Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ความสัมพันธ์เศรษฐกิจจีน-มาเลเซีย “แนบแน่น” แค่ไหน

พิมพ์ PDF

ความสัมพันธ์เศรษฐกิจจีน-มาเลเซีย “แนบแน่น” แค่ไหน

โดย ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/aksornsri/20111103/416929/ความสัมพันธ์เศรษฐกิจจีน-มาเลเซีย-แนบแน่น-แค่ไหน.html

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันต้องทิ้งภารกิจรับมือกับปัญหาน้ำท่วมที่บ้าน เพื่อบินไปร่วมงาน China-ASEAN Expo ครั้งที่ 8 ณ นครหนานหนิงของจีน ทำให้ได้รับรู้รับทราบพัฒนาการความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดด้านใต้ของไทยด้วยความอิจฉา ดิฉันกำลังหมายถึงประเทศมาเลเซียค่ะ

หนังสือพิมพ์จีนหลายฉบับโดยเฉพาะ China Daily ได้ลงข่าวและบทวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่“สุดแสนจะแนบแน่น”ระหว่างสองประเทศนี้ ทำให้ดิฉันยิ่งเกิดอาการตาร้อนขึ้นมาขอไล่เรียงให้เห็นทีละประเด็นกันเลยนะคะ

ด้านการค้าระหว่างประเทศ ในบรรดา 10 ประเทศในอาเซียน มาเลเซียมีมูลค่าการค้าขายกับจีนมากที่สุด โดยสามารถแซงหน้าสิงคโปร์มาได้ร่วม 3 ปีติดต่อกันแล้ว การค้าจีน-มาเลเซียมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 25 ของมูลค่าการค้าจีน-อาเซียนทั้งหมด และขยายเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2000 ซึ่งเป็นปีแรกที่อดีตนายกฯ จูหรงจีของจีนได้เริ่มจีบอาเซียนให้ร่วมจัดทำความตกลง ASEAN-China FTA

ภายใน 10 ปีต่อมา พบว่า การค้าจีน-มาเลเซียได้ขยายตัวจนมีมูลค่าสูงกว่า 74,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ ประเทศไทยเพิ่งจะมีมูลค่าการค้ารวมกับจีนแตะหลัก 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2010 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ จีนก็ได้ขยับขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของมาเลเซียตั้งแต่ปี 2008 และล่าสุด รัฐบาลสองประเทศได้ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2015 จะขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ทะลุหลัก 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงชัดเจนว่า สองประเทศนี้มีความสัมพันธ์ทางการค้าที่สนิทแนบแน่นแค่ไหน

ด้านสินค้าหลักที่ค้าขายกับจีน พบว่า สินค้าที่มาเลเซียส่งออกไปจีนก็มิได้เป็นเพียงสินค้าเกษตรมูลค่าต่ำที่ต้องใช้แรงงานทำไร่ไถนาพรวนดินรอฟ้ารอฝน หรือต้องหมั่นรดน้ำรอวันเวลากว่าจะออกดอกออกผลตามฤดูกาล (เหมือนบางประเทศ) แต่มาเลเซียสามารถส่งออกสินค้าชิ้นเล็กๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มต่อชิ้นสูง (high value-added) และยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ในจีนได้อีกด้วย โดยเฉพาะสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งจากมาเลเซียไปจีน คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 51.4 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดจากมาเลเซียไปจีน นอกจากนี้ มาเลเซียยังเป็นผู้ส่งออกหลักสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูงอย่าง “ปาล์มน้ำมัน” โดยสามารถครองส่วนแบ่งในตลาดจีนมากถึงร้อยละ 60 ของปาล์มน้ำมันนำเข้าทั้งหมดของจีน

ด้านการลงทุน หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่า นักธุรกิจมาเลเซียได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในจีน และบางธุรกิจยังสามารถขยายสาขาครอบคลุมไปทั่วแผ่นดินจีนจนแทบจะครบทุกมณฑล ตัวอย่างเช่น ธุรกิจของเศรษฐีมาเลเซียนายโรเบิร์ต ก๊วก ที่เปิดให้บริการโรงแรมห้าดาว Shangri La ไปทั่วประเทศจีนกว่า 32 แห่งรวมไปถึงโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในหลายเมือง และกรณีห้างสรรพสินค้า Parkson ของทุนมาเลเซีย ซึ่งเปิดสาขาตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศจีนกว่า 30 แห่ง

ที่สำคัญ นอกจากจะเป็นดินแดนเสือเหลืองแล้ว มาเลเซียยังเป็น “เสือปืนไว” ด้วยการเปิดโครงการร่วมมือกับจีนเพื่อลงทุนสร้าง “นิคมอุตสาหกรรมจีน-มาเลเซีย” หรือชื่อทางการว่า “China-Malaysia Qinzhou Industrial Park” ในเมืองชินโจวของกวางสี

ทำไมดิฉันเรียกมาเลเซียว่าเป็น “เสือปืนไว” ก็เพราะโครงการร่วมจัดตั้งนิคมจีน-มาเลเซียฯ แห่งนี้เพิ่งจะเริ่มเกริ่นพูดขึ้นมาในระหว่างที่นายกฯ เวินเจียเป่าของจีนเดินทางไปเยือนมาเลเซียเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา และดิฉันได้เคยเขียนถึงเรื่องนี้ในบทความชื่อ “เหตุอันใดนายกฯ จีน (บินข้ามไทย) ไปเยือนมาเลเซีย-อินโดนีเซีย” หากสนใจ ลองไปค้นหาอ่านได้ใน web ค่ะ

