม่เข้าใจขั้นตอนการเรียนรู้ของตนเอง


คุณสมบัติของผู้สามารถกำกับการเรียนรู้ของตนเองได้ (Self-Directed Learner)

ผู้ที่สามารถกำกับการเรียนรู้ของตนเองได้ (Self-Directed Learner) ต้องรู้ขั้นตอนของการเรียนรู้ที่ถูกต้อง  และมีทักษะในการตรวจสอบขั้นตอนการเรียนรู้ของตนเอง  โดยขั้นตอนของการเรียนรู้มี ๕ ขั้นตอน คือ

 

 

๑.  มีทักษะในการประเมินตัวงานที่จะต้องทำ

 

๒.  มีทักษะในการประเมินความรู้และทักษะของตนเองสำหรับทำงานนั้น

 

๓.  มีทักษะในการวางแผนการทำงาน

 

๔.  มีทักษะในการติดตามประเมินความก้าวหน้าของตนเอง

 

๕.  มีทักษะในการปรับปรุงยุทธศาสตร์การทำงานของตน

 

 

ทักษะชุดนี้เรียกว่า metacognition skills  แปลว่า ทักษะในการทำความเข้าใจขั้นตอนการเรียนรู้ โปรดสังเกตว่า หนังสือเล่มนี้มองการเรียนกับการทำงาน หรือการปฏิบัติ เป็นสิ่งเดียวกัน  มีขั้นตอนแบบเดียวกัน

 

 

เพื่อให้สามารถเรียนรู้แบบกำกับตนเองได้  นศ. ต้องฝึกแต่ละขั้นตอนใน ๕ ขั้นตอน อย่างเข้าใจหลักการหรือทฤษฎีของแต่ละขั้นตอน  มีสติอยู่กับทักษะแต่ละตัว  และฝึกฝนจนชำนาญ  และทำได้อย่างอัตโนมัติในที่สุด


ประเมินงานที่อยู่ตรงหน้า

เป็นเรื่องแปลกมาก ที่ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งบอกว่า เมื่อครูมอบชิ้นงานให้ นศ. ทำ  ครึ่งหนึ่งของ นศ. ไม่ได้อ่านโจทย์ให้ชัดเจน   และทำงานตามโจทย์ที่ตนคุ้นเคยสมัยเรียนชั้นมัธยม  ผลงานวิจัยชิ้นนี้บอกเราว่า ขั้นตอนที่ ๑ ของ metacognition คือการที่นศ. จำนวนหนึ่งประเมินชิ้นงานที่ได้รับมอบหมาย  ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นง่ายๆ  ต้องมีการฝึกฝน

และเรื่องเล่าเรื่องแรกของบทที่ ๗ นี้ ก็สะท้อนว่า นศ. ที่เคยเป็นนักเรียนเกรด เอ ในชั้นมัธยม ก็ตกหลุมขั้นตอนที่ ๑ ของ metacognition  คือส่งผลงานที่ไม่เข้าเกณฑ์ที่ครูกำหนดไว้ในใบงาน   เนื่องจากคุ้นเคยกับการบ้านหรือข้อสอบแบบถามความจำ เมื่อเห็นคำบางคำก็กระโจนใส่ว่าหวานหมูเรื่องนี้เรารู้แล้ว  ไม่ได้อ่านให้รอบคอบและไตร่ตรองว่าโจทย์คืออะไร

ครูต้องช่วยแก้จุดอ่อนนี้ของ นศ.  ช่วยฝึกฝนให้ นศ. มีทักษะและนิสัยในขั้นตอนนี้ - ประเมินชิ้นงาน ทำความเข้าใจว่าผลงานที่ถือว่าคุณภาพดีเป็นอย่างไร  ต้องการความรู้และทักษะอะไรบ้างในการทำงานนั้นให้บรรลุผล  และตั้งใจทำงานเพื่อส่งผลงานที่มีคุณภาพสูงสุดเท่าที่จะทำได้

ทักษะนี้ฝึกโดย หลังจากครูมอบหมายชิ้นงาน  ก็ให้ นศ. แต่ละคนอ่านและกำหนดในใจว่า โจทย์ที่ได้รับคืออะไร  ผลงานที่ถือว่ามีคุณภาพดีเป็นอย่างไร  ต้องการทักษะอะไรบ้างในการทำงานนั้น  แล้วใหั นศ. จับคู่แลกเปลี่ยนความเห็นกัน  ตามด้วยการอภิปรายในชั้น  โดยจับฉลากให้คู่ นศ. จำนวนหนึ่งเสนอความเห็นของคู่ตน  ตามด้วยการอภิปรายทั้งชั้น


ประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอง ในการทำงานนั้น

ผลงานวิจัยบอกว่า นศ. มักจะประเมินความสามารถของตนเองสูงกว่าความเป็นจริง  และ นศ. ที่เรียนอ่อนมักมีความสามารถในการประเมินตนเองต่ำด้วย   ซึ่งหมายความว่า นศ. ที่เรียนอ่อนมักประเมินความสามารถของตนเองสูงกว่าความเป็นจริง  ในขณะที่ นศ. เรียนเก่งมักประเมินตรงความเป็นจริง  ทั้งก่อนสอบและหลังสอบ

ทักษะในการประเมินตนเอง จึงเป็นสิ่งที่ครูต้องฝึกให้แก่ นศ.  ยิ่ง นศ. ที่เรียนอ่อน ครูยิ่งต้องเอาใจใส่ฝึกให้เป็นพิเศษ   เพราะความสามารถในการประเมินตนเองเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเรียนรู้ (และการทำงาน)  ในเรื่องเล่าตอนต้นบทที่ ๗ ของหนังสือ นศ. ที่มีปัญหาทั้ง ๒ คน อ่อนด้อยด้านการประเมินตนเอง  และประเมินตนเองสูงเกินจริงมากทั้ง ๒ คน

ผมมีความเห็นว่า นศ. คนที่ ๒ ในหนังสือ  ประเมินตนเองผิดที่  คือไปหลงประเมินที่หนังสือ ว่าตนเองอ่านหนังสืออย่างดี แต้มสีที่จุดสำคัญในหนังสือจนเปรอะไปหมด  และอ่านหลายเที่ยว  แถมยังท่องจำส่วนสำคัญเป็นอย่างดี  นศ. คนนี้ไม่ได้ประเมินความเข้าใจของตนเอง  หรือไม่มีทักษะประเมินความเข้าใจของตนเอง


วางแผนวิธีทำงานที่เหมาะสม

ผลการวิจัยบอกว่า นศ. และ “มือใหม่” ทั้งหลาย ใช้เวลาวางแผนงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งน้อยกว่า “มือเก่า” หรือผู้ชำนาญ  ทำให้ นศ. ทำงานแบบผิดเป้าหมายได้ง่าย/บ่อย  เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ นศ. ไม่เห็นคุณค่าของการวางแผนวิธีทำงาน  หรือมิฉนั้นก็ทำไม่เป็น

