Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๒. ความรู้เดิมส่งผลต่อการเรียนรู้ของ นศ. อย่างไร

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

 

ตอนที่ ๒ นี้ มาจากบทที่ ๑  How Does Students’ Prior Knowledge Affect Their Learning?

 

ชื่อของบทนี้ทำให้ผมนึกถึงคำว่าความรู้สะสม“met before” ที่ครูโรงเรียนเพลินพัฒนาใช้  เป็นขั้นตอนหนึ่งในการสำรวจพื้นความรู้ของนักเรียน  สำหรับนำมาใช้ออกแบบการเรียนรู้ให้ต่อยอดจากพื้นความรู้เดิม

 

หลักการของการเรียนรู้ คือการเอาความรู้เดิมมาใช้จับความรู้ใหม่  แล้วต่อยอดความรู้ของตนขึ้นไป  นศ. ที่มีความรู้เดิมแบบไม่รู้ชัด หรือรู้มาผิดๆ ก็จะจับความรู้ใหม่ไม่ได้ หรือจับผิดๆ ต่อยอดผิดๆ  การเรียนรู้แบบเชี่ยวชาญหรือชำนาญ (mastery) ก็จะไม่เกิด   และที่สำคัญจะทำให้ นศ. ตกอยู่ในสภาพ “เรียนไม่รู้เรื่อง”  ส่งผลต่อเนื่องให้เบื่อการเรียน  และการเรียนล้มเหลวกลางคัน

 

ตรงกันข้าม นศ. ที่ความรู้เดิมแน่นแม่นยำถูกต้อง  ก็จะสามารถเอาความรู้เดิมมาจับความรู้ใหม่ และต่อยอดความรู้ของตนได้อย่างรวดเร็ว  และมีความสุขสนุกสนาน เกิดปิติสุขในการเรียน

 

บันทึกตอนที่ ๒ และ ๓ จึงจะอธิบายวิธีการทบทวนความรู้เดิม  และนำมาใช้ในการล่อและจับความรู้ใหม่  สำหรับต่อยอดความรู้ขึ้นไป   โดยบันทึกตอนที่ ๒ จะมี ๓ หัวข้อใหญ่ คือ (๑) การปลุกความรู้เดิม  (๒) วิธีตรวจสอบความรู้เดิมของ นศ.  (๓) วิธีกระตุ้นความรู้ที่แม่นยำ

 

ในบันทึกตอนที่ ๓ จะมีอีก ๓ หัวข้อใหญ่ คือ  (๑) วิธีทำความเข้าใจความรู้เดิมที่ไม่เพียงพอ  (๒) วิธีช่วยให้ นศ. ตระหนักว่าความรู้เดิมของตนยังไม่เหมาะสม  (๓) วิธีแก้ความรู้ผิดๆ


ปลุกความรู้เดิม

ความรู้มีหลายประเภท ประเภทหนึ่งเรียกว่า “ความรู้ที่แสดงให้เห็นได้” (Declarative Knowledge)  หรือ “know what”  อีกประเภทหนึ่งเรียกว่า “ความรู้เชิงกระบวนการ” (Procedural Knowledge) หรือ “know how” และ “know when”  ซึ่งในคำไทยน่าจะหมายถึง รู้จักกาละเทศะ หรือการประยุกต์ใช้ความรู้   และผมคิดว่า DK น่าจะใกล้เคียงกับ Explicit Knowledge  และ PK น่าจะใกล้เคียงกับ Tacit Knowledge

ผมตีความตามความรู้เดิมเรื่องการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ของตนเอง  ว่า DK คือตัวสาระความรู้  หรือความรู้เชิงทฤษฎี  ไม่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑  ต้องเรียนรู้ PK  หรือความรู้ปฏิบัติ ซึ่งก็คือทักษะในการประยุกต์ใช้ความรู้ ไปในเวลาเดียวกันด้วย

ย้ำว่า ต้องมีทั้งสองแบบของความรู้ และรู้จักใช้ให้เสริมกันอย่างเหมาะสม จึงจะเป็นประโยชน์จริง

บอกสาระความรู้ได้ แต่เอาไปใช้ไม่เป็น ยังไม่ใช่การเรียนรู้ที่ดี  และตรงกันข้ามเอาความรู้ไปใช้ทำงานได้ แต่อธิบายไม่ได้ว่าทำไมจึงได้ผล ก็ยังไม่ใช่การเรียนรู้ที่ดี  ต้องทั้งทำได้ และอธิบายได้  คือต้องมีทั้ง DK และ PK จึงจะเป็นการเรียนรู้ที่ครบถ้วน

ผลการวิจัยบอกว่า การมีความรู้เดิม เอามารับความรู้ใหม่  มีความสำคัญมากต่อการเรียนรู้และจดจำความรู้ใหม่  และแม้ นศ. จะมีความรู้เดิมในเรื่องนั้น แต่อาจนึกไม่ออก  การที่ครูมีวิธีช่วยให้ นศ. นึกความรู้เดิมออก จะช่วยการเรียนรู้ได้มาก  นี่คือเคล็ดลับสำคัญในการทำหน้าที่ครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ในการส่งเสริมการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติด้วยตนเองของ นศ.

ผลการวิจัยบอกว่า วิธีกระตุ้นทำโดยตั้งคำถาม why?  จะช่วยให้ นศ. นึกออก

ถึงตอนนี้ผมก็นึกออกว่า ในบริบทไทย นี่คือโจทย์วิจัยสำหรับ นศ. ปริญญาเอก  ดังตัวอย่าง  “วิธีปลุกความรู้เดิม ขึ้นมารับความรู้ใหม่ ในนักเรียนไทยระดับ ป. ๕”

 


กรณีที่ความรู้เดิมถูกต้อง แต่ไม่เพียงพอ

นศ. อาจมีความรู้ชนิด DK อย่างถูกต้องครบถ้วน  ตอบคำถามแบบ recall ได้อย่างดี  แต่เมื่อเผชิญสถานการณ์จริง นศ. ไม่สามารถประยุกต์ใช้ความรู้นั้นได้ (เพราะขาด PK)  สมัยผมเป็นนักศึกษาแพทย์โดนอาจารย์ด่าในเรื่องนี้เป็นประจำ  สมัยผมเป็นอาจารย์ ศ. พญ. อนงค์ เพียรกิจกรรม บ่นให้ฟังบ่อยๆ  ว่าพา นศพ. ไป ราวน์ คนไข้  เมื่อมีคนนำเสนอประวัติ การตรวจร่างกาย และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ แล้ว  อาจารย์ถาม นศพ. ว่าหาก นศพ. เป็นเจ้าของคนไข้ จะปฏิบัติรักษาอย่างไร  นศพ. มักตอบว่า “ถ้า .... ก็ ....”  คือตอบด้วย DK  ไม่สามารถนำเอา PK มาประกอบคำตอบได้   สมัยนั้น (กว่า ๓๐ ปีมาแล้ว) นศ. ถูกกล่าวหาว่าบกพร่องในการเรียน (เราเรียกว่าโดนอาจารย์ด่า)

แต่สมัยนี้ หากถือตามหนังสือ How Learning Works เล่มนี้ ครูคือผู้บกพร่อง  คือครูไม่ได้ช่วยให้ นศ. เชื่อมโยง PK กับ DK  คือจริงๆ แล้ว นศ. กำลังอยู่ในกระบวนการเชื่อมโยงความรู้สองชนิดเข้าด้วยกัน  การเรียนโดย ward round ของนักศึกษาแพทย์เป็นการเรียนเพื่อเชื่อมโยงความรู้สองชนิดนี้  และอาจารย์ควรเข้าใจกลไกการเรียนรู้นี้  และรู้วิธีกระตุ้นหรือปลุกความรู้เดิม ขึ้นมาประยุกต์ใช้ตามสถานการณ์

รายวิชาใด ยังไม่มีขั้นตอนการเรียนรู้โดยการฝึกประยุกต์ใช้ความรู้ (แบบ ward round ของ นศพ.) ก็ควรจัดให้มี  และนี่คือโจทย์วิจัยและพัฒนาสำหรับ Scholarship of Instruction ในวิชาของท่าน

ผลการวิจัยบอกว่า อาจารย์สามารถช่วยปลุกความรู้เดิมของ นศ. โดยการตั้งคำถามที่เหมาะสม  ซึ่งผมเรียกว่า “คำถามนำ”  และหนังสือเล่มนี้เรียกว่า elaborative interrogationและหนังสือเเล่มนี้ย้ำว่า เป็นหน้าที่ของอาจารย์ ที่จะต้องช่วยปลุกความรู้เดิมของ นศ. ขึ้นมารับความรู้ใหม่  หรือขึ้นมาทำให้การเรียนรู้ครบถ้วนขึ้น

วิธีปลุกความรู้เดิมของ นศ. วิธีหนึ่ง ทำโดยบอกให้ นศ. บอกว่าความรู้ในวิชานั้นๆ เชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับชีวิตจริงของตนอย่างไร

ที่จริงหนังสือ How Learning Works เล่มนี้ กล่าวถึงผลงานวิจัยมากมาย  แต่ผมไม่ได้เอามาเล่าต่อ  เอามาเฉพาะการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยเหล่านั้น

 


กรณีที่ความรู้เดิมไม่เหมาะสม

นศ. มีทั้งความรู้เชิงเทคนิค หรือความรู้เชิงวิชาการ  และความรู้จากชีวิตประจำวัน  และ นศ. อาจสับสนระหว่างความรู้ ๒ ประเภทนี้  ความสับสน นำเอาความรู้ในชีวิตประจำวันมาต่อยอดความรู้ทางวิชาการ อาจทำให้ความรู้บิดเบี้ยว

หนังสือสรุปว่า ผลงานวิจัยบอกครู ๔ อย่าง

(๑) ครูต้องอธิบายการนำความรู้ไปใช้ในต่างบริบท อย่างชัดเจน

(๒) สอนทฤษฎี หรือหลักการที่เป็นนามธรรม  พร้อมกับยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม หลากหลายรูปแบบ หลากหลายบริบท

(๓)เมื่อยกตัวอย่างปรียบเทียบ ยกทั้งที่เหมือน และที่แตกต่าง

(๔) พยายามกระตุ้นความรู้เดิม เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับความรู้ใหม่


กรณีที่ความรู้เดิมไม่ถูกต้อง

ข้อความในส่วนนี้ของหนังสือ บอกเราว่า  นศ. มีความรู้เดิมที่ผิดพลาดมากกว่าที่เราคิด  และความรู้ที่ผิดพลาดบางส่วนเป็น “ความฝังใจ” แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงยากมาก  แต่ครูก็ต้องทำหน้าที่ช่วยแก้ไขความรู้เดิมที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้

ครูต้อง

 

 

(๑) ประเมินความรู้เดิมของ นศ.  ตรวจหาความรู้เดิมที่ผิดพลาด ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาที่ นศ. กำลังเรียน

 

 

(๒) กระตุ้นความรู้เดิมที่ถูกต้อง ของ นศ.

 

 

(๓) ตรวจสอบความรู้เดิมที่ยังบกพร่อง

 

 

(๔) ช่วย นศ. หลีกเลี่ยงการประยุกต์ความรู้เดิมผิดๆ  คือไม่เหมาะสมต่อบริบท

 

 

(๕)​ช่วยให้ นศ. แก้ไขความรู้ผิดๆ ของตน

 

 


วิธีตรวจสอบความรู้เดิมของ นศ. ทั้งด้านความเพียงพอ และด้านความถูกต้อง

คุยกับเพื่อนครู

วิธีที่ง่ายที่สุดคือถามเพื่อนครูที่เคยสอน นศ. กลุ่มนี้มาก่อน  ว่า นศ. มีผลการเรียนเป็นอย่างไร  ส่วนไหนที่ นศ. เรียนรู้ได้ง่าย  ส่วนไหนที่ นศ. มักจะเข้าใจผิด หรือมีความยากลำบากในการเรียนรู้


จัดการทดสอบเพื่อประเมิน

อาจจัดทำได้ง่ายๆ โดยทดสอบในช่วงต้นของภาคการศึกษา   อาจจัดการทดสอบอย่างง่ายๆ แบบใดแบบหนึ่ง ดังนี้  (๑) quiz  (๒) สอบแบบให้เขียนเรียงความ  (๓) ทดสอบ concept inventoryโดยอาจค้นข้อสอบของวิชานั้นๆ ได้จาก อินเทอร์เน็ต เอามาปรับใช้


ให้ นศ. ประเมินตนเอง

ทำโดย ครูจัดทำแบบสอบถามมีคำถามตามพื้นความรู้ หรือทักษะ ที่ นศ. ต้องมีมาก่อนเรียนวิชานั้น  และที่เป็นเป้าหมายของการเรียนวิชานั้น  จัดทำเป็นแบบสอบถามแบบให้เลือกคำตอบที่ตรงกับตัว นศ. มากที่สุด  คำตอบได้แก่

 

  • ·  ฉันเคยได้ยิน/เห็น มาก่อน (คุ้นเคย)
  • ·  ฉันสามารถบอกความหมาย/นิยาม ได้ (ความรู้ระดับ factual)
  • ·  ฉันอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ (conceptual)
  • ·  ฉันสามารถใช้แก้ปัญหาได้ (application)

 


ใช้การระดมสมอง

การระดมสมองในชั้นเรียน ตอบคำถามที่ครูตั้ง อาจช่วยให้ครูประเมินพื้นความรู้ของ นศ. ได้  แม้จะเป็นการประเมินที่ไม่เป้นระบบและอาจไม่แม่นยำนัก  โดยประเภทคำถามของครูจะช่วยให้ครูประเมินพื้นความรู้ว่าอยู่ในระดับใดได้  เช่น “นศ. นึกถึงอะไร เมื่อได้ยินคำว่า ...” (ตรวจสอบความเชื่อ ความเชื่อมโยง)  “องค์ประกอบสำคัญของ … มีอะไรบ้าง” (ถามความรู้ - factual)  “หากจะดำเนินการเรื่อง ... นศ. จะเริ่มอย่างไร”  (ถาม Procedural Knowledge)  “หากจะดำเนินการเรื่องข้างต้นในชาวเขาภาคเหนือ มีประเด็นที่ต้องดำเนินการต่างจากในภาคอื่นอย่างไร”(ถาม Contextual Knowledge)


ให้ทำกิจกรรม Concept Map (ผังเชื่อมโยงหรือแผนผังความสัมพันธ์)

Concept Mapเป็นได้ทั้งเครื่องมือเรียนรู้ และเครื่องมือประเมินพื้นความรู้   หากครูต้องการประเมินทั้งความรู้เกี่ยวกับ concept และความเชื่อมโยงระหว่าง concept  ก็อาจให้ นศ. เขียนเองทั้ง concept และ link ระหว่าง concept  หากต้องการรู้ความคิดเชื่อมโยงเท่านั้น ครูอาจให้คำที่เป็น concept จำนวนหนึ่งในวิชานั้นๆ  ให้ นศ. เขียน link เชื่อมโยง


สังเกตรูปแบบ (pattern) ของความเข้าใจผิดของ นศ.

ความเข้าใจผิดของ นศ. ที่เข้าใจผิดเหมือนๆ กันทั้งชั้น หรือหลายคนในชั้น  สังเกตเห็นง่ายจากตำตอบข้อสอบ  คำตอบ quiz  หรือในการอภิปรายในชั้น  หรือครูอาจตั้งคำถามต่อ นศ. ทั้งชั้น ให้เลือกตัวเลือกด้วย clicker  จะได้ histogram ผลคำตอบ ที่แสดงความเข้าใจผิด  สำหรับให้ครูอธิบายความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ นศ.  เพื่อแก้ความเข้าใจผิด

ผลการวิจัยบอกว่า ความเข้าใจผิดบางเรื่องแก้ยากมาก  มันฝังใจ นศ.  ครูต้องหมั่นชี้แจงทำความเข้าใจที่ถูกต้อง จากตัวอย่างหรือบริบทที่แตกต่างหลากหลาย


วิธีกระตุ้นความรู้เดิมที่แม่นยำ

ใช้แบบฝึกหัด

เป็นแบบฝึกหัดเพื่อช่วยให้ นศ. ฟื้นความจำเกี่ยวกับความรู้ที่ได้เรียนมาแล้ว สำหรับนำมาเชื่อมต่อกับความรู้ใหม่ในบทเรียน  ซึ่งจะช่วยให้การเรียนมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้นมาก  ทำได้หลากหลายวิธี เช่น ให้ นศ. ระดมความคิดว่า ความรู้ใหม่ที่เพิ่งได้เรียน เชื่อมโยงกับความรู้เดิมอย่างไร  หรือให้ทำ Concept Map

ครูต้องตระหนักว่า กิจกรรมนี้อาจทำให้เกิดการเรียนความรู้ที่ถูกต้องก็ได้  เกิดการเรียนความรู้ที่ผิดก็ได้  ครูต้องคอยระวังไม่ให้ นศ. หลงจดจำความรู้ผิดๆ


เชื่อมโยงวิชาใหม่ กับความรู้ในวิชาที่เรียนมาแล้ว

นศ. มักเรียนแบบแยกส่วน (compartmentalize) ความรู้  แยกความรู้จากต่างวิชา ต่างภาควิชา ต่างคณะ ต่างอาจารย์  ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความรู้เชื่อมโยงกันหมด  ครูจึงต้องอธิบายความเชื่อมโยงให้ชัดเจน


