Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

สมการธุรกิจ

พิมพ์ PDF

สมการธุรกิจ

ทุน+การจัดการ=ลูกค้า+รายได้-ค่าใช้จ่าย (การจัดการ)

ทุน = ทรัพย์สิน+ต้นทุนการจัดการ

การจัดการ = บริหารธุรกิจ+บริหารคน (ต้นทุนในการจัดการ)

การจัดการ =บริหารทรัพย์สิน+บริหารคน (รายจ่ายในการจัดการ)

คน = ทรัพย์สินมีชีวิต

 

ทุน+การจัดการ=ลูกค้า+รายได้-ค่าใช้จ่าย (การจัดการ)

การทำธุรกิจต้องมีการลงทุนในเบื้องต้น ได้แก่การซื้อหรือจัดหาวัตถุดิบเพื่อนำมาทำธุรกิจ วัตถุดิบเหล่านี้เราเรียกว่าวัตถุดิบที่จับต้องได้หรือทรัพย์สินไม่มีชีวิต การทำธุรกิจเมื่อมีวัตถุดิบแล้วแต่ถ้าขาดการจัดการก็ไม่สามารถดำเนินการทางธุรกิจได้ (ต้นทุนการจัดการเป็นต้นทุนที่คิดยากและจับต้องไม่ได้ ประกอบด้วยหลายๆปัจจัย) นักลงทุนโดยทั่วไปไม่ได้นำต้นทุนการจัดการมาคิด จึงทำให้ผลการทำธุรกิจผิดเป้าหมายและไม่สามารถทำให้ธุรกิจนั้นเดินต่อไปได้ เพราะไม่ได้หาเงินทุนเตรียมไว้สำหรับการจัดการ โดยทั่วไปคิดว่าการจัดการเป็นรายจ่าย ดังนั้นเมื่อหาเงินมาลงทุนในวัตถุดิบเสร็จเรียบร้อยก็สามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ เมื่อเปิดดำเนินธุรกิจได้ก็จะมีรายได้เข้ามาหมุนเวียน และควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้เกินรายได้ ทำให้การจัดการไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เป็นเหตุทำให้ไม่สามารถหาลูกค้าและมีรายได้ตรงตามเป้าที่คาดการไว้

ทุนทรัพย์สิน+ต้นทุนการจัดการ ทำให้เกิด

การทำธุรกิจ แต่ก่อนจะทำธุรกิจจะต้องมีวางแผนการตลาด ได้แก่การกำหนด Position ของธุรกิจเราว่าจะอยู่จุดใดของตลาด โดยการวิเคราะห์ คู่แข่งเรามีใครบ้าง (ศึกษารายละเอียดของคู่แข่งและนำมาเปรียบเทียบกับของเรา) กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จำนวนส่วนแบ่งตลาด ต้นทุนการบริหารจัดการ ต้นทุนการผลิต ความคุ้มทุนของการทำธุรกิจ กำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย กำหนดราคาขายตาม segmentation ต่างๆ กำหนดช่องทางการเข้าถึงลูกค้าในแต่ละ segmentation กำหนดกลยุทธ์ในการสร้างรายได้ให้ได้ตามเป้าที่กำหนด ทั้งหมดนี้คือขบวนการของการทำแผนการตลาด เป็นจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ

 

 

การจัดการ = ธุรกิจ+คน (ต้นทุนในการจัดการ)

การจัดการในส่วนแรกนี้เป็นการจัดการในส่วนของเจ้าของ หรือผู้บริหารสูงสุด ต้องเป็นผู้กำหนดแผนธุรกิจ จัดหาเงินทุน บริหารการจัดการให้เป็นไปตามแผนธุรกิจที่วางไว้ โดยเริ่มตั้งแต่กำหนดผู้บริหารสูงสุด ได้แก่เจ้าของเป็นผู้บริหารสูงสุดเอง หรือจะจ้างมืออาชีพเข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุด หรืออาจจ้างบริษัทหรือกลุ่มใดเข้ามาบริหารโดยมีการทำสัญญาบริหาร ขอยกกรณีของเจ้าเลือกเป็นผู้บริหารสูงสุดเอง จัดหาผู้บริหารรองลงมาช่วยแบ่งเบาภาระในแต่ละส่วน ดังนั้นการทำธุรกิจจึงขึ้นอยู่ที่เจ้าของเป็นหลัก ผู้บริหารรองๆเป็นเพียงผู้ช่วยเท่านั้น ธุรกิจจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความชัดเจนของแผนธุรกิจ การกำกับดูแลการบริหารจัดการให้ได้ตามแผน สร้างความชัดเจนในสายงานการบริหาร จัดหาผู้บริหารระดับรองที่เหมาะสมกับภาระรับผิดชอบที่มอบหมาย บริการจัดการทรัพย์สินที่จับต้องได้ และทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ ( คน ) อย่างมีประสิทธิภาพ  กรณีตัวอย่างที่ยกมาเจ้าของสวมบทบาท 2 บทบาทในเวลาเดียวกัน จึงต้องรู้ตัวเองตลอดเวลาว่าในชั่วไหนเล่นบทบาทอะไร เพราะถ้าเล่นไม่ถูกบทในแต่ละชั่วเวลาและสถานการณ์บ่อยๆก็จะเกิดผลเสียตามมา

การจัดการ =ทรัพย์สิน+คน (รายจ่ายในการจัดการ)

การจัดการในส่วนนี้เป็นการจัดการของผู้บริหารระดับรองที่เจ้าของเลือกมาช่วย เจ้าของอาจจะคัดเลือกมาเพียงคนเดียวและให้เขารับผิดชอบในการบริหารจัดการในส่วนที่ท่านมอบหมายให้เขาทำ หรือเจ้าของอาจจะยังยึดการบริหารจัดการส่วนนี้ไว้เอง โดยเจ้าของคัดเลือกผู้ช่วยมาหลายๆคนและให้เขาทำงานตามที่เจ้าของสั่งให้เขาทำ การจัดการในส่วนนี้เป็นส่วนของการปฏิบัติการในการจัดการดูแลรักษาทรัพย์สินที่มีอยู่แล้ว นำมาใช้งานและบำรุงรักษาดูแล บริหารคนตั้งแต่การจ้าง อบรม พัฒนา และสร้างแรงจูงใจ ทำให้ได้คนที่มีคุณภาพสามารถทำงานให้ลุล่วงตามมาตรฐานของแผนตลาด (แผนธุรกิจ) ที่วาง Position ไว้ การจัดการด้านการหาลูกค้า และการทำรายได้ให้ได้ตามแผนการตลาด การบริหารในส่วนนี้ต้องเป็นการบริหารต้นทุนการบริหารให้อยู่ในงบที่ตั้งไว้หรือสามารถลดต้นทุนได้มากกว่าแต่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน การทำรายได้ก็จะต้องได้รายได้ตามเป้าหรือมากกว่า มาตรฐานของการจัดการจะต้องสมดุลกับจำนวนลูกค้าและรายได้ หากมาตรฐานการให้บริการต่ำก็จะเป็นตัวแปรที่ทำให้จำนวนลูกค้าและรายได้ต่ำไปด้วย แต่ถ้าการจัดการอยู่ในมาตรฐาน หรือสูงกว่าก็จะทำให้จำนวนลูกค้าและรายได้สูงขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าไม่ได้ผลตามที่กล่าวมาแสดงว่ามีการผิดพลาด ต้องไปหาสาเหตุและแก้ที่การบริหารจัดการในส่วนที่ผิดพลาดนั้น  แต่ถ้าไม่พบสาเหตุความผิดพลาดในการบริหารจัดการทั้งส่วนปฏิบัติการและส่วนหารายได้ ก็แสดงว่ามีตัวแปรอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นแผนตลาดผิดพลาด ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนใหม่ หรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการจะต้องดูตัวแปรจากภายนอก และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการบริหารจัดการที่ไม่กระทบกับแผนหลักของธุรกิจ ถ้าการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การบริหารจัดการจะไปกระทบแผนหลักก็จะต้องมีการทบทวน และวิเคราะห์อย่างละเอียด ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนแผนหลักธุรกิจ

 ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

29 สิงหาคม 2554

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 13 กันยายน 2011 เวลา 18:06 น.
 

แผนธุรกิจโรงแรม

พิมพ์ PDF

แผนธุรกิจโรงแรมจะต้องคำนึงถึงในทุกส่วนได้แก่

–                   การลงทุน (การลงทุนในการสร้างโรงแรม ระบบ และอุปกรณ์ต่างๆ การลงทุนประกอบด้วยการลงทุนในสิ่งที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้)

–                   การบริหารและการจัดการธุรกิจ (การบริหารและการจัดการที่ทำให้ธุรกิจอยู่ได้มีกำไรและมีความเจริญรุ่งเรื่องมากขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน)

–                   การบริหารและการจัดการคน ( เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจภาคบริการ คนเปรียบเหมือนกับเป็นวัตถุดิบของสินค้าถ้าการบริหารคนล้มเหลว สินค้าก็ไม่มีคุณค่า หรือมีคุณค่าต่ำกว่ามาตรฐาน ลูกค้าก็จะไม่มาใช้บริการ ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้)

ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจบริการประกอบด้วย

  • ให้บริการเช่าห้องพักสำหรับนักท่องเที่ยว และผู้เดินทาง ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
  • ให้บริการอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้ใช้บริการห้องพักและคนทั่วไปที่ไม่ได้ใช้บริการห้องพัก
  • ให้บริการอื่นๆที่เป็นการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่มาใช้บริการห้องพัก และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับโรงแรม
  • ส่วนประกอบของสินค้าหลักในการทำธุรกิจโรงแรมได้แก่
    วัตถุดิบสิ่งที่จับต้องได้ ได้แก่สถานที่ สิ่งก่อสร้าง อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการบริการลูกค้า ระบบภายนอกต่างๆ เช่นระบบการส่งน้ำ ระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้า เป็นต้น    ( ส่วนที่เป็นวัตถุภายนอก)
  • การบริหารจัดการธุรกิจ ได้แก่การจัดการเรื่องทรัพย์สิน และระบบการบริหารธุรกิจ ได้แก่ การก่อสร้าง การดูแลบำรุงรักษา การบริหารการจัดการเรื่องการเงิน การบริหารจัดการเรื่องการขาย การบริหารจัดการเรื่องการจัดซื้อเป็นต้น
  • การบริหารจัดการคน คือการบริหารจัดการเรื่องคน เริ่ม ตั้งแต่การว่าจ้าง การบริหารจัดการให้คนทำงาน การมอบหมายคนให้ทำงานที่เหมาะสมกับความสามารถ การพัฒนาและสร้างแรงจูงใจให้คนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สนุกและรักในงาน มีทัศนคติที่ดี และมีจรรยาบรรณ
  • แผนการทำธุรกิจ หรือ แผนการตลาดที่ดีจะต้องคำนึงถึงการลงทุนที่เหมาะสม คือลงทุนแล้วมีผู้มาใช้บริการและมีรายได้จากผู้ใช้บริการคุ้มกับการลงทุน ( วางกลุ่มเป้าหมายลูกค้าได้ถูกต้อง) ( Property Position + Customer Target)
  • การลงทุนประกอบด้วย ทรัพย์สิน+ต้นทุนการบริหารจัดการด้านธุรกิจ+ต้นทุนการบริหารจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์ (ก่อนเปิดดำเนินการทางธุรกิจ)
  • มีการแยกแยะอย่างชัดเจน ระหว่างการลงทุนหลังการเปิดดำเนินธุรกิจ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ
  • ต้องมีการเผื่อเหตุการณ์ภายนอกที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย
  • เป็นแผนที่รอบครอบ มีข้อมูล และความชัดเจน อิงสิ่งที่เป็นจริง อย่าเขียนตามความพอใจที่อยากจะให้เป็น
  • แผนธุรกิจ หรือแผนการตลาดเป็นการวางแผนก่อนที่จะลงทุนทำธุรกิจ
  • เมื่อทำธุรกิจแล้วจะต้องมาทบทวนว่าแผนที่วางไว้ส่วนไหนถูกต้อง ส่วนไหนควรแก้ไข ปรับปรุง สินค้าได้มาตรฐานตามที่กำหนดไว้ไหม ถ้าต่ำกว่ามาตรฐานต้องมาดูว่าส่วนไหน บกพร่อง เช่นห้องพักเก่าและมีปัญหาถูกลูกค้าต่อว่า ก็ต้องมาดูว่า โครงสร้างหมดสภาพหรือยัง หรืออยู่ที่การบริหารจัดการ และต้องแก้ให้ถูกต้อง
  • การจะปรับเปลี่ยนแผนการตลาดเป็นเรื่องที่ต้องมีการพิจารณาในทุกด้านไม่ใช่อยากจะเปลี่ยนก็เปลี่ยน

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

2 ธันวาคม 2553

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 12 ตุลาคม 2011 เวลา 18:30 น.
 

แผ่นดินที่ ๓

พิมพ์ PDF

แผ่นดินที่สาม 

 นายสมภพ จันทรประภา ประพันธ์

ในมหามงคลเฉลิมพระเกียรติวันพระบรมราชสมภพ ครบ ๒๐๐ ปี

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันอังคารที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐

 พระราชประวัติของพระนั่งเกล้านี้น่าสนใจอย่างยิ่ง เป็นเครื่องแสดงถึงน้ำใจของคนที่ปกครองคนเมื่อร้อยปีมานี้เอง

“เจ้าช่อมะกอก เจ้าดอกมะไฟ

เจ้าเห็นเขางาม เจ้าตามเขาไป

เขาทำเจ้ายับ เจ้ากลับมาไย

เจ้าสิ้นอาลัย เจ้าแล้วหรือเอย”

 ใครๆที่ชอบอ่านหนังสือเก่าๆ ได้เห็นกลอนข้างบนนี้ก็จะจำได้ทันทีว่าใครแต่ง เพราะนอกจากจะแต่งสะเทือนใจอย่างยิ่งแล้ว คนแต่งยังเป็นถึงพระราชาอีกด้วย ที่มาของกลอนบทนี้ก็มาจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ท่านจะล้อคุณพุ่ม พนักงานเชิญพระแสงของท่าน

 เรื่องมีอยู่ว่าคุณพุ่มคนนี้ เป็นลูกข้าหลวงเดิมของท่านที่ชื่อว่าภู่ ได้เป็นที่พระยาราชมนตรี คุณพุ่มเป็นคนมีความรู้ในทางอักษรศาสตร์ถึงแต่งโคลงกลอนได้ ซึ่งในสมัยนั้นหาผู้หญิงเก่งทางนี้ได้ยาก นอกจากจะแต่งโคลงกลอนเก่งแล้ว คุณพุ่มยังมีลักษณะที่เรียกว่า “เปรี้ยว” ด้วย ชายหนุ่มชั้นสูงจึงมาติดพันกันหลายคน จนได้สมญาว่า “บุษบาท่าเรือจ้าง” เพราะบ้านอยู่ที่ท่าเรือจ้าง แต่ชายหนุ่มที่ชนะใจคุณพุ่มนั้นก็เป็นผู้ชายที่ “เปรี้ยว” พอๆกัน คือพระปิ่นเกล้า พระนั่งเกล้าท่านรับสั่งว่า “ท่านฟ้าน้อย” “ท่านฟ้าน้อย”นี้เป็นพระอนุชาร่วมพระราชชนนีกับพระจอมเกล้าฯ ซึ่งพระนั่งเกล้าท่านรับสั่งเรียกว่า “ท่านฟ้าใหญ่”  

ทั้ง ๓พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระพุทธเลิศหล้าด้วยกัน พระนั่งเกล้าเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ แก่กว่าพระจอมเกล้า ๑๗ ปี แต่ประสูติมาแต่พระสนม ส่วนสองพระองค์นั้นเป็นเจ้าฟ้าเพราะประสูติแต่พระอัครมเหสี

 เมื่อพระนั่งเกล้าได้เสวยราชย์ คุณพุ่มได้เป็นนางเชิญพระแสง แต่มาแพ้ใจพระปิ่นเกล้า กราบถวายบังคมลาพระนั่งเกล้าไปอยู่กับพระปิ่นเกล้า อยู่ได้พักหนึ่งก็ต้องกลับเข้าวังหลวงไปเฝ้าพระนั่งเกล้าใหม่ ท่านจึงทรงกลอนบทนี้

 

พูดถึงพระนั่งเกล้า เมื่อเป็นเด็กๆ (ผู้ประพันธ์) ก็รู้แต่เพียงว่า ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี ครั้งโตขึ้นมาอ่าน “พระอภัย” รู้เรื่อง ได้รู้จักสุนทรภู่ เลยรู้ต่อไปว่าท่านเคยถูกสุนทรภู่อาการดังที่เรียกกันว่า “หักหน้า” ต่อหน้าพระที่นั่ง เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งเมื่อแต่งเรื่องสังข์ทอง พระนั่งเกล้า ฯ ทรงตอนท้าวสามลรำพึงว่า “จำจะคิดปลูกฝังเสียยังแล้ว ให้ลูกแก้วสมมาตรปรารถนา”

สุนทรภู่ทักขึ้นว่า ลูกปรารถนาอะไร เลยต้องแก้เป็น”ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา” ต่อมาอีกครั้งหนึ่ง เรื่องอิเหนา พระนั่งเกล้าฯทรงว่า “น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว ว่ายแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว”

คราวนี้ทรงให้สุนทรภู่ตรวจดูก่อน สุนทรภู่ก็ไม่ทักท้วงประการใด ครั้งนำเข้าสู่ที่ประชุมหน้าพระที่นั่ง สุนทรภู่ทักขึ้นว่า”ตัวอะไร” เลยต้องแก้เป็น “น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัวปลา ว่ายแหวกปทุมมาอยู่ไหวไหว”

แล้วมิได้คิดอะไร ต่อมาอ่านนิราศต่างๆของสุนทรภู่จับใจ เลยพาลไปไม่ชอบพระนั่งเกล้าฯ เพราะรู้สึกว่าท่านคงดุ และคงพยาบาทคน ข่มเหงคน คนเก่งๆอย่างสุนทรภู่ ก็ไม่ทรงเลี้ยง เพราะสุนทรภู่ช่างพรรณนานัก

“สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ ต้องเที่ยวเตร็ดเตร่หาที่อาศัย” หรือว่า “อนิจจากายเราก็เท่านี้ ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย” หรือว่า “สิ้นแผ่นดินสิ้นกลิ่นสุคนธา วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์” หรือว่า “สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทร ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม”

อยู่ต่อมาได้อ่านหนังสือมากขึ้นได้ความรู้ว่าในเวลาที่สุนทรภู่แสดงอาการ”ไม่สวย”ต่อพระนั่งเกล้านั้น พระนั่งเกล้าท่านไม่ใช่เจ้าเล็กเจ้าน้อยที่เดียว อำนาจก็มี เงินก็มี พวกก็มีมาก และพระพุทธเลิศหล้าก็โปรดด้วย เลยเกิดความสงสัยว่า สุนทรภู่เอาอะไรมาเก่งกับท่าน ความรู้ที่ได้จากหนังสือต่างๆนั้น ทำให้สันนิษฐานได้ว่า สุนทรภู่นั้นนอกจากพระพุทธเลิศหล้าจะโปรดแล้ว เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี คงจะโปรดด้วย และสุนทรภู่คงจะฝักใฝ่อยู่ในกรมหลวงพิทักษ์มนตรี เพราะกรมหลวงพิทักษ์มนตรีนี้ นอกจากจะกล่าวกันว่ามีอำนาจถึงเป็นผู้สำเร็จราชการแล้ว ยังทรงมีความสามารถในกระบวนฟ้อนรำอีกด้วย ท่ารำสวยๆของละครทุกวันนี้มาจากเจ้าฟ้าพระองค์นี้ ทีนี้ท่ารำนั้นต้องให้ลงคำในกลอนด้วย แล้วกระบวนแต่งให้ลงคำก็ไม่มีใครเกินสุนทรภู่ อย่างตอนสีดาผูกคอตาย แต่งกันเท่าไร คนรำก็รำไม่ได้เพราะจะตายเอาจริงๆ สุนทรภู่แก้พริบตาเดียว ตรงบทหนุมานว่า “บัดนี้ วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมาย” ไม่มามัวตกอกตกใจ เอะอะวุ่นวายกว่าจะแก้

เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีนี้เป็นโอรสของสมเด็จพระพี่นางองค์น้อยของพระพุทธยอดฟ้า และเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์พระอัครมเหสี จึงมีศักดิ์เป็นน้าพระองค์ใหญ่ของพระจอมเกล้าและพระปิ่นเกล้า เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระพุทธเลิศหล้ามาก ทรงปรึกษาหารือราชการทั่วไปทุกอย่าง จนกล่าวกันว่าเป็นผู้สำเร็จราชการก็มี

ท่าว่าสุนทรภู่ฝักใฝ่ในเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีนี้มีเค้าเพราะเมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่จะกลับไปวังหลังอีกก็ย่อมจะทำได้ เพราะลูกเมียก็ยังอาศัยอยู่ในวังนั้น “เจ้าข้างใน” คือ พระชายาของกรมพระราชวังหลังก็ยังอยู่ กรมหลวงเสนีย์บริรักษ์พระโอรสของกรมพระราชวังหลังก็มีบุญอยู่ จะว่าสุนทรภู่ “ไม่เหยียบวังหลังอีก”ก็ไม่ใช่ลักษณะของสุนทรภู่ ซึ่งเป็นคนมีความกตัญญูสูง จะเห็นได้จากนิราศวัดเจ้าฟ้า แต่เป็นเพราะกรมหลวงเสนีย์บริรักษ์ท่านเป็น “น้ำหนึ่งใจเดียว” กันกับพระนั่งเกล้าฯมากกว่า สุนทรภู่จึงไม่เข้าหา และในตอนปลายสุนทรภู่ก็ไปพึ่งบุญพระปิ่นเกล้าฯ “ท่านฟ้าน้อย” แปลเอาว่าสุนทรภู่ฝักใฝ่อยู่ทางเจ้านายฝ่ายสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์พระอัครมเหสีอย่างมั่นคง ถึงแม้นตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์จะทรงห่างเหินไม่ขึ้นเฝ้าพระพุทธเลิศหล้า ไม่ดูแลเครื่องต้น จนพระพุทธเลิศหล้าเสวยอะไรไม่ได้อยู่พักหนึ่งเพราะสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ทรงมีฝีพระหัตถ์เป็นเยี่ยมในทาง”กับข้าว”

เท่าที่ปรากฏ พระนั่งเกล้าไม่เคยทรงทำอะไรสุนทรภู่จนนิดเดียว ไม่สนพระทัยเท่านั้น สุนทรภู่เที่ยวร้อนตัวไปรำพันไป จนคนต่อมาสงสารสุนทรพู่กันทั้งนั้น สุนทรภู่ “ขี้เมา” ก็ว่าเพราะ “ขี้เมา”จึงเขียนได้ดี สุนทรภู่ล่วงเกินญาติผู้ใหญ่ก็ว่าอย่างสมัยใหม่ว่า”อารมณ์ศิลปิน” เคยถามผู้เฒ่าผู้แก่ถึงพระนั่งเกล้า ก็จะตอบตรงกันหมดว่าท่านชอบสร้างวัด แล้วก็เท่านั้น ดูจะเป็นพวกสุนทรพู่กันไปหมด เลยต้องมาอ่านหนังสือใหม่ อ่านที่เกี่ยวกับพระนั่งเกล้า อ่านแล้วพบว่าพระราชประวัติของพระนั่งเกล้านี้น่าสนใจอย่างยิ่ง “คน” อย่างนี้ได้อีกสัก “คน” เมืองไทยจะดีขึ้น

ท่านเป็นพระราชาที่เปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีความสามารถในทางบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรเป็นเยี่ยม พ่อค้าที่ทันกับเจ๊ก ท่านเป็นรัฐมนตรีคลังอย่างวิเศษ หาเงินเก่ง หาแล้วคนไม่เดือดร้อน หาแล้วใช้ด้วยเก็บไว้ด้วย ท่านไม่ต้องใช้หลัก “ประหยัด ประวิง ประท้วง ปฏิเสธ” การคลังของท่านไม่มีที่ติดลบ ท่านเป็นจอมทัพที่ “สะกด” แม่ทัพนายกองให้อยู่ในอำนาจ ท่านเป็นนักการเมืองที่เล่นการเมืองอย่างขาวสะอาด ทั้งๆที่มีการต่อสู้ ท่านก็ทรงต่อสู้ตามวิถีทางการเมือง และก็แน่ละ อย่างมีชั้นเชิงด้วย เหนือสิ่งอื่นใดของท่าน คือ “แผ่นดิน” ไม่ใช่ท่าน ไม่ใช่ลูกท่าน ไม่ใช่พวกพ้องของท่าน

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประสูติเมื่อพระพุทธยอดฟ้าเสวยราชย์ได้ ๖ ปี ตรงกับวันจันทร์ เดือนสี่ แรมสิบค่ำ จุลศักราช ๑๑๕๙ ทรงพระนามว่า “ทับ”เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า พระราชมารดาพระนามเดิมว่า “เรียม” คุณจอมมารดาเรียมนี้ เป็นธิดาคนเดียวของพระยานนทบุรี (บุญจัน) และคุณหญิงเพ็ง บ้านเดิมอยู่ตรงที่สร้างวัดเฉลิมพระเกียรติ เมืองนนท์เดี๋ยวนี้ คุณจอมเรียมได้ถวายตัวทำราชการในพระพุทธเลิศหล้าตั้งแต่ยังทรงเป็นพระเจ้าลูกเธอ และประทับอยู่บ้านเดิมของพระพุทธยอดฟ้าข้างวัดระฆัง ครั้นเมื่อพระพุทธเลิศหล้าเสวยราชย์แล้วก็ตามเสด็จเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังในที่พระสนมเอก บังคับการห้องเครื่อง

พระนั่งเกล้านั้นพระพุทธยอดฟ้าโปรดมาก เพราะเป็นพระราชนัดดาพระองค์ใหญ่ เวลาโสกันต์โปรดเกล้าให้โสกันต์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นการพิเศษ เวลาผนวชก็ได้ทรงผนวชเฉพาะพระพักตร์ด้วย งานชิ้นแรกของพระนั่งเกล้าที่ได้ทรงทำก็คือ เข้าระงับการจลาจลที่เกิดขึ้นจากขุนนางที่ฝักใฝ่ในเจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรา ฯ (เจ้าฟ้าเหม็น) เจ้าฟ้าเหม็นนี้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้ากรุงธน พระธิดาของพระพุทธยอดฟ้าเป็นพระมารดา พระพุทธยอดฟ้าทรงพระเมตตาเจ้าฟ้าพระองค์นี้ พระนั่งเกล้าจับกุมพวกขุนนางที่ร่วมคิดกบฏครั้งนี้ได้หลายคน ส่วนเจ้าฟ้าเหม็นนั้นจับเวลาเสด็จเข้าพระบรมมหาราชวัง เจ้าพระยาอภัยภูธรซึ่งเป็นคนจับปล่อยให้เสลี่ยงที่ประทับมาล่วงเข้าประตูวัง อันเป็นประตูสองชั้นแล้วรีบปิดประตูทั้งสองข้าง เจ้าฟ้าเหม็นเอามือตบขาพูดติดอ่างว่า “จะจับข้าไปข้างไหน”

หน้าที่ของพระนั่งเกล้าในรัชกาลที่สองตอนแรกนั้น ทรงกำกับราชการกรมท่า คือการต่างประเทศ แต่สมัยนั้นการต่างประเทศไม่มีอะไรมาก เพราะยังไม่มีหนังสือสัญญาทางราชไมตรีกับนานาประเทศ พอดีกับเวลานั้นเงินแผ่นดินไม่พอใช้เป็นมาแต่รัชกาลที่ ๑ แล้ว พม่าขนเอาไปหมด พระพุทธเลิศหล้าจึงให้ทรงจัดการค้าสำเภาของหลวงด้วยอีกอย่างหนึ่ง ธรรมเนียมการหาเงินมาใช้ในแผ่นดินตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยามา นอกจากจะได้จากค่านาแล้วก็ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร พระเจ้าแผ่นดินต้องแต่งสำเภาไปค้าเมืองจีนเอากำไรมาใช้ในราชการอีกส่วนหนึ่ง สมัยนั้นไม่ห้ามเจ้านายและขุนนางทำการค้าขาย ใครมีกำลังก็แต่งสำเภาไปค้าเมืองจีน พระนั่งเกล้าท่านก็ทรงมีของท่าน ทรงทำได้ดีทั้งของหลวงและของท่านเองจนมั่งมีมาก ทั้งทางของหลวงและของท่าน พระพุทธเลิศหล้าทรงเรียกท่านว่า “เจ้าสัว” อยู่เสมอ

พระพุทธเลิศหล้าสวรรคต พระนั่งเกล้าฯ ก็ได้เสวยราชสมบัติ ว่ากันตามนิตินัยแล้วราชสมบัติควรจะตกเป็นของพระจอมเกล้า เพราะเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าราชโอรสองค์ใหญ่อันประสูติแต่พระอัครมเหสี แต่เมื่อพระพุทธเลิศหล้าสวรรคตนั้นไม่ทันได้ดำรัสสั่งมอบเวนราชสมบัติพระราชทานผู้ใด ดังนั้นพระราชวงศ์และเสนาบดีจึงต้องประชุมเลือกกันตามธรรมเนียมโบราณ การประชุมครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชนิพนธ์ไว้ว่า