เปรียบเทียบง่ายๆ กับการต่อยมวย  นศ. และมือใหม่ ไม่ศึกษาทำความรู้จักคู่ต่อสู้  ไม่วางแผน “เข้ามวย” ให้เหมาะต่อคู่ต่อสู้ และต่อความถนัดหรือจุดแข็งของตน  เมื่อระฆังเริ่มก็ตลุยชกเลย โอกาสชนะก็ย่อมมีได้ยาก

นศ. ต้องได้รับการฝึกศิลปะการทำสงครามของซุนวู  คือ รู้ เขา รู้เรา  เอามาวางยุทธศาสตร์การทำสงคราม


ลงมือทำงาน และติดตามผล

แม้จะได้คิดวางแผนยุทธศาสตร์การทำงานอย่างดีแล้ว  เมื่อลงมือทำตามแนวทางที่วางไว้ก็ ต้องระวังระไวตลอดเวลาว่า จะได้ผลดีจริงหรือไม่  ความสามารถในการวางยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง มีความสำคัญพอๆ กันกับความสามารถในการตรวจพบข้อบกพร่องและแก้ไขเสีย

นั่นคือ นศ. ต้องฝึกทักษะ ติดตามผลงานของตนเอง (self-monitoring)  ผลงานวิจัยบอกว่า นศ. กลุ่มที่เรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ผลดี  จะหยุดตรวจสอบว่าตนเข้าใจเรื่องนั้นดีหรือไม่ เป็นระยะๆ  ในขณะที่ นศ. ที่เรียนอ่อนจะเรียนแบบตลุยดะ

ผลการวิจัยบอกอีกว่า หากครูจัดกระบวนการการเรียนรู้  โดยมีช่วงให้ นศ. ทำกิจกรรมเพื่อประเมินตนเอง เป็นระยะๆ  นศ. จะเรียนรู้ได้ดีกว่า


ไตร่ตรองสะท้อนความคิด และปรับปรุงวิธีทำงาน

ผลการวิจัยบอกว่า แม้ นศ. จะประเมินติดตามผลการเรียนรู้ของตนเอง  และตรวจพบข้อบกพร่อง  ก็ไม่ใช่ว่า นศ. จะเปลี่ยนยุทธศาสตร์หรือวิธีการเรียน/ทำงาน  นศ. มักจะยึดมั่นอยู่กับความคิดเดิมๆ วิธีการเดิมๆ  ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย  เหตุผลหนึ่ง อาจเพราะ นศ. ยังไม่มีความสามารถสร้างยุทธศาสตร์แบบอื่นได้

ผลการวิจัยบอกว่า นศ. ที่เรียน/ทำงาน เก่ง จะมีความสามารถเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการทำงานของตนได้  หากตรวจสอบพบว่าผลงานยังไม่ค่อยดี  แต่การเปลี่ยนแปลงแนวทางนี้ต้องลงทุน  นศ. อาจมองไม่ออกว่า ผลที่ได้จากการเปลี่ยนยุทธศาสตร์/วิธีการ จะคุ้มความยากลำบากที่เพิ่มขึ้นหรือไม่

ผลการวิจัยบอกว่า คนเรามักจะพอใจที่จะทำตามวิธีที่ตนคุ้นเคย และได้ผลดีพอสมควร (ปานกลาง)  ไม่ค่อยลงทุนทดลองทำตามแนวทางใหม่ ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะได้ผลดีกว่าเดิมอย่างมากมาย ตามที่คาดคิด หรือไม่


ความเชื่อเรื่องความฉลาดกับการเรียนรู้

มุมมอง หรือความเชื่อ ของ นศ. มีผล (โดยไม่รู้ตัว) ต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ ของ นศ. ความเชื่อนี้รวมถึงความเชื่อเรื่องธรรมชาติของการเรียนรู้  ว่าการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ทำได้เร็ว เกิดผลเร็ว  หรือเชื่อว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นช้าๆ และต้องเผชิญความยากลำบาก

ความแตกต่างในความเชื่อเรื่องธรรมชาติของการเรียนรู้อีกคู่หนึ่ง คือ เชื่อว่าสติปัญญา (intelligence) เป็นสิ่งคงที่  หรือเป็นสิ่งที่ปรับปรุงเพิ่มพูนได้

อีกเรื่องหนึ่งคือความเชื่อเกี่ยวกับความสามารถ และความถนัดพิเศษ ของตนเอง

ผลการวิจัยบอกว่า ความเชื่อ/มุมมอง ของ นศ. ในเรื่องเหล่านี้มีผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้  ผลลัพธ์ของการศึกษา  รวมทั้งคะแนนสอบ  คือ นศ. ที่มีความคิดเชิงบวก จะเรียนได้ดีกว่า

ผมตีความว่า นศ. ที่มีมุมมองเชิงบวก ใน ๓ เรื่องข้างต้นจะมีกำลังใจให้มุมานะพยายาม   ให้หมั่นฝึกฝนปรับปรุงตนเอง

เรื่องนี้บอกครูว่า ครูต้องหาวิธีการส่งเสริมให้ นศ. เปลี่ยนความเชื่อเชิงลบในเรื่องความฉลาดหรือความถนัดในการเรียนรู้  มาเป็นความเชื่อเชิงบวก  คอยชี้ให้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์จากตัว นศ. เอง หรือจากเพื่อน  ให้เห็นว่าความตั้งใจฝึกฝนให้ผลดีจริงๆ  รวมทั้งชี้ให้เห็นจากมุมของทฤษฎีด้วยว่า  ทฤษฎีการศึกษาสมัยใหม่ ที่มาจากการวิจัยด้าน neuro-science บอกว่าสมองเรียนรู้และพัฒนาจากการฝึกฝนหรือการปฏิบัติเป็นหลัก


สรุป

ประเด็นต่างๆ ที่เป็นเรื่องของความเชื่อ และความเคยชินเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงยาก  แต่ครูก็ต้องเอาใจใส่ดำเนินการให้ นศ. ได้เรียนรู้ปรับปรุงทักษะ ๕ ขั้นตอน ที่นำไปสู่การเป็นผู้กำกับการเรียนรู้ของตนเองได้  เพราะทักษะนี้จะติดตัวศิษย์ไปตลอดชีวิต  ใช้ประโยชน์ได้เรื่อยไป  ต่างจากสาระวิชา ซึ่งใช้ได้เพียงชั่วคราว

 

วิจารณ์ พานิช

๖ ม.ค. ๕๖

บทความนี้คัดลอกมาจาก http://www.gotoknow.org/posts/531606

 

อย่าเพิ่งเชื่อโจเซฟ สติกลิตซ์

พิมพ์ PDF

อย่าเพิ่งเชื่อ โจเซฟ สติกลิตซ์ อย่าเห็นขี้ฝรั่งหอม

บทความ ของ ดร.โสภณ พรโชคชัย  ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย                   ลงตีพิมพ์ในมติชน วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2556 เวลา 16:54:19 น.