มาบัดนี้ ปรากฏว่า ภายใน 6-7 เดือน แนวคิดดังกล่าวก็สามารถก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างได้อย่างน่าทึ่ง เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมาที่นครหนานหนิง นายกรัฐมนตรีของจีนและนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีเปิดตัวโครงการนิคมจีน-มาเลเซียฯ ดังกล่าว ซึ่งจะตั้งอยู่ในเมืองชินโจว ของกวางสี ดินแดนที่มีความสำคัญยิ่งในฐานะเป็น “ประตูสู่อาเซียน”ของจีน ในขณะนี้ ชินโจว เป็นเมืองที่รัฐบาลจีนได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลในการพัฒนาและผลักดันให้เป็นเมืองริมทะเลด่านหน้าในการเชื่อมโยงกับอาเซียน นอกจากจะมีโรงกลั่นน้ำมันในเมืองชินโจว และการเร่งพัฒนาให้เป็นฐานการผลิตปิโตรเคมีที่สำคัญของจีน รวมทั้งมีท่าเรือชินโจว ที่สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ถึง 3 แสนตัน ล่าสุด รัฐบาลจีนยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจากเมืองชินโจวไปยังนครหนานหนิงด้วย จึงไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมทั้งสองฝ่ายจึงได้เลือกที่จะตั้งนิคมจีน-มาเลเซียฯ ที่เมืองศักยภาพสูงแห่งนี้

ในงาน China-ASEAN Expo ปีนี้ ได้มีการจัดบูทใหญ่โตเพื่อเผยแพร่ข้อมูลโครงการนิคมจีน-มาเลเซียฯ ดังกล่าว แต่ดิฉันตั้งใจไม่นำมาเขียนในคอลัมน์นี้ เพราะไม่อยากช่วยประชาสัมพันธ์ให้พวกเขาค่ะ ในงานนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวง MITI ของมาเลเซียยังเล่าให้ฟังว่า “ตอนนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะเพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ”และย้ำว่า“มาเลเซียได้เลือกแล้วอย่างแน่วแน่ที่จะก้าวไกลไปกับจีน”

เมื่อกลับมาย้อนคิดว่า แล้วไทยแลนด์แดนสนธยาของเราได้ทำอะไรกับเขาบ้าง (เนี่ย) ท่านผู้อ่านก็คงพอจะเห็นภาพแล้วมังค่ะ ว่าทำไมดิฉันต้องเกิดอาการอิจฉาตาร้อนมาเลเซีย !!!



--

Aksornsri Phanishsarn, Ph.D.

Assistant Professor

Faculty of Economics

Thammasat University, THAILAND

อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 24 มกราคม 2012 เวลา 13:25 น.
 

รัฐเข้าคุม เอกชนถอยไป

พิมพ์ PDF

รัฐเข้า (คุม) เอกชนถอยไป: Guo Jin Min Tui

โดย ดร.อักษรศรี  พานิชสาส์น

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

http://www.bangkokbiznews.com/home/news/politics/opinion/aksornsri/news-list-1.php

 

เมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมาก่อนที่จะตกอยู่ในสถานะ“ผู้อพยพ”ลี้ภัยน้ำท่วมอย่างเต็มตัว ดิฉันได้มีโอกาสบินไปเก็บข้อมูลในเมืองจีนติดกันหลายรอบ และมีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมาฝากผู้อ่านค่ะ เป็นเรื่องของทิศทางและแนวคิดของจีนที่จะให้ “รัฐเข้า (คุม) เอกชนถอยไป”หรือภาษาจีนกลางเรียกว่า Guo Jin Min Tui (กั๋ว จิ้น หมิน ทุ่ย) ซึ่งบิ๊กบอสคนเก่งของกลุ่มมิตรผลในจีน “คุณชูศักดิ์ ว่องกุศลกิจ” ผู้มีประสบการณ์ยาวนานร่วม 18 ปีในแดนมังกรได้เริ่มเกริ่นถึงแนวคิดนี้ให้ดิฉันและคณะดูงานได้รับทราบ  และในฐานะนักเศรษฐศาสตร์  ดิฉันจึงให้ความสนใจกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ จนต้องกลับไปค้นคว้าข้อมูลที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าว เพราะเป็นอีกตัวอย่างของนโยบายจีนที่พลิกตำราเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (อีกแล้ว) ค่ะ

ที่ผ่านมา รัฐบาลประเทศส่วนใหญ่จะเน้นดำเนินการตามแนวคิด privatization หรือแปลไทยว่า “การแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชน” เพราะเชื่อกันว่า เอกชนน่าจะทำธุรกิจได้ดีกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่ากิจการของรัฐ  แต่แนวคิด “กั๋ว จิ้น หมิน ทุ่ย” ในประเทศจีนกลับตรงกันข้าม เพราะในวันนี้ ประเทศจีนได้หันมาเน้น “การแปรรูปกิจการเอกชนให้เป็นของรัฐ”

ในขณะนี้ รัฐวิสาหกิจจีนในหลายอุตสาหกรรมได้ (กลับ) ขึ้นมามีบทบาทแทนที่บรรดาบริษัทเอกชนจีนที่เคยมีอยู่ดาษดื่น ทำให้อุตสาหกรรมของเอกชนจีนหดเล็กลง หรือต้องถอยฉากออกไป จนอาจจะทำให้ภาคเอกชนต้องลดบทบาทจากที่เคยเป็นผู้เล่นหลักในระบบเศรษฐกิจจีนก็เป็นได้

แนวคิด “รัฐเข้า (คุม) เอกชนถอยไป” เริ่มประมาณปลายปี 2009 เมื่อทางการจีนเริ่มนำมาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อให้ภาครัฐเข้าคุมกิจการของกลุ่มธุรกิจสำคัญและเพื่อโอบอุ้มรัฐวิสาหกิจจีนให้กลับขึ้นมาเป็น “พระเอก” ในอุตสาหกรรมพื้นฐาน เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เคมีภัณฑ์ ถ่านหิน ปิโตรเลียม เหมืองแร่ การผลิตไฟฟ้า และอุตสาหกรรมสำคัญอื่นๆ เช่น สายการบิน การเงิน การประกันภัย ไปจนถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่ทำกำไรค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทเอกชนจีนหลายแห่งในอุตสาหกรรมเหล่านี้ถูกบีบให้ปิดตัวลง บ้างก็ถูกบีบให้ขายออกไปในราคาที่ต่ำ