พระบรมวงศานุวงศ์แลท่านเสนาบดี ซึ่งเป็นประธานในราชการก็ล้วนแต่เป็นผู้ชื่นชมนิยมยินดีต่อพระปรีชาญาณของพระองค์ จึงได้ปรึกษาพร้อมกันเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ยังมีพระชนมายุน้อยแลเสด็จออกทรงผนวชในพระพุทธศาสนาโดยทรงพระศรัทธาเลื่อมใสมิได้ทรงพระดำริมุ่งหมายที่จะให้มีเหตุการณ์บาดหมางในพระบรมราชวงศ์ให้เป็นการจลาจลขึ้นในบ้านเมือง ได้ทราบความชัดในพระดำริและพระประสงค์ดังนี้แล้ว เห็นว่าในเวลานั้นพระนครก็ยังตั้งขึ้นไม่สู้นาน การสงครามฝ่ายพม่าปัจจามิตรก็ยังมุ่งหมายจะทำลายล้างกรุงสยามอยู่มิได้ขาด จึงเห็นพร้อมกันว่า ถ้าอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระชนมายุมาก แลทรงทราบพระราชกิจใหญ่น้อยทั่วถึง ทั้งในการที่จะรักษาพระนครภายในและจะป้องกันอริราชศัตรูหมู่ปัจจามิตรภายนอกได้ ในเวลาเมื่อเกิดสงครามจะเป็นเหตุให้บรมราชวงศ์และพระนครตั้งมั่นเป็นอนันตสาธารณ์สืบไปภายหน้า จึงยินยอมพร้อมกันถวายศิริราชสมบัติแด่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ได้ลองพิจารณาดูว่าเหตุใดพระบรมวงศานุวงศ์ แลท่านเสนาบดีจึงพากันชื่นชมนิยมยินดีต่อพระปรีชาญาณของพระนั่งเกล้า จนพากันลงความเห็นไม่ถูกต้องตามนิตินัย การพิจารณานี้ก็ต้องดูว่าพระบรมวงศานุวงศ์มีพระองค์ใดบ้างที่เข้าประชุม ทรงมีความสำคัญอย่างไร และทรงมีความสัมพันธ์อย่างไรกับผู้ใด เมื่อพิจารณาถึงเรื่องนี้ก็ต้องย้อนขึ้นไปถึงแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้าฯ ในแผ่นดินพระพุทธเลิศหล้าฯนั้น มีเจ้านายที่เป็นหลักในราชการอยู่ ๓ พระองค์ คือ

๑.สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์

๒.สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี

๓.พระนั่งเกล้า

กรมพระราชวังบวรฯ นั้นทรงกำกับราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณทั่วไป กรมหลวงพิทักษมนตรีทรงกำกับกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงวัง พระนั่งเกล้าฯ ทรงกำกับกระทรวงการต่างประเทศและคลัง ครั้นเมื่อกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคต การกำกับราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณทั่วไปก็ตกอยู่แก่เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ส่วนการในกรมพระตำรวจและความรับสั่งทั้งปวงนั้นตกไปอยู่แก่พระนั่งเกล้า ต่อมาเมื่อเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์ งานมหาดไทยและวังก็มาตกอยู่ที่กรมหลวงรักษรณเรศ กรมหลวงรักษรณเรศนี้เป็น”ชั้นอาว์” ของพระนั่งเกล้าฯแต่เนื่องจากด้วยพระชันษาไม่ห่างไม่ไกลกันก็ทรงคบหากันสนิทถือกันเป็นเพื่อนยาก เพราะถูกบัตรสนเท่ห์มาด้วยกันเมื่อครั้งชำระความพระราชาคณะ ๓ องค์เป็นปาราชิก ทั้ง ๓ รับเป็นสัตย์ถูกจำคุก ลูกศิษย์ของพระราชาคณะองค์หนึ่ง จึงทิ้งบัตรสนเท่ห์กล่าวหาความหยาบช้าต่อพระนั่งเกล้าฯและกรมหลวงรักษรณเรศ นอกจากกรมหลวงรักษรณเรศ ก็มีกรมหมื่นศักดิพลเสพเป็น “ชั้นอาว์” เหมือนกัน กรมหมื่นศักดิพลเสพทรงกำกับการกลาโหม ทรงรักกันมากกับพระนั่งเกล้าฯถึงกับว่าเคยให้สัตย์สาบานต่อกัน นอกจากนั้นยังมี “หัวอก” เดียวกันคือไม่ลงรอยกับเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีด้วยกันดังจะเล่าต่อไปทีหลัง ยังมีกรมหลวงเทพพลภักดิ์ พระเชษฐาของกรมหลวงรักษรณเรศ กำกับกรมพระคชบาล กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ กำกับกรมเมือง และกรมหลวงเสนีย์บริรักษ์ ซึ่งคุมทหารของกรมพระราชวังหลังอยู่ อีก ๓ พระองค์ ที่ทรงคบหาสนิทสนมจนเห็นพระทัยกัน และทุกพระองค์จะเห็นได้ว่า คุมหน่วยกำลังอยู่ในพระหัตถ์ทั้งนั้น และท่านเหล่านี้ก็อยู่ในที่ประชุมทุกพระองค์ ที่ไม่ฝักใฝ่อยู่ในพระนั่งเกล้าและมีตำแหน่งในที่ประชุมก็คือเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ซึ่งทรงกำกับมหาดไทย ต่อจากเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี พระเชษฐา นอกจากนั้นก็เห็นจะวางตัวเป็นกลางบ้างไม่กี่คน ส่วนใหญ่ก็คงจะต้องลงความเห็นให้พระนั่งเกล้าฯ ด้วยเหตุดังจะกล่าวต่อไป คือพระนั่งเกล้าฯนั้น พระทัยบุญโปรดการทรงธรรมไม่โปรดละคร ที่หน้าวังตั้งโรงทานไว้สำหรับเลี้ยงคนยากจน วันพระก็ทรงปล่อยสัตว์ แจกเงินคนชราคนยากจน เจ้านายขุนนางที่เข้าเฝ้าพระพุทธเลิศหล้าเวลาออกจากที่เฝ้าแล้วจะแวะวังของท่านที่อยู่หน้าพระบรมมหาราชวัง มาเสวยและรับประทานอาหารแทบจะทั่วหน้าทุกวัน ทุกเวลามิได้ขาดโดยมีคุณจอมเรียม เจ้าจอมมารดาของท่านมาเป็นผู้จัดการให้ทางด้านนี้ ว่ากันว่า “คุณจอม” นั้นฉลาดเฉลียวมีสัมมาคารวะรูจักโอภาปราศรัยมีความสามารถที่จะผูกน้ำใจ ถ้าจะพูดกันอย่างสมัยนี้ก็แปลว่า พระนั่งเกล้าทรงมีความสามารถในทางหาคะแนนนิยมจากชาวบ้าน ชาวตลาด ชาววัด พ่อค้า ข้าราชการ ตลอดจนเจ้านาย

ความเป็นไปต่างๆนี้ทางฝ่ายเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีก็ทรงทราบอยู่ตลอดเวลา และทรงไม่ลงรอยกันจนถึงเนื้อความปรากฏออกมาในพงศาวดาร เมื่อครั้งตั้งเจ้าครองจำปาศักดิ์ ครั้งนั้นเจ้าอนุ เวียงจันทน์ทูลขอให้เจ้าราชบุตร (โย้) บุตรของตนได้เป็นเจ้าครองจำปาศักดิ์ พระนั่งเกล้าทรงรับเป็นธุระจัดการให้สมประสงค์เจ้าอนุ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีไม่ทรงเห็นชอบด้วยแต่ก็ทำอะไรไม่ทัน เพราะพระพุทธเลิศหล้าประทานไปแล้ว ดังนั้นพอเสด็จขึ้น เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีจึงรับสั่งทันทีในท้องพระโรงนั้นว่า อยากรู้นักว่าใครเป็นผู้จัดแจงเพ็ดทูลให้เจ้าราชบุตรเวียงจันทน์ไปเป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ แต่เพียงพ่อมีอำนาจอยู่ข้างฝ่ายเหนือก็พออยู่แล้ว ยังจะเพิ่มเติมให้ลูกมีอำนาจโอบลงมาข้างฝ่ายตะวันออกอีกด้านหนึ่ง ต่อไปจะได้ความร้อนใจด้วยเรื่องนี้ พระนั่งเกล้าทรงได้ยินแต่ก็นิ่งอยู่มิได้รับสั่งโต้เถียงอย่างใด ดังนั้นเมื่อเจ้าอนุฯเป็นขบถ พระนั่งเกล้าจึงโทมนัสที่ความมาสมจริงดังเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีได้ทำนายไว้ ที่ว่ากรมหมื่นศักดิพลเสพก็ไม่ชอบพระทัยเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีนั้น ก็ปรากฏหลักฐานจากพงศาวดารว่าเคยถูกกรมหลวงพิทักษ์ฯต่อว่าอย่างรุนแรงที่คนชั้นนั้นจะพึงว่ากล่าวกัน เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อครั้งจักกายแมงยกทัพพม่าจะมาตีไทยก็ให้กรมหมื่นศักดิพลเสพยกทัพไปขัดตาทัพอยู่ที่เพชรบุรี ทหารในกองทัพประพฤติการเกะกะแก่พลเมืองจนความทราบเข้าถึงในกรุง เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีสอบสวนจนแน่พระทัยแล้ว จึงได้มีลายพระหัตถ์ให้นำความขึ้นทูลแม่ทัพ ลายพระหัตถ์นั้นทรงเล่าถึงความเหลวแหลกของทหารในกองทัพ และลงท้ายว่าดังนี้ “ ......ด้วยเหตุว่าหาผู้เตือนสติไม่ จึงเกิดความฟุ้งเฟื่องเข้าไปถึงกรุงเทพฯดังนั้น ไม่ควรที่จะให้เกิดความเคืองใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และอายแก่ชาวเมืองเพชรบุรีด้วยการข้างหน้ายังมีอยู่มาก ซึ่งว่ากล่าวมาครั้งนี้ใช่จะเอาความผิด นายทัพนายกองฤาก็หาไม่ ด้วยเห็นว่าพึ่งแรกออกโรงใหม่ได้พลั้งเกินไปคนละเล็กคนละน้อยแล้ว ให้พระเจ้าน้องยาเธอฯหาตัวมาพร้อมกันสะสางผ่อนปรนเสียโดยควรโดยชอบแก่ราชการ....”