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.โจเซฟ สติกลิตซ์ ได้มาบรรยายในประเทศไทยอีกแล้ว ผมขอมองต่างมุมจากแนวคิดของอาจารย์ท่านนี้ สิ่งที่ท่านเสนอจะสามารถนำไปใช้ได้จริง หรือจะพาเราเข้ารกเข้าพงหรือไม่

 

ผมเคยไปฟังท่านพูดหนก่อนเกี่ยวกับเรื่องรายได้ประชาชาติ เรื่องจำนวนคนคุกกับความสุข เรื่องการดูเบาการส่งออก เรื่องการวิเคราะห์เศรษฐกิจที่ไม่ตรงจุด เรื่องแนวคิดต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นเรื่องยอดฮิตที่วิทยากรระดับโลกไม่พูดไม่ได้ และเรื่องการสร้างความโปร่งใสที่มองไม่ชัดเจน โดยครั้งนั้นท่านแสดงปาฐกถาเมื่อวันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม 2552 และมาครั้งนี้ท่านมาแสดงอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2556 ซึ่งผมมองว่าไม่ได้มองบนพื้นฐานของข้อมูลที่แท้จริง

บิดเบือนเรื่องผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ

 

ประเด็นสำคัญที่อาจารย์ท่านนี้ยกขึ้นมากล่าวก็คือเรื่องตัวเลขดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Product: GDP) โดยกล่าวว่าดัชนีดังกล่าวไม่ใช่เครื่องชี้การเจริญเติบโตของประเทศ ข้อนี้ดูเป็น ‘แฟชั่น’ ที่ผู้รู้หลายคนที่แสดงตัวเป็นผู้ที่ ‘คิดต่าง’ พยายามมองเช่นนี้ แต่ปัญหาก็คือ ถ้าไม่ใช้ GDP จะมีดัชนีใดอีกที่สามารถชี้วัดแทนได้ อาจารย์ก็ไม่ได้กล่าวว่าควรเป็นดัชนีใด หรือไม่ได้ยืนยันว่า ‘ความสุขมวลรวมประชาชาติ’ (Gross National Happiness: GNH) เป็นดัชนีที่เชื่อถือได้ เพราะยังไม่มีมาตรวัดที่ชัดเจน

 

ในความเป็นจริง การวัดความเจริญ ความมั่งคั่งหรือความสุขนั้นไม่ใช่ดัชนีเดี่ยว แต่เป็นชุดของดัชนีที่นำมาใช้วัด เช่น ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) หรือ ดัชนีความสงบสุข (Peace Score) เป็นต้น ในการวัดการพัฒนาต่าง ๆ จึงต้องใช้หลาย ๆ ดัชนีมาวิเคราะห์ การจะหวังหาดัชนีเดี่ยวอันใดมาใช้แทนจึงเป็นไปไม่ได้ และการหวังใช้ GDP มาอธิบายทุกอย่าง ก็คงเป็นไปไม่ได้เช่นกัน

 

ในที่นี้ผมได้ทดสอบความสัมพันธ์เชิงตัวแปรของดัชนีต่าง ๆ จากข้อมูลประมาณ 150 ประเทศพบว่า GDP มีความสัมพันธ์เชิงตัวแปรในการทดสอบการวิเคราะห์ถดถอย (Regression Analysis) กับตัวแปรสำคัญ ๆ เช่น

- ดัชนีการทุจริตและประพฤติมิชอบ (Corruption Index) ซึ่งชี้ว่า ประเทศที่มี GDP สูง จะมีความโปร่งใสมากกว่า โดยมีค่า R square อยู่ที่ 77.54%

- ดัชนีการถือครองสมบัติ (Physical Property Right) ซึ่งชี้ว่า ประเทศที่มี GDP สูง จะมีความโปร่งใสมากกว่า โดยมีค่า R square อยู่ที่ 66.20%

- ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) ซึ่งชี้ว่า ประเทศที่มี GDP สูง จะมีความโปร่งใสมากกว่า โดยมีค่า R square อยู่ที่ 60.66% เป็นต้น

ข้างต้นนี้แสดงว่า GDP เป็นดัชนีที่สะท้อนความเป็นจริงได้พอสมควรทีเดียว แต่จะให้เป็น ‘แก้วสารพัดนึก’ หรือหาดัชนีอื่นมาแทนคงไม่มี

สับสนเรื่องคนคุกกับความสงบสุข

 

ตอนที่อาจารย์ท่านนี้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้ GDP เป็นดัชนีความเจริญเติบโตนั้น ท่านบอกว่า สหรัฐอเมริกามีจำนวน ‘คนคุก’ สูงที่สุดในโลก จากข้อมูลของhttp://hdrstats.undp.org/indicators/265.html พบว่า สหรัฐอเมริกามีคนคุกสูงถึง 738 คนต่อประชากร 100,000 คน สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 15 มี 350 คน ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 32 มี 256 คน หากพิจารณาดูตัวเลขเพียงเท่านี้ก็อาจคล้อยตามอาจารย์ท่านได้ว่า สหรัฐอเมริกามี GDP สูง แต่สังคมไม่สงบเพราะมีคนคุกมาก

 

แต่ในความเป็นจริง หากเรามาพิจารณาประเทศที่มีคนคุกจำนวนน้อยที่สุดในโลก จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นประเทศ ‘ด้อยพัฒนา’ และไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย เช่น แองโกลา คองโก ซูดาน ชาด มาลี แกมเบีย อินเดีย ไนจีเรีย ฯลฯ  มีใครอยากไปอยู่ประเทศเหล่านี้ไหม ความจริงที่พึงทราบประการหนึ่งก็คือ การกวาดเก็บอาชญากรไว้ในคุกย่อมดีกว่าปล่อยให้เดินเล่นอยู่บนถนนทั่วไป

 

ผมจึงตกใจที่อาจารย์ท่านนี้กล่าวว่า การใช้จ่ายเงินเพื่อการสร้างคุกไม่ควรถือเป็นเครื่องวัดใน GDP ทั้งที่การก่อสร้างซึ่งไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างใด ๆ ก็ก่อให้เกิดการจ้างงาน แสดงผลิตภาพ และที่สำคัญเป็นกิจกรรมหนึ่งใน GDP ที่ทำให้เกิด “มูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตได้ภายในประเทศในระยะเวลา 1 ปีที่กำหนดไว้” นั่นเอง

เข้ารกเข้าพงเรื่องการส่งออก

 

ในขณะนี้ พอประเทศไทยส่งสินค้าออกไม่ค่อยได้ รัฐบาลก็มักจะคิดว่าเราน่าจะพึ่งตนเองมากกว่าการคิดจะส่งออกสินค้าซึ่งมีความผันผวนในตลาดของสินค้าอยู่เสมอ (โดยเฉพาะในยามที่เราอยากขายสินค้า) ดังนั้นเราจึงมุ่งส่งเสริมการใช้สอยภายในประเทศ อาจารย์ท่านนี้ก็เสนอแนะในทำนองเดียวกันนี้ แต่ผมเชื่อว่า แนวคิดข้างต้นนอกจากเป็นแบบ ‘กำปั้นทุบดิน’ แล้ว ยังอาจเป็นการ ‘เข้ารก เข้าพง’ เสียอีก

 

