Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

บันเทิงชีวิตครูสู่ชุมชนการเรียนรู้ (๙) ประยุกต์ใช้ PLC ทั่วทั้งเขตพื้นที่การศึกษา

พิมพ์ PDF

บันทึกชุดนี้ ถอดความมาจากหนังสือ Learning by Doing : A Handbook for Professional Learning Communities at Work. 2nd Ed, 2010 เขียนโดย Richard DuFour, Rebecca DuFour, Robert Eaker, Thomas Many

ตอนที่ ๙ นี้จับความจาก Chapter 8 : Implementing the PLC Process Districtwide

ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาท่านหนึ่ง (ในสหรัฐอเมริกา) มีศรัทธาสูงยิ่งใน PLC ว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาในเขตพื้นที่ได้   โดยต้องลงมือทำในทุกโรงเรียน   จึงเริ่มด้วยการให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อขออนุมัตินโยบายและงบประมาณเพื่อฝึกอบรมครูใหญ่ทุกคนของโรงเรียน ๑๕๐ โรงเรียนในเขต รวมทั้งฝึกอบรมครูแกนนำจากทุกโรงเรียน   งบประมาณนี้รวมทั้งค่าจ้างครู ๔,๕๐๐ คนมาสอนแทนระหว่างที่ครูเข้ารับการอบรมเรื่อง PLC

ผอ. เขตฯ มีผู้ช่วย ๕ คน   จึงมอบหมายให้ผู้ช่วยฯ ดูแลการดำเนินการ PLC คนละ ๓๐ โรงเรียน

ผู้ช่วยฯ ๒ คนเอาจริงเอาจังมาก   เข้าร่วมการอบรมกับครูใหญ่ทุกครั้ง   และช่วงพักเที่ยงทุกวันของการอบรมก็ใช้เวลากินอาหารเที่ยงร่วมกับครูใหญ่ เพื่อสอบทานความเข้าใจให้ตรงกัน ว่าลำดับความสำคัญอยู่ตรงไหน   ตัวชี้วัดความก้าวหน้าสำหรับผู้บริหารใช้ติดตามผล PLC คืออะไร   และหลังจากนั้นในการประชุมครูใหญ่ทุกครั้ง จะใช้เวลาทำความเข้าใจและตอบปัญหาการดำเนินการ PLC เป็นหลัก

ผู้ช่วยฯ อีก ๒ คน มีความเชื่อว่า เป็นความรับผิดชอบของครูใหญ่ที่จะดำเนินการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาของนักเรียน   ผู้ช่วยฯ มีหน้าที่ส่งเสริมให้ครูใหญ่และครูได้มีโอกาสรู้จักหลักการและแนวคิดใหม่ๆ   แต่ตนเองไม่ควรดำเนินการแบบ top-down   ผู้ช่วยฯ สองท่านนี้แจ้งให้ครูใหญ่และครูแกนนำเข้ารับการอบรม   โดยที่ผู้ช่วยฯ เข้าบ้างเป็นครั้งคราว   และปล่อยให้ครูใหญ่ดำเนินการประยุต์ใช้ PLC เองอย่างอิสระ

ผู้ช่วยฯ ท่านสุดท้าย เพียงแต่แจ้งครูใหญ่ว่ามีโควตาให้ส่งคนไปรับการอบรมกี่คน เมื่อไร เท่านั้น   ไม่สื่อสารอย่างอื่นเลย  และในวันอบรมตนเองก็ไม่เคยไปร่วมแม้แต่ครั้งเดียว   และพบว่าครูใหญ่บางคนส่งครูหมุนเวียนกันเข้ารับการอบรม  ทำให้ความรู้ความเข้าใจของครูแกนนำต่อ PLC ไม่ต่อเนื่อง   คือไม่เข้าใจนั่นเอง

หลังดำเนินการ PLC ไปได้ ๒ ปี พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนในเขตแตกต่างกันมาก   ในบางโรงเรียนนักเรียนมีผลการเรียนดีมาก และครูเกิดความกระตือรือร้น ทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างดี  นักเรียนบางคนที่เรียนล้าหลังได้รับการช่วยเหลือจากทีมครู   โดยครูไม่ต้องทำงานนอกเวลางานปกติ   แต่มีบางโรงเรียนแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมเลย

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ผู้บริหารมีความสำคัญต่อการประยุกต์ใช้ PLC  โดยผู้บริหารต้องรู้ว่าบทบาทของตนคืออะไรบ้าง

บทบาทของผู้บริหาร (ผอ. เขตฯ)

• สร้าง shared knowledge ในหมู่กรรมการของเขตพื้นที่การศึกษา และครูใหญ่โดยการแจกบทความ หนังสือ พาไปดูงาน และการปรึกษาหารือแบบสานเสวนา (dialogue)


• ดำเนินการให้คณะกรรมการเขตฯ มีมติกำหนดเป็นนโยบายให้ใช้ PLC เป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพของ learning outcome ในทุกโรงเรียน   รวมทั้งกำหนดงบประมาณสนับสนุน


• สร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบ “loose and tight”   คือประกาศอย่างแน่วแน่ชัดเจน (tight) ว่าทุกโรงเรียนต้องทำหน้าที่เป็น PLC   จัดการฝึกอบรมครูแกนนำของแต่ละโรงเรียนให้เข้าใจหลักการและวิธีดำเนินการ  แต่เปิดโอกาสให้แต่ละโรงเรียนมีความยืดหยุ่นที่จะใช้ความสร้างสรรค์ของทีมครูในการดำเนินการ (loose)