พิจารณาโดยสมควรแล้วจึงไม่แปลกใจเลยว่าเหตุเจ้านายและขุนนางที่เข้าที่ประชุมจะไม่พากัน “ชื่นชมยินดีต่อพระปรีชาญาณ” ของพระนั่งเกล้าจนถึงยอมถวายราชสมบัติไป เรื่องนี้ทางพระจอมเกล้าก็รู้พระองค์ เพราะพระชนม์ขนาดนั้นก็ใช่น้อยแล้วยี่สิบปี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงฯทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า “...ฝ่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบกิตติศัพท์อยู่แล้วว่าคิดกันจะถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่า ถ้าพระองค์ปรารถนาราชสมบัติในเวลานั้นพระราชวงศ์แตกสามัคคีกัน อาจจะเลยเกิดเหตุร้ายขึ้นในบ้านเมือง ตรัสปรึกษาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ซึ่งเป็นเจ้าน้าพระองค์น้อย ทูลแนะนำว่าควรจะคิดเอาราชสมบัติตามที่มีสิทธิ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงเห็นชอบ ด้วยไปทรงปรึกษากรมหมื่นนุชิตชิโนรส พระปิตุลาซึ่งผนวชอยู่ กับทั้งกรมหมื่นเดชอดิศรพระเชษฐาซึ่งทรงนับถือมาก ทั้งสองพระองค์นั้นตรัสว่าไม่ใช่เวลาควรจะปรารถนา อย่าห่วงราชสมบัติดีกว่า เพราะฉะนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังคำถามจึงตรัสตอบว่า “มีพระประสงค์จะทรงผนวชอยู่ต่อไป ....”

การเรื่องนี้ที่จริงกลับเป็นผลดีแก่บ้านเมืองเพราะพระนั่งเกล้าก็ได้ทรงหาเงินไว้ให้มาก วัดก็สร้างไว้ให้มาก ป้อมคูประตูหอรบก็สร้างไว้ให้มาก เขมรซึ่งจะหลุดมือไปก็เอามาไว้ให้เป็นที่เรียบร้อยตลอดจนหัวเมืองมลายู ทางฝ่ายพระจอมเกล้าก็ได้ทรงมีโอกาสแสวงหาความรู้ในการต่างประเทศปรับปรุงพระพุทธศาสนา และทรงศึกษาความเป็นไปของราษฎรอย่างใกล้ชิด ความรู้ต่างๆที่ได้ทรงประสบมาเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองในชั้นหลังเมื่อมีการเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ไม่มีใครรู้ว่าถ้าเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรียังไม่สิ้นพระชนม์ เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร หรือถ้าพระจอมเกล้าไม่ได้ทรงผนวชอยู่เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร

เมื่อพระนั่งเกล้าขึ้นเสวยราชย์ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมหมื่นศักดิพลเสพ ขึ้นดำรงที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลฝ่ายหน้า สถาปนาเจ้าจอมมารดาเรียมพระราชชนนีเป็นกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย และเมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ทรงเลื่อนกรมหมื่นเทพพลภักดิ กรมหมื่นรักษรณเรศ กรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์ขึ้นเป็นกรมหลวงทั้ง ๓ พระองค์ กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ก็เลื่อนขึ้นเป็นกรมขุน

การศึกในแผ่นดินพระนั่งเกล้าที่หนักก็มีกับญวน ที่มาของศึกก็มาจากเจ้าอนุเวียงจันทน์ เพราะเมื่องานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเลิศหล้านั้น เจ้าอนุเข้ามาเพราะเป็นคนโปรด พระนั่งเกล้าเองก็โปรด เพราะเจ้าอนุเป็นคนเข้มแข็ง เจ้าอนุได้ใจพอถวายพระเพลิงแล้ว ก่อนจะกราบถวายบังคมลา ก็เลยทูลขอครัวลาวกับหญิงสาวชื่อดวงคำกลับไปด้วย ลักษณะที่เจ้าอนุทำนั้นเข้าลักษณะที่เรียกกันว่า ”กำเริบ” พระนั่งเกล้าถึงจะโปรดก็ทรงทนไม่ได้ ไม่พระราชทานให้ เจ้าอนุก็เสียหน้ากลับไปคิดกบฏทันที ให้เจ้าราชวงษ์ผู้บุตรเป็นทัพหน้ายกผ่านโคราชลงมาถึงสระบุรี ตัวเจ้าอนุเองตั้งอยู่ที่โคราชกวาดคนส่งไปเวียงจันทน์ แต่คนที่ถูกกวาดไม่ยอมให้กวาดไปไกลฮึดสู้ขึ้นมา พอดีทางกรุงเทพฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพยกทัพขึ้นมา เจ้านายวังหลังเป็นทัพหน้า เจ้าอนุตกใจกลัวศึกขนาบ เพราะพวกครัวข้างหลังต่อสู้เข้มแข็งนัก จึงถอยไปตั้งที่หนองบัวลำพู

ทัพหน้านั้นแบ่งเป็นสองทัพ ทัพแรกเข้าตีลาวที่หนองบัวลำพูแตก แต่แล้วตกอยู่ในที่ล้อมเพราะพระยาสุโพแม่ทัพลาวโอบเข้ามา กรมหมื่นนเรศวรโยธีเข้าช่วยก็ตกอยู่ในที่ล้อมอีก พวกกรมหลวงเสนีย์บริรักษ์มาทันเข้าแก้กรมหมื่นนเรศวรโยธีได้ แล้วช่วยกันตีฝ่าวงล้อม ทัพพระยาสุโพก็แตก ทัพหน้าก็เข้ายึดเวียงจันทน์ได้

ทางจำปาศักดิ์ เจ้าพระยาบดินทร์ยกไปตีจนแตกจับตัวเจ้าราชวงษ์ได้ แต่เจ้าอนุนั้นหนีไปอยู่กับญวน ญวนก็พามาส่งไทย แต่กลับปรากฏว่าเป็นการล่อลวง เจ้าพระยาบดินทร์จึงเข้าต่อรบเป็นสามารถในพงศาวดารบันทึกไว้ว่า “ได้สู้รบกันถึงตลุมบอน เจ้าราชวงษ์แทงถูกเจ้าพระยาราชสุภาวดี(เจ้าพระยาบดินทร์)เสื้อขาดเสียดลงไปแต่อกกระทั่งถึงท้องน้อยแผลนั้นไม่ตรงเข้าไปในตัว ขาดเป็นทางลงไป เจ้าพระยาราชสุภาวดีล้มลง หลวงพิพิธน้องเจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงวิ่งเข้าไปช่วย เจ้าราชวงษ์ฟันหลวงพิพิธตาย แล้วจะเข้าซ้ำเจ้าพระยาราชสุภาวดีอีก พอทนายยิงปืนไปถูกเข่าขวาเจ้าราชวงษ์ล้มลง พวกบ่าวก็เข้าใจว่านายตาย เข้ายกเอานายขึ้นแคร่หามหนีไป ฝ่ายเจ้าพระยาสุภาวดี(บดินทร์) ครั้นฟื้นขึ้นเอานิ้วมือแยงเข้าไปในแผล เห็นว่าไม่ทะลุเข้าไปในท้องก็เรียกเอาน้ำมันว่านมาหยอดแผล เอาผ้าพันเข้าไว้เปลี่ยนเสื้อเสียใหม่แล้วก็ขึ้นแคร่ไล่ผู้คนตามเจ้าราชวงษ์ไปในเวลานั้น จนกระทั่งถึงฝังแม่น้ำโขงก็ไม่ทัน”

ในที่สุดเจ้าอนุก็ไม่พ้นมือเจ้าพระยาบดินทร์ เมื่อคุมตัวลงมาถวาย รับสั่งให้ทำที่ประจานลงที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ทำเป็นกรงเหล็กใหญ่มีริ้วตารางล้อมรอบทั้งสี่ด้าน กลางคืนเอาไปขังไว้ทิ่มดาบ ประจานอยู่ได้ ๗-๘ วัน เจ้าอนุก็รากเลือดตายเอาศพไปเสียบประจานไว้ที่สำเหร่ เมื่อตายนั้นอายุได้ ๖๐ ปี

ผลของสงครามครั้งนั้นทำให้ความแตกร้าวระหว่างไทยกับญวนที่มีมาแต่รัชกาลที่สองชัดขึ้น เพราะญวนชั้นหลังลืมหรือจะต้องลืมว่า พระพุทธยอดฟ้าเคยมีบุญคุณแก่ องค์เชียงสือปฐมกษัตริย์ญวนอย่างไร จะเป็น “ดิ๊กว่างเด” ก็เป็นไม่ได้เต็มภาคภูมิ จึงถือเรื่องเจ้าอนุเป็นสาเหตุแสดงตบะเดชะขึ้นมา เจ้าพระยาบดินทร์ต้องทำงานหนักอยู่หลายปี เพราะถ้ารบกับญวน เขมรก็ต้องพ่วงเข้าไปด้วย รบกันจนญวนต้องราข้อขอหย่าทัพ กองทัพไทยจึงจัดการบ้านเมืองให้นักองค์ด้วงได้เป็นใหญ่ พระนั่งเกล้าโปรดให้ขุนนางคุมเครื่องยศออกไปอุปภิเษกนักองค์ด้วง เป็นสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดีเจ้ากรุงกัมพูชา องค์ด้วงถวายเครื่องราชบรรณาการตามประเพณีแล้วให้องค์ราชาวดีผู้บุตรใหญ่เข้ามาพร้อมด้วยเจ้าพระยาบดินทร์เดชารับราชฉลองพระเดชพระคุณในกรุงเทพฯ สงครามข้างญวนก็สงบตั้งแต่นั้นมา

เมื่อเจ้าพระยาบดินทร์ถึงอสัญญกรรม โปรดให้พระราชทานเพลิงที่วัดสระเกศ เจ้ากรุงกัมพูชาทราบ จึงให้ปลูกเก๋ง ๒ ห้องขึ้นที่หน้าค่ายใหญ่เมืองอุดงมีไชย แล้วปั้นรูปเจ้าพระยาบดินทร์เดชาขึ้นไว้ถึงปีก็บังสุกุลรูปเจ้าพระยาบดินทร์ทุกปีที่ศาลนี้ ชาวเขมรเรียกว่า “ศาลองค์บดินทร์” เดี๋ยวนี้ทราบว่าถูกโยกย้ายไปเสียแล้ว