เชื่อมโยงวิชาใหม่ กับความรู้ในวิชาที่ครูเคยสอน

การที่ครูเอ่ยถึงวิชาที่ นศ. เคยเรียนไปแล้ว (เพียง ๒ - ๓ ประโยค) เอามาเชื่อมโยงกับวิชาที่ นศ. กำลังจะเรียน  จะช่วยการเรียนรู้ของ นศ. อย่างมากมาย

อาจให้ นศ. ทำแบบฝึกหัดเชื่อมโยงความรู้ เรื่อง ก ที่เรียนไปเมื่อ ๒ สัปดาห์ที่แล้ว กับเรื่อง ข ที่เพิ่งเรียนในวันนี้  หรือให้การบ้าน ให้ นศ. ไปทำ reflection เขียนเชื่อมโยงความรู้ในรายวิชาที่เรียนไปตอนต้นเทอม เข้ากับความรู้ที่ได้เรียนในสัปดาห์นี้  เป็นต้น


ใช้การเปรียบเทียบเชื่อมโยงเข้ากับชีวิตประจำวัน

การอธิบายความรู้เชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์ของตัว นศ. เอง  หรือเข้ากับชีวิตประจำวันใกล้ตัว นศ.  จะช่วยให้เกิดความเข้าใจชัดเจนขึ้น  เช่นเมื่อสอนเรื่องพัฒนาการเด็ก ครูอาจเอ่ยเตือนความทรงจำให้ นศ. คิดถึงตนเองตอนเป็นเด็ก หรือคิดถึงน้องของตน  เมื่อเรียนวิชาเคมี อาจเอ่ยถึงตอนปรุงอาหาร

ให้ นศ. ให้เหตุผลตามความรู้เดิมของตน

เมื่อจะเรียนความรู้ใหม่ ครูอาจกระตุ้นความรู้เดิมโดยให้แบบฝึกหัด  ตั้งคำถามที่กระตุ้นให้ นศ. ทบทวนดึงเอาความรู้ที่มีอยู่แล้ว เอามาอธิบายหรือตอบโจทย์ที่ครูตั้ง


ข้อสังเกตของผม

โปรดสังเกตว่า ในบันทึกนี้ (และบันทึกต่อๆ ไป)  ครูทำหน้าที่smart teaching โดยตั้งโจทย์หรือคำถามที่เหมาะสม ให้ นศ. ตอบ  เพื่อการเรียนรู้ของ นศ.  ไม่ใช่ครูทำหน้าที่บอกสาระความรู้

คุณค่าที่สำคัญยิ่ง ของครูในศตวรรษที่ ๒๑ คือ การทำหน้าที่ตรวจสอบความเข้าใจผิดๆ ของ นศ.  แล้วหาทางแก้ไขเสีย  สำหรับเป็นพื้นความรู้ที่ถูกต้องแม่นยำ  ให้ศิษย์นำไปใช้จับความรู้ใหม่ เพื่อการเรียนรู้ที่ถูกต้องในอนาคต

 

 

วิจารณ์ พานิช

๘ ธ.ค. ๕๕

 

บันเทิงชีวิตครูสู่ชุมชนการเรียนรู้ (๓) มีความมุ่งมั่นที่ชัดเจนและทรงคุณค่า

พิมพ์ PDF

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความมาจากหนังสือ Learning by Doing : A Handbook for Professional Learning Communities at Work. 2nd Ed, 2010 เขียนโดย Richard DuFour, Rebecca DuFour, Robert Eaker, Thomas Many


ตอนที่ ๒ นี้จับความจาก Chapter 2 : A Clear and Compelling Purpose

ในสายตาของผม PLC เป็นการรวมตัวกัน “เดินทางไกลแห่งชีวิต”   ที่สมาชิกจะอุทิศชีวิตเพื่อการนี้ ---- เพื่อการสร้างสรรค์คนรุ่นใหม่ของสังคม   เพื่อการสร้างสรรค์การเรียนรู้แนวใหม่ ที่บรรลุ 21st Century Skills ในตัวศิษย์   เพื่อการสร้างสรรค์ “การศึกษา” แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ที่แตกต่างจากการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๐ และ ๑๙ โดยสิ้นเชิง   และที่สำคัญยิ่ง เพื่อชีวิตที่ดี ที่ประสบความสำเร็จของครูและผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับ PLC ทุกคน  เพราะ PLC คือมรรคาแห่งการเรียนรู้จากการปฏิบัติ  ที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องเกิด Learning Skills แห่งศตวรรษที่ ๒๑  และเป็น “บุคคลเรียนรู้”

การพัฒนาตนเองของครู เพื่อเป็น Learning person   และร่วมกับสมาชิกของ PLC พัฒนาซึ่งกันและกัน ด้วย interactive learning through action คือมรรควิธีแห่งชีวิตที่มีความสุข   ที่ท่านจะสัมผัสได้ด้วยตนเอง เมื่อท่านลงมือทำ

PLC จะเปลี่ยนบรรยากาศของ “โรงเรียน”   เพราะจะไม่เป็น “โรงเรียน” ตามแนวทางเดิมอีกต่อไป   แต่จะกลายเป็น PLC ที่สมาชิกร่วมกันเป็นเจ้าของอย่างเท่าเทียมกัน   และสิ่งที่ทรงคุณค่าที่สุดที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันคือ “ความมุ่งมั่นที่ชัดและทรงคุณค่า”   ว่าทุกคนต้องการช่วยกันยกระดับคุณภาพของการเรียนรู้ของศิษย์ (และของตนเอง)   เพื่อให้ศิษย์บรรลุ 21st Century Skills โดยที่สมาชิกทุกคนร่วมกันคิดหาวิธีการใหม่ๆ  แยกกันทดลอง  แล้วนำผลที่เกิดขึ้นมาปรึกษาหารือ หรือ ลปรร. กัน  ทำเช่นนี้เป็นวงจรไม่รู้จบ  โดยทุกคนมีความเชื่อมั่นในตนเองและเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน   ว่าจะค่อยๆ บรรลุความมุ่งมั่น (purpose) ที่ตั้งไว้ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ   โดยเชื่อในหลักการ “พัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง” (CQI – Continuous Quality Improvement)

โรงเรียนกลายเป็น PLC   และ PLC คือ องค์กร เคออร์ดิค (Chaordic Organization)   ที่มี “ความมุ่งมั่นชัดเจนและทรงพลัง” ท่านที่ต้องการอ่านเรื่อง องค์กร เคออร์ดิค ที่ผมเคยเขียนไว้ อ่านได้ที่นี่  

ความหมายของ เคออร์ดิค คือ สมาชิกขององค์กรหรือกลุ่ม มีเป้าหมายระดับความมุ่งมั่น (purpose) ชัดเจนร่วมกัน   แต่วิธีบรรลุความมุ่งมั่นนั้นทุกคนมีอิสระที่จะใช้ความสร้างสรรค์ของตน ที่จะปรึกษากันแล้วเอาไปทดลอง  เพื่อหาแนวทางทำงานใหม่ๆ ที่ให้ผลดีกว่าเดิม

คือ องค์กร เคออร์ดิค มีวัฒนธรรมและความสัมพันธ์แนวราบระหว่างสมาชิก  ลดความเป็น “ราชการ” (bureaucracy, top-down) ลงไป

ข้างบนนั้นคือความคิดของผมเอง   ส่วนหนังสือเล่มนี้บทที่ ๒ เริ่มด้วยครูใหญ่ Dion ไปรับการอบรมเรื่อง PLC กลับมาด้วยความตั้งใจเต็มร้อยที่จะเปลี่ยนโรงเรียนเป็น PLC ตามที่เรียนมา   จึงเริ่มต้น “การจัดการการเปลี่ยนแปลง” ตามทฤษฎีที่เรียนมา   คือเขียนเอกสารพันธกิจ (mission statement)   เอาเข้าที่ประชุมครู เพื่อให้ลงมติรับรอง   แล้วก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า   หนึ่งปีผ่านไปก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ

ที่ล้มเหลวเพราะครูใหญ่ Dion ดำเนินการจัดการการเปลี่ยนแปลงผิด   วางยุทธศาสตร์ผิดพลาด  ทำตามทฤษฎีเกินไป

คำแนะนำต่อการจัดการการเปลี่ยนแปลงที่ถูกต้องคือต้องเริ่มที่คุณค่า ตั้งคำถามเชิงคุณค่า ว่าโรงเรียนของเราดำรงอยู่ (และใช้เงินภาษีของชาวบ้าน) เพื่ออะไร   ทำไมต้องมีโรงเรียนนี้  ไม่มีโรงเรียนนี้ได้ไหม   โรงเรียนนี้จะดำรงอยู่อย่างสง่างาม ได้ชื่อว่าทำคุณประโยชน์มากกว่าทรัพยากรที่ใช้ไป ได้อย่างไร