ประเทศทั้งหลายอาศัยการส่งออกเป็นสำคัญ ถ้าใครขืนอยู่ ‘หัวเดียวกระเทียมลีบ’ ก็คงจะลำบากอย่างแน่นอน ประเทศมหาอำนาจก็รู้ ดังนั้นเขาจึงใช้การปิดล้อมทางเศรษฐกิจในการ ‘ปราม’ ประเทศเป้าหมาย เช่น อิหร่าน พม่าหรือเกาเหลีเหนือ เป็นต้น ประเทศที่เจริญขึ้นมาได้ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นไทย เวียดนาม จีน ล้วนแต่เป็นเพราะสามารถส่งออกสินค้า นำเงินตราเข้าประเทศ และนี่เองหน่วยงานเศรษฐกิจการคลังของแต่ละประเทศจึงพิจารณาตัวเลขการส่งออกและแนวโน้มของแหล่งตลาดต่างประเทศเป็นเครื่องชี้อนาคตทางเศรษฐกิจนั่นเอง

 

การมุ่งเน้นการใช้สอยภายในประเทศ ยังมีความน่ากลัวสำคัญประการหนึ่งก็คือการดึงเอาเงินออมในอนาคตของประชาชนและของประเทศชาติโดยรวม ออกมาใช้จ่ายในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่นี่อาจกลายเป็นการทำลายเศรษฐกิจแบบไม่มีวันฟื้นคืน กลายเป็นประเทศล้มละลายไปในอนาคตก็ได้ และนี่คือก็คือการเล่นแร่แปรธาตุของรัฐบาลและหน่วยงานเศรษฐกิจของรัฐบาลกับตัวเลข GDP ให้ดูสูง ๆ จากผลของการใช้สอยภายในประเทศ และเป็นตัวบิดเบือนไม่ให้ GDP เป็นเครื่องชี้วัดที่ดีนั่นเอง

วิเคราะห์วิกฤติเศรษฐกิจผิดเพี้ยน

 

วิกฤติสหรัฐอเมริกานั้น ไม่ใช่เกิดเพราะการไม่มีดัชนีหรือมาตรวัดเครื่องเตือนภัยเศรษฐกิจแต่อย่างใด ในสหรัฐอเมริกามีทั้งการวัดจำนวนบ้านที่เปิดใหม่ จำนวนบ้านที่สร้างเสร็จ การเปลี่ยนแปลงราคาบ้านรายเดือน ทรัพย์สินที่ถูกสถาบันการเงินยึดไว้ ฯลฯ แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่สหรัฐอเมริกาไม่ได้มีมาตรการป้องกันปัญหาเท่าที่ควร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น การนี้อาจเป็นการสมคบคิดกันระหว่าง ‘แกงค์’ ธุรกิจรายใหญ่กับรัฐบาลก็ได้

 

ที่ผ่านมาเราเห็น ‘ขี้ฝรั่งหอม’ ทั้งที่ฝรั่งก็ไม่ได้มีมาตรฐานที่ดี และรัฐบาลของเขาก็ไม่ได้ดูแลอะไรให้ดีเลย ในที่ประชุมสุด G20 หรือประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาตลาดการเงินโลก เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 ได้ประกาศร่วมกันว่า ต่อไปนี้ภาคการเงินต้องมีความโปร่งใส มีมาตรการที่เชื่อถือได้ดำเนินงาน เป็นต้น (www.g20.org/Documents/g20_summit_declaration.pdf) นี่แสดงว่าที่ผ่านมาประเทศตะวันตกไม่ได้มีมาตรฐานอะไรที่เป็นหลักประกันเลย

 

ท่านทราบหรือไม่ว่า บริษัทจัดอันดับเครดิตใหญ่ ๆ ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งครั้งหนึ่งมีเลห์แมนบราเธอร์ ซึ่งเจ๊งไปแล้ว รวมอยู่ด้วยนั้น บริษัทเหล่านี้ไปเที่ยวจัดอับดับให้คนอื่นทั่วโลก โดยไม่เคยมีหลักประกันใด ๆ ว่าถ้าจัดอันดับผิดจะต้องรับผิดชอบอย่างไร บริษัทใหญ่เหล่านี้มีไม่กี่แห่งทั่วโลก  ดูคล้าย ‘แกงค์” ที่ไม่เคยมีใครแตะต้อง ผิดกับนักวิชาชีพอื่น เช่น หมอ วิศวกร ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ทนาย ฯลฯ ซึ่งต้องมีการประกันความผิดพลาดทางวิชาชีพ เป็นต้น

ถ้าตลาดหลักทรัพย์ของแต่ละประเทศต้องการความโปร่งใส คุ้มครองผู้บริโภคจริง และป้องกันการประกอบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ทำไมจึงยังอนุญาตให้บริษัทมหาชนทั้งหลายแต่งตั้ง ‘กรรมการอิสระ’ (ซึ่งจริง ๆ แล้วอิสระหรือไม่ ยังเป็นที่สงสัย) กันเอง ทำไมปล่อยให้บริษัทมหาชน หาบริษัทตรวจบัญชี บริษัทประเมินค่าทรัพย์สิน หรือบริษัทตรวจสอบต่าง ๆ กันเอง อย่างนี้เป็นการ ‘ปากว่า ตาขยิบ’ หรือไม่

ชอบพูดเรื่องธุรกิจสีเขียวจนเป็นแฟชั่น

 

อาจารย์ท่านแนะนำให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม อันที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานซึ่งอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย หากวิสาหกิจใดทำลายสิ่งแวดล้อม ละเมิดต่อสิทธิของผู้อื่น หรือทำให้เสียทรัพย์ เสียชีวิต อัยการของรัฐก็สามารถที่จะฟ้องร้องได้อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาราชการส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่นในแต่ละประเทศ อาจไม่ได้นำพา ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะได้รับสินบนจากวิสาหกิจขนาดใหญ่ การรณรงค์ให้ประชาชนใส่ใจสิ่งแวดล้อมจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด และปล่อยโจรที่ทำลายสิ่งแวดล้อมต่อไป

 

เมืองจำนวนมากในสหรัฐอเมริกามีระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบระบายน้ำดีเยี่ยม น้ำเสียจากทุกบ้าน จะถูกต่อท่อไปบำบัดรวม ทำให้คูคลอง ทะเลสาบ และสภาพแวดล้อมสะอาด  บางทีเมื่อเราคลั่งไคล้สิ่งแวดล้อมมาก บริษัทจัดการสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกา อาจได้โอกาสส่งออกความรู้มาขายคนไทยอีกคำรบหนึ่ง

มีตัวอย่างหนึ่งคือ ‘Smart Growth’ (www.smartgrowth.org) คือแต่ไหนแต่ไรมา สหรัฐอเมริกาใช้สอยทรัพยากรอย่างสุดสิ้นเปลือง เมืองขยายไปอย่างไร้ขอบเขต แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะประเทศของเขาร่ำรวย แต่ภายหลังนักวิชาการอเมริกันพบว่า เมืองทั่วสหรัฐอเมริกาซึ่งมีลักษณะเช่นนี้ ขาดประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ใครไม่มีรถก็เท่ากับพิการ ไปไหนไม่ได้ ก็เลยเกิดแนวคิดการพัฒนาเมืองแบบ ‘Smart Growth’ คือเน้นการสร้างความหนาแน่นในเมือง ให้คนเดินถึงสาธารณูปการต่าง ๆ ได้ ไม่เป็นการบุกรุกออกสู่พื้นที่เกษตรนอกเมือง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วก็นำแนวคิดนี้มาขายให้กับประเทศกำลังพัฒนา ประเทศเหล่านี้ก็ดีใจ ได้แนวคิดใหม่อีกแล้ว ทั้ง ๆ ที่ประเทศเหล่านี้ไม่เคยมีโอกาสใช้สอยที่ดินอย่างสุรุ่ยสุร่ายเช่นในสหรัฐอเมริกาเลย