• จัด workshop ให้ครูใหญ่และครูแกนนำทุกคนสานเสวนากันในประเด็นต่อไปนี้  (๑) เรื่องสำคัญสุดยอดของเราคืออะไร (learning outcome ของนักเรียนดีขึ้นอย่างน่าพอใจ)  (๒) สภาพที่ต้องการเห็นในแต่ละโรงเรียนเป็นอย่างไร  (๓) ต้องทำอย่างไรบ้างแก่คนทั้งโรงเรียนเพื่อให้บรรลุสภาพตามข้อ ๒  (๔) จะใช้ตัวชี้วัดอะไรสำหรับติดตามความก้าวหน้า  (๕) การดำเนินการ และพฤติกรรมของผู้นำแบบใดบ้างที่เป็นตัวขัดขวางเป้าหมายตามข้อ ๑
• ตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่านี่คือการจัดการการเปลี่ยนแปลง (เข็นครกขึ้นภูเขา) จึงต้องเอาใจใส่รายละเอียดทุกขั้นตอน ที่จะไม่ให้แรงต้านการเปลี่ยนแปลง (ทั้งจงใจและโดยไม่รู้ตัว) เข้ามาเป็นอุปสรรค  ฝ่ายเขตพื้นที่การศึกษา ครูใหญ่ และครูแกนนำ จึงต้องร่วมกันประกาศว่า สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นในทุกโรงเรียนคือ (๑) มีการจัดครูทำงานร่วมมือกัน  (๒) แต่ละทีมจัดการเรียนรู้ให้ศิษย์ทุกคนได้เรียนรู้ “ความรู้และทักษะที่จำเป็น” (essential knowledge and skills)  ไม่ว่านักเรียนคนนั้นจะมีใครเป็นครูประจำชั้น   ซึ่งหมายความว่าครูในทีมรับผิดชอบการเรียนรู้ของนักเรียนร่วมกัน  และร่วมกันกำหนด “ความรู้และทักษะที่จำเป็น” ที่จะร่วมกันจัดให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน  (๓) แต่ละทีมร่วมกันกำหนดรายละเอียดของ formative assessment ทีจะใช้เป็นเครื่องมือติดตามความก้าวหน้าของการเรียน   สำหรับนำมาใช้ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน   โดยมีหลักว่าต้องประเมินบ่อยๆ  (๔) กำหนดให้มีแผนอย่างเป็นระบบของทั้งโรงเรียน สำหรับช่วยให้นักเรียนที่เรียนอ่อนหรือตามไม่ทัน เรียนสำเร็จตามกำหนด
ข้อกำหนดทั้ง ๔ นี้เป็นหลักการที่กำหนดอย่างชัดเจนว่าต้องมี (tight)  แต่วิธีการดำเนินการนั้นปล่อยให้แต่ละโรงเรียนใช้ความสร้างสรรค์ของตนเอง (loose)


• ไม่นำเอาโครงการอื่นๆ มาให้โรงเรียนหรือครูดำเนินการ   เพื่อให้โรงเรียนและครูมีโอกาสทุ่มเทความคิดความเอาใจใส่ต่อ PLC ได้เต็มที่  เพื่อให้ PLC ค่อยๆ กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ขับเคลื่อนคุณภาพของผลผลิตของโรงเรียน   และสร้างสรรค์ให้โรงเรียนเป็น happy workplace ทั้งต่อนักเรียน ครู และผู้บริหาร   ดำเนินการต่อเนื่องยั่งยืนเป็นวงจรไม่รู้จบ   ซึ่งก็คือโรงเรียนพัฒนาขึ้นเป็น Learning Organization หรือองค์กรเรียนรู้นั่นเอง

• สร้างพลังศักยภาพ (empower) แก่ครูใหญ่ ให้เป็นผู้นำการพัฒนา PLC ได้อย่างแท้จริง โดย
- ให้ได้เข้าฟังการประชุม เข้า workshop จนเข้าใจ PLC ในระดับที่ลึกซึ้ง 
- ไปดูงานโรงเรียนที่ระบบ PLC ดำเนินการได้ผลดีมาก
- จัดให้มี PLC ของครูใหญ่ในเขตพื้นที่ 
- จัดสรรทรัพยากรให้
- เปลี่ยนการประชุมประจำเดือนครูใหญ่ของเขตฯ เป็นการประชุม PLC ของครูใหญ่   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นเวที ลปรร. ข้อมูลจากการประเมินความก้าวหน้าของแต่ละโรงเรียน
- ประเมินความก้าวหน้า
- จัดให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็น PLC   ตนเองต้องทำด้วยจึงจะเข้าใจ PLC ในมิติที่ลึก จนสามารถหนุน PLC ในโรงเรียนได้อย่างถูกต้อง
- ต้องเข้าใจว่ากำลังขับเคลื่อนให้โรงเรียนเป็น Learning Organization  ดังนั้นต้องไม่ทำ micromanage แก่โรงเรียน  ต้องใช้หลักการ tight - loose เพื่อให้ผู้บริหารโรงเรียนได้ฝึกความริเริ่มสร้างสรรค์   และบริหาร PLC ในโรงเรียนแบบ tight - loose เช่นเดียวกัน

• ร่วมกับ PLC ครูใหญ่ทำความเข้าใจขั้นตอนพัฒนาการของ PLC และร่วมกันออกแบบการประเมินความก้าวหน้าเป็นระยะๆ ตามขั้นตอนของพัฒนาการ ซึ่งมี ๕ ขั้นคือ  (๑) ขั้นก่อนเริ่ม  (๒) ขั้นเริ่ม ยังไม่ได้ critical mass ของครู  (๓) ขั้นดำเนินการ  มีครูจำนวนมากเข้าร่วม เป็นการแสดงความร่วมมือ แต่ยังไม่ถึงขั้นได้ใจ   ยังไม่มีความมั่นใจ  (๔) ขั้นพัฒนา เริ่มได้ใจครู เพราะเริ่มเห็นผล  ครูเปลี่ยนคำถามจาก “ทำไมต้องทำ”  เป็น “จะทำให้ได้ผลดียิ่งขึ้นได้อย่างไร”   (๕) ขั้นยั่งยืน วิธีการ PLC กลายเป็นงานประจำ ฝังอยู่ในวัฒนธรรมองค์กร 
ตัวชี้วัดเพื่อบอกว่า PLC ของเขตพื้นที่/โรงเรียน พัฒนาไปถึงขั้นใด ใช้ ๔ ตัวชี้วัดตามในตาราง

