อนาคตไทยในความฝัน ดร.เสรี พงศ์พิศ

วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2020 เวลา 17:33 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท ประชาสัมพันธ์ - ประชาสัมพันธ์
พิมพ์

อนาคตไทยในความใฝ่ฝัน

สยามรัฐออนไลน์ 11 พฤศจิกายน 2563

เสรี พงศ์พิศ

www.phongphit.com

 

เมืองไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เหมือนเรือกำลังเจอพายุ ทำอย่างไรไม่ให้อับปาง มองไปข้างหน้าฟ้าฝนก็บดบังทัศนวิสัย ต้องตั้งสติกันให้ดี นั่งสวดมนต์ขอให้เทวดามาช่วยอาจจะเป็นเหมือนคนในสำเภาที่จะไปสุวรรณภูมิที่ตายหมด เหลือแต่พระมหาชนกที่รอด เพราะเตรียมตัวและว่ายน้ำแบบไม่ย่อท้อแม้ไม่เห็นฝัง

อนาคตของไทยอยู่ที่การเกษตรกับการศึกษา เชื่อว่า ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแบบถึงรากถึงโคน ที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า disruption ใน 2 เรื่องนี้ บ้านเมืองจะไปไม่รอด เพราะคนไม่มีกินและไม่มีความรู้ เมืองไทยก็เหมือนเรือสำเภาขาดใบและขาดฝีพาย จะไปไหนได้

ในโลกที่เปลี่ยนเร็วนี้ ถ้าเรา “ไม่หัก” (disrupt) เราก็ “จะถูกหัก” เราไม่เปลี่ยน เราก็จะถูกเปลี่ยน เราจะเป็นเพียงผู้ใช้สื่อ ผู้บริโภคข้อมูล บริโภคสินค้า เป็นเพียงแรงงานที่เขาใช้ให้ผลิตตามที่เขาบอก และนับวันเขาอาจจะไม่สั่งอะไรมากมายจากบ้านเราก็ได้ เพราะเขามีเทคโนโลยี มีเครื่องอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ และอื่นๆ ที่ทำได้เอง

เมื่อนั้นบ้านเราก็จะถูกโดดเดี่ยว ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เกษตรกร 15 ล้านคน แรงงานภาคอุตสาหกรรมและบริการ 30 ล้านคน จะอยู่อย่างไร ภาพใหญ่ภาพรวม มองเห็นความแตกต่าง ความห่างชั้นระหว่างผู้คนในสังคมไทย คนรวยกับคนจน คนมีการศึกษากับคนด้อยการศึกษา คนมีที่ดินกับคนไม่มีที่ดิน เหล่านี้คือความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ที่มาของความยากจนและความทุกข์ของคนส่วนใหญ่ที่มีปัญหาหนี้สิน ปัญหาที่ทำกิน ปัญหาการทำมาหากิน ราคาพืชผล

ถามว่า ความก้าวหน้าทางวิชาการ การวิจัย นวัตกรรมที่ทำกันนั้นเอื้อใคร ดูไม่ได้ช่วยแก้ไข ไม่ได้ลดช่องว่าง แต่กลับถ่างความเหลื่อมล้ำออกไปอีก สังคมไทยปล่อยปลาใหญ่กินปลาเล็ก ปลาฉลาดกินปลาโง่โดยไม่ปกป้อง ไม่ให้โอกาสอยู่รอด ปล่อยให้ดิ้นรนปากกัดตีนถีบตามบุญตามกรรม

การเกษตรของไทยไม่สามารถอยู่รอดได้ในสภาพปัจจุบัน นอกจากจะต้องปรับเปลี่ยนทำให้เกิดคุณค่าและมูลค่าใหม่ ลดพื้นที่การปลูกข้าวเพื่อจะได้ปลูกพืชที่หลากหลายมากขึ้น แต่ผลผลิตข้าวได้มากกว่าเดิม เพราะพัฒนาระบบการผลิตเหมือนที่ประเทศอื่นๆ เขาทำได้

แทนที่จะปลูกข้าว 65 ล้านไร่ ปลูกสัก 30 ล้านไร่ แต่ได้ผลผลิตอย่างน้อย 50 ล้านตัน มีที่นาเหลืออีก 35 ล้านไร่เพื่อปลูกพืชอื่นๆ ที่จะเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตอาหารในอุตสาหกรรมอาหารใหม่ในโลกดิจิทัลอย่าง “เนื้อสัตว์จากพืช” และรูปแบบอื่นๆ ที่เพิ่มคุณค่าและมูลค่าการเกษตรที่สตาร์ตอัพไทยกำลังพัฒนากัน

แต่เรื่องนี้จะเกิดช้าและอาจไม่ทันคนอื่น ถ้าหากรัฐไม่สนับสนุนทางวิชาการ ทุน นโยบาย