สติกลิตซ์ควรเน้นการสร้างความโปร่งใส 

ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่มาก เงินจำนวนมหาศาลก็รั่วไหลไปในมือผู้มีอิทธิพลส่วนน้อย หนทางสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็คือ การอาศัยอำนาจรัฐที่เป็นธรรมในการสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในประเทศ และขจัดความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันในการแข่งขัน แนวทางการดำเนินงานก็ได้แก่:

 

- การสร้างระบบตรวจสอบที่ดี ท้องถิ่นหนึ่งอาจมีเจ้าหน้าที่ดูแลการโยธาเพียง 5 คน แต่มีบ้านในท้องถิ่นนั้นนับหมื่นหน่วย ดูแลอย่างไรก็ไม่หมด และเกิดช่องโหว่ในการไปดูแลเฉพาะกรณีที่สามารถรีดไถเงินต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นสำคัญ กรณีนี้ภาครัฐต้องสร้างกลไกการตรวจสอบที่ดีโดยการว่าจ้าง (Privatize) และมีการกำกับตรวจสอบผู้ตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง

 

- การมีมาตรการลงโทษที่เด็ดขาด ในประเทศที่เจริญ ประชาชนกลัวกฎหมาย แต่ไม่กลัวตำรวจ แต่ในประเทศกำลังพัฒนาอาจกลายเป็นตรงกันข้าม การลงโทษเด็ดขาดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างนั้น เป็นสิ่งจำเป็น อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยดำเนินการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบน้อยกว่าประเทศหลายต่อหลายแห่ง เช่น ในจีน มีการยิงเป้าคนโกง เวียดนามก็เข้มงวดขนาดเอานักฟุตบอลล้มบอลติดคุก เป็นต้น

- การนำเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบ เช่น หวยเถื่อน เหล้าเถื่อน หรือบ่อนการพนันเถื่อน กรณีนี้จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น รัฐบาลได้ภาษีมาบำรุงประเทศมากขึ้น แต่เรื่องเหล่านี้ มักเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเราอ้างตนเป็น ‘ฝ่ายธรรมะ’ จึงไม่ยอมให้เมืองพุทธนี้มีบ่อน มีหวยเสรีที่ถูกต้องตามกฎหมาย หากเราฉุกคิดให้ดีตามทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) บางทีฝ่ายธรรมะกับอาชญากรเจ้ามือหวยเถื่อน เจ้าของบ่อนเถื่อน อาจเป็นพวกเดียวกัน เราจึงยังปล่อยให้มีบ่อน หวย มีสถานะเถื่อนหรือให้เป็นสีเทาเพื่อแสวงหาประโยชน์มิชอบกันเกลื่อนเมือง

ภูฏานคือสิ่งบิดเบี้ยว ไม่ใช่สรณะ

โดยสรุปแล้ว เมื่อเอ่ยถึงความสุข หลายคนบอกว่าภูฏานเป็นประเทศที่มีความสงบสุขกว่าไทย จนกลายเป็นประเทศ ‘ส่งออก’ แนวคิด GNH ไปแล้ว  ผมจึงอยากถามว่า ท่านอยากย้ายถิ่นไปอยู่ (ไม่ใช่ไปท่องเที่ยว) ภูฏานหรือไม่  ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจ ลองมาดูข้อมูลเหล่านี้เสียก่อน (ข้อมูลเปรียบเทียบรายประเทศของ www.cia.gov)

- ภูฏานมีขนาดพื้นดิน 38,394 ตร.กม. หรือประมาณ 8% ของประเทศไทย มีประชากรเพียง 1% ของประเทศไทยหรือ 691,141 คน แต่อัตราการเพิ่มเร็วกว่าไทยมากคือ ประมาณ 1.27% เทียบกับไทยที่มีอัตราเพิ่มเพียง 0.62%

- อายุเฉลี่ยของประชากรภูฏานคือ 66.13 ปี ซึ่งต่ำกว่าของไทยที่มีอายุเฉลี่ยถึง 73.1ปี ที่สำคัญ จำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่อ่านออกเขียนในภูฏานมีเพียง 47% เทียบกับไทยที่มีถึง 92.60%

- ขนาดเศรษฐกิจของภูฐานเล็กเพียง 1% ของไทย แต่อัตราเงินเฟ้อคือ 4.9% ซึ่งพอ ๆ กับไทยคือ 5.5% แม้รายได้ต่อหัวของประชากรจะดูไม่ต่ำกว่าไทยนัก เป็นประมาณ 2/3 ของไทย แต่ในความเป็นจริงประชากรภูฏานที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนมีถึง 31.7% ในขณะที่ของไทยเป็นเพียง 10% เท่านั้น แสดงว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในภูฏานสูงกว่าไทยมาก

- อัตราการว่างงานของชาวภูฏานก็ยังสูงกว่าไทยนับเท่าตัวคือประมาณ 2.5% ในขณะที่ไทยอยู่ที่ 1.2% เท่านั้น

 

ดูจากตัวเลขข้างต้น ยังไงคงมีคนจำนวนหนึ่งอยากไปแน่นอน อาจจะอยากบวชเป็นพระที่นั่น แต่คงเป็นคนส่วนน้อย (ที่ดวงตาเห็นธรรม) คนส่วนใหญ่คงไม่คิดจะไป เพราะติดขัดในเรื่องความสะดวกสบาย ความเจริญ และหลักประกันต่าง ๆ ซึ่งมีน้อยกว่าไทย

 

ก็คงคล้าย ๆ กับคนไทยที่ไปอยู่สหรัฐอเมริกา พวกเขาส่วนมากดีใจที่ได้กลับมาเที่ยวเมืองไทย หรือบางคนที่แก่แล้วก็อาจอยากกลับมาตายบ้านเกิด แต่ถ้าจะให้คนไทยในสหรัฐอเมริกา ย้ายถิ่นกลับไทย มาอยู่ในสภาวะแวดล้อมอย่างไทย ๆ ลูกเต้าก็ต้องมาเรียนในโรงเรียนแบบไทย ๆ มาอยู่ในระบบสวัสดิการสังคมแบบไทย ๆ ที่แม้พวกเขาจะเสียภาษีน้อยกว่า ก็คงหาคนกลับมาแทบไม่ได้จริง ๆ