 

วิจารณ์ พานิช 
๑๔ ส.ค. ๕๔  ปรับปรุง ๒๐ ส.ค. ๕๔

 

การเรียนรู้อย่างมีพลัง โดย อาจารย์ วิจารณ์ พานิช

พิมพ์ PDF

บทที่ ๗ ของหนังสือ 21st Century Skills : Learning for Life in Our Times เป็นเรื่องการเรียนรู้อย่างมีพลัง   บทเรียนจากวิธีการที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผล หรือที่มาจากการวิจัย   ไม่ใช่คำกล่าวอย่างเลื่อนลอย

เครื่องมือของการเรียนรู้อย่างมีพลังคือ “จักรยานแห่งการเรียนรู้”  ซึ่งมีวงล้อประกอบด้วย ๔ ส่วนคือ Define, Plan, Do และ Review   วงล้อมี ๒ วง  วงหนึ่งเป้นของนักเรียน อีกวงหนึ่งเป็นของครู   หลักสำคัญคือนักเรียนกับครูต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน อย่างสอดคล้องเชื่อมโยงกัน

“จักรยาน” นี้ คือโมเดลการเรียนรู้แบบ PBL นั่นเอง   โดยจะมีชิ้นส่วนอื่นๆ มาประกอบเข้าเป็น “จักรยานแห่งการเรียนรู้แบบ PBL”  และจะต้องมี “พื้นถนน” ที่มี “ความลาดเอียง” เป็นส่วนประกอบของการเรียนรู้ ที่จะกล่าวถึงทีหลัง

หากจะให้การเรียนรู้มีพลัง จดจำไปจนวันตาย ต้องเรียนโดยการทำ project   เป็นการเรียนโดยลงมือทำ  ร่วมมือกันทำเป็นทีม  ในปัญหาที่อยู่ในชีวิตจริง

ในแต่ละชิ้นส่วน (Define, Plan, Do, Review) ของวงล้อ   มีการเรียนรู้เล็กๆ อยู่เต็มไปหมด หากครูโค้ชดี   การเรียนรู้เหล่านี้แหละที่ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีพลัง   แต่ตรงกันข้าม หากครูโค้ชไม่เป็น การเรียนรู้ก็จะตื้น ไม่เชื่อมโยง ไม่สนุก ไม่มีพลัง   แต่เราต้องไม่ลืมว่า การเรียนแบบนี้เป็นของใหม่ ไม่มีครูคนไหนโค้ชเป็น   จึงต้องทำไปเรียนรู้ไป   รวมทั้งมี “เครือข่ายเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์” เป็นตัวช่วยการ ลปรร. วิธีโค้ช

Define คือขั้นตอนการทำให้โครงการมีความชัดเจนร่วมกันในสมาชิกของทีมงาน ร่วมกับครูด้วย  ว่าคำถาม ปัญหา ประเด็น ความท้าทาย ของโครงการ คืออะไร   เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อะไร

ในทุกขั้นตอนที่เป็นชิ้นส่วนของวงล้อ สมาชิกของทีมจะระดมความคิด ถกเถียง โต้แย้ง กันอย่างกว้างขวางจริงจัง โดยมีข้อมูลสารสนเทศที่ค้นคว้ามายืนยันและมาทำความเข้าใจร่วมกัน   เพื่อให้ในที่สุดบรรลุข้อตกลงกันได้ว่าจะดำเนินการหรือลงมือทำอย่างไร   เพื่อให้บรรลุผลตามเงื่อนไขข้อจำกัดของทรัพยากร ซึ่งรวมทั้งเวลา

ครูเพื่อศิษย์ ผู้ทำหน้าที่โค้ช จะคอยให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ จุดประกาย เพื่อสร้างความพอเหมาะพอสมของโครงการ ไม่มีเป้าหมายที่ยากเกินกำลัง และไม่ง่ายเกินไปจนไม่เกิดการเรียนรู้จริงจัง

Plan คือการวางแผนการทำงานในโครงการ   ครูก็ต้องวางแผน กำหนดทางหนีทีไล่ในการทำหน้าที่โค้ช   รวมทั้งเตรียมเครื่องอำนวยความสะดวกในการทำโครงการของนักเรียน   และที่สำคัญ เตรียมคำถามไว้ถามทีมงานเพื่อกระตุ้นให้คิดถึงประเด็นสำคัญบางประเด็นที่นักเรียนมองข้าม   โดยถือหลักว่าครูต้องไม่เข้าไปช่วยเหลือจนทีมงานขาดโอกาสคิดเองแก้ปัญหาเอง   นักเรียนที่เป็นทีมงาน ก็ต้องวางแผนงานของตน แบ่งหน้าที่กัน รับผิดชอบ การประชุมพบปะระหว่างทีมงาน การแลกเปลี่ยนข้อค้นพบ  แลกเปลี่ยนคำถาม  แลกเปลี่ยนวิธีการ   ยิ่งทำความเข้าใจร่วมกันไว้ชัดเจนเพียงใด งานในขั้น Do ก็จะสะดวกเลื่อนไหลดีเพียงนั้น