ดังนั้น ภายใต้นโยบาย “รัฐเข้า (คุม) เอกชนถอยไป” นี้  กิจการของรัฐในจีนหลายแห่งได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการกำหนดราคาหรือกำหนดปริมาณการผลิตในกลุ่มธุรกิจเหล่านั้น

นอกจากนี้ เอกชนจีนหลายรายได้ออกมาโอดครวญว่า “มีประวัติทางการเงินดี  แต่กลับกู้เงินไม่ได้ เพราะธนาคารในสังกัดของรัฐบาลจีนไม่เห็นบริษัทเอกชนอยู่ในสายตา” จนถึงขั้นเปรียบเปรยว่า “ในฤดูหนาว วิสาหกิจของรัฐได้ใส่เสื้อหนาๆ แต่บริษัทเอกชนจีนยังคงใส่เสื้อบางๆ”

สำหรับตัวอย่างมาตรการที่ทางการจีนนำมาใช้ เช่น การเข้าซื้อกิจการ ตลอดจนการใช้เครื่องมือจากนโยบายของรัฐต่างๆ รวมทั้งการอัดฉีดให้เงินอุดหนุนกิจการของรัฐเป็นจำนวนมหาศาล พูดง่ายๆว่า โอบอุ้มกันสุดๆ จนเกิดคำกล่าวว่า รัฐบาลจีน“ปล่อยให้เอกชนกินน้ำซุป ส่วนรัฐวิสาหกิจจีนได้เป็นฝ่ายกินชิ้นเนื้อ”

ในยุค “รัฐเข้า (คุม) เอกชนถอยไป” นี้  พบว่า สัดส่วนของทุนและสินทรัพย์ที่ถือโดยรัฐวิสาหกิจจีนได้ขยายเพิ่มมากขึ้นและเริ่มเข้ามาแทนที่ทุนเอกชนจีนในหลายสาขาอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น สายการบินของเอกชนจีนได้ถูกกลืนเข้าไปอยู่ในกำมือของสายการบินหลักที่เป็นรัฐวิสาหกิจจีน  และกรณีตัวอย่างของเหมืองถ่านหินเอกชนจีนในมณฑลซานซีได้ถูกบีบให้กลายเป็นของรัฐ (Nationalization) เป็นต้น

กลุ่มที่สนับสนุนปรากฏการณ์นี้ในจีน ส่วนใหญ่เป็นรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละมณฑลพยายามอธิบายว่า นโยบาย “รัฐเข้า (คุม) เอกชนถอยไป”  เป็นเพียงการดำเนินการตามระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะเฉพาะของจีน หรือภาษาทางการเรียกว่า“State-led Socialist Market Economy with Chinese Characteristics” และเพื่อส่งเสริมให้ “ผู้ที่แข็งแรง (กว่า) เข้ามา ส่วนผู้อ่อนแอก็ต้องถอยฉากไป”

อย่างไรก็ดี  ในอีกด้านหนึ่งก็มีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบาย “กั๋ว จิ้น หมิน ทุ่ย” ของทางการจีน  เช่น นักวิชาการจีนจากหลายสถาบันมีความเห็นว่า “นโยบายนี้เป็นการถอยหลังของการปฏิรูปเศรษฐกิจสู่ระบบตลาดที่ดำเนินมานานร่วม 30 ปี”  และโจมตีว่า ธุรกิจหลายอย่างได้ถูกผูกขาดโดยวิสาหกิจในสังกัดของรัฐบาลจีนและยังได้เข้ามา “แย่งกำไร” ของภาคเอกชน จึงเริ่มมีการตั้งคำถามในแง่การแข่งขันที่เป็นธรรมในระบบตลาด

นอกจากนี้  ยังมีบางรายถึงขั้นวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาว่า “แท้จริงแล้ว มาตรการนี้เป็นไปเพื่อตอบสนองกลุ่มผลประโยชน์ (พิเศษ) ในรัฐบาลจีน” และยังได้โยงไปถึงผลประโยชน์ของรัฐบาลท้องถิ่นจีนจากการเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่รัฐบาลท้องถิ่นเป็นเจ้าของ เพราะต้องไม่ลืมว่า ภายใต้ระบบ Decentralization รัฐบาลท้องถิ่นของจีนสามารถแสวงหารายได้และเก็บรายได้ไว้เองส่วนหนึ่งเพื่อการบริหารจัดการของท้องถิ่นตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องส่งให้รัฐบาลกลางที่ปักกิ่งทั้งหมด รัฐบาลท้องถิ่นเหล่านี้จึงต้องการ “ทำมาหากิน” หาเงินเข้ากองคลังของตนนั่นเอง

ด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านแนวคิด “รัฐเข้า (คุม) เอกชนถอยไป” จากหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย  ทำให้บางองค์กรของจีน เช่น สภาที่ปรึกษาทางการเมืองจีน (CPPCC) ต้องออกมาปฏิเสธว่า “ไม่มีกั๋ว จิ้น หมิน ทุ่ยในประเทศจีน !!! ”  จึงชัดเจนว่า  แนวคิดเรื่องนี้ในประเทศจีนยังไม่มีข้อยุติ และคงต้องเกาะติดกันต่อไป เพื่อจะได้นำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อธุรกิจทุนต่างชาติในจีน รวมทั้งธุรกิจของทุนไทยในจีนด้วยค่ะ

ก่อนจบ ขอแสดงความขอบคุณรัฐบาลจีนที่ได้มีน้ำใจส่งเงินและสิ่งของมาบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองไทยของเรา  ขอให้น้ำลดเร็วๆ เราจะได้ผ่านพ้นปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่นี้ไปด้วยกัน (ซะที)

หมายเหตุ : ข้อมูลหนังสือทุนจีนรุกอาเซียน http://www.se-ed.com/eshop/Products/Detail.aspx?No=9786167536125

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 24 มกราคม 2012 เวลา 13:44 น.
 