คำตอบไม่หนีคุณค่าต่อศิษย์ ต่อการสร้างอนาคตให้แก่อนุชนรุ่นหลัง   ก็จะเกิดคำถามว่าที่เราทำกันอยู่นั้นเป็นการสร้างอนาคตหรือดับอนาคตของเยาวชนกันแน่   จะให้มั่นใจ ภูมิใจ ว่าโรงเรียนนี้ได้ทำหน้าที่สร้างอนาคตแก่ศิษย์ เราจะต้องมีความมุ่งมั่น (purpose) ของโรงเรียนอย่างไร   ผล learning outcome แบบไหนที่ถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นโรงเรียนที่สร้างอนาคตให้แก่เยาวชน   นำไปสู่การร่วมกันยกร่าง purpose statement ของโรงเรียน   และ core value ของโรงเรียน ที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน  และจะใช้เป็นประทีปทางจิตวิญญาณในการเดินทางไกลร่วมกัน   เพื่อนำ/เปลี่ยนแปลง โรงเรียนไปสู่เป้าหมายที่ทรงคุณค่า ที่ร่วมกันฝัน

ต้องอย่าลืมย้ำว่า เรากำลังร่วมกันวางรากฐานของการเดินทางไกล   สู่ “โรงเรียนที่เราภูมิใจ”  ไม่ใช่โครงการ ๑ ปี  ๒ ปี  หรือโครงการระยะสั้นตามวาระของครูใหญ่   หรือตามนโยบายของรัฐบาลใดๆ   เป็นกิจกรรมที่เราร่วมกันคิดเอง ทำเอง ฟันฝ่ากันเอง   ไม่ใช่จากบงการภายนอก

ครูใหญ่ควรมี “คณะทำงาน” เพื่อเป็นแกนนำคิดเรื่องนี้หรือไม่  เป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งที่ควรพิจารณา   หลักการคือ ในการจัดการการเปลี่ยนแปลงนั้น ผู้บริหารเบอร์ ๑ ต้องไม่โดดเดี่ยวตนเอง

คุยกันจนเป้าหมายชัด   และพอจะเห็นแนวทางลงมือทำรางๆ ก้ต้องรีบเข้าสู่ action mode   หาผู้กล้าอาสาลองทำ   คืออย่ามัวตกหลุมความฝัน   หรือเอาแต่รำมวย ไม่ชกสักที

จาก dreaming mode, value mode ต้องรีบเข้าสู่ action mode ในลักษณะของหาครูจำนวนน้อย ที่จะร่วมกันเป็น “แนวหน้ากล้าเป็น” (ไม่ใช่แนวหน้ากล้าตาย เพราะงานนี้สำเร็จแน่ๆ แต่ต้องฟันฝ่า)   ครูกลุ่มนี้จึงเป้นกลุ่ม “แนวหน้ากล้าเป็นผู้ทดลอง”   เป็นการทดลองหาวิธีบรรลุฝัน หรือ purpose ที่เป็น common purpose ร่วมกันของครูทั้งโรงเรียน  รวมทั้งเป็น purpose ร่วมกันของผู้ปกครอง ของผู้บริหารเขตการศึกษา และของ อปท. ที่โรงเรียนนั้นตั้งอยู่ด้วย

นี่คือยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง : ฝันร่วมกัน ในระดับคุณค่า ให้เป็นฝันที่ชัดเจน เห็นเป้าหมายปลายทางที่เป็นรูปธรรม   และพอมองเห็นทางดำเนินการรางๆ ไม่ค่อยชัด  จึงต้องทดลองทำน้อยๆ ก่อน   ทำในบางชั้นเรียน ในครูเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่เป็นอาสาสมัคร เต็มใจที่จะเป้นผู้ริเริ่ม   แต่ก็ไม่ใช่ทำคนเดียว ห้องเรียนเดียว อย่างโดดเดี่ยว   มีทีมร่วมคิด ร่วมทำและแยกกันทำ แต่ร่วมกันเรียนรู้จากประสบการณ์

PLC เล็กๆ ได้เริ่มขึ้นแล้ว   เริ่มขึ้นโดยไม่ได้บังคับ   ไม่สร้างความอึดอัดให้แก่ครูที่ยังไม่ศรัทธา หรือไม่อยากเปลี่ยนแปลง   แต่เริ่มโดยกลุ่มครูที่ศรัทธา ที่ชอบงานท้าทาย ชอบเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

PLC เล็กๆ ที่อาจเรียกว่า “หน่อ PLC” นี่แหละ ที่จะเป็นเครื่องมือสื่อสารทำความรู้จัก PLC ให้แก่ครูทั้งโรงเรียน  แก่นักเรียน  ผู้ปกครอง  ผู้บริหารการศึกษาในเขตพื้นที่  สมาชิกและผู้บริหารของ อปท. ที่โรงเรียนของเราตั้งอยู่  และแก่สังคมในวงกว้าง

เราจะสื่อสารให้คนรู้จัก PLC ด้วยการลงมือทำ   และสื่อสารด้วยเรื่องราวจากผลของการลงมือทำ

ต่อไปนี้เป็น “บัญญัติ ๗ ประการ” ที่ระบุไว้ในหนังสือ ที่แนะนำครูใหญ่ และทีมแกนนำ ให้หาทางดำเนินการ เพื่อจัดการการเปลี่ยนแปลง

๑. หาทางจัดโครงสร้างและระบบเพื่อหนุนการเดินทางหรือขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ที่จริง PLC เป็นการปฏิวัติโครงสร้าง ระบบการทำงาน และวัฒนธรรมการทำงานในโรงเรียน   จากระบบตัวใครตัวมัน มาเป็นระบบทีม หรือวัฒนธรรมรวมหมู่ (collective culture)   โครงสร้างของระบบงาน ระบบการจัดการเรียนการสอน จะต้องปรับเปลี่ยนให้เอื้อต่อการช่วยกันดำเนินการช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนล้าหลังให้เรียนตามเพื่อนทัน   โดยที่การช่วยเหลือนั้นทำกันเป็นทีม หลายฝ่ายเข้ามาร่วมกัน   และกิจกรรมนั้น ทำอยู่ภายในเวลาตามปกติของโรงเรียน   ไม่ใช่สอนนอกเวลา 
รวมทั้งมีเวลาสำหรับครูประชุม ลปรร. ประสบการณ์การทำงานของตน   เพื่อหาทางพัฒนาวิธีการทำงานให้ได้ผลดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ   เป็นวงจร CQI มารู้จบ

๒. สร้างกระบวนการวัดเพื่อติดตามความเคลื่อนไหว และทำความเข้าใจเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนด progress indicators  ซึ่งสำหรับโรงเรียน ควรวัดที่ผลการเรียนของนักเรียน  เวลาเรียนของนักเรียนเป็นการเรียนแบบ action learning ร้อยละเท่าไรของเวลาทั้งหมด   พฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคน  ร้อยละของนักเรียนที่มีปัญหา ด้านการเรียน/ด้านปัญหาส่วนตัว ที่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที   นอกจากนั้น ยังต้องมีตัวชี้วัดความก้าวหน้าของพฤติกรรมการทำหน้าที่ของครู เช่น การแบ่งสัดส่วนเวลาในการทำหน้าที่ของครู ระหว่าง การเตรียมออกแบบการเรียนรู้ (ร่วมกันเป็นทีม)   การทำหน้าที่โค้ช หรือ facilitator ให้แก่นักเรียนที่เรียนแบบ PBL  การชวนนักเรียนทำ reflection เพื่อตีความผลของการเรียนรู้แบบ PBL  การรวมกลุ่มกับทีมครูเพื่อ ลปรร. จากประสบการณ์การทำงาน  เป็นต้น  
หลักการสำคัญของการกำหนด progress indicators คือ ต้องมีน้อยตัว (เช่นไม่เกิน ๑๐) เอาเฉพาะปัจจัยที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น   และต้องไม่ใช้ในการให้คุณให้โทษครูเป็นอันขาด  เพราะนี่คือเครื่องมือของผู้ทำงานเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในที่ทำงาน   ไม่ใช่เครื่องมือของการตรวจสอบของฝ่ายบริหารระดับใดๆ ทั้งสิ้น
Progress indicators ที่สำคัญที่สุดคือ progress indicators ของการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นรายคน  ที่ช่วยให้ครูรู้ว่านักเรียนคนไหนเรียนล้าหลัง   คนไหนเรียนก้าวหน้าไปมากกว่ากลุ่ม   
และเมื่อมีการวัดความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของนักเรียนแล้ว   ก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลผลการวัดนั้น   รวมทั้งร่วมกันปรึกษาหารือว่าจะต้องทำอะไร อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่นักเรียน

๓. เปลี่ยนแปลงทรัพยากร เพื่อสนับสนุนสิ่งสำคัญ ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือ “เวลา”   ต้องเปลี่ยนแปลงการจัดการเวลาหรือการใช้เวลาเรียนของนักเรียน และเวลาทำงานของครู เสียใหม่   ให้ทำงานเพื่อการเรียนรู้ของนักเรียนได้ดีกว่าแบบเดิมๆ   รวมทั้งให้สามารถทำงานแบบทีม ใช้พลังรวมหมู่เพื่อแก้ปัญหายากๆ  หรือดำเนินการต่อประเด็นท้าทายและสร้างสรรค์ใหม่ๆ