แต่ในความเป็นจริง ในขั้นตอน Do คือการลงมือทำ จะพบปัญหาที่ไม่คาดคิดเสมอ  นักเรียนจึงจะได้เรียนรู้ทักษะในการแก้ปัญหา การประสานงาน การทำงานร่วมกันเป็นทีม การจัดการความขัดแย้ง ทักษะในการทำงานภายใต้ทรัพยากรจำกัด  ทักษะในการค้นหาความรู้เพิ่มเติม  ทักษะในการทำงานในสภาพที่ทีมงานมีความแตกต่างหลากหลาย  ทักษะการทำงานในสภาพกดดัน  ทักษะในการบันทึกผลงาน  ทักษะในการวิเคราะห์ผล และแลกเปลี่ยนข้อวิเคราะห์กับเพื่อนร่วมทีม เป็นต้น

ในขั้นตอน Do นี้ ครูเพื่อศิษย์จะได้มีโอกาสสังเกตทำความรู้จักและเข้าใจศิษย์เป็นรายคน และเรียนรู้หรือฝึกทำหน้าที่เป็น “วาทยากร” และโค้ช

ช่วงที่เกิดการเรียนรู้มากคือช่วง Review ที่ทั้งทีมนักเรียนจะทบทวนการเรียนรู้   ที่ไม่ใช่แค่ทบทวนว่าโครงการได้ผลตามความมุ่งหมายหรือไม่   แต่จะต้องเน้นทบทวนว่างานหรือกิจกรรม หรือพฤติกรรม แต่ละขั้นตอนได้ให้บทเรียนอะไรบ้าง   เอาทั้งขั้นตอนที่เป็นความสำเร็จและความล้มเหลวมาทำความเข้าใจ และกำหนดวิธีทำงานที่ถูกต้องเหมาะสม   รวมทั้งเอาเหตุการณ์ระทึกใจ หรือเหตุการณ์ที่ภาคภูมิใจ ประทับใจ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน   ขั้นตอนนี้เป็นการเรียนรู้แบบ reflection  หรือในภาษา KM เรียกว่า AAR (After Action Review)

ครูเพื่อศิษย์ต้องฝึกฝนตนเองให้เป็น AAR facilitator ที่เก่ง ทำให้ศิษย์เกิดการเรียนรู้มาก  และทำให้ศิษย์เชื่อมโยงทักษะการลงมือทำเข้ากับความรู้เชิงทฤษฎีได้   คือให้ศิษย์ได้เรียนรู้ทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีนั่นเอง

ขอย้ำอีกครั้งว่า ทักษะเหล่านี้ไม่มีใครทำเป็น   ครูเพื่อศิษย์ต้องเรียนรู้เอาเองจากการปฏิบัติ   แต่ก็เป็นทักษะที่ไม่ยากเกินไปที่จะเรียน   ผมเรียนเทคนิค AAR เมื่ออายุเลย ๖๐ แล้ว และพบว่าใช้ทีไรสนุกและประเทืองปัญญาทุกครั้ง

ที่จริงมีขั้นตอนที่ ๕ คือการนำเสนอ (Presentation) โครงการต่อชั้นเรียน  เป็นขั้นตอนที่ให้การเรียนรู้ทักษะอีกชุดหนึ่ง ต่อเนื่องกับขั้นตอน Review   เป็นขั้นตอนที่ทำให้เกิดการทบทวนขั้นตอนของงาน และการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น   เอามานำเสนอในรูปแบบที่เร้าใจ ให้อารมณ์ และให้ความรู้ (ปัญญา)   
ทีมงานของนักเรียนอาจสร้างนวัตกรรมในการนำเสนอก็ได้   โดยอาจเขียนเป็นรายงาน และนำเสนอเป็นการรายงานหน้าชั้นโดยมี PowerPoint ประกอบ  หรือจัดทำวีดิทัศน์นำเสนอ   หรือนำเสนอเป็นละคร เป็นต้น

หากให้น้ำหนักงาน Define, Plan, Do, Review รวมกันเท่ากับ 100  คะแนนน้ำหนักปริมาณงานของแต่ละส่วนจะไม่เท่ากัน   น้ำหนักส่วนใหญ่จะอยู่ที่ Do ทั้งนักเรียนและครู

จักรยานแห่งการเรียนรู้ไม่ได้มีเฉพาะล้อ ๒ ล้อ   ต้องมีโครงรถและที่นั่งสำหรับถีบจำนวนเท่ากับทีมงานและครูอีก ๑ คน  เป็นเครื่องบอกว่าต้องร่วมกัน “ถีบจักรยาน” (ทำงาน)   และต้องมีมือจับเป็นเครื่องมือให้จักรยานไปตรงทาง   มือจับข้างหนึ่งคือคำถาม (Questions)  อีกข้างหนึ่งคือปัญหา (Problems) ตามที่กล่าวแล้วในตอนที่ ๑๙

จักรยานแห่งการเรียนรู้มีห้ามล้อเป็นตัวจัดการความเร็วและเวลาของการเรียนรู้   และมีกระดิ่งเป็นสัญญาณเตือนบอกการประเมินผลของโครงการ และของการเรียนรู้

จักรยานแห่งการเรียนรู้จะไปสู่เป้าหมาย 21st Century Skills ได้ดี ต้องมีพื้นถนนที่ปูแน่นไปด้วยความร่วมมือของทีมงาน   และมีพื้นที่ลาดเอียงพอเหมาะ   พื้นที่ชันเกินไปเปรียบเสมือนคำถามและปัญหาที่ยากเกินไป เด็กเรียนอย่างมีความทุกข์   พื้นที่ลาดเกินไป เปรียบเสมือนคำถามและปัญหาที่ง่ายเกินไป ไม่ท้าทาย และไม่ได้ความรู้เพิ่ม

