เข้าใจพระพุทธศาสนาภายใน ๅ1 หน้า หรือ 2 นาที (ฉบับย่อ จาก ธรรมสมโภช 80 ปี พุทธทาสภิกขุ)

วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม 2022 เวลา 03:43 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท ประชาสัมพันธ์ - ประชาสัมพันธ์
พิมพ์

เข้าใจพระพุทธศาสนาภายใน 1 หน้าหรือ 2 นาที ..... ( ฉบับย่อ จากธรรมสมโภช 80 ปี พุทธทาสภิกขุ) .....

 

1. พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ?

   - อริยสัจ 4 ความจริงอันประเสริฐ อะไรคือทุกข์ สาเหตุแห่งทุกข์ ดับทุกข์แล้วได้อะไร และแนวทางดับทุกข์

2. พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องอะไร ?

   - ทุกข์กับการดับทุกข์

3. ภาพรวมของพระพุทธศาสนา .... มีดังนี้

    3.1 ให้มองโลกตามความเป็นจริง

    3.2 ให้ถือทางสายกลาง

    3.3 ให้พึ่งตนเอง

    3.4 ไสยศาสตรมิใช่พุทธศาสนา

    3.5 สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย

    3.6 โอวาทแรกและสำคัญที่สุด (โอวาทปาฏิโมกข์) คือ ให้ละชั่ว ทำกุศลให้ถึงพร้อม และทำจิตให้บริสุทธิ์

    3.7 สิ่งทั้งหลายอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา

    3.8 ให้เชื่อในหลักธรรม คือ ทำดี-ได้ดี, ทำชั่ว-ได้ชั่ว

    3.9 จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือนิพพาน สภาวะจิตที่สงบเย็น ปราศจากทุกข์

   3.10 สรุปธรรมทั้งปวง รวมลงในเรื่องเดียว คือ “ความไม่ประมาท”

4. การศึกษาธรรมะ 2 สมัย

    4.1 สมัยปัจจุบัน คือ รู้จัก กับ รู้จำ .... พูดธรรมะได้คล่องแต่ปฏิบัติไม่ค่อยได้ จึงได้ผลน้อย

    4.2 สมัยพุทธกาล คือ รู้แจ้ง ... ฟังและจำแล้ว ก็จะลงมือปฏิบัติ  ดับทุกข์ในขณะนั้นทันที

5. วิธีศึกษาพระพุทธศาสนา

    5.1 เมื่อแรกพุทธปรินิพานนั้น สิ่งแทนศาสดา มีเพียง 2สิ่ง คือ ธรรมและวินัย

    5.2 หลังจากนั้นมา 300 ปี จึงเกิดมีพระไตรปิฎกขึ้น

    5.3 ผ่านมากว่า 2500 ปี เกิดคำสอนใหม่ที่อ้างว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

    5.4  ด้านปริยัติ (ความรู้เนื้อหา) ให้อ่าน ฟัง คิด วิจัย ให้เข้าใจ ปฏิบัติได้จริง .... หากสงสัย ให้อาศัยหลักกาลามสูตรเข้าพิจารณาตัดสิน มิใช่เชื่อไปเสียหมด

    5.5  ด้านปฏิบัติ ทำเพื่อ “ละกิเลส” มิใช่เพื่อหวังสิ่งต่างๆ ยิ่งเพิ่ม โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งจะกลายเป็นพอกกิเลส

    5.6  ด้านปฏิเวธ (ผล) ทำเพื่อละ จะพบนิพพาน (จิตบริสุทธิ์ มีความสะอาด สว่าง สงบ)

6. จะศึกษาพุทธศาสนาได้ที่ไหน ?

    - ให้ศึกษาในร่างกายของเราเองนี้ ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิใช่จะต้องศึกษากับพระ และในวัดวาอารามเท่านั้น

   - ให้ศึกษาตนเอง ไม่ติดอยู่แค่พิธีกรรม หรือได้แต่ทำตามผู้อื่น ซึ่งจะได้แค่เปลือกกระพี้ มิได้ชิมรสอันเป็นเนื้อใน อันได้แก่ธรรมรสของความเย็นอกเย็นใจ (นิพพาน)

7. เหตุแห่งทุกข์และการดับทุกข์

   - เหตุเกิดจากอุปทาน คือ การเข้าไปยึดถือว่า นี่คือตัวตนของเรา นี่คือของๆ เรา

    - การดับ คือละอุปทาน โดยพยายามปฏิบัติให้ “เห็นอนัตตา” (ความไม่มีตัวตนของเรา) จะโดยบังคับจิตเป็นสมาธิ หรือโดยพิจารณาธรรมด้วยปัญญา  ก็ได้

8. พุทธพจน์ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา”

       - คำว่า “เห็นธรรม” คือ เห็นวงจรที่ทุกข์เกิด และดับไป โดยเริ่มต้นจากอวิชชา จนเกิดทุกข์

9.จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ นิพพาน (สภาวะจิตที่สงบเย็น)