ความเป็นสรวงสวรรค์ (Shangri-La) ของภูฏานและประเทศแถบนี้ คงเป็นเฉพาะตอนไปท่องเที่ยวหรือไปอยู่ชั่วคราวเป็นหลัก  สวรรค์นั้นใคร ๆ ก็อยากไป แต่ติดปัญหาคือยังไม่อยากตาย และที่สำคัญที่สุดก็คือหลายคนยังมีความสุขกับการ ‘ชดใช้กรรม’ ในประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรานี้มากกว่า

 

สติกลิตซ์'ชี้ประชานิยมไทยทำต้นทุนสูง

พิมพ์ PDF

สติกลิตซ์'ชี้ประชานิยมไทยทำต้นทุนสูง

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เตือนไทยอย่าเข้าร่วมเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกกับสหรัฐ ชี้เอื้อประโยชน์บริษัทยักษ์ใหญ่ในมะกัน อาจทำให้ไทยต้องซื้อยาแพงขึ้น

คัดลอกจาก คมชัดลึกออนไลน์วันที่ 23-03-2556

ในงานปาฐกถาพิเศษและการประชุมวิชาการนานาชาติ การศึกษาและตลาดแรงงาน นโยบายและความท้าทาย จัดโดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และสมาคมเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม นายโจเซฟ อี สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล อดีตที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีบิล คลินตัน ปาฐกถาเรื่องเศรษฐกิจโลกว่า ท่ามกลางข่าวร้ายเรื่องเศรษฐกิจทั่วทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา ยังมีแหล่งเศรษฐกิจที่มีข่าวดีอยู่คือภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะประเทศจีน โดยประเทศในกลุ่มเอเชียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีตั้งแต่ช่วงปี 2551 ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจต่างประเทศทั่วโลก โดยมีปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก ได้แก่ การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกันทั้งภูมิภาค

การเติบโตของประเทศจีนเริ่มมีสัญญาณน่าเป็นห่วง หลังจากเศรษฐกิจมีการเติบโตมาก โดยเฉพาะเริ่มมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน และการบริโภคมากเกินไปเกิดขึ้น ขณะที่จีนเริ่มมีท่าทีจะเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจมาเป็นแบบเติบโตปานกลาง แทนการโตอย่างร้อนแรงเหมือนที่ผ่านมา

"ปัจจุบันจีนกำลังเป็นที่จับตาว่า เริ่มแยกเศรษฐกิจออกจากสหรัฐอเมริกา และลดภาวะการพึ่งพิงจากประเทศสหรัฐอเมริกาชัดเจน และถูกมองว่าในอีก 5-15 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจจีนจะเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก" นายสติกลิตซ์กล่าว

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ย้ำว่า จีนต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ลดพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป และจีนไม่ควรสร้างระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการบริโภคนิยมแบบสหรัฐอเมริกา เพราะอาจพบกับจุดจบที่น่าผิดหวัง ดังเช่นสหรัฐอเมริกาที่การบริโภควัตถุมากๆ พิสูจน์แล้วว่าทำให้ประเทศไปไม่รอด จีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ การบริโภคสูงอาจทำให้เกิดปัญหาด้านแหล่งอาหาร และทรัพยากร ปัญหาความเท่าเทียมในสังคม และนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจในที่สุด มองว่าจีนควรเปลี่ยนนโยบายการเติบโตมาเป็นแบบยั่งยืน และไม่ใช้ตัวเลขจีดีพีวัดคุณภาพเศรษฐกิจ และต้องให้ความห่วงใยดูแลทรัพยากรเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ร่วมกัน และมีสภาพแวดล้อมที่ดีรองรับ ปรับปรุงคุณภาพชีวิตทุกคนให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกถือว่ามีภาวะเศรษฐกิจที่ดี สามารถพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศได้ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืน แม้จะยังมีการส่งออกไปยังต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ก็ตาม แต่ก็ไม่สำคัญกว่าการบริโภคภายใน ส่วนสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าจะไม่เกิดภาวะล้มละลาย เพราะสามารถพิมพ์เงินดอลลาร์ได้ นอกจากนี้ประเทศอื่นๆ ยังยินดีให้สหรัฐกู้ทั้งที่ได้รับผลตอบแทนติดลบ

"อยากแนะนำว่า ให้ทุกประเทศรู้จักการลงทุนให้เป็น เมื่อลงทุนแล้วคนส่วนใหญ่ได้รับผลประโยชน์ ขณะที่รัฐบาลต้องเป็นรัฐบาลที่ดี ไม่คอร์รัปชั่น เพราะเป็นบ่อเกิดของปัญหาเศรษฐกิจและสังคม แต่ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายการรัดเข็มขัด เพราะเปรียบเสมือนยาพิษ ทำลายเศรษฐกิจในวันนี้และอนาคต ไม่ส่งเสริมการออม เพราะคนไม่มีงานทำ จึงออมไม่ได้ นโยบายใช้จ่ายเพื่อลงทุนให้ประเทศดีขึ้นในอนาคตเป็นคำตอบสำหรับทุกประเทศ แตกต่างจากนโยบายประชานิยม ซึ่งสัญญาในสิ่งที่ทำให้ไม่ได้ หรือทำให้ได้ในปัจจุบัน แต่เป็นต้นทุนในอนาคตข้างหน้า" นายสติกลิตซ์กล่าว

สาเหตุที่สหรัฐอเมริกาจะยังคงอยู่ในสภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจฝืดเคืองต่อ นายสติกลิตซ์มองว่า เป็นเพราะการดำเนินนโยบายผิด โดยเฉพาะนโยบายรัดเข็มขัดที่ถูกนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีหลักฐานยืนยันในอดีตตลอดมาว่า เป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด รวมทั้งหลักฐานจากการที่ไอเอ็มเอฟนำนโยบายรัดเข็มขัดมาใช้ในประเทศไทย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ แม้จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ แต่ทำให้อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นกัน

อีกความผิดพลาดที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาประสบปัญหา คือ การคอร์รัปชั่นทางการเมือง เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่บิดเบือนผลประโยชน์ส่วนรวมมาเป็นของตน ซึ่งการเลือกตั้งแต่ละครั้ง เกิดการคอร์รัปชั่นมาก เพราะแต่ละพรรคใช้เงินหาเสียงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ เม็ดเงินเหล่านั้นล้วนมาจากชนชั้นที่มีเงินทั้งสิ้น และการบริจาคทางการเมืองก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อการกุศล แต่ล้วนเป็นการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น

"การคอร์รัปชั่นแบบอเมริกันสไตล์ดังกล่าว กำลังเป็นรูปแบบหนึ่งของการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นทั่วโลก และสร้างปัญหาไปทั่วทุกประเทศที่ใช้ระบบประชาธิปไตย และเชื่อมั่นว่าความตระหนักรู้ในความเสียหายที่เกิดจากการคอร์รัปชั่นจะทำให้เกิดการปฏิรูปทางโครงสร้าง" นายสติกลิตซ์กล่าว