โครงการจัดทำแผนพัฒนาบริการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการเปิดเสรีบริการท่องเที่ยว

พิมพ์ PDF

วันที่ 23 ธันวาคม 2554 เป็นวันที่ผมมีความสุขมากได้เข้าร่วมงานสัมมนาจัดโดยกรมการท่องเที่ยว และวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอชมเชยทางกรมการท่องเที่ยวที่มอบหมายให้ ทีมคณะทำงานของวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีคุณพาวิณี ศุนาลัย เป็นผู้จัดการโครงการ ผมมีความประทับใจในการนำเสนอของทีมงานวิจัยมาก ทางทีมงานได้แบ่งการนำเสนอออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ "สรุปการวิเคราะห์ประเด็น ปัญหา และโอกาสจากการเปิดเสรีบร...ิการท่องเที่ยว" นำเสนอโดย ดร.นพันธ์ (ต้องขอประทานโทษถ้ากล่าวนามท่านผิด) กับ "ร่างแผนพัฒนาบริการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการเปิดเสรีบริการท่องเที่ยวของกรมการท่องเที่ยว" นำเสนอโดย คุณพาวิณี ทั้งสองท่านได้นำเสนอ ได้สมบูรณ์ มาก เปรียบเทียบกัยการนำเสนอก่อนหน้านี้ ถือว่าทางคณะได้ทำการบ้านอย่างดี และพัฒนาการวิจัยและการนำเสนอได้อย่างไม่มีที่ติ นอกเหนือจากนั้น ผมได้พบและสนทนากับท่านอธิบดีกรมการท่องเที่ยว คุณสุพล ศรีพันธ์ เป็นครั้งแรก ผมมีความประทับใจท่านมาก ท่านไม่ถือตัวเข้ามาสนทนาร่วมกับพวกเราอย่างเป็นกันเอง วิสัยทัศน์และการสนทนาของท่าน แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นคนทำงาน รู้จริง เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่น่านับถือ ที่ผมประทับใจมากที่สุดคือ ท่านมาเปิดงานแล้วต้องออกไปงานอื่น แต่ท่านให้ความสำคัญ โดยขอยกเลิกงานอื่นและอยู่ร่วมฟังสัมมนากับพวกเราตลอดเวลา ท่านได้แสดงความคิดเห็นและชี้แจงเป็นระยะ ที่ตรงประเด็น ผมในฐานะที่มีการท่องเที่ยวอยู่ในสายเลือด นอนตาหลับแล้วครับ เมื่อได้พบท่านอธิบดี และได้ฟังการนำเสนอของทีมงานวิจัย ขอให้นำข้อเสนอของงานวิจัยไปทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และถ้าจะมีการทำวิจัยเรื่องท่องเที่ยว ก็ขอให้ใช้การวิจัยที่นำเสนอในวันนี้ไปต่อยอด สุดท้ายของแสดงความยินดีกับผู้จัดด้วยความจริงใจ บรรยากาศในงานดีมาก ได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วน มีผู้ให้ข้อคิดและเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก

 

ธุรกิจท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

พิมพ์ PDF

ธุรกิจท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

 

 

ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่กว้างมาก เกี่ยวข้องกับคนเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยโชคดีที่มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ อันได้แก่ ป่า เขา ทะเล  แม่น้ำ สถานที่ทางประวัติศาสตร์  ศิลปะและวัฒนธรรมชีวิตความเป็นอยู่และอารยะธรรมของชุมชนต่างๆ  ล้วนเป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้มาสัมผัสกับสิ่งที่ล้ำค่าเหล่านี้

นักท่องเที่ยวทั่วโลกต่างยอมรับว่าประเทศไทยเป็นสวรรค์ของพวกเขา เรามีธรรมชาติที่สวยงาม หาดทรายขาว ทะเลสวย อากาศดี ค่าใช้จ่ายถูก ช่วงเดือนธันวาคมจนถึงเดือนมีนาคมนักท่องเที่ยวจากประเทศแถบยุโรป ต่างหนีหนาวจากประเทศของเขาเพื่อมาพักผ่อนที่ประเทศไทย เพราะอากาศที่ประเทศไทยอบอุ่นดีกว่าประเทศของเขาที่มีอากาศหนาวมาก แถมบางแห่งมีหิมะตก จนไม่สามารถออกจากบ้านได้ และที่สำคัญที่สุดคือค่าใช้จ่ายต่ำกว่าที่เขาอยู่ที่บ้านของเขาเอง  ดังนั้นในช่วงดังกว่านักท่องเที่ยวจากยุโรปจึงแห่กันมาประเทศไทยเป็นจำนวนมาก นักท่องเที่ยวเหล่านี้จะอยู่ในประเทศไทยอย่างน้อย ๒ อาทิตย์ จะเดินทางไปเที่ยวทางภาคกลาง และทางเหนือก่อนและจะลงใต้เพื่อพักผ่อนตามชายหาด ก่อนเดินทางกลับประเทศของเขา

มีนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นพวกหนุ่มโสด ทั้งหลายที่รู้จักประเทศไทยเป็นอย่างดีมาประเทศไทยทุกปีจนนับครั้งไม่ถ้วน พวกนี้มักจะพักอยู่แถวถนน นานา ที่กรุงเทพ หรือไม่ก็พักอยู่ที่พัทยา พวกนี้จะมาพักอยู่ที่ประเทศไทยปีละไม่ต่ำกว่า ๓ เดือน บางคนก็ซื้อ บ้านพัก หรือคอนโดไว้เลย โดยใช้ชื่อของผู้หญิงไทยที่เป็นภรรยาหรือแฟนของนักท่องเที่ยวเหล่านั้น นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ส่วนมากไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหน วันๆก็อยู่แถวบาร์เบียร์ หรือชายหาด

นักท่องเที่ยวแต่ละประเทศต่างมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องรู้จักนักท่องเที่ยวของแต่ละประเทศเพื่อที่จะได้เสนอบริการให้ถูกต้องตามความต้องการของนักท่องเที่ยวเหล่านั้น แต่ในบางครั้งการท่องเที่ยวก็ถูกผลประโยชน์เข้ามาปิดกั้นการให้บริการที่ดีแก่นักท่องเที่ยว โดยผู้ประกอบการบางรายเห็นแก่ผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลักโดยหากินกับนักท่องเที่ยวในทางที่ผิดโดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายของประเทศชาติ และจรรยาบรรณของอาชีพ

รัฐบาลได้เสียเงินไปเป็นจำนวนมากเพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นประเทศศูนย์กลางของการท่องเที่ยวแถบเอเชียตะวันออก แต่ก็มีผู้ประกอบการเป็นจำนวนไม่น้อยที่ทำลายภาพพจน์อันดีงามของประเทศไทย ต่างเห็นแก่ผลประโยชน์ของตัวโดยการร่วมมือกับคู่ค้าต่างประเทศใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่ต้มตุ่นนักท่องเที่ยวเหล่านั้น

ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นธุรกิจการให้บริการเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยว มีคนไทยจำนวนไม่มากนักที่เข้าใจธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่ละเอียดอ่อนมาก เกี่ยวข้องกับทุกสิ่งในชีวิตประจำวัน  ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่างกระทบกับธุรกิจท่องเที่ยวไม่มากก็น้อย 

ธุรกิจท่องเที่ยวที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันล้วนทำกันแบบตามน้ำ กินแต่ของเก่า ผมเสียดายเป็นอย่างมากที่ประเทศไทยมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่อุดมสมบูรณ์ไม่แพ้ประเทศใดในโลก ขาดผู้จัดการที่รู้จริง ทำให้การท่องเที่ยวของเราตกต่ำลงไปเลื่อยๆ ผลประโยชน์ไปตกอยู่ในมือของคนเพียงกลุ่มเดียว แทนที่จะไปตกอยู่ในมือของคนไทยทั้งประเทศ เพราะทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวล้วนเป็นทรัพยากรของแผ่นดิน ควรจะต้องตกไปอยู่ในมือของคนไทยโดยรวม

ยังไม่สายเกินไปครับ ขอให้ผู้ที่มีความรับผิดชอบภาครัฐหันมาให้ความสนใจและศึกษาให้เข้าใจถึงธุรกิจท่องเที่ยวอย่างแท้จริง  ดึงทุกส่วนให้มีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ สถาบันการศึกษา  ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว ทั้งเจ้าของกิจการ และลูกจ้างผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยวทั้งหลาย ผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ และประชาชนทั่วไปที่เกี่ยวข้อง  ทุกคนจะต้องหันหน้าเข้าหากัน จะต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้เรื่องธุรกิจการท่องเที่ยวแบบถาวร และยั่งยืน ทุกคนจะต้องปรับที่ตัวเองก่อนและหันมาช่วยกันปรับแนวทางการประกอบธุรกิจในภาพรวมให้มองถึงผลระยะยาวที่ทำให้ประชาชนคนไทยได้ประโยชน์จากธุรกิจการท่องเที่ยว ดึงทุกส่วนให้มีส่วนร่วมและคิดถึงผลประโยชน์ร่วมและใช้นโยบายเศรษฐกิจพอเพียง

 

 

 

ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ จะมัวแต่วิ่งแย่งลูกค้ากันเอง และไม่พัฒนาโปรแกรมนำเที่ยวและการให้บริการอย่างเช่นปัจจุบันไม่ได้ ท่านต้องมีการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์อย่างแท้จริง ธุรกิจบริการเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยมนุษย์มากที่สุด การบริการต้องมาจากใจ และความรู้ในทักษะของแต่ละงาน อย่าคิดแบบเก่าๆที่ไม่กล้าลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์เพราะกลัวว่าลงทุนไปแล้วไม่สามารถควบคุมได้ การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ ท่านต้องลงทุนด้วยความจริงใจ เพราะความจริงใจเท่านั้นที่จะยึดเหนี่ยวและเอาชนะความจงรักภักดีของมนุษย์ได้

นักวิชาการและผู้ประกอบการควรจะหันมาจับเข่าคุยกัน และช่วยกันให้ความรู้และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันเพื่อให้ได้แนวทางที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง สถาบันการศึกษาเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องร่วมมือกับผู้ประกอบการธุรกิจอย่างแท้จริงในการพัฒนาและผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสู่สังคม ไม่ใช่เน้นผลทางธุรกิจของสถาบันการศึกษาเพียงอย่างเดียว

ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบภาครัฐ ต้องเปิดใจกว้างไม่ทำตัวเป็นนาย  พยายามศึกษาหาความรู้และทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เป็นผู้ประสานที่ดี เปิดกว้างให้มีการเสนอแนวทางจากผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน วางตัวเป็นกลาง และดำเนินการอย่างรอบครอบ คำนึงถึงเป้าหมายหลัก ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจที่อยู่ในกรอบและสร้างสรรค์ และกำจัดผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ดีทำธุรกิจแบบแอบแฝง ทำลายชื่อเสียงของประเทศชาติ