๔. ถามคำถามที่ถูกต้อง คำถามที่สำคัญสำหรับโรงเรียน   สำหรับช่วยให้เป็น “โรงเรียนที่ดี” มีเพียง ๔ คำถามเท่านั้น คือ (๑) ในแต่ละช่วงเวลาเรียน ต้องการให้นักเรียนได้ความรู้และทักษะอะไรบ้าง  (๒) รู้ได้อย่างไรว่านักเรียนแต่ละคนได้เรียนรู้ความรู้และทักษะที่จำเป็นนั้น  (๓) ทำอย่างไร หากนักเรียนบางคนไม่ได้เรียนสิ่งนั้น  (๔) ทำอย่างไรแก่นักเรียนที่เรียนเก่งก้าวหน้าไปแล้ว

๕. ทำตัวเป็นตัวอย่างในเรื่องที่มีคุณค่า ข้อนี้สื่อต่อผู้นำ ซึ่งตามในหนังสือเล่มนี้คือครูใหญ่   หากครูใหญ่ต้องการให้ครูเอาใจใส่การเรียนรู้ของศิษย์ทุกคนเป็นรายตัว   ครูใหญ่ต้องหยิบยกเรื่องนี้มาหารืออย่างสม่ำเสมอ   หากครูใหญ่ต้องการให้ครูทำหน้าที่ช่วยเหลือนักเรียนโดยทำงานเป็นทีม   ก็ต้องจัดเวลาให้ครูปรึกษาหารือและตัดสินใจร่วมกัน   รวมทั้งจัดสิ่งสนับสนุนกิจกรรมช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนช้าเหล่านั้น

๖. เฉลิมฉลองความก้าวหน้า ก่อนจะเฉลิมแลองความก้าวหน้าตามเป้าหมายในการเรียนรู้ของนักเรียน ก็ต้องมีหลักฐานยืนยันความก้าวหน้านั้น   ซึ่งหมายความว่าต้องมีระบบตรวจสอบหรือประเมินผลการเรียนรู้นั้นที่แม่นยำน่าเชื่อถือ  และทั้งหมดนั้นมาจากการที่ครูและฝ่ายบริหารมีเป้าหมายร่วมกัน  และมีใจจดจ่อเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน  การเฉลิมฉลองมีประโยชน์ยืนยันเป้าหมาย   และยืนยันความมุ่งมั่นในการดำเนินการร่วมกัน

ที่จริงการเฉลิมฉลองความสำเร็จ เป็นกระบวนการเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ตามเป้าหมายที่กำหนด   เป็นการส่งสัญญาณทั้งของความมุ่งมั่น หรือการมีเป้าหมาย ร่วมกัน   การดำเนินการฟันฝ่าความเคยชินเดิมๆ ไปสู่วิธีการใหม่   ที่นักเรียนทุกคนได้รับความเอาใจใส่ และช่วยเหลือหากเรียนไม่ทัน   และครูร่วมกันทำงานนี้เป็นทีม   รวมทั้งส่งสัญญาณให้สมาชิกของทีมเห็นว่า ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมเป็นอย่างไร   มีคุณค่าอย่างไรทั้งต่อศิษย์ พ่อแม่ และต่อครู   ผู้เขียนหนังสือแนะนำวิธีทำให้การเฉลิมฉลองความสำเร็จ เป็นวัฒนาธรรมการทำงานของโรงเรียน ๔ ประการ ดังนี้

๑. ระบุเป้าหมายของการเฉลิมฉลองให้ชัดเจน


๒. ทำให้ทุกคนมีส่วนจัดงานนี้


๓. ตีความหรืออธิบายความสำเร็จที่เกิดขึ้น และเชื่อมโยงกับ shared purpose ของโรงเรียนอย่างชัดเจน  และชี้เป้าความคาดหมายความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต


๔. ทำให้เห็นว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้น เป็นผลงานของคนหลายคน   ระบุตัวบุคคลและบทบาทอย่างชัดเจน

๗. เผชิญหน้ากับผู้ต่อต้านเป้าหมายร่วมของคณะครู ในภาษาของการจัดการสมัยใหม่ นี่คือ risk management ในการจัดการการเปลี่ยนแปลง   ครูใหญ่ต้องวางแผนเตรียมพร้อมที่จะเผชิญสภาพนี้   ที่มีครูบางคนแสดงพฤติกรรมไม่ร่วมมือและท้าทาย   ต้องไม่ปล่อยให้การท้าทายทำลายเป้าหมายที่ทรงคุณค่านี้

ฝันชัด เป้าหมายปลายทางชัด ยังไม่พอ ต้องมี “ไม้บรรทัดวัดความสำเร็จ” ทีละเปลาะๆ ในเส้นทางของการทดลองเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้   ซึ่งจะเป็นประเด็นของบทต่อไป

ในบทนี้ ผู้เขียนได้เสนอวิธีสร้างความมุ่งมั่นร่วมในกลุ่มครู ด้วยแบบสอบถามที่ถามคำถามหลายด้าน  ที่จะช่วยสร้างความขัดเจนในเป้าหมาย  วิธีการ  และสภาพการเปลี่ยนแปลง   เพื่อสร้าง commitment และการเห็นคุณค่า

สรุปบทที่ ๒ : คำถามเชิงเป้าหมาย อุดมการณ์ หรือความมุ่งมั่น (purpose) คือ


• โรงเรียนของเราดำรงอยู่เพื่ออะไร   ทำไมต้องมี ไม่มีได้ไหม
• เมื่อมีอยู่ต้องทำอะไรให้แก่สังคม แก่ชุมชน 
• อย่างไรเรียกว่าทำหน้าที่ได้ดี น่าภาคภูมิใจ
• เราจะช่วยกันทำให้โรงเรียนของเราทำหน้าที่ได้ดีเช่นนั้น ได้อย่างไร

อย่าตั้งคำถามว่า เราจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร   แต่ตั้งให้ลึกและถามเชิงคุณค่า ว่ายุบโรงเรียนของเราได้ไหม ทำไมจึงต้องมีโรงเรียนของเรา   คุณค่าของโรงเรียนของเรา อยู่ที่ไหน  ประเมินได้อย่างไร   จะช่วยกันยกระดับคุณค่าที่แท้จริงได้อย่างไร

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๖ ก.ค. ๕๔



 

บันเทิงชีวิตครูสู่ชุมชนการเรียนรู้ (๔) โฟกัสเป้าหมายที่การเรียนรู้ (ไม่ใช่การสอน)

พิมพ์ PDF

บันทึกชุดนี้ ถอดความมาจากหนังสือ Learning by Doing : A Handbook for Professional Learning Communities at Work. 2nd Ed, 2010 เขียนโดย Richard DuFour, Rebecca DuFour, Robert Eaker, Thomas Many

ตอนที่ ๔ นี้จับความจาก Chapter 3 : Create a Focus on Learning

อย่าลืมว่าครูมีงานมากอยู่แล้ว กิจกรรม PLC ต้องไม่เพิ่มภาระแก่ครู   และครูทุกคนมีสิ่งที่เขาภูมิใจ ระวังการเปลี่ยนแปลงมีผลไปกระทบศักดิ์ศรีของเขา   หรือกล่าวในทางตรงกันข้าม   PLC ต้องเข้าไปช่วยเพิ่มพูนศักดิ์ศรีของความเป็นครู

เพื่อพุ่งเป้าของ PLC ไปที่การเรียนรู้ของนักเรียน   จึงมีคำถามหลัก ๒ คำถาม สำหรับ PLC
๑. ต้องการให้นักเรียนเรียนอะไร
๒. รู้ได้อย่างไร ว่านักเรียนแต่ละคนได้เรียนรู้สิ่งนั้นๆ

หลักการสำคัญคือ นักเรียนทุกคนได้เรียนเท่าที่จำเป็น (essential learning) ตาม เป้าหมายอันทรงพลัง (power standards) ไม่ใช่เรียนให้จบตามที่กำหนดในหลักสูตร

เพื่อให้การเรียนรู้ของศิษย์ เน้นที่ essential learning  มีเครื่องมือในการเลือกความรู้ที่จำเป็นจริงๆ ๒ ประการ ดังนี้


๑. ใช้เกณฑ์ ๓ คำถาม (๑) ความรู้นี้จะคงทนจดจำไปในอนาคตหรือไม่  (๒) ความรู้นี้จะช่วยเป็นพื้นฐานต่อการเรียนรู้เรื่องอื่นๆ หรือไม่  (๓) ความรู้นี้จะช่วยความสำเร็จในการเรียนรู้ในชั้นต่อไปหรือไม่

๒. ใช้การประชุมระดมความคิดในกลุ่มครูที่เป็นสมาชิก PLC ด้วยบัตร ๓ คำ keep, drop, create  ทำอย่างน้อยทุกๆ ๓ เดือน