ทั้งนี้ ในระหว่างการสัมภาษณ์พิเศษโดย นายสุทธิชัย หยุ่น ประธานบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป นายสติกลิตซ์ เตือนว่า ประเทศไทยไม่ควรเข้าทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีในกรอบเอเชีย-แปซิฟิก กับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากจะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ เพราะการเจรจาต่อรองทำเป็นความลับ ทำให้ภาคประชาสังคมไม่มีโอกาสรับรู้กับการต่อรองแลกผลประโยชน์กัน และบริษัทใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตยาจะมีอิทธิพลอย่างมากในการต่อรองของสหรัฐ ทำให้ประเทศไทยอาจต้องซื้อยาในราคาที่แพงขึ้น

เมื่อถามว่า หากประธานาธิบดีบารัก โอบามา ยื่นคำขาดให้ไทยเข้าร่วมวงการค้าเสรีนี้ ประเทศไทยจะทำให้อย่างไร นายสติกลิตซ์เขาตอบว่า "ควรจะให้ประชาชนออกมาประท้วง"

 

ขอบพระคุณ อาจารย์วิจารณ์ พานิช ที่แนะนำบทความนี้ในเวปเพส ของท่าน ใน gotoknow ทำให้ผมได้เข้าไปอ่านและถือโอกาสนำมาเผยแพร่ต่

 

 

"สติกลิตซ์"เตือนไทยอย่าร่วมTPPค้าเสรีสหรัฐ

พิมพ์ PDF

"สติกลิตซ์"เตือนไทยอย่าร่วมTPPค้าเสรีสหรัฐ

คัดลอกจาก "คนบ้าข่าว Suthichai Yoon

http://www.suthichaiyoon.com/home/details.php?NewsID=1565

 

ในระหว่างการสัมภาษณ์พิเศษโดย สุทธิชัย หยุ่น ประธานบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป "โจเซฟ สติกลิตซ์" เตือนว่า ประเทศไทยไม่ควรเข้าทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีในกรอบเอเชีย-แปซิฟิก หรือTrans-Pacific Partnership (TPP) กับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากจะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ เพราะการเจรจาต่อรองทำเป็นความลับ ทำให้ภาคประชาสังคมไม่มีโอกาสรับรู้กับการต่อรองแลกผลประโยชน์กัน และบริษัทใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตยาจะมีอิทธิพลอย่างมากในการต่อรองของสหรัฐ ทำให้ประเทศไทยอาจต้องซื้อยาในราคาที่แพงขึ้น 

เมื่อถามว่า หากประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยื่นคำขาดให้ไทยเข้าร่วมวงการค้าเสรีนี้ ประเทศไทยจะทำให้อย่างไร เขาตอบว่า "ควรจะให้ประชาชนออกมาประท้วง" 

"สติกลิตซ์"เชื่อเศรษฐกิจไทย-จีนโตต่อ 

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเชื่อว่าเศรษฐกิจจีน อาเซียนรวมไทย จะเติบโตต่อเนื่อง ท่ามกลางวิกฤติในยุโรป-ความอ่อนแอของสหรัฐ แนะประเทศเกิดใหม่ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ หันพึ่งพาความต้องการในประเทศ เน้นบริหารทรัพยากรพอเหมาะ ชี้ลัทธิบริโภคนิยมวัตถุแบบตะวันตกไปไม่รอด เตือนไทยอย่าเข้าร่วมเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกกับสหรัฐ 

ทั้งนี้ นายโจเซฟ อี สติกลิตซ์ นักเศรษศาสตร์รางวัลโนเบล อดีตที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีบิล คลินตัน เปิดเผยว่า ท่ามกลางข่าวร้ายเรื่องเศรษฐกิจทั่วทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา ยังมีแหล่งเศรษฐกิจที่มีข่าวดีอยู่คือภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะประเทศจีน โดยประเทศในกลุ่มเอเชียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีตั้งแต่ช่วงปี 2551 ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจต่างประเทศทั่วโลก โดยมีปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก ได้แก่ การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกันทั้งภูมิภาค 

การเติบโตของประเทศจีนเริ่มมีสัญญาณน่าเป็นห่วง หลังจากเศรษฐกิจมีการเติบโตมาก โดยเฉพาะเริ่มมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน และการบริโภคมากเกินไปเกิดขึ้น ขณะที่จีนเริ่มมีท่าทีจะเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจมาเป็นแบบเติบโตปานกลาง แทนการโตอย่างร้อนแรงเหมือนที่ผ่านมา 

"ปัจจุบันจีนกำลังเป็นที่จับตาว่า เริ่มแยกเศรษฐกิจออกจากสหรัฐอเมริกา และลดภาวะการพึ่งพิงจากประเทศสหรัฐอเมริกาชัดเจน และถูกมองว่าในอีก 5-15 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจจีนจะเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก" เขากล่าว ปาฐกถาเรื่องเศรษฐกิจโลก จัดโดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์วานนี้ 

สติกลิตซ์ มองว่า ประเทศจีนต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ลดพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป และจีนไม่ควรสร้างระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการบริโภคนิยมแบบสหรัฐอเมริกา เพราะอาจพบกับจุดจบที่น่าผิดหวัง ดังเช่นประเทศสหรัฐอเมริกาที่การบริโภควัตถุมากๆ พิสูจน์แล้วว่าทำให้ประเทศไปไม่รอด จีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ การบริโภคสูงอาจทำให้เกิดปัญหาด้านแหล่งอาหาร และทรัพยากร ปัญหาความเท่าเทียมในสังคม และนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจในที่สุด 

"มองว่าจีนควรเปลี่ยนนโยบายการเติบโตมาเป็นแบบยั่งยืน และไม่ใช้ตัวเลขจีดีพี (GDP) วัดคุณภาพเศรษฐกิจ และต้องให้ความห่วงใยดูแลทรัพยากรเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ร่วมกัน และมีสภาพแวดล้อมที่ดีรองรับ ปรับปรุงคุณภาพชีวิตทุกคนให้ดีขึ้น" 

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกนี้ ถือว่ามีภาวะเศรษฐกิจที่ดี สามารถพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศได้ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืน แม้จะยังมีการส่งออกไปยังต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ก็ตาม แต่ก็ไม่สำคัญกว่าการบริโภคภายใน 

เชื่อสหรัฐไม่เกิดภาวะล้มละลาย 

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีของสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าจะไม่เกิดภาวะล้มละลาย เพราะสามารถพิมพ์เงินดอลลาร์ได้ นอกจากนี้ประเทศอื่นๆ ยังยินดีให้สหรัฐกู้ทั้งที่ได้รับผลตอบแทนติดลบ เช่นพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีของสหรัฐขณะนี้ให้ผลตอบแทนที่แท้จริงติดลบ 2 % แต่ก็ยังมีนักลงทุนต่างชาติยอมให้สหรัฐกู้เงิน ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่สหรัฐสามารถเอาเงินมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข การศึกษา เทคโนโลยี และนวัตกรรมสีเขียว 

ดังนั้นเขาจึงอยากแนะนำว่า ให้ทุกประเทศรู้จักการลงทุนให้เป็น เพื่อให้อนาคตของแต่ละประเทศดีขึ้น โดยให้คำนึงถึงผลดี ผลเสีย ความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด และเมื่อลงทุนแล้วคนส่วนใหญ่ได้รับผลประโยชน์ ในขณะที่รัฐบาลก็ต้องเป็นรัฐบาลที่ดี ไม่คอร์รัปชัน เพราะเป็นบ่อเกิดของปัญหาเศรษฐกิจและสังคม 

เขายังแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้นโยบายตัดรายจ่ายของรัฐบาลในประเทศตะวันตก 

"ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายการรัดเข็มขัด เพราะเปรียบเสมือนยาพิษ ทำลายเศรษฐกิจในวันนี้และอนาคต ไม่ส่งเสริมการออม เพราะคนไม่มีงานทำ จึงออมไม่ได้ นโยบายใช้จ่ายเพื่อลงทุนให้ประเทศดีขึ้นในอนาคตเป็นคำตอบสำหรับทุกประเทศ ซึ่งแตกต่างจากนโยบายประชานิยม ซึ่งสัญญาในสิ่งที่ทำให้ไม่ได้หรือทำให้ได้ในปัจจุบัน แต่เป็นต้นทุนในอนาคตข้างหน้า" 

เขากล่าวถึงกรณีที่ไทยจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในอีก 2 ปีข้างหน้านั้น ไม่ควรใช้เงินสกุลเดียวกัน เพราะจะทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้ในยามที่เศรษฐกิจมีปัญหา อย่างเช่นที่ประเทศในยุโรปที่ใช้เงินสกุลเดียวกันกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน 

ชี้10ปีศก.สหรัฐยังไม่ฟื้นเต็มตัว 

อดีตที่ปรึกษาทางเศรษฐศาสตร์ของประธานาธิบดีบิล คลินตัน กล่าวอีกว่า ความหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวอย่างแข็งแรงเร็วๆ นี้ คงเป็นไปได้ยาก ส่วนตัวเชื่อว่าในระยะ 10 ปีนี้ จะไม่ได้เห็นเศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกากลับไปดีเหมือนเดิม ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า จะเห็นอัตราการเติบโตของประเทศสหรัฐอยู่ในอัตราไม่เกิน 3% เป็นอัตราที่ไม่สามารถก่อให้เกิดการสร้างงานใหม่ภายในประเทศได้ 

สาเหตุที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จะยังคงอยู่ในสภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจฝืดเคืองต่อ เป็นเพราะการดำเนินนโยบายผิด โดยเฉพาะนโยบายรัดเข็มขัดที่ถูกนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีหลักฐานยืนยันในอดีตตลอดมาว่า เป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด รวมทั้งหลักฐานจากการที่ไอเอ็มเอฟนำนโยบายรัดเข็มขัดมาใช้ในประเทศไทย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ในช่วงที่ประเทศเหล่านี้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แม้จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ แต่ทำให้อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นกัน 

จากการดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลสหรัฐ ทำให้ภาคเอกชนถูกปิดกั้นจากแหล่งเงินทุนสำคัญคือธนาคารพาณิชย์ ทำให้เกิดปัญหาแรงงานเดิมว่างงาน แรงงานใหม่ไร้งาน ทั้งยังทำให้งานที่เกิดจากการจ้างงานของรัฐบาลเองลดลง 7 แสนงาน จากปกติที่จะมีการจ้างงานราว 1.8 ล้านงาน และงานที่ออกมาก็เป็นงานค่าจ้างต่ำ นอกจากนี้ การไร้พัฒนาการด้านเทคโนโลยี ไม่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย 

อีกความผิดพลาดที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาประสบปัญหา ก็คือ การคอร์รัปชันทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่บิดเบือนผลประโยชน์ส่วนรวมมาเป็นของตน โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง เกิดการคอร์รัปชันมาก เพราะแต่ละพรรคใช้เงินหาเสียงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเม็ดเงินเหล่านั้นล้วนมาจากชนชั้นที่มีเงินทั้งสิ้น และในการบริจาคทางการเมืองก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อการกุศล แต่ล้วนเป็นการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น 

"การคอร์รัปชันแบบอเมริกันสไตล์ดังกล่าว กำลังเป็นรูปแบบหนึ่งของการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นทั่วโลก และสร้างปัญหาไปทั่วทุกประเทศที่ใช้ระบบประชาธิปไตย และเชื่อมั่นว่าความตระหนักรู้ในความเสียหายที่เกิดจากการคอร์รัปชันจะทำให้เกิดการปฏิรูปทางโครงสร้าง " 

สติกลิตซ์ กล่าวว่า สรุปสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกาจะไม่ฟื้นตัวในเร็วๆ นี้ หรือไม่สวยหรูเหมือนเดิมได้ 3 ประการคือ 1.เป็นเรื่องที่ยากเกินไป 2.ไร้การพึ่งพิงการบริโภคภายในประเทศซึ่งจะเป็นแนวทางที่ทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น แต่สหรัฐอเมริกาไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เพราะระดับการออมเท่ากับ 0% แต่ข่าวดีคือปัจจุบันนี้ระดับการออมของประชากรสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นมาเป็น 4.5-5% และ 3.นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผิดพลาดดังที่กล่าวข้างต้น และแม้จะมีความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยที่ธนาคารสหรัฐเพิ่มปริมาณเงิน (QE2 และ QE3) ก็ไม่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจดีขึ้น แต่อาจทำให้เกิดปัญหาทั่วโลกไปด้วย ทั้งนี้ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาควรทำ และประชาชนยินดีให้ทำก็คือการใช้นโยบายการคลัง 

เขากล่าวเพิ่มว่า แม้ภาพเศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกาจะย่ำแย่ แต่เมื่อมองไปดูเศรษฐกิจฝั่งยุโรปแล้วจะรู้สึกดีขึ้น เพราะเศรษฐกิจฝั่งยุโรปกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก สาเหตุหลักมาจาก 2 ประการคือ การใช้เงินสกุลเดียวกัน และการดำเนินนโยบายรัดเข็มขัด การใช้เงินยูโรร่วมกันในเวลาที่เร็วเกินไป ก็กลายเป็นสาเหตุแห่งปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยทำให้ประเทศสมาชิกไม่มีประสิทธิภาพในการชำระหนี้ 

ทั้งยังส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ อ่อนแอ ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ ก็มีรัฐบาลของแต่ละประเทศให้การสนับสนุนเป็นส่วนมาก เมื่อรัฐบาลอ่อนแอ ธนาคารก็อ่อนแอ 

"ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เอง ยังเลือกใช้นโยบายรัดเข็มขัดมาใช้แก้ปัญหา มองว่ากลุ่มยุโรปก็ไม่มีทางหนีแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ตราบใดที่ไม่เปลี่ยนนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายใช้สกุลเดียวกัน และตอนนี้ผู้เฝ้าสังเกตการณ์เริ่มคิดว่าปล่อยให้สหภาพยุโรปล่มสลายไปดีกว่าหรือไม่ หรือไม่ก็ให้ประเทศเยอรมันออกจากสหภาพยุโรปเสีย เรียกว่าทิ้งยูโร เพื่อกู้ยุโรป"

 

 

 


หน้า 502 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5607
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8608083

facebook

Twitter


บทความเก่า