และกฎหมาย สถาบันการศึกษาที่มีบุคลากร มีเครื่องมือเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาสนับสนุนด้านวิชาการ การอุดหนุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมการเกษตรใหม่นี้เกิดและเติบโตในโลกที่ต้องการอาหารดีต่อสุขภาพ ซึ่งไทยมีข้อดีและได้เปรียบอยู่ไม่น้อย

ถ้ามีแผนที่จะลดพื้นที่ปลูกข้าวลงมาครึ่งหนึ่งดังกล่าวจริง รัฐจะต้องให้การส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรไม่ใช่ด้วยการสั่งให้กระทรวงเกษตรฯไปทำแบบเดิมๆ เพราะทำมากี่สิบปีก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน รัฐต้องหาวิธีใหม่ ให้สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจร่วมมือกับภาคประชาสังคมส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการผลิต ให้ความรู้การศึกษาที่เหมาะสม

วิธีคิดเรื่องการส่งเสริมการเกษตรแบบโบราณคงใช้ไม่ได้ผลในวันนี้ ที่ใช่ว่าจะต้องมีน้ำมากมาย เพราะมีเทคโนโลยีที่แก้ปัญหาเรื่องน้ำ การปลูกพืชน้ำน้อย การทำนาน้ำน้อย โดยไม่ต้องไปคิดโครงการเมกะโปรเจกต์โขงชีมูล ใช้ทุนมหาศาลนั้นส่งเสริมทางเลือกอื่นๆ ในการบำรุงดิน การปลูกต้นไม้ การจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก การทำธนาคารน้ำใต้ดิน การทำโคกหนองนา และอื่นๆ อีกหลากหลายวิธี ที่เป็นนวัตกรรมที่ส่วนใหญ่เป็น “ชาวบ้าน” ที่ค้นคิด ที่ฟื้นฟูระบบนิเวศ และทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และได้น้ำเพื่อทำการเกษตร

เรามักอ้างอิงประเทศอื่นว่าทำนาได้ข้าวมากกว่า 1-2 ตันต่อไร่ แต่ก็ไม่ได้ให้ความสนใจวิธีคิดและวิธีทำของดร.เกริก มีมุ่งกิจ ที่ทำนา 1 ไร่ได้ 5-6 ตัน ซึ่งหากเอาวิธีคิดนี้มาใช้และได้ไร่ละสัก 2 ตันก็ถือว่าสำเร็จและดีกว่าวันนี้ที่ได้แค่ครึ่งตันต่อไร่

ถ้าไม่มีการเปลี่ยนวิธีการทำนา ทำการเกษตร ถ้าไม่มีการผนึกพลังกับภาคธุรกิจและภาควิชาการ ไม่มีการวางแผนและวางเป้าหมายร่วมกัน ต่างคนต่างคิดต่างคนต่างทำ อุตสาหกรรมการเกษตรแบบดิจิทัลก็คงเกิดและเติบโตยาก เราคงต้องนำเข้าถั่วเหลืองถั่วเขียวและอื่นๆ จากต่างประเทศต่อไป ทั้งๆ ที่มีที่ดินและศักยภาพที่จะปลูกเอง และไม่ต้องตัดแต่งพันธุกรรม ทำการต่อยอดไปเป็นครัวของโลก

สิ่งที่ชุมชน ชาวบ้านต้องการวันนี้ คือ “ปัญญาชนคนใน” (organic intellectual) คือชาวบ้านและลูกหลานชาวบ้านที่มีความรู้ มีสติปัญญาเพื่อนำชุมชนท้องถิ่นให้พัฒนาตนเอง ให้พึ่งตนเอง ไม่ใช่ต้องพึ่ง “คนนอก” คนอื่นเสียทั้งหมดอย่างวันนี้

เคยเสนอให้สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาแพลตฟอร์มที่ทำให้ “ชาวบ้าน” สามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากที่สุด การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับโลกวันนี้ มีเทคโนโลยีทันสมัยที่จะช่วยให้เกษตรกรพัฒนาตนเอง ทำแผนลดการปลูกข้าว แล้วปลูกพืชอื่น ร่วมมือกับอุตสาหกรรมการเกษตรดิจิทัล

เทคโนโลยียุคใหม่ทำให้เกษตรกร ผู้ผลิตกับผู้บริโภคพบกันได้ ทำให้อาจารย์ นักศึกษา กับชาวไร่ชาวนาพบกันได้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำงานร่วมกับภาคธุรกิจได้

ถ้าไม่อยากให้มีการปฏิวัติรัฐประหารทางการเมือง ก็ต้องมี “การปฏิวัติทางการเกษตรและการศึกษา” คือ เปลี่ยนถึงรากถึงโคน รื้อระบบเก่าสร้างระบบใหม่ ซึ่งเมืองไทยมีคนดีคนเก่งอยู่มากพอที่จะสร้างสังคมใหม่ที่ศิวิไลซ์นี้