ข้างพม่าเวลานั้นรบพุ่งติดพันอยู่กับอังกฤษ ทางเราเพียงแต่ส่งคนไปขัดตาทัพอยู่ตามชายแดน ไม่มีอะไรจนตลอดรัชกาล แต่กลับไปมีข้างมลายู เพราะพวกเมืองแขกทั้งปวงมีเมืองไทรเป็นต้น เป็นกบฏ เจ้าพระยาพระคลังจึงต้องยกทัพไปช่วยเจ้าพระยานคร ปราบเมืองไทร เมืองตานี เมืองกลันตัน เมืองตรังกานู ส่วนเมืองสาย เมืองระแงะ เมืองยะลาและเมืองหนองจิกนั้นเข้าหาแต่โดยดีไม่ต้องใช้กำลัง ครั้งนั้นมีแต่เมืองยะหริ่งเมืองเดียวที่ตั้งอยู่ในความสงบไม่กระด้างกระเดื่อง

การต่างประเทศนั้นก็เริ่มตั้งแต่อังกฤษปรารถนาจะผูกมิตรกับสยามเพื่อประโยชน์ทางการค้า จึงแสดงความรำลึกคุณในการที่ส่งทหารไปขัดตาทัพ เพราะทางอังกฤษถือว่าไปช่วยรบให้พม่าระบุลงในสัญญาด้วยว่าจะไม่มารบกวน นอกจากนั้นยังถวายปืนเป็นราชบรรณาการด้วย พระนั่งเกล้าไม่ไว้พระทัยในการที่จะผูกมิตร แต่พระบรมวงศ์และเสนาบดีทูลทัดทาน โดยให้เหตุผลว่า อังกฤษมีขีดแดนชิดเข้ามาแล้วถ้ามิผ่อนตามให้บ้างจะเกิดเป็นเสี้ยนศัตรูขึ้น ต่อจากนั้นก็เลยทำกับอเมริกา แต่ก็ดีกันอยู่ได้ไม่นาน เพราะพระนั่งเกล้า ท่านทนอะไรทนได้ แต่ทนให้เสียเปรียบฝรั่งทนไม่ได้ ทางพระราชไมตรีจึงไม่กินเกลียวกันอยู่จนตลอดรัชกาล ท่านเองก็ไม่ทรงประมาท เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา สร้างป้อมคูประตูเมือง ป้อมกันพระนครไว้ตามจุดยุทธศาสตร์ทุกแห่ง

แต่พระราชประวัติของพระนั่งเกล้านี้ตอนไหนๆจะมาจับใจเหมือนตอนที่เกี่ยวข้องด้วยพระจอมเกล้าไม่มี ถ้าเป็นอย่างเราๆท่านๆ ก็ต้องชมว่าท่านมี “สปิริต” อย่างวิเศษ มิใยที่คนรอบๆพระองค์จะเพ็ดทูลความเคลื่อนไหวของประชาชนที่มีต่อพระจอมเกล้า อันจะเป็นอันตรายต่อราชบัลลังก์ ท่านก็ไม่ทรงฟัง สิ่งใดควรจะเป็นอย่างใดท่านก็ทรงจัดการให้เป็นอย่างนั้น อย่างเมื่อคราวพระจอมเกล้าทรงตั้งนิกายธรรมยุติเพื่อจะแก้จริตของพระในสมัยนั้นที่บกพร่องอยู่ให้เป็นจริตของพระ ผู้คนก็เลื่อมใสพากันไปที่วัดราชาฯอันเป็นที่ประทับมากขึ้นทุกที พระนั่งเกล้าก็ทรงตั้งให้เป็นราชาคณะเมื่อจะตั้งนั้นรับสั่งว่า “ชีต้นบวชมานานแล้ว ควรเป็นราชาคณะได้” แล้วพระราชทานพัดแฉกพื้นตาดให้ทรงเป็นพัดยศ และเชิญเสด็จให้มาครองวัดบวร เพราะที่วัดราชาฯ ท่านก็ไม่ได้ทรงเป็นเจ้าอาวาส

พระนั่งเกล้าทรงระวังมากที่จะไม่ให้พระจอมเกล้าโทมนัสน้อยพระทัย เวลาเชิญเสด็จจากวัดราชา ก็จัดกระบวนแห่อย่างประมหาอุปราช และทรงสร้าง “พระปั้นหย่า” ถวายและทรงทำนุบำรุงทุกประการ จะเสด็จประพาสต่างจังหวัด ก็พระราชทานอนุญาตซึ่งเป็นพิเศษ เพราะเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ ถ้าไม่มีราชการแล้วไม่ออกไปตามหัวเมืองเพราะเกรงระแวงผิดทางการเมือง การที่ทรงทำดังนี้ ทำให้กรมหลวงรักษรณเรศขัดเคืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะกรมหลวงรักษฯ ทรงมีเป้าหมายในทางการแผ่นดินอยู่ในพระทัย เห็นพระจอมเกล้าเป็นที่กีดขวางอันสำคัญ จึงหาเหตุเบียดเบียนด้วยประการต่างๆเป็นต้นว่าสึกพระสุเมธ อุปัชฌาย์ของท่านบ้าง เอาข้าวต้มร้อนใส่บาตรพระธรรมยุติบ้าง พระจอมเกล้าฯ ท่านก็ทรงอดทนกับพระพักตร์ทรงทำงานตามอุดมคติของพระองค์ จนพระวัดบวรฯได้เป็นเปรียญมาก เป็นที่พอพระราชหทัยของพระนั่งเกล้า ถึงกับออกพระโอษฐ์ว่า “ถ้าวัดของชีต้นเป็นเปรียญทั้งวัดก็จะดีทีเดียว” จึงโปรดให้มีตำแหน่งในคณะมหาเถระ ผู้สอบพระปริยัติธรรมในสนามหลวงด้วย ด้วยความนับถือพระองค์เองไม่ยอมให้สิ่งที่ผิดเป็นถูก พระจอมเกล้าฯ จึงถูกพระพุทธโฆษาจารย์ล่วงเกินหยาบช้าในการสอบคราวหนึ่งความทรงทราบถึงพระนั่งเกล้าก็กริ้ว ตรัสสั่งห้ามมิให้นิมนต์พระพุทธโฆษาจารย์เข้าราชการอีก และทรงมอบการสอบพระปริยัติธรรมเป็นสิทธิขาดแก่พระจอมเกล้า

พระนั่งเกล้าทรงมีของซึ่งไม่ทรงโปรดอย่างยิ่งอยู่อย่างหนึ่งคือฝิ่น ทรงปราบอย่างเอาจริงเอาจัง ปราบอย่างได้ตัวคนขนด้วยไม่ใช่ได้แต่ของกลาง และไม่ทรงถือด้วยว่าเป็นการทำรายได้ให้แก่แผ่นดิน ปราบเรียบตั้งแต่ภาคกลางลงไปจนภาคใต้ คราวที่ใหญ่ที่สุดปราบตั้งแต่ปราณจนถึงนครฯ ฟากหนึ่ง ตะกั่วป่าถึงถลางอีกฟากหนึ่ง ไดฝิ่นดิบเข้ามา ๓,๗๐๐ หาบเศษ ฝิ่นสุก ๒ หาบ โปรดให้เผาที่หน้าพระที่นั่งสุทธสวรรย์ ครั้งนั้นพวกขี้ยาได้กลิ่นคงแทบขาดใจตาย กลักฝิ่นเอามาหล่อพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระประธานในศาลาการเปรียญวัดสุทัศน์

พลเมืองทำมาหากินได้สะดวกขึ้น ก็ทรงเพิ่มภาษีอากรซึ่งไม่เคยมีแต่ก่อนขึ้น ทำให้บ้านเมืองมีรายได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน อากรบ่อนเบี้ย อากรหวย ภาษีเบ็ดเสร็จลงสำเนา ภาษีพริกไทย ภาษีไม้ต่างๆ และอื่นๆอีกมาก ภาษีที่ไม่เป็นธรรมในสมัยนั้นก็โปรดให้เลิก คือภาษีฟองตนุ ค่าน้ำ

โดยปกติไม่โปรดเสด็จประพาสตามที่ต่างๆ การละเล่น มี โขน ละคร เป็นต้น ก็ไม่โปรด สนพระทัยแต่ทุกข์สุขของราษฎร รับฎีกาทุกโอกาส และทรงติดตามการชำระอย่างใกล้ชิด ตุลาการผู้ชำระไม่อาจพลิกแพลงได้ แต่ด้วยความที่ไม่โปรดเสด็จประพาสนี่เอง ที่ทำให้พระเจ้าลูกเธอและตำรวจมีอำนาจเที่ยวเกาะกุมราษฎรชาวบ้านมาชำระความตามอำเภอใจ แล้วฉุดบุตรหลานหญิงสาวชาวบ้านเอาไปเป็นหม่อมห้าม ทำกันอยู่เนืองๆ ราษฎรก็เกรงกลัวเพราะเห็นเป็นพระเจ้าลูกเธอไม่อาจเข้าร้องถวายฎีกา เป็นเรื่องบกพร่องเรื่องหนึ่งในแผ่นดิน ทรงทำงานอยู่เกือบตลอด ๒๔ ชั่วโมง ตั้งแต่เช้าทรงความฎีกาแล้วก็เรื่อยมาจนเที่ยงบ่าย ๑ โมง เสด็จออกทรงการช่าง ๑ ทุ่มเสด็จออกฟังรายงาน ทรงธรรมออกขุนนางอยู่จน ๒ ยามตีหนึ่ง เป็นนิจ เข้าเฝ้านั้นถ้าไม่หนาวจริงๆใส่เสื้อเข้าไปไม่ได้ไม่โปรด หน้าหนาวจึงจะสวมได้