 

ครูที่เป็นสมาชิก PLC ทำกระบวนการร่วมกันเพื่อ "เห็นช้างทั้งตัว" ในเรื่องเป้าหมายการ เรียนรู้ที่จัดให้แก่นักเรียน  และ ลปรร. ความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น   ไม่ใช่แค่เข้าใจส่วนของวิชาหรือชั้นเรียนที่ตนรับผิดชอบเท่านั้น   แต่เข้าใจส่วนของวิชาและชั้น อื่นๆ ด้วย   คือเข้าใจภาพรวมจริงๆ   และเข้าใจลึกถึงระดับคุณค่า   และเข้าใจจนมองเห็นลำดับ ความสำคัญ   มองเห็นประเด็นของ formative assessment ที่จะดำเนินการเพื่อช่วยปรับปรุง กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน

ผมขอเพิ่มเติมจากการตีความของผมเองว่า  การที่สมาชิก PLC “เห็นช้างทั้งตัว” นั้น   ต้องเห็นจากมุมมอง หรือความเข้าใจของศิษย์ด้วย   ไม่ใช่จากมุมมองของครูเท่านั้น

ใช้การประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของนักเรียน (formative assessment) ที่ทำอย่างดี มีคุณภาพ และบ่อย เป็นเครื่องมือช่วยการเรียนรู้   โดยเข้าใจร่วมกันอย่างชัดเจนว่า การทดสอบแบบนี้ไม่ใช่เพื่อการตัดสินได้-ตก แบบการทดสอบระดับประเทศ (summative evaluation)   แต่เป็นการทดสอบเพื่อช่วยการเรียนรู้ของนักเรียน ให้นักเรียนรู้สถานะการเรียนรู้ ของตน  เป็นเครื่องมือกระตุ้นการเรียนรู้   และให้ครูรู้ว่ามีศิษย์คนไหนบ้างที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษในวิชาใด   รวมทั้งเป็นการ feedback แก่ครู ว่าควรปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ที่ตนให้แก่ศิษย์อย่างไรบ้าง

วิธีการจัดการประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของนักเรียน เป็นประเด็นสำคัญของ การเรียนรู้ร่วมกันของครู ใน PLC   คือเป็นเรื่องที่ครูจะต้องเรียนรู้เรื่อยไปไม่มีวันจบ  และต้อง เรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม   เอาประสบการณ์จริงมา ลปรร. กัน   เพื่อหาวิธีทำให้การประเมินมีพลัง กระตุ้นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ของศิษย์   รวมทั้งเพื่อเป็นประเด็นการเรียนรู้ของครู ในการทำความเข้าใจ "จิตวิทยาการเรียนรู้" (cognitive psychology) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิธีการทำให้เกิดปัจจัยด้านจิตวิทยาเชิงบวก

มีผลการวิจัยมากมาย (ในสหรัฐอเมริกา) ว่าการดำเนินการ และพัฒนา กระบวนการ ประเมินความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของนักเรียน ที่ทำเป็นทีม โดยครูที่สอนชั้นเดียวกัน   ผ่านการปรึกษาหารือ  การใช้วิธีการประเมินแบบที่ร่วมกันพัฒนา  และนำผลการประเมินมาร่วมกันตีความ เพื่อนำผลไปใช้ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งใช้ปรับปรุง วิธีการประเมิน   จะทำให้ผลการเรียนของนักเรียนดีกว่าวิธีการที่ครูต่างคนต่างทำ

คณะผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ มีความเห็นที่รุนแรงต่อการที่ครูต้องทำงานประเมินเป็นทีม   โดยใช้แบบประเมินเดียวกันที่ร่วมกันพัฒนาขึ้นใช้   ต้องไม่ยอมให้ครูคนใดคนหนึ่งแยกตัว โดดเดี่ยวออกไปทำคนเดียว   เพราะผลการวิจัยชี้ชัดว่าการกระทำเช่นนั้นจะเป็นโทษต่อนักเรียน   เพราะผลการเรียนจะไม่ดีเท่าดำเนินการประเมินเป็นกลุ่ม

จุดที่สำคัญคือ การที่ครูร่วมกันเป็นทีม เอาใจใส่การประเมินการเรียนรู้ของนักเรียน   จะเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่เน้นการเรียนรู้ (learning) ไปในตัว   เปลี่ยนจากวัฒนธรรมที่เน้นการสอน (teaching) ที่เราคุ้นเคย

กระบวนการกลุ่มของครูในการพัฒนาการประเมินแบบ formative assessment อย่างต่อเนื่อง   ผ่านการปฏิบัติจริง คือกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความคุ้นเคยของครู   ให้ค่อยๆ เปลี่ยนการทำหน้าที่ "ครูสอน" (teacher) มาเป็น "ครูฝึก" (coach) โดยไม่รู้สึกว่าต้องฝืนใจ

จะเห็นว่ากระบวนการรวมกลุ่มครู ร่วมกันพัฒนา ปฏิบัติ และเรียนรู้ การประเมินการเรียนรู้ของศิษย์อย่างต่อเนื่อง   ก็คือการตอบคำถาม (๑) เราต้องการให้ศิษย์เรียนรู้อะไรบ้าง   และ (๒) รู้ได้อย่างไรว่าศิษย์ได้เรียนรู้ตามเป้าหมายในข้อ (๑) จริง   เป็นการตั้งคำถาม และตอบคำถามทั้งสองซ้ำแล้วซ้ำเล่า   วนเวียนเป็นวัฏจักร   มีผลให้เกิดการยกระดับการเรียนรู้ ทั้งของศิษย์ และของครู

ปัญหาการเรียนรู้ในโรงเรียนโดยทั่วไปไม่ได้เกิดจากสอนน้อยไป   แต่เกิดจากสอนมากไป แต่นักเรียนได้เรียนรู้น้อย   ยุทธศาสตร์ของการปฏิรูปการเรียนรู้ คือ สอนน้อย เรียนมาก   เรื่องราวในบทนี้ เน้นที่การจัดให้นักเรียนได้เรียนรู้ประเด็นที่สำคัญ   ไม่ใช่เรียนแบบเหวี่ยงแห   ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้เกิดประสิทธิผลน้อย

สิ่งที่จะต้องเอาชนะก็คือ การที่ครูหลงจัดการสอนในเรื่องที่ตนชอบ   ไม่ใช่จัดให้ศิษย์ เรียนรู้เรื่องที่สำคัญต่อศิษย์

อย่าหลงที่การสร้างผลงาน หาทางลัดโดยการซื้อบริการวิธีจัดการเรียนรู้เอามาให้ครูทำ   กระบวนการ    เพราะจะไม่มีผลต่อเนื่องยั่งยืน

การเดินทาง PLC ที่ครูร่วมกันคิด ร่วมกันทำ   และร่วมกันตีความทำความเข้าใจผลที่เกิด ขึ้น   นำมาคิดหาวิธีปรับปรุงการเรียนรู้ของศิษย์   วนเวียนเป็นวัฏจักรไม่รู้จบ   เป็นหนทางที่ ต่อเนื่องยั่งยืนของการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน

 

วิจารณ์ พานิช
๒๖ ก.ค. ๕๔  ปรับปรุง ๙ ส.ค. ๕๔




 

บันเทิงชีวิตครูสู่ชุมชนการเรียนรู้ (๕) เมื่อนักเรียนบางคนเรียนไม่ทัน

พิมพ์ PDF

บันทึกชุดนี้ ถอดความมาจากหนังสือ Learning by Doing : A Handbook for Professional Learning Communities at Work. 2nd Ed, 2010 เขียนโดย Richard DuFour, Rebecca DuFour, Robert Eaker, Thomas Many  
ตอนที่ ๕ นี้จับความจาก Chapter 4 : How Will We Respond When Some Students Don’t Learn?