ภาครัฐต้องเน้นด้านการสร้างบุคลากรด้านการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และต้องมีกรอบเรื่องรายได้ที่เหมาะสม ไม่ใช่ทำแบบที่ผ่านมา สร้างมาตรฐานบุคลากรแต่ไม่มีการกำหนดรายได้ที่เหมาะสม เช่นเมื่อมีปัญหาเรื่องนักท่องเที่ยวถูกทิ้งหรือไม่ได้รับการบริการที่ดีก็โทษว่ามัคคุเทศก์ไม่ดี มัคคุเทศก์มีปัญหา และพยายามตั้งมาตรฐานของมัคคุเทศก์ให้สูง แต่ไม่เคยคิดว่าปัญหาจริงๆอญุ่ที่เจ้าของผู้ประกอบการธุรกิจ ไม่จ้างมัคคุเทศก์เป็นพนักงานประจำ มัคคุเทศก์ไม่มีเงินเดือนประจำ ดังนั้นไม่ว่ามัคคุเทศก์จะได้รับการเรียนรู้และมีมาตรฐานดีอย่างไรก็ตาม มัคคุเทศก์ก็อยู่ไม่ได้เพราะไม่มีรายได้ประจำ ไม่มีความมั่นคงในอาชีพ เราต้องสูญเสียบุคลากรที่ดีๆและมีความสามารถด้านธุรกิจการท่องเที่ยวไปเป็นจำนวนมากจากปัจจัยดังกล่าว

 

 

 

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๒๖ มีนาคม ๒๕๔๙

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2011 เวลา 23:56 น.
 

เรียนรู้เรื่องเงิน กรณีศึกษา บริษัท Promotion Travel

พิมพ์ PDF

เรียนรู้เรื่องเงิน กรณีศึกษา บริษัท Promotion Travel

 ผมได้รับเชิญไปบริหารบริษัทท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงทำทัวร์ไปประเทศอินเดีย ตามลอยพระพุทธศาสนา แต่เมื่อผมเข้าไปบริหาร เจ้าของไม่ได้ทำตามสัญญา และมีแนวโน้นว่าถ้าอยู่ต่อไปอาจจะมีปัญหาด้านเงินทอง ผมจึงลาออก และกำลังเจรจาต่อรองกับอีกบริษัท ทำให้เจ้าของบริษัทที่ผมเพิ่งเข้าไปบริหาร ลงประกาศในหนังสือพิมพ์ว่าผมไม่ได้ทำงานกับเขาแล้วและไม่รับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น   ลูกค้าที่ซื้อตั๋วเครื่องบินกับผมที่รู้จักผมดี เห็นว่าผมถูกรังแก จึงรวมตัวกันเปิดบริษัทโปรโมชั่นทราเวิลโดยให้ผมเป็นกรรมการผู้จัดการและให้หุ้นลมกับผม

บริษัท Promotion Travel เป็นบริษัทร่วมทุนของนักธุรกิจ ข้าราชการ และ ผู้บริหารองค์กรระดับชาติ  ทุนจดทะเบียน 3 แสน บาท ผู้ถือหุ้นชำระเงินเต็ม 100 %   เปิดให้บริการขายตั๋วเครื่องบิน และให้บริการจัดนำเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ เช่าพื้นที่ในร้านขายโคมไฟฟ้า บนถนนสุขุมวิทย์ เป็นสำนักงาน    เปิดบริษัทครั้งแรกมีพนักงานรวมทั้งผม 5 คน ไม่ได้จ้างพนักงานบัญชีโดยตรง ทำการลงบัญชีแบบรับมาจ่ายไป ไม่มีใครเข้าใจเรื่องระบบบัญชี เปิดบัญชีธนาคารสองบัญชี เป็นบัญชีเข้าหนึ่งบัญชีและบัญชีจ่ายอีกหนึ่งบัญชี  หุ้นส่วนที่เป็นผู้ให้เช่าสถานที่ เป็นผู้เซ็นต์เช็คร่วมกับผม บริษัทเจริญรุ่งเรื่องและมียอดรายรับสูงมาก เพียงหกเดือนก็มีเงินสดหมุนเวียนมากกว่า 3 ล้านบาท รายได้ส่วนมากมาจากค่านายหน้าจากการขายตั๋วเครื่องบิน ประมาณ 5% เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วก็ไม่เหลือกำไรเท่าใด เมื่อมีลูกค้ามากขึ้นก็ต้องเพิ่มพนักงาน ทำให้สำนักงานที่แบ่งเช่าเล็กไป จึงได้ย้ายสำนักงานไปอยู่ที่ ตึกอื้อจือเหลียง งานเข้ามาก และขยายตัวแบบก้าวกระโดด ทั้งด้านการขายตั๋วเครื่องบินและบริการนำเที่ยว  เนื่องจากผมไม่มีความรู้เรื่องการบริหารเงิน จึงไม่มีการทำแผนด้านการเงิน เงินสดหมุนเวียนจำนวนมากไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ ผู้จัดการธนาคารแนะให้ทำ OD ก็ไม่ทำเพราะเข้าใจว่าถ้าบัญชีเป็นตัวดำแสดงว่ามีฐานะการเงินมั่นคง เรื่องอะไรต้องไปเปิดบัญชี OD