เรื่องการเรียนรู้โดยการทำงานโครงการนี้ มีต่อในตอนที่ ๒๓

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๒ ธ.ค. ๕๓

 

บันเทิงชีวิตครูสู่ชุมชนการเรียนรู้ (๑) กำเนิด และ อานิสงส์ ของ PLC

พิมพ์ PDF

บันทึกชุดนี้ ถอดความจากหนังสือ Learning by Doing : A Handbook for Professional Learning Communities at Work. 2nd Ed, 2010 เขียนโดย Richard DuFour, Rebecca DuFour, Robert Eaker, Thomas Many
ผมตั้งชื่อบันทึกชุดนี้ว่า “บันเทิงชีวิตครู...” เพราะเชื่อว่า “ครูเพื่อศิษย์” ทำหน้าที่ครูด้วยความบันเทิงใจ รักและสนุก ต่อการทำหน้าที่ครู ให้คุณค่าต่อการทำหน้าที่ครู แม้จะเหนื่อยและหนัก รวมทั้งหลายครั้งหนักใจ แต่ก็ไม่ท้อถอย โดยเชื้อไฟที่ช่วยให้แรงบันดาลใจไม่มอดคือ คุณค่าของความเป็นครู
ผมขอร่วมบูชาคุณค่าของความเป็นครู และครูเพื่อศิษย์ ด้วยบันทึกชุดนี้ ชุดก่อนๆ และชุดต่อๆ ไป ที่จะพากเพียรทำ เพื่อบูชาครู เป็นการลงเงิน ลงแรง (สมอง) และเวลา เพื่อร่วมสร้าง “บันเทิงชีวิตครู” โดยไม่หวังผลตอบแทนส่วนตัว หวังผลต่ออนาคตของบ้านเมืองเป็นหลัก
Richard DuFour เป็น “บิดาของ PLC” ตามหนังสือเล่มนี้เขาบอกว่าเขาเริ่มทำงานวิจัย พัฒนา และส่งเสริม PLC มาตั้งแต่ คศ. 1998 คือ พ.ศ. ๒๕๔๑ ก่อนผมทำงาน KM ๕ ปี คือผมทำงาน KM ปี พ.ศ. ๒๕๔๖
ที่จับ ๒ เรื่องนี้โยงเข้าหากันก็เพราะ PLC (Professional Learning Community) ก็คือ CoP (Community of Practice) ของครูนั่นเอง และ CoP คือรูปแบบหนึ่งของ KM
ตอนนี้ PLC แพร่ขยายไปทั่วสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศอื่นๆ ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาของประเทศ เช่นสิงคโปร์

 

หัวใจสำคัญที่สุดของ PLC คือมันเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตที่ดีของครู ในยุค ศตวรรษที่ ๒๑ ที่การเรียนรู้ในโรงเรียน (และมหาวิทยาลัย) ต้องเปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง โดยครูต้องเปลี่ยนบทบาทจาก “ครูสอน” (teacher) มาเป็น “ครูฝึก” (coach) หรือครูผู้อำนวยความสะดวกในการเรียน (learning facilitator) ห้องเรียนต้องเปลี่ยนจากห้องสอน (class room) มาเป็นห้องทำงาน (studio) เพราะในเวลาเรียนส่วนใหญ่ นักเรียนจะเรียนเป็นกลุ่ม โดยการทำงานร่วมกัน ที่เรียกว่าการเรียนแบบโครงงาน (Project-Based Learning)
การศึกษาต้องเปลี่ยนจากเน้นการสอน (ของครู) มาเป็นเน้นการเรียน (ของนักเรียน) การเรียนเปลี่ยนจากเน้นการเรียนของปัจเจก (Individual Learning) มาเป็นเรียนร่วมกันเป็นกลุ่ม (Team Learning) เปลี่ยนจากการเรียนแบบเน้นการแข่งขัน เป็นเน้นความร่วมมือหรือช่วยเหลือแบ่งปันกัน
ครูเปลี่ยนจากการบอกเนื้อหาสาระ มาเป็นทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความท้าทาย ความสนุก ในการเรียน ให้แก่ศิษย์ โดยเน้นออกแบบโครงงานให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกันลงมือทำ เพื่อเรียนรู้จากการลงมือทำ (Learning by Doing) เพื่อให้ได้เรียนรู้ฝึกฝนทักษะ 21st Century Skills แล้วครูชวนศิษย์ร่วมกันทำ reflection หรือ AAR เพื่อให้เกิดการเรียนรู้หรือทักษะที่ลึกและเชื่อมโยง รวมทั้งโยงประสบการณ์ตรงเข้ากับทฤษฎีที่มีคนเผยแพร่ไว้แล้ว ทำให้เกิดการเรียนรู้เชิงทฤษฎีจากการปฏิบัติ ไม่ใช่จากการฟังและท่องบ่น
หัวใจของการเปลี่ยนแปลงคือ เรียนรู้จากการลงมือทำ (Learning by Doing) เปลี่ยนจากเรียนรู้จากฟังครูสอน (Learning by Attending Lecture/Teaching)
ทั้งหมดนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนและวงการศึกษาโดยสิ้นเชิง เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับจิตสำนึก ระดับรากฐาน และระดับโครงสร้าง จึงต้องมี “การจัดการการเปลี่ยนแปลง” (Change Management) อย่างจริงจังและอย่างเป็นระบบ โดยต้องมีทั้งการจัดการแบบ Top-Down โดยระบบบริหาร (กระทรวงศึกษาธิการ) และแบบ Bottom-Up โดยครูช่วยกันแสดงบทบาท
มองจากมุมหนึ่ง PLC คือเครื่องมือสำหรับให้ครูรวมตัวกัน (เป็นชุมชน – community) ทำหน้าที่เป็น Change Agent ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระดับ “ปฏิรูป” การเรียนรู้ เป็นการปฏิรูปที่ “เกิดจากภายใน” คือครูร่วมกันดำเนินการ เพื่อให้การปฏิรูปการเรียนรู้ดำเนินคู่ขนาน และเสริมแรงกัน ทั้งจากภายในและจากภายนอก
PLC เป็นเครื่องมือให้ครูเป็น actor ผู้ลงมือกระทำ เป็น “ประธาน” เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่วงการศึกษา ไม่ใช่ปล่อยให้ครูเป็น “กรรม” (ผู้ถูกกระทำ) อยู่เรื่อยไป หรือเป็นเครื่องมือปลดปล่อยครู ออกจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ สู่ความสัมพันธ์แนวราบ เพื่อร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่การศึกษา รวมทั้งสร้างการรวมตัวกันของครู เพื่อทำงานสร้างสรรค์ ได้แก่ การเอาประสบการณ์การจัดการเรียนรู้แบบ PBL และนวัตกรรมอื่นๆ ที่ตนเองทดลอง เอามาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน เกิดการสร้างความรู้หรือยกระดับความรู้ในการทำหน้าที่ครู จากประสบการณ์ตรง และจากการเทียบเคียงกับทฤษฎีที่มีคนศึกษาและเผยแพร่ไว้
เป็นเครื่องมือ นำเอาเกียรติภูมิของครูกลับคืนมา โดยไม่รอให้ใครหยิบยื่นให้ แต่ทำโดยลงมือทำ ครูแต่ละคนลงมือศึกษา 21st Century Skills, 21st Century Learning, 21st Century Teaching, PBL, PLC แล้วลงมือทำ ทำแล้วทบทวนการเรียนรู้จากผลที่เกิด (reflection) เอง และร่วมกับเพื่อนครู เกิดเป็น “ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์” ซึ่งก็คือ PLC นั่นเอง
ผมมองว่า PLC คือเครื่องมือที่จะช่วยนำไปสู่การตั้งโจทย์และทำ “วิจัยในชั้นเรียน” ที่ทรงพลังสร้างสรรค์ จะช่วยการออกแบบวิธีวิทยาการวิจัย การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลผลการวิจัย และการสังเคราะห์ออกมาเป็นความรู้ใหม่ ที่เชื่อมโยงกับบริบทความเป็นจริงของสังคมไทย ของวงการศึกษาไทย คือจะเป็นผลการวิจัยในชั้นเรียนที่ไม่ใช่จำกัดอยู่เฉพาะข้อมูลในชั้นเรียนเท่านั้น แต่จะเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริงของผู้คน ที่เป็นบริบทของการเรียนรู้ของนักเรียน และการทำหน้าที่ครูด้วย
เอาเข้าจริง ผมเขียนตอนที่ ๑ นี้ โดยไม่ได้รวบรวมจากบทที่ ๑ ของหนังสือ Learning by Doing แต่เป็นการเขียนจากใจของผมเอง เพราะพอเริ่มต้น ความรู้สึกก็ไหลหลั่งถั่งโถม ให้ผมเขียนรวดเดียวออกมาเป็นบันทึกนี้
ตอนที่ ๒ จะถอดความจาก Chapter 1 : A Guide to Action for Professional Learning communities at Work
วิจารณ์ พานิช
๑๘ ก.ค. ๕๔


 

รื่นเริงบันเทิงใจไปกับการเรียนรู้ โดยอาจารย์วิจารณ์ พานิช

พิมพ์ PDF

ช่วงเดือนมกราคม ๒๕๕๖ ผมมีบรรยายเรื่องปฏิรูปการเรียนรู้หลายครั้ง  ประกอบกับกำลังอ่านและเขียน บล็อก จากหนังสือ How Learning Worksจึงมีโอกาสไตร่ตรองกับตัวเองหลายสิบรอบหรืออาจจะเป็นร้อยรอบทำให้คิดว่าตนเองพบวิธีเรียนแบบเรียนสนุกเรียนแล้วเกิดความสุขที่คนทุกคนบรรลุได้ไม่ว่าจะเกิดมามีสมองเป็นอย่างไร

เคล็ดลับคือต้องเรียนให้เกิด mastery learning ซึ่งหมายความว่าว่า เรียนให้รู้จริง

กล่าวในอุดมคติ เป้าหมายของการศึกษาคือ ให้คนไทยทุกคนบรรลุสภาพเรียนรู้แบบรู้จริง

ซึ่งจะทำให้ เป็นการเรียนรู้เจือความสุข  กระบวนการเรียนรู้ เป็นการบวนการสร้างความสุข  เป็นกระบวนการเสวยสันติสุข จากการเรียนรู้โดยการสร้างสรรค์ของตนเองอย่างต่อเนื่อง

กระบวนการเรียนรู้ จึงมีส่วนทำให้ชีวิตเลื่อนไหลไปอย่างเป็นอัตโนมัติ ที่ MihalyCsikszenmihalyiเรียกว่าเป็นสภาวะของflowเป็นสภาพของชีวิตที่ทั้งสุข ทั้งสร้างสรรค์

ที่เป็นเช่นนี้ได้ เพราะฝึกการเรียนมาถูกทาง  คือเรียนด้วยการสร้าง ไม่ใช่เรียนโดยการเสพหรือจากการรับถ่ายทอดความรู้

การเรียนแบบผิดทาง จึงเป็นการเรียนแบบปิดทาง ไม่มีโอกาสเข้าสู่วิถีการเรียนที่นำไปสู่สภาพ “รู้จริง” (mastery) ได้

เวลานี้ระบบการศึกษาไทยกำลังจัดการเรียนแบบ “ผิดทาง” และ “ปิดทาง” ให้แก่เด็กไทยและคนไทยทั้งชาติเราจึงต้องช่วยกัน “กู้ชาติ” ทางด้านการศึกษาเพื่อขจัดมิจฉาทิฐิออกไปจากการศึกษาไทยเข้าสู่มิติใหม่คือสัมมาทิฐิที่จะทำให้เด็กไทยทุกคนได้เรียนรู้ในแนวทาง “รู้จริง”  ซึ่งเป็นแนวทางแห่งความสุขควบคู่ไปกับการเรียนรู้

ผมย้ำคำว่า “เด็กไทยทุกคน” เพราะผมเชื่อเช่นนั้นจริงๆ  คือเชื่อว่า หากจัดการเรียนรู้ในแนวทางที่ถูกต้อง คือแนว mastery learning แล้ว เด็กไทยทุกคนจะบรรลุ the state of flow ในชีวิตได้

เท่ากับการศึกษาเป็นปัจจัยหนึ่งในการสร้าง Happy Life เป็น Happy Education / Happy Learning ซึ่งจะทำให้เด็กไทยทั้งหมดมีนิสัยสุข

วิจารณ์ พานิช

๑๐  ม.ค. ๕๖

 

บันเทิงชีวิตครูสู่ชุมชนการเรียนรู้ (๒) หักดิบความคิด

พิมพ์ PDF

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความมาจากหนังสือ Learning by Doing : A Handbook for Professional Learning Communities at Work. 2nd Ed, 2010 เขียนโดย Richard DuFour, Rebecca DuFour, Robert Eaker, Thomas Many

ตอนที่ ๒ นี้จับความจาก Chapter 1 : A Guide to Action for Professional Learning communities at Work

วงการศึกษาของเราเดินทางผิดมาช้านาน  โดยที่ทางถูกคือ คนเราเรียนรู้ได้ดีที่สุดโดยการลงมือทำ ขงจื๊อกล่าวว่า “ฉันได้ยิน แล้วก็ลืม  ฉันเห็น ฉันจึงจำได้   เมื่อฉันลงมือทำ ฉันจึงเข้าใจ”   หากจะให้ศิษย์เรียนรู้ได้จริง เรียนรู้อย่างลึก อย่างเชื่อมโยง ครูต้องหักดิบความเคยชินของตน เปลี่ยนจากสอนโดยการบอก เป็น ให้นักเรียนลงมือทำ   ครูเปลี่ยนบทบาทจากครูสอน ไปเป็นครูฝึก

นอกจากนั้น ในแนวทางใหม่นี้ เน้นเรียนโดยร่วมมือ มากกว่าแข่งขัน   และแข่งกับตัวเอง มากกว่าแข่งกับเพื่อน

บทบาทของครูที่เปลี่ยนไป  ที่จะต้องเน้นให้แก่ศิษย์ ได้แก่

เน้นให้ศิษย์เรียนรู้จากการลงมือทำ ใน PBL (Project-Based Learning)


ส่งเสริมแรงบันดาลใจ ให้กำลังใจ (reinforcement) ในการเรียนรู้


ส่งเสริมและสร้างสรรค์จินตนาการ

ส่งเสริมให้กล้าลอง ลงมือทำ


เป็นครูฝึก ใน PBL

ออกแบบ PBL


มีทักษะในการชวนศิษย์ทำ Reflection จากประสบการณ์ใน PBL


ชวนทำความเข้าใจคุณค่าของประสบการณ์จากแต่ละ PBL

PLC ไม่ใช่ ...


เพื่อให้เข้าใจ PLC อย่างแท้จริง   จึงควรทำความเข้าใจว่าสิ่งใดไม่ใช่ PLC   กิจกรรมแคบๆ ตื้นๆ สั้นๆ ต่อไปนี้ ไม่ใช่ PLC

o โครงการ (project)
o สิ่งที่ฝ่ายบริหารกำหนดให้ทำ


o สิ่งที่ทำ ๑ ปี หรือ ๒ ปี แล้วจบ


o สิ่งที่ซื้อบริการที่ปรึกษาให้ทำ


o การประชุม  (โรงเรียนใดอ้างว่ามี PLC จากการที่มีครูจำนวนหนึ่งนัดมาประชุมร่วมกันสม่ำเสมอ  แสดงว่ายังไม่รู้จัก PLC ของจริง   ซึ่งนอกจากการประชุมแล้ว ยังต้องมีองค์ประกอบสำคัญอื่นๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไป)


o การรวมตัวกันของครูกลุ่มหนึ่งในโรงเรียน   (PLC ที่แท้จริง ต้องเป็นความพยายามร่วมกันของทั้งโรงเรียน หรือทั้งเขตการศึกษา)


o การรวมกลุ่มกันเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครู  (PLC ที่แท้จริง ต้องเป็นกิจกรรมเพื่อเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของทั้งองค์กร หรือทั้งเขตการศึกษา


o สโมสร ลปรร. จากการอ่านหนังสือ (book club)

PLC คืออะไร

PLC คือกระบวนการต่อเนื่อง ที่ครูและนักการศึกษาทำงานร่วมกัน   ในวงจรของการร่วมกันตั้งคำถาม   และการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ   เพื่อบรรลุผลการเรียนรู้ที่ดีขึ้นของนักเรียน   โดยมีความเชื่อว่า หัวใจของการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนให้ดีขึ้น อยู่ที่การเรียนรู้ที่ฝังอยู่ในการทำงานของครูและนักการศึกษา

PLC เป็นกิจกรรมที่ซับซ้อน (complex)  มีหลากหลายองค์ประกอบ  จึงต้องนิยามจากหลายมุม   โดยมีแง่มุมที่สำคัญต่อไปนี้


- เน้นที่การเรียนรู้
- วัฒนธรรมร่วมมือเพื่อการเรียนรู้ของทุกคน ทุกฝ่าย
- ร่วมกันตั้งคำถามต่อวิธีการที่ดี และตั้งคำถามต่อสภาพปัจจุบัน
- เน้นการลงมือทำ
- มุ่งพัฒนาต่อเนื่อง
- เน้นที่ผล (หมายถึงผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของศิษย์)

ผมขอเสริมนิยาม PLC ตามความเข้าใจของผม ว่าหมายถึงการรวมตัวกันของครูในโรงเรียนหรือเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อ ลปรร. วิธีการจัดการเรียนรู้ให้ศิษย์เรียนรู้ได้ทักษะ 21st Century Skills   โดยที่ผู้บริหารโรงเรียน  คณะกรรมการโรงเรียน  ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารการศึกษาระดับประเทศ เข้าร่วมจัดระบบสนับสนุน   ให้เกิดการ ลปรร. ต่อเนื่อง   มีการพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของศิษย์อย่างต่อเนื่อง   เป็นวงจรไม่รู้จบ   ในภาษาของผม นี่คือ CQI (Continuous Quality Improvement) ในวงการศึกษา   หรืออาจเรียกว่าเป็น R2R ในวงการศึกษาก็ได้

PLC ที่แท้จริงต้องมีการทำอย่างเป็นระบบ  มีผู้เข้าร่วมขับเคลื่อนในหลากหลายบทบาท  โดยมีเป้าหมายพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของการเรียนของศิษย์

ทำไมเราไม่ลงมือทำสิ่งที่เรารู้


คำตอบคือ เพราะคนเรามีโรค "ช่องว่างระหว่างการรู้กับการลงมือทำ" (Knowing - Doing Gap)   บันทึกที่จับความจากหนังสือเล่มนี้ จะช่วยถมหรือเชื่อมต่อช่องว่างนี้ โดยเปลี่ยนโรงเรียนไปเป็น PLC เพื่อ

ช่วยให้นักการศึกษามีถ้อยคำที่เข้าใจตรงกันต่อกระบวนการหลักของ PLC   จริงๆ แล้วครูและนักการศึกษาใช้คำว่า professional learning communities, collaborative teams, goals, formative assessment, etc กันเกร่อ   ในความหมายที่แตกต่างกัน
หลักการหนึ่งของการบริหารการเปลี่ยนแปลง คือการมีถ้อยคำที่ใช้ร่วมในความหมายที่เข้าใจชัดเจนร่วมกัน   การเปลี่ยนโรงเรียนตามจารีตเดิมไปเป็น PLC จะต้องมีถ้อยคำเหล่านี้   ซึ่งจะปรากฎในตอนต่อๆ ไปของบันทึก   และค้นได้ที่เว็บไซต์ go.solution-tree.com/PLCbooks


ยืนยันให้ประจักษ์ว่าการใช้กระบวนการ PLC จะก่อประโยชน์ทั้งต่อนักเรียนและต่อครูและนักการศึกษา   คือทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึก กว้าง และเชื่อมโยง ทั้งต่อนักเรียนและต่อครู   ที่สำคัญยิ่งในความเห็นของผมก็คือ ช่วยเผยศักยภาพที่แท้จริงของปัจเจกออกมา ผ่านกระบวนการกลุ่ม


ช่วยครูและนักการศึกษาประเมินสถานการณ์จริงในโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาของตน   หลักการคือ ในการเปลี่ยนแปลงจากจุด ก ไปสู่จุด ข นั้น จะง่ายขึ้นหากผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนว่าจุด ข เป็นอย่างไร   และจุด ก ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เป็นอย่างไร   การจัดการการเปลี่ยนแปลงโดยทั่วไปมักมั่ว เพราะไม่มีความชัดเจนทั้งต่อจุด ก และจุด ข   บันทึกจากการตีความหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้สามารถทำความเข้าใจทั้งจุด ก และจุด ข ได้ชัดเจน ในเรื่องจารีต วัฒนธรรม กระบวนทัศน์ ฯลฯ ที่ครูและนักการศึกษาเคยชินอยู่กับมันจนละเลยหรือขาดความสามารถในการทำความชัดเจน   การดำเนินการตามคู่มือจะช่วยให้มองสภาพความเป็นจริงจากสายตาของคนนอก   ช่วยให้มองผ่านม่านบังตาได้


หาทางทำให้ครูและนักการศึกษาใช้หรือร่วมกิจกรรม PLC   หนังสือฉบับนี้เป็นคู่มือเพื่อการลงมือดำเนินการ   เป็นเครื่องมือเชื่อมความรู้กับการลงมือทำ   คำถามในเรื่องนี้ไม่ใช่ “จะหาความรู้ในเรื่องที่เราจะทำได้อย่างไร”   คำถามที่ถูกต้องคือ “จะลงมือทำในสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วได้อย่างไร”     โดยมีคู่มือดำเนินการค้นได้ที่ go.solution-tree.com/PLCbooks

ลงมือทำ


ประสบการณ์ของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ จากการทำงานร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ (ในสหรัฐอเมริกา) มานานกว่า ๑๐ ปี   เขตพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จสูงคือเขตที่ลงมือทำอย่างไม่รีรอ   ประสบความสำเร็จมากกว่าเขตที่มัวแต่ตระเตรียมความพร้อม

วิจารณ์ พานิช
๑๙ ก.ค. ๕๔




 


หน้า 511 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5614
Content : 3053
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8645973

facebook

Twitter


บทความเก่า