บทที่ ๔ นี้เริ่มด้วยเรื่องเล่าว่าโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ชั้น ม. ๔ ที่มีครูคณิตศาสตร์ ๔ คน ที่มีบุคลิกเฉพาะตัวคนละแบบ   ๔ คน ก็ ๔ แบบ

ครู ก กดคะแนน นักเรียนตกมาก เพราะถ้าไม่ส่งการบ้านตรงตามเวลา จะได้ศูนย์ "เพื่อฝึกความรับผิดชอบ" แต่เมื่อไปสอบรวมของรัฐจะมีนักเรียนที่ได้คะแนนเด่นจำนวนมาก

ครู ข ใจดี สอนสนุก นักเรียนได้คะแนน A และ B เท่านั้น แต่เมื่อไปสอบรวมของรัฐมีนักเรียนสอบตกมาก

ครู ค เลือกนักเรียน เมื่อสอนไปได้ระยะหนึ่งก็ขอย้ายนักเรียนให้ลงไปเรียนวิชาคณิตศาสตร์ชั้นต่ำลงไป "เพราะพื้นฐานคณิตศาสตร์ไม่ถึงระดับ ม. ๒"  ผลการสอบรวมของรัฐ นักเรียนที่เหลืออยู่ในชั้นทุกคนจะได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งรัฐ

ครู ง เป็นครูที่ครูใหญ่ชื่นชอบที่สุด เพราะ ฝึกนักเรียนให้มีความรับผิดชอบ และเอาใจใส่นักเรียนเป็นรายคน  คนไหนเรียนล้าหลังครูจะนัดมาพบและสอนนอกเวลา

แต่ครู ง ก็โดนแม่ของนักเรียนร้องเรียน ว่าดึงเด็กไว้สอนซ่อมอกเวลา   โดยที่แม่ต้องการให้ลูกชายรีบกลับบ้าน ไปดูแลน้องสาว   เพราะแม่ทำงานกลับบ้านค่ำ   และที่บ้านไม่มีคนอื่นอีกแล้ว

ครูใหญ่ของโรงเรียนนี้จะทำอย่างไร?

วิธีแก้ปัญหานักเรียนบางคนไม่เรียน หรือเรียนช้า   ที่ได้ผลยั่งยืนคือต้องมีระบบช่วยเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนในช่วงเวลาปกตินั้นเอง   โดยที่ระบบนั้นจัดเป็นทีม เป็นกิจกรรมของโรงเรียน ที่ครู นักเรียน และภาคีที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ร่วมกันลงมือทำ   หรือกล่าวว่า PLC ของครูร่วมกันคิด และร่วมกันทำ

ทำอย่างเป็นระบบ   ภายใต้แนวคิดว่านักเรียนแตกต่างกัน   นักเรียนบางคนเรียนรู้ได้ช้ากว่า และต้องการความช่วยเหลือ ก็จะมีระบบช่วยเหลือ ทั้งจากครู เพื่อนนักเรียน และผู้ปกครองทางบ้าน   จนในที่สุดสามารถเรียนได้ทันกลุ่มเพื่อนๆ   คือมี PLC เพื่อการนี้   ที่นอกจากนักเรียนได้รับการดูแลที่ดี ครูก็ได้เรียนรู้ร่วมกันด้วย

ครูได้เรียนรู้ตั้งแต่การร่วมกันคิดระบบตรวจสอบ ว่านักเรียนคนไหนที่กำลังเรียนไม่ทันเพื่อน และต้องการความช่วยเหลือพิเศษ   หรือที่จริงเป็นการร่วมกันพัฒนาระบบตรวจสอบการเรียนรู้ของนักเรียนทั้งระบบ ที่เรียกว่า formative assessment เพื่อประโยชน์ในการเอาใจใส่ และช่วยเหลือนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ   โดยต้องระมัดระวังว่า ความช่วยเหลือพิเศษนั้น ไม่ใช่เป็นการลงโทษให้ต้องเรียนเพิ่ม   แต่เป็นการช่วยให้ได้เรียนรู้อย่างแท้จริง

ระบบช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนอ่อนนี้ มีลักษณะที่เป็นไปตามตัวย่อว่า SPEED

Systematic  หมายถึงมีการดำเนินการเป็นระบบทั้งโรงเรียน   ไม่ใช่เป็นภาระของครูประจำชั้นแต่ละคน   และมีการสื่อสารเป็นลายลักษณ์อักษร (ใคร ทำไม อย่างไร ที่ไหน เมื่อไร) ไปยังทุกคน ได้แก่ ครู (ทีมของโรงเรียน)  พ่อแม่  และนักเรียน

Practical  การดำเนินการช่วยเหลือเป็นไปได้ตามทรัพยากรที่มีอยู่ของโรงเรียน (เวลา พื้นที่ ครู และวัสดุ)  และดำเนินการได้ต่อเนื่องยั่งยืน   ทั้งนี้ ไม่ต้องการทรัพยากรใดๆ เพิ่ม   แต่ต้องมีการจัดการทรัพยากรเหล่านั้นแตกต่างไปจากเดิม  นี่คือโอกาสสร้างนวัตกรรมในการจัดการทรัพยากรของโรงเรียน

Effective  ระบบช่วยเหลือต้องใช้ได้ผลตั้งแต่เริ่มเปิดเทอม   มีเกณฑ์เริ่มเข้าระบบและออกจากระบบที่ยืดหยุ่นเพื่อให้เหมาะสมสำหรับช่วยเหลือนักเรียนที่แตกต่างกัน   เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่ได้ผลดีแก่นักเรียนทุกคน

Essential   ระบบช่วยเหลือต้องทำแบบโฟกัสที่ประเด็นเรียนรู้สำคัญตาม Learning Outcome ที่กำหนดโดยการทดสอบทั้งแบบ formative และ summative

Directive  ระบบช่วยเหลือต้องเป็นการบังคับ   ไม่ใช่เปิดให้นักเรียนสมัครใจ  ดำเนินการในเวลาเรียนตามปกติ  และครูหรือพ่อแม่ไม่มีสิทธิ์ขอยกเว้นให้แก่นักเรียนคนใด

ตัวอย่างของโรงเรียนในสหรัฐอเมริกาที่สร้างระบบช่วยเหลือขึ้นใช้อย่างได้ผล ค้นได้ที่ www.allthingsplc.info เลือกที่หัวข้อ Evidence and Effectiveness

หัวใจคือ โรงเรียนต้องตั้งเป้าหรือความคาดหวังต่อผลการเรียนของนักเรียนไว้สูง   และสร้างบรรยากาศที่ทุกคนในโรงเรียนมีเป้าหมายนั้นร่วมกัน   มีปณิธานอันแรงกล้าที่จะช่วยกันทำให้บรรลุเป้าหมาย   และหมั่นตรวจสอบการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนว่าดำเนินไปตามเป้าหมายเป็นระยะๆ หรือไม่   นักเรียนคนใดเริ่มล้าหลัง ระบบช่วยเหลือจะเข้าไปทันที   เข้าไปด้วยท่าทีของการช่วยกัน โดยมีเป้าหมายให้กลับมาเรียนทันได้อีก

มีผลการวิจัยมากมายที่บอกว่าหากต้องการให้นักเรียนทุกคนเรียนสำเร็จ ต้องมีระบบช่วยเหลือนักเรียนบางคนที่ต้องการความช่วยเหลือบางเรื่อง ในบางเวลา   โดยระบบช่วยเหลือนั้นต้องดำเนินการอย่างเป็นทางการโดยโรงเรียน บริหารโดยโรงเรียน  โดยพ่อแม่และชุมชนต้องเข้ามาช่วย   กล่าวอีกนัยหนึ่งโรงเรียนทุกโรงเรียนต้องออกแบบระบบตรวจสอบหาเด็กที่เริ่มเรียนล้าหลังหรือไม่สนใจเรียน  และมีกระบวนการช่วยเหลือให้เขากลับมาเข้ากลุ่มเรียนทันเพื่อนได้อีก   โดยมีการออกแบบวิธีการช่วยเหลือที่ยืดหยุ่น ปรับให้เหมาะสมต่อแต่ละกรณีได้   การดำเนินการทั้งหมดนั้นทำโดย PLC  และมีการตรวจสอบทบทวนปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ  โดยกระบวนการ PLC

ผมขอเพิ่มเติมว่า ในสังคมไทยต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง   อย่าให้เด็กรู้สึกว่าถูกลงโทษ   อย่าให้เด็กหรือพ่อแม่เสียหน้า   ต้องสร้างบรรยากาศว่าการเรียนล้าในบางวิชา ในบางช่วงเป็นเรื่องธรรมดา   แต่ต้องมีการแก้ไข เพื่อไม่ให้ปัญหานั้นลุกลามก่อผลร้ายต่อตัวนักเรียนคนนั้นเอง กลายเป็นคนที่ล้มเหลวต่อการเรียนในที่สุด   ซึ่งอาจมีผลต่อชีวิตมากมาย

โรงเรียนต้องตั้งเป้าหมายไว้ว่า นักเรียนปกติทุกคนสามารถบรรลุ Learning Outcome ที่กำหนด ได้ตามเวลาที่กำหนด  และเป็นหน้าที่ของทุกคนในโรงเรียน (และที่บ้าน) ที่จะช่วยกันสนับสนุนให้เป้าหมายนี้บรรลุผล

การดำเนินการนี้เป็นของใหม่   ย่อมมีปัญหาอุปสรรคมากมาย  และจะมีคนคัดค้านหรือมีข้ออ้างต่างๆ นาๆ   เพราะยึดมั่นถือมั่นอยู่กับกระบวนทัศน์เดิม ความเคยชินเดิมๆ   และครูบางคนก็ไม่ขยัน ไม่อดทน ไม่ต้องการเรียนรู้   แต่หากต้องการให้นักเรียนบรรลุผลสำเร็จตาม Learning Outcome ของ 21st Century Skills ไม่มีทางเลือกอื่น   ต้องใช้ PLC ดำเนินการ