จุดเบี่ยงเบนเริ่มเมื่อผมได้รับเช็คเด้งจากลูกค้าประจำรายหนึ่งเป็นจำนวน 3 แสนบาท และลูกค้ารายนั้นถูกจับอยู่ที่ต่างประเทศ ด้วยความไม่รู้ด้านการเงิน จึงทำให้กลัวและคิดแบบตรงๆว่า บริษัทจดทะเบียน 3 แสนบาท และไม่สามารถเก็บเงินจากลูกหนี้ 3 แสนบาท กำไรสะสมก็มีไม่ถึง 3 แสนบาท และเมื่อถึงกำหนดจะต้องจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินของลูกค้าจำนวน 3 แสนบาทจะเอาจากไหน ทั้งๆที่ขณะนั้นมีเงินสดหมุนเวียนอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ตัดสินใจทำงานที่เสี่ยง เพื่อหวังว่างานใหม่สามารถทำกำไรได้มาก เพื่อนำมาทดแทนกับหนี้สูญ

พบเรือขนสินค้าดัดแปลงเป็นเรื่องท่องเที่ยว ที่เจ้าของเรือจอดทิ้งไว้เฉยๆ จึงได้นำเสนอโครงการท่องเที่ยวทางเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นประจำทุกวัน ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น กับเจ้าของเรือ โดยใช้เรือดังกล่าว ทางเจ้าของเรือดูแลจัดการเรื่องการเดินเรือ ส่วนบริษัทโปรโมชั่น ดูแลเรื่องการจัดการบริการทั้งหมด รับผิดชอบค่าใช้จ่ายพนักงานบริการบนเรือ ค่าจ้างนักดนตรี ค่าการตลาด โดยทางเจ้าของเรือได้ส่วนแบ่งจากการหักค่าใช้จ่ายโดยตรง 60% และทางบริษัทโปรโมชั่นทราเวิล ได้ส่วนแบ่ง 40% ที่เหลือ เรือจุผู้โดยสารได้ 350 คน ต้นทุนอยู่ที่ 80 คน การเปิดโครงการยิ่งใหญ่มาก เป็นโปรแกรมท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมาก ออกเดินทางจากท่าเรือที่เป็นที่ตั้งของโรงแรมแม่น้ำปัจจุบัน ลงใต้ผ่านคลองเตยไปจนถึงปากน้ำ ระหว่างทางชมวิวสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา  ชมพระอาทิตย์ตก ฟังเพลิงจากวงดนตรีที่ชั้นดาดฟ้าของเรือ ประมาณ 19.00 น รับประทานอาหารค่ำและชมการแสดงรำไทยจากนักศึกษาวิทยาลัยนาถศิลป์ ที่ชั้นสอง  20.00 น ลงเต้นรำและฟังเพลงบรรยากาศ night club ชั้นใต้ท้องเรือจนเรือเทียบท่าเวลาประมาณ 22.00

โปรแกรมท่องเที่ยวดังกล่าวโด่งดังมากเป็นที่สนใจของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากเราเปิดให้บริการทุกวัน ไม่มีวันหยุด จุดคุ้มทุนอยู่ที่ 80 คน บางวันเรามีผู้โดยสารไม่ถึง 80 คนเราก็ขาดทุน ส่วนมากจะได้ผู้โดยสารเต็มในวันศุกร์และวันเสาร์ พนักงานหลักเป็นพนักงานเก่าทั้งหมด มีการจ้างพนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่ม นักดนตรีและนักแสด เพิ่ม พนักงานทุกคนทำงานด้วยใจรัก ช่วงเช้าทำงานในสำนักงาน ช่วงเย็นให้บริการในเรือ ทำให้การขายตั๋วเครื่องบินและการจัดนำเที่ยวอื่นๆต้องลดลง  ธุรกิจใหญ่โตและต้องใช้เงินทุนสูง แต่เราไม่มีการเพิ่มทุน ใช้เงินหมุนเวียนที่ได้จากการขายตั๋วเครื่องบินมาใช้จ่ายในการจ้างนักดนตรีและนักแสดง เมื่อโปรแกรมท่องเที่ยวเป็นที่รู้จักและกำลังจะไปได้สวย เจ้าของเรือก็ไม่ปฏิบัติตามสัญญา นำเรือไปให้คนอื่นเช่าและสวมรอยโปรแกรมของเรา เจ้าของเรือเอาค่าเช่าเรือคนเดียว แต่เราต้องเสียค่าจ้างนักดนตรีและนักร้อง ตลอดจนนักแสดง และแถมเสียชื่อสียงเพราะลูกค้าที่เคยไปกับเราได้แนะนำลูกค้าอื่นไปเที่ยวกับเราแต่กลับไปเจอการสวมรอยจากคนอื่น ทำตามโปรแกรมของเราใช้เรือลำเดียวกับเรา แต่โปรแกมในเรือเป็นโปรแกรมโชว์ลามกและเล่นการพนันแทน ครั้งแรกที่เจ้าของเรือนำไปให้คนอื่นเช่าอ้างว่าอยากเห็นว่าเขาทำอย่างไร และให้ผมลงไปดู ก็ได้ถ่ายรูปมาให้เจ้าของดู เป็นการโชว์ลามก และเล่นพนัน เมื่อเจ้าของเห็นรูปก็บอกว่าไม่ให้เช่าอีกแล้ว แต่ที่ไหนได้อีกอาทิตย์เดียวเจ้าของเรือได้ตกลงให้เขาเช่าทุกวัน ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เป็นเวลา 3 เดือน และจะให้เรือผมในวันที่เหลือซึ่งเป็นวันที่คนน้อย

ผมได้นำเรื่องการฟ้องร้องปรึกษาคุณอาซึ่งเป็นหัวหน้าผู้พิพากษา และท่านแนะนำว่าโอกาสชนะยากเพราะเป็นความแพร่ง ใช้เวลานาน และเราไม่มีเงิน จึงให้เลิกไป ผมจึงได้เลิกรายการทัวร์ดังกล่าว และหันมาพิจารณาเรื่องการขายตั๋วเครื่องบินอย่างเดิม แต่เนื่องจากตลอดเวลาที่เราทำเรื่องเรือ ทุกคนได้ทุ่มไปที่เรือทั้งหมดจึงทำให้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องตั๋วเครื่องบิน จึงทำให้ยอดขายลดลง เงินหมุนเวียนก็นำไปใช้เรื่องเรือทั้งหมด จึงทำให้ขาดเงินหมุนเวียน วันๆต้องวิ่งหาเงินมาใช้หนี้ และสิ้นเดือน ก็ต้องวิ่งหาเงินมาจ่ายเงินเดือนลูกน้อง ระหว่างที่มีปัญหา หุ้นส่วนที่ดีก็ให้กำลังใจและช่วยเหลือเต็มที่ แต่ก็มีหุ้นส่วนบางคนที่เอาเปรียบ และขอถอนหุ้นคืน ซึ่งผมก็คืนไปเต็มตามจำนวนหุ้นของเขา  ความจริงถ้าผมเข้าใจในการทำธุรกิจและรู้วิธีบริหารการเงิน ผมคงไม่ทำอย่างนั้น ผมควรจะเพิ่มทุนเพื่อใช้ในการบริหารบริษัท แต่ผมกลับไปหาคนมาเข้าหุ้นใหม่เพื่อนำเงินจากผู้ถือหุ้นใหม่ไปซื้อหุ้นของหุ้นส่วนเก่าที่ต้องการจะถอนหุ้น มีหุ้นส่วนหลายคนที่ทำเป็นอาสามาช่วยบริหารงาน รับเงินเดือนสูงๆแต่ไม่ทำอะไรเลย หลังจากนั้นก็ถอนหุ้นออกไป แต่ก็มีหุ้นส่วนใหม่ที่ดีเข้ามาช่วยผมทั้งด้านการเงิน และช่วยให้คำปรึกษาต่างๆ

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมได้เห็นนิสัยคนอย่างชัดเจน หุ้นส่วนที่ดีให้ความช่วยเหลือก็มีมากแต่ก็มีหลายคนที่เอาเปรียบ เห็นแก่ได้ เข้ามาเป็นหุ้นส่วนและกินเงินเดือน พอบริษัทมีปัญหาก็ขอถอนหุ้นออกไป แถมมีถึงสองคน ที่ผมช่วยเหลือมาตลอด หักหลังผม ไปยุให้ลูกค้าฟ้องร้องผมข้อหาฉ้อโกง ทั้งๆที่ผมไม่ได้เป็นอย่างนั้น ผมสู้คดีและแจ้งให้ผู้พิพากษารับทราบข้อเท็จจริง ในที่สุดผู้พิพากษาไกล่เกลี่ยให้ถอนฟ้องและให้ผมนำเงินที่ประกันตัวซึ่งมากกว่าจำนวนเงินที่เขาฟ้องผมใช้คืนเขาไป  สำหรับลูกน้องผมดีทุกคนต่างช่วยกันทำงานโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ช่วงหลังๆบริษัทติดขัดด้านการเงิน และมีพนักงานบางคนขอทำงานโดยไม่รับเงินเดือน  ในที่สุดผมเห็นว่าไปไม่ไหว จึงได้ตัดสินใจปิดบริษัท และผมต้องหาเงินเป็นจำนวนมากกว่าทุนจดทะเบียนบริษัท เพื่อนำไปใช้หนี้  เจ้าหนี้บางคนก็ยกหนี้ให้ มีอยู่บริษัทหนึ่งที่ให้ผมไปทำงานเป็นผู้จัดการเพื่อใช้หนี้  บทเรียนที่ได้ทำให้ผมไม่เคยคิดที่จะเป็นเจ้าของบริษัทอีกเลย เพราะรู้ว่าตัวเองและครอบครัวไม่ใช่พ่อค้า เราไม่มีเงินทองและทรัพย์สินมากพอที่จะทำธุรกิจ การทำธุรกิจต้องมีสายป่านที่ยาวพอ ผมพอใจที่จะเป็นผู้บริหารมากกว่าเป็นเจ้าของบริษัท

เสียดายเวลาและโอกาสในชั่วนั้น ผมได้พบคนดีๆที่ช่วยกันลงหุ้นเปิดบริษัทให้ผม ผมได้ลูกน้องดีๆที่ทำงานกับผมด้วยความซื่อสัตย์ ผมขาดประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจ ไม่มีความรู้ในการบริหารจัดการด้านการเงิน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมได้พบทั้งส่วนที่ดีที่สุดในชีวิต และก็เป็นช่วงที่ได้พบกับความทุกข์ที่สุดในชีวิตเช่นกัน ถูกคนหักหลัง ถูกคนเอาเปรียบ ถูกฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล จากผู้ที่รับเงินเดือน เป็นผู้ที่ต้องหาเงินจ่ายลูกน้อง เป็นประสบการณ์ที่ทำให้ผมเข้าใจหัวใจของเจ้าของธุรกิจ และความยากลำบากในการประกอบธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จ ผู้ประกอบการธุรกิจบริการส่วนมากเป็นผู้ประกอบการ SMEs หรือ MSEs ไม่มีการทำแผนธุรกิจ มักจะทำธุรกิจตามกระแส ไม่มีความเป็นมืออาชีพ ขาดการวางแผนการเงินที่สอดคล้องกับการทำธุรกิจ จึงมีโอกาสประสบความสำเร็จน้อยมาก จึงขอฝากกรณีศึกษาไว้ให้ท่านที่กำลังคิดจะเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ได้ไตรตรองให้รอบครอบและเตรียมความพร้อมโดยการทำแผนธุรกิจให้ครบถ้วนโดยเฉพาะแผนการเงิน

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 13 กันยายน 2011 เวลา 17:57 น.
 


หน้า 540 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5609
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8628974

facebook

Twitter


บทความเก่า