ตอนนี้จะต้องขอแทรกเรื่องสร้างวัดสักเล็กน้อย เพราะมีคำกล่าวกันว่า พระพุทธยอดฟ้านั้นใครรบเก่งโปรด พระพุทธเลิศหล้านั้นใครแต่งกลอนเก่งก็โปรด ส่วนพระนั่งเกล้านั้นว่ากัน ใครสร้างวัดก็โปรด จึงมาถึงปัญหาว่าทำไมท่านจึงโปรดสร้างวัด สร้างไว้มากมายก่ายกองจนเป็นเหตุให้คนรุ่นใหม่บางคนบ่นว่า เมืองไทยนี้วัดมากเกินไปควรยุบเสียบ้าง ทีนี้ลองหลับตานึกถึงบ้านเมืองแต่ก่อนโดยไม่มีวัด แล้วนั่งเรือแล่นเข้ามาแต่ปากน้ำจนถึงกรุงเก่าดูสักที หน้าตาบ้านเมืองเราเป็นเมืองตามเกาะทะเลใต้ดีๆนี่เอง เพราะจะเต็มไปด้วยเรือฝากระแชง อย่างดีก็ฝากระดานหลังคามุงจากตลอดขึ้นไป ที่เมืองไทยมีหน้ามีตาพอจะออกแขกกับเขาได้บ้างก็ควรจะรู้ไว้ด้วยว่าเป็นเพราะสิ่งปลูกสร้างที่รวมกันเรียกว่าวัดนี้ด้วยสิ่งหนึ่ง อาคารก่ออิฐถือปูนหลังคามุงกระเบื้องเป็นมันวับสะท้อนแสงตะวัน ทรวดทรงสูงของตัวอาคารของหลังคา อะไรต่างๆนี้แสดงถึงความรู้และปัญญาของช่างในการก่อสร้าง ในการที่จะเก็บความร้อนไว้แต่ภายนอก ช่อฟ้า ใบระกา แสดงถึงความประณีต รักสวยรักงามและความสง่าผ่าเผย สถูป เจดีย์ที่เสียดยอดขึ้นสู่ท้องฟ้าแสดงถึงศรัทธาของเจ้าของถิ่น ความคิดนี้เป็นความคิดที่คนเจริญแล้วเขาคิดกันและเราก็ควรจะภูมิใจที่บรรพบุรุษของเราท่านก็คิดเช่นนั้น

ความพินาศฉิบหายของกรุงศรีอยุธยานั้น ประเทศทั้งหลายก็ทราบทั่วกัน ดังนั้นการสร้างราชธานีใหม่ให้เหมือนราชธานีเดิมจึงเป็นของจำเป็น เพื่อเผยให้โลกรู้ว่า สยามยังอยู่ยังไม่ล้มละลาย ยังอยู่อย่างมีเกียรติ ใครที่เคยนับถือกราบไหว้อยู่ก็ควรจะนับถือกราบไหว้ต่อไป ใครที่เคยคบค้าสมาคมในฐานะเดียวกันก็ให้รักษาฐานะนั้นไว้ อีกประการหนึ่งจะได้เป็นการทำนุบำรุงวิชาช่างของแผ่นดิน เพราะการช่างทรุดโทรมลงมากหมดตัวช่าง พม่าเอาหวายร้อยตาตุ่มพาไปหมด ถ้าทิ้งไว้วิชาก่อสร้าง แกะสลักวาดเขียนก็จะไม่มีเหลือ และนอกจากจะได้เป็นที่อยู่ที่ประกอบพิธีทางศาสนาของสงฆ์ ปัจจุบันนี้วัดยังทำหน้าที่เกินเลยออกไปอีกบ้างคือ หอพักของนักเรียนต่างจังหวัด ต่างอำเภอ ต่างตำบล

ครั้งพระนั่งเกล้าประชวรลงก็ทรงมีพระกระแสพระราชดำริถึงผู้สืบราชสมบัติ เพราะยังมิเคยทรงพระราชดำริถึงเรื่องรัชทายาทมาตั้งแต่วังหน้าสวรรคตแล้ว เพราะยังไม่แน่ในพระราชหฤทัยว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะความที่มีคนจงรักภักดีต่อพระจอมเกล้าเห็นว่า พระจอมเกล้าควรจะได้รับราชสมบัติมีมากก็ทรงทราบอยู่ พระองค์เองก็คงจะทรงเห็นตามดังนั้น ถึงแม้นจะไม่ออกพระโอษฐ์ให้ชัดออกมา เรื่องนี้ถ้าเอามาคิดดูตามประสาชาวบ้านก็ออกจะแปลก สมบัติทำมาเป็นก่ายเป็นกองแทนที่จะยกให้ลูกกลับไปยกให้น้องคนละแม่ ทั้งๆที่พระเจ้าลูกยาเธอที่เจริญพระชนม์มากแล้วก็มีอยู่หลายพระองค์ มีพระองค์โกเมน พระองค์คเนจร พระองค์ลดาวัลย์ พระองค์ชุมสาย พระองค์เปียก พระองค์อุไร พระองค์อรรณพ พระองค์อมฤตย์ พระองค์สุบรรณ พระองค์สิงหรา พระองค์ชมพูนุท จะว่าท่านไม่โปรดพระองค์เจ้าของท่านก็ว่าไม่ได้ อย่างพระองค์อรรณพที่สร้างวัดมหรรณพ์นั้นก็โปรดจนออกหน้า แต่ท่านทรงเข้าพระทัยที่จะแยกการส่วนพระองค์ออกจากแผ่นดิน ดังนั้นจึงรับสั่งให้หาพระยาราชสุภาวดี พระยาพิพัฒน์ เข้าไปในที่พระบรรทมบนพระมหามณเฑียร ตรัสว่าทรงพระประชวรครั้งนี้อาการมาก เห็นจะเป็นพระโรคใหญ่เหลือกำลังแพทย์จะเยียวยา อันกรุงเทพพระมหานครนั้น ขอบขัณฑ์เสมาอาณาจักรกว้างขวาง พระเกียรติยศก็ปรากฎไปทั่วนานาประเทศ ถ้าทรงพระมหากรุณาพระราชทานอิสริยยศมอบให้พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งซึ่งพอพระทัยให้ขึ้นเสวยราชสมบัติแทนพระองค์ต่อไปแต่ความชอบอัธยาศัยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์เดียวนั้น เกลือกเสียสามัคคีรสร้าวฉาน ไม่ชอบใจไพร่ฟ้าประชาชนและคนมีบรรดาศักดิ์ผู้ทำราชกิจทุกพนักงานก็จะเกิดการอุปัทวภยันตรายเดือดร้อนแด่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย สมณชีพราหมณ์ อาณาประชาราษฎร์จะได้รับความลำบากเพราะมิได้พร้อมใจกัน ด้วยกำลังทรงพระมหากรุณาเมตตากับไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นอันมาก แล้วทรงพระกรุณาดำรัสให้จดหมายกระแสพระราชโองการปฎิญาณยกพระนามพระรัตนตรัยสรณคมน์อันอุดมเป็นประธานพยานอันยิ่งให้เห็นจริงในพระราชหฤทัยแล้ว ทรงพระดำรัสยอมอนุญาตให้เจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งว่าที่สมุหพระกลาโหม พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา พระยาสุภาวดีว่าที่สมุหนายกกับขุนนางผู้น้อยทั้งปวง จงมีความสโมสรสามัคคีรส ปรึกษาพร้อมกันเมื่อเห็นว่า พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดที่มีวัยวุฒิปรีชารอบรู้ราชานุวัตร เป็นศาสนูปถัมภกยกพระบวรพุทธศาสนาและปกป้องไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร รักษาแผ่นดินให้เป็นสุขสวัสดีโดยยิ่ง เป็นที่ยินดีแก่มหาชนทั้งปวงได้ ก็สุดแท้จะเห็นดีประนีประนอมพร้อมใจกันยกพระบรมวงศ์องค์นั้นขึ้นเสวยมไหสวรรยาธิปัตย์ ถวัลยราชสืบสันตติวงศ์ดำรงราชประเพณีต่อไปเถิด อย่าได้กริ่งเกรงพระราชอัธยาศัยเลย เอาแต่ให้ได้เป็นสุขทั่วหน้า อย่าให้เกิดการรบราฆ่าฟันกันให้ได้ทุกข์ร้อนแก่ราษฎร

นี่คือน้ำใจของคนที่ปกครองคนเมื่อร้อยปีเศษมานี้เอง

เมื่อมีพระบรมราชโองการออกไปแล้วยังทรงเป็นห่วงรับสั่งให้หาพระยาศรีสุริยวงศ์ (สมเด็จเจ้าพระยาในรัชกาลที่ ๕) เข้าไปเฝ้า ถามว่าที่ประชุมหารือกันว่าอย่างไร พระยาศรีสุริยวงศ์ว่ายังไม่จัดการ เพราะเชื่อว่าจะหายประชวร จึงรับสั่งให้พระยาศรีสุริยวงศ์ขยับเข้าไปชิดพระองค์ ให้ลูบดูพระองค์ทั่วทั้งพระสรีรกาย แล้วดำรัสว่าร่างกายทรุดโทรมถึงเพียงนี้แล้ว หมอเขายังว่าจะหายอยู่ไม่เห็นด้วยเลย การแผ่นดินไปข้างหน้าไม่เห็นผู้ใดที่จะรักษาแผ่นดินได้ กรมขุนเดชเล่าท่านก็เป็นคนพระกรรณเบา ใครจะพูดอะไรท่านเชื่อง่ายๆ จะเป็นใหญ่เป็นโตไปไม่ได้ กรมขุนพิพิธเล่าไม่รู้จักการงาน ปัญญาก็ไม่สอดส่องไปได้ คิดแต่จะเล่นอย่างเดียว ที่จะมีสติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้อยู่ ก็เห็นแต่ท่านฟ้าใหญ่ท่านฟ้าน้อย ๒ พระองค์ ก็ทรงรังเกียจอยู่ว่าท่านฟ้าใหญ่ถืออย่างมอญ ถ้าเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้นก็จะให้พระสงฆ์ห่มผ้าอย่างมอญเสียหมดทั้งแผ่นดินดอกกระมัง ท่านฟ้าน้อยเล่าก็มีสติปัญญารู้วิชาการช่างและการทหารต่างๆอยู่ แต่ไม่พอใจทำราชการ รักแต่การเล่นสนุกเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงมิทรงอนุญาต กลัวเจ้านายข้าราชการเขาจะไม่ชอบใจ จึงโปรดอนุญาตให้ตามใจคนทั้งปวงสุดแท้แต่จะเห็นพร้อมเพียงกัน การต่อไปภายหน้าเห็นแต่เอ็งที่จะรับราชการเป็นอธิบดีผู้ใหญ่ต่อไป การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่านับถือเลื่อมใสไปทีเดียว ทุกวันนี้สละห่วงใหญ่หมด อาลัยอยู่แต่วัด สร้างไว้ใหญ่โตหลายวัด ที่ยังค้างอยู่ก็มี ถ้าชำรุดทรุดโทรมไปจะไม่มีผู้ใดช่วยทำนุบำรุง เงินในพระคลังที่จับจ่ายใช้ราชการแผ่นดินอยู่สี่หมื่นชั่ง ขอสักหนึ่งหมื่นเถิด ถ้าผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดิน ให้ช่วยบอกแก่เขาขอเงินรายนี้ให้ทะนุบำรุงวัดที่ชำรุดและการจัดที่ยังค้างอยู่นั้นเสียให้แล้วด้วย

เราจะหวังอะไรมากไปกว่านี้ น้ำพระทัย ความเสียสละ หลักการสง่าผ่าเผย เงินสี่หมื่นชั่งนั้นท่านแจกจ่ายลูกหลานของท่านไป ใครจะว่าท่านได้ท่านก็ไม่เอาไปแจก เชื้อสายรัชกาลที่ ๓ ขัดสนเพียงใดก็พอจะเห็นกันอยู่ เงินของท่านเป็นวัด ไม่เป็นวัดก็เป็นป้อม ไม่เป็นป้อมก็เป็นกำปั่น ไม่เป็นกำปั่นก็เป็นทานแก่คนยาก ก่อนจะสวรรคตก็ทรงเป็นห่วงต่างๆห่วงพระอัฐิ พระอัยกา (พระยานนทบุรี) พระอัยกี (คุณหญิงเพ็ง) และกรมสมเด็จพระศรีสุราลัย พระราชชนนี ว่าถ้าประดิษฐานไว้ในพระมหาปราสาทต่อไปจะเป็นที่รังเกียจกีดขวางแก่ผู้ที่จะมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหม่ ขอให้มอบไว้แก่พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใดๆถ้าพระราชโอรสหมดสิ้นไปก็ให้มอบแก่พระราชบุตรีรักษาไว้ ส่วนพระองค์เองก็ทรงเกรงว่า ถ้าสวรรคตในพระมหามณเฑียร ท่านผู้ใดมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหม่จะรังเกียจ จึงรับสั่งให้พระยาศรีพิพัฒน์คุมช่างกระทำพระแท่น และพระวิสูตรมาตั้งและกั้นในพระที่นั่งจักรพรรดิ์พิมานองค์ข้างตะวันตก แล้วเสด็จออกมาประทับและสวรรคตอยู่ที่พระแท่นทำใหม่นั้น

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 13 กันยายน 2011 เวลา 16:23 น.
 

โครงการ ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.)

พิมพ์ PDF

หลักการและเหตุผล

ภาคธุรกิจบริการของประเทศไทยเป็นสาขาเศรษฐกิจที่ทวีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน ตามระดับการเพิ่มขึ้นของการพัฒนา ความทันสมัย และการเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโลก กระแสโลกาภิวัฒน์ทำให้เกิดการไหลและแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศทั้งในเรื่องของธุรกิจ ข้อมูลข่าวสาร และกิจกรรมการค้าและบริการ การแข่งขันในยุคของการค้าแบบไร้พรมแดนนอกจากเน้นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานแล้วก็ยังให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการที่จะเสนอให้กับลูกค้า

หัวใจของธุรกิจบริการอยู่ที่ทรัพยากรมนุษย์ เพราะปัจจัยมนุษย์มีความสำคัญสูงในการให้บริการ ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องการความรู้และความเชี่ยวชาญเท่านั้น หากยังต้องการความรับผิดชอบ ความสามารถในการบริการ การเอาใจใส่กับความต้องการของลูกค้า และการมีคุณธรรมและจริยธรรม ผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการหรือบุคลากรในภาคบริการจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาและพัฒนาเพื่อสร้างทัศนคติที่ดี เพิ่มความรู้ และทักษะให้ตนเอง โดยมีเป้าหมายที่การสร้างให้เกิด จิตใจและคุณธรรมในการให้บริการ(Service mind) และความเป็นเลิศของบุคลากรในทุกระดับเพื่อเป็นปัจจัยนำไปสู่ความเป็นเลิศในการให้บริการ และการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับธุรกิจของตนเองอย่างยั่งยืน โดยมีผลลัพธ์สุดท้ายที่การสร้างรายได้และความก้าวหน้าในอาชีพอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีให้กับบุคลากรทุกระดับในภาคบริการ

ปัจจุบันแม้ว่าจะมีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมากมายทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แต่ส่วนใหญ่มักดำเนินการในเชิงการค้าและมุ่งเน้นไปที่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมและมีการให้บริการอบรมพัฒนาแบบเฉพาะด้านมากกว่าพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม เนื่องจากงานบริการเป็นงานที่ต้องมีปฎิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างใกล้ชิดจึงต้องการการพัฒนาแบบบูรณาการ ภายใต้เงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้นจึงไม่เป็นที่น่าปลาดใจว่าทำไมยังมีบุคลากรในภาคบริการอีกมากยังไม่ได้รับการพัฒนา

ดังนั้น ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) ซึ่งประกอบด้วยคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งการบริหารจัดการด้านอื่น ซึ่งมีอุดมการณ์และเป้าหมายในแนวทางเดียวกัน ได้ตระหนักถึงช่องว่างดังกล่าว จึงได้ร่วมมือกันจัดตั้งศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) ขึ้นเพื่อผลักดันและดำเนินการให้เกิดการพัฒนามนุษย์ในภาคบริการอย่างเป็นองค์รวม

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม 2013 เวลา 16:57 น.
 

ประเด็นพิจารณาเรื่องทุนมนุษย์กับธุรกิจ

พิมพ์ PDF

ประเด็นพิจารณาเรื่องทุนมนุษย์กับธุรกิจ

            ๑.สถานการณ์ปัจจุบัน  ผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศไทย มากกว่า 95% เป็นธุรกิจ SMEs และ MSEs ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ส่วนมากทำธุรกิจตามกระแส หรือรับมรดกจากบรรพบุรุษ ขาดความรู้และความเข้าใจในธุรกิจที่ทำ เรียนรู้จากความผิดพลาดและพัฒนาด้วยตัวเอง มีจำนวนไม่มากที่สามารถพัฒนาและขยายธุรกิจให้ใหญ่โตขึ้น  การที่ไม่มีการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ ทำให้ไม่มีการวางแผนในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ ไม่ได้สร้างคนมารองรับการเติบโตของธุรกิจ จ้างคนเมื่องานมาก ปลดคนเมื่องานน้อย  ขาดความยั่งยืน ไม่เน้นเรื่องคุณภาพ ไม่ให้คุณค่ากับทุนมนุษย์ พนักงานที่ทำงานด้วยจึงไม่ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมให้มีทุนมนุษย์เพิ่มขึ้น  

            ๒.ปัญหา                       ผู้ประกอบการ SMEs มีเงินทุนไม่มากนัก ประกอบธุรกิจด้วยความสามารถของเจ้าของเอง ลองผิดลองถูก รับพนักงานใหม่ที่ไม่เป็นงานให้เงินเดือนถูกๆเพราะคนที่เป็นงานหรือรู้งานจะไปอยู่บริษัทใหญ่ๆที่มีเงินเดือนดี และสวัสดิการที่ดีกว่า เมื่อพนักงานได้รับการสอนงานและมีปะสบการณ์จะถูกดึงตัวไปทำงานบริษัทที่ใหญ่กว่า หรือเงินเดือนดีกว่า หรือบริษัทเปิดใหม่ที่ต้องการหัวหน้างานหรือผู้จัดการ ผู้ประกอบการส่วนมากจะเป็นผู้บริหารเอง จ้างแค่หัวหน้างาน หรือผู้จัดการที่เป็นแค่ทำตามคำสั่ง หรือเป็นกันชน

            ๓.สิ่งที่ควรจะเป็น          ต้องให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ ในการทำธุรกิจ สร้างแผนธุรกิจ เรียนรู้การบริหารจัดการธุรกิจแบบมืออาชีพ หันมาสนใจกับทุนมนุษย์ โดยเริ่มการสร้างทุนมนุษย์ในตัวเจ้าของและหุ้นส่วนก่อน หลังจากนั้นจึงจะไปเรื่องสร้างแผนบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ ในองค์กรของตัวเอง

            ๔.ทำอย่างไร                 ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาทุนมนุษย์ เรียนรู้การสร้างทุนทางธุรกิจ (เศรษฐกิจ) และการสร้างทุนทางสังคม ควบคู่กันไปอย่างสมดุล และหาช่องทางสนับสนุนด้านเงินทุน สร้างขบวนการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการที่เกิดใหม่หรือที่กำลังมีปัญหา ที่มีการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ ที่เหมาะสม อาจมีการจัดตั้งกองทุน หรือจัดตั้งสภาทุนมนุษย์เพื่อธุรกิจ ขึ้นมาบริหารจัดการในส่วนนี้

            ๕.จะทำให้สำเร็จเป็นรูปธรรมได้อย่างไร           ต้องมีการจัดตั้งกองทุนและมีหน่วยงานขึ้นมาบริหารจัดการและมีงบประมาณเพียงพอ ( ขึ้นตรงกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือ .....................?  )ผู้ประกอบการต้องเข้ามาเป็นสมาชิก มีเงินจากภาครัฐส่วนหนึ่งที่เหลือเป็นเงินค่าสมาชิกของผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป  บริหารจัดการอิสระ มีผู้จัดการและพนักงานประจำ  โดยการควบคุมของกรรมการบริหาร (กรณีเป็นองค์กรที่ไม่ขึ้นกับส่วนราชการ) ที่ได้จากการคัดสรรค์หรือแต่งตั้ง  จากภาคธุรกิจ สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สถาบันการศึกษา  สมาชิก (สามารถใช้โครงสร้างของ ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ได้)

            ขับเคลื่อนขบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยส่งเสริมบทบาทของสภาบันทางสังคมในกระบวนการพัฒนาประเทศ บูรณาการกลไกการดำเนินงานทั้งในระดับครอบครัว ระดับชุมชนท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับสากล ให้เชื่อมสัมพันธ์กันอย่างเกื้อกูล ส่งเสริมองค์กรธุรกิจในการดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะบทบาทในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชนที่สอดคล้องกับศักยภาพแต่ละพื้นที่

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๖ มีนาคม ๒๕๕๔

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 13 กันยายน 2011 เวลา 16:23 น.
 


หน้า 534 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5609
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8629131

facebook

Twitter


บทความเก่า