อย่าลืมว่า PLC มีอุดมการณ์ที่การเรียนรู้ของครูโดยการรวมตัวกันทำสิ่งที่ยากหรือท้าทาย   การกำหนด essential learning แก่ศิษย์   การวัดความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของศิษย์เป็นรายคนตาม Learning Outcome ที่ร่วมกันกำหนด   และดำเนินการช่วยนักเรียนที่เรียนล้าหลังให้กลับมาเรียนทันกลุ่ม   เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น   จึงเป็นประเด็นสำคัญยิ่ง เป็นหัวใจของสาระของการเรียนรู้จากการลงมือทำ ใน PLC

 

วิจารณ์ พานิช
๑๐ ส.ค. ๕๔

 

บันเทิงชีวิตครูสู่ชุมชนการเรียนรู้ (๗) เน้นที่ผลลัพธ์ ไม่ใช่แผนยุทธศาสตร์

พิมพ์ PDF

บันทึกชุดนี้ ถอดความมาจากหนังสือ Learning by Doing : A Handbook for Professional Learning Communities at Work. 2nd Ed, 2010 เขียนโดย Richard DuFour, Rebecca DuFour, Robert Eaker, Thomas Many

ตอนที่ ๗ นี้จับความจาก Chapter 6 : Creating a Results Orientation in a Professional Learning Community

ข้อความในบทที่ ๖ ของหนังสือ เน้นสื่อต่อครูใหญ่และผู้บริหารเขตการศึกษา   ให้เป็นพี่เลี้ยงหรือ facilitator ต่อทีม PLC ที่ไม่พาทีม PLC หลงทาง   คือไปหมกมุ่นอยู่กับแผนยุทธศาสตร์   หรือมุ่งสนองแผนยุทธศาสตร์ของโรงเรียนและ/หรือเขตการศึกษา   จนหมดแรงหรือไปไม่ถึง “ของจริง” หรือเป้าหมายที่แท้จริง คือผลการเรียนของนักเรียน

ระหว่างอ่านบทนี้ ผมบันทึกข้อสรุปเหล่านี้ไว้


- แผนยุทธศาสตร์ของ รร. ไม่นำสู่การปฏิบัติที่มุ่งผล CQI ของ Learning Outcome

- ครูทำงานในสภาพ goal overload เพราะมีคำสั่งให้ทำตามมากมาย   จนไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนแท้จริง

- มีคำไพเราะ คำโตๆ เช่น SMART goals จนครูมัวหลงอยู่กับการตีความและปฏิบัติ ตามคำเต็มของตัวย่อ SMART  และไปไม่ถึงเป้าหมายผลการเรียนรู้ของศิษย์

- ผมเริ่มเข้าใจว่าน่าสงสารครู ที่มีเรื่องราวต่างๆ มากมายเข้ามากั้นขวางระหว่างครูกับ ศิษย์   มาเบี่ยงเบนความสนใจหรือโฟกัสออกไปจากตัวนักเรียน   สิ่งเบี่ยงเบนเหล่านั้นส่วนใหญ่ คงจะมากับความตั้งใจดี มาในนามของโครงการพัฒนาการศึกษา   แต่อนิจจา ความตั้งใจดีนั้น กลับก่อผลร้ายต่อนักเรียน เพราะมันเบี่ยงเบนความเอาใจใส่ของครูไปที่ ตัวแทน (proxy)  ไม่ใช่ที่ตัวนักเรียน

- เน้นที่ผลลัพธ์ ไม่ใช่หยุดอยู่ที่กิจกรรม   ผลลัพธ์คือผลการเรียนของนักเรียน และกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน   ไม่ใช่กระบวนการสอนของครู

แทนที่จะเน้นที่แผนยุทธศาสตร์   ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้แนะนำให้เน้นการร่วมกันกำหนดเป้าหมายของผลลัพธ์   ที่เป็นเป้าหมาย ๒ ระดับ  คือเป้าหมายที่ต้องบรรลุให้ได้  กับเป้าหมายท้าทาย ที่ยากแต่ยิ่งใหญ่กว่า หรือคล้ายๆ ยากเกินไป   ที่จะช่วยกระตุ้นการลงมือทดลองของคน บางกลุ่มหรือบางโรงเรียนที่ชอบความท้าทาย   พึงระวังว่าเป้าหมายที่กล่าวถึงนี้ไม่ใช่ ข้อความระบุพันธกิจ (mission statement)   แต่เป็นเป้าหมายสั้นๆ ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ไม่ต้องตีความ   เช่น เป้าหมาย “จะส่งคนไปเหยียบพื้นดวงจันทร์ใน ๑๐ ปี” ของอดีตประธานาธิบดีเคนเนดี้

เป้าหมายนี้จะช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการต่อสู้ และชัยชนะอย่างเป็นขั้นตอน  ช่วยสร้างขวัญกำลังใจ   ที่จะกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ กระตุ้นทีมสปิริต   โดยผู้บริหารต้อง รู้จักหยิบเอาชัยชนะเล็กๆ ตามเป้า หรือที่แสดงว่ากำลังเดินทางใกล้เป้าหมายเข้าไปเรื่อยๆ เอามาเฉลิมฉลองเพื่อสร้างกำลังใจและความมุ่งมั่นของทีม PLC

ผมตั้งชื่อตอนที่ ๖ นี้ว่า “มุ่งที่ผลลัพธ์ ไม่ใช่ที่ยุทธศาสตร์”  เพราะผู้เขียนหนังสือ เล่มนี้อ้างถึงผลการวิจัย (ในสหรัฐอเมริกา) ว่าการมีแผนยุทธศาสตร์ที่ดี ไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ (ผลการเรียนของนักเรียน) ที่ดี

ผลการวิจัยนี้บอกเราว่า ในวงการศึกษามีสมมติฐานที่สมเหตุสมผลตามสามัญสำนึก มากมายที่ความเป็นจริงไม่เป็นไปตามสมมติฐาน เช่นกรณีแผนยุทธศาสตร์กับผลการเรียน   อีกตัวอย่างหนึ่งคือปริญญาของครู กับผลการเรียน (หลักฐานอยู่ในหนังสือ Visible Learning : A Synthesis of Over 800 Meta-Analyses Relating to Achievement)    คำอธิบายของผม คือ สมมติฐานนั้นมันมีหลายขั้นตอนไปสู่ผลลัพธ์   และในทางปฏิบัติคนในวงการศึกษามัก ดำเนินการที่ขั้นตอนต้นๆ ที่ตนเคยชิน   ไปไม่ถึงขั้นตอนหลักที่จะก่อผลต่อ learning outcome ของนักเรียน เพราะเป็นส่วนที่ตนไม่สันทัด ไม่เคยชิน

ที่จริงไม่ว่าวงการไหนๆ ต่างก็ตกอยู่ใต้มายาของ proxy หรือตัวแทนทั้งสิ้น   ตัวแทน เหล่านี้เข้ามาสอดแทรกตัว ทำให้เราหมกมุ่นอยู่กับตัวแทน จึงไปไม่ถึงตัวจริง  ซึ่งในกรณีนี้คือ ผลการเรียนของนักเรียน   ในชีวิตจริงเรายุ่งอยู่กับเปลือกของความสุข จึงไปไม่ถึงแก่นของ ความสุข   เรายุ่งอยู่กับพิธีกรรมในศาสนา จนเข้าไม่ถึงแก่นของศาสนา เป็นต้น

ทำให้ผมย้อนกลับไปคิดถึงหลักของการตั้งเป้าว่า KISS ซึ่งย่อมาจาก Keep It Simple and Stupid  อย่าหลงตั้งเป้าเพื่อแสดงภูมิปัญญาที่ยอกย้อนเข้าใจยาก 
ก่อนตั้งเป้าของโรงเรียน/เขตพื้นที่การศึกษา ต้องรู้ว่าขณะนี้ตนเองอยู่ตรงไหน ในคุณภาพของผลลัพธ์ทางการเรียนของนักเรียน   แล้วตั้งเป้าหมายทั้ง ๒ ระดับ คือเป้าหมายที่ต้องบรรลุ กับเป้าหมายท้าทาย   แล้ว PLC แต่ละทีมเอาไปตั้งเป้าของทีม โดยมีเป้าหมายทั้ง ๒ ระดับเช่นเดียวกัน   และเสนอเป้าของทีมให้ครูใหญ่รับทราบและเห็นชอบ  เพื่อครูใหญ่จะได้หาทาง empower ให้บรรลุเป้าให้จงได้

การตั้งเป้าที่ดี และการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้า ต้องมีข้อมูลที่ดี ที่ทันกาล สำหรับนำมาใช้ประโยชน์   ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนที่ ๘

 

วิจารณ์ พานิช
๑๔ ส.ค. ๕๔

 


หน้า 508 จาก 556
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5585
Content : 3038
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